บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรมที่มีต่อหนังสือการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ภาษาพม่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ณ.พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านใหม่ในสอย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่พักพิงชั่วคราวถ้ำหิน จังหวัดราชบุรี จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ หนังสือการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ภาษาพม่า และแบบประเมินความพึงพอใจซึ่งมีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.91 การเก็บรวบรวมข้อมูล ทำภายหลังการอบรมสิ้นสุดและรับแบบประเมินความพึงพอใจกลับคืนทันที สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย(Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัย พบว่า ความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรมที่มีต่อหนังสือการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ภาษาพม่าทั้ง 4 ด้านโดยรวมพบว่าอยู่ในระดับมาก และผลการวิเคราะห์รายด้าน พบว่า ด้านลักษณะรูปเล่มโดยรวม ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรมอยู่ในระดับมากที่สุด 4 ข้อได้แก่ การจัดหน้าสวยงามเน้นจุดเด่นของเนื้อหา ขนาดของหนังสือพกพาได้สะดวก ความหนาของหนังสือมีความเหมาะสม และรูปเล่มภายนอกสวยงามน่าอ่าน สำหรับด้านการจัดภาพประกอบโดยรวม ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรมอยู่ในระดับมากที่สุด คือ ภาพปกมีความสวยงามน่าสนใจ สำหรับด้านเนื้อหา-สาระโดยรวม ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรมอยู่ในระดับมากที่สุดคือ เนื้อหาสามารถเสริมสร้างความรู้ให้กับท่าน และด้านการใช้ภาษาโดยรวม ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่าความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรมอยู่ในระดับมากที่สุด คือ ชื่อเรื่องมีความเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ภาษาพม่าในด้านเนื้อหา-สาระ พบว่าเนื้อหาชัดเจน เข้าใจง่าย นำไปใช้ได้จริง ด้านการนำความรู้ในหนังสือไปใช้ประโยชน์สามารถนำไปใช้กับตนเอง สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน ผู้ป่วย และในชีวิตประจำวัน มีความต้องการหนังสือภาษากะเหรี่ยง หนังสือปกแข็งและกันน้ำได้