|
![]()
|
การแบ่งลักษณะของคำประพันธ์ไทย ๑. คำหลวง เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงในพระราชวงศ์ทรงแต่ง หรือทรงเกี่ยวข้องในการแต่ง ไม่จำกัดรูปแบบคำประพันธ์ แต่ต้องเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับศีล ธรรมจรรยา เท่าที่ปรากฎชื่อในวงวรรณคดีมีอยู่ ๔ เรื่อง คือ มหาชาติคำหลวง นันโทปนันทสูตรคำ-หลวง พระมาลัยคำหลวง และพระนลคำหลวง ๒. คำฉันท์ ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นฉันท์ชนิดต่างๆ มักมีกาพย์บางชนิดปนอยู่ด้วย เช่น สมุทร-โฆษคำฉันท์ อนิรุทธคำฉันท์ ปุณโณวาทคำฉันท์ อิลราชคำฉันท์ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น ๓. คำกลอน เป็นวรรณคดีที่แต่งเป็นคำกลอนชนิดต่างๆ ได้แก่ กลอนสุภาพ กลอนเสภา กลอนบทละคร กลอนหก เช่น พระอภัยมณี เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน บทละครเรื่องอิเหนา กนกนคร กลอนเพลงยาวต่างๆ เป็นต้น ๔. คำโคลง ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็น โคลงดั้นหรือโคลงสี่สุภาพ เช่น โคลงกำสรวล (เดิมชื่อว่า กำสรวลศรีปราชญ์) โคลงนิราศนรินทร์ เป็นต้น ๕. คำกาพย์ ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ เช่น กาพย์เรื่องพระสุบิน ก กา กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา เป็นต้น ๖. ร่ายยาว ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นร่ายยาว เช่น กาพย์มหาชาติ ร่ายยาวมหาเวสสันดร-ชาดก เป็นต้น ๗. กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งด้วยโคลงและกาพย์ เช่น กาพย์ห่อ-โคลงประพาสธารทองแดง กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เป็นต้น ๘. ลิลิต ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งโดยใช้โคลงและร่ายปนกัน รับสัมผัสท้ายคำแบบลิลิต เช่น ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย ลิลิตนิทราชาคริต เป็นต้น ๙. เบ็ดเตล็ด ได้แก่ วรรณคดีที่เขียนเป็นบทสั้นๆ โดยมากเป็นบทขับร้อง เช่น บทดอกสร้อยสักวาและเพลงขับร้องต่างๆเช่น เพลงพื้นบ้าน เพลงไทยเดิม เพลงสากล เป็นต้น ๑๐. กวีวัจนะ ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งด้วยคำประพันธ์หลายชนิดรวมกัน คือ มีทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย โดยเลือกตามลีลาของความ เช่น สามกรุง พระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นต้น
|
จัดทำโดยครูนันทวัน
วันประเสริฐ
โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์
อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
Copyright
(C) 2009 Miss Nantawan Wanprasert. All rights reserved.
จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552
thaigoodview.com ปีที่ 10
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail: webmaster@thaigoodview.com