รู้ทัน ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม


เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2554 นี้หนักมาก กินพื้นที่ท่วมหลายจังหวัด บางพื้นที่น้ำท่วมสูงถึง 2 เมตรกันเลยทีเดียว ที่บ้านของข้าพเจ้าก็ได้มีการเตรียมตัวรับมือไว้ก่อน เพราะไม่แน่ว่าน้ำอาจจะมาเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่บ้านของข้าพเจ้านั้นได้ยกของขึ้นที่สูงทุกอย่าง แล้วได้ย้ายที่อยู่ไปราชบุรีชั่วคราวช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงที่สุดเพื่อรอดูสถานการณ์ แต่ก็โชคดีที่บ้านของข้าพเจ้านั้นไม่ถูกน้ำท่วม ในขณะที่คนอื่นๆอีกหลายคนอาจไม่โชคดีอย่างข้าพเจ้า จึงทำให้หลังน้ำลดต้องมีการเก็บกวาดทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้านกันครั้งใหญ่ ข้าพเจ้าจึงมีวิธีการซ่อมแซมบ้านมาแนะนำ หากบ้านใครมีปัญหาตรงกับวิธีที่ข้าพเจ้าแนะนำก็ลองนำวิธีเหล่านั้นไปใช้ดูได้เพราะข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะช่วยได้เยอะเลย


หลายๆคนหลังจากน้ำที่บ้านลดแล้วก็อาจจะไม่รู้ว่าควรจะเริ่มยังไงดี ก็ขอแนะนำให้สำรวจตรวจสอบก่อนเลย ว่ามีส่วนไหนของบ้านเสียหายบ้าง แล้วทำการจดบันทึกไว้จะได้ไม่ลืมว่าส่วนไหนซ่อมแล้วหรือยังไม่ได้ซ่อมและส่วนไหนจำเป็นควรซ่อมก่อน จะได้วางแผนการใช้งบที่มีอยู่ได้อย่างลงตัว

น้ำไม่ท่วมตัวบ้าน แต่ท่วมที่ถนนหน้าบ้านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็ไม่น่าจะวางใจนัก เพราะส่วนที่บ้านเรากับทางสาธารณะ จะต้องเชื่อมกัน และเรามักจะมองข้ามไปก็คือ "ท่อระบายน้ำ" ที่ถ่ายเทน้ำจากบ้านเรา ระบายออกสู่ท่อระบายน้ำของหลวง ซึ่งก็ต้องทำความสะอาดกันหน่อยล่ะ เมื่อทำความสะอาดแล้วต้องลองเช็คดูด้วยว่าน้ำจากบ้านเราไหลลงท่อของหลวงหรือเปล่า ถ้าไหลก็แสดงว่าโอเคแล้วแต่ถ้าไม่ก็ทำความสะอาดใหม่ดูอีกรอบหนึ่ง

ถ้าตอนน้ำท่วมนั้นปิดวงจรไฟฟ้าทั้งบ้าน (ภาษาชาวบ้านเรียกว่าปิดคัทเอ๊าท์) ก็คงไม่เป็นไรอยู่แล้ว เพราะไม่มีกระแสไฟฟ้าเดิน แต่พอน้ำลด อยากจะเปิดไฟใช้ คงหวั่นๆเหมือนกัน
1.) ลองเปิดคัทเอ๊าท์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา (อย่าลืมต้องมีฟิวส์ที่คัทเอ๊าท์เสมอ) หากปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งยังชื้น หรือเปียกอยู่ คัทเอ๊าท์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาด ลองเปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้สัก 1 วัน ให้ความชื้นระเหยออกไปบ้าง แล้วดำเนินการใหม่ หากคัทเอ๊าท์ยังตัดไฟเหมือนเดิม กรุณาตามช่างไฟฟ้ามาแก้ไข ดีกว่าเอาชีวิตเสี่ยงต่อไป หลังจากนั้นลองทดสอบเปิดไฟฟ้าทีละจุด และทดสอบกระแสไฟฟ้าในปลั๊กแต่ละอันว่ามีไฟฟ้ามาปกติหรือไม่ (อาจหาซื้ออุปกรณ์ตรวจกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กจากห้างไฟฟ้าทั่วไป รูปร่างหน้าตาคล้ายไขควงมาเสียบทดสอบดูก็จะสะดวกดี) หากทุกจุดทำงานปกติก็ถือว่าสบายใจได้ไปอีกระดับหนึ่ง หากมีปัญหาบางจุดก็อาจรอสักนิดให้ความชื้นระเหยออกเช่นข้อแรก (แต่หากพอมีเงิน กรุณาอย่าเสี่ยงเลยจะดีกว่า)
2.) ลองดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังคงเปิดคัทเอ๊าท์เอาไว้ แล้ววิ่งไปดูมิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่าเคลื่อนไหวหรือไม่ (อาจต้องรอสักพักโดยการจดตัวเลข หรือใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปไว้) หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่หากมิเตอร์หมุนแสดงว่าท่านยังปิดการใช้ไฟฟ้าในบ้านท่านไม่หมด หรือไฟฟ้าตามสาย ตามท่อ ตามจุด บางจุดในบ้านท่านอาจจะรั่วได้รีบตามช่างไฟมาดูแล
*เรื่องไฟฟ้านี้เป็น เรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็กเป็นเรื่องของคนขี้ขลาด ไม่ใช่เรื่องของผู้กล้าหาญ* ดังนั้นกรุณาอย่าประมาท น้ำท่วมก็เสียหายมากพอแล้ว อย่าต้องมาจัดงานอัปมงคลตามหลังกันอีกเลยนะ

ที่มาของภาพ : http://www.rd1677.com/backoffice/PicUpdate/59391.jpg

หลังน้ำท่วม นอกจากปัญหาใกล้ตัวเรื่องระบบไฟฟ้า และวัสดุปูพื้นที่ถูกน้ำท่วมจะเป็นปัญหาที่พบเห็นเสมอ แล้วเรื่องส้วมๆ ดูจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าและหนักหนากว่ามาก เพราะเราไม่มีที่จะถ่ายทุกข์ ทุกข์เลยบรรจุอยู่เต็มตัวเรา พอเราถ่ายทุกข์ออกมาหน่อยทุกข์นั้นดันไม่ย่อยสลาย บ้านเราก็เลยมีทุกข์ลอยตุ๊บป่องตุ๊บป่องเต็มไปหมด สรุปรวมความปัญหาแห่งส้วมออกเป็นข้อย่อยๆ ได้ 8 ประการ (ทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่) ดังต่อไปนี้
1.) หากส้วมของท่านเป็นระบบบ่อเกรอะ-บ่อซึม (หมายถึงเมื่อของเสียย่อยสลายแล้ว จะซึมผ่านสู่พื้นดิน ระบบนี้เป็นระบบที่นิยมกันทั่วประเทศเป็นเวลานาน) แล้วบ่อซึมของท่านวางอยู่ในบริเวณที่พื้นดินชุ่มฉ่ำ (อาจจะเพราะน้ำท่วมก็ได้) สิ่งที่เกิดก็คือบ่อซึมไม่ยอมซึมน้ำออก (แถมยามน้ำท่วม นอกจากน้ำจะไม่ไหลออกจากบ่อซึม น้ำที่ท่วมจะไหลย้อนเข้ามาในบ่อและระบบย่อยสลายอีกด้วย) ปัญหาที่ตามมาก็คืออาการ "ตุ๊บป่อง" ราดส้วมไม่ลง ใช้ส้วมไม่ได้ ส้วมจะเต็มบ่อยนั่นเอง แก้ไขได้ 2 ประการคือ หากพื้นดินชุ่มฉ่ำเพราะน้ำท่วม ก็ขอให้รอสักนิดให้พื้นดินแห้งสักหน่อย แต่หากพื้นดินชุ่มฉ่ำชื้นตามธรรมชาติของพื้นที่ ก็กรุณาเปลี่ยนระบบ มาใช้เป็นระบบเครื่องกล สำหรับย่อยสลาย (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ถังส้วมสำเร็จ) ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยสลายปฏิกูลต่างๆจนเป็นน้ำสะอาด แล้วก็ปล่อยลงท่อระบายน้ำสาธารณะได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
2.) หากโถส้วมอยู่ระดับต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับระดับบ่อเกรอะ หรือถังส้วมสำเร็จรูป ทำให้ระนาบของท่อส้วมไหลไม่สะดวก หรือบางครั้งอาจจะมีอาการไหลย้อนกลับ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามน้ำท่วม ทำให้ระดับน้ำ ณ ถังส้วม อาจสูงกว่าระดับโถส้วม) ทำให้เกิดอาการราดไม่ลง หรือตอนกดน้ำ ราดน้ำที่โถส้วม ทำให้ในโถส้วมมีแรงดันสูงมากขึ้น หากน้ำไม่สามารถไหลลงไปได้ก็จะเกิดอาการแรงดันย้อนกลับ ทุกข์ทั้งหลายของเราจะกระฉอกขึ้นเปรอะเปื้อนได้
3.) อาจเกิดเพราะท่อส้วมแตกและอาจไปฝัง (หรือเกือบจะฝังในพื้นดิน) ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและราดส้วมไม่ลง หรือบางครั้งเกิดอาการที่ตัดสินใจยาก เพราะบางครั้งราดลง บางครั้งราดไม่ลง เพราะไปเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมอย่างมาก หากกรณีนี้เกิดขึ้นในขณะน้ำท่วม ยิ่งตัดสินใจยาก เพราะวันไหนทุกข์ของเรามีน้ำหนักมากวันนั้นก็อาจจะราดไล่ลงไปได้ วันไหนทุกข์ของเรามีมวลน้อย มีน้ำหนักน้อย ทั้งเสือกไสไล่ ราดเท่าไรก็ดื้อ ไม่ยอมลงสักที
4.) บางท่านอาจจะลืมใส่ท่ออากาศให้ส้วมหายใจ เวลาราดน้ำจะราดไม่ลง (เหมือนกับพยายามกรอกน้ำใส่ขวด โดยไม่มีช่องอากาศเหลือเลยที่ปากขวดจะกรอกน้ำไม่ลง) บางบ้านอาจจะมีท่ออากาศแต่ท่ออากาศอาจอุดตันได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความสกปรกหรือเกิดจากเศษผงเล็กลอยมาอุดตอนที่น้ำท่วมก็ได้
5.) ขนาดของบ่อเกรอะบ่อซึม หรือถังบำบัดสำเร็จขนาดเล็กเกินไป หลายครั้งพบปัญหาเพราะใช้อาคารผิดประเภท เช่นออกแบบไว้ให้มีคนในบ้าน 5 คน แต่พอใช้จริง ใช้เข้าไปตั้ง 8-9 คน ปริมาณทุกข์ต่างๆจึงมากกว่าที่เคยคำนวณเอาไว้แต่แรก ถังส้วมจะเต็มบ่อยเต็มเร็ว เพราะมีช่องว่างน้อย ถ้าเป็นระบบบ่อซึมก็มีพื้นผิวการซึมน้ำออกน้อยน้ำจึงซึมออกไม่ทัน
6.) ท่านอาจใส่สิ่งของที่ไม่น่าจะใส่ลงในโถส้วม หรือสิ่งของบางอย่างอาจจะลอยมากับน้ำท่วม เช่นแผ่นผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย ถุงมืออนามัย หรือแปรงขัดส้วมอนามัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะไม่ย่อยสลาย และเป็นสาเหตุแห่งการอุดตัน
7.) ถังบำบัดสำเร็จบางรุ่นบางยี่ห้อ ต้องใช้เครื่องมือกลเข้าปั่นอากาศเข้าไปช่วยการย่อยสลาย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวหนุนมอเตอร์ ในขณะที่น้ำท่วมท่านอาจจะปิดไฟฟ้าไว้ ดังนั้นหากจะถ่ายทุกข์อย่างมีความสุข อย่าลืมเสียบปลั๊กไฟฟ้ากลับเข้าที่เดิมนะขอรับ (เขาเรียกว่าเส้นผมบังส้วม)
8.) ถังบำบัดสำเร็จทุกยี่ห้อจะต้องมีท่อให้น้ำไหลออกจากถังบำบัดสู่ท่อระบายน้ำในบ้านเราหรือสู่ท่อสาธารณะ จะต้องตรวจเช็คว่าระดับของท่อที่ออกจากถังบำบัดต้องสูงกว่าระดับท่อระบายน้ำเสมอ มิเช่นนั้นจะเกิดอาการไหลย้อนกลับอีกแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มอเตอร์ หรือเครื่องกลต่างๆ (อาจจะรวมไปจนถึงรถยนต์ด้วยก็ได้) ล้วนแต่เป็นเครื่องจักรกลที่อย่างเราอย่างท่านไม่น่าประมาทหรือรู้มากเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมเอง ขอความกรุณาอย่าเพิ่งใช้ความสามารถส่วนบุคคล (หากไม่จำเป็นจริงๆๆๆๆ) หากโดนน้ำท่วมแล้วน้ำเจ้ากรรมไหลเข้าไปในเครื่องเรียบร้อยแล้ว (แถมยังแช่ไว้ด้วย) ถอดออกไปให้ช่างผู้รู้เขาตรวจสอบดูก่อนดีกว่า กรุณาอย่าประมาทเอาไปตากแดดแล้วคิดว่าแห้งแล้วเลยนำไปใช้ต่อ เพราะความชื้นบางส่วนอาจจะฝังอยู่ข้างใน พอเครื่องกลนั้นทำงานโดยใช้กระแสไฟฟ้า อาจทำให้เกิดปัญหากับตัวบ้านหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากความชื้นที่ฝังอยู่ในตัวเครื่องแล้ว บรรดาฝุ่นผง เศษขยะ หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตบางประเภท ก็อาจจะฝังตัวหรือแอบซ่อนตัว (หรือเสียชีวิต) ค้างอยู่ภายในเครื่องด้วย หากเดินเครื่องจักรกลหมุน อาจจะเกิดการติดขัดและมีการฝืนกำลังกัน เครื่องอาจจะเสียหรือไฟไหม้ได้ (อาจจะไม่ได้เกิดโดยทันที แต่จะเกิดขึ้นภายหลังได้)

ขอภาวนาให้เป็นการท่วมฝ้าเพดานของห้องใต้ดิน ไม่ใช่ฝ้าเพดานของบ้านชั้นที่สองนะ น้ำท่วมฝ้าเพดานนี้คงจะต้องใช้แนวทางแก้ไขคล้ายกับน้ำท่วมพื้นและท่วมผนังปนกัน สรุปความอีกครั้งได้ว่า
1.) ตรวจสอบถึงวัสดุฝ้าเพดานว่าทำด้วยอะไร หากเป็นวัสดุที่เปื่อยยุ่ยจากการถูกน้ำท่วมได้ เช่นฝ้ายิปซั่มบอร์ด หรือฝ้ากระดาษอัด คงจะต้องเลาะออกแล้วเปลี่ยนใหม่ (หรือหากไม่มีงบประมาณ ก็ทิ้งเอาไว้โล่งๆ อย่างนั้นก่อน ไม่ต้องอายใคร ย้ำ ไม่ต้องอายใคร) หากเป็นฝ้าประเภทที่ไม่เปื่อยยุ่ย และอมน้ำอมความชื้นมาก ก็พยายามผึ่งให้แห้ง อย่าทาสีหรือน้ำยากันความชื้นระเหยออก หากเป็นฝ้าโลหะ ให้ตรวจสอบสนิมจัดการขัดหรือเช็ดออกให้หมด
2.) สำรวจฝ้าเพดานทั้งผืนทุกห้องทุกที่ว่ามีน้ำขังอยู่หรือไม่ (เจาะหรือเปิดฝ้าเพดานแล้วโผล่ศีรษะพร้อมส่องไฟฉายตรวจดู) หากพบต้องระบายน้ำออก ให้หมดโดยทันทีทันใด (เจาะรูตรงที่น้ำเป็นแอ่งขัง ณ จุดนั้นนั้น) อย่าขี้เกียจตรวจเช็คเป็นอันขาด
3.) ฝ้าเพดานส่วนใหญ่จะมีสายไฟดวงโคมติดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นระบบเดินสายไฟฝังหรือสายไฟลอย ต้องตรวจสอบสภาพว่าดีสมบูรณ์ตามรายการที่เคยกล่าวไว้เรื่องของการตรวจสำรวจระบบไฟฟ้าหลังน้ำท่วม
4.) มดและแมลงตลอดจนหนูหรือสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ อาจหลบเข้าไปในฝ้าเพดาน (แล้วหาทางออกไม่ได้) ต้องทำการไล่ออกให้หมด จึงจะปิดฝ้าเพดาน ไม่เช่นนั้นอาจจะรบกวนและเป็นอันตรายภายหลังได้


ขอให้คิดเสมือนว่าเฟอร์นิเจอร์นั้นเป็นเครื่องใช้ เป็นพื้นบ้านและเป็นผนังบ้านอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการแก้ไขเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วมก็คงจะคล้ายกับการแก้ปัญหา เรื่องประตูหน้าต่าง เครื่องไม้ เครื่องมือ พื้นบ้าน ฝ้าเพดานบ้าน และผนังบ้านปนๆกันไป สรุปข้อคิดและแนวทางการแก้ไขไว้ดังต่อไปนี้
1.) พยายามเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างรวดเร็ว
2.) เฟอร์นิเจอร์ที่อมน้ำมากๆ เช่น โซฟานวมหรือนุ่น ที่นอนหากไม่จำเป็นอย่าเอากลับมาใช้อีกเลย เพราะตอนน้ำท่วมจะพาเชื้อโรคและสิ่งไม่พึงประสงค์เข้าไปอยู่ภายในไม่น้อย แม้ตากแดดแห้งแล้ว เชื้อโรคร้าย ก็อาจยังคงอยู่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้
3.) เฟอร์นิเจอร์ประเภทติดกับที่ (Built In Furniture) ขอให้แก้ปัญหาเหมือนผนังและประตู คือต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง สายไฟที่อาจจะฝังอยู่ในตู้ รูกุญแจและลูกบิด ทำการบำรุงรักษาให้อยู่ ในสภาพเรียบร้อยเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงของเดิม
4.) เฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ ไม่ควรเอาไปตากแดดโดยตรง เพราะจะทำให้แตกเสียหายได้ อีกทั้งยามจะทาสีทับลงไปก็ขอให้มั่นใจว่า เขาแห้งแล้วจริงๆ ไม่เช่นนั้นสีจะลอกหมด ความชื้นจะฝังใน

น้ำท่วมลิฟต์ ห้องเครื่อง หม้อแปลงไฟฟ้า หรือส่วนที่เป็นเครื่องกลสำคัญต่างๆของอาคาร กรุณาอย่าซ่อมแซมเอง ให้เรียกบริษัทหรือช่างผู้รู้จริงมาตรวจสอบและแก้ไขเสีย จะต้องเสียงบประมาณเท่าไรก็ต้องยอมนะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และห้ามประมาทเด็ดขาดเลยนะคะ

นี่เป็นแค่คำแนะนำสำหรับซ่อมแซมบ้านบางส่วน อาจจะยังไม่ครบปัญหาทุกประการ แต่ก็คิดว่าอาจจะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับหลายๆท่านได้นะขอรับ :))

แหล่งอ้างอิง:
http://health2u.exteen.com/20111030/entry-1
เนื้อหาครบ ภาพสวยงาม
แบ่งเป็นหน้าย่อยๆ ก็ดีนะ
อาจจะเพิ่มเติมข้อมูลได้อีก
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
ทำด้วยใจ ไปด้วยฝัน
รูปอาร์ตดีอ่ะตัวเทอ ดูเหมือนถ่ายเมื่อร้อยปีที่แล้วดี(?) 555+
เนื้อหาอ่านง่ายดี สบายตา
เนื้อหาสุดยอดมากอ่ะ
เนื้อหาเยอะดี
เนื้อหาครบถ้วน สุโค่ย!!!!!
เนื้อหาอ่านง่ายรูปภาพชัดเจนสวยงาม
อืม ดีจ้ะ แต่จะเพิ่มเติมอีกก็ได้นะจ้ะ
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
ทำด้วยใจ ไปด้วยฝัน