มาเรียนรู้การลีลาศขั้นพื้นฐานกัน
ประวัติการลีลาศของประเทศไทย
ไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัดว่าการลีลาศในประเทศไทยเกิดขึ้นในสมัยใด สันนิษฐานว่า ชาวต่างชาติได้นำมาเผยแพร่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จุลศักราช 1226 จากบันทึกของแหม่มแอนนาทำให้มีหลักฐานเชื่อได้ว่า คนไทยลีลาศเป็นมาตั้งแต่สมัยพระองค์ และ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรบการยกย่องให้เป็นนักลีลาศคนแรกของไทย ตาม บันทึกกล่าวว่า แหม่มแอนนา พยายามสอนพระองค์ท่านให้รู้จักวิธีการเต้นรำแบบสุภาพซึ่งเป็นที่ นิยมของชาวตะวันตก โดยบอกว่าจังหวะวอลซ์นั้นหรูมาก นิยมเต้นกันในวังของประเทศในแถบยุโรป พร้อมกับแสดงท่าทางการเต้น พระองค์ท่านกลับสอนว่าใกล้เกินไป แขนต้องวางให้ถูก แล้วพระองค์ท่านก็เต้นทำให้แหม่มแอนนาประหลาดใจ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นผู้สอนพระองค์ จึงได้ได้สันนิษฐานกันว่า พระองค์ท่านคงจะศึกษาจากตำราด้วยพระองค์เอง การเต้นรำในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนใหญ่มีแต่เจ้านายและขุนนาชั้นผู้ใหญ่ที่เต้นรำกันพอเป็น โดยเฉพาะเจ้านายที่ว่าการต่างประเทศได้มีการเชิญฑูตานุฑูต และแขกชาวต่างประเทศมาชุมนุมเต้นรำกันที่บ้าน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในการเฉลิมพระชนมพรรษาหรือเนื่องในวันบรมราชาภิเษก เป็นต้น จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสราญรมย์ ให้เป็นศาลาว่าการกระทรวงการต่างประเทศ งานเต้นรำที่เคยจัดกันมาทุกปีก็ได้ย้ายมาจัดกันที่วังสราญรมย์
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทุกปีที่มีงามเฉลิมพระชนมพรรษานิยมจัดให้มีการเต้นรำขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประธาน ซึ่งมีเจ้านายและบรรดาฑูตานุฑูตทั้งหลายเข้าเฝ้า ส่วนแขกที่จะเข้าร่วมงานได้ต้องได้รับบัตรเชิญเท่านั้น จึงสามารถเข้าร่วมงานได้
ในสมัยรัชกาลที่ 7 การลีลาศได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีสถานที่ลีลาศเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น ห้อยเทียนเหลา เก้าชั้น คาเธ่ย์ และ โลลิต้า เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2475 นายหยิบ ณ นคร ได้ร่วมกับหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วราวรรณ จัดตั้งสมาคมเกี่ยวกับการเต้นรำขึ้น แต่ไม่ได้จดทะเบียนให้เป็นที่ถูกต้องแต่ประการใด โดยใช้ชื่อว่าสมาคมสมัครเล่นเต้นรำ มีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นนายกสมาคม นายหยิบ ณ นคร เป็นเลขาธิการสมาคม สำหรับกรรมการสมาคมส่วนใหญ่ก็เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ได้แก่ หลวงเฉลิม สุนทรกาญจน์ พระยาปกิตกลสาร พระยาวิชิต หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ หลวงชาติตระการโกศล และ นายแพทย์เติม บุนนาค สมาชิกของสมาคมส่วนมากเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มักพาลูกของตนมาเต้นรำด้วย ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการจัดงานเต้นรำขึ้นบ่อยๆ ที่สมาคมคณะราษฎร์และวังสราญรมย์ สำหรับวังสราญรมย์นี้เป็นสถานที่ที่จัดให้มีการแข่งขันเต้นรำขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งผู้ชนะเลิศเป็นแชมเปียนคู่แรกคือ พลเรือตรีเฉียบ แสงชูโต และประนอม สุขุม
ในช่วงปี พ.ศ.2475-2476 มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเรียกสมาคมสมัครเล่นเต้นรำว่าสมาคม... (คำผวนของคำว่าเต้นรำ) ซึ่งฟังแล้วไม่ไพเราะหู ดังนั้นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ จึงบัญญัติศัพท์คำว่า ลีลาศ ขึ้นแทนคำว่า เต้นรำ ต่อมาสมาคมสมัครเล่นเต้นรำก็สลายตัวไป แต่ยังคงมีการชุมนุมกันของครูลีลาศอยู่เสมอ โดยมีนายหยิบ ณ นคร เป็นผู้ประสานงาน
การลีลาศได้ซบเซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งสงครามสงบลงในเดือน กันยายน พ.ศ. 2488 วงการลีลาศของไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นใหม่ มีโรงเรียนสอนลีลาศเกิดขึ้นหลายแห่งโดยเฉพาะสาขาบอลรูมสมัยใหม่ ( Modern Ballroom Branch ) ซึ่งอาจารย์ยอด บุรี ได้ไปศึกษามาจากประเทศอังกฤษและเป็นผู้นำมาเผยแพร่ ช่วยทำให้การลีลาศซึ่งศาสตราจารย์ศุภชัย วานิชวัฒนาเป็นผู้นำอยู่ก่อนแล้วเจริญขึ้นเป็นลำดับ
ในปี พ.ศ.2491 มีบุคคลชั้นนำในการลีลาศซึ่งเคยเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันลีลาศสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อาทิ อุไร โทณวณิก กวี กรโกวิท จำลอง มาณยมณฑล ปัตตานะ เหมะสุจิ และ นายแพทย์ประสบ วรมิศร์ ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยขึ้น โดยสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ อนุญาตให้จัดตั้งได้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2491 มีหลวงประกอบนิติสาร เป็นนายกสมาคมคนแรก ปัจจุบันสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกของสภาการลีลาศนานาชาติด้วยประเทศหนึ่ง
หลังจากนั้นการลีลาศในประเทศไทยก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มีสถานลีลาศเปิดเพิ่มมากขึ้น มีการจัดแข่งขันลีลาศมากขึ้น ประชาชนสนใจเรียนลีลาศกันมากขึ้น มีการจัดตั้งสมาคมครูลีลาศ ขึ้นสำหรับเปิดสอนลีลาศ และยังได้จัดส่งนักลีลาศไปแข่งขันในต่างประเทศและจัดแข่งขันลีลาศนานาชาติขึ้นในประเทศไทย ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้โรงเรียนสอนลีลาศต่างๆ อยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ และมีการกำหนดหลักสูตรลีลาศขึ้นอย่างเป็นแบบแผนทำให้การลีลาศมีมาตรฐานยิ่งขึ้น ส่งผลให้การลีลาศในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและนิยมในวงการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนให้ความสนใจ ทำให้มีโรงเรียนหรือสถาบันเปิดสอนลีลาศขึ้นเกือบทุกจังหวัด สำหรับในสถานศึกษาก็ได้มีการจัดวิชาลีลาศเข้าไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษาปัจจุบันลีลาศได้รับการรับรองให้เป็นกีฬาจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee = IOC ) อย่างเป็นทางการมีการประชุมครั้งที่ 106 วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2540 ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับในประเทศไทยคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในสมัยที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ได้มีมติรับรองลีลาศเป็นการกีฬาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541 จัดเป็นกีฬาลำดับที่ 45 ของการกีฬาแห่งประเทศไทย และยังได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาลีลาศ (สาธิต)ขึ้นเป็นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6-20 ธันวาคม พ.ศ.2541
ประโยชน์ของการลีลาศ
จากสภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาที่สลับซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง สภาพการณ์เหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้ประชาชนประสบกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจิตแพทย์นักจิตวิทยา และนักการศึกษาต่างก็พยายามเน้นและชี้นำให้เห็นถึงความจำเป็น เกี่ยวกับการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถผ่อนคลายความเครียด และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ลีลาศเป็นกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยผ่อนคลายความเครียดแล้วยังช่วยพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคมได้เป็นอย่างดี จึงพอสรุปประโยชน์ของการลีลาศได้ ดังนี้
1. ก่อให้เกิดความซาบซึ้งในจังหวะดนตรี
2. ก่อให้เกิดความสนุกสนาม เพลิดเพลิน
3. เป็นกิจกรรมนันทนาการ และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
4. เป็นกิจกรรมสื่อสัมพันธ์ทางสังคม ผู้ชายและผู้หญิงสามารถเข้าร่วมในกิจกรรมพร้อมกันได้
5. ช่วยพัฒนาทักษะทางกลไก (Motor Skill)
6. ช่วยส่งเสริมสุขภาพพลานามัย ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ให้แข็งแรงสมบูรณ์อันจะทำให้มีชีวิตยืนยาวและมีความสุข
7. ทำให้มีรูปร่างทรวดทรงงดงาม สมส่วน มีบุคลิกภาพในการเคลื่อนไหวที่ดูแล้วสง่างามยิ่งขึ้น
8. ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม
9. ช่วยให้รู้จักการเข้าสังคม และรู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นอย่างดี
10. ช่วยส่งเสริมให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออกในสิ่งที่ดีงาม
11. ทำให้มีความซาบซึ้งในวัฒนธรรมอันดีงาม และช่วยจรรโลงให้คงอยู่ตลอดไป
12. เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
13. เป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยแก้ไขข้อบกพร่องทางกาย
เนื่องจากมีข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดได้ทำการคัดลอกมาแล้วไม่อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลให้ชัดเจนด้วย ดูรูปแบบการทำเอกสารอ้างอิงได้ที่
http://www.thaigoodview.com/node/99177
มิฉะนั้นทางเว็บ thaigoodview.com จำเป็นต้องลบข้อมูลทั้งหมดออก
ขอขอบคุณ
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
ผู้ดูแลเว็บไซต์ไทยกู๊ดวิว
ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่าคัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง
ช่วยกันนะครับ
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ ไม่ถูกปิดเสียก่อน
ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ