ระบบหมุนเวียนของโลหิต (circulatory system)
แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ
1. ระบบเปิด เป็นระบบที่เืลือดไม่ได้ไหลไปตามเส้นเลือดตลอดเวลาแต่จะมีเลือดไหลไปตามช่องว่างในลำตัวที่เรียกว่า เฮโมซีล ( Haemocoel ) พบในสัตว์ในไฟลัม มอลลัสกา ได้แก่ หอย ปลาหมึก และสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา ได้แก่ ปู กุ้ง ตะขาบ และแมลง
2. ระบบปิด เป็นระบบที่เลือดไหลไปตามเส้นเลือดผ่านหัวใจครบวงจร ระบบนี้มีเส้นเลือดฝอยเชื่อมโยงระหว่างเส้นเลือดที่พาเลือดออกจากหัวใจ กับเส้นเลือดที่พาเลือดเข้าสู่หัวใจ พบในสัตว์ไฟลัม แอนิลิดา เช่น ไสเดือนดิน และสัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตา หรือพวกมีกระดูกสันหลัง เช่น ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
**เซอร์วิลเลียม ฮาร์วี ( Sir William Harvey ) ชาวอังกฤษเป็นคนแรกที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการหมุนเวียนของเลือด และพบว่าเลือดของคนเราไหลไปทางเดียว ไม่มีการไหลสวนทางกัน
*มาร์เซลโล มัลพิกิ ( Marcello Malpghi ) เป็นผู้พบเส้นเลือดฝอยเป็นคนแรก
ระบบหมุนเวียนของเลือดในคน
ในร่างกายมนุษย์มีหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตให้ไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือด การสูบฉีดโลหิตของหัวใจ ทำให้เกิดแรงดันให้เลือดไหลไปตามเส้นเลือดไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย และไหลกลับคืนสู่หัวใจ โดยหัวใจของคนเราตั้อยู่ในทรวงอกระหว่างปอดทั้งสองข้างค่อนมาทาด้านซ้ายชิดผนังทรวงอก แบ่งออกเป็น 4 ห้อง ห้องบนสองห้อง มีผนังบาง เรียกว่า เอเทรียม ( atrium ) ส่วนสองห้องล่างมีขนาดใหญ่กว่าและผนังหนา เรียกว่า เวนทริเคิล ( ventricle ) ระหว่างห้องบนกับห้องล่างทั้งสองซีกจะมีลิ้นหัวใจ ( value ) คอยเปิด- ปิด เพื่อกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ
** หัวใจของคนเราประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อที่มิได้อยู่ภายใต้อำนาจบังคับของสมอง **
** หัวใจของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มี 4 ห้อง ของสัตว์ครึ่งบกครึ่น้ำมี3 ห้อง ( ยกเว้นจระเข้ มี 4 ห้อง ) หัวใจปลามี 2 ห้อง หัวใจของสัตว์ปีก มี 4 ห้อง **
ระบบหมุนเวียนของเลือดในคน
ในร่างกายของมนุษย์ ระบบการหมุนเวียนของเลือดประกอบด้วยหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย โดยมีเส้นเลือดเป็นท่อลำเลียงเลือด ดังนั้นระบบหมุนเวียนเลือดของคนเราจึงประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ เลือด เส้นเลือด และ หัวใจ
1. เลือด ( blood ) ในร่างกายของคนเรามีเลือดอยู่ประมาณ 6,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร เลือดประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นของเหลว คือ น้ำเลือด ( plasma ) กับส่วนที่เป็นของแข็ง คือ เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และ เกล็ดเลือด
1.1 ส่วนที่เป็นของหลว คือ น้ำเลือดหรือพลาสมา ประกอบด้วยน้ำและสารต่างๆ ซึ่งได้แก่ สารอาหารที่ถูกย่อยแล้ว รวมทั้งวิตามิน เกลือแร่ ฮอร์โมนและสารอื่นๆที่ละลายน้ำได้ สารเหล่านี้จึงอยู่ในรูปสารละลาย มีประมาณ 50 % ของเลือดทั้งหมด น้ำเลือดทำหน้าที่ลำเลียงอาหารที่ถูกดูดซึมจากลำไส้เล็กไปสู่ส่วนต่างๆของเซลล์ทั่วร่างกายและลำเลียงของเสียที่เป็นของเหลวจากเซลล์ เช่น ยูเรีย มาสู่ไต ซึ่งไตจะสกัดเอาสารยูเรียออกจากเลือดแล้วขับถ่ายออกมาในรูปของปัสสาวะ
1.2 ส่วนที่เป็นของแข็ง มีอยู่ประมาณ 50% ของเลือดทั้งหมด ประกอบด้วย
- เซลล์เม็ดเลือดแดง ในขณะที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จะอยู่ในไขกระดูกและมีนิวเคลียส แต่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดแล้วนิวเคลียสจะหายไป เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ขนส่งแก๊สออกซิเจน จากปอดไปสู่เซลล์ทั่ร่างกายและขนส่งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดจากการสลายอาหารจากเซลล์มาสู่ถุงลมในปอดเพื่อขับถ่ายออกนอกร่างกายทางลมหายใจออก โดยเฉลี่ยเม็ดเลือดแดงจะมีชีวิตอยู่ในกระแสเลือดประมาณ 90- 120 วัน หลังจากนั้นจะถูกส่งไปทำลายที่ตับและม้าม
- เซลล์เม็ดเลือดขาว มีขนาดใหญ่กว่าเซลล์เม็ดเลือดแดง ภายในมีนิวเคลียส ทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
- เกล็ดเลือด เป็นชิ้นส่วนของเซลล์ที่มีรูปร่างเป็นแผ่นเล็กๆปนอยู่ในน้ำเลือด ไม่มีนิวเคลียส มีหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว เวลาเกิดบาดแผลเล็กๆเกล็ดเลือดจะทำให้เส้นใย ( fibrin ) ปกคลุมบาดแผลทำให้เลือดหยุดไหล เป็นการป้องกันไม่ให้ร่างกายเสียเลือดมากเกินไป เกล็ดเลือดจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 4 วัน

2. เส้นเลือด ( blood vessels ) เส้นเลือดในร่างกายคนแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ
- เส้นเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจ เรียกว่า อาร์เทอรี ( Artery )
- เส้นเลือดที่นำเลือดเข้าสู่หัวใจ เรียกว่า เส้นเวน ( Vein )
- เส้นเลือดฝอย ( Capillaries )
เส้นเลือดอาร์เทอรี เป็นเส้นเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจ มีขนาดต่างๆกัน ขนาดใหญ่คือ เอออร์ตา มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และขนาดเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลาประมาณ 0.2 มิลลิเมตร ไม่มีลิ้น เส้นเลือดอาร์เทอรี ประกอบด้วยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ยืดหยุ่นได้ มีผนังหนา สามารถรับแรงดันเลือด ซึงเป็นแรงดันค่อนข้างสูง อันเป็นผลเนื่องมาจากการบีบตัวของหัวใจห้องล่าซ้าย ความดันของเลือดจะสูงมากในเส้นเลือดอาร์เทอรีใกล้หัวใจ คือ เส้นเลือดแดงใหญ่ที่สุดที่เรียกว่า เอออร์ตา และค่อยๆลดลงตามลำดับเมื่ออยู่ห่างจากหัวใจไปเรื่อยๆจนถึงอวัยะต่างๆดังนั้นการวัดความดันเลือด เส้นเลือดที่เหมาะสำหรับวัดความดันเลือดคือเส้นอาร์เทอรีที่ต้นแขน ผู้ใหญ่อายุ 20 - 30 ปี มีความดันเลือดปกติประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ตัวเลขข้างหน้า ( 120 )หมายถึง ความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว เรียกว่าความดันซิสโทลิก ( Systolie pressure ) ตัวเลขข้างหลัง( 80 ) หมายถึงความดันดลหิตของหัวใจคลายตัว เรียกว่า ความดันไดแอสโทลิก ( Diastolie pressure )
ที่เรียกว่า การจับชีพจร ซึ่งชีพจร ( pluse ) หมายถึงอัตราการเต้นของหัวใจ จงหวะการหยืดหยุ่นของเส้นเลือดอาร์เทอรีเป็นไปตามจังหวะการเต้นของหัวใจ สำหรับการเต้นของหัวใจปกติประมาณ 72 ครั้งต่อนาที แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามลักษณะต่างๆ เช่น เพศ วัย อิริยาบท โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น

3. หัวใจ ( heart ) หัวใจจะทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย โดยจะรับเลือดที่มีออกซิเจนสูงจากปอดเข้าทางหัวใจห้องบนซ้ายผ่านต่อมายังหัวใจห้องล่างซ้าย เพื่อส่งออกไปยังอวัยวะต่างๆขอองร่างกายและจะรับเลือดที่มีออกซิเจนน้อยจากส่วนต่างๆของร่างกายกลับเข้าสู่หัวใจทางหัวใจห้องบนขวา และผ่านไปยังหัวใจห้องล่างขวาเพื่อส่งไปยังปอด เลือดที่มีออกซิเจนต่ำจะไปยังปอดเพื่อรับออกซิเจนและกลับเข้าสู่หัวใจอีกครั้งหมุนเวียนตลอดเวลาอย่างเป็นระบบ
หรือกล่าวได้ว่าเลือดดำ ( เลือดที่มีแก๊สออกซิเจนต่ำ )จากส่วนต่างๆ ของร่างกายไหลเข้าหัวใจทางหัวใจห้องบนขวาโดยเลือดจากส่วนบนของร่างกายจะเข้าสู่หัวใจทางเส้นเลือดซุปิเรียเวนาคาวาและเลือดจากส่วนล่างของร่างกายจะเข้าสู่หัวใจห้องบนขวาทางเส้นเลือดอินพีเรียเวนาคาวา จากนั้นหัวใจห้องบนขวาจะหดตัวให้เลือดผ่านลิ้นหัวใจลงสู่หัวใจห้องล่างขวาแล้วหัวใจห้องล่างขวาจะบีบตัวให้เลือดไปเข้าไปในเส้นเลือดพัลโมนารีอาร์เทอรีจากหัวใจไปยังปอด เลือดดำจะผ่านเข้าไปในเส้นเลือดฝอยรอบๆถุงลมปอด แล้วจ่ายคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับถุงลมปอดแล้วรับแก๊สออกซิเจนเข้ามาแทนเป็นผลให้เลือดดำกลายเป็นเลือดแดง ( เลือดที่มีแก๊สออกซิเจนสูง ) แล้วไหลออกจากปอดเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายทางเส้นเลือดพัลโมนารีเวนจากนั้นหัวใจห้องบนซ้ายจะบีบเลือดลงไปที่หัวใจห้องล่างซ้าย เพื่อให้หัวใจห้องล่างซ้ายบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายต่อไป

โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือ โรคระบบไหลเวียนเลือด
โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือ โรคระบบไหลเวียนเลือดหมายถึง กลุ่มโรคที่มีพยาธิสภาพใดๆก็ตามต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทั้งหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง รวมทั้งหลอดน้ำเหลืองต่าง ๆ เพื่อง่ายต่อการดำเนินการทางสถิติ และดูแนวโน้มของโรคกลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือดที่เป็นปัญหาสาธารณสุขจึงได้แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามลำดับความสำคัญ เป็น 3 กลุ่ม สำคัญเรียงตามลำดับสำหรับในประเทศไทย ดังนี้
กลุ่มที่ 1 โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดในสมองหรือที่เรียกในภาษาชาวบ้านว่า "อัมพาต"
กลุ่มที่ 2 โรคหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดโคโรนารี่ที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน
กลุ่มที่ 3 โรคหัวใจรูห์มาติค
โรคหลอดเลือดในสมอง
หมายถึง กลุ่มโรคที่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงและดำที่เลี้ยงเนื้อสมองทำให้เนื้อสมองบางส่วนหรือทั้งหมดสูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน พยาธิสภาพที่ เกิดขึ้นมีหลายแบบ เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งจนเกิดตีบตัน หลอดเลือดอักเสบ มีการสะสมของสารอมิลอยด์ (Amyloid) หลอดเลือดสมองโป่งพองและแตก ก้อนเลือด จากที่อื่นหลุดมาอุดเส้นเลือด เป็นต้น โดยมีผลให้เกิดอาการมากกว่า 24 ชั่วโมง และอาจตายได้ และสามารถเกิดอาการได้หลายรูปแบบแตกต่างกันไปตั้งแต่ ชัก สับสน แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก เป็นต้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุเกี่ยวเนื่องจากภาวะความดันเลือดสูง
อัมพาตเฉียบพลัน
หมายถึง การบาดเจ็บอย่างเฉียบพลันของระบบสมองและประสาทที่ประชาชนทั่วไป หรือบุคลากรทางการแพทย์นิยมใช้เรียก โรคหลอดเลือดในสมอง
โรคหัวใจขาดเลือด
หมายถึง ภาวะของการขาดออกซิเจนเพื่อที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จากพยาธิสภาพในหลอดเลือดแดง โคโรนารี่ ที่ไปเลี้ยงหัวใจ เกิดอุดหรือตีบตัน หลอดเลือดแดงหดเกร็ง เป็นต้น ทำให้เซลหัวใจขาดออกซิเจน ขาดความสมดุลในการทำหน้าที่ อาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ ภาวะที่ทำให้ เกิดโรคหัวใจขาดเลือดที่พบบ่อยคือ ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง โรคนี้อาจจะมาด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอก อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือตายโดยทันทีจากโรคหัวใจ
โรคความดันโลหิตสูง
หมายถึง กลุ่มโรคที่มีพยาธิสภาพและอาการอันเป็นผลเนื่องจากระดับความดันเลือด ที่สูงเกินปกติ จนไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะปลายทางในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดโป่งพอง เป็นต้น
โรคหัวใจรูห์มาติค
หมายถึง โรคหัวใจที่เป็นผลจากภาวะเรื้อรังต่อเนื่องของไข้รูห์มาติคที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ที่เกิดการอักเสบของการติดเชื้อ กรุ๊ปเอ สเตร็ปโตคอคไคในลำคอ
สถานการณ์และธรรมชาติของโรค
โรคหัวใจและหลอดเลือดนับเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของโลกในศตวรรษปัจจุบัน ซึ่งถือว่าอยู่ในระยะการระบาดใหญ่ เป็นสาเหตุของการตายของโลกอย่างน้อย 17 ล้านคน ต่อปี หรือประมาณ หนึ่งในสามของการตายทั้งหมดทั่วโลก ทั้งนี้เริ่มพบการระบาดของโรคกลุ่มนี้ในประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประชากรด้อยโอกาสมากขึ้น เมื่อประมาณยี่สิบปี มานี้เอง ในไทยโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสามอันดับแรกของสาเหตุการตายมานานกว่ายี่สิบปี โดยมีโรคหลอดเลือดในสมองหรืออัมพาต เป็นสาเหตุการตายและ ภาระโรคเป็นสาเหตุหลัก รองลงมาได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง ช่วงอายุที่เป็นสูงสุดอยู่ในช่วง 55-64 ปี รองลงมาคือ ช่วง 65-74 และ 45-54 ปี
สำหรับอัมพาต โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจขาดเลือด มีปัจจัยโซ่สาเหตุที่เป็นปัจจัยร่วมหลักของการระบาดครั้งนี้ จากผลของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทั้งเชิงสังคมและกายภาพ จากผลของการพัฒนาที่ไม่รู้เท่าทันทำให้วิถีชีวิตในชุมชนเสี่ยงต่อการเป็นโรคเพิ่มขึ้น ตั้งแต่การบริโภคยาสูบที่เพิ่มขึ้น การเคลื่อนไหวออกกำลังกาย ที่ลดลงทั้งในการทำงาน / การเดินทางและการพักผ่อน การตามใจตนเองมากเกินไปจากสถานะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้มีการบริโภคเกิน และบริโภคอาหารที่ ไม่เหมาะสม ทั้งรสอาหารที่มีองค์ประกอบของเกลือและน้ำตาลสูงขึ้น ส่วนประกอบไขมันจากสัตว์เพิ่มขึ้นขณะที่บริโภคพืชผักผลไม้และธัญพืชลดลง การบริโภคแอลกอฮอล์ ปริมาณสูงมากและบ่อย การขาดความสามารถในการจัดการความเครียดที่ดี ขณะที่สภาพแวดล้อมของ โครงสร้างทางสังคมและการจัดการมีการกระตุ้นเร้าให้เกิด ความเครียดได้ง่ายและบ่อยขึ้น การเผชิญต่อวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงโดยไม่รู้เท่าทันเหล่านี้ ในช่วงระยะความถี่ที่บ่อยหรือค่อนข้างบ่อยเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของประชากรทั่วไป และสามารถสำรวจพบความชุกของการเปลี่ยนแปลงนี้ในชุมชนได้ ทั้ง ภาวะน้ำหนักเกิน ความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำตาลและไขมันผิดปกติ ภาวะเบาหวาน ที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมืองและเขตชนบทที่รับเอาวิถีชีวิตเมืองที่ไม่มีสุขภาพมาปฏิบัติ ส่วนกลุ่ม โรคหัวใจรูห์มาติค ในประเทศไทยปัญหาด้านนี้ได้ลดความรุนแรงลงมากแล้ว แต่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังเริ่มพัฒนาในหลายประเทศ เช่น พม่า กัมพูชา เป็นต้น
เงื่อนไขจากธรรมชาติของโรคสำคัญต่อความเข้าใจเพื่อการจัดบริการป้องกันควบคุมโรค ได้แก่
สาเหตุการเกิดโรคมาจากหลายสาเหตุและมีลักษณะเป็นโซ่สาเหตุที่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ในแต่ละห่วงโซ่ แต่ห่วงโซ่ที่สำคัญที่สุดคือ กลุ่มปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้โดยเฉพาะปัจจัยในระดับพฤติกรรม
พฤติกรรมเสี่ยงและพฤติกรรมการป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องถูกพัฒนาสร้างขึ้นตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของชีวิต
ส่วนใหญ่ของรายโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในชุมชนจะมาจากกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีค่าความเสี่ยงไม่สูงมาก อยู่ในระยะก้ำกึ่งหรือความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของค่าความเสี่ยงเฉลี่ยของปัจจัยเสี่ยงสำคัญในประชากรทั่วไปทั้งหมดในชุมชนจะมีผลในการ ลดโรคที่มากกว่าการควบคุมเฉพาะ
พบแนวโน้มการระบาดของโรคยังขึ้นกับปัจจัยหลายปัจจัย ได้แก่ การเคลื่อนของสัดส่วนประชากรในวัยทำงานและสูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โอกาสการเข้าถึงข่าวสารการบริการที่จำเป็นในการป้องกันควบคุมความเสี่ยงและโรค รายได้ การศึกษา ระดับและขนาดของการบริโภคยาสูบ / การบริโภคอาหารไขมันและคอเลสเตอรอลสูง / วิถีชีวิตนั่งๆนอนๆและผลปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงต่างๆและพันธุกรรมพื้นฐาน
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในชุมชนไทยที่เป็นเป้าหมายและมีวิธีการป้องกันควบคุมได้ ได้แก่
ภาวะความดันโลหิตที่สูงขึ้น
การบริโภคยาสูบ
การมีวิถีชีวิตนั่ง ๆ นอน ๆ (Sedentary life style)
การรับประทานอาหารเกินไม่ได้สัดส่วนเหมาะสม (Dietary Imbalance)
สหปัจจัยของหลอดเลือดเสื่อมอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะเบาหวาน ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ไขมันผิดปกติในเลือด
ความชุกของปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เริ่มพบมากขึ้นในเยาวชนและผู้ใหญ่ตอนต้น
ขณะที่มีหลักฐานชัดเจนถึงความสำคัญของการออกกำลังกายในการป้องกันโรค ที่ช่วยป้องกันทั้งโรคหัวใจ , อ้วน , ภาวะความดันโลหิตสูง
วัยเด็กจึงจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะจัดให้มีหนทางในการพัฒนานิสัย การออกกำลังกายไปตลอดช่วงชีวิต ในหลายชุมชนของประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทย เด็ก ๆ มีวิถีชีวิตนั่ง ๆ นอน ๆ มากขึ้น จากโทรทัศน์ วีดีโอเกมส์ คอมพิวเตอร์ และการขาดการเรียนการสอนการออกกำลังกายในโรงเรียนโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา รวมทั้งการขาดการปลูกฝังการบริโภคอาหารที่เหมาะสมตั้งแต่ในครอบครัว
ปัจจัยสาเหตุเหล่านี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมของโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งบางชนิด โรคหลอดลมอุดกลันเรื้อรัง โรคกระดูกพรุน ตับแข็ง เป็นต้น
การเกิดโรคในระดับบุคคลเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย มากกว่าปัจจัยเสี่ยงปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดโดด ๆ ดังนั้นการป้องกันควบคุมโรคในระดับบุคคล ในปัจจุบันจึงมุ่งไปที่การควบคุมสหปัจจัยหลายปัจจัยร่วมกัน โดยในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีเศรษฐกิจปานกลางจะมุ่งดำเนินการควบคุมสหปัจจัยของการเกิด โรคหัวใจและหลอดเลือดนี้ ในกลุ่มที่พบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานอยู่แล้ว
โรคกลุ่มนี้อยู่โดยไม่มีอาการป่วยหรือปัญหาสุขภาพได้หลายปี
การดำเนินของพยาธิสภาพของโรคยากที่จะย้อนหายกลับเป็นปกติสมบูรณ์ หรือควบคุมได้เพียงบางส่วนได้หลังเมื่อมีอาการปรากฎขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและคุณภาพชีวิตเลวลง
อย่างไรก็ตามการหยุดบุหรี่ เป็นสิ่งสำคัญหลักในการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ในกลุ่มผู้ที่เคยมีอาการของหัวใจขาดเลือด และจะลดความเสี่ยงต่อการ เป็นซ้ำในอนาคตถึงครึ่งหนึ่งเมื่อหยุดบุหรี
เนื่องจากมีข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดได้ทำการคัดลอกมาแล้วไม่อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลให้ชัดเจนด้วย ดูรูปแบบการทำเอกสารอ้างอิงได้ที่
http://www.thaigoodview.com/node/99177
มิฉะนั้นทางเว็บ thaigoodview.com จำเป็นต้องลบข้อมูลทั้งหมดออก
ขอขอบคุณ
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
ผู้ดูแลเว็บไซต์ไทยกู๊ดวิว
ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่าคัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง
ช่วยกันนะครับ
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ ไม่ถูกปิดเสียก่อน
ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ