เรื่อง...กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง






เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ เจ้าฟ้ากุ้ง ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๑ ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อพระราชบิดาขึ้นครองราชย์ได้สถาปนาตั้งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงมีพระนิสัยสืบมาจากบรรพชนหลายประการ คือมีพระนิสัยเป็นกวีอย่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงดุดันเหมือนสมเด็จพระเจ้าเสือ เพราะครั้งหนึ่งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงใช้พระแสงดาบไล่ฟันกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ซึ่งดำรงเพศเป็นภิกษุจึงต้องหนีไปผนวชอยู่เป็นเวลา ๒ ปี ณ วัดโคกแสง เพื่อให้พ้นพระราชอาญาและได้ทรงนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนา ๒ เรื่อง คือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง กับพระมาลัยคำหลวง เจ้าฟ้ากุ้งได้ลาสมณเพศเมื่อ พ.ศ.๒๒๘๔ พระบิดาคงจะประทานอภัยหายกริ้วแล้ว จึงโปรดให้ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช ในระหว่างนี้คงจะได้นิพนธ์เรื่องทำนองพิศวาสที่ทำให้พระองค์ได้ชื่อเสียงว่าเป็นกวีเอกผู้หนึ่ง คือ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาทและดีที่สุด คือ กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๒๙๘ เพราะทรงเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลซึ่งเป็นพระสนมในพระราชบิดาเป็นเหตุให้ต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ งานนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่รู้จักแพร่หลาย คือ นันทโปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง กาพย์เห่เรือ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาทและเพลงยาว
กาพย์ห่อโคลง คำ ประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลง มีลักษณะทางฉันทลักษณ์ดังนี้ ขึ้นต้นด้วยกาพย์ยานี 1 บท แล้วตามด้วยโคลงสี่สุภาพ 1 บทใจความเหมือนกัน กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง นั้นมีกาพย์ยานีและโคลงสี่สุภาพรวม 108 คู่ และโคลงปิดท้ายมี 2 บท จุดประสงค์ในการแต่ง เป็นบทชมธรรมชาติ เพื่อความเพลิดเพลินในการเดินทาง เพื่อพรรณนากระบวนเสด็จทางสถลมารคจากท่าเจ้าสนุกถึงธารทองแดง และพรรณนาธรรมชาติบริเวณธารทองแดง
หนังสือปริทรรศน์ วรรณคดีไทยของนายตำรา ณ เมืองใต้ ธารทองแดงเป็นชื่อธารน้ำที่อยู่ในบริเวณพระพุทธบาท เป็นที่น่ารื่นรมย์ด้วยธรรมชาติสัตว์ต่างๆพันธุ์ไม้ต่างๆ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรได้เสด็จประพาสป่าและทรงพรรณนาลักษณะของสัตว์ความงามของต้นไม้ดอกไม้ไว้อย่างละเอียดในกาพย์ห่อโคลงเรื่องนี้ |