ผลการสร้างและการใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุด ความรู้คู่คุณธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง : ผลการสร้างและการใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุด ความรู้คู่คุณธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ชื่อผู้ศึกษา : นางยุพกานต์ ท้าววงษ์
ปีการศึกษา : 2558
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุด ความรู้คู่คุณธรรม เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยหนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุด ความรู้คู่คุณธรรม และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุด ความรู้คู่คุณธรรม กลุ่มประชากรประกอบด้วยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนปอวิทยา อำเภอเวียงแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 31 คน ได้ดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ หนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุด ความรู้คู่คุณธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 12 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ แบบสอบถามความพึงพอใจและแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลทำโดยนำคะแนนเฉลี่ยระหว่างเรียนจากการทำแบบฝึกหัดท้ายเล่มกับคะแนนหลังเรียนของแต่ละเล่มมาวิเคราะห์ หาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุด ความรู้คู่คุณธรรม (E1/E2) และศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยหนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุด ความรู้คู่คุณธรรม จากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 20 ข้อ และศึกษาระดับความพึงพอใจของกลุ่มประชากร สถิติที่ใช้คือ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุด ความรู้คู่คุณธรรม เล่มที่ 1–12 มีประสิทธิภาพ สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ยร้อยละ 80/80 ทุกเล่ม โดยภาพรวมได้ค่าเฉลี่ยรวมร้อยละ 83.74/83.66
2. ผลการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีคะแนนการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน คะแนนหลังเรียนได้เท่ากับ 16.55 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 82.74 คะแนนก่อนเรียนเท่ากับ 7.55 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 37.74 คะแนนความก้าวหน้าได้เท่ากับ 9.00 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 45.00 ตามลำดับ
3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุด ความรู้คู่คุณธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 31 คน พบว่า ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยของระดับความพึงพอใจในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 2.97, ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.12)