อยู่ระหว่างการปรับปรุง

สร้างโดย : นางสาว อรทัย ภู่พิพัฒน์, นางสาว พอแก้ว รักษ์เธียรมงคล, นางสาว ศานิตา อัศวศรีวรกุล,
นางสาว คุณภัทร สิทธิเชนทร์, นางสาว ดวงทิพย์ ลาวัณษ์เสถียร และ นางสาว อริศรา ชินพรทวีสุข
สร้างเมื่อ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2550
มีผู้อ่าน 324,185 ครั้ง (18/08/2023)
ที่มา : http://old.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6/BotanicalGarden/index.html

           สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซต์สวนพฤกษศาสตร์ของโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ภายในเว็บนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับพรรณไม้ต่างๆ ที่มีอยู่ในบริเวณโดยรอบโรงเรียน ซึ่งได้แก่ ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก ปาล์ม เฟิร์น หญ้า ไม้น้ำ และกล้วยไม้ ซึ่งมีอยู่หลากหลายชนิด อีกทั้งในการจัดทำเว็บไซต์นี้ยังถือเป็นการเพิ่มแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนอีกทางหนึ่ง ซึ่งทางคณะผู้จัดทำเล็งเห็นประโยชน์ตรงจุดนี้ จึงได้จัดทำเว็บไซต์นี้ขึ้น ซึ่งคณะผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นนี้จะมีประโยชน์ทั้งต่อนักเรียน รวมถึงบุคลากรภายในโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย และมีประโยชน์ต่อผู้เยี่ยมชมทุกท่าน…ขอให้มีความสุขกับการเยี่ยมชมพรรณไม้ต่างๆ ในโรงเรียนของเรานะคะ …เชิญชมได้เลยค่ะ…
           ข้อมูลส่วนใหญ่ในเว็บไซต์นี้ต้องขอขอบคุณเว็บ www.maipradabonline.com อย่างมาก เพราะเนื้อหาเกือบทั้งหมดมาจากเว็บนี้ และต้องขอขอบคุณเว็บอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งคณะผู้จัดทำอาจนำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อเล็กน้อย
           รูปภาพทั้งหมดในเว็บเพจนี้เป็นภาพของพรรณไม้ต่างๆ ในโรงเรียนจริงๆ ซึ่งนักเรียนได้ลงมือถ่ายกันด้วยตนเอง หากจะนำไปใช้ก็ขอให้มีเครดิตกันด้วยนะคะ
           ในโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย มีพรรณไม้ต่างๆ แบ่งเป็น 9 กลุ่ม ดังนี้

  1. ไม้ยืนต้น (Tree)
  2. ไม้พุ่ม (Shrub)
  3. ไม้เลื้อย (Ivy)
  4. ไม้ล้มลุก (Herbaceous stem, Herb)
  5. ปาล์ม (Palm)
  6. เฟิร์น (Fern)
  7. หญ้า (Grass)
  8. ไม้น้ำ (Aquatic Plants)
  9. กล้วยไม้ (Orchid)

1. ไม้ใหญ่หรือไม้ยืนต้น (Tree)

               ไม้ใหญ่หรือไม้ยืนต้น ไม้ประเภทนี้มีลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีลำต้นหลัก ตั้งตรง ต้นเดียวแล้วจึงแตกกิ่งก้านบริเวณยอด โตเต็มที่สูงเกิน 5 เมตร มีอายุยืนยาวหลายปี เช่น สน เต็ง รัง แดง สัก ประดู่ นนทรี จามจุรี มะขาม
ที่มา : http://www.panmai.com/Tip/Tip09/Tip09.shtml

1.1 ชมพูพันธุ์ทิพย์

  • ชื่อสามัญ  Pink Trumpet, Pink Tecoma, Rosy Trumpet-tree
  • ชื่ออื่นๆ ชมพูอินเดีย, ตาเบบูยา, ธรรมบูชา (กรุงเทพฯ)
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Tabebuia rosea  (Bertol.)  DC.
  • วงศ์ Bignoniaceae
  • ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-25 เมตร ผลัดใบ เปลือกต้นเรียบ สีเทาหรือสีน้ำตาล ต้นที่มีอายุมากเปลือกจะแตกเป็นร่อง เรือนยอดรูปไข่หรือทรงกลมแผ่กว้างเป็นชั้นๆ ใบ เป็นใบประกอบรูปนิ้วมือ ใบย่อย 5 ใบ ใบรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปรี ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ดอก ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ คล้ายรูปแตร มีหลายสี คือ สีขาว ชมพูอ่อน หรือชมพูกลางดอกสีเหลือง ดอกมักบานพร้อมๆกันและร่วงง่าย ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผล เป็นฝัก เมื่อแก่จะแตกออก ขนาดฝัก (ยาว x กว้าง x หนา) 32.53 x 1.24 x 0.99 ซม. เมล็ด มีลักษณะแบน สีน้ำตาล มีปีกเป็นเยื่อบางทั้ง 2 ด้านของเมล็ด ขนาดเมล็ด (ยาว x กว้าง x หนา) 0.73 x 1.34 x 0.99 ซม.
  • การกระจายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดทางใต้ของเม็กซิโกไปถึงโคลัมเบียและเวเนซุเอลา ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ผู้นำเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2500
  • การขยายพันธุ์  เพาะเมล็ด

1.2 จันทน์ผา

  • ชื่อสามัญ  –
  • ชื่อวิทยาศาสตร์  Dracaena lourieri
  • ตระกูล AGAVACEAE
  • ถิ่นกำเนิด ประเทศไทย
  • ลักษณะทั่วไป จันทน์ผาเป็นไม้ประดับที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย โดยเฉพาะตามป่าเขา สูงประมาณ 5 – 7 ฟุต ลำต้นมีความแข็งแกร่งมาก การแตกใบจะแตกออกบริเวณยอด ใบสีเขียวเข้ม เป็นรูปหอก ใบเรียวและยาว ปลายใบแหลมใบยาวประมาณ 45-50 ซ.ม และกว้างประมาณ 4-5 ซ.ม. นิยมปลูกประดับไว้ตามสนามหญ้าหรือใช้ตกแต่งร่วมกับสวนหิน
  • การขยายพันธุ์ โดยการปักชำ
  • การดูแลรักษา
    • แสง  ชอบแสงแดดมาก
    • น้ำ ให้น้ำพอประมาณและสามารถทนการขาดน้ำได้เป็นเวลานาน ๆ
    • ดิน สามารถเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด
    • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้ปีละ 2 ครั้ง
    • โรคและแมลง  ทนทานต่อการทำลายของโรคและแมลงได้เป็นอย่างดี

1.3 ชวนชม

  • ชื่อสามัญ Impala Lily Adenium
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Adenium obesum.
  • ตระกูล APOCYNACEAE
  • ลักษณะทั่วไป ชวนชมเป็นพรรณไม้ยืนต้นอวบน้ำขนาดเล็กลำต้นมีความสูงประมาณ1-3เมตรลำต้นอวบน้ำผิวเปลือกสีเขียวปนขาวผิวเรียบเป็นมัน ลำต้นมียางลำต้นบิดงอไปตามจังหวะแตกกิ่งก้านสาขาน้อยรูปทรงโปร่งใบแตกออกตามปลายของกิ่งก้านใบมนรี ปลายใบมน โคนใบสอบเรียว กลางใบมีเส้นสีขาวมองได้ชัด ตัวใบแข็ง ผิวเป็นมันเรียบมีสีเขียวดอกออกตรงปลายยอดของก้านดอกเป็นรูปแตร มีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีชมพูโคนกลีบดอกมีฐานรองดอกเป็นแฉกเล็กๆ สีเขียว ดอกบานมีความกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นชวนชมไว้ประจำบ้านจะทำให้เกิดการชวนชม นิยมชมชอบ เพราะชวนชมเป็นไม้มงคลนาม และยังทำให้เกิดแสน่ห์แห่งการดึงดูดตา ดึงดูดใจ ชวนมองยิ่งนัก
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นชวนชมไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ
  • การปลูก การปลูกแบ่งเป็น 2 วิธี
    1. การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายนอกอาคารบ้านเรือน ใช้กระถางทรงและขนาด 12-18 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ; ขุยมะพร้าว : ดินร่วน อัตรา  1 : 1 : 1 ผสมดินปลูก เพื่อความสวยงามของทรงพุ่มควรดูแลตัดกิ่งให้เหมาะสม และควรเปลี่ยนกระถาง 1-2 ปี/ครั้ง เพราะการขยายตัวของรากแน่นเกินไป
    2. การปลูกในแปลงปลูกประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก  30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก แต่ที่เหมาะสมควรปลูกประดับบริเวณสวนนิยมปลูกเป็นกลุ่มจะให้ดอกที่สวยงามเด่นชัดขึ้น
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำน้อย ทนต่อความแห้งแล้งให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง
    • ดิน ดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 กิโลกรัม/ต้น ใส่ปีละ 4-6 ครั้ง
    • การขยายพันธุ์  การปักชำ การตอน
    • โรคและศัตรู ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรู เพราะเป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพธรรมชาติได้ดี

1.4 เฟื่องฟ้า

  • ชื่อสามัญ  Paper flower
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Bougainvillea spp.
  • ตระกูล NYCTAGINACEAE
  • ประเภท ไม้เถาเลื้อย
  • ถิ่นกำเนิด บราซิล
  • ลักษณะทั่วไป เฟื่องฟ้าเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางประเภทเถาเลื้อย ลำต้นมีความยาวประมาณ 1-10 เมตร มีลำเถาแข็งแรงเลื้อยไปได้ไกล ผิวลำต้นสีเทาหรือสีน้ำตาลลำต้นมีหนามคมแหลมยาวประมาณ 0.51 เซนติเมตรติดอยู่เป็นระยะๆ ลักษณะของทรงพุ่มสามารถตัดแต่ง และ บังคับทิศทางการเจริญเติบโตได้ใบเป็นใบเดี่ยวแตกตามเถาลักษณะรูปไข่ปลายใบแหลมโคนใบมนขอบใบเรียบพื้นใบ ใบมีสีเขียว ขนาดใบกว้าง 2 – 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อตามส่วนยอด มีกลีบดอกหรือใบประดับ 3 กลีบ ส่วนดอกจะมีดอกเล็กสีขาว กลีบดอกจะมีขนาดและสีสันแตกต่างกันตามชนิดพันธุ์
  • พันธุ์เฟื่องฟ้าที่ปลูกเป็นไม้มงคล
    1. พันธุ์ดอกสีแดง ได้แก่  แดงจินดา แดงรัตนา แดงบานเย็น ตรุษจีนด่าง สาวิตรี กฤษณา
    2. พันธุ์ดอกสีขาว ได้แก่  ทัศมาลีดอกขาว ขาวน้ำผึ้ง สุมาลี สุวรรณี
    3. พันธุ์ดอกสีชมพู ได้แก่  ชมพูจินดา ชมพูทิพย์ ชมพูนุช
    4. พันธุ์ดอกสีม่วง ได้แก่  ม่วงประเสริฐศรี พรสุมาลี ม่วงกฤษณา ทัศมาลี
    5. พันธุ์ดอกสีส้ม ได้แก่  สุมาลีสีทอง
    6. พันธุ์ดอกสีเหลือง ได้แก่  เหลืองอรทัย
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นเฟื่องฟ้าไว้ประจำบ้าน สามารถสร้างคุณค่าของชีวิตให้สูงขึ้น เพราะเฟื่องฟ้าเป้นพรรณไม้ ที่ได้รับสมญาว่าเป็นราชินีแห่งไม้ประดับเนื่องจากสามารถนำเฟื่องฟ้าไปใช้ประโยชน์ในด้านสุนทรียภาพเพื่อประดับสวนอาคาร  บ้านเรือนและสถานที่สำคัญต่างๆนอกจากนี้คนไทยโบราณยังมีความเชื่ออีกว่าเฟื่องฟ้าเป็นไม้มงคลทำสำคัญของเทศกาลตรุษจีน เพราะต้นเฟื่องฟ้าสามารถออกดอกสะพรั่งในช่วงเทศกาลตรุษจีนจึงทำให้บางคนเรียกต้นเฟื่องว่าว่าต้นตรุษจีนดังนั้นบางคนเชื่อว่า เมื่อช่วงดอกเฟื่องฟ้าบานแสดงถึง ความเบิกบาน สว่างไสว ความรุ่งเรือง ที่ก้าวไกลแห่งชีวิต
  • การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ โดยวิธีการปักชำ ตอน การเสียบยอด
  • สภาพที่เหมาะสม
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 3 – 5 วัน/ครั้ง
    • ดิน ดินร่วนซุย ความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ
    • ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ใส่ปีละ 4-6 ครั้งหรือใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น ใส่ปีละ 4-6 ครั้ง
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องโรค ส่วนแมลงนั้นจะมีเพลี้ยรบกวนบ้างในบางครั้ง แต่ควรระวังอย่าให้น้ำขังแฉะเพราะจะทำให้รากเน่า การป้องกันกำจัดใช้ยาฉีดพ่นโดยใช้ ไดอาชินอน ตามที่ระบุไว้ในฉลากยา

1.5 อินทนิลน้ำ

  • ชื่อสามัญ Queen’s Crape Myrtle, Queen’s Flower, Pride of India
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia speciosa, Pers.
  • วงศ์ Lythraceae
  • ชื่ออื่น อินทนิล, จ่อล่อ, จะล่อหูกวาง
  • ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงประมาณ 10-25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างคลุมต่ำ เปลือกค่อนข้างเรียบ มีรอยด่างเป็นดวงสีขาวใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานแกมวงรี กว้าง 6-10 เซนติเมตร ยาว 11-26 เซนติเมตร ปลายแหลมเป็นติ่งเล็ก โคนกลมหรือมน ดอกสีม่วงสด ม่วงปนชมพู หรือชมพู ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูปถ้วยมีสันนูนตามยาวเห็นได้ชัดเจน และมีขนประปราย กลีบดอกบาน ขอบย้วย เกสรตัวผู้จำนวนมาก ผลเกือบกลม ผิวเกลี้ยง แข็ง ยาว 2-3 เซนติเมตร ผลแห้งแตกตามพูยาว 6 พู เมล็ดมีปีกจำนวนมาก ขึ้นตามที่ราบลุ่มบริเวณริมน้ำในป่าเบญจพรรณชื้น และป่าดงดิบทั่วไป ออกดอกเดือน มีนาคม-มิถุนายน
  • การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด
  • ประโยชน์ เนื้อไม้แข็งแรง ใช้ทำไม้เสา เครื่องมือต่างๆ ทางด้านสมุนไพร ใบใช้แก้โรคเบาหวาน ลดความดัน

1.6 จำปี

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Michelia Longifolia             
  • ชื่อสามัญ White Chempaka    
  • การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด, ตอนกิ่ง             
  • ชื่อวงศ์ MAGNOLIACEAE
  • ถิ่นกำเนิด ประเทศอินโดนีเซีย
  • ประวัติและข้อมูลทั่วไป ลักษณะที่แตกต่างระหว่าง จำปี กับ จำปา คือ จำปีจะมีสีขาว กลิ่นหอม เย็น แต่จำปา นั้นมีสีเหลืองและกลิ่นหอมได้ไม่เท่าจำปี
  • ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ จำปีเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นใหญ่สูงกว่าจำปาเล็กน้อย ต้นจะแตกพุ่มยอดใบงามกว่าจำปา ใบนั้นเป็นใบเดี่ยว ปลายใบจะแหลมโคนใบมน ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีสีขาวคล้ายๆ กับสีของงาช้าง จะมีกลีบอยู่ 8-10 กลีบ ซ้อนกัน กลีบดอกจะเรียวกว่าจำปา ยาวประมาณ 2 นิ้ว ตรงกลางดอกจะมีเกสรเป็นแท่งกลมเล็ก ยอดแหลมคล้าย
    ผักข้าวโพดเล็กๆ ปลูกประมาณ 3 ปี จำปีถึงจะให้ดอก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
  • การปลูกและดูแลรักษา จำปีเป็นไม้กลางแจ้งต้องการแสงแดดจัด  ขึ้นได้ในดินทุกชนิด สามารถปลูกในดินค่อนข้างเหลวได้ แต่ที่ดีที่สุดควรปลูกในดินร่วนซุยมีธาตุอาหารเพียงพอ ต้องการการรดน้ำบ่อยๆ

1.7 แก้วเจ้าจอม

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Guaiacum officinale L.
  • ชื่อสามัญ : Ligmum Vitae
  • ลักษณะ : ไม้ต้น สูง 10-15 ม. เปลือกต้นสีเทาเข้ม กิ่งมีข้อพองเห็นเป็นปุ่มๆ ทั่วไป ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ มีใบย่อย 2-3 คู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยไม่มีก้าน รูปไข่กลับ รูปไข่กว้าง หรือรูปรีเบี้ยวเล็กน้อย ปลายมน โคนสอบ ขอบเรียบ มีจุดสีส้มที่โคนใบย่อยด้านบน ดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ยอด 3-4 ดอก สีฟ้าอมม่วงและจะซีดลงเมื่อใกล้โรย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ โคนติดกันเล็กน้อย ร่วงง่าย กลีบดอก 5 กลีบ รูปรีหรือรูปไข่ เกสรเพศผู้ 10 อัน แยกกัน เกสรเพศเมียปลายแยกเป็น 5 แฉก ผลแห้งแตก รูปหัวใจกลับ มีครีบ 2 ข้าง สีเหลืองหรือสีส้ม มี 1-2 เมล็ด เมล็ดรูปรี สีน้ำตาล
  • ประโยชน์ : นำมาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับ แก่นไม้สีน้ำตาลถึงดำ แข็งมาก เป็นมัน และหนักมาก ทนต่อแรงอัดและน้ำเค็ม จึงนิยมนำมาใช้ทำกรอบประกับเพลาเรือเดินทะเล หรือกรอบประกับเพลาเครื่องจักรในโรงงานต่างๆ ทำรอก ด้ามสิ่ว และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องการความแข็งแรงมากๆ ยางไม้ใช้เป็นยาขับเสมหะ ยาระบาย ขับเหงื่อ แก้ข้ออักเสบ ใช้ร่วมในยาฟอกเลือด ทำเป็นยาอมแก้ต่อมทอนซิลและหลอดลมอักเสบ ละลายในเหล้ารัมและเติมน้ำเล็กน้อยใช้อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ กินแก้ปวดท้อง และใช้ใส่แผล น้ำคั้นจากใบกินแก้อาการท้องเฟ้อ เปลือกและดอกเป็นยาระบาย ยาชงจากดอกเป็นยาบำรุงกำลัง
  • ฤดูกาลออกดอก ออกดอกในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน และเดือนสิงหาคม-ตุลาตคม
  • สภาพการปลูก แก้วเจ้าจอมชอบอยู่กลางแจ้ง เป็นไม้กลางแจ้ง เติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำได้ดี
  • การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือปักชำและ ตอนกิ่ง
  • การปลูกและดูแลรักษา ปลูกเป็นไม้กระถางก็ได้หรีอปลูกลงดินก็ได้ วัสดุที่ใช้ปลูก คือ ดินก้ามปู : ปุ๋ยคอกอัตราส่วน 1:2:1

1.8 โกสน

  • ชื่อสามัญ Croton
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Codiaeum varicgatum
  • ตระกูล EUPHORBIACEAE
  • ถิ่นกำเนิดตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค
  • ลักษณะทั่วไป โกสนเป็นพรรณไม้ยืนต้นประเภทไม้พุ่มขนาดย่อม ผิวลำต้นเรียบสีน้ำตาลปนเทา ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มตรงกลม ใบแตกออกจากต้นและปลายกิ่ง ลักษณะใบมีรูปร่าง สีสันขนาด แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ดอกออกเป็นพวงห้อยลงมาด้านล่าง ดอกมีสีขาว เล็กมาก มีกลีบดอก 5 กลีบ
  • การปลูก การปลูกแบ่งเป็น 2 วิธี
    1. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับภายนอกอาคารบ้านเรือน ใช้กระถางทรงสูง ขนาด 10-16 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ขุยมะพร้าว : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 : 1 ผสมดินปลูก ควรเปลี่ยนกระถาง 1-2 ปี / ครั้ง เพราะการเจริญเติบโตของทรงพุ่มโตขึ้นและเมื่อต้องการเปลี่ยน ดินปลูกใหม่ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป
    2. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน โบราณนิยมปลูกบริเวณหน้าบ้าน หรือทำเป็นแนวรั้วบ้านเพื่อที่จะสร้างจุดเด่นให้กับบ้าน ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตรใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก
  • การขยายพันธุ์ การปักชำ การตอน
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดอ่อน รำไร จนถึงแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง
    • ดิน ดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ใส่ ปีละ 5-6 ครั้ง

1.9 ข่อย

  • ชื่อสามัญ Siamese rough bush
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Streblus asper
  • วงศ์ MORACEAE
  • ชื่ออื่นๆ สนนาย
  • ลักษณะทั่วไป เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง พบขึ้นตามพื้นราบและป่าเบญจพรรณทั่วๆ ไป ลำต้นสูงประมาณ 10–20 เมตร ผิวเปลือกลำต้นสีเทาค่อนข้างขาว โคนลำต้นตรง เนื้อไม้เหนียว ส่วนบนค่อนข้างคดงอเป็นปุ่มปม และเป็นร่องเล็กน้อย ใบออกจากปลายกิ่งมีขนาดเล็กสีเขียว ขอบใบเรียบ โคนใบมนแหลม ปลายใบแหลม ใบหนา หยาบคล้ายกระดาษทราย ใช้ขัดฟันหรือถูขูดเมือกปลาไหลได้ ออกดอกเป็นช่อดอกเล็ก สีขาวและเหลือง ผลกลมมีขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด เรียบ เมื่อยังอ่อนจะมีสีขาวหรือเทา เปลือกในมียางสีขาว เมื่อสุกผลสีเหลืองรับประทานได้ แต่ไม่เป็นที่นิยม
  • การปลูกและการดูแลรักษา
    หากปลูกลงดิน ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก
    หากปลูกใส่กระถาง ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 12–24 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วนอัตรา 1 : 1 ผสมดินปลูก และควรเปลี่ยนกระถางทุก ๆ 2–3 ปี หรือตามการเจริญเติบโตของต้นข่อย
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัดหรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5–7 วัน/ครั้ง
    • ดิน ดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย  ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1–2 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ปีละ 4–5 ครั้ง
  • การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปักชำ ซึ่งวิธีที่นิยมและได้ผลดีคือการปักชำ หรือจะขุดล้อมจากธรรมชาติมาปลูกเลี้ยงก็ได้ แต่ควรมีขนาดลำต้นไม่เกิน 3 เซนติเมตร เพราะหากโตกว่านี้จะเลี้ยงรอดยาก
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นข่อยไว้ประจำบ้านจะทำให้เกิดความมั่นคง ช่วยป้องกันศัตรูจากภายนอกได้ เพราะต้นข่อยเป็นต้นไม้ที่มีโครงร่างแข็งแรงคงทน จึงช่วยขจัดปัดป้องพิษภัยได้นอกจากนี้ยังมีความเชื่อกันว่าข่อยเป็นวัสดุที่ใช้ในการสื่อสารที่สำคัญชนิดหนึ่งในสมัยโบราณ ซึ่งเรียกกันว่า สมุดข่อย เพราะเนื้อเยื่อไม้มีความคงทน
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัยควรปลูกต้นข่อยไว้ทางทิศตะวันออก ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพบุรุษเพราะลักษณะของความแข็งแรง คงทน เป็นความเหมาะสมกับสุภาพบุรุษ

1.10 มะยม

  • ชื่อสามัญ Star Gooseberry
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus acidus Skeels
  • ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE
  • ชื่อท้องถิ่น
    ทั่วไป เรียก มะยม
    ภาคอีสาน เรียก หมักยม, หมากยม
    ภาคใต้ เรียก ยม
  • ลักษณะเด่น
  • มะยมเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 3–10 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณปลายยอด กิ่งก้านจะเปราะและแตกง่าย เปลือกต้นขรุขระสีเทาปนน้ำตาล ใบ เป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับกันเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 20–30 คู่ ใบรูปขอบขนานกลมหรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนปลายใบแหลม ฐานใบกลมหรือมน ขอบใบเรียบ ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกย่อยสีเหลืองอมน้ำตาลเรื่อๆ ผล เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปร่างกลม แข็ง สีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ด
  • การปลูก มะยมเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีทั้งที่แดดจัด หรือในที่ร่มรำไร ปลูกขึ้นได้ดีในดินที่ร่วนซุย มีความชื้นพอเหมาะ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
  • สรรพคุณทางยา
    • ราก รสจืด สรรพคุณแก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน ช่วยซับน้ำเหลืองให้แห้ง แก้ประดง ดับพิษเสมหะ
    • เปลือกต้น รสจืด สรรพคุณแก้ไข้ทับระดู ระดูทับไข้ และแก้เม็ดผดผื่นคัน
    • ใบ รสจืดมัน ปรุงเป็นส่วนประของยาเขียว สรรพคุณแก้ไข้ ดับพิษไข้ บำรุงประสาท ต้มร่วมกับใบหมากผู้หมากเมียและใบมะเฟืองอาบแก้คัน ไข้หัด เหือด และสุกใส
    • ดอก ดอกสดใช้ต้มกรองเอาน้ำแก้โรคในตา ชำระล้างในตา
    • ผล รสเปรี้ยวสุขุม กัดเสมหะ แก้ไอ บำรุงโลหิต และระบายท้อง
  • คติความเชื่อ ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง กล่าวว่ามะยมเป็นต้นไม้ที่ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตก (ประจิม) เพื่อป้องกันความถ่อย ถ้อยความ และผีร้ายมิให้มากล้ำกราย ในบางตำราก็ว่า เป็นต้นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม ปลูกแล้วผู้คนจะได้นิยมเหมือนมีเมตตามหานิยม

1.11 โมก

  • ชื่อสามัญ Moke
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia religiosa.
  • วงศ์ APOCYNACEAE
  • ชื่ออื่น โมกหลวง, มูกเกื้อ,โมกมัน
  • ลักษณะทั่วไป โมกเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง พบตามเรือกสวนไร่นาและตามป่าเบญจพรรณทั่วๆ ไป ลำต้นมีความสูงประมาณ 5–12 เมตร ผิวเปลือกมีสีน้ำตาลดำ ลำต้นกลมเรียบมีจุดเล็กๆ สีขาวประทั่วต้น แตกกิ่งก้านสาขารอบลำต้นไม่เป็นระเบียบ ใบเป็นใบเดียวออกเรียงกันเป็นคู่ตามก้านใบ มีขนาดเล็กรูปไข่ ปลายใบมนแหลม โคนใบแหลม คล้ายใบแก้ว เนื้อใบบางสีเขียว ออกดอกตามซอกใบเป็นช่อๆ ละ 3-5 ดอก โดยจะคว่ำหน้าลงสู่พื้นดิน มีทั้งดอกลา และดอกซ้อน ดอกสีขาว กลิ่นหอม ดอกบานเต็มที่มีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ออกดอกตลอดปี ฝักออกเป็นคู่มีขนาดเล็กยาวคล้ายฝักถั่วเขียวยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลักษณะโค้งงอเข้าหากัน ภายในมีเมล็ดเรียงอยู่เป็นจำนวนมาก
  • การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การตอน การปักชำ หรือจะขุดล้อมจากธรรมชาติมาปลูกเลี้ยงก็ได้ แต่วิธีที่นิยมและได้ผลดี คือการเพาะเมล็ด และการปักชำ
  • การปลูก
    หากปลูกลงดิน ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก:ดินร่วน อัตรา 1:2 ผสมดินปลูก
    หากปลูกในกระถาง ใช้กระถางทรงสูงขนาด 12–18 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ขุย มะพร้าว : ดินร่วน อัตรา 1:1:1 ผสมดินปลูก ควรเปลี่ยนกระถางบ้างแล้วแต่ขนาดของการเจริญเติบโต และเพื่อเปลี่ยนดินใหม่ทดแทนดินเดิม
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดปานกลาง จนถึงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5–7 วัน/ครั้ง
    • ดิน ดินร่วนซุย ความชื้นปานกลาง
    • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1–2 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ปีละ 4–6 ครั้ง

โมก เป็นพันธุ์ไม้อีกชนิดหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการทำไม้ดัด เนื่องจากมีทรงต้นที่สวยงาม และมีอายุยืนนาน

1.12 นนทรี

  • ชื่อสามัญ Yellow Flamboyant
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Peltophorum pterocarpum (DC.)K. Heyne
  • วงศ์ LEGUMINOSAE
  • ชื่ออื่น กระถินป่า กระถินแดง สารเงิน
  • ถิ่นกำเนิด เอเชียเขตร้อน
  • ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดกลาง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง สูง 8-15 เมตร ชอบขึ้นตามป่าชายหาด เปลือกสีเทาค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ทั่วไป เรือนยอดเป็นรูปร่มหรือทรงกลมกลายๆ ตามกิ่งและก้านอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลแดงทั่วไป ส่วนกิ่งแก่เกลี้ยง ใบ เป็นช่อเรียงสลับเวียนกันถี่ๆ ตามปลายกิ่งดูเป็นกลุ่ม ช่อหนึ่ง ยาว 20-27 ซม. ประกอบด้วยแขนงใบย่อยที่ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ  9-13 คู่ แขนงย่อยคู่ต้นๆ จะสั้นกว่าคู่ที่ถัดไป แต่คู่ที่อยู่ที่ปลายช่อก็จะสั้นเช่นกัน ใบย่อยเล็กรูปร่างคล้ายเมล็ดข้าวสารแบนๆ กว้างประมาณ 5 มม. ยาว 10-15 มม. โคนใบเบี้ยว ปลายใบทู่ๆ หลังใบสีเขียวเข้มกว่าท้องใบ โคนก้านใบ ก้านแขนงย่อย และก้านช่อบวม หูใบเป็นเส้นเรียว  ดอก สีเหลืองออกเป็นช่อตั้งตรง ขนาดใหญ่ มีกิ่งก้านแขนงมาก อยู่ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบตอนปลายๆ กิ่ง ยาว 20-30 ซม. กลีบดอกป้อมบางและยับย่น  โคนกลีบมีขนสีน้ำตาลประปราย เกสรผู้มี 10 อัน ผล เป็นฝักแบนๆ รูปรี ปลายและโคนสอบแหลม กว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 5-12 ซม. สีน้ำตาลอมม่วง เมื่อแก่จัดจนแห้งเป็นเป็นสีน้ำตาลดำ แต่ละฝักมี 1-4 เมล็ด เมล็ดแข็งแรงรูปร่างและขนาดเท่าใบย่อย เรียงตามยาวของฝัก ผลแก่ในเดือนพฤศจิกายน  ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม
  • ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด
  • สภาพที่เหมาะสม ดินทั่วไป ชอบแสงแดดจัด
  • ประโยชน์ เนื้อไม้ สีชมพูอ่อน ถึงน้ำตาลแกมชมพู เป็นมันเลื่อม เสี้ยนตรงหรือเป็นคลื่นบ้าง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าไสกบตบแต่งง่าย ใช้ทำกระดานปูพื้น เพดาน ฝา เครื่องเรือน และหีบใส่ของ เปลือก มีรสฝาด รับประทานเป็นยาขับโลหิต กล่อมเสมหะและโลหิต กับใช้เป็นยาขับลม ผายลม แก้ท้องร่วง มีผู้ปลูกเป็นไม้ประดับกันมากเพราะพุ่มใบและดอกสวยงาม

1.13 ปีป

  • ชื่อสามัญ Cork Tree
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis Linn.
  • ตระกูล BIGNONIACEAE
  • ชื่ออื่น กาชะลองคำ
  • ลักษณะทั่วไป ปีปเป็นพรรณไม้ยืนต้นมีความสูงประมาณ 10-20 เมตรผิวเปลือกลำต้นมีสีเทา ใบจะออกเป็นช่อ แต่ละช่อจะประกอบด้วยใบจำนวนมาก ลักษณะใบกลมรี ปลายใบแหลม ริมขอบใบเรียบ โคนใบมน ขนาดใบกว้าง ประมาณ 2-3 เซนติเมตรยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตรดอกออกเป็นช่อตั้งตรงลักษณะของดอกเป็นท่อยาวประมาณ 23 นิ้วดอกมีสีขาวปนเหลืองเล็กน้อยขนาดดอกโตประมาณ 2 เซนติเมตรปลายกลีบดอกแยกออกเป็นแฉกมี 5 แฉกตรงกลางดอกจะมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียติดอยู่ด้านในใกล้ปากท่อผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาวประมาณ 8-10 นิ้ว กว้างประมาณ 1 นิ้ว ภายในมีเมล็ด ลักษณะแบบ ปลิวไปตามลมได้
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นปีปไว้ประจำบ้านจะทำให้เก็บเงินเก็บทองได้มาก เพราะ ปีป คือ ภาชนะที่ใช้ในการบรรจุของ ดังนั้นคนไทยโบราณเรียกภาชนะใส่ของที่มีค่าว่า ปีปเงิน ปีปทอง นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่าสามารถทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะปีปมีลักษณะแข็งและโปร่ง เวลาเคาะหรือตีจะเกิดเสียงดังไปไกล
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูกเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นปีปไว้ทางทิศตะวันตกผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าจะให้เป็นมงคลมากยิ่งขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้ที่เกิดในวันจันทร์ เพราะปีปเป็นดอกไม้ประจำของนางโคราคเทวีซึ่งเป็นนางประจำวันจันทร์ในธิดาของพระอินทร์ นอกจากนี้ถ้าหากผู้อาศัยในบ้านเกิดในวันจันทร์ด้วยแล้วก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น
  • การขยายพันธุ์ การใช้เมล็ด และการปักชำ
  • การปลูก นิยมปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วนอัตรา 1:2 ผสมดินปลูกถ้าปลูกประดับบ้านเรือนหรืออาคารควรปลูกให้มีระยะห่างที่เหมาะสมเพราะปีปเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่พอสมควร
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
    • ดิน  ชอบดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย  ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1: 3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 4-5 ครั้ง
    • โรคและศัตรู ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรู เพราะมีความทนทานสภาพธรรมชาติได้ดี

1.14 พิกุล

ที่มา : www.sarapad.org/dada/data/666.jpg

  • ชื่อสามัญ Bullet Wood
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi Linn.
  • ตระกูล SAPOTACEAE
  • ชื่ออื่น  ไกรทอง
  • ลักษณะทั่วไป พิกุลทองเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 8-15 เมตร ผิวเปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกบางๆ ตามยาว ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแน่นกว้างเป็นทรงกลม ใบออกเรียงสลับกัน ใบมนรูปไข่ปลายแหลม ลักษณะโคนใบมนสอบ ขอบใบโค้งเป็นคลื่นเล็ก ใบเป็นมันสีเขียว ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบ หรือยอด มีกลีบดอกประมาณ 8 กลีบเรียงซ้อนกัน กลีบดอกเป็นจักรเล็กน้อย ดอกเล็กสีขาวนวลมีกลิ่นหอมมาก ผลรูปไข่หรือกลมรี ผลแก่มีสีแสดเนื้อในเหลืองรสหวาน ภายในมีเมล็ดเดียว ขนาดผลกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นพิกุลทองไว้ประจำบ้านจะทำให้มีอายุยืน เพราะโบราณเชื่อว่าต้นพิกุลทองเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานและมีอายุยาวนาน ดังนั้นจึงนิยมใช้เนื้อไม้นำมาใช้ประโยชน์ในงานพิธีมงคลได้เป็นอย่างดี เช่นด้ามหอกที่ใช้เป็นอาวุธ เสาบ้าน พวงมาลัยเรือ และยังมีความเชื่ออีกว่าต้นพิกุลทองเป็นต้นไม้ที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพราะโบราณเชื่อว่าเป็นไม้ที่มีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นพิกุลทองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผู้ปลูกควรปลูกในวันจันทร์หรือวันเสาร์ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวเองผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี เพราะพิกุลเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสุภาพสตรี
  • การปลูก ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง เพาะเมล็ด หรือปักชำกิ่ง
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำน้อย ควรให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง อายุประมาณ 4 ปี สามารถทนต่อสภาพธรรมชาติได้
    • ดิน ชอบดินร่วนซุย มีความชื้นน้อยถึงปานกลาง
    • ปุ๋ย  ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 4-6 ครั้ง
    • การขยายพันธุ์   การตอน การเพาะเมล็ด วิธีที่นิยมและได้ผลดี คือ การเพาะเมล็ด
    • โรค ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนทานต่อสภาพธรรมชาติพอสมควร
    • ศัตรู หนอนเจาะลำต้น (Stem boring caterpillars)
    • อาการ ลำต้นหรือกิ่งเป็นรู เป็นรอย ต่อมาใบแห้งเหี่ยว
    • การป้องกัน รักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก หรือกำจัดแมลงพาหะใช้ยาเช่นเดียวกับการกำจัด
    • การกำจัด ใช้ยาไดเมทโธเอท หรือ เมโธมิล อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก
  • ประโยชน์ทางยา ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบ ดอก เมล็ด เปลือกต้น กระพี้ แก่น ราก
  • ช่วงเวลาเก็บ ดอกออกตลอดปี ดอกพิกุลส่วนใหญ่เก็บเฉพาะกลีบดอกที่ร่วงหล่นตามโคนต้น ล้างทำความสะอาดแล้วตากแห้ง ใช้เป็นยาหรือเครื่องหอมได้รสและสรรพคุณในตำรายาไทย
    1. ใบ รสเบื่อฝาด ฆ่าเชื้อกามโรค แก้หืด
    2. ดอก รสหอมสุขุม แก้ลมบำรุงโลหิต
    3. เมล็ด รสเฝื่อน ขับปัสสาวะ
    4. เปลือกต้น รสฝาด ฆ่าแมงกินฟัน (ฟันผุ) แก้เหงือกอักเสบ
    5. กระพี้ รสเมาเบื่อ แก้เกลื้อน
    6. แก่น รสขมเฝื่อน บำรุงโลหิต แก้ไข้
    7. ราก รสขมเฝื่อน บำรุงโลหิต แก้เสมหะ แก้ลม
  • ขนาดและวิธีใช้
    1. แก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน ใช้เปลือกต้นต้มกับเกลือแล้วนำมาอม
    2. แก้ไข้ ปวดหัว เจ็บคอ ใช้ดอกแห้งป่นทำยานัตถุ์
  • สารสำคัญ ในดอกมีน้ำมันหอมระเหย saponin และ alkaloid
  • การทดลองทางคลีนิค น้ำสกัดดอกพิกุลแห้งมีฤทธิ์ทางขับปัสสาวะในสุนัขที่สลบ และทำให้ความดันโลหิตลดลง การเต้นของหัวใจลดลง แม้ว่าจะนำน้ำสกัดดอกพิกุลที่เอาเกลือโพแทสเซียมออกไปทดลองขับปัสสาวะในสุนัข หนูขาวปกติ และหนูขาวที่ตัดต่อมหมวกไตออก ก็ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และฤทธิ์ของน้ำคั้นดอกพิกุลไม่แตกต่างจาก spironolactone เมื่อทดลองในหนูที่ตัดต่อมหมวกไตออก
  • ประโยชน์อื่น เนื่องจากพิกุลเป็นไม้ขนาดใหญ่ บางประเทศใช้เนื้อไม้ในการก่อสร้าง เช่น ขุดเรือทำสะพาน ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี เป็นต้น ลำต้นมักมีเชื้อราทำให้เป็นโรคเนื้อไม้ผุ และมักโค่นล้มง่าย เมื่อมีพายุ ในต้นที่มีอายุมากบางต้นพบว่าเนื้อไม้มีกลิ่นหอม เรียกว่า “ขอนดอก” เชื่อกันว่าเกิดจากเชื้อราบางตัว ขอนดอกก็นำมาเป็นส่วนประกอบของยาหอมได้เช่นเดียวกับดอกพิกุล

1.15 ประดู่

  • ชื่อสามัญ Burma Padauk
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Plerocapus indicus.
  • ตระกูล PAPILIONACEAE
  • ลักษณะทั่วไป ประดู่เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-25 เมตรผิวเปลือกลำต้นมีสีดำหรือเทาลำต้นเป็นพู ไม่กลมแตกกิ่งก้านสาขากว้างมีเรือนยอดทึบแตกเป็นสะเก็ดร่องตื้นๆใบเป็นช่อแตกออกจากปลายกิ่งมีใบย่อยประกอบอยู่ประมาณ 6-12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบเป็นมันสีเขียว ใบมีขนาดยาวประมาณ 2-3 นิ้ว กว้างประมาณ 1-2 นิ้ว ออกดอกเป็นช่อออกตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง ผลมีขนเล็กๆ ปกคลุม ขนาดผลโตประมาณ 4-6 เซนติเมตร
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นประดู่ไว้ประจำบ้านจะทำให้เกิดพลังแห่งความยิ่งใหญ่เพราะ ประดู่ คือ ความพร้อม ความร่วมมือ ร่วมใจสามัคคี มีพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้ดอกของประดู่ยังมีลักษณะที่ระดมกันบานเต็มต้นดูลานตา ดังนั้นคนโบราณจึงได้เลือกเอาต้นประดู่เป็นไม้ประจำกอง กองทัพเรือ และคนไทยโบราณยังเชื่ออีกว่า ส่วนของแก่นไม้ยังใช้เป็นศิลปะการดนตรี ที่สำคัญของคนพื้นเมืองในสมัยโบราณอีกด้วย คือใช้ทำเป็นเครื่องเสียงพวกระนาด นั่นก็หมายถึง ความแข็งแกร่ง แข็งแรง
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก นิยมปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวนขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วนอัตรา 1:2 ผสมดินปลูกถ้าปลูกประดับบ้านเรือนหรืออาคารควรปลูกให้มีระยะห่างที่เหมาะสมเพราะประดู่เป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่
  • การปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัยควรปลูกต้นประดู่ไว้ทางทิศตะวันตกผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกในวันเสาร์ถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
    • ดิน ชอบดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1: 2 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 4-5 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 300-500 กรัม/ต้น ใส่ปีละ 3-4 ครั้ง
    • โรคและศัตรู ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรู เพราะมีความทนทานสภาพธรรมชาติได้ดี

1.16 พุดสามสี

  • ชื่อสามัญ Yesterday-today-and-tomorrow
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Brunfelsia Australis
  • วงศ์ Solanaceae
  • ชื่ออื่นๆ Morning-noon-and-night, พุดสามสี, พุดสี, พุทธชาดม่วง, พุทธชาดสามสี, สามราศี
  • ถิ่นกำเนิด  ในประเทศอเมริกาเขตร้อนและหมู่เกาะอินดีส
  • ลักษณะทั่วไป พุดสามสีเป็นไม้ยืนต้นพุ่มเตี้ย สูง 2-5 ฟุต เป็นต้นไม้ที่มีกิ่งก้านสาขามาก ทรงพุ่มแน่นทึบ ใบเรียบเกลี้ยงสีเขียวเข้มค่อนข้างแข็ง ทรงใบรูปมนรี ปลายใบแหลม ขนาดใบยาว 6-7 นิ้ว ดอกออกเป็นกลุ่ม มี 5 กลีบ แต่ละกลีบเป็นรอยยับย่น ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 1 นิ้ว ดอกที่บานใหม่ๆ เป็นสีม่วงเข้มพอรุ่งขึ้นจะกลายเป็นสีม่วงอ่อน และรุ่งขึ้นอีกวันดอกก็กลายเป็นสีขาว พอถึงวันที่สี่ดอกก็จะร่วง ดอกมีกลิ่นหอมจัดในเวลากลางคืนถึงเช้า ออกดอกตลอดทั้งปีดอกดกมาก
  • การขยายพันธุ์ การตอน มักได้ผลดีกว่าการปักชำ

1.17 พุด

  • ชื่อสามัญ Gerdenia Crape Jasmine
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Gardenia jasminoides.
  • ตระกูล RUBIACEAE
  • ลักษณะทั่วไป พุดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ลำต้นสูง 1-3 เมตร ผิวลำต้นมีสีขาวเทา แตกกิ่งก้านออกใบรอบต้น ใบเป็นใบเดี่ยว แตกออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ตามข้อของกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ปลายใบแหลม ผิวใบเรียบสีเขียว ขนาดใบกว้าง 3-5 ซม. ยาว 8-12 ซม. ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามปลายยอดหรือปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมี5-6 ดอก แล้วแต่ชนิดพันธุ์ ดอกมีกลิ่นหอมสีขาว กลีบดอกซ้อนเป็นชั้น ๆ หรือเรียงเป็นชั้นเดียวแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ดอกบานมีความโต 2-5 ซม. ออกผลเป็นฝักรูปกระบอกแหลมโค้ง ภายในมีเมล็ด 3-5 เมล็ด
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพุดไว้ประจำบ้านจะทำให้มีความเจริญ ความมั่นคง เพราะพุด หรือ พุฒ หมายถึงความเข็งแรง สมบูรณ์ คือความเจริญมั่นคง นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า จะทำให้เกิดบริสุทธิ์ เพราะดอกพุดมีสีขาวสดใสกลับมีดอกใหญ่ที่ขาวสะอาดดังนั้น แง่หนึ่งเช่นกันทั้งนี้ก็เพราะโบราณเชื่อว่าเนื้อไม้ของพุดเป็นไม้ที่แข็งแกร่งและมีอิทธิฤทธิ์พอสมควร
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นพุดไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวเองผู้ปลูกควรเป็นสภาพบุรุษเพราะซื่อพุดเป็นชื่อที่เหมาะสมสำหรับสุภาพบุรุษ นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า แก่นไม้ พุดมีลักษณะที่แข็งแกร่งจึงเปรียบเทียบความแข็งแรงเหมือนกับสุภาพบุรุษ
  • การปลูกพุด นิยมปลูกในแปลงปลูก เพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก ถ้าปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านหรืออาคาร ควรปลูกให้มีระยะห่างที่เหมาะสม เพราะพุดเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่
  • การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ด
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
    • ดิน ชอบดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2 -.3 กิโลกรัม / ต้น ควรใส่อย่างน้อยปีละ 2 – 3 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยเคมีสูตร  15-15-15 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 3-4 ครั้ง
    • โรคและศัตรู  ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรู เพราะเป็นไม้ที่ทนทานต่อสภาพธรรมชาติได้ดี
    • แมลง  เพลี้ยหอย
    • อาการ ใบสีเหลือง จะเห็นกลุ่มเพลี้ยสีขาวเกาะอยู่ตามซอกใบ หรือโคนใบ จะทำให้ใบเหี่ยวร่วงในต่อมา
    • การป้องกัน รักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก กำจัดมดที่เป็นพาหะแพร่ระบาดด้วยยาเช่นเดียวกับการกำจัด
    • การกำจัด ใช้ยาไซกอน, ไดอาชินอน อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก 

1.18 ไทรย้อยใบแหลม

  • ชื่อพันธุ์ไม้ ไทรย้อยใบแหลม
  • ชื่อสามัญ Golden Fig, Weeping Fig
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus benjamina Linn.
  • วงศ์MORACEAE
  • ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นสูง 5 – 10 เมตร มีรากอากาศ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ดอกขนาดเล็ก มีฐานรองดอก ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ผลเป็นทรงกลม เมื่อสุกสีเหลืองการปลูก  มี 2 วิธี
    1. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวนโบราณนิยมปลูกไว้เพื่อประดับบริเวณสวนเพราะเป็นไม้ที่มีการแตกกิ่งก้าน สาขาที่กว้างใหญ่ ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก
    2. การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายในและภายนอกอาคาร ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 12-18 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : แกลบผุ:ดินร่วนอัตรา 1:1:1 ผสมดินปลูกควรเปลี่ยนกระถาง1-2 ปี/ครั้งหรือแล้วแต่ความเหมาะสมของทรงพุ่มทั้งนี้ก็เพราะการเจริญเติบโตของทรงพุ่มโตขึ้นและเพื่อต้องการเปลี่ยนดินปลูกใหม่ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไปการปลูกทั้ง 2 วิธี วิธีดังกล่าวสามารถตัดแต่งและบังคับรูปทรงของทรงพุ่มได้ตามความต้องการผู้ปลูกนอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ด้วยว่าพันธุ์ใดจะเหมาะสมกับวิธีการปลูกแบบใด ตามวัตถุประสงค์ผู้ปลูก
  • การขยายพันธุ์    การปักชำ การตอน การใช้เมล็ด วิธีที่นิยมและได้ผลดีคือ การตอนและการปักช
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดอ่อน จนถึงแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง จนถึงมาก ควรให้น้ำ 3-5 วัน/ครั้ง
    • ดิน ชอบดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ความชื้นปานกลาง
    • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5: 2 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 4-5 ครั้ง
    • โรค ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะมีความทนทานต่อโรคได้ดี
    • ศัตรู เพลี้ยแป้ง (Mealy bugs)
    • อาการ กัดแทะใบ ทำให้ใบเป็นรู เป็นรอย ต่อมาใบจะเหลืองและแห้ง
    • การป้องกัน การรักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก การกำจัดพาหนะแพร่ระบาด พวกมดต่าง ๆ
    • การกำจัด ใช้ยาไดอาซินอน อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก

1.19 ไทรทอง

  • ชื่อพฤกษศาสตร์ Ficus altissima Blume
  • วงศ์ MORACEAE
  • ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไทรทองเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่  สูง  2.5-3 เมตร  มีพูพอน  เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทาแตกกิ่งกระจายรอบต้น  พุ่มทรงกลม ค่อนข้างหนาทึบ  มีน้ำยางสีขาว  รากอากาศเหนียว  ใบ เดี่ยว  รูปไข่ กว้าง 10  ซม. ยาว 18 ซม. สีเขียวเข้ม  มีหูใบหุ้มยอด ใบอ่อนสีเขียวสดเป็นมัน  หูใบหุ้มยอดอ่อนไว้  ดอกช่อ  ไม่มีก้านดอก  โคนช่อดอกมีใบประดับขนาดเล็ก 3 ใบรองรับช่อดอก ผล สุกแล้วอ่อนนุ่ม สีเหลือง แต่ละผลมีเนื้อบางๆ และมีเมล็ด 1 เมล็ด
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นไทรไว้ประจำบ้านจะทำให้เกิดความร่มเย็น เพราะคนโบราณได้กล่าวว่า ร่มโพธิ์ ร่มไทร ช่วยทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขนอกจากนี้ยังช่วยคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายทั้งปวงเพราะบางคนเชื่อว่าต้นไทรเป็นต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีเทพารักษ์อาศัยอยู่คอยคุ้มครองพิทักษ์ปวงชนให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัยควรปลูกต้นไทรไว้ทางทิศตะวัตตกผู้ปลูกควรปลูกในวันอังคารเพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาประโยชน์ทางใบให้ปลูกในวันอังคาร
  • การขยายพันธุ์ การปักชำ การตอน การใช้เมล็ด วิธีที่นิยมและได้ผลดีคือ การตอนและการปักชำ
  • การปลูก การปลูกมี 2 วิธี
    1. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวนโบราณนิยมปลูกไว้เพื่อประดับบริเวณสวนเพราะเป็นไม้ที่มีการแตก กิ่งก้าน สาขาที่กว้างใหญ่ ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก
    2. การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายในและภายนอกอาคาร ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 12-18 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : แกลบผุ : ดินร่วนอัตรา 1:1:1 ผสมดินปลูกควรเปลี่ยนกระถาง1-2 ปี/ครั้งหรือแล้วแต่ความเหมาะสมของทรงพุ่มทั้งนี้ก็เพราะ   การเจริญเติบโตของทรงพุ่มโตขึ้นและเพื่อต้องการเปลี่ยนดินปลูกใหม่ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป การปลูกทั้ง 2 วิธีดังกล่าวสามารถตัดแต่งและบังคับรูปทรงของทรงพุ่มได้ตามความต้องการผู้ปลูกนอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ด้วยว่าพันธุ์ด้วยว่าพันธุ์ใดจะเหมาะสมกับวิธีการปลูกแบบใด ตามวัตถุประสงค์ผู้ปลูก
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดอ่อน จนถึงแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง จนถึงมาก ควรให้น้ำ 3-5 วัน/ครั้ง
    • ดิน ชอบดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ความชื้นปานกลาง
    • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5: 2 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 4-5 ครั้ง
    • โรค ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะมีความทนทานต่อโรคได้ดี
    • ศัตรู เพลี้ยแป้ง (Mealy bugs)
    • อาการ กัดแทะใบ ทำให้ใบเป็นรู เป็นรอย ต่อมาใบจะเหลืองและแห้ง
    • การป้องกัน การรักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก การกำจัดพาหนะแพร่ระบาด พวกมดต่างๆ
    • การกำจัด ใช้ยาไดอาซินอน อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก

1.20 พญาสัตบรรณ

  • ชื่อสามัญ Devil Tree
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia scholaris
  • ตระกูล APOCYNACEAE
  • ชื่ออื่น ตีนเป็ดไทย
  • ลักษณะทั่วไป พญาสัตบรรณเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 12-20 เมตรผิวลำต้นมีสะเก็ดเล็กๆสีขาวปนน้ำตาลกรีดดูจะมียางสีขาว ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขามากลักษณะเป็นชั้น ๆ ใบออกเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่งช่อหนึ่งมีใบประมาณ 5-7 ใบ ก้านใบสั้น ใบสีเขียวถ้าเด็ดก้านใบจะมียางสีขาวลักษณะใบยาวรีปลายใบมนโคนใบแหลมขนาดใบยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือส่วนยอดของลำต้นดอกเป็นกลุ่มคล้ายดอกเข็ม ช่อหนึ่งจะมีกลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่มดอกมีสีขาวอมเหลืองผลเป็นฝักยาว ลักษณะเป็นเส้นๆ มีขุยสีขาวคล้ายฝ้ายปลิวไปตามลมได้ ในฝักมีเมล็ดเล็กๆ ติดอยู่กับขุยนั้น
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นสัตบรรณไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเกียรติเพราะพญาสัตบรรณหรือฉัตรบรรณคือเครื่องสูงที่ใช้ในขบวนแห่เป็นเกียรติยศ และพญาก็คือ ผู้เป็นใหญ่ที่ควรยกย่อง เคารพนับถือ ดังนั้นพญาสัตบรรณจึงเป็นไม้มงคลนาม นอกจากนี้การเจริญเติบโตของทรงพุ่มมีลักษณะคล้ายกับฉัตรคือเป็นชั้นๆ และยังมีความเชื่ออีกว่าบ้านใดปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้ประจำบ้านจะได้รับการยกย่องและนับถือจากบุคคลทั่วไปเพราะสัตคือสิ่งที่ดีงามมีคุณธรรมดังนั้นจึงเป็นที่เคารพนับถือและยก
    ย่องของคนทั่วไป
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัยควรปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้ทางทิศเหนือผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ถ้าให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
  • การปลูก นิยมปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ควรห่างจากบ้านพอสมควรเพราะเมื่อมีอายุมาก ขนาดทรงพุ่มจะสูงใหญ่ ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
    • ดิน ชอบดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย  ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2: 3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 3-4 ครั้ง
    • การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ด และการปักชำ
    • โรคและศัตรู ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรู เพราะมีความทนทานสภาพธรรมชาติได้ดี

1.21 ตะแบก

  • ชื่อสามัญ Cananga
  • ชื่อวิทยาศาสตร์  Cananga odorata
  • ตระกูล ANNONACEAE
  • ลักษณะทั่วไป ตะแบกเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางและใหญ่ลำต้นสูงประมาณ10-25 เมตรโคนต้นเป็นพูเป็นเหลี่ยมยิวเปลือกมีสีเทาปนน้ำตาลอ่อนผิวเปลือกค่อนข้างเรียบมีรอยขรุขระเป็นหลุมตื้นๆ เกิดสะเก็ดเป็นแผ่นบางๆ มีเปลือกใบเป็นใบเดี่ยวออกตามกิ่งก้าน ปลายยอดลักษณะใบมนขอบขนาน เนื้อใบหนา ผิวเกลี้ยงเรียบเป็นมัน ขนาดใบกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อยาว ลักษณะดอกมีกลีบรอบดอกเป็นรูปถ้วยเชื่อมติดกับดอก มีกลีบดอกประมาณ 5-7 กลีบ ริมขอบกลีบจะย่นบาง ดอกมีสีม่วงอ่อน ขนาดผลยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตรผลเมื่อแก่จะแตกเป็นเสี้ยว 6 เสี้ยวภายในผลมีเมล็ดเล็ก ๆ
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นตะแบกไว้ประจำบ้านจะทำให้มีฐานะสูงขึ้น และมีความมั่นคง แข็งแรง เพราะ แบก คือ การแบกไว้ไม่ให้ตกสามารถยกขึ้นไว้ให้สูงไม่ให้ตกต่ำดังนั้นจึงมีแรงมากบางคนก็เรียกต้องตะแบกว่าเสลา หมายถึง ความแข็งแรงแข็งแกร่งเหมือนกับหินนอกจากนี้ยังมีคนโบราณเรียกต้นตะแบกว่า อินทนิล ซึ่งมีความหมายว่าพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์มากซึ่งช่วยคุ้มครองปวงชนทั้งโลก ดังนั้นต้นตะแบกจึงเป็นไม้มงคลนาม
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัยควรปลูกต้นตะแบกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณ เชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
  • การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ด
  • การปลูก นิยมปลูกลงในแปลงปลูก เพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตรใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก: ดินร่วน อัตรา 1: 2 ผสมดิน ถ้าปลูกบริเวณบ้านหรืออาคาร ควรให้มีระยะห่างที่เหมาะสมเพราะตะแบกเป็นต้นไม้ที่ทรงพุ่มโต
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ  ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
    • ดิน ชอบดินร่วนซุย มีความชื้นปานกลางถึงสูง
    • ปุ๋ย  ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2 : 3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 4 – 5 ครั้ง ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 200 – 300 กรับ / ต้น ใส่ปีละ 3 – 4 ครั้ง
    • โรค ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อโรคพอสมควร
    • ศัตรู หนอนเจาะลำต้น
    • อาการ ส่วนยอดอ่อนถูกเจาะเป็นรู ทำให้ส่วนยอด เหี่ยวแห้งและหักในที่สุด
    • การป้องกัน รักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูกและทรงพุ่ม
    • การกำจัด ใช้ยาโมโนโครฟอส (Monocratohos) อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก

1.22 ตะโก

  • ชื่อวิทยาศาสตร์  Diaspyras rhocalyx
  • ชื่อวงศ์ EBENACEAE
  • ลักษณะวิสัย : ไม้พุ่ม
  • ลักษณะพิเศษของพืช : พืชประดับแต่งทรง
  • ลักษณะ :  ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15 เมตร เปลือกต้นสีดำแตกเป็นสะเก็ดหน้า ๆ ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปไข่กลับหรือรูปป้อม ๆ กว้าง 2.5 – 7 ซม. ยาว 3 – 12 ซม. โคนใบสอบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบโค้งมน ป้าน เว้าเข้าใบเกลี้ยงด้านล่าง เมื่อใยยังอ่อนอยู่มีขนบ้าง เส้นใบมี 6 – 8 คู่ เห็นได้ชัดทางด้านล่าง เส้นกลางใบสีแดงเรื่อ ๆ เมื่อใบแห้ง ดอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามง่ามใบ ช่อหนึ่ง ๆ มีประมาณ 3 ดอก มีขนนุ่ม กลีบ รองกลีบดอกและกลีบดอกมี 4 กลีบ กลีบดอกยาว 8 – 12 มม. เชื่อมติดกันเห็นรูปเหยือกน้ำหรือรูปป้อม ๆ ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ส่วนดอกเพศเมีย ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ กลีบรองดอกและกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้แต่ใหญ่กว่า ผล มีลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 – 2.5 ซม. เมื่อผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง ขนร่วงง่าย โคนและปลายผลมักบุ๋ม
  • การขยายพันธุ์  ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเนื่องจากโตช้า, การตอนกิ่ง หรือใช้วิธีขุดล้อมมาจากธรรมชาติก็ได้
  • ประโยชน์ :
    • นิยมปลูกเป็นไม้ประดับหรือทำเป็นตะโกดัด
    • สรรพคุณทางสมุนไพร ต้น (เปลือกและเนื้อไม้) ต้มน้ำดื่ม เป็นยาบำรุงและแก้โรคกามตายด้าน, ผล รสฝาด ใช้แก้อาการท้องร่วง ตกเลือด ขับพยาธิ
    • ใช้เป็นสีย้อมผ้า

1.23 วาสนา

  • ชื่อสามัญ Cornstalk Plant
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena Fragrans Massangeana
  • วงศ์ Aqavaceae  (aqave)
  • ถิ่นกำเนิด เอธิโอเปีย ไนจีเรีย กินี
  • ลักษณะ วาสนา เป็นไม้ที่มีขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 5–6 เมตร ชอบแสงแดดจัด แต่ก็เป็นที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับหนึ่ง เนื่องจากรูปทรงที่สวยแปลกตาและคงทนอยู่ได้แม้ในที่มีแสงสว่างน้อย วาสนามีลำต้นตั้งตรง มีสีน้ำตาลอ่อน ใบแตกจากหน่อที่ปลายลำต้น เป็นใบเดี่ยวลักษณะเรียวยาว ปลายแหลมโคนสอบเข้าหาใบซึ่งเป็นกาบติดกับลำต้น พื้นใบมีสีเขียวมีลายสีเหลืองพาดกลางไปตามความยาวของใบ ใบอ่อนจะแตกตรงส่วนยอดของต้น ดอกออกเป็นช่อสีเหลือง กลิ่นหอม
  • การขยายพันธุ์ โดยใช้ปักชำยอดหรือลำต้น หรือตัดลำต้นเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 6–8 นิ้ว ตั้งใส่ถาดตื้นๆ หล่อน้ำไว้จนแตกหน่อแตกใบ
  • การปลูก ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ส่วนผสมของดินใช้ดินร่วน 2 ส่วน ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก 1 ส่วน เศษใบไม้ผุ 1 ส่วน
  • การดูแลรักษา เป็นพืชที่ชอบแดดจัดแต่ก็อยู่ในที่ร่มรำไรได้ ควรหมั่นรดน้ำ เพื่อให้ดินชุ่มน้ำอยู่เสมอแต่อย่าให้แฉะ ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละลายน้ำรดเดือนละครั้ง หมั่นทำความสะอาดใบ โดยใช้ผ้าเช็ดก็จะดี ช่วยป้องกันแมลงจำพวกเพลี้ยได้
    • แสงแดด  แดดจัด
    • อุณหภูมิ 18–24 องศาเซลเซียส
    • ความชื้น ต้องการความชื้นสูง
    • น้ำ ต้องการน้ำมาก
    • อัตราการคายความชื้น ปานกลางถึงมาก
    • อัตราการดูดสารพิษ มาก

1.24 สนแผง

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Thuja orientalis Endl.
  • ชื่อวงศ์ CUPRESSACEAE ( Sieb &Zucc) Endl
  • ชื่อสามัญ Chimese Arborvitae, Orientali Arborvitae
  • ชื่อท้องถิ่น สนหางสิงห์ 
  • ลักษณะวิสัย  ไม้ยืนต้น
  • ลักษณะ เป็นไม้พรรณยืนต้น  แตกกิ่งก้านสาขามากมาย และลำต้นจะบิดเป็นเกลียว เปลือกต้นมีสีน้ำตาลอมแดง ลำต้นจะสูงเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นใบไม้ร่วม แตกออกเป็นเกล็ดเล็กๆ เรียงติดกันแน่นกับกิ่ง ซึ่งอยู่ลักษณะเป็นแผง มีสีเขียวสดออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ดอกตัวผู้และตัวเมียจะอยู่คนละดอก  แต่ก็อยู่ในต้นเดียวกัน ซึ่งเราสังเกตได้ง่ายคือ ดอกเพศเมียนั้นไม่มีก้าน แต่ดอกเพศผู้นั้นมีก้านแต่สั้น
  • การขยายพันธุ์ ตอนกิ่ง
  • ประโยชน์  
    • ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
    • เปลือกต้น นำมาฝนเป็นยากวาดทวารเบา ทำให้ระดูขาวแห้ง
    • ใบแก้ปวดตามข้อ ลดไข้ ช่วยห้ามเลือด  ริดสีดวงทวาร  ตกเลือด  แก้ไอ ขับเสมหะ  ขับปัสสาวะ  บิดไม่มีตัว แผลผุพองจากน้ำร้อน  ไฟไหม้ คางทูม

2. ไม้พุ่ม (Shrub)

               ไม้พุ่ม ลำต้นมีเนื้อไม้แข็งแต่ขนาดเล็กกว่าไม้ยืนต้น และมีลำต้นหลักหลายต้น มีกิ่งก้านสาขาแยกไปมากบริเวณใกล้โคนต้น ลักษณะเป็นพุ่มสูงไม่เกิน 5 เมตร มีอายุหลายปี เช่น ชบา แก้ว เข็ม พุดตาน กระถิน
ที่มา : http://www.panmai.com/Tip/Tip09/Tip09.shtml

2.1 ชาฮกเกี้ยน

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Carmona retusa (Vahl) Masam.
  • ชื่อวงศ์ Boraginaceae
  • ชื่อสามัญ   –
  • ชื่อพื้นเมือง ชาดัดใบมัน ข่อยจีน ชาญวน ชา ชาญี่ปุ่น
  • ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นแตกกิ่งก้านจำนวนมากเป็นพุ่มแน่นทึบ
  • ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ มักออกเป็นกระจุกสั้นๆ ตามกิ่ง รูปไข่กลับแคบ กว้าง 0.5-2 เซนติเมตร ยาว 1-4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นพูแหลมมักเป็นติ่งหนามอ่อน โคนใบรูปลิ่ม  ขอบใบหยักผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันค่อนข้างหนา ด้านหลังใบสีเขียวอ่อน
  • ดอก สีขาว ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามซอกใบ มีดอกย่อย 2-5 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปแถบสีเขียวอ่อน  ด้านนอกมีขนยาวประปราย โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อยเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง 0.8 มิลลิเมตร
  • ผล ผลสด รูปกลมขนาด 6 มิลลิเมตร สีส้มแดง มี 4 เมล็ด

2.2 ช้องนาง

  • ชื่อสามัญ Bush Clock Vine
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia(Benth.) Anderson
  • ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE
  • ชื่ออื่น ช้องนางเล็ก, ช้องนางใหญ่
  • ลักษณะวิสัย ไม้พุ่ม
  • การขยายพันธุ์ ตอนและปักชำ
  • ลักษณะทั่วไป เป็นไม้พุ่มเตี้ย และเป็นไม้ประเภทครึ่งต้นครึ่งเลื้อย ใบคล้ายใบแก้วแต่ริมใบบิดเล็กน้อยออกเป็นคู่ๆเรียงไปตามกิ่ง ใบสีเขียวสด ดอกคล้ายดอกผักบุ้ง แต่เล็กกว่าดอกผักบุ้ง ดอกเป็นสีน้ำเงิน ตรงกลางเป็นสีเหลือง บานไม่ทน แต่เมื่อดอกร่วงแล้วก็มีทรงดอกเหมือนเดิม บางพันธุ์มีดอกสีขาว ออกดอกตลอดปี ขอบอยู่ในที่มีแสง
  • ใบ ใบจะคล้ายใบแก้วออกจะเป็นคู่ๆ เรียงไปตามกิ่งของลำต้น ลักษณะของใบมนปลายแหลม ยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีสีเขียว ขอบใบเรียบไม่จัก
  • ดอก รูปทรงของดอกเป็นรูปแตร มีสีม่วงเข้มมีอยู่ 5 กรียตรงกลาง ดอกเป็นสีเหลืองบานเต็มที่ 8 เซนติเมตร
  • ลำต้น  เป็นพันธุ์ไม้พุ่มเตี้ย แตกกิ่งก้านสาขามากมายลำต้นสูงประมาณ 6 ฟุต
  • ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ
  • การกระจายพันธุ์ เป็นพันธุ์ไม้ที่ออกดอกตลอดปี ปลูกได้ทั้งกลางแจ้ง และที่ร่มรำไร ชอบดินร่วนซุย มีความชื้นตลอดเวลา

2.3 คริสต์มาส

  • ชื่อสามัญ Poinsettia
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia pulcherima.
  • ตระกูล EUPHORBIACEAE
  • ลักษณะทั่วไป ต้นไม้ชนิดนี้ที่ได้ชื่อเรียกว่า คริสต์มาสเพราะใบอ่อนด้านบนของต้นจะมีสีแดงสดในช่วงปลายปีถึงต้นปีชึ่งเป็นช่วงที่ประเทศตะวันตก มีการเฉลิมฉลองในเทศกาลครีสต์มาส จึงมีการนำเอาต้นไม้ชนิดนี้มาตกแต่งสถานที่ให้เข้ากับเทศกาล ความโดดเด่นของต้นคริสต์มาสอยู่ที่ใบด้านบนที่มีสีแดงสด ส่วนใบล่างจะมีสีเขียว ใบเป็นหยัก 3 – 4 หยัก เป็นไม้ทรงพุ่มขนาดกลางสูงได้ถึง 3 เมตร แตกกิ่งค่อนข้างชี้ตั้งขึ้น เป็นพุ่มแน่นคริสต์มาสเป็นพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกับโกสนและโป๊ยเซียน ใบจะมีสีเขียวเข้ม ขอบใบหยัก ลำต้นจะมีสีน้ำตาล ยกเว้นส่วนที่ยังอ่อนจะเป็นสีเขียว ดอกจะมีสีแดงออกอยู่บริเวณยอดของก้าน แต่อันที่จริงดอกที่เราเห็นอยู่นั้นก็คือใบประดับ ที่เปลี่ยนจากสีเขียวมาเป็นสีแดงนั่นเอง
  • สภาพการปลูก เป็นพรรณไม้ที่ปลูกที่แสงแดดกึ่งร่ม ปลูกเป็นไม้ประดับได้ทั้งกลางแจ้งและปลูกเป็นไม้กระถางภายในอาคาร ปลูกได้ดีในดินร่วนซุย ส่วนผสมของดินใช้ดินร่วน 2 ส่วน ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 1 ส่วน เศษใบไม้ผุ 1 ส่วน
  • การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์โดยการตัดกิ่งปักชำ
  •  การดูแลรักษา
    • แสง ชอบแสงแดดจัด
    • น้ำ ปานกลาง
    • ดิน ปลูกได้ในดินทุกชนิด
    • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ใส่รอบ ๆ โคนต้น ให้เดือนละครั้ง
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยพบโรครบกวนเท่าไหร่ ที่พบมาก คือเพลี้ย
    • การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยมาลาไธออนหรือไดอาซินอนอัตราตามที่ฉลากยาระบุไว้

2.4 เข็ม

  • ชื่อสามัญ West Indian Jasmine
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ xora chinensis Lamk. xora spp.
  • วงศ์ RUBIACEAE
  • ลักษณะทั่วไป เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดย่อม ลำต้นสูงประมาณ 3–5 ฟุต จะแตกกิ่งก้านสาขาออกแผ่เป็นพุ่ม ใบของดอกเข็มแข็ง และเปราะง่าย มีสีเขียวสด ลักษณะใบมนรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบจะออกเรียงสลับกันคนละทิศทาง ดอกออกเป็นช่อใหญ่ จะออกตรงส่วนยอดของต้น ในแต่ละช่อจะประกอบด้วยดอกขนาดเล็กเป็นหลอด ตรงปลายหลอดจะเป็นกลีบซึ่งมีอยู่ 4-5 กลีบ ปลายกลีบแหลม
  • การปลูก การปลูกมี 2 วิธี
    1. การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายนอกอาคารบ้านเรือน ใช้กระถางทรงสูงขนาด 8-12 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : แกลบผุ :    ดินร่วนอัตรา1:1:1 ผสมดินปลูกควรเปลี่ยนกระถางปีละครั้งเพราะการเจริญเติบโตของทรงพุ่มโตขึ้นและเพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป
    2. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวนนิยมปลูกเป็นกลุ่มตกแต่งสวนบริเวณบ้านหรือปลูกเป็นแนวรั้วก็ได้ สามารถตัดแต่ง และบังคับรูปทรงได้ตามความเหมาะสม และความต้องการของผู้ปลูก ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1:2 ผสมดินปลูก
  • การขยายพันธุ์ การปักชำ การเพาะเมล็ด การตอน วิธีที่ได้ผลดีและนิยมกัน คือ การปักชำและการตอน
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือ กลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง สามารถทนต่อความแห้งแล้ง การให้น้ำ 3-5 วัน/ครั้ง
    • ดิน ชอบดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย มีความชุ่มชื้น
    • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ 5-6 ครั้ง/ปี
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยพบและมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนทานต่อโรคได้ดี

2.5 ครุฑตีนกบ

  • ชื่อสามัญ Variegated balfour aralia
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Polysias bafouriana “marginata”
  • ตระกูล ARALIACEAE
  • ถิ่นกำเนิด แถบร้อนอัฟริกา อินเดียและหมู่เกาะแปซิฟิค
  • ลักษณะทั่วไป ครุฑตีนกบนี้เป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1 – 1.5 เมตร ลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน มีกระสีเขียวอ่อนตามลำต้นและกิ่งก้าน ใบประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ มีลักษณะคล้ายกับไต ใบกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร พื้นใบมีสีเขียว แต่ที่ขอบใบจะมีสีขาวครีม ขอบใบหยักและมีหนามเล็กน้อยที่ขอบใบส่วนโคนของก้านใบมีลักษณะเป็นกาบเหมาะที่จะปลูกเป็นกลุ่มเป็นขอบสนามหญ้าหรือจะใช้จัดสวนหย่อมก็ได้
  • การขยายพันธุ์ โดยการตอนหรือปักชำ
  • การดูแลรักษา
    • แสง  ชอบแสง
    • น้ำ ต้องการน้ำพอประมาณ
    • ดิน  เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย   ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักปีละ 2 ครั้ง
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยพบ จะมีก็แต่แมลงพวกเพลี้ยต่าง ๆ
    • การป้องกันกำจัด  ฉีดพ่นด้วยมาลาไธออกหรือไดอาซินอนทุกๆ 15 วัน ตามอัตราที่ระบุไว้ในฉลากจนกว่าจะหาย

2.6 มณฑา

  • ชื่อสามัญ Magnolita
  • ชื่อวิทยาศาสตร์  Talauma candollei
  • ชื่อวงศ์ MAGNOLIACEAE
  • ชื่ออื่นๆ มณฑา, จอมปูน
  • ถิ่นกำเนิด ประเทศไทย
  • ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  มณฑาเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูง 3-8 เมตร  ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ  ใบรูปรี ขอบขนาน กว้าง 4-6 ซม. ยาว 7-15 ซม.  ปลายใบแหลม  ขอบใบเรียบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่สีเหลืองครีมรูปรี  ปลายกลีบค่อนข้างแหลม  ดอกห้อยลง  มีกลีบดอก 6 กลีบ  เมื่อดอกบานจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 ซม.ยาว 3-5 ซม. ส่งกลิ่นหอม  ตั้งแต่ช่วงเย็นจนเช้าตรู่  เมื่อกลีบดอกชั้นนอกบานจะคลี่ห่อกันอยู่เแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลและร่วงไปทั้งชุด  ออกดอกตลอดปี

2.7 หนวดปลาหมึก

  • ชื่อสามัญ Umbrella tree
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Schefflera actinophylla
  • ตระกูล ARALIACEAE
  • ถิ่นกำเนิด รัฐควีนส์แลนด์ ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย
  • ลักษณะทั่วไป จัดเป็นไม้พุ่มที่มีความสูงประมาณ 2 เมตร เจริญเติบโตเร็วมาก ใบมีสีเขียวเป็นมัน หนวดปลาหมึก มีหลายชนิด มีทั้งใบเล็ก ใบใหญ่ แต่จะมีลักษณะเหมือนกัน คือใบจะแตกออกมาจากกิ่งเดียว โดยแต่ละกิ่งจะมีใบ ประมาณ 7-15 ใบ ซึ่งจะกางออกคล้ายกับนิ้วของคน หนวดปลาหมึกเจริญได้ดีในห้อง ที่มีความอบอุ่น มีการเจริญเติบโตที่สม่ำเสมอ เมื่อปลูกไปนานๆ หนวดปลาหมึกจะมีลำต้นที่สูง ถ้าต้องการให้แตกกิ่งก้านสาขา ควรตัดยอดออก
  • การขยายพันธุ์ โดยการตัดชำ
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงสว่างในการเจริญเติบโตแต่ไม่ชอบแสงแดดโดยตรง
    • อุณหภูมิ ชอบอุณหภูมิ ประมาณ 24- 27 องศาเซลเซียส
    • ความชื้น ต้องการความชื้นมากในขณะที่ต้นยังเล็ก
    • น้ำ ควรให้น้ำแต่น้อย แต่ให้บ่อยๆ ครั้งโดยจับดินในกระถางดู ถ้าแห้งควรให้น้ำ
    • ดินปลูก ดินร่วน 2 ส่วน ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน ใบไม้ผุๆ 1 ส่วน ทรายหยาบ 1 ส่วน
    • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกละลายน้ำรดเดือนละ 2 ครั้ง
    • กระถาง ควรเปลี่ยนกระถางใหม่ทุกปี
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค แมลงได้แก่ เพลี้ยต่างๆ
    • การป้องกันกำจัด ใช้ยาไซกอน (Cygon) อัตรา 20 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร รดที่โคนต้น

2.8 ผกากรอง

  • ชื่อสามัญ Cloth of gold
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Lantana camar Linn.
  • ตระกูล VERBENACEAE
  • ถิ่นกำเนิด อัฟริกา
  • ลักษณะทั่วไป ผกากรองเป็นไม้พุ่มที่พบทั่วไปในบ้านเรา ใบจะมีสีเขียวเข้ม ใบรูปไข่ขอบใบจักเล็กน้อย ผิวใบจะมีขนอยู่ทำให้รู้สึกสาก ๆ เมื่อจับต้อง ผกากรองนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ โดยอาจปลูกเป็นแถวหรืออาจปลูกเป็นกลุ่มให้เกิดเป็นพุ่มก็ได้ ดอกของผกากรองมีลักษณะสีสันที่สวยงามมาก มีหลายสีตั้งแต่เหลือง ชมพูและม่วง เป็นต้น
  • การขยายพันธุ์  โดยการเพาะเมล็ดและปักชำ (ส่วนใหญ่แล้วนิยมการปักชำเพราะสะดวกและรวดเร็วกว่า)
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัด
    • น้ำ ต้องการน้ำน้อย
    • ดิน สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิดแต่ดินที่เหมาะคือดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี
    • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบริเวณโคนต้น
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยพบโรคและแมลงรบกวนเท่าไหร่

2.9 พยับหมอก

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plumbago auriculata Lam.
  • ชื่อสามัญ : Cape leadwort
  • อาณาจักร : Plantea
  • ชั้น : Magnoliopsida
  • ตระกูล : Plumbaginales
  • วงศ์ : Plumbaginaceae
  • สกุล : Plumbago
  • ชนิด : Plumbago auriculata
  • ลักษณะทั่วไป ต้นไม้รูปทรงกลมที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับบ้านได้อย่างน่าประทับใจอีกชนิดหนึ่ง คือ ต้นพยับหมอก ไม้ดอกไร้กลิ่นที่มีใบสีเขียวเข้ม ตัดกับดอกสีเทาฟ้าสว่างตา เป็นความโดดเด่นอันยากจะหาต้นไม้ใดเหมือน พยับหมอกมีขนาดทรงพุ่ม 0.5-0.8 ม. ลำต้นสีน้ำตาลเข้ม มีช่วงในการออกดอกตลอดทั้งปี และดอกจะบานสะพรั่งงดงามอย่างยิ่งในฤดูหนาว หลังจากที่หมดดอกควรมีการตัดแต่งเพราะดอกจะแห้งคาต้น พยับหมอกได้ความนิยมที่จะปลูกเป็นฉากหลังในสวนสน ตำแหน่งที่ปลูกไม่ควรจำกัดความสูง เพราะถ้าตัดแต่งบ่อยๆ จะไม่มีดอกที่สวยงามให้ชื่นชม
  • ขยายพันธุ์ : โดยการปักชำกิ่ง หรือตอนกิ่ง
  • ประโยชน์ : ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตกแต่ง เป็นไม้พุ่มต่ำได้ จะให้ดอกสวยงาม หรือใช้ปลูกริมรั้ว จะมีความคงทนมาก ดอกใช้ประดับหรือปักแจกันได

2.10 โป๊ยเซียน

  • ชื่อสามัญ Crow of Thorns
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia millii.
  • วงศ์ EUPHORBIACEAE
  • ชื่ออื่นๆ ระวิงระไว พระเจ้ารอบโลก ว่านเข็มพญาอินทร์ (เชียงใหม่) ไม้รับแขก (ภาคกลาง) ว่านมุงเมือง (แม่ฮ่องสอน)
  • ลักษณะโดยทั่วไป โป๊ยเซียนเป็นไม้อวบน้ำที่มียางและหนามบริเวณลำต้น ทรงต้นเป็นทรงพุ่ม มีอายุยืนนับสิบปี เป็นไม้ที่ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศเนื่องจากสามารถสะสมน้ำไว้ตามลำต้นและใบ จึงทำให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาคของประเทศไทย
  • การขยายพันธุ์ การปักชำ การเสียบยอด การเพาะเมล็ด วิธีที่นิยมและได้ผลดี คือ การปักชำและการเสียบยอด
  • การปลูก การปลูกมี 2 วิธี
    1. การปลูกในกระถางเพื่อประดับอาคารบ้านเรือน เหมาะสำหรับใช้เป็นไม้ดอกประดับภายนอก ขนาดกระถางปลูก 8-12 นิ้ว ควรเป็นกระถางทรงสูง ใช้ดินร่วน : แกลบผุ : เปลือกถั่ว หรือไบไม้ผุ อัตรา 1 : 1 : 2 ผสมดินปลูกและควรเปลี่ยนกระถางปีละครั้ง เพื่อการเปลี่ยนดินปลูกใหม่แทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป
    2. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวนนิยมปลูกไว้ใกล้ๆกับบ้านเพราะมีเวลาดูแลรักษาที่ใกล้ชิดจะทำให้เกิดดอกที่สวยงาม ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 2: 1 ผสมดินปลูก
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดรำไร จนถึงแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำน้อย ทนต่อความแห้งแล้ง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
    • ดิน ชอบดินร่วนซุย ดินผสมพิเศษ
    • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ผสมพิเศษ อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ 1-2 ครั้ง/เดือน
    • โรค  โรครากเน่า
    • อาการโคนต้นมีเส้นใยสีขาวและเหลือง หลังจากนั้นใบและลำต้นเหี่ยวแห้ง
    • การป้องกัน  อย่ารดน้ำให้แฉะเกินไป และกำจัดเชื้อราในดินปลูกโดยการตากดินให้แห้ง
    • การรักษา ใช้ยาเนทริฟิน อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก
    • ศัตรู ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องศัตรูรบกวน เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อการทำลายของศัตรูพอสมควร
  • การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นโป๊ยเซียนไว้ประจำบ้านจะนำโชคลาภมาให้คนในบ้านเพราะต้นโป๊ยเซียนเป็นไม้เสี่ยงทายคือ ถ้าผู้ใดปลูกต้นโป๊ยเซียนออกดอกได้ 8 ดอกขึ้นไปผู้นั้นก็จะมีโชคลาภตามไปด้วย นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่าต้นโป๊ยเซียนยังช่วยคุ้มครองให้มมีความอยู่เย็นเป็นสุขเพราะต้นโป๊ยเซียนเป็นต้นไม้แห่งเทพเจ้า8องค์ที่คอยคุ้มครองโลกมนุษย์
  • เทพเจ้า 8 องค์ ได้แก่
    1. เซียนพิการ                    2. เซียนหอสมุด
    3. เซียนอาจารย์               4. เซียนค้างคาวเผือก
    5. เซียนวนิพก                  6. เซียนสาวสวย
    7. เซียนกวี                        8. เซียนถ้ำ
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัยควรปลูกต้นโป๊ยเซียนไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธเพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบสูง เป็นผู้ที่ควรเคารพนับถือและประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น

2.11 กุหลาบ

  • ชื่อสามัญ : Rose
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rosa hybrida
  • ชื่อวงศ์ : ROSACEAE
  • ถิ่นกำเนิด : ทวีปเอเชีย
  • การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด, ตอนกิ่ง, ปักชำกิ่งและราก, ติดตา, ต่อกิ่ง, เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
  • ประวัติและข้อมูลทั่วไป : กุหลาบนับว่าเป็นไม้ดอกที่มีความงามยากที่ไม้ดอกอื่นจะเทียบเท่า จนได้รับชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งดอกไม้” (Queen of flower)  กุหลาบมีมานานประมาณ 30 ล้านปีมาแล้ว มีทั้งหมดประมาณ 200 สปีชี่ส์  พันธุ์ดั้งเดิม (wild species) มีทั้งชนิดกลีบดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน ส่วนกุหลาบที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันเป็นกุหลาบที่ผ่านการวิวัฒนาการมานานนับร้อยๆ ปี และทั้งหมดเป็นกุหลาบลูกผสมซึ่งได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างกุหลาบ 1-8 สปีชี่ส์ และส่วนมากมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย
  • ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : กุหลาบจัดเป็นไม้ดอกประเภทพุ่ม-พลัดใบ  มีลำต้นตั้งตรงหรือเลื้อย  แข็งแรงมีใบย่อย 3-5 ใบ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันและมีรอยย่นเล็กน้อย  ดอกเป็นดอกสมบูรณ์ เพศ มี 2 เพศในดอกเดียวกัน  มีเกสรตัวผู้และตัวเมียเป็นจำนวนมาก  มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน  การจำแนกตามลักษณะสีของดอกแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ
    1.  Single color มีสีของกลีบดอกสีเดียว ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังของดอก และทุก ๆ กลีบมีสีเหมือนกัน เช่น พันธุ์Christian Dior
    2. Multi-color มีสีของกลีบดอกเปลี่ยนไปตามอายุการบานดอก ในช่วงหนึ่งจะมีหลายสีเพราะบานดอกไม่พร้อมกัน ส่วนมากจะเป็นกุหลาบพวง เช่น พันธุ์ Sambra หรือ Charleston
    3. Bi-color มีสีของกลีบดอก 2 สี คือ กลีบด้านในสีหนึ่ง ด้านนอกอีกสีหนึ่ง เช่น พันธุ์ Forty Niner
    4. Blend-color มีสีของกลีบดอกด้านในมากกว่า 2 สีขึ้นไป เช่น พันธุ์ Monte Carlo
    5. Srtiped color กลีบดอกในแต่ละกลีบมีสีมากกว่า 2 สีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักเกิดเป็นสีสลับกันเป็นเส้นตามความยาวของกลีบดอก เช่น พันธุ์ Candy Stripe
  • การปลูกและดูแลรักษา :  กุหลาบควรปลูกในฤดูฝนและฤดูหนาวเพราะเป็นช่วงของการเจริญเติบโตของกุหลาบ ช่วงที่ดีที่สุดคือช่วงเดือนมิถุนายน เนื่องจากกุหลาบจะมีช่วงการเจริญเติบโตติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมากกว่า 6 เดือน ซึ่งจะทำให้ได้ต้นกุหลาบที่เติบโตเต็มที่ ดอกมีคุณภาพ  กุหลาบเป็นไม้ดอกที่ต้องการแสงแดดจัดอย่างน้อยวันละ 6 ชม.  ดังนั้นควรปลูกในที่โล่งแจ้งและอับลม  หรือปลูกทางด้านทิศตะวันออกให้กุหลาบได้รับแสงในตอนเช้า  ดินมีการระบายน้ำดี  วิธีทดสอบง่ายๆ คือขุดดินที่จะปลูกเป็นหลุมลึกประมาณ 50 ซม. แล้วใส่น้ำให้เต็มทิ้งไว้ 2 ชม.  ถ้าหากน้ำซึมหายไปหมดจากหลุมแสดงว่าที่นั้นๆ ใช้ปลูกกุหลาบได้  ดินปลูกควรมีค่า pH ประมาณ 5.5-6.5 คือเป็นกรดเล็กน้อยและมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ  เวลาที่เหมาะสมในการรดน้ำกุหลาบคือ  เวลาเช้าระหว่างที่แสงอาทิตย์ยังอ่อนอยู่  กุหลาบเป็นพืชที่ชอบน้ำ  แต่ถ้ารดมากจนน้ำขังก็ไม่ดี  ควรหลีกเลี่ยงการรดให้เปียกทั้งต้นและดอก เพราะจะเป็นการช่วยให้เกิดและแพร่โรคได้ง่ายและเร็วขึ้น  ถ้ารดจนโชกก็ไม่จำเป็นต้องรดทุกวันก็ได้  กุหลาบต้องการความชื้นและอากาศในดิน ดังนั้นจึงควรทำการคลุมดินโดยใช้ หญ้าแห้ง ฟาง เปลือกถั่วลิสง ขุยมะพร้าว หรือแกลบดิบ มาคลุมดินรอบๆ ต้นกุหลาบหนาประมาณ 2-3 นิ้ว และถ้าเป็นไปได้ก่อนคลุมดินควรหาทางทำให้วัสดุคลุมดินเปียกชื้นก่อน  มิเช่นนั้นต้องรดน้ำในระยะแรกๆ บ่อยและหลายๆ ครั้ง

2.12 ฤษีผสม

  • ชื่อสามัญ Flame nettle, Painted nettle
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Coleus.
  • ตระกูล LABIATAE
  • ถิ่นกำเนิด เขตร้อนชื้น
  • ลักษณะทั่วไป ฤาษีผสมมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็จะมีใบที่มีสีสันสวยงามไม่น้อยไปกว่ากัน ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ขอบใบจัก มีตั้งแต่สีเขียว ม่วง แดง น้ำตาล เป็นต้น ฤาษีผสมมีดอกที่ไม่สวยจึงไม่ได้รับความสนใจ การปลูกฤาษีผสมนิยมปลูกเป็นไม้คลุมดินหรือใช้ตกแต่งสวนหย่อมก็ได้
  • การขยายพันธุ์ ตัดชำ และเพาะเมล็ด
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงมาก เมื่อได้รับแสงสีของใบก็จะสดใสน่ามองยิ่งขึ้น
    • น้ำ ให้น้ำพอประมาณ อย่าให้เปียกแฉะมากเกินไป
    • ดิน เจริญเติบโตได้ในดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพราะจะช่วยทำให้ดินร่วนซุย
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยพบโรค ส่วนแมลงได้แก่ พวกเพลี้ยไฟและไรแดง
    • การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยมาลาไธออนหรือไดอาซินอนอัตราตามที่ฉลากยาระบุไว้

2.13 เทียนหยด

  • ชื่อสามัญ Duranta
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Verbenaceae
  • ตระกูล Duranta erecta L.
  • ถิ่นกำเนิด อเมริกาเขตร้อน
  • ลักษณะทั่วไป เป็นพรรณไม้พุ่มเตี้ย สูง 1 – 2 เมตร แตกกิ่งก้านหนาแน่น ยอดกิ่งลู่ลง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม และจะออกหนาแน่นเป็นกระจุกรอบกิ่งก้านในช่วงปลายยอดใบเป็นรูปรีแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบเป็นสีเขียวสด เวลาใบดกจะเป็นพุ่มน่าชมมาก ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายกิ่งแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกจะห้อยลงเป็นระย้า ลักษณะดอก โคนเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ดอกแต่ละกลีบเป็นอิสระกัน ปลายกลีบโคงมน มีเว้าเล็กน้อยบริเวณกลางกลีบ โคนกลีบสอบแคบ เวลามีดอกดกๆ และบานพร้อมๆ กันทั้งต้น ช่อดอกจะห้อยปลายลงเป็นระย้าดูงดงามมาก ดอกจะออกทั้งปี มีพันธุ์สีม่วงและสีขาว ผลทรงกลม ขนาดเล็กปลายแหลม อยู่รวมกันเป็นช่อห้อยลงเมื่อแก่เป็นสีเหลือง
  • การปลูก เทียนหยดปลูกขึ้นได้ในดินทั่วไป ไม่ชอบน้ำท่วมขัง ชอบแดดจัดเหมาะจะปลูกลงดินกลางแจ้งหรือลงกระถาง ตั้งวางในที่มีแดดส่องถึงทั้งวัน นิยมปลูกเป็นไม้ขอบแปลงหรือแปลงใหญ่
  • ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ตอนหรือปักชำกิ่ง
  • การดูแลรักษา หลังการปลูก บำรุงด้วยปุ๋ยมูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก 10 วันครั้งรดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น ถ้าปลูกลงกระถางควรให้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อาทิตย์ละครั้ง สลับกับปุ๋ยมูลสัตว์ 10 วันครั้ง ตัดแต่งกิ่ง พรวนดินสม่ำเสมอจะทำให้ต้นเทียนหยดเจริญเติบโตเร็ว

2.14 เตย

  • ชื่ออื่น : เตยหอม หวานข้าวไหม้, ทังลั้ง(จีน) เปาะแบ๊ะออริง (ปักษ์ใต้)
  • ชื่อสามัญ : Pandanus palm
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pandanus amaryllifolius Roxb.
  • ชื่อวงศ์ :  PANDANACEAE
  • ลักษณะทั่วไป : เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวลักษณะแตกกอเป็นพุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเป็นข้อ ใบออกเป็นพุ่มบริเวณปลายยอด เมื่อโตจะมีรากค้ำจุนช่วยพยุงลำต้นไว้ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ลักษณะใบยาวเรียวคล้ายใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นมัน เส้นกลางใบเว้าลึกเป็นแอ่ง ถ้าดูด้านท้องใบจะเห็นเป็นรูปคล้ายกระดูกงูเรือ ใบมีกลิ่นหอม
  • การปลูก โดยใช้หัวหรือเหง้า ไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ หรือปลูกใส่กระถางก็ได้
  • ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบ และ ราก
  • สรรพคุณทางยาและวิธีใช้
    • โรคหัด โรคผิวหนัง : ใช้ใบสดตำพอก
    • ยาบำรุงหัวใจ : ใช้ใบสดตำ คั้นเอาน้ำ จะได้น้ำสีเขียวมาผสมอาหาร แต่งกลิ่น แต่งสีขนม หรือ ใช้ในรูปของใบชา ชงกับน้ำร้อน หรือใช้ใบสดต้มกับน้ำจนเดือด เติมน้ำตาลเล็กน้อยใช้ดื่มเป็นประจำ
    • โรคเบาหวาน : นำส่วนต้นและราก ต้มกับเนื้อหรือใบไม้สักจะช่วยรักษาโรคเบาหวาน

3. ไม้เลื้อย (Ivy)

ไม้เถา (Climber)
               ไม้เถาหรือไม้เลื้อย เป็นพืชที่ลำต้นมีเนื้อไม้หรือไม่มีเนื้อไม้ อายุปีเดียวหรือหลายปี ลำต้นเลื้อยไปตามดินหรือพันสิ่งที่อยู่ใกล้เคียง โดยอาจมีอวัยวะพิเศษช่วยในการเกี่ยวยึด เช่น ราก มือเกาะ ขอเกี่ยว ไม้เลื้อยได้แก่ พวงชมพู กระเทียมเถา สร้อยอินทนิล
ไม้รอเลื้อย (Scandent)
               ไม้รอเลื้อยหรือไม้พุ่มกึ่งไม้เถา เมื่อขึ้นอยู่ตามลำพังจะทรงตัวอยู่ได้ โดยกิ่งก้านไม่เลื้อยทอดลงดิน ต่อเมื่ออยู่ใกล้ต้นไม้อื่นหรือสิ่งอื่น กิ่งก้านก็จะทอดเลื้อยพันสิ่งนั้นๆ เช่น การเวก นมแมว โนรา เฟื่องฟ้า
ที่มา : http://www.panmai.com/Tip/Tip09/Tip09.shtml

3.1 หน้าวัว

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anthurium spp.
  • วงศ์ : Araceae
  • ชื่อสามัญ : Anthurium
  • ชื่ออื่น ๆ : Flamingo flower, Pigg-tail flower, หน้าวัว
  • ข้อมูลทั่วไปและประวัติ : หน้าวัวเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440   หน้าวัวเป็นไม้ดอกที่มีความสำคัญ ตลาดต้องการมากใช้ดอกในการตบแต่งหรือปลูกเป็นไม้ประดับในร่ม เป็นไม้ที่เลี้ยงง่ายมาก สามารถออกดอกได้ตลอดปี
  • ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : หน้าวัวเป็นไม้ค่อนข้างไปทางไม้เลื้อย เนื่ออ่อนการเจริญมีลักษณะเป็นกอต้นจะโตสูงทิ้งใบล่าง สูงได้ 80-100 ซม.ใบมีลักษณะเป็นรูปร่างต่าง ๆกัน แต่ส่วนมากมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ใบของหน้าวัวบางชนิดมีใบสวยงามมาก ลักษณะคล้ายกำมะหยี่ละเอียดเป็นมัน ปลายใบแหลม บริเวณใต้ใบเส้นใบนูนเป็นสันขึ้นมา ต้นหนึ่งมีใบ4-8 ใบ  เมื่อมีใบใหม่จะมีดอกเกิดขึ้นตามมาเสมอ ดอกหน้าวัวเกิดจากตาที่อยู่เหนือก้านใบ โดยทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าจานรองดอกคือตัวดอก ตัวดอกที่แท้จริงนั้นมีขนาดเล็กเรียงกันอยู่บนปลีซึ่งเป็นส่วนของก้านดอก ดอกแต่ละดอกจะมีทั้งเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย แต่จะบานไม่พร้อมกัน เกสรตัวเมียจะบานก่อน
  • การปลูกและการดูแลรักษา : การปลูกหน้าวัวจะต่างจากไม้ดอกชนิดอื่น วิธีปลูกควรปลูกในกระถาง โดยรองอิฐที่รูระบายน้ำก้นกระถางแล้วใส่เครื่องปลูกประมาณ 1/5 ของความสูงกระถาง แล้วนำต้นหน้าวัววางบนเครื่องปลูก จากนั้นจึงเติมเครึ่องปลูกรอบ ๆ โคนต้น ยึดลำต้นให้แน่นอย่าให้ต้นคลอนแคลน และอย่าใส่เครื่องปลูกจนกระทั่งทับยอดหน้าวัว เพราะจะทำให้ยอดเน่า เมื่อต้นเจริญเติบโต ใบล่างจะร่วงหล่นไป ลำต้นจะสูงพ้นเครื่องปลูกส่วนรากจะเกิดออกจากลำต้นใต้ใบเสมอ ทำให้รากเจริญเหนือเครื่องปลูกขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงควรเติมเครื่องปลูกให้เครื่องปลูกอยู่ต่ำกว่ายอดเล็กน้อยเสมอ  หน้าวัวต้องการความชื้นในอากาศสูง ควรรดน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งแต่ถ้าวันไหนร้อนจัดควรรดเพิ่มเป็น 3 ครั้งต่อวัน ในวันที่อากาศร้อนจัดมากๆ ควรทำการพรางแสง มิฉะนั้นใบและต้นหน้าวัวจะไหม้และชะงักการเจริญเติบโต

3.2 การเวก

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Artabotrys siamensis. Mig
  • ตระกูล ANNONACEAE
  • ชื่อสามัญ Climbing llang-llang
  • ลักษณะทั่วไป
    • ต้น การเวกเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งที่มีขนาดใหญ่จะมีมือเกาะรูปตะขอยื่นออกมาจากเถา บริเวณยอดอ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อเถาแก่ก็จะเป็นสีน้ำตาล
    • ใบ การเวกจะมีพุ่มใบที่หนาแน่นมากเป็นไม้ใบเดี่ยวออกใบสลับกันตามข้อต้นใบเป็นรูปขอบขนานหรือมนรี ทั้งโคนใบและปลายใบจะแหลมมีก้านใบสัน พื้นใบสีเขียวเข้ม เป็นคลื่นเล็กน้อย ขอบใบเรียบไม่มีจัก
    • ดอก ดอกการเวกจะออกตรงโคนต้นใบ ลักษณะดอกจะเป็นดอกเดี่ยวตรงโคนก้านดอกจะมีมือเกาะดอกเมื่อแรกออกจะเป็นสีเขียว แล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง ในหนึ่งดอกจะมีกลีบซึ่งแบ่งเป็นชันชันละ 3 กลีบ และมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ ดอกมีขนาดเล็ก หนาและแข็ง กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปรี มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ภายในดอกเป็นจำนวนมาก ดอกจะมีกลิ่นหอมจัดในเวลาเย็นถึงค่ำ
  • ฤดูกาลออกดอก การเวกจะออกดอกตลอดปี
  • การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง
  • การปลูก การเวกมีวิธีการปลูกโดยการนำต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด หรือกิ่งที่ได้จากการตอนมาปลูกลงดิน แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะนิยมใช้กิ่งตอนมากกว่าการเพาะเมล็ด เพราะจะทำให้ไม่เสียเวลา การตอนกิ่งควรที่จะทำในช่วงฤดูฝน เมื่อกิ่งตอนงอกรากพอสมควร แล้วจึงตัดมาปลูก
  • การดูแลรักษา
    • แสง การเวกเป็นไม้กลางแจ้งมีความต้องการแสงมากพอสมควร เหมาะที่จะปลูกริมรั้วบ้าน สวนภายในบ้าน หรือสวนสาธาณะ เป็นต้น
    • น้ำ ควรให้น้ำปานกลาง หากเป็นในระยะแรกปลูกให้รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น แต่เมื่อต้นโตแล้ว ให้รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ก็ได้โดยรดในช่วงเช้า และควรรดให้ดินชุ่ม
    • ดิน การเวกจะขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่หากเป็นดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำได้ดีก็จะเจริญงอกงามได้ดียิ่งขึ้น
    • ปุ๋ย การเวกเป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ต้องการปุ๋ยมากนัก เพียงผสมปุ๋ยหมักกับดินปลูกก็เพียงพอแล้ว
    • โรคและแมลง ไม่พบโรคและแมลงที่ทำความเสียหายมากนัก

3.3 พลูด่าง

  • ชื่อสามัญ Devil’s ivy
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Scindapsus aureus
  • ตระกูล ARACEAE
  • ถิ่นกำเนิด โพลีนิเซีย เกาะโซโลมอน
  • ลักษณะทั่วไป เป็นไม้เลื้อยเขตร้อน ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจสีเขียวสด สลับกับสีเหลืองนวล  ชอบแสงสว่าง ต้นมีลักษณะอ่อนซ้อย นำมาปลูกใส่กระถางแขวนให้ห้อยย้อย พลูด่างมีดอกเหมือนกันแต่ดอกไม่สวยงามจึงไม่ค่อยได้รับความสนใจ พลูด่างเป็นพืชที่มีรากอากาศ และจะเจริญเติบโตเร็วมาก เมื่อตัดมาชำไว้ในแจกันหรือขวดก็จะเจริญเติบโตต่อไปได้
  • การขยายพันธุ์ ปักชำ
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดมาก ถ้าขาดแสงหรือแสงไม่พอ สีของใบจะซีดไม่สวย
    • อุณหภูมิ ชอบอุณหภูมิ ประมาณ 18 – 24 องศาเซลเซียส
    • ความชื้น ชอบความชื้นพอสมควร ถ้าหากอากาศภายในห้องแห้งแล้ง ควรฉีดพ่นละอองน้ำให้
    • น้ำ ควรให้น้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าเป็นหน้าร้อนอาจจะให้มากกว่านี้ก็ได้ โดยเช็คจากผิวหน้าของดินในกระถาง
    • ดินปลูก ดินร่วน 2 ส่วน ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน ใบไม้ผุๆ 1 ส่วน ทรายหยาบ 1 ส่วน
    • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละลายน้ำอย่างเจือจางรดเดือนละ 1 ครั้ง
    • กระถาง ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกระถางบ่อย 2-3 ปี อาจจะเปลี่ยนสักครั้งก็ได้
    • โรคและแมลง ต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี

4. ไม้ล้มลุก (Herbaceous stem, Herb)

               ไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อนไม่มีเนื้อไม้ หรือมีเนื้อไม้เล็กน้อยบริเวณโคนต้น แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  • ไม้ล้มลุกปีเดียว (annual herb) เป็นพืชอายุไม่เกิน 1 ปี เมื่อออกดอกออกผลแล้วจะตาย เช่น ดาวเรือง บานชื่น หงอนไก่ ทานตะวัน
  • ไม้ล้มลุกข้ามปี (biennial herb) เป็นพืชที่มีอายุ 2 ปี โดยปีแรกจะเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ แล้วออกดอกออกผลในปีที่ 2 จึงจะตาย เช่น กล้วยประดับ ผักกาดแดง
  • ไม้ล้มลุกหลายปี (perennial herb) เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุมากกว่า 2 ปี และออกดอกออกผลทุกปี เช่น บัว บานเช้า พลับพลึง พุทธรักษา

ที่มา : http://www.panmai.com/Tip/Tip09/Tip09.shtml

4.1 พลับพลึง

  • ชื่อสามัญ Crinum Lily
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Crinum asiaticun Linn.
  • ชื่อวงศ์ AMARYLLIDACEAE
  • ชื่ออื่นๆ พลับพลึง, ลิลัว
  • ถิ่นกำเนิด ทวีปเอเชีย
  • การขยายพันธุ์ แยกหน่อ
  • ประวัติและข้อมูลทั่วไป พลับพลึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ต้นที่มีขนาดใหญ่ใช้ในการแกะสลักเพื่อตกแต่งในงานพิธีต่างๆ
  • ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ พลับพลึงเป็นไม้ล้มลุกหลายฤดู มีลำต้นใต้ดิน ส่วนเหนือดินประกอบด้วยกาบใบสีขาวหุ้มซ้อนกันเป็นชั้นๆ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงซ้อนเป็นวงกว้าง 7-15 ซม. ยาว 1 เมตรปลายใบแหลม แผ่นใบอวบหนา มีหน่อจำนวนมากขึ้นรวมกันเป็นกอ ดอกเป็นช่อดอกขนาดใหญ่ สีขาวหรือม่วงแดง ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก 10-30 ดอก ก้านช่อดอกอวบใหญ่ กลีบดอกตอนโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ยาว 7-10 ซม. ปลายแยกเป็น 6 กลีบแคบๆ กว้าง 1 ซม. ยาว 7 ซม. ดอกทยอยบาน มีกลิ่นหอม พลับพลึง
    ดอกสีแดงจะมีช่อดอกและดอกใหญ่กว่าพลับพลึงดอกสีขาว
  • การปลูกและดูแลรักษา พลับพลึงชอบขึ้นในดินที่ชื้นสามารถทนอยู่ในดินแฉะที่ไม่ค่อยระบายน้ำหรือในบริเวณที่แห้งแล้งในบางช่วงได้ นิยมปลูกกันตามร่องสวนในภาคกลางทั่วไป เป็นพืชที่ทนทาน ไม่ต้องมีการบำรุงรักษามากนัก

4.2 พุทธรักษา

  • ชื่อสามัญ Canna, Indian shoot
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Canna generalis
  • ตระกูล CANNACEAE
  • ถิ่นกำเนิด หมู่เกาะฮาวาย
  • ลักษณะทั่วไป พุทธรักษาเป็นพรรณไม้ล้มลุก เนื้ออ่อนอวบน้ำ ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า มีการเจริญเติบโตโดยแตกหน่อเป็นกอคล้ายกับกล้วย ลักษณะหน่อที่เจริญเป็นต้นเหนือพื้นดินนั้นมีลักษณะกลมแบนสีเขียวขนาดลำต้นโตประมาณ 2-4 เซนติเมตร ใบมีขนาดใหญ่สีเขียวโคนใบและปลายใบรีแหลม ขอบใบเรียบ กลางใบเป็นเส้นนูนเห็นได้ชัดโคนใบมีก้านใบซึ้งยาวเป็นกาบใบหุ้มลำต้นซ้อนสลับกัน ขนาดใบกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25-35 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอก 8-10 ดอก และมีกลีบดอกบางนิ่ม ขนาดของดอกและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์
  • การปลูก นิยมปลูก 2 วิธี
    1. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ถ้าปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ควรใช้แปลงปลูกขนาด 2 x 10 เมตร โดยการยกร่องคล้ายแปลงปลูกผัก การเตรียมดินใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10-20 กิโลกรัม/แปลง ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x30 แต่ถ้าปลูกเพื่อประดับบ้าน คนไทยโบราณนิยมปลูกไว้เป็นแนวรั้วบ้านหรือปลูกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่ที่จำกัด ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 ผสมดินปลูก
    2. การปลูกในกระถางเพื่อประดับอาคารบ้านเรือน ส่วนใหญ่ใช้เป็นดอกประดับภายนอก ควรใช้กระถางทรงสูง ขนาด 10-16 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : แกลบผุ : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 : 1 ผสมดินปลูกและควรเปลี่ยนกระถาง 12ครั้งต่อปีเพราะการขยายตัวของหน่อแน่นเกินไป และเพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่ แทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป
  • การขยายพันธุ์ นิยมขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ เพาะเมล็ด วิธีที่นิยมและได้ผลดี คือ การแยกหน่อ
  • การดูแลรักษา
    • แสง ชอบแสงรำไร หรือแสงแดดจัดกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 3-5 วัน/ ครั้ง
    • ดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย
    • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/กอ ปีละประมาณ 4-6 ครั้ง
    • โรคและแมลง  ไม่ค่อยมีโรคที่เป็นปัญหา ส่วนแมลงที่รบกวน ได้แก่ พวกเพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอย ซึ่งจะพบมากในหน้าร้อน
    • การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วย มาลาไธออนหรือไดอาซินอนถ้าหากกอมีขนาดใหญ่และทึบอาจใช้ยาดูดซึม จำพวกไซกอน ละลายน้ำรดตามอัตราที่ระบุไว้ในฉลากก็ได้
  • การเป็นมงคล คนโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้ประจำบ้านจะช่วยคุ้มครอง ป้องกันอันตรายแก่บ้านและผู้อาศัยได้ เพราะพุทธรักษาเป็นพรรณไม้ที่คนโบราณเชื่อว่า มีพระเจ้าคุ้มครองรักษาให้มีความสงบสุข คือเป็นไม้มงคลนั่นเอง
  • ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นพุทธรักษาไว้ทางทิศตะวันตก ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ

4.3 สาวน้อยประแป้ง

  • ชื่อสามัญ Dumb Cane
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Dieffenbachia
  • วงศ์ Araceae
  • ชื่ออื่นๆ ช้างเผือก ว่านพญาค่าง ว่านหมื่นปี อ้ายใบก้านขาว
  • ลักษณะโดยทั่วไป สาวน้อยประแป้ง เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีลักษณะคล้ายพืชในตระกูลเขียวหมื่นปี แต่ใหญ่กว่า ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อนกลม ตั้งตรงแข็งแรง มีข้อถี่ แตกใบอ่อนตรงส่วนยอดของลำต้นทีละใบ ก้านใบยาว ส่วนที่ติดกับลำต้นมีลักษณะเป็นกาบ ใบมีรูปร่างยาวเรียวคล้ายใบพาย โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม บางชนิดแหลมเกือบมน พื้นใบมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม ด่างสีขาว ครีม หรือเหลือง หรือมีจุดแต้มบนพื้นใบต่างกันไป ดอกของสาวน้อยประแป้งมีลักษณะคล้ายดอกหน้าวัว มีกาบอยู่เพียงกาบเดียวหุ้มแท่งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย โดยเกสรตัวผู้อยู่ส่วนบน และเกสรตัวเมียอยู่ส่วนล่าง ออกดอกเป็นกลุ่มส่วนมากมีสีเขียวอ่อน เวลาบานกาบจะแย้มออกเล็กน้อย ดอกของสาวน้อยประแป้งบางชนิดมีกลิ่นเหม็นมาก ยางของสาวน้อยประแป้งเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้คันมาก ถ้าเข้าปากจะทำให้ลิ้นบวมและขากรรไกรแข็ง หากกินเข้าไปอาจทำให้ตายได้
  • การปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา สาวน้อยประแป้ง เป็นไม้ที่ปลูกเลี้ยงดูแลรักษาง่าย ต้องการแสงแดดหรือแสงสว่างมากแต่ก็สามารถเจริญงอกงามได้ดีในที่มีแสงแดดรำไร แต่ถ้าให้ถูกแสงแดดโดยตรงจะทำให้ใบไหม้ได้ หากได้รับแสงเพียงด้านใดด้านหนึ่งจะทำให้ต้นเอียงไปทางด้านที่มีแสงมากกว่า ชอบสภาพดินฟ้าอากาศที่มีความชื้นสูง แต่บางชนิดก็สามารถปรับตัวให้อยู่ในที่มีความชื้นในอากาศปานกลางได้ สำหรับดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินที่มีส่วนผสมของอินทรียวัตถุ ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ระบายอากาศ ระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขังแฉะหรือแห้งเร็วเกินไป ปุ๋ยเคมีควรใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 10-10-10, 15-15-15 ในปริมาณน้อยๆ หรืออาจใช้ปุ๋ยละลายช้าเพื่อค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่ต้นก็ได้
  • การขยายพันธุ์
    • การแยกหน่อ เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลรวดเร็ว แต่ใช้ได้กับต้นที่มีหน่อเท่านั้น โดยตัดหน่อใหม่ที่มีใบ 2-3 ใบและที่โคนหน่อมีรากแล้ว ทารอยตัดด้วยปูนแดงรอให้แห้ง ก็สามารถนำไปปลูกได้ทันที
    • การปักชำยอด วิธีนี้มักใช้กับต้นที่มีขนาดใหญ่สูงชลูดขาดความสวยงามโดยตัดยอดให้มีความยาวพอสมควรไม่สั้นหรือยาวเกินไปและตัดให้รอยตัดชิดกับข้อต้นมากที่สุด ทาปูนแดงที่รอยตัดทั้งสอง ลอกใบของยอดชำออกให้เหลือแต่ใบส่วนยอดประมาณ 4-5 ใบนำไปปักชำในขุยมะพร้าวผสมขี้เถ้าแกลบหรือขุยมะพร้าวผสมทรายหยาบ วางไว้ในที่ร่ม รดน้ำและรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ ประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะเกิดรากจึงสามารถย้ายปลูกลงดินได้ต่อไป
    • การตอนยอด วิธีนี้มักใช้กับต้นที่มีขนาดใหญ่สูงชะลูดเช่นเดียวกับการปักชำยอด โดยลอกใบด้านล่างของยอดให้เหลือยอดพอสวย ใช้มีดที่คมและสะอาด กรีดเป็นรอยตามความยาวของต้นลึกประมาณ 0.5 ซ.ม. บริเวณข้อต้นที่จะตอน 4-6 รอย หุ้มด้วยถุงพลาสติกมัดให้แน่น ประมาณ 3-4 สัปดาห์รากจะงอก จึงตัดนำไปปลูกต่อไป
    • การชำข้อและลำต้น เป็นวิธีที่ง่ายและทำให้ได้ต้นใหม่จำนวนมาก ทำได้โดยตัดส่วนของข้อหรือลำต้นเป็นท่อนๆ ยาว 5-7 ซ.ม. โดยให้มีส่วนของตาติดมาด้วยทุกท่อน แช่ด้วยน้ำผสมยากันเชื้อราหรือทาด้วยปูนแดงทิ้งไว้ให้แห้ง นำไปชำในขี้เถ้าแกลบผสมขุยมะพร้าวในอัตราส่วนเท่าๆ กัน โดยฝังให้จมลงประมาณสองในสามส่วนของลำต้นตามแนวนอนและวางให้ตาที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ด้านบน ประมาณ 45-60 วัน รากจะงอก เมื่อใบขึ้นมา 2-3 ใบจึงย้ายปลูกได้

4.4 ว่านหางจระเข้

  • ชื่อทั่วไป Aloe
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Aloe barbadensis Mill.
  • วงศ์ Liliaceae
  • ถิ่นกำเนิด แอฟริกา
  • ลักษณะทั่วไป หางจระเข้เป็นพรรณไม้ที่ได้รับความนิยมและรู้จักอย่างกว้างขวางเพราะเป็นพืชที่ให้ประโยชน์กับมนุษย์อย่างมากมาย หางจระเข้มีลำต้นที่ติดดินไม่สูงมากนัก ใบมีลักษณะอวบน้ำ สีเขียว ยาวประมาณ 1 ฟุต บางพันธุ์อาจยาวกว่านี้ก็ได้ โคนใบจะมีขนาดใหญ่และจะเล็กเรียวขึ้นไปยังปลายใบ ขอบใบจะมีลักษณะหยักคล้ายกับหนามเมื่อหักใบดูจะมีลักษณะเป็นวุ้นเมือกหางจระเข้นี้นิยมปลูกไว้ตามหน้าบ้าน ข้างทาง หรือบางคนอาจใช้ตกแต่งสวนก็ได้
  • การขยายพันธุ์ แยกหน่อ
  • การดูแลรักษา
    • แสง ชอบแสงมาก (ถ้าอยู่กลางแจ้งสีจะไม่เขียวสดเหมือนอยู่ในร่ม)
    • น้ำ ต้องการน้ำปานกลาง
    • ดินเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ใส่หลังจากการตอนแยกหรือย้ายปลูก
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยมีโรค และแมลงรบกวนเท่าไหร่
  • สรรพคุณ วุ้นในใบว่านหางจระเข้มีสารเคมีอยู่หลายชนิด เช่น Aloe-cmidin, Aloesin, Aloin, สารประเภท glycoprotein และอื่นๆ ยางที่อยู่ในว่านหางจระเข้มีสาร anthraquinone ที่มีฤทธิ์ขับถ่ายด้วย ใช้ทำเป็นยาดำ มีการศึกษาวิจัยรายงานว่า วุ้นหรือน้ำเมือกของว่านหางจระเข้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรัง และแผลในกระเพาะอาหารได้ดี เพราะวุ้นใบมีสรรพคุณรักษาแผลต่อต้านเชื้อแบคทีเรียช่วยสมานแผลได้ด้วยและยังนำมาพัฒนารูปแบบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทั้งทางด้านยาและเครื่องสำอาง แชมพูสระผม อีกด้วย

4.5 ลิ้นมังกร

  • ชื่อสามัญ Mather – in – law’s Tongue
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Sancivieria.
  • ตระกูล AGAVACEAE
  • ถิ่นกำเนิดแถบทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ
  • ลักษณะทั่วไป ลิ้นมังกรเป็นพรรณไม้ ที่มีลำต้นเป็นหัว หรือเหง้าอยู่ในดิน ลักษณะลำต้นเป็นข้อ ๆ ใบเกิดจากหัวที่โผล่ออกมาพ้นดินเป็นกอ ลักษณะใบยาวปลายแหลม แข็งเป็นมัน ขอบใบเรียบ โค้งงอเล็กน้อย ขอบใบมีสีเหลืองกลางใบสีเขียวอ่อน ประด้วยเส้นสีเขียวเข้ม ขนาดของใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ก้านดอกประกอบด้วยกลุ่มดอกเป็นชั้น ๆ ลักษณะดอกมีขนาดเล็ก ออเรียงกันเป็นแนวตามชั้นของก้านดอกดอกมีสีขาวมีกลีบประมาณ 5 กลีบ ขนาดดอกบานเต็มที่ 2 เซนติเมตร ลักษณะขนาดใบ และสีสัน จะแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์
  • การปลูก มี 2 วิธี
    1. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน นิยมปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวนแต่คนโบราณนิยมปลูกเป็นแนวรั้วบ้าน ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน : อัตรา 1 : 1 ผสมดินปลูก
    2. การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายในและภายนอกอาคาร ควรใช้กระถางทรงสูง ขนาด 10-15 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 ผสมดินปลูก และควรเปลี่ยนกระถางทุก 1-2 ปี เพราะเนื่องจากการขยายตัวของรากและหน่อแน่นเกินไป และเพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่แทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดปานกลาง จนถึงแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
    • น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
    • ดิน ดินร่วนซุย
    • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/กอ ใส่ปีละ 4-5 ครั้ง
    • การขยายพันธุ์ แยกหน่อหรือตัดชำใบ
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยพบโรคและแมลงที่ก่อให้เกิดปัญหา
  • ต้นลิ้นมังกรเป็นพืชที่คนไทยรู้จักกันดี มีปลูกกันทั่วไป สมัยก่อนคนจีนจะนิยมนำมาปักหรือปลูกในแจกัน เพราะอยู่ในที่ร่มในบ้านได้ดี อาจปลูกในแจกันโดยไม่ต้องใช้ดินก็ได้ ไม่มีโรคพืชหรือแมลงรบกวน ปลูกง่ายและทนทาน ดังนั้น ผู้ที่เริ่มต้นปลูกไม้ประดับในอาคารควรเริ่มจากลิ้นมังกรก่อน ปัจจุบันนี้ต้นลิ้นมังกรเป็นที่นิยมปลูกกันมากในต่างประเทศ ถ้าใครชอบดูหนังฝรั่งจะเห็นต้นลิ้นมังกรในหนังฝรั่งแทบทุกเรื่อง ลิ้นมังกรมีประมาณ 70 ชนิด แต่ลิ้นมังกรขอบใบเหลือง Sansevieria Trifasciata เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีสีสดใสและมีขอบใบเหลือง ทำให้ดูสวยงามกว่าพันธุ์อื่น

5. ปาล์ม (Palm)

               ปาล์มส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะที่เด่นชัด กล่าวคือลำต้นเป็นข้อ ข้อหรือวงแหวนรอบลำต้นนั้น นับเป็นจุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งของปาล์มทีเดียว ซึ่งเกิดจากการร่วงหลุดของก้านใบนั่นเอง มีใบบนยอดเพียงที่เดียว ไม่แตกกิ่งก้าน มีก้านใบที่ยาวและใหญ่ ลักษณะใบแตกต่างกัน แต่ก็ไปรวมกลุ่มกันที่ปลายก้านที่เดียว ใบของปาล์มนั้นเป็นใบประกอบ มีก้านใบที่ยาว และมีใบย่อยเรียงรายจำนวนมาก ใบอ่อนเป็นก้านยาวชูขึ้นไปบนยอด แล้วคลี่ขยายออกมา จำแนกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ใบรูปขนนก และใบรูปพัด หรือฝ่ามือ

  • ใบรูปขนนก (Pinnate) มีก้านใบเป็นแกนกลาง และมีใบย่อยเรียงสองข้าง ที่เห็นชัดก็ได้แก่ มะพร้าว หมาก ปาล์มขวด นอกจากนี้ยังมีใบของเต่าร้าง ที่เป็นรูปขนนกสองชั้น และใบปาล์มหางกระรอก เป็นใบพวง
  • ใบรูปพัดหรือรูปฝ่ามือ (fan leaf, palmate leaf) กล่าวกันว่า ชื่อของปาล์ม (palm) ก็มาจากลักษณะที่คล้ายกับฝ่ามือ (palm) นั่นเอง ใบรูปพัด มีลักษณะคล้ายพัดจีน มีใบย่อยแตกออกจากจุดปลายของก้านใบในรัศมีวงกลม แผ่ออกไป ติดกันบ้าง แยกกันบ้าง เช่น ใบตาล ลาน ปาล์มพัด เป็นต้น

               อย่างไรก็ตาม ยังมีปาล์มอีกหลายชนิด ที่ไม่ได้มีลำต้นสูงพ้นดิน แต่ก็มีลักษณะใบแบบปาล์ม ทำให้สังเกตได้ไม่ยากนัก

5.1 จั๋ง

  • ชื่อสามัญ Lady palm
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhapis exclesa.
  • วงศ์ PALMAE
  • ถิ่นกำเนิดไทย จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย
  • ลักษณะทั่วไป จั๋งเป็นปาล์มที่มีขนาดเล็ก ลำต้นมีขนาดเท่าหัวแม่มือหรือใหญ่กว่าเล็กน้อย โดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2 นิ้ว ลำต้นเป็นกอคล้ายกอไผ่ มีความแข็งแรงมาก กอหนึ่งจะสูงประมาณ 3 – 5 เมตร ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันรูปใบพัดและมีใบย่อยแตกออกจากกันเป็นแฉกลึก ใบ 1 ใบจะมีใบย่อยประมาณ 5 – 10 ใบ ก้านใบเล็ก มีสีเขียวและแข็งยาวประมาณ 12 นิ้ว
  • การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและแยกหน่อ (การเพาะเมล็ดจะได้ต้นที่มีรูปทรงสวยงามกว่า)
  • การดูแลรักษา
    • แสงชอบแสงแดดมาก
    • น้ำ ต้องการน้ำพอประมาณ
    • ดินเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย
    • ปุ๋ยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ปีละ 2 ครั้ง
    • โรคและแมลงทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี

5.2 ปาล์มขวด

  • ชื่อสามัญ Royal palm
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Roystonea reqia
  • วงศ์ PALMAE
  • ถิ่นกำเนิด คิวบา (ปาล์มขวดเป็นต้นไม้ ประจำชาติของประเทศคิวบา)
  • ลักษณะโดยทั่วไป ลักษณะทั่วไป ปาล์มขวดนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวคือ ตอนที่ยังเล็กอยู่จะป่องพองออกบริเวณโคนต้น แต่พอโตขึ้นอาการป่องพองนี้ก็จะไปเกิดที่กลางลำต้น โตเต็มที่
    ลำต้นสูงประมาณ 20 เมตร ใบยาว 3-5 เมตร ทางใบสั้น ใบย่อยจะงอกออกจากแกนกลางใบเป็นแถว มีกาบใบสีเขียวเรียบเป็นมัน ห่อลำต้นไว้ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามขอบถนนหรือปลูกในสนามหญ้าก็ได้
  • การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ดเพราะว่าปาล์มขวดไม่มีหน่อ
  • การดูแลรักษา
    • แสง ต้องการแสงแดดจัด
    • น้ำ ในระยะที่กำลังเจริญเติบโตจะต้องการน้ำมาก
    • ดิน ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด
    • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้ปีละ 2 ครั้ง
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยพบโรคและแมลงที่เป็นปัญหา

5.3 หมากเหลือง

  • ชื่อไทย หมากเหลือง
  • ชื่อสามัญ Yallow palm
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Chrysalidocarpus lutescens.
  • ตระกูล PALMAE
  • วงศ์ Palmae (Arecaceae)
  • ถิ่นกำเนิด มาดากัสก้า
  • ลักษณะโดยทั่วไป หมากเหลืองเป็นปาล์มที่มีหน่อเป็นกอขึ้นรวมกัน กอหนึ่งจะมีประมาณ 6 – 12 ต้น สูงประมาณ 25 – 30 ฟุตลำต้นมีข้อปล้องโค้งออกจากโคนกอ แลดูสวยงามยิ่ง ใบเป็นใบรูปขนนก ทางใบยาว 6 – 8 ฟุต กาบใบจะ ห่อหุ้มลำต้นไว้ หมากเหลืองเป็นปาล์มที่ได้รับความนิยม นำมาตกแต่งประดับประดาตามสถานที่เป็นอย่าง มาก เพราะความสวยงามและมีรูปร่างที่ไม่เล็กและก็ไม่ใหญ่จนเกินไป
  • การปลูก นิยมปลูกลงกระถาง โดยใช้ดินที่สมบูรณ์ มีส่วนผสมของดินร่วน ทรายแกลบ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษใบไม้ผุ ในอัตราส่วน 4:2:1:2:1
  • การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด แยกหน่อ
  • การดูแลรักษา
    • แสง ชอบแสงแดด ควรปลูกในที่โล่ง กลางแจ้ง
    • น้ำ ในระยะกำลังเจริญเติบโตควรรดน้ำทุกวัน
    • ดิน ควรเป็นดินร่วนเหนียวหรือดินเหนียวที่มีอินทรียวัตถุพอสมควร
    • ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ปีละ 2 ครั้ง
    • โรคและแมลง ไม่ค่อยพบโรคที่ทำความเสียหาย จะมีปัญหาก็แต่แมลงเท่านั้น ได้แก่ หนอนปลอก หนอนเจาะลำต้น
    • การป้องกันกำจัด ใช้ไซกอนอัตรา 20 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วบริเวณโคนต้น

6. เฟิร์น (Fern)

               เฟิร์นจัดเป็นพืชกลุ่มที่มีท่อลำเลียงและขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ โดยพืชกลุ่มเฟิร์นนี้แยกเป็นเฟิร์นและกลุ่มที่ใกล้เคียงกับเฟิร์น ซึ่งพืชกลุ่มนี้มีวงชีวิตคล้ายเฟิร์น เพียงแต่ว่าใบและลำต้นพัฒนาน้อยกว่าเฟิร์นแท้
               สำหรับกลุ่มพืชที่ใกล้เคียงกับเฟิร์น ก็อย่างเช่น หญ้าถอดปล้อง (Equisetaceae) หวายทะนอย (Psilotaceae) ตีนตุ๊กแก (Selaginellaceae)
               ส่วนเฟิร์นแท้จะสังเกตได้ง่าย คือจะมียอดใบอ่อนที่ม้วนงอใบที่แก่เต็มที่จะมีสปอร์เป็นจุดแถบสีน้ำตาลอยู่ใต้ใบ
               ธรรมชาติของเฟิร์นเป็นพืชที่ชอบอากาศชื้น ร่มรื่น แต่ก็มีเฟิร์นบางจำพวกเหมือนกันที่ขึ้นได้ดีในที่แล้ง
ที่มา : http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9470000015576

6.1 เฟิร์นข้าหลวง

  • ชื่อสามัญ Bird’s nest fern
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Asplenium nidus
  • ตระกูล POLYPODIACEAE
  • ถิ่นกำเนิด เกิดอยู่ทั่วไปในแถบที่มีอากาศร้อน และอบอุ่น เช่น เอเซีย ออสเตรเลีย
  • ลักษณะทั่วไป เฟิร์นชนิดนี้ ฝรั่งเรียกว่า “Bird’s nest fern” ชอบอาศัยอยู่ตามคาคบไม้ใหญ่ในเขตอบอุ่นที่มีความชื้นสูง ถือว่าเป็นลักษณะของกาฝาก ใบของเฟิร์นข้าหลวง จะมีสีเขียวอ่อน ขอบใบหยักเป็นคลื่น ก้านใบจะมีสีน้ำตาลเข้ม การเรียงตัวของใบจะเรียงตัวแบบเกลียวคล้ายดอกกุหลาบ ใบที่เกิดใหม่จะอ่อนและเปราะหักได้ง่ายแต่พอเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะมีความเหนียวและหนามาก เมื่อนำมาปลูกภายในอาคารบ้านเรือนจะต้องคอยทำความสะอาดเช็ดถูสิ่งสกปรกและฝุ่นละอองออกจากใบบ้าง เดือนละครั้งก็ยังดี เฟิร์นข้าหลวงเป็นพืชที่ชอบความชื้นสูงถ้าอากาศแห้งแล้งควรฉีดสเปรย์ให้ใบของมันอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเพราะการฉีดละอองน้ำจะทำให้ใบของมันสดชื่นอยู่ตลอด
  • การดูแลรักษา
    • แสง ชอบอยู่ในร่มและแดดส่องถึงได้บ้างเล็กน้อย
    • อุณหภูมิ ชอบอุณหภูมิ ประมาณ 18- 24 องศาเซลเซียส
    • ความชื้น ต้องการความชื้นสูง
    • น้ำ ในระยะแรกของการเจริญเติบโตต้องให้น้ำอย่างเต็มที่ และลดปริมาณลงในฤดูหนาวปกติก็ควรจะให้ 2 วันต่อครั้ง
    • ดินปลูก ดินร่วน 1 ส่วน ใบไม้ผุ 1 ส่วน ทรายละเอียด 1 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน (ควรใช้ปุ๋ยเก่าๆ ค้างปี เศษอิฐหัก 1 ส่วนปูนขาว 1/2 ส่วน
    • ปุ๋ย ควรละลายปุ๋ยผสมน้ำรดเดือนละครั้ง ถ้าต้องการเร่งการเจริญเติบโตในช่วงแรกก็ใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 16 – 16 – 16 ละลายน้ำรดเดือนละ 2 ครั้ง
    • กระถาง ควรกระถางปากกว้าง แต่ไม่จำเป็นต้องลึกนัก
    • การขยายพันธุ์ แยกกอ เพาะโดยใช้สปอร์ (spore)
    • โรคและแมลง มด เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ส่วนโรคไม่ค่อยพบ
    • การป้องกัน กำจัดมด โรยด้วยยาผงคลอเดนไปที่รัง หรือทางเดิน เพลี้ยอ่อน ใช้ยาเซวินผล 1/2 ช้อนชา ละลายน้ำ 1 แกลลอน ฉีดพ่นให้ทั่ว เพลี้ยไฟ ใช้เช่นเดียวกับเพลี้ยอ่อน

6.2 เฟิร์นก้ามปู

  • ชื่อสามัญ Fishtail Fern
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Nephrolepsis biserrata (SW.)Schot
  • ชื่อวงศ์ OLEANDRACEAE
  • ชื่อท้องถิ่น เฟิร์นก้ามปูเฟิร์นตีนตะขาบ
  • กำเนิด มีถิ่นกำเนิดอยู่ในคิวบาและบราซิล
  • ลักษณะทั่วไป เป็นพันธุ์เฟิร์นชนิดหนึ่งที่แตกลำต้นออกเป็นกอใหญ่จะมีลำต้นสั้นๆ ใบเป็นใบไม้รวมมีก้านใบที่ยาวก้านๆ หนึ่งจะมีใบย่อยที่มีขนาดเล็กเรียงกันอยู่เป็นแถวทั้งสองด้านอย่างเป็นระเบียบมีสีเขียวเป็นมันปลายกลีบย่อยจะแยกออกเป็น 2 แฉก คล้ายก้ามปูหรือหางปลา ขอบใบจะเป็นคลื่นๆ กอๆ หนึ่งจะแตกก้านใบอยู่มากมายทำให้ดูเป็นกอทึบสีเขียวสวยงามมาก
  • การขยายพันธุ์ เป็นเฟิร์นที่มีความแข็งแรงและทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศในเมืองไทยได้เป็นอย่างดีนิยมปลูกเป็นไม้กระถางมากกว่าอยู่ได้ทั้งในที่ร่มและที่มีแสงแดดจัดแต่ต้องมีความชุ่มชื้นของดินตลอดเวลาดินที่ปลูกควรเป็นดินผสมพิเศษที่มีการระบายน้ำได้ดีพยายามอย่าให้น้ำขังจนแฉะต้องการความชื้นในอากาศปานกลางและน้ำ

7. หญ้า (Grass)

               หญ้า เป็นไม้ล้มลุกหลายชนิด หลายสกุล ในชั้น Liliopsida วงศ์ Poaceae หรือเป็นที่รู้จักกันดีว่าวงศ์ Gramineae เช่น หญ้าคา (Imperata cylindrica Beauv.) หญ้าตีนกา (Eleusine indica Gaertn.) หญ้าแพรก (Cynodon dactylon Pers.) มีพืชชนิดนี้ประมาณ 600 สกุล และมีประมาน 10,000 ชนิด มีการประเมินกันว่าหญ้าเป็นพืชที่ปกคลุมผิวโลกกว่า 20% ของพืชทั้งหมดบนโลก พืชในวงศ์นี้เป็นพืชที่มีความสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจมนุษย์ รวมไปถึง ใช้เป็นสนามหญ้า, อาหารหลักที่ปลูกทั่วโลก, และไม้ไผ่ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในการสร้างในเอเชีย แต่บางชนิดจัดเป็นวัชพืช

พืชในวงศ์หญ้าที่เรารู้จักดี เช่น:

  • ข้าวโพด
  • ข้าวสาลี
  • ข้าว
  • ข้าวไรย์
  • หญ้าไรย์
  • อ้อย
  • ข้าวบาร์เลย์
  • ไผ่

7.1 หญ้ามาเลเซีย

  • ชื่อสามัญ Tropical Carpet grass, Savanna Grass
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Axonopus compresus Beauv.
  • วงศ์ GRAMINEAE
  • ลักษณะทั่วไป
    • ลำต้น จะแบนและมีลำต้นบนดินแตกออกทั้ง 2 ข้างของลำต้น ลำต้นบนดินไม่ยาวนัก รากจะแตกออกจากข้อของลำต้นบนดิน ที่เรียกว่า ไหล เมื่อไหลนี้สัมผัสกับดินรากและลำต้นใหม่ก็จะแตกออกจากข้อของไหล แล้วเจริญเติบโตแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
    • ใบ ใหญ่กว่าใบหญ้าทุกชนิด ใบมีสีเขียวอ่อน มีรากตื้น ตัวใบแบน ตรงกลางใบจะหักพับคล้ายหลังคาบ้าน ขอบใบมีขนตั้งแต่ข้อต่อระหว่างตัวใบกับก้านใบจนถึงยอดของใบ ในใบแก่จะมีขนเห็นได้ชัดเจนกว่าใบอ่อน และใบอ่อนจะเห็นเป็นคลื่นมากกว่าใบแก่ ขนที่ใบจะอยู่ด้านหน้าใบ ส่วนทางหลังใบจะเป็นมันไม่มีขน เส้นกลางใบทางด้านหลังจะนูนเด่นชัดเจน ยอดใบแหลมมน
    • ดอก ช่อดอกเกิดจากปล่องสุดท้ายของลำต้น มี 3 – 5 ช่อ ดอกย่อยเป็นรูปไข่แหลม ยาวประมาณ 2.0 – 2.5 ซม.ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางก็สามารถขึ้นได้ดี และสามารถขึ้นได้ดีในสถานที่ที่มีแสงน้อยหรือร่มรำไร เช่น บริเวณชายคาบ้าน และอาคารหรือใต้ต้นไม้ที่มีแดดรำไรไม่ชอบที่น้ำขังแฉะ ถ้าน้ำขังแฉะต้นจะแคระแกร็น ใบจะเหลืองและตายได้ การเจริญเติบโตได้ดี และมีรากแน่นถ้าปลูกในที่มีแสงน้อย ถ้าปลูกในที่มีแสงแจ้งมีแดดจัด จะทำให้ต้นแคระ ข้อปล้องจะสั้นมีสีแดง ส่วนใบก็จะเล็กลงและมีสีแดงด้วย หญ้านี้มีความต้องการน้ำมาก ซึ่งก็เนื่องจากมีใบใหญ่ จึงมีการคายน้ำมาก ในฤดูแล้ง ถ้าหากขาดน้ำไใบจะเหลือง และชงักการเจริญเติบโต และไม่ทนต่อการเหยียบย่ำหญ้ามาเลเซียนี้ไม่ต้องการการเอาใจใส่มากนัก และไม่ต้องตัดบ่อยๆ เหมือนหญ้าอื่นๆ นิยมใช้เป็นหญ้าคลุมวัชพืชในสวนยาง สวนผลไม้ทางภาคใต้ เพราะขึ้นได้แน่นดี วัชพืชอื่นๆ ไม่มีโอกาสขึ้นแซมได้
  • ประโยชน์ หญ้ามาเลเชียเป็นหญ้าที่ใช้ทำสนามหญ้าและจัดสวนหย่อม เช่นเดียวกับหญ้าชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะในที่ร่มรำไร สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม่ทนต่อดินเค็ม หญ้ามาเลเชียที่ใช้ปลูกโดยเมล็ดจะสามารถป้องกันการพังทลายของดินในที่มีความลาดชันสูงได้ดีเช่นกัน ทนต่อดินเป็นกรดที่มี pH ประมาณ 4.5 – 5.5 เป็นหญ้าที่ชอบความชื้นสูง ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด
  • การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ได้ดีและเร็วในฤดูฝน มีการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และการใช้ส่วนต่างๆ โดยเฉพาะลำต้นเป็นกระจุก แบบปูเป็นแผ่น การปลูกด้วยเมล็ดจะลงทุนน้อย โดยการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตรา 3 – 4 ปอนด์ ต่อเนื้อที่ 1,000 ตารางฟุต


 

8. ไม้น้ำ (Aquatic Plants)

               ไม้น้ำ คือ ไม้ที่ต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีวิต บ่งชนิดลอยตัวอยู่ระดับผิวน้ำ บางชนิดหยั่งรากลึงในดิน อาจปรับตัวให้เข้ากับสภาพความแห้งแล้งยามน้ำลดลงได้ เรานำไม้น้ำมาประดับสวนถาดที่มีน้ำพุ น้ำตก หรือสวนถาดจำลองภาพสระน้ำนิ่ง ไม้น้ำทุกชนิดชอบแสงแดดจัด มิฉะนั้นอาจเน่าหรือไม่ออกดอก อย่างน้อยควรให้ได้รับแสงสักครึ่งวัน
ที่มา : http://202.41.171.2/journal/smallgarden/fw.html

8.1 บัวสาย

  • ชื่อสามัญ : Water lily
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nymphaea lotus L.
  • ชื่อวงศ์ : NYMPHAEACEAE
  • ลักษณะทั่วไป เป็นพืชน้ำ มีลำต้นใต้ดินคล้ายหัวเผือก ใบเป็นใบเดี่ยวรูปเกือบกลม ฐานใบหยักลึก ขอบใบจักแหลม ใบออกสลับถี่ลอยบนผิวน้ำเรียงเป็นวง ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ มีก้านชูดอกยาว ดอกชูเหนือน้ำ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอกรูปรีแกมไข่จำนวนมาก เรียงซ้อนกันหลายชั้น ผลกลมมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก บัวสายมีหลายชนิด มีชื่อเรียกต่างๆ กัน ตามสีดอก ขนาดดอก และลักษณะพิเศษอื่นๆ
  • การปลูก บัวสายเป็นไม้น้ำที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในโอ่งมังกร หรือในบ่อน้ำ วิธีปลูกทำได้โดยผสมดินและปุ๋ยคอกใส่ลงในกระถาง นำบัวลงมาปลูกในกระถาง ใช้ดินเหนียวหรือดินท้องนากลบทับเพื่อป้องกันดินและปุ๋ยคอกลอยขึ้นมา หลังจากนั้นก็นำไปวางในโอ่งปากกว้างใส่น้ำให้เต็ม ในกรณีที่ปลูกในบ่อ/บึงหรือในท้องนา ต้องนำหน่อที่แยกออกมาปักดำลงไปในดิน บัวเป็นพืชที่ชอบแดด การใส่ปุ๋ยใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนชา ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์นำไปฝังบริเวณใกล้ราก โดยใส่ปุ๋ยประมาณ 2 ช้อนชาต่อเดือน
  • คุณค่าทางอาหารและยา ในสายบัว 100 กรัม จะพบแคลเซียม 8.00 มิลลิกรัม วิตามินซี 15 มิลลิกรัม ที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันของเราให้แข็งแรง และมีสารเบต้าแคโรทีน ที่ต้านโรคมะเร็งในลำไส้ สรรพคุณยาไทย บัวสายมีรสจืด ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย การปลูกสายบัวรับประทานเอง คงทำได้ยากเนื่องจากบัวกินสายต้องปลูกในน้ำลึกมาก ๆ จึงจะได้สายบัวอวบอ่อน น่ากิน บัวสายถือเป็นของดีราคาถูก และปลอดภัย ที่หาซื้อได้ง่ายในตลาดสดทั่วไป หากมีโอกาสไม่ควรพลาดอาหารไทยโบราณจากบัวสาย…ดอกสวย

9. กล้วยไม้ (Orchid)

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Orchid
  • ชื่อวงศ์ ORCHIDACEAE
  • ชื่อสามัญ Orchid
  • ชื่ออื่นๆเอื้อง (ภาคเหนือ)
  • ถิ่นกำเนิด ลาตินอเมริกา, เอเซียแปซิฟิก
  • การขยายพันธุ์ แยกลำ, แยกหน่อ, ชำต้นและยอด, เลี้ยงเนื้อเยื่อ
  • ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้เป็นพืชวงศ์ใหญ่มีความแตกต่างกันภายในวงศ์อย่างเห็นได้ชัดโดยทั่วไปลำต้นของกล้วยไม้ไม่มีแก่นและเปลือกลำต้นมี 2 ลักษณะ คือลำต้นแท้มีข้อและปล้องเหมือนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วไปลำต้นเทียมหรือลำลูกกล้วย ไว้สะสมอาหารมีข้อและปล้องถี่รากกลมอวบเป็นเส้นเล็กแข็งหรือแบนราบใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว แผ่นใบบางคล้ายใบหมากหนาอวบน้ำหรือเป็นแท่งกลมสีของใบเป็นสีเขียวสดบางชนิดเป็นสีม่วงคล้ำบางชนิดก็มีลวดลายดอกออกที่ปลายลำต้นดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ
  • การปลูกกล้วยไม้ วิธีที่นิยมปลูกมี 2 วิธี คือ
    1. การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายในและภายนอกอาคาร ควรใช้กระถางทรงแบนแบบแหวนห้อยได้ จะเป็นกระถางไม้หรือกระถางดินเผาก็ได้แต่ต้องเป็นชนิดที่โปร่งระบายน้ำได้ดีเพราะกล้วยไม้ใช้รากในการหายใจด้วยและยึดเกาะทรงต้นให้แข็งแรงด้วยขนาดกระถางปลูก 6-12 นิ้ว ถ้าใช้กระถางทรงสูงก็ได้ต้องใช้ไม้หลักที่หุ้มด้วยกาบมะพร้าวปักไว้ตรงกลางกระถางเพื่อให้รากยึดเกาะ สำหรับวัสดุที่ใช้ปลูกนั้นได้แก่ดินผสมพิเศษหรือกาบมะพร้าว ซึ่งลักษณะการปลูกขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ ถ้าใช้เพื่อประดับภายในอาคาร ควรให้ได้รับแสงบ้างอย่างน้อย 3 – 5 วันต่อครั้ง
    2. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวนนิยมใช้ไม้หลักที่หุ้มด้วยกาบมะพร้าวเพื่อให้รากยึกเกาะจะปลูกในแปลงปลูกบริเวณบ้าน หรือทำเป็นสวนขนาดใหญ่ก็ได้ส่วนการปลูกแบบให้เกาะกับต้นไม้อื่น เช่น ต้นไม้ยืนต้น วิธีปลูก โดยนำเอากาบมะพร้าวมาห่อหุ้มส่วนรากหรือโคนของกล้วยไม้เอาไว้ เพื่อให้ยึดติดกับต้นไม้ยืนต้นนั้นไว้ การปลูกแบบนี้ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ด้วย
  • การดูแลรักษากล้วยไม้
    • แสง ต้องการแสงแดดรำไร หรือปานกลาง
    • น้ำต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 3 – 5 วัน / ครั้ง
    • ดินดินผสมพิเศษ กาบมะพร้าว
    • ปุ๋ยปุ๋ยอินทรีย์ผสมพิเศษ หรือปุ๋ยเคมี สูตร 10-10-10 5-10-5 อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก ละลายน้ำฉีดพ่นตาม ใบ ควรให้ 1 – 2 เดือน / ครั้ง
    • การขยายพันธุ์การแยกหน่อ การปักชำ การเพาะเนื้อเยื่อ

9.1 กล้วยไม้ดิน

  • ชื่อสามัญ Ground orchid
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Spathoglottis Blume.
  • ชื่อวงศ์ ORCHIDACEAE
  • ชื่ออื่นๆ เอื้องดิน ว่านจุก กระเทียมป่า
  • ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ โดยทั่วไปกล้วยไม้ดินมีการเจริญเติบโตแบบ sympodial มีลำลูกกล้วยป้อมซึ่งมักนิยมเรียกกันว่าหัว ที่ห้วมีข้อถี่ๆ ลำหนึ่งหรือหัวหนึ่งมีใบอยู่ 2-4 ใบ กล้วยไม้ดินใบหมากมีลำต้นแบบ creeping rhizome อยู่ใต้ดินซึ่งเจริญแบบซิมโพเดียมลำลูกกล้วยเจริญจากลำต้นใต้ดินโผล่เหนือดินเป็นจุดกำเนิดใบ ใบยาวและมีเส้นใบที่เป็นรอยพับจีบตามยาวฐานใบมีกาบใบรอบๆ ลำต้นปลายกาบใบจะเชื่อมตดกันเมื่อเล็กใบจะตั้งตรงและมีร่องเมื่อแก่ปลายใบเรียวแหลมและโค้งปลายห้อยลง ช่อดอกเกิดด้านข้างของหัว ดอกเกิดที่ปลายช่อ ช่อดอกแบบ racemose ดอกบานจากข้างขึ้นข้างบนจำนวน 10- 30 ดอกต่อช่อ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีรูปร่างคล้ายกันและกางออกเกือบอยู่ในระนาบเดียวกันกลีบปากช่วงกลางมักคอด ช่วงปลายกว้างและปลายมักจะหยักเว้าส่วนโคนมีหูปากพับตั้งขึ้นทั้ง 2 ข้างบางชนิดไม่มีหูปาก ปลายปากผายออกกว้างแล้วแต่ชนิดบางครั้งเว้าที่ปลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด เส้าเกสรที่โคนยาวโค้งเล็กน้อย กล่มเรณูมี 2 ชุด ชุดละ 4 กลุ่มแต่ละกลุ่มรูปคล้ายกระบอก
  • ถิ่นกำเนิดและพันธุกรรม กล้วยไม้สกุล Spathoglottis กระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่อินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ นิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิกบางเกาะ กล้วยไม้สกุลนี้พบขึ้นเกือบทั่วประเทศไทยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก เป็นพวกที่มีดอกสีเหลืองหรือขาวนวล ส่วนที่พบทางภาคใต้ดอกสีม่วง

คณะผู้จัดทำ


น.ส.อรทัย  ภู่พิพัฒน์ ม.6/5

น.ส. พอแก้ว  รักษ์เธียรมงคล ม.6/6

น.ส. ศานิตา  อัศวศรีวรกุล ม.6/6

น.ส. คุณภัทร  สิทธิเชนทร์ ม.6/6

น.ส. ดวงทิพย์  ลาวัณษ์เสถียร ม.6/6

น.ส. อริศรา  ชินพรทวีสุข ม.6/6

ขอขอบคุณ

              การจัดทำเว็บไซต์ในครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดผู้สนับสนุนทุกท่านซึ่งมีรายนามดังต่อไปนี้

ท่านคณะกรรมการ สมศ. ทุกท่าน ซึ่งให้ความกรุณามาประเมินโรงเรียนของเราในวันที่ 2, 5 และ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 และทำให้พวกเราได้ทำเว็บไซต์นี้แก่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย

ผู้อำนวยการ อรุณี นาคทัต ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยที่น่ารักของพวกเรา ที่ช่วยสนับสนุนการจัดทำเว็บไซต์ครั้งนี้ (ขอบคุณซาลาเปาของท่าน ผอ. มากๆ ค่ะ ที่ช่วยให้พวกเราอิ่มท้อง)

รองผู้อำนวยการ สมศรี บุญยะปานะสาร ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้แก่พวกเรา ทำให้พวกเราได้รู้จักพรรณไม้ต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณโรงเรียน และบางส่วนที่อาจจะหลบซ่อนอยู่ และลูกชิ้นปิ้งก่อนกลับบ้านในคืนวันอาทิตย์ที่แสนอร่อย

ท่านอาจารย์พูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล อาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ของพวกเรา ที่ให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องอุปกรณ์ ทั้งคอมพิวเตอร์และกล้องถ่ายรูปอันแสนแพงของอาจารย์นะคะ และการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของอาจารย์ในภาคเรียนที่ 1 ที่ทำให้พวกเราได้ทำเว็บไซต์เป็นและได้ทำเว็บไซต์ดีๆ นี้

ท่านอาจารย์สมบัติ เอกเชี่ยวชาญ อาจารย์ประจำชั้นของชั้น ม.6/6 ที่น่ารักของพวกเรา ที่ให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องกล้องถ่ายรูป และ Card reader รวมถึง mp3 ที่ทำให้พวกเราได้มีเพลงเพราะๆ ฟังกันในตอนที่ทำงาน และน้ำพันช์ที่แสนอร่อยซึ่งอาจารย์ได้เสียสละให้พวกเราไปหลายขวด ที่ขาดไม่ได้คือ ขอบคุณมากค่ะที่อาจารย์ได้ออกความคิดเรื่องการทำโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนให้พวกเรา

ท่านอาจารย์สมบูรณ์ กมลาสนางกูร อาจารย์ประจำชั้นของชั้น ม.6/5 และอาจารย์สอนชีววิทยา ที่ท่านได้ให้ข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับต้นไม้หลายต้นในโรงเรียนของเรา รวมถึงเสียสละมาเฝ้าการทำงานของพวกเราในวันอาทิตย์

ท่านอาจารย์สุทัศน์ ตั้งฮั่น อาจารย์สอนศิลปะ ที่กรุณายืดเวลาในการส่งงานศิลปะ (จิตรกรรมไทย) ที่สวยงามของพวกเราออกไป ทำให้พวกเราได้มีเวลาทำเว็บไซต์มากขึ้น

ป้ามาเรียม คุณป้าที่แสนใจดี สำหรับผัดกะเพราไก่ กับไข่เจียวในวันเสาร์ และผัดซีอิ๊วในวันอาทิตย์ อร่อยมากค่ะ (หากไม่มีป้าพวกเราคงจะหิวตายกันแน่ๆ เลย)

ลุงเสน่ห์ คุณลุงแสนใจดี ที่ให้ข้อมูลต้นไม้ที่อยู่ในซอกหลืบหน้าโรงเรียนซึ่งมีอยู่มากมาย และไม่รำคาญพวกเราที่ถามซ้ำซากอันเนื่องมาจากจำไม่ได้

คุณน้าที่มาดูแลสวนในวันอาทิตย์ ที่ถึงแม้พวกเราจะไม่รู้จักชื่อ แต่พวกเราก็ขอขอบคุณมากค่ะที่ได้แนะนำต้นไม้ที่พวกเราอาจจะดูผิดพลาดไป ทำให้พวกเราเข้าใจความแตกต่างของต้นไม้แต่ละชนิดมากขึ้น

คุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัวของพวกเราทุกคน ที่เข้าใจและอนุญาตให้พวกเราได้ทำผลงานดีๆ ชิ้นนี้ขึ้น

และสุดท้าย ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่คอยเป็นกำลังใจให้พวกเราตลอดมา (รวมถึงช่วยทำการบ้าน และฝากส่งการบ้านให้ด้วย)

พวกเราขอขอบคุณจากใจจริงค่ะ