กรับ จากเครื่องตี..สู่เอกลักษณ์ไทย
กรับพวง จากเครื่องตี...สู่เอกลักษณ์ไทย
กรับพวง
ทำด้วยไม้หรือโลหะ ลักษณะเป็นแผ่นบาง หลายแผ่นร้อยเข้าด้วยกัน ใช้ไม้หนาสองชิ้นประกับไว้
วิธีตี ใช้มือหนึ่งถือกรับ แล้วตีกรับลงไปบนอีกมือหนึ่งที่รองรับ ทำให้เกิดเสียงกระทบจากแผ่นไม้ หรือแผ่นโลหะดังกล่าว ใช้ตีในการบรรเลงมโหรีโบราณ เล่นเพลงเรือ และโขนละคร
ระบำกรับ
เป็นชุดการแสดงที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ โดยนำกรับพวงซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะของวงดนตรีไทย มาประดิษฐ์เป็นชุดระบำในรูปแบบนาฏศิลป์พื้นบ้านภาคกลาง ที่มาของระบำชุดนี้คือวิทยาลัยนาฏศิลป ได้สร้างสรรค์ระบำกรับเพื่อแสดงครั้งแรกในงานเลี้ยงต้อนรับคณะผู้ร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๔ ผู้แต่งทำนองเพลงคือ นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ ผู้ประดิษฐ์ลีลาท่ารำ.คือ นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ ต่อมานำออกแสดงในงานดนตรีไทย มัธยมศึกษาครั้งที่ ๘ ณ สังคีตศาลา เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕ และงานเปิดสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ ถนนสีลม นอกจากนี้ยังนำออกแสดงในงานรื่นเริงของหน่วยงานราชการและเอกชนบ่อยครั้ง นับเป็นชุดการแสดงที่งดงามและน่าชมอีกชุดหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงวิวัฒนาการของระบำเบ็ดเตล็ดแบบหนึ่ง ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน นุ่งผ้าโจงกระเบนผ้าพิมพ์ลาย ห่มผ้าแพรจีบสไบเฉียงสวมเครื่องประดับ ผมทรงดอกกระทุ่มทัดแป้งพวง
ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง เป็นวงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องห้า หรือเครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ท่วงทำนองและจังหวะเป็นเพลงอัตราสองชั้นและชั้นเดียว ไม่มีบทร้อง สำหรับลีลาท่ารำนั้น ผู้แสดงตีกรับพวงในจังหวะอัตราสองชั้น และชั้นเดียว ประกอบลีลาท่ารำ บางท่าตีกรับบนฝ่ามือ บางท่าตีบนหน้าขา และบางท่าตีบนหัวไหล่ ประกอบกับวิ่งซอยเท้าบ้างขยับเท้าบ้าง ย่ำเท้า หรือตบเท้าบ้าง ฯลฯ มีการแปรแถวแบบต่าง ๆ ลีลาท่ารำเป็นแบบนาฏศิลป์ไทยผสมสากล การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๗ นาที
แหล่งอ้างอิง:
www.thaidance.com