พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

สืบทราบมาว่า ใกล้กับที่ทำการไปรษณีย์กลาง บางรัก มีบ้านไม้ที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมฟรี ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ข้าวของมากมายภายในบ้าน ไม่ใช่ของสะสม หากแต่ผ่านการ ใช้งานจริง โดย คนกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2
บ้านไม้ใจกลางกรุงหลังนี้ ตั้งอยู่ห่างจากปากซอยเจริญกรุง 43 เข้าไปราว 300 เมตร เจ้าของบ้านคือ 'วราพร สุรวดี' ผู้ได้รับมรดกตกทอดทั้งบ้านและทรัพย์สินภายในบ้านจาก 'คุณแม่สอาง สุรวดี (ตันบุญเต็ก) ซึ่งเมื่อเธอสำรวจข้าวของมากมายแล้วพบว่า ของทุกอย่างมีคุณค่า จึงคิดที่จะเปิดบ้านให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา โดยไปปรึกษากับผู้รู้จนได้จัดตั้งเป็น 'พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก'
ต่อมาในปี 2547 อ.วราพรได้ยกบ้านให้เป็นสมบัติของกรุงเทพมหานคร สถานที่แห่งนี้จึงมีชื่อใหม่ว่า 'พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก' ซึ่งมีผู้มาเยี่ยมชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากทุกสารทิศ
ผู้เขียนเริ่มเดินสำรวจตั้งแต่อาคารหลังที่ 1 ซึ่งเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ที่มีหลังคาทรงปันหยา และมีลวดลายฉลุที่ชายคา พบว่าภายในบ้านมีห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องนอนหลายห้อง ห้องแต่งตัว ห้องเขียนหนังสือ ห้องน้ำ ส่วนของใช้และเครื่องเรือนก็ได้แก่ เปียโน โซฟา
ตู้หนังสือ โทรทัศน์ทรานซิสเตอร์ ถ้วยชามกระเบื้อง เครื่องลายคราม เครื่องแก้วเจียระไน เครื่องอัดผ้า ฯลฯ
ไปต่อที่อาคารหลังที่ 2เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น เดิมปลูกอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ โดยต้องการใช้ชั้นล่างเป็นคลินิกของหมอฟรานซิส คริสเตียน ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นศัลยแพทย์จากอังกฤษ แต่หลังจากหมอฟรานซิสเสียชีวิต คุณแม่สอางก็ให้รื้อบ้านแล้วย่อส่วนมาปลูกไว้ ณ ที่แห่งนี้ ภายในบ้านจึงมีสิ่งของที่เกี่ยวกับการแพทย์ อาทิ เข็มฉีดยา ใบสั่งยา ตาชั่ง และจัดชั้นบนเป็นห้องนอน รวมถึงมีรูปหล่อของหมอฟรานซิสตั้งอยู่ด้วย
ส่วนอาคารหลังที่ 3 ชั้นล่างจัดแสดงของใช้ในครัวเรือน เครื่องมือช่าง อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย กระเป๋าเดินทาง ฯลฯ ชั้นบนจัดแสดงนิทรรศการภาพรวมของกรุงเทพมหานคร โดยมีส่วนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาของชื่อถนนหลายสายในกรุงเทพฯ บุคคลสำคัญในเขตบางรัก เรื่องราวด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับชาติตะวันตก มีตู้โชว์แสดงเงินเหรียญ อุปกรณ์ถ่ายภาพ โทรศัพท์ ฯลฯ
และอาคารหลังที่ 4 เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง ด้านล่างเคยใช้ประกอบกิจกรรมต่าง เช่น อ่านหนังสือ เลี้ยงสัตว์ แต่ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานห้องสมุดของ อ.วราพร
อ.วราพร สุรวดี ในวัย 78 ปี อธิบายเหตุผลที่เธอไม่ได้เป็นนักสะสม แต่มีสิ่งของจัดแสดงมากมายก็เพราะ “ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนในละแวกใกล้เคียงต่างก็รื้อบ้านแล้วนำไม้ไปขาย ได้เงินก็นำไปใช้ในช่วงอพยพหรือนำไปปลูกบ้านใหม่ แต่คุณแม่สอางตัดสินใจไม่รื้อบ้านขาย ซึ่งบ้านก็รอดพ้นจากระเบิดและไฟไหม้ จึงยังอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ ส่วนของใช้ ตั้งแต่จำความได้ คนสมัยโบราณจะใช้ของจนกว่าของจะชำรุดเสียหาย เมื่อชำรุดแล้วก็ซ่อม ของใช้จึงมีอยู่เยอะ และยังคงสภาพดี ต่างจากคนสมัยนี้ อะไรเสียก็โยนทิ้งแล้วซื้อใหม่”
ที่นี่คือแหล่งจัดแสดงสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชาวบางกอก ฐานะปานกลาง ในระหว่างปี พ.ศ. 2480 - 2500 ที่มีมนต์เสน่ห์อย่างยิ่งสำหรับผู้มาเยือน และยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก...มากกว่าที่จะบอกเล่าออกมาได้หมดในสองหน้ากระดาษ รอเพียงคุณผู้อ่านไปเห็นและสัมผัสบรรยากาศย้อนอดีตด้วยตาตนเอง
all Magazine : ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 เดือนพฤษภาคม 2556
นักสืบเสาะ : ภัชภิชา ฤกษ์สิรินุกูล
ภาพ : วิลาสินี เตียเจริญ
ที่มาภาพแบนเนอร์ : http://www.thailandexhibition.com/Eat-Travel/623