พันธุ์เรดเลดี้
การขยายพันธุ์และการดูแลรักษา
โดยทั่วไปแล้วมะละกอจะมีอยู่ 3 เพศคือ
1. มะละกอเพศผู้ มะละกอชนิดนี้ไม่สามารถให้ผลผลิตได้
2. มะละกอเพศเมีย มะละกอชนิดนี้ให้ผลผลิตได้ แต่ผลกลม เนื้อบาง
3. มะละกอเพศกะเทย (สมบูรณ์เพศ) มะละกอชนิดนี้ให้ผลผลิตดีที่สุด
สำหรับวิธีการขยายพันธุ์ที่นิยมมากที่สุด แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ การเพาะเมล็ดและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเพาะเมล็ดลงในกระบะทราย เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ทรายที่ใช้ต้องเป็นทรายหยาบ สะอาด และเป็นทรายจืด เพาะเมล็ดโดยเตรียมกระบะไม้หรือกระบะพลาสติกที่มีรูระบายน้ำด้านล่าง รองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หนึ่งชั้น เททรายลงในกระบะเกลี่ยให้เรียบ ความหนาประมาณ 2-3 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่มทำร่องบนทรายให้ลึก 1.5 เซนติเมตร ห่างกันแถวละ 1.5-2 นิ้ว
เมล็ดมะละกอที่จะหยอดต้องคลุกด้วยยาป้องกันเชื้อรา เช่น Apron 35 wp. คลุกเมล็ดให้เป็นสีชมพูจางๆ จะทำให้ต้นกล้าแข็งแรงไม่เป็นโรคโคนเน่าแล้วจึงโรยเมล็ดในร่องทราย กลบและใช้หลังมือตบเบาๆ ให้ทรายอัดตัว เมื่อเมล็ดงอก ทรายจะช่วยขัดสีไม่ให้เปลือกหุ้มเมล็ดติดต่อกับส่วนยอดของกล้า
เมื่อเพาะเมล็ดประมาณ 6 วัน เมล็ดจะงอก จากนั้นประมาณ 8-10 วัน ควรย้ายกล้าออกจากกระบะทรายลงไปในพลาสติกสีดำที่มีจำนวน 104 หลุม ใส่มีเดีย (วัสดุเพาะปลูกที่ใช้แทนดิน) ลงให้เต็มช่องหลุมได้ฟื้นตัวในเวลากลางคืน และใน 2-3 วันแรกของการเคลื่อนย้ายต้นกล้า ควรพรางแสงต้นกล้าด้วยซาแรน ขนาด 70 เปอร์เซ็นต์ ต้นกล้าจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และเมื่อฟื้นตัวดีแล้วจึงย้ายปลูก
มะละกอ เป็นพืชที่มีระบบรากตื้นและกว้าง การเลือกพื้นที่ปลูกจึงควรเลือกพื้นที่โล่งแจ้ง มีแสงแดดตลอดวัน น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ง่าย มีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดปี มะละกอเป็นพืชที่ลูกดก หากมีธาตุอาหารและให้ปุ๋ยที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ภายใน 1 ปีจะให้ผลผลิตได้มากมาย ปุ๋ยที่สำคัญ ได้แก่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตราประมาณ 100 กิโลเมตร ต่อไร่ และสูตร 0-46-0 อัตราประมาณ 25 กิโลกรัม ต่อไร่ ปุ๋ยคอก เน้นปุ๋ยมูลไก่ อัตราประมาณ 800-1000 กิโลกรัม ต่อไร่ ธาตุอาหารเสริมที่จำเป็นและต้องใส่เมื่อเตรียมดินครั้งแรกด้วยคือ ธาตุโบรอน ในรูปของสารบอแรกซ์ อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อไร่
การดูแลรักษา
การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ อย่าให้ขาดน้ำเพราะถ้ามะละกอขาดน้ำต้นอาจชะงักการเจริญเติบโต ไม่ติดดอกออกผล การให้น้ำมะละกอไม่ควรให้น้ำแฉะเกินไป เพราะมะละกอเป็นพืชไม่ชอบน้ำมากแต่ขาดน้ำไม่ได้
การพรวนดิน ควรมีการพรวนดินกำจัดวัชพืช ในช่วงแรกอย่าให้มีวัชพืชรบกวนและต้องมีการกลบโคนต้นในช่วงหลังปลูกประมาณ 1 เดือน การทำไม้หลัก เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากเนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่มีลำต้นค่อนข้างอวบ ให้ผลผลิตและมีน้ำหนักมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำหลักเพื่อพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม ส่วนการไว้ผลและตัดแต่ง การปลูกมะละกอถ้าจะให้ได้คุณภาพผลผลิตที่ดี ควรทำการปลิดผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง เพราะนอกจากจะแย่งอาหารแล้วยังทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ
ส่วนวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์ของมะละกอเรดเลดี้ เบอร์ 786 จะได้ผลดีและมีคุณภาพมากกว่า เพราะมะละกอเรดเลดี้ เบอร์ 786 เป็นมะละกอที่ผลิตจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งผ่านการคัดเลือกพันธุ์มาอย่างดีจากต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงที่สุด ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ ผลดก เนื้อสีแดงเข้ม รสชาติหวานหอม ลำต้นเตี้ย ทนทานต่อโรคแมลงเป็นอย่างดี และทุกต้นเป็นดอกสมบูรณ์เพศ นอกจากนี้ ยังทำให้ได้ต้นมะละกอพันธุ์ดี ตรงคุณภาพสายพันธุ์ ให้ผลผลิตสูง ลักษณะของผลมีความสม่ำเสมอ ต้นเตี้ย เมื่อต้นสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ก็สามารถติดผลได้ ที่สำคัญเนื้อแน่นทนทานต่อการขนส่งทางไกล
ศัตรูและการป้องกัน
ถ้าพูดถึงศัตรูตัวสำคัญที่เป็นปัญหาในสวนมะละกอที่พบมากที่สุด คือ ไรแดง ซึ่งจะเข้าทำลายโดยการดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของมะละกอ เช่น ใบ ผล ดอก หรือส่วนอ่อนๆ ของพืช มักจะระบาดในช่วงที่มีอากาศร้อนและแห้ง สามารถป้องกันได้โดย เมื่อมีการระบาดให้ตัดหรือเก็บส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยของไร เผาทำลาย หรือใช้สารเคมีประเภท อะคาร์ เคลเทน ไดฟอน และไอไมท์ โดยใช้ตามคำแนะนำที่ติดอยู่บนฉลากยา
เพลี้ยไฟ เป็นศัตรูที่สำคัญของมะละกออีกชนิดหนึ่ง มีลำตัวขนาดเล็ก เคลื่อนไหวได้เร็วมาก ทำลายโดยการดูดน้ำจากส่วนต่างๆ ของพืช เป็นพาหะของเชื้อไวรัส มักระบาดช่วงฤดูร้อน การป้องกันทำได้โดยการใช้สารเคมีกำจัด ซึ่งต้องเปลี่ยนชนิดของสารอยู่เสมอ ไม่ควรฉีดชนิดใดชนิดหนึ่ง ยาที่ใช้ได้ผลคือ ไดเมทโซเอท คาร์โบซัลแฟน
นอกจากนี้ ยังรวมถึงเพลี้ยอ่อน ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง โดยมีลักษณะการทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนอ่อนของต้นมะละกอ เช่น ใบอ่อน ยอดอ่อน ดอกหรือส่วนอ่อนของลำต้น ที่สำคัญเพลี้ยอ่อนยังเป็นพาหะก่อให้เกิดโรคใบด่าง ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงของมะละกอด้วย
สำหรับการป้องกันโรคใบด่าง เกษตรกรควรระมัดระวังอย่าให้น้ำมะละกอมากเกินไป ทั้งในระยะต้นกล้าและต้นโต ไม่ควรให้ปุ๋ยประเภทไนโตรเจนมากเกินไปเพราะจะทำให้ลำต้นอวบเปราะและหักง่าย และควรหมั่นตรวจแปลงปลูก ถ้าพบต้นที่เป็นโรคให้รีบทำลาย
เทคนิคในการปลูกมะละกอเรดเลดี้
การปลูกมะละกอเรดเลดี้ให้ได้ผลสำเร็จ นอกจากจะมีเทคนิคและวิธีการปลูกที่เหมาะสมแล้ว ยังมีเคล็ดลับเด็ดๆ อีกด้วย โดยเฉพาะการรักษาใบมะละกอและส่วนยอดให้ดีที่สุด ห้ามเด็ดทิ้ง ควรเร่งให้มะละกอโตเร็วที่สุดในขณะที่ต้นเตี้ย โดยการเสริมปุ๋ยและธาตุอาหารอย่างพอเพียง และต้องให้มะละกอได้รับแสงอย่างพอเพียงตลอดทั้งวัน ประการสุดท้าย เกษตรกรควรเริ่มปลูกในเดือนมีนาคมของทุกปีเพื่อให้มะละกอสามารถออกผลในช่วงฤดูฝน
แนวทางการพัฒนาสายพันธุ์มะละกอเรดเลดี้
สำหรับแนวทางการพัฒนาสายพันธุ์มะละกอเรดเลดี้ ของทางบริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการทดสอบการปลูกมะละกอเรดเลดี้ ด้วยการกางมุ้ง จำนวน 2 ไร่ ซึ่งดำเนินการทดลองปลูกมาตั้งแต่เดือนเมษายน เหตุที่ปลูกกางมุ้งเพื่อต้องการศึกษาความเปลี่ยนแปลงจากการปลูกในพื้นที่โล่งที่มีแสงแดดจัด และเป็นการป้องกันแมลงรบกวนด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการเปรียบเทียบอุณหภูมิของการปลูกมะละกอเรดเลดี้กางมุ้งกับภายนอก ซึ่งมีความแตกต่างกันมากถึง 7 องศาเซลเซียส คาดว่าจะได้ผลการเปรียบเทียบต่างๆ จากการทดลองครั้งนี้ราวเดือนตุลาคม 2548 หากมีผลดีมากกว่าการปลูกแบบปกติโดยทั่วไป น่าจะเผยแพร่ให้เกษตรกรได้
เนื่องจากมีข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดได้ทำการคัดลอกมาแล้วไม่อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลให้ชัดเจนด้วย ดูรูปแบบการทำเอกสารอ้างอิงได้ที่
http://www.thaigoodview.com/node/99177
มิฉะนั้นทางเว็บ thaigoodview.com จำเป็นต้องลบข้อมูลทั้งหมดออก
อ่านรายละเอียด http://www.thaigoodview.com/node/159116
ขอขอบคุณ
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
ผู้ดูแลเว็บไซต์ไทยกู๊ดวิว
ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่าคัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง
ช่วยกันนะครับ
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ ไม่ถูกปิดเสียก่อน
ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ