สร้างเว็บไซต์ด้วย Google Sites เชื่อมต่อโดเมน .th

สร้างเว็บไซต์ด้วย Google Sites เชื่อมต่อโดเมน .th

มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THAI NETWORK INFORMATION CENTER FOUNDATION) 

       เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมและพัฒนาการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย มูลนิธิฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้งานชื่อโดเมน
       “.th” และ “.ไทย” ทั้งในรูปแบบสนับสนุนการศึกษา การวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตไทย ในด้านเทคโนโลยี ความรู้ ความเร็วอินเทอร์เน็ต และการลดต้นทุน ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย ได้ที่เว็บไซต์ https://www.thnic.or.th

ประวัติและโครงสร้างระบบชื่อโดเมน

       อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถือกำเนิดขึ้นบนโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 จากโครงการ ARPANET (Advanced Research Projects Agency Network) โครงการวิจัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ที่ได้เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของศูนย์งานวิจัย 4 มหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน
       ปี พ.ศ. 2514 เครือข่าย ARPANET ขยายใหญ่ขึ้นและสามารถเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้มากขึ้น จากการศึกษาเรื่องเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในช่วงระยะเวลานั้น นักวิจัยผู้พัฒนาเครือข่ายหลายคนได้เล็งเห็นถึงปัญหาความยุ่งยากของการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีหลากหลายชนิดและหลากหลายผลิตภัณฑ์ เข้าด้วยกัน แนวความคิดในการกำหนดมาตรฐานกลางหรือโพรโทคอล TCP/IP (Transmission Control Protocol / Internet Protocol) จึงเกิดขึ้น เพื่อให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีความหลากลหลายสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้  โดยเรียกเครือข่ายที่เชื่อมโยงด้วยโพรโทคอลนี้ว่า อินเทอร์เน็ต (Internet)
       มาตรฐานการเชื่อมโยงโพรโทคอล TCP/IP จะมีการกำหนดเลขที่อยู่ไอพี (Internet Protocol address: IP address) ทำหน้าที่เสมือนเลขที่ป้ายทะเบียนกำกับอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้แต่ละอุปกรณ์สื่อสารกันได้ เลขที่อยู่ไอพี่จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยระบุที่อยู่ของอุปกรณ์นั้น ๆ ในระบบเครือข่าย
       เลขที่อยู่ไอพีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเลขที่อยู่ไอพีรุ่นที่ 4 (IPv4) เป็นชุดตัวเลข 32 บิต ที่ถูกแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 8 บิต ใน 1 ช่วงจะมีค่าตั้งแต่ 0 – 255 เช่นนั้น IPv4 จึงมีค่าได้ตั้งแต่ 0.0.0.0 – 255.255.255.255 สามารถระบุที่อยู่ของอุปกรณ์ได้ถึง 4,294,967,296 อุปกรณ์ แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงชุดตัวเลขที่มีขนาดกว้างมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายได้ทั่วโลก จึงมีการกำหนดเลขที่อยู่ไอพีรุ่นที่ 6 (IPv6) เพื่อรองรับการเชื่อมต่อในปริมาณที่มากขึ้นตามการเติบโตของอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
       เลขที่อยู่ไอพีประกอบด้วยชุดตัวเลขหลายชุดซึ่งยากต่อการจดจำ การกำหนด ชื่อโดเมน (Domain Name) เพื่อเป็นชื่อที่ใช้ระบุตัวตนของเครื่องแทนการใช้เลขที่อยู่ไอพีจึงเกิดขึ้น โดยต้องจดทะเบียนไว้กับหน่วยงานที่จัดการโดเมนอย่างบริษัท ที.เอช.นิค จำกัด (https://thnic.co.th) จึงจะใช้งานได้ ชื่อโดเมนสามารถนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของที่อยู่เว็บไซต์ (web Address หรือ Uniform Resource Locator: URL) หรือที่อยู่อีเมล (email address) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้อ้างถึงเว็บไซต์หรือที่อยู่อีเมลได้ง่าย และไม่ต้องเปลี่ยนชื่อโดเมนแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเลขที่อยู่ไอพีก็ตาม

ชื่อโดเมนประกอบด้วยหลายส่วน แต่ละส่วนจะคั่นด้วยเครื่องหมายจุด (.) และมีความหมายเฉพาะ เช่น thnic.or.th

       ชื่อโดเมนระดับบนสุด (Top Level Domain: TLD) แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ แบบทั่วไป (Generic Top-level domain: gTLD) และแบบรหัสประเทศ (Country Code Top-Level Domain: ccTLD) เช่น th แทนประเทศไทย cn แทนประเทศจีน in แทนประเทศอินเดีย ตัวอย่างโดเมนระดับบนสุด

ชื่อโดเมนระดับที่สองที่ใช้ในประเทศไทย ได้มีการกำหนดรูปแบบการใช้งานดังตาราง 

       นอกจากนี้ยังมีชื่อโดเมนระดับที่สองภายใต้ .ไทย ได้แก่ ธุรกิจ.ไทย รัฐบาล.ไทย องค์กร.ไทย ทหาร.ไทย ศึกษา.ไทย เน็ต.ไทย ส่วนชื่อโดเมนในระดับที่สามโดยทั่วไปจะเป็นชื่อเต็มหรือชื่อย่อของหน่วยงาน ยี่ห้อสินค้าหรือบริการ

ข้อมูลเพิ่มเติม:  

       ICANN (The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) เป็นองค์กรเอกชนที่รับผิดชอบในการดำเนินการทางเทคนิคสำหรับระบบชื่อโดเมน (DNS) และนโยบายที่กำหนดวิธีการทำงานของชื่อและที่อยู่ของอินเทอร์เน็ต
       IANA (The Internet Assigned Numbers Authority) เป็นส่วนงานย่อยของ ICANN รับผิดชอบองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การทำงานของอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างราบรื่น โดยการจัดสรรเลขที่อยู่ไอพีให้แต่ละ Region และดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามโพรโทคอลที่กำหนด

ประวัติอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย และการบริหารโดเมน .TH และ .ไทย

       อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เริ่มต้นจากความต้องการติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) กับอาจารย์ที่ปรึกษาในมหาลัยวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ของ ศ. ดร.กาญจนา กาญจนสุต จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ด้วยความพยายามติดตั้งเครื่องแม่ข่ายและอุปกรณ์เชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศ ทำให้ในปี พ.ศ. 2529 ประเทศไทยสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เป็นครั้งแรก ด้วยความเร็วเพียง 2400 bps (bits per second)
       จากนั้นในปี พ.ศ. 2531 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้รับหน้าที่เป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ภายใต้โครงการ TCSNet หรือ Thai Computer Science Network เพื่อรับ-ส่งอีเมลเป็นรายครั้งผ่านการหมุนโทรศัพท์ไปยังเครื่องแม่ข่ายที่ประเทศออสเตรเลีย 
       ในปีเดียวกันนี้ ศ. ดร.กาญจนา กาญจนสุต มีแนวความคิดให้นักวิจัยไทยได้มีอีเมลที่ลงท้ายด้วย .th เป็นของตนเองแทนที่การใช้ .au จึงติดต่อไปยังคุณโจนาธาน บรูซ โพสเทล (Jonathan Bruce Postel หรือ Jon Postel) ผู้ให้กำเนิดมาตรฐานการสื่อสารคอมพิวเตอร์ผ่านอินเทอร์เน็ต รับผิดชอบการดูแลทรัพยากรอินเทอร์เน็ตโลก รวมไปถึงชื่อโดเมน คุณโจนาธานจึงได้มอบชื่อโดเมนแทนประเทศไทย .th ให้ ศ. ดร.กาญจนา กาญจนสุต ได้เป็นผู้ดูแลนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
       หลังจากได้รับชื่อโดเมนแทนประเทศไทย .th มาดูแลเป็นที่เรียบร้อย ช่วงเวลานั้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น อัตราการเติบโตของผู้ใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์เป็นตัวเลือกกับผู้ใช้เพิ่มขึ้น จึงได้เกิดการประชุมร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อวางแนวทางในการบริหารจัดการชื่อโดเมน .th ซึ่งเป็นผลให้เกิดโครงสร้างชื่อโดเมนระดับที่สอง ขึ้น เช่น .co.th .ac.th .or.th .go.th และกลุ่มผู้ดูแลชื่อโดเมน .th ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์สารสนเทศเครือข่ายประเทศไทย หรือ THNIC มีหน้าที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมนต่าง ๆ ที่ลงท้ายด้วย .th โดยในปัจจุบันคือ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย รับบทบาทเป็นผู้บริหารจัดการนโยบายการใช้งาน .th และ .ไทย มีบริษัท ที.เอช.นิค จำกัด เป็นผู้ให้บริการรับจดทะเบียนชื่อโดเมน (Registrar) .th ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2542 และ .ไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 มีบริษัท ไทย เนม เซิฟเวอร์ จำกัด เป็นผู้ดูแลฐานข้อมูลและระบบโดเมนเนมเซิฟเวอร์ (Registry) ภายใต้ความมุ่งหวังให้ชื่อโดเมน .th และ .ไทย มีความน่าเชื่อถือ สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือครองชื่อโดเมนและผู้ใช้บริการได้

ความสำคัญของการมีชื่อโดเมน และข้อดีของการใช้โดเมน .TH
       ชื่อโดเมน .th และ .ไทย มีความแตกต่างจากชื่อโดเมนอื่น ๆ ที่ใช้กันทั่วไป เนื่องจากเป็นชื่อโดเมนระดับบนสุด แบบรหัสประเทศ หรือ Country Code Top-Level Domain Name (ccTLD) ซึ่ง th เป็นตัวย่อของประเทศไทย ดังนั้นการใช้ชื่อโดเมน .th จะแสดงถึง

  • ความชัดเจนของแบรนด์ และสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ทั่วโลกถึงการมีตัวตนอยู่ในประเทศไทย
  • ปัจจุบัน .th และ .ไทย เป็นชื่อโดเมนระดับบนสุดที่มีความเข้มงวดด้านนโยบายการจดทะเบียนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับชื่อโดเมน และผู้ใช้งานเมื่อต้องติดต่อกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
  • นโยบายการยืนยันตัวตนในการจดชื่อโดเมน ทำให้สามารถระบุตัวตนและติดต่อผู้ถือครองชื่อโดเมนได้ เป็นผลต่อเนื่องให้การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตจากการใช้ชื่อโดเมน .th มีน้อย
  • นโยบายไม่สนับสนุนการเกร็งกำไรชื่อโดเมน หรือ Cyber-Squatting ทำให้ชื่อโดเมน .th ของไทยมีผู้ถือครองที่มีตัวตนอยู่จริง ช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของชื่อโดเมนและเว็บไซต์ได้
  • ผลสืบเนื่องจากความน่าเชื่อถือทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น ซื้อ-ขายสินค้า หรือการให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ที่มีชื่อโดเมน .th และ .ไทย ได้รับการยอมรับและมีความปลอดภัยมากกว่าชื่อโดเมนทั่วไป (gTLD)
  • การใช้ชื่อโดเมน .th และ .ไทย รวมถึงนโยบายการตั้งชื่อโดเมนให้ตรงกับชื่อองค์กร ชื่อย่อองค์กร หรือเครื่องหมายทางการค้า ช่วยสนับสนุนการทำการตลาดด้วย SEO หรือ Search Engine Optimization เนื่องจากเครื่องมือค้นหาต่าง ๆ เหล่านี้ มักให้ค่าคะแนนการค้นหาเพิ่มยิ่งขึ้น เป็นผลให้เว็บไซต์อยู่ในระดับสูงขึ้นเมื่อค้นหาในประเทศไทย

โดเมนภาษาท้องถิ่น .ไทย อีเมลภาษาไทย และการรองรับ

       .ไทย ถือเป็นชื่อโดเมนระดับบนสุดแบบรหัสประเทศ (Country Code Top-Level Domain) ที่เป็นภาษาท้องถิ่น (Internationalized Domain Name: IDN) ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้มีการใช้ชื่อโดเมนและอีเมลที่เป็นภาษาท้องถิ่น (ภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก) เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานของประชากรโลกส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติอย่างเช่น ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษาเวียดนาม ภาษาจีนกลาง ภาษาฮินดี ฯลฯ ตัวอย่างของโดเมนภาษาท้องถิ่นสำหรับภาษาไทย เช่น รู้จัก.ไทย เว็บครู.ไทย คน.ไทย พระลาน.ไทย เป็นต้น
       ชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น ช่วยให้เจ้าของเว็บไซต์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานที่ใช้ภาษาท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลอันเกิดจากภาษา ทำให้คนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ สามารถเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้กว้างขวางขึ้น ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการไม่สามารถจดจำชื่อเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษได้ และเจ้าของเว็บไซต์ก็ไม่จำเป็นต้องพยายามสะกดชื่อเว็บไซต์ทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ หากชื่อของแบรนด์เป็นภาษาไทยอยู่แล้วและเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทย 
       การมีชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น ทำให้เกิดอีเมลภาษาท้องถิ่น (Email Address Internationalization) ตามมา เช่น ติดต่อ@คน.ไทย เป็นต้น ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ทำให้คนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษสามารถจดจำชื่ออีเมลและสื่อสารผ่านอีเมลถึงกันได้ เนื่องจากชื่อโดเมนและอีเมล มักถูกใช้เป็นสิ่งระบุตัวตนบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น การสมัครขอใช้บริการต่าง ๆ จะขออีเมลเพื่อใช้เป็นรหัสผู้ใช้ รวมถึงใช้ในการส่งข้อความยืนยันตัวตน ทางองค์กรอินเทอร์เน็ตสากล (ICANN) จึงได้เร่งผลักดันให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถกรอกชื่อโดเมนและอีเมลภาษาท้องถิ่นในแบบฟอร์ม ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ เว็บไซต์ได้เริ่มเปิดให้กรอกภาษาท้องถิ่นลงในแบบฟอร์ม หรืออนุญาตให้ใช้อีเมลภาษาท้องถิ่นเป็นรหัสผู้ใช้ได้แล้ว
       เงื่อนไขการจดทะเบียนชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น .ไทย คือ ชื่อนั้นจะต้องแปล (ความหมายเดียวกัน) หรือ ออกเสียงได้เหมือนกันทั้ง 2 ภาษา (ภาษาอังกฤษและภาษาไทย) 

การจดทะเบียนชื่อโดเมน (สำหรับการอบรมหลักสูตรโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การทำเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th)

       การจดทะเบียนชื่อโดเมนรหัสประเทศไทยทุกชื่อต้องดำเนินการผ่าน “นายทะเบียน (Registrar)” ได้แก่ บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด ซึ่งเป็นนายทะเบียนผู้ให้บริการรับจดทะเบียนชื่อโดเมน .th และ .ไทย ที่ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเพียงรายเดียวจากมูลนิธิฯ (ดูเพิ่มเติมที่ thnic.co.th) ในการนี้ นายทะเบียนได้มีระบบให้บริการผ่านทางตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (Authorized Reseller)  สำหรับการอบรมภายใต้โครงการนี้ ผู้เข้ารับการอบรมสามารถจดทะเบียนชื่อโดเมนได้ผ่านตัวแทนจำหน่ายฯ DotArai ที่เว็บไซต์ https://register.dotarai.com ด้วยขั้นตอนที่ง่าย ๆ ตามคำแนะนำบนหน้าเว็บ https://register.dotarai.com/HomeFaq

       นอกจากบริการจดทะเบียนชื่อโดเมนแล้ว มูลนิธิฯ ยังมีบริการอีเมลภาษาไทยภายใต้ @คน.ไทย มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้สามารถสมัครใช้อีเมล เช่น คนสวย@คน.ไทย ได้ที่เว็บไซต์ https://คน.ไทย

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อโดเมน .in.th และ .ไทย (สำหรับการอบรมหลักสูตรนี้)

       ชื่อโดเมน .in.th และ .ไทย เป็นชื่อโดเมนสำหรับองค์กรทุกประเภทตามกฎหมายไทย หรือบุคคลสัญชาติไทย หรือชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย ในส่วนบุคคลธรรมดาที่หย่อนความสามารถ เช่น ผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนที่มีอำนาจตามกฎหมาย ชื่อโดเมนไม่ต้องสื่อถึงชื่อองค์กรหรือชื่อบุคคลธรรมดา ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับหลักเกณฑ์การตั้งชื่อโดเมน .th และ .ไทย ข้ออื่น ๆ

  1. ชื่อโดเมน in.th แต่ละชื่อต้องประกอบด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ (a-z) และ/หรือตัวเลขอารบิค (0-9) และชื่อโดเมนต้องมีความยาวอย่างน้อย 1 ตัว (มีข้อกำหนดและเงื่อนไขเฉพาะ) แต่ไม่เกิน 63 ตัว
  2. ชื่อโดเมนสามารถประกอบด้วยเครื่องหมายยัติภังค์ “-” คั่นระหว่างตัวอักษรหรือตัวเลขได้แต่ต้องไม่ใช้เรียงติดกันมากกว่า 1 ตัว และไม่อนุญาตให้ใช้เป็นตัวอักษรแรกหรือตัวอักษรสุดท้ายของชื่อโดเมน
  3. ชื่อโดเมนจะต้องไม่เป็นชื่อสงวน คำหรือชื่อเฉพาะที่สงวนไว้ในประเภทดังต่อไปนี้
    1. ชื่อที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ พระบรมวงศานุวงศ์และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์พระราชวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์
    2. ชื่อที่ใช้คำที่กระทบต่อความละเอียดอ่อนทางด้านศาสนาและความเชื่อ
    3. ชื่อที่ใช้คำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือองค์กรหนึ่งองค์กรใด รวมไปถึงการใช้คำล้อเลียน เสียดสีประชดประชัน หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง เกลียดชัง
    4. ชื่อที่เป็นชื่อประเทศ จังหวัด รัฐ เมือง รวมถึงสถานที่อันเป็นสาธารณะต่าง ๆ หรือสื่อถึงชื่อเหล่านั้น
    5. ชื่อที่ใช้คำหยาบหรือคำที่ผิดต่อหลักศีลธรรมอันดีงามของไทย รวมถึงคำที่มิได้เป็นคำหยาบโดยตัวเองแต่เกิดจากกระบวนการบางอย่าง เช่น การผวนคำ เป็นต้น
    6. ชื่อที่สื่อความหมายถึงอินเทอร์เน็ต โปรโตคอลในระบบอินเทอร์เน็ต และชื่อที่เกี่ยวข้องกับระบบชื่อโดเมน
    7. ชื่อที่มูลนิธิฯ กำหนดไว้ในรายการชื่อสงวน ตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ https://www.thnic.co.th
  4. ชื่อโดเมน .ไทย แต่ละชื่อจะต้องประกอบด้วยตัวอักษรภาษาไทย พยัญชนะ(ก-ฮ ฤ ฤ ฦ ฦ) สระ วรรณยุกต์ยมก (ๆ) พินทุ (อฺ) นฤคหิต (อํ) ไปยาลน้อย (ฯ) การันต์ (_์) และ/หรือเลขไทย (๐-๙) โดยชื่อโดเมนจะต้องมีความยาวหลังจากแปลงเป็นพิวนีโค้ด (Punycode) ไม่เกิน 63 ตัว
  5. ชื่อโดเมน .ไทย ประกอบด้วยตัวเลขอารบิก (0-9) ได้ แต่จะต้องประกอบกับตัวอักษรภาษาไทยที่กล่าวไว้ข้างต้นอย่างน้อย 1 ตัว
  6. ชื่อโดเมน .ไทย จะต้องไม่เป็นชื่อสงวน ที่ระบุในข้อ 3
  7. ผู้ถือครองชื่อโดเมน .th ทุกหมวดหมู่จะได้รับสิทธิจดทะเบียนชื่อโดเมน .ไทย ในหมวดหมู่ที่คู่กัน โดยชื่อโดเมน .ไทย และ .th ดังกล่าวจะต้องมีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน ทั้งนี้ ให้อ้างอิงคำพ้องเสียงหรือคำแปลตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ราชบัณฑิตยสภา หรือ เทียบเท่า

การขอจดทะเบียนชื่อโดเมน

  1. ผู้ใช้งานต้องสมัครบัญชีสมาชิกที่เว็บไซต์ของนายทะเบียน thnic.co.th เพื่อเข้าใช้บริการในระบบจัดการทะเบียนชื่อโดเมน สมาชิกสามารถส่งคำขอจดทะเบียนชื่อโดเมนผ่านทางระบบนี้ หรือสามารถจดทะเบียนผ่านทางตัวแทนจำหน่ายฯ ได้
  2. คำขอจดทะเบียนชื่อโดเมนจะมีอายุ 30 วัน โดยในช่วงอายุของคำขอ ผู้อื่นจะไม่สามารถส่งคำขอจดทะเบียนชื่อโดเมนเดียวกันได้
  3. นายทะเบียนถือหลักปฏิบัติผู้ที่ส่งคำขอมาก่อนจะได้รับบริการก่อน (First come, first serve basis)
  4. นายทะเบียนยึดแนวทางให้ผู้ขอรับบริการก่อนได้สิทธิในชื่อโดเมนก่อนเป็นหลัก (ยกเว้นได้ระบุเงื่อนไขเฉพาะไว้ในแนวปฏิบัติอื่น ๆ) ดังนั้น ชื่อโดเมนที่ได้รับการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ผู้อื่นจะไม่สามารถส่งคำขอจดทะเบียนชื่อโดเมนเดียวกันได้ ถึงแม้ผู้ร้องขอจะแสดงเอกสารประกอบที่สอดคล้องกับเงื่อนไขในการจดทะเบียนชื่อโดเมนนั้น ๆ เว้นแต่เกิดข้อพิพาท
  5. เอกสารประกอบการยืนยันตัวตนสำหรับบุคคลธรรมดา ได้แก่ บัตรประชาชน หรือ บัตรประจำตัวข้าราชการ หรือใบอนุญาตขับขี่ หรือ หนังสือเดินทาง ออกโดยกระทรวงต่างประเทศ ราชอาณาจักรไทย สำหรับผู้เยาว์ให้ใช้เอกสาร 2 ฉบับ ดังนี้ เอกสารแสดงตนหรือบัตรประชาชนของผู้เยาว์ บัตรประชาชนของผู้แทนที่มีอำนาจตามกฎหมาย รับรองการขอจดทะเบียนชื่อโดเมน หรือเลือกใช้การยืนยันตัวตนรูปแบบ National Digital ID (NDID) ตัวตนของผู้ใช้บริการบนโลกดิจิทัล ที่สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ

การต่ออายุชื่อโดเมน

       การต่ออายุชื่อโดเมนต้องต่อขั้นต่ำครั้งละ 1 ปีและสูงสุดไม่เกิน 10 ปีโดยผู้ถือครองชื่อโดเมนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบวันหมดอายุของชื่อโดเมนที่ถือครองและดำเนินการส่งคำขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมให้เรียบร้อยก่อนวันหมดอายุ

เว็บไซต์ คืออะไร

       เว็บไซต์ (Website) คือ สื่อนำเสนอข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่เจ้าของเว็บไซต์นั้นต้องการสื่อสารกับผู้ใช้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์เกิดจากการรวบรวมหน้าเว็บเพจหลายหน้าเข้าด้วยกันและเชื่อมโยงกันผ่านทางไฮเปอร์ลิงก์ (Hyperlink) จัดเก็บไว้บนเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) ซึ่งต้องเข้าถึงด้วยโปรแกรมเฉพาะทางที่เรียกว่าเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) เริ่มแรกเว็บไซต์นั้นถูกสร้างขึ้นด้วยภาษาทางคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า HTML (Hyper Text Markup Language) และได้มีการพัฒนาและนำภาษาอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วยเพื่อช่วยให้เว็บไซต์มีความสามารถมากขึ้น เช่น PHP ASP SQL Java ฯลฯ
       เว็บไซต์ มีคำศัพท์เฉพาะทางหลายคำ เช่น เว็บเพจ (web page) และ โฮมเพจ (home page) เป็นต้น ปัจจุบันการพัฒนาออกแบบเว็บไซต์ไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากมีเครื่องมือให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมสำเร็จรูป หรือ CMS (Content Management System) อย่าง Joomla WordPress Drupal เป็นต้น แม้กระทั่งกูเกิล (Google) ที่เปิดให้บริการพัฒนาออกแบบเว็บไซต์ได้ผ่าน Google Sites https://sites.google.com 
       เว็บ 1.0 (The Web) เป็นเว็บไซต์ในยุคเริ่มต้นและยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน มักเป็นไฟล์นามสกุล .htm หรือ .html ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารแบบสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) เจ้าของเว็บไซต์จะเป็นผู้กำหนดเนื้อหาเองทั้งหมด การแบ่งปันส่งต่อเนื้อหาทำได้ยาก ต้องมีความรู้พื้นฐานการทำเว็บไซต์ ผู้ใช้มีหน้าที่รับรู้ข่าวสารเพียงอย่างเดียวไม่สามารถโต้ตอบได้ เหมือนกับสื่ออื่น ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์
       เว็บ 2.0 (Social Web) เป็นเว็บไซต์ในยุคปัจจุบันที่มีรูปแบบของการสื่อสารเป็นแบบสองทาง (Two-Way Communication) ผู้ใช้มีส่วนร่วมกับเว็บไซต์มากขึ้น ผู้ใช้สามารถสร้างข้อมูล (Content) บนเว็บไซต์ กำหนดคำสำคัญ (Tag) เขียนบล็อก (Blog) แชร์รูปภาพ ร่วมแสดงความคิดเห็น (Post Comment) พูดคุย ถกเถียง สืบค้นข้อมูล (Search) ได้ด้วยตนเอง ทำให้ข้อมูลในเว็บไซต์นั้นมีการอัปเดต และพัฒนา ปรับปรุง อย่างรวดเร็ว
       เว็บ 3.0 (Semantic Web) เป็นเว็บไซต์ในอนาคตอันใกล้ พัฒนาการต่อจากเว็บ 2.0 สามารถคาดเดาพฤติกรรมการใช้งาน วิเคราะห์ความต้องการของมนุษย์แล้วเก็บรวบรวมมาประมวลผลสร้างสิ่งที่ต้องการให้กับผู้ใช้   เชื่อมโยงเนื้อหาที่มีความสัมพันธ์กันกับแหล่งข้อมูลอื่น ๆ พัฒนารูปแบบที่เป็นมาตรฐานสำหรับใช้ร่วมกันในแบบเอกซ์เอ็มแอล (XML) พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลในเว็บไซต์ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ใช้
       เว็บ 4.0 (Ubiquitous Web) คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีเว็บ 4.0 ที่เรียกกันว่า A Symbiotic Web จะเป็น เว็บไซต์ที่ขับเคลื่อนด้วย Artificial Intelligence (AI) มีความฉลาดมากยิ่งขึ้น สามารถที่จะตอบสนองหรือตัดสินใจได้ว่าจะแสดงข้อมูลอะไร จากไหน จึงจะให้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด รวดเร็วที่สุดกับผู้ใช้ สามารถทำงานได้บนทุกอุปกรณ์หรืออาจจะช่วยระบุตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้ได้

วิธีการเชื่อมต่อชื่อโดเมน .IN.TH กับ GOOGLE SITES และการตั้งค่า ANALYTICS

หลังจากชื่อโดเมน .in.th ที่จดทะเบียนได้รับการอนุมัติ และเพื่อให้เว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นเข้าถึงได้ผ่านชื่อโดเมนดังกล่าว สามารถทำตามขั้นตอนดังนี้

1. คลิกการตั้งค่าที่รูปฟันเฟืองที่มุมขวาบน > เลือกโดเมนที่กำหนดเอง > เริ่มการตั้งค่า > เลือกใช้โดเมนจากบุคคลที่สาม > คลิกถัดไป > ป้อนชื่อโดเมน .in.th ที่ได้จดทะเบียนไว้ > คลิกยืนยันความเป็นเจ้าของ

2. การยืนยันความเป็นเจ้าของ > เลือกผู้รับจดทะเบียนหรือผู้ให้บริการโดเมนของคุณ > เลือก อื่น ๆ > คัดลอกค่าระเบียน TXT ที่ได้รับ (เพื่อนำไปกำหนดค่า DNS ในเว็บไซต์ของผู้ให้บริการโดเมน)

3. เข้าสู่ระบบเว็บไซต์ของผู้ให้บริการโดเมน https://register.dotarai.com ที่ได้จดทะเบียนชื่อโดเมนไว้ > เลือกโดเมนของฉัน > คลิก ดู ที่โดเมนที่ต้องการตั้งค่า > เลือกแท็บ ดีเอ็นเอส > กรอก www ที่เรคคอร์ด TXT และวางค่าระเบียนที่ได้คัดลอกไว้ > คลิกเพิ่ม จะเห็นว่าเรคคอร์ดที่ได้เพิ่มจะปรากฏขึ้น > คลิก บันทึก (การเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอสอาจใช้เวลาสักระยะ)

4. กลับมาที่หน้าเว็บการยืนยันความเป็นเจ้าของในข้อ 2 เมื่อเวลาผ่านไปซักระยะ คลิกยืนยัน หากการยืนยันความเป็นเจ้าของสำเร็จจะปรากฏข้อความแสดงชื่อโดเมนที่ได้รับการยืนยัน

5. กลับมาที่ Google Sites ที่ต้องการตั้งค่าชื่อโดเมนอีกครั้ง และดำเนินการตามข้อ 1 จะเห็นว่าสามารถตั้งค่าในขั้นตอนถัดไปได้ และคัดลอกข้อมูล CNAME เพื่อไปตั้งค่าดีเอ็นเอส อีกครั้งเพื่อทำการเชื่อมต่อชื่อโดเมน

6. เปิดหน้าเว็บไซต์ของผู้ให้บริการโดเมน https://register.dotarai.com ที่ได้จดทะเบียนชื่อโดเมนไว้ >เลือกโดเมนของฉัน > คลิก ดู ที่โดเมนที่ต้องการตั้งค่า > เลือกแท็บ ดีเอ็นเอส > ลบเรคคอร์ด TXT ที่ได้รับการยืนยันเรียบร้อยแล้ว > ลบที่เลือกไว้ > บันทึก

7. ที่แท็บ ดีเอ็นเอสกรอก www ที่เรคคอร์ด CNAME และวางค่าระเบียนที่ได้คัดลอกไว้ > คลิกเพิ่ม จะเห็นว่าเรคคอร์ดที่ได้เพิ่มจะปรากฏขึ้น > คลิก บันทึก (การเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอสอาจใช้เวลาสักระยะ)

8. เมื่อเวลาผ่านไปซักระยะ กลับมาที่ Google Sites ที่ต้องการตั้งค่าชื่อโดเมนอีกครั้ง คลิกเสร็จสิ้น หากการตั้งค่าการเชื่อมต่อชื่อโดเมนสำเร็จจะปรากฏข้อความมอบหมายโดเมนที่กำหนดเองแล้ว

9. การตั้งค่าโดเมน .ไทย ให้ดำเนินการตามขั้นตอนในข้อ 1 > คลิก เพิ่ม และกรอกโดเมน .ไทย ที่ได้จดทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น ไทยกู๊ดวิว.ไทย จากนั้นดำเนินการตามขั้นตอนในข้อ 2

10. เข้าสู่ระบบเว็บไซต์ของผู้ให้บริการโดเมน https://register.dotarai.com ที่ได้จดทะเบียนชื่อโดเมนไว้ > เลือกโดเมนของฉัน > คลิก ดู ที่โดเมน .ไทย ที่ต้องการตั้งค่า จะเห็นว่าโดเมน .ไทย ที่ต้องการตั้งค่าไม่มีแท็บ ดีเอ็นเอส ให้เลือกเนื่องจากเนมเซิร์ฟเวอร์ถูกตั้งให้มีค่าเริ่มต้นเป็นเนมเซิร์ฟเวอร์อื่น จึงต้องทำการลบ พร้อมกับเพิ่มเนมเซิร์ฟเวอร์ ns1.dotarai.com และ ns2.dotarai.com แทนที่ จากนั้น > คลิก บันทึก เมื่อระบบทำการบันทึกเนมเซิร์ฟเวอร์ใหม่เรียบร้อยแล้ว ให้รีเฟรชหน้าเว็บหนึ่งครั้ง แท็บ ดีเอ็นเอส จะปรากฏขึ้น จากนั้นตั้งค่าโดเมน .ไทย ด้วยวิธีการเดียวกันกับการเชื่อมต่อโดเมน .in.th ตามขั้นตอนในข้อ 3 – 8

11. การตั้งค่ารหัสการติดตาม Google Analytics คลิกการตั้งค่า (รูปฟันเฟือง) ที่มุมขวาบน > เลือก Analytics และกรอกรหัสการติดตาม