หลักการทรงงาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๒ ระเบิดจากข้างใน นางสาว ณัฎฐณิชา การินตา ม.5/4 เลขที่ 28
หลักการทรงงาน
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข ของพสกนิกรบังเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายพันโครงการทั่วประเทศ เริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรปัญหาของราษฎรด้วยพระองค์เอง จึงทรงทราบถึงมูลเหตุแห่งปัญหาอย่างถ่องแท้ จากนั้นจึงมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับไป ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านเกษตรกรรม การแพทย์และสาธารณสุข การคมนาคม หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการทรงงานอันประเสริฐ
๒ ระเบิดจากข้างใน
คือการทำสิ่งใดต้องสร้างฐาน ต้องเริ่มจากความพร้อม ความเห็นพ้องต้องกันในกลุ่มเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ก่อ จะมั่นคงถาวร พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า "ต้องระเบิดจากข้างใน" นั้นหมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชน หมู่บ้าน ที่ยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพโดยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของดินมาช้านาน แผ่นดินจึงเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ด้วยพระปรีชาญาณอันยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน อันเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น บางแห่งเป็นดินเปรี้ยว ดินด่าง ดินเค็ม และบางแห่งก็ไม่มีดินเลย ซึ่งทรงเรียกดินเหล่านี้ว่า "ดินแร้นแค้น" นอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของดินยังเกิดจากการกระทำอันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า และการใช้พื้นที่โดยขาดการอนุรักษ์ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาทรัพยากรดินเป็นอเนกประการ ซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่เกษตรกรทั่วประเทศ
แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการฟื้นฟู บูรณะ พัฒนา และอนุรักษ์ทรัพยากรดิน มีหลักการที่สำคัญ ๕ ประการ คือ
๑. การบรรเทาปัญหาที่ราษฎรกำลังประสบอยู่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นอยู่เสมอว่า โครงการของพระองค์เป็นโครงการที่มุ่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ราษฎรกำลังประสบอยู่ ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า "ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออก .....เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน แต่ปวดหัวใช้ยาแก้ปวด..... หรือยาอะไรก็ตามแก้ปวดหัวมัน ไม่ได้แก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่จะคิดได้"
๒. การพัฒนาตามขั้นตอนอย่างประหยัด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเอง ทรงใช้คำว่า "ระเบิดจากข้างใน" นั่นคือ ทำให้ชุมชน หมู่บ้าน มีความเข็มแข็งก่อนเสียแล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปสู่ชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว พระองค์มีพระราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรตามความจำเป็นและความเหมาะสมกับสภาพ เพื่อให้ราษฎรเหล่านั้นสามารถพึ่งตนเองได้ และออกมาสู่สังคมภายนอกได้อย่างไม่ลำบาก

๓. การพัฒนาเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้
การพัฒนาตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้มี ความแข็งแรงที่จะมีแนวคิดในการดำรงชีวิตต่อไป ขั้นต่อไปก็คือการพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพและสามารถ "พึ่งตนเองได้" ในที่สุด ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "".....การเข้าใจถึงสถานการณ์ของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่ขาดควรจะได้รับตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลดีที่สุด เพราะฉะนั้นในการช่วยเหลือแต่ละครั้งแต่ละกรณี จำเป็นที่เราจะพิจารณาถึงความต้องการและความจำเป็นก่อน และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เราจะช่วยให้เข้าใจด้วยว่าเขาอยู่ในฐานะอย่างไร สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร เพียงใด อีกประการหนึ่งในการช่วยเหลือนั้น ควรยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป....."

๔. การสร้างเสริมและเผยแพร่ความรู้และเทคนิควิชาการที่เหมาะสม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่าควรเสริมสร้างสิ่งที่ชาวบ้านชนบทขาดแคลนและต้องการ ได้แก่ความรู้ในการทำมาหากิน และการทำการเกษตรโดยให้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี "ตัวอย่างของความสำเร็จ" มีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรในชนบทมีโอกาสได้รู้ได้เห็นตัวอย่างของความสำเร็จนี้และนำไปปฏิบัติได้เอง จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศรวม ๖ แห่ง เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา ทดลองวิจัย และแสวงหาความรู้ และเทคนิควิชาการที่เหมาะสมที่ราษฎร "รับได้" สามารถนำไป "ดำเนินการเองได้" และเป็นวิธีการที่ "ประหยัด" เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆ เมื่อได้ผลจากการศึกษาแล้ว จึงนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป ทรงปรารถนาให้ตัวอย่างของความสำเร็จทั้งหลายกระจายไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศและสามารถนำไปปฏิบัติให้ได้ผลอย่างจริงจัง

๕. การพัฒนาทรัพยากรดิน ควบคู่กับการส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากในการพัฒนาประเทศในระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ได้เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นไปอย่างฟุ่มเฟือย โดยมิได้ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม จนในที่สุดทรัพยากรธรรมชาติได้เสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด พระองค์ทรงตระหนักว่าการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาการเกษตร จึงทรงมุ่งพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทรงสนพระราชหฤทัยการทำนุบำรุงปรับปรุงสภาพของทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ หรือการประมง โดยมีพระราชประสงค์ให้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้คงอยู่ในสภาพที่มีผลดีต่อการเพิ่มผลิตภาพอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงโปรดเกล้าฯให้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหลายโครงการ เช่น โครงการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร โครงการป่ารักน้ำ โครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โครงการพัฒนาที่ดิน โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ซึ่งเน้นการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนสู่สภาพเดิม นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างประหยัด เกิดประโยชน์สูงสุด และถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยทรงคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่เสมอ
จากหลักการในแนวพระราชดำริข้างต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้ดำเนินโครงการพัฒนาทรัพยากรดินและอนุรักษ์ดินหลายโครงการ ทุกโครงการล้วนสัมฤทธิ์ผลตามพระราชปณิธานอย่างแท้จริง
๑. การอนุรักษ์ดินและน้ำ
๒. การปรับปรุงสภาพดิน
๓. การจัดสรรและพัฒนาทรัพยากรดิน
ที่มา : https://web.ku.ac.th/king72/2542-01/page02.html