รายงานผลการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง พหุนาม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง พหุนาม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนคอนสารวิทยาคม อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 30 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 จำนวน 44 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติการ คือ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 11 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้และแบบทดสอบท้ายวงจร และ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้เป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เป็นแบบทดสอบแบบปรนัย จำนวน 30 ข้อ
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง พหุนาม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนได้ทราบจุดประสงค์การเรียนรู้และทบทวนความรู้เดิมโดยใช้การตอบคำถาม การสร้างสถานการณ์ หรือการยกตัวอย่าง เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนใจและมีความพร้อมในการเรียน 2) ขั้นการสำรวจปัญหา เป็นขั้นที่นักเรียนร่วมกันทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาและหาแนวทางในการแก้ปัญหา สมาชิกในกลุ่มร่วมกันอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมในการหาคำตอบ สรุปเป็นวิธีการแก้ปัญหาของกลุ่ม 3) ขั้นการอธิบายวิธีการหาคำตอบหรือวิธีการสร้างความรู้ เป็นขั้นที่แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนนำเสนอแนวทางแก้ปัญหา สมาชิกทุกคน ในชั้น อภิปราย ซักถาม ตรวจสอบความถูกต้อง และสรุปแนวทางทั้งหมดเพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหา โดยมีการอ้างอิงเหตุผลที่สมเหตุสมผล การลงข้อสรุปที่ถูกต้องเชื่อถือได้ 4) ขั้นการปฏิบัติการสร้างความรู้ เป็นขั้นที่ให้นักเรียนฝึกทักษะจากใบงานที่ครูผู้สอนสร้างขึ้นที่มีสถานการณ์ที่หลากหลาย คล้ายคลึงกับสถานการณ์เดิม นักเรียนเลือกทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและสามารถอธิบายวิธีแก้ปัญหาของตนเองได้ 5) ขั้นการตรวจสอบความรู้ที่สร้างขึ้น เป็นขั้นที่ให้เพื่อนในกลุ่มช่วยกันตรวจสอบคำตอบที่ถูกต้องจากบัตรเฉลย ครูใช้การสังเกตในการร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน เพื่อเป็นการตรวจสอบระดับความรู้ของนักเรียนในเรื่องที่เรียนว่านักเรียนมีความรู้ความสามารถตามเกณฑ์ที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลในการสอนซ่อมเสริมให้กับนักเรียนที่ยังไม่ผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้ก่อนที่จะทำการสอนเนื้อหาอื่น ๆ ต่อไป และ 6) ขั้นการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ เป็นขั้นที่นักเรียนร่วมกันนำความรู้ที่สร้างขึ้นไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือแนวคิดที่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมหรือนำแบบจำลองหรือข้อสรุปที่ได้ไปใช้อธิบายสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มเติมความเข้าใจ และขยายความรู้ให้กว้างขวางขึ้น
2. นักเรียนกลุ่มเป้าหมายมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์เฉลี่ยคิดเป็น ร้อยละ 73.87 และมีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ 34 คน คิดเป็นร้อยละ 77.27 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้