เผยแพร่ผลงานวิชาการ (เปรียบเทียบวิธีสอน Constructivist กับ Polya) โดย อ.จรัลรัตน์ ใจขาน
ชื่อเรื่อง: การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ ระหว่างการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ วิธีสอนที่เน้นทักษะกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และวิธีการสอนปกติ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลสามเหลี่ยม
ผู้วิจัย: นางจรัลรัตน์ ใจขาน (โรงเรียน โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม เทศบาลนครขอนแก่น)
ปีที่วิจัย: 2554
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ วิธีสอนที่เน้นทักษะกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และวิธีการสอนปกติ และ (2) เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพแผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้วิธีสอนตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ และวิธีสอนที่เน้นทักษะกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ โดยกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพ E1/E2 ที่ 80/80 กลุ่มเป้าหมายของการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 77 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยใช้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/1 จำนวน 27 คน เป็นกลุ่มทดลองที่เรียนโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ ที่ใช้วิธีสอนตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มทดลองที่เรียนโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ ที่ใช้วิธีสอนที่เน้นทักษะกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/3 จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มควบคุมที่เรียนตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย (1) แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4โดยใช้วิธีสอนตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (2) แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้วิธีสอนที่เน้นทักษะกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และ (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมุติฐานใช้ One-Way ANOVA
ผลการวิจัยพบว่า
นักเรียนที่เรียนโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ และวิธีสอนที่เน้นทักษะกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เรียนด้วยการสอนตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับ .001 โดยแผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้วิธีสอนตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ และวิธีสอนที่เน้นทักษะกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ดังกล่าวมีค่าประสิทธิภาพ 82.41/82.47 และ 83.01/81.33 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และมีดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.73 และ 0.71 ตามลำดับ
กล่าวโดยสรุป แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ และวิธีสอนที่เน้นทักษะกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ที่พัฒนาขึ้นนี้ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ได้