นาคกับธรรมชาติ

 

Homeผู้จัดทำรู้จักหนองคายบึงโขงหลงบั้งไฟพญานาคข้าวเหนียวนึ่งบึงโขงหลง

 

 

นาคหรือพญานาค 
นาคกับธรรมชาติ 
เหตุเกิดที่โพนพิสัย 
เมืองหลวงพญานาค 
วังนาคินทร์ 

นาค…เกี่ยวพันกับชีวิต น้ำ ธรรมชาติ

พญานาค สัญลักษณ์ของผู้เกิดปีมะโรง

 

             จะได้ยินอยู่เสมอว่า ปีนี้นาคให้น้ำเท่าไร กี่ตัว ฝนฟ้าดี หรือไม่ดี นาคให้น้ำสร้างความอุดมสมบูรณ์แก่สรรพชีวิตทั้งปวง พญานาค ที่อาศัยอยู่ในสวรรค์ใต้น้ำ ตามคติฮินดู พญาอนันตนาคราช แท่นบรรทมของพระนารายณ์ ที่นับถือเป็นเทพเจ้า พญานาค เปรียบได้กับท้องน้ำทั้งหลายในจักรวาล นาคมีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกหรือไม่ตกก็ได้ ตลอดจนสามารถแปลงกายเป็นเมฆฝนได้ พญานาค...เป็นที่มาของแม่น้ำต่าง ๆ อันหมายถึงผู้รักษาพลังแห่งชีวิตทั้งหลาย ตามความเชื่อของชาวพุทธ เทวดาแห่งน้ำ คือ วรุณและสาคร ที่ต่างก็เป็นจอมแห่งนาคราช นอกจากที่เกี่ยวข้องกับน้ำบนโลกแล้ว นาคยังเกี่ยวข้องกับน้ำในสวรรค์อีกด้วย คนโบราณเชื่อว่า สายรุ้ง กับ นาค เป็นอันเดียวกัน ที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ข้างหนึ่งของรุ้งจะดูดน้ำจากพื้นโลกขึ้นไปข้างบน เมื่อถึงจุดที่สูงสุดก็จะปล่อยน้ำลงมาเป็นฝนที่มีลำตัวของนาคเป็นท่อส่ง

         ในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน เป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช ที่เห็นได้ชัดก็คือ ที่ปราสาทพนมรุ้ง จะมีคูเมืองที่เป็นสระน้ำ 4 ด้าน รอบปราสาทและมี พญานาค อยู่ด้วย ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณ นาคจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากน้ำ เช่น การสร้างศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ นาคที่ราวบันได จึงมี พญานาค ซึ่งตามความเป็นจริง (ความเชื่อ) การสร้างต้องสร้างกลางน้ำ เพื่อให้ดูเหมือนว่าศาสนสถานนั้นลอยอยู่เหนือน้ำ แต่ก็ไม่ต้องสร้างจริง ๆ เพียงแต่มีสัญลักษณ์ พญานาค ไว้ เช่น ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

               แม้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ก็จะมีอยู่ในราศีเกิด เช่นของคนนักษัตรปีมะโรง ที่มีความหมายถึง ความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ที่มี พญานาค เป็นสัญลักษณ์

         นาคให้น้ำ...พญานาค เป็นสัญลักษณ์แห่งธาตุน้ำ "นาคให้น้ำ" เป็นเกณฑ์ที่ชาวบ้านรู้และเข้าใจดี ที่ใช้วัดในแต่ละปี จำนวนนาคให้น้ำมีไม่เกิน 7 ตัว ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า "นาคให้น้ำ 1 ตัว" แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น "มีนาคให้น้ำ 7 ตัว" จะวัดกลับกันกับจำนวนนาค ก็คือที่น้ำหายไป เกิดความแห้งแล้งนั้นก็เพราะ พญานาคกลืนน้ำไว้ในท้อง

          เกี่ยวข้องกับคนไทย...เรามักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ ในงาน จิตรกรรม ประติมากรรม และหัตถกรรม นาคเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะตามอาคารวัดต่าง ๆ หลังคาอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถานบันศาสนสถาน ตามคตินิยมที่ว่า นาคยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง เช่น นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวตามบันได นาคลำยอง ที่ทำเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง นาคเบือน นาคจำลอง และนาคทันต์คันทวยรูปพญานาค

          พญานาค...เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

                ตามตำนาน พญานาค มีอยู่ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ดังเช่น หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว ได้เสด็จไปตามเมืองต่าง ๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา มีครั้งหนึ่งได้เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธ ไปยังร่มไม้จิกชื่อ "มุจลินท์" ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ 7 วัน คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำ ๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด 7 วัน ได้มีพญานาคชื่อ "มุจลินท์" เข้ามาวงด้วยขด 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นมานพมายืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า

                   ความเชื่อดังกล่าวทำให้ชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก แต่มักจะสร้างแบบพระนั่งบนตัวพญานาค ซึ่งดูเหมือนว่าเอาพญานาคเป็นบัลลังก์ เพื่อให้เกิดความสง่างาม และทำให้คิดว่า พญานาค คือผู้คุ้มครองพระศาสดา

           พญานาค...สะพาน (สายรุ้ง) ที่เชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ โลกศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อที่ว่า พญานาคกับรุ้ง เป็นอันเดียวกัน ก็คือสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์นั่นเอง

          นาคสะดุ้ง...ที่ราวบันไดโบสถ์นั้นได้สร้างขึ้นตามความเชื่อถือ "บันไดนาค" ก็ด้วยความเชื่อดังกล่าว แม้ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ก็โดยบันไดแก้วมณีสีรุ้ง ที่เทวดาเนรมิตขึ้นและมีพญานาคจำนวน 2 ตน เอาหลังหนุนบันไดไว้หรือแม้แต่ ตุง ของชาวล้านนา และพม่า ก็เชื่อกันว่าคลี่คลายมาจากพญานาค และหมายถึงบันไดสู่สวรรค์

                ความเชื่อของชาวฮินดู ก็ถือว่า นาคเป็นสะพานเชื่อมภาวะปกติ กับที่สถิตของเทพ ทางเดินสู่วิษณุโลก เช่น ปราสาทนครวัด จึงทำเป็น พญานาคราช ที่ทอดยาวรับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ สู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือก็บั้งไฟของชาวอีสานที่ทำกันในงานประเพณีเดือนหก ก็ยังทำเป็นลวดลาย และเป็นรูปพญานาค พญานาคนั้นจะถูกส่งไปบอกแถนบนฟ้าให้ปล่อยฝนลงมา

                ในสมัยพระพุทธเจ้า มีพญานาคตนหนึ่งนั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วได้เกิดศรัทธา จึงได้แปลงกายเป็นมนุษย์ขอบวชเป็นพระภิกษุ แต่อยู่มาวันหนึ่งเข้านอนในตอนกลางวัน หลังจากหลับแล้วมนต์ได้เสื่อมกลายเป็นงูใหญ่ จนพระภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้า ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงให้พระภิกษุนาคนั้นสึกออกไป เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน นาคตนนั้นผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า นาค ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน

                ต่อจากนั้นมาพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติไม่ให้สัตว์เดรัจฉาน ไม่ว่าจะเป็นนาค ครุฑ หรือสัตว์อื่น ๆ บวชอีกเป็นอันขาด เพราะก่อนที่อุปัชฌาย์จะอุปสมบทให้แก่ผู้ขอบวชจะต้องถาม อัตรายิกธรรม หรือข้อขัดข้องที่จะทำให้ผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ รวม 8 ข้อเสียก่อน ในจำนวน 8 ข้อนั้น มีข้อหนึ่งถามว่า "ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า"

  • เหตุที่พระสุกจมน้ำ ที่เวินสุก บ้านหนองกุ้ง อำเภอโพนพิสัย

            มีการเล่าขานถึงความศรัทธาของพญานาคว่า เหล่าพญานาค นั้นเป็นผู้ที่มีความเคารพ และศรัทธาในพระพุทธเจ้ามาก หลังจากที่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นที่เมืองล้านช้าง ประเทศลาว ความทราบถึงเหล่าพญานาค ที่อยู่เมืองบาดาล จึงได้แปลงกายขึ้นไปขอพระพุทธรูปกับเจ้าเมืองล้านช้าง โดยเจาะจงขอเอาพระสุก เพื่อไปไหว้สักการะบูชา ที่เมืองบาดาล ปกติเหล่าพญานาคเป็นผู้ที่ถือศีลแปดเคร่งครัดมาก พญานาค จะไม่ทำร้ายใคร ส่วนมนุษย์ตายในน้ำที่ว่าเงือกกินนั้น เงือกก็คือ พญานาค ชั้นเลว ประพฤติตนเกเร จึงชอบทำร้ายมนุษย์ตามน้ำ เดี๋ยวนี้พระสุกก็ยังจมอยู่ในแม่น้ำโขง ที่ที่เป็นที่อยู่ของเหล่า พญานาค ในเมืองบาดาล เวินสุกอยู่ตรงข้ามกับบ้านหนองกุ้ง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ตรงนั้นเป็นบริเวณปากน้ำงึมไหลลงมาออกแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสองสี

  • เมืองพญานาค หรือเมืองบาดาล

            ในเมื่อมีเมืองมนุษย์ หรือโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ หรือเมืองสวรรค์ ก็ต้องมีเมืองบาดาล (เมืองพญานาค) สองเมืองนอกจากเมืองมนุษย์แล้วหลายคนก็คงต้องอยากไปเป็นแน่ วิสัยของมนุษย์ชอบในสิ่งที่ท้าทาย ยิ่งห้ามก็ยิ่งอยากพบ อยากเห็นเมืองบาดาลอยู่ใต้เมืองมนุษย์ลงไปในใต้ดิน 16 กิโลเมตร (ตามความเชื่อ) มีคำเล่าลือเกี่ยวกับเมืองบาดาลในเขต อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย (แต่อย่าอุตริขุดไปหาพญานาคก็แล้วกัน)

  • พระพุทธเจ้าเสด็จเทวโลก

             ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จพร้อมด้วยพระอรหันต์จำนวน 500 รูป เพื่อเสด็จไปยังเทวโลก ได้ผ่านวิมานของเหล่าพญานาค ที่กำลังมีการรื่นเริงกันอย่างสนุกสนาน ที่มี นันโทปะนันทะนาคราช เป็นประธานใหญ่ เมื่อเห็นคณะสงฆ์ผ่านไปเหนือวิมานจึงมีความโกรธมาก จึงได้ตรงไปยังเขาพระสุเมรุแปลงตนเป็นนาคขนาดใหญ่ พันโอบเขาพระสุเมรุด้วยขดถึง 7 รอบ แล้วแผ่พังพานบังชั้นดาวดึงส์เอาไว้ เพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ผ่านไปได้ และเมื่อเป็นดังนั้นได้มีพระอรหันต์หลายรูปอาสาปราบ แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต จน พระโมคคัลลานะ ผู้ซึ่งตามเสด็จไปด้วยอาสา พระองค์จึงทรงอนุญาต ดังนั้น พระโมคคัลลานะ จึงได้แปลงกายเป็นนาคราชขนาดใหญ่กว่าถึงเท่าตัว พันเอานาคนันโทปะนันทะนาคราช เอาไว้ด้วยขดถึง 14 รอบ นาคราชทนไม่ไหวบันดาลให้ไฟลุกขึ้น พระโมคคัลลานะ ก็ให้เกิดไฟขึ้นเช่นกัน ไฟของนันโทปะนันทะนาคราชสู่ไม่ไหว จึงถามว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นใคร" ตอบว่า "เราคือโมคคัลลานะ ศิษย์ของตถาคต" นันโทปะนันทะนาคราช จึงบอกว่า ท่านจงคืนร่างกลับเป็นพระเหมือนเดิมเถิด แต่ด้วยนิสัยของผู้รู้ว่า นันโทปะนันทะนาคราช เป็นคนไม่ยอมแพ้ใครง่าย ๆ จึงได้แปลงกายให้เล็กนิดเดียว สามารถเข้ารูหู รูจมูกได้ แล้วเข้าไปตามรูต่าง ๆ จน นันโทปะนันทะนาคราช ทนไม่ไหว และนันโทปะนันทะนาคราช สู้ไม่ได้จึงหนีไป พระโมคคัลลานะ จึงแปลงร่างเป็นพญาครุฑไล่ติดตามไป เมื่อหนีไม่พ้นจึงแปลงร่างเป็นมาณพหนุ่ม ยอมแพ้พระโมคคัลลานะและที่สุดจึงยอมให้พระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันต์ผ่านไปแต่โดยดี

 

จัดทำโดยครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
โรงเรียสตรีศรีสุริโยทัย เขตสาทร กทม.

จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2547

thaigoodview.com Version 12.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษา
e-mail:
webmaster@thaigoodview.com

Copyright(c) 2004 Mr.Poonsak Sakkatatiyakul. All rights reserved.