สวนรถไฟ แหล่งเรียนรู้สีเขียว


ลักษณะเด่นและจุดที่น่าสนใจในสวน ท่ามกลางตึกสูงระฟ้าย่านพหลโยธิน ที่สื่อถึงความเจริญด้านวัตถุ และการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง อาคารคอนกรีตซึ่งขนานยาวไปกับสองฝั่งถนน สร้างผิวสัมผัสมหาศาลที่เป็นตัวสะสมความร้อน ให้วนเวียนอยู่ในตัวเมืองกรุงเทพฯ ขณะที่พื้นผิวละเอียดอ่อนนุ่ม สีเขียวที่ทำให้ผ่อนคลายของใบไม้ใบหญ้าลดปริมาณลง เพื่อเปิดทางให้ความเจริญเหล่านี้มาแทนที่นั่นคือ สาเหตุของอากาศร้อนรุนแรงภายในเมือง และพื้นที่สีเขียวดูจะสามารถบรรเทาปัญหานี้ได้ " สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ" จึงเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงบทบาทของสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียว ที่มีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตคนกรุง เพราะเพียงก้าวแรกจะรู้สึกผ่อนคลาย ร่มรื่น เย็นสบาย ต่างจากความร้อนระอุที่แผดเผาอยู่ภายนอก และบรรยากาศที่ปะปนด้วยไอเสีย ฝุ่นละอองจากยานยนต์ ซึ่งวนเวียนบนผิวจราจรที่คับคั่ง ราวกับได้มาเยี่ยมโลกสีเขียวในวงล้อมป่าคอนกรีต สวนสาธารณะแห่งนี้ถูกสร้างในแนวคิด " สวนแห่งครอบครัว " ที่ตระเตรียมกิจกรรมหลากหลาย ไว้ดึงดูดความสนใจของสมาชิกทุกวัยในครอบครัว แทรกอยู่ตามจุดต่างๆ ในพื้นที่เปิดโล่งกว้างไพศาล และเขียวขจี สดชื่น นุ่มนวล สบายตาให้ความรู้สึกอิสระ มีเนินหญ้าสลับกับพื้นราบกว้าง มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับสวนสาธารณะครบครัน และเป็น " สวนสาธารณะในฝันของนักปั่นจักรยาน เสือภูเขา" ด้วยเส้นทางจักรยานวิบาก ยาว 3,020 เมตร ลัดเลาะดงไม้ ไต่เนินไปรอบนอกสวน หรือจะเลือกเดินชมธรรมชาติ วิ่งออกกำลังก็ทำได้ในเส้นทางใหญ่ พร้อมไปกับกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ จากประสบการณ์ตรงในห้องเรียนกลางแจ้ง นั่นคือ ความโดดเด่นที่สุดของสวนวชิรเบญจ - ทัศคงในนาม "อุทยานการเรียนรู้จตุจักร" บทบาทใหม่ของสวนสาธารณะที่เพิ่มศักยภาพ ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งนันทนาการเปิด ทำให้ผู้ใช้สวนสามารถเข้ามาใช้บริการ ได้ตลอดวัน เกิดขึ้นจากการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกิจกรรม เพื่อการเรียนรู้และนันทนาการในสวนทั้ง 6 จุด เข้ากับกิจกรรมในสวนสาธารณะข้างเคียง คือ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จำนวน 2 จุด และสวนจตุจักร อีก 1 จุด รวมเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ 9 จุดเชื่อมสวนทั้ง 3 เข้าด้วยกันเป็นพื้นที่สี เขียวผืนใหญ่ ถึง 705 ไร่ สร้างคุณค่ามหาศาลต่อระบบนิเวศของเมือง นับเป็นการพัฒนาด้านสังคมควบคู่กับด้านจิตใจ ที่สอดแทรกมาในการพัฒนาพื้นที่ด้านกายภาพ
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
ทำด้วยใจ ไปด้วยฝัน