โรงเรียนราชินีบูรณะ

โรงเรียนราชินีบูรณะ
ผู้ก่อตั้งโรงเรียน : สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ(พระพันปีหลวง) ได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ และโปรดเกล้าให้ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร เป็นผู้แทนพระองค์มาเปิดโรงเรียน พร้อมกับ พระราชทานนามว่า "ราชินีบูรณะ"
สีประจำโรงเรียน : สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียน เป็นสีที่บ่งบอกถึงความหนักแน่น ความมั่นคง สีขาว หมายถึง การมีจิตใจที่พิสุทธิ์สะอาด รักความยุติธรรม
''สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (พระพันปีหลวง)''
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ( พระพันปีหลวง ) ประสูติ ในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2406 เป็นพระราชธิดาในพระ บาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (ซึ่งในรัชกาล ที่ 5 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นเจ้าคุณจอมมารดา และในรัชกาลที่ 6 เป็นสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา) ในการสมโภชเมื่อ ประสูติได้ ครบเดือนหนึ่ง พระองค์ได้รับพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าเสาวภา ผ่องศรี
สมเด็จฯ ทรงมีพระปัญญาเฉียบแหลมมาแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่บางทีก็ดื้อมาก เช่น เวลาทรงพระอักษร ก็ไม่ยอมทรงอ่านดัง ๆ พระอาจารย์อ่านถวายไปเท่าใด ท่านก็ทอดพระเนตรตามไปเฉย ๆ พระอาจารย์ไม่อาจทราบว่าสามารถทรงได้เพียงไหนจึงต้องไปร้องทุกข์ต่อเจ้าจอมมารดา ครั้นเจ้า จอมมารดาทูลต่อว่า ก็ตรัสว่า " ฉันอ่านได้แล้ว " เจ้าจอมมารดาบังคับให้ทรงอ่านให้ฟังก็ได้จริงดั่งที่ตรัสมา พระองค์เป็นพระราชธิดาที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรง พระเมตตามาก ดั่งปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง ความทรงจำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เมื่อเสด็จทรงพระราชทานประพาสในที่ใด ๆ ก็โปรดให้สมเด็จฯ ประทับบนพระเพลา คู่กับพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ( สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในรัชกาลปัจจุบัน ) ถ้าไปทางไกลหน่อยก็ประทับที่ ซอกพระขนอง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียเมื่อพระองค์มีพระชันษาเพียง 5 ปี ครั้นเมื่อมีพระชันษาได้ 13 ปี ได้เสด็จเข้า พระราชพิธี โสกันต์ พร้อมด้วยพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่สี่
อีก 5 พระองค์ อาทิ คือ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ( สมเด็จพระเจ้าบรม วงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิตติวงศ์ ) ครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดเป็นการพิเศษ คือมีกระบวนแห่รอบนอกด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชประวัติของพระองค์ที่พิมพ์ไว้ต้นหนังสือแจกงานพระบรมศพว่า " ในปลาย รัชกาลที่ 4 นั้น ยังหาได้มีที่จะศึกษาเล่าเรียนได้ดีเสมอเหมือนอย่างทุกวันนี้ไม่ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในซึ่งทรงชำนาญในการอักษร เคยเป็นที่ศึกษาเล่าเรียน ของเจ้านายชั้นหลังนั้นก็สิ้นพระชนม์ไปเสียหมดแล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงมีโอกาสที่จะทรงศึกษาเล่าเรียนได้น้อยนัก แต่หากว่าทรงมีพระวิริยะพระปัญญา แตก ตั้งแต่ประสูติมาเดิมแล้ว และพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระเมตตากรุณาใช้สอยติดตามเสด็จมาแต่ยังทรงพระเยาว์ได้ทรงเห็นทรงฟังพระกระแส รับสั่ง และการงานในพระราชสำนักมาก อีกทั้งได้ทรงพระอุตสาหะหมั่นฟังหมั่นถาม เล่าเรียน หมั่นเขียน หมั่นตริตรองตามวิสัยบัณฑิตยชาติ จึงได้ทรงทราบสรรพ วิชาอันควรจะทราบได้ ถ้าแม้จะไม่ดีกว่า ก็เสมอเหมือนผู้ที่มีความรู้และศึกษาเล่าเรียนอย่างดีแล้วก็ได้ ความข้อนี้มีพยานที่จะให้เห็นปรากฏชัด ในลายพระราชหัตถ์ ที่ทรงไว้เป็นอันมาก กับทั้งในราชการบ้านเมืองอันสำคัญที่สุด ซึ่งได้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ในเวลาซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จพระ ราชดำเนินประพาสยุโรปใน พ.ศ. 2440 ย่อมปรากฏชัดเจนแก่คนทั้งปวงทั่วหน้ากันแล้วทรงพระปัญญาสามารถที่จะวินิจฉัยราชการได้ทั่วไป แม้ที่สุดในข้อสำคัญ ๆ ซึ่งเกิดมีความเห็นแตกต่างกันในระหว่างเจ้ากระทรวงทบวงการนั้น ๆ ก็ยังทรงพระราชวินิจฉัยได้แต่โดยลำพังพระองค์ให้เป็นที่พอใจกันได้ทั่วหน้าแล้ว และมิให้เป็นที่เสียประโยชน์ราชการอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลย "
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐานพระองค์ไว้ในตำแหน่ง พระมเหสีมีพระอิสริยยศเป็นลำดับมาคือ เป็น พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี แล้วเป็น พระนางเจ้า ฯ พระวรราชเทวี ต่อมาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าพระอัครราชเทวี ครั้นถึง พ.ศ. 2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงสถาปนาพระองค์เป็น สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์โดยฐานะที่ทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในรัชกาลที่หก พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนี และทรงมอบการปกครอง ในพระบรมมหาราชวังถวายเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระองค์ ต่อมายังถวายพระเกียรติในทางทหารคือ ทรงเป็นพันโทผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารมหาดเล็ก
รักษาพระองค์ในพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพันเอกพิเศษแห่งกรมทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา สมเด็จ ฯ ได้ทรงรับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยา ภรณ์ฝ่ายในชั้นที่ 1 ทุกอย่าง ตั้งแต่ในรัชกาลที่ห้ามาแล้วและได้ทรงดำรงตำแหน่งมหาสวามินีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในด้วย ( ตำแหน่งนี้มีหน้าที่ กำหนดตัวผู้ที่สมควรได้รับพระราชทานตราขึ้นถวายเพื่อทรงพิจารณา ได้เลิกไปแล้วภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ) ในรัชกาลที่หก เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นสูงสุด คือ มหาวชิรมงกุฎขึ้น ได้ถวายแด่พระองค์เป็นปฐมสำหรับสตรี โดย วางบนพานตั้งไว้หน้าพระบรมโกศ เพราะตรานี้สร้างเสร็จเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์ยังได้ทรงรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน ของต่างประเทศ อีก หลายประเทศ
สมเด็จฯ ได้บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างน่าสรรเสริญในฐานะพระมเหสีของพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ ทรงตั้งมั่นอยู่ในราชธรรมจรรยา มีพระราชหฤทัย กว้าง ขวาง เพียบพร้อมด้วยพระเมตตาและกรุณาคุณเป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย แม้จะมีความฉุนเฉียวบ้างในบางขณะบางกรณีก็มิได้พยายาทผูกแค้นอยู่นาน จึ่งมีผลที่ บางคนเคยมีใจชิงชังพระองค์มาก่อนแล้วกลับกลายเป็นผู้จงรักภักดีในที่สุด ก็มีอยู่มาก อนึ่ง พระองค์ยังทรงมีพระญาณวิเศษอาจหยั่งทราบได้ใน ความจงรักภักดีหรือ คุณสมบัติบางประการของผู้ที่มิได้ขวนขวายเฝ้าแหน หรือพยายามวิ่งเต้นหาความชอบแต่เฉพาะพระพักตร์อันใดนัก ข้อนี้ก่อให้เกิดความจงรักภักดี มั่นคงต่อพระองค์ ยิ่งขึ้นในจิตใจของผู้ที่เห็นคุณค่าในน้ำพระราชหฤทัยอันเที่ยงธรรมนั้น สำหรับพระราชสวามีนั้นพระองค์ทรงเป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขได้โดยแท้จริง ดั่งจะเห็นได้หลายทาง เช่นทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างสมบูรณ์ ในยามประชวร พระองค์ก็คะเนพระอาการได้ถูกต้อง และถวายการพยาบาลให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย ในการประชวรครั้งสุดท้ายนั้น เมื่อได้เห็นพระอาการ แม้ในระยะเริ่มแรก ก็ ทรงทราบทันทีว่าหนัก ก่อนที่หมอจะทราบว่าพระวักกะไม่ทำงานและพระบังคนเบาเป็นพิษเสียอีก ทั้งนี้น่าจะเป็นด้วยทรงมีพระหฤทัยจงรักภักดีผูกพันมั่นคง อยู่ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดั่งปรากฏในพระราชดำรัส เมื่อพระราชทานเหรียญราชินีแก่ผู้โดยเสด็จดำเนินประพาสยุโรปคราวแรกๆ เมื่อ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2440 " เรามีความขอบใจท่านทั้งหลายบันดาที่ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประพาสประเทศยุโรปครั้งนี้เป็นอันมาก ถึงว่าการเสด็จยุโรปครั้งนี้มิใช่ไป ทัพศึกก็จริง แต่เมื่อคิดดูถึงระยะทางที่ไกลแลกันดาร ทั้งภยันตรายต่างๆ ซึ่งอาจจะมีจะเป็นได้ด้วยโลกะธาตุแลเหตุอื่นๆ แลที่สุดเมื่อคิดว่าพระองค์แลพระบรมสุขของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งสำคัญของชาวเราและบ้านเมืองของเราเพียงใด ก็ย่อมและเห็นได้ว่าน่าที่ระวังเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเวลาที่เสด็จไปครั้งนี้ เป็นการ สำคัญมาก ที่ท่านทั้งหลายได้ติดตามเสด็จพิทักษ์รักษาแลสนองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยความจงรักภักดี ต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แลได้อุตส่าห์รักษาการตามหน้าที่เรียบร้อยตลอดมาจนเสด็จกลับคืนพระนครครั้งนี้ ชื่อว่าเป็นความชอบ ความดี และเป็นเกียรติยศแก่ท่านทั้งหลาย อันสมควรจะสรร เสริญยิ่งขึ้น ในส่วนตัวของเรานี้ ท่านทั้งหลายย่อมจะเข้าใจได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปรียบดุจดวงชีวิตของเรา ที่ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันพิทักษ์รักษาสนอง พระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็นสุขสำราญตลอดทางกันดาร จนเสด็จกลับคืนพระนครฉะนี้ ก็เหมือนหนึ่งท่านทั้งหลายได้ช่วยป้องกันชีวิต ของเราตลอดมา จึงขอบคุณท่านทั้งหลายเป็นอันมากเมื่อเราระลึกถึงคุณของท่านทั้งหลายที่มีแก่เราดังว่ามานี้ จึงได้สร้างเหรียญราชินี * ขึ้นโดยเฉพาะ แลได้รับพระ ราชทานพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะได้ให้แก่ ท่านทั้งหลายในเวลานี้ จงรับไว้ประดับกายเป็นที่ระลึกถึงที่เราขอบคุณท่านทั้งหลาย ใน ครั้งนี้สืบไปทุก ๆ คนเทอญ " สมเด็จฯ ทรงมีพระราชโอรสธิดาคือ
1. สมเด็จเจ้าฟ้าพหุรัดมณีมัย พ.ศ. 2421-2430 ในรัชกาลที่หก ทรงสถาปนาเป็นกรมพระเทพนารีรัตน์
2. พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติ พ.ศ. 2423 ทรงราชย์ พ.ศ. 2453 สวรรคต พ.ศ. 2468
3. สมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพชรตมธำรง พ.ศ. 2424-2430
4. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พ.ศ. 2425-2463
5. สมเด็จเจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ พ.ศ. 2428-2430
6. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ในวันที่ประสูติ พ.ศ. 2430
7. สมเด็จเจ้าฟ้าชายอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พ.ศ. 2432-2467
8. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย พ.ศ. 2435-2466
9. พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติ พ.ศ. 2436 ทรงราชย์พ.ศ. 2468 สละราชสมบัติ พ.ศ. 2477 สวรรคต พ.ศ. 2484
สมเด็จ ฯ ทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงได้ทรงทะนุบำรุงโดยการบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เสมอมิได้ขาด ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างเจดีย์วัตถุ มีพระพุทธรูป และพระธรรมคัมภีร์ เช่น พระไตรปิฎกสยามรัฐในรัชกาลที่ห้า ทรงสร้างพระวิหารสมเด็จที่วัดเบญจมบพิตร และทรงปฏิสังขรณ์พระ อารามต่าง ๆ ทั้งในพระนคร ทั้งในหัวเมืองในพระราชอาณาจักร แม้พระพุทธเจดียฐาน นอกพระราชอาณาจักรก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์ด้วยกัน กับได้ถวายนิตยภัตแก่พระสงฆ์บางองค์ ถวายข้าวสารเป็นอาหารบิณฑบาต แก่ภิกษุสามเณร ทั้งพระอารามอีกหลายพระอาราม รวมทั้งค่าน้ำประปา ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าชำระปัดกวาดรักษาพระ อารามบางแห่งอีกด้วย ในส่วนสาธารณประโยชน์นั้น พระองค์ได้ทรงสร้างสะพานพระราชเสาวนีย์ริมทางรถไฟสายเหนือเชื่อมถนนศรีอยุธยาให้ติดต่อกันตลอดเมื่อทรงบำเพ็ญ พระราช กุศลฉลองพระชนมายุครบ 48พรรษาต่อมายังโปรดให้สร้างนางพระธรณีให้น้ำเป็นอุทกทานที่หัวมุมสนามใกล้สะพานผ่านพิภพลีลากับที่โรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ ที่พระนครศรีอยุธยา และบ่อน้ำที่หัวหิน เป็นต้น อนึ่งพระองค์ทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยว่าความเจริญของบ้านเมืองย่อมอาศัยความที่ได้ศึกษาเล่าเรียนอันดีทั้งชายและหญิงแต่โรงเรียนสำหรับเด็กชายนั้นทางรัฐบาลได้จัดตั้งไว้มากแล้ว จึงได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น เริ่มด้วยโรงเรียนเสาวภา เมื่อ พ.ศ. 2440 ต่อมายังได้โปรดให้จัด ตั้งขึ้นอีก เช่น โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ (อยุธยา) ราชินีบูรณะ (นครปฐม) สำหรับเด็กชายมีโรงเรียนวิเชียรมาตุ ที่ตรังแห่งหนึ่ง โรงเรียนที่กล่าวนามมานี้ พระราช ทานไว้แก่กระทรวงธรรมการ (คือ กระทรวงศึกษาธิการบัดนี้)
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในชั้นเดิมมีพระสรีรานามัยดีมาก แต่ต่อมาบรรทมหลับยากดั่งได้กล่าวมาแล้ว ทั้งพระบังคมเบามีไข่ขาวด้วย เนื่องจากพระวักกะไม่ เป็นปรกติ ครั้นเมื่อพระชนมายุบรรจบ 4 รอบ ล่วงมาแล้ว ประกอบทั้งทรงประสบวิปโยคทุกข์เมื่อตอนสิ้นรัชกาลที่ห้า ก็มีพระโรคามารบกวนบ่อย ๆ พระอาการมีทรงกับทรุด เป็นเหตุให้พระกำลังลดน้อยถอยลงไปทุกที ปีหลัง ๆ ถึงกับทรงพระดำเนินโดยลำพังพระองค์ไม่ได้ ในกลางปี พ.ศ. 2462 ได้ประชวรไข้ติด ๆ กันหลายครั้ง ครั้งที่สุดได้เริ่มประชวรเมื่อเวลาเที่ยง วันที่ 19 ตุลาคม 2462 ไข้นั้นเกิดแต่พิษในพระอันตะ กำลังพระหทัยทนพิษไข้ไม่ได้ เสด็จสวรรคตที่ตำหนักพญาไท เวลา 7.50 นาฬิกา วันที่ 20 ตุลาคม นั้นเอง
เนื่องจากมีข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดได้ทำการคัดลอกมาแล้วไม่อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลให้ชัดเจนด้วย ดูรูปแบบการทำเอกสารอ้างอิงได้ที่
http://www.thaigoodview.com/node/99177
มิฉะนั้นทางเว็บ thaigoodview.com จำเป็นต้องลบข้อมูลทั้งหมดออก
ขอขอบคุณ
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
ผู้ดูแลเว็บไซต์ไทยกู๊ดวิว
ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่าคัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง
ช่วยกันนะครับ
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ ไม่ถูกปิดเสียก่อน
ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ