การศึกษาเรื่องการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 เรื่องรูปสี่เหลี่ยม ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้สื่
ชื่อผลงาน การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่องรูปสี่เหลี่ยม ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อประสมชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต”
ชื่อผู้ศึกษา นางสาวสุนีย์ เที่ยงถาวร
โรงเรียน เทศบาล 3 ( เทศบาลสงเคราะห์ )
สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่องการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่องรูปสี่เหลี่ยม ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อประสมชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต” มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่องรูปสี่เหลี่ยม ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อประสมชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต” 2) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ เรื่องรูปสี่เหลี่ยม โดยใช้สื่อประสมชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต”
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนเทศบาล 3 (เทศบาลสงเคราะห์) สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ที่เรียนอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 35 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เป็นการศึกษาแบบแผนการทดลองขั้นพื้นฐาน (Pre-Experimental Design) แบบหนึ่งกลุ่ม สอบก่อนและสอบหลัง (One Group Posttest- Posttest Design) ตัวแปรต้น (Independent Variable) คือ สื่อประสมชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต” ตัวแปรตาม (Dependent Variables) คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องรูปสี่เหลี่ยม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อประสมชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่องรูปสี่เหลี่ยม ที่ผ่านการตรวจ ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ได้ค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 1.00 2) สื่อประสมชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต” ที่ผ่านการตรวจค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ได้ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 1.00 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง รูปสี่เหลี่ยม ก่อนและหลังเรียน เป็นแบบทดสอบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ มีค่าความยากง่าย (p) ระหว่าง 0.57 ถึง 0.76 มีค่าอำนาจจำแนก (r) ระหว่าง 0.25 - 0.75 และมีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.98 ที่ผ่านการตรวจค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ได้ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ระหว่าง0.67 – 1.00 4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อประสมชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต” ที่ผ่านการตรวจค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ได้ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 1.00
การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและ หลังเรียนของของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่องรูปสี่เหลี่ยม ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อประสม ชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต” ใช้ t-test แบบ Dependent และแบบสอบถาม ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยสื่อประสม ชุด“สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต” โดยใช้การแจกแจงความถี่ และการหาค่าร้อยละ
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่องรูปสี่เหลี่ยม ที่จัดการเรียนรู้โดยการใช้สื่อประสมชุด“สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต” หลังเรียนสูงกว่า ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยการใช้ สื่อประสมชุด“สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต” พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ การจัดการเรียนรู้โดยการใช้สื่อประสม โดยพิจารณา เป็นรายด้านได้ดังนี้ ด้านกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า การจัดการเรียนรู้เรื่องรูปสี่เหลี่ยม โดยการใช้สื่อประสมชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต”ทำให้นักเรียนเกิดทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ด้านสื่อการเรียนรู้ พบว่านักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า สื่อประสมชุด “สื่อประสมสร้างสรรค์รู้ทันเรขาคณิต” เป็นสื่อการเรียนรู้ทำให้นักเรียนเข้าใจและเรียนรู้เรื่องรูปสี่เหลี่ยม ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นและมีความหลากหลาย ด้านผู้สอน พบว่านักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ผู้สอนทำหน้าที่ เป็นผู้อำนวยความสะดวกและเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และด้านการวัดผลและการประเมินผลการเรียนรู้ พบว่านักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า การวัดผลประเมินผล ช่วยกระตุ้นให้นักเรียน มีความต้องการในการเรียนรู้มากขึ้น
เป็นแนวความคิดที่ดีที่ใช้สื่อที่สร้างสรรค์มาสอนให้นักเรียนเข้าใจง่ายขึ้น แต่อยากทราบว่าสื่อประสมสร้างสรรค์ที่กล่าวถึงมีรูปแบบหรืออุปกรณ์ในการใช้สอนเด็กอย่างไรคะ และกลุ่มตัวอย่าง 35 คนถือว่าน้อยไปหรือไม่คะ