การประเมินหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านอาชีพ ท้องถิ่น โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อเรื่อง การประเมินหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านอาชีพ ท้องถิ่น โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่
ผู้วิจัย นางกรรณิการ์ ทองสุวรรณ์
ปีที่วิจัย ๒๕๕๗
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านอาชีพท้องถิ่น โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP MODEL ของสตัฟเฟิลบีม (STUFFLEBEAM) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้รวมทั้งสิ้น ๓๑๓ คน ประกอบด้วยผู้บริหารจำนวน ๒ คน ครูผู้สอนจำนวน ๒๐ คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน๑๕ คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ จำนวน ๑๓๒ คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ จำนวน ๑๓๒ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามจำนวน ๕ ชุด ประกอบด้วยแบบสอบถามสำหรับนักเรียน แบบสอบถามสำหรับครูผู้สอน แบบสอบถามสำหรับคณะกรรมการสถานศึกษา แบบสอบถามสำหรับผู้ปกครองนักเรียน และแบบสัมภาษณ์สำหรับผู้บริหาร จำนวน ๑ ชุด วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป โดยการหาร้อยละ ( % ) ค่าเฉลี่ย (X) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analisis)
ผลการวิจัย
๑. หลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านอาชีพ ท้องถิ่น โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่ โดยภาพรวมพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านผลผลิต มีความเหมาะสมมากที่สุด ด้านบริบทด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผลมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
๒. ด้านบริบทพบว่า มีความเหมาะสมระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า โครงสร้างของหลักสูตร จุดมุ่งหมายของหลักสูตรมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือด้านนโยบาย สภาพแวดล้อมและสาระการเรียนรู้ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
๓. ด้านปัจจัยนำเข้าพบว่า มีความเหมาะสมระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านอาคารสถานที่ งบประมาณ คุณสมบัติครูผู้สอนมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือความร่วมมือจากชุมชน และวัสดุ อุปกรณ์และคุณสมบัติของผู้บริหาร มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
๔. ด้านกระบวนการพบว่า มีความเหมาะสมระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ทุกด้านมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากคือ ด้านการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การบริหารหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามลำดับ
๕. ด้านผลผลิตพบว่า มีความเหมาะสมระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านความรู้ความสามารถในการนำความรู้ไปปฏิบัติงานด้านอาชีพท้องถิ่น ด้านความภาคภูมิใจในผลงาน โครงการ ชิ้นงานของตนเองมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ การมีความรู้และทักษะด้านอาชีพท้องถิ่น และทักษะกระบวนการคิดการแก้ปัญหา มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
๖. ด้านผลกระทบพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านการมีชื่อเสียงของโรงเรียนและการยอมรับของชุมชน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือรางวัลเกียรติยศ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
๗. ด้านประสิทธิผล พบว่า มีความเหมาะสมระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ทุกด้านมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากคือ ด้านความรู้ของนักเรียน ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบตามลำดับ