รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ในการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ (3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มตัวอย่าง เป็น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/12 โรงเรียนนครนายกวิทยาคม อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ที่กำลังเรียนอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 33 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย โดยวิธีการจับสลากเลือกห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ (1) แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 7 หน่วยย่อย (2) แผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้ประกอบแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา จำนวน 7 แผน (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบทดสอบความรู้ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.21 – 0.44 มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.896 และแบบประเมินคะแนนแบบฝึกทักษะ (4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ด้าน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-dependent test
ผลการศึกษา พบว่า (1) ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.06/84.76 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80 (2) นักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ (3) ระดับความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก