อาณาจักรอยุธยา

สร้างโดย : นายชาญชัย เปี่ยมชาคร
สร้างเมื่อ พุธ, 26/11/2008 – 14:33
มีผู้อ่าน 297,816 ครั้ง (13/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/18427

อาณาจักรอยุธยา

           อยุธยาเป็นเมืองหลวงของสยามเป็นเวลา ๔๑๗ ปี สถาปนาขึ้นโดยพระรามาธิบดีที่ ๑ (พรเจ้าอู่ทอง) มีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด ๓๔ พระองค์ จาก ๕ ราชวงศ์ (อู่ทอง สุพรรณบุรี สุโขทัย ปราสาททอง บ้านพลูหลวง) มีพระพุทธศาสนาแบบหินยานเป็นศาสนาประจำอาณาจักร แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเชื่อด้านวิญญาณนิยมและพระพุทธศาสนาแบบมหายานเจือปนอยู่ด้วย กษัตริย์ของอยุธยาก็ยังใช้พิธีกรรมที่เป็นฮินดูและพราหมณ์เป็นการสร้างอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการผสมผสานระหว่างหลัก “ธรรมราชา” และ “เทวราชา”
           การปกครองอาณาจักรใช้ระบบ “ศักดินา” ซึ่งมีการแบ่งชั้นของ เจ้า-ขุนนาง-พระสงฆ์-ราษฎร ออกเป็นหมวดหมู่และชั้นอย่างชัดเจน มีการเกณฑ์แรงงาน “ไพร่” และการเก็บอากร “ส่วย”เป็นผลผลิตและตัวเงิน พระเจ้าแผ่นดินทรงผูกขาดการค้ากับต่างประเทศ
อยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความได้เปรียบทางสภาพภูมิศาสตร์ คือตั้งอยู่ที่บริเวณแม่น้ำ ๓ สายมาบรรจบกัน (เจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี ทำให้อยุธยามีสภาพเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ ถนนรอบเกาะยาวประมาณ ๑๒ กิโลเมตร) เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูกข้าว และยังอยู่ใกล้ทะเลพอสมควรทำให้สามารถทำการค้าต่างประเทศได้โดยสะดวก อยุธยาจึงมีลักษณะผสมผสานของการเป็นอาณาจักรในแผ่นดิน (คุมการเกษตร) และอาณาจักรทางทะเล (คุมการค้า)
           อยุธยาถือกำเนิดขึ้นมาจากการรวมตัวของแว่นแคว้นสุพรรณบุรีและลพบุรี
           ทั้งสุพรรณบุรีและลพบุรีมีมรดกทางประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจากสมัยทวารวดี และอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอมจากเมืองพระนครหลวงหรือกรุงศรียโสธรปุระ และเมื่ออำนาจของขอมอ่อนลงนับตั้งแต่หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จากการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาและความเชื่อจากพราหมณ์-ฮินดู พระพุทธศาสนาแบบมหายาน กลายมาเป็นพระพุทธศาสนาแบบหินยาน (ลังกาวงศ์) รวมทั้งความปั่นป่วนทางการเมืองในเอเชียอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจีนจากราชวงศ์ซ้องมาสู่ราชวงศ์หยวน ทำให้มีการสถาปนาอาณาจักรในรูปแบบเริ่มแรกเป็นแว่นแคว้นขึ้นหลายอาณาจักร
           เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองได้สถาปนาอยุธยาขึ้น โดยตั้งขึ้นในเมืองเก่า “อโยธยา” ที่มีมาก่อน และเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างกลางของสุพรรณบุรีและลพบุรี
           ในช่วงแรกของอาณาจักรอยุธยา มีความพยายามที่จะขยายอำนาจออกไปโดยพยายามยึดอาณาจักรของขอมที่กรุงศรียโสธรปุระซึ่งทำสงคราม ๓ ครั้งใหญ่ อันเป็นผลให้กัมพูชาอ่อนอำนาจลงและเสียกรุงต้องย้ายเมืองหลวงให้ไกลออกไปอยู่พนมเปญ  ในขณะเดียวกันอยุธยาก็พยายามแผ่อำนาจไปทางเหนือ เข้าครองครองอาณาจักรสุโขทัยได้สำเร็จ แต่ไม่สามารถยึดเมืองเชียงใหม่ได้ถาวร ส่วนทางใต้อยุธยาก็สถาปนาอำนาจของตนได้มั่นคงเหนือนครศรีธรรมราชและพยายามมีอำนาจเหนือรัฐมลายู
           การขยายอำนาจของอยุธยาทำให้เกิดการแข่งขันและขัดแย้งกับพม่าโดยเฉพาะการแย่งชิงกันมีอำนาจเหนือเชียงใหม่และอาณาจักรมอญ ต่อมา อยุธยาต้องพ่ายแพ้แก่พม่า แต่ก็เพียงช่วงเวลาอันสั้น และก็สามารถมีอำนาจเหนือบางส่วนของอาณาจักรมอญ เช่น เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี อันใช้เป็นเมืองท่าเปิดออกสู่ด้านตะวันตกทางมหาสมุทรอินเดีย แต่ความพยายามของอยุธยาที่จะมีอำนาจเหนือเชียงใหม่และมอญนี้ ก็ทำให้มีการขัดแย้งกับพม่าเป็นประจำ อันทำให้อยุธยาถูกทำลายลงในปี พ.ศ. ๒๓๑๐
           ระบบการปกครองของอยุธยาเป็นระบบ “ราชาธิปไตย” (ยังมิได้เป็นระบบ “สมบูรณาญาสิทธิราช” กล่าวคือ กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดก็จริงอยู่ แต่ก็ยังมิได้มีการแบ่งระบบให้เป็นเจ้าหรือขุนนางอย่างแท้จริงดังที่จะมาเห็นในสมัยของรัตนโกสินทร์ตอนกลาง เจ้า-ขุนนาง-พระสงฆ์-ราษฎรของอยุธยานั้นมีการจัดลำดับขึ้นในรูปของ “ศักดินา” ที่มีกฎหมายรองรับอย่างเด่นชัดในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งกำหนดให้ทุกคนมี “ศักดินา” ประจำตัว ประหนึ่งว่าแต่ละคนมีที่ดินจำนวนหนึ่งตามฐานะสูงต่ำของตนจาก ๕-๑๐๐,๐๐๐ ไร่
           จากกฎหมายอยุธยาตั้งแต่แรก ถือกันว่าที่ดินนั้นเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน และจะทรงแบ่งให้ทุกคนในพระราชอาณาจักรมากน้อยตามฐานะของบุคคล แต่ก็เชื่อว่า “ศักดินา” ในสมัยอยุธยามิได้เป็นกฎหมายว่าด้วยการแบ่งสรรที่ดิน (แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะยังคงยืนยันในสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินอยู่สามารถจะพระราชทานหรือยึดคืนได้ก็ตาม) ศักดินาจึงเป็นกฎหมายที่กำหนดฐานะทางชนชั้นของบุคคลมากกว่า ศักดินาเป็นเครื่องชี้บ่งบอกฐานะอันสูงต่ำต่างกัน กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กำหนดวิถีทางชีวิต การอยู่กินหรือแม้แต่การแต่งตัว การสร้างบ้านเรือน และศักดินาก็ยังใช้เป็นเครื่องมือในการปรับไหมหรือการลงโทษทางกฎหมาย
           การแบ่งชนชั้นของความเป็นเจ้าและขุนนาง มิได้มีการแบ่งตายตัว ทั้งนี้เพราะในการสืบราชสมบัติ บางครั้งขุนนางก็สามารถขึ้นมายึดอำนาจตั้งราชวงศ์ใหม่ได้ ดังจะเห็นในกรณีของขุนวรวงศาธิราช หรือในกรณีของ ๒ ราชวงศ์สุดท้ายของอยุธยา คือ ราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง
           สำหรับราษฎรทั่วไปนั้น ถูกแบ่งออกเป็น “ไพร่” โดยที่ต้องมีสังกัดขึ้นกับ “มูลนาย” อย่างแน่นอน มีการแบ่งเป็น “ไพร่หลวง”ขึ้นโดยตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน และ “ไพร่สม”ขึ้นกับเจ้าหรือขุนนาง ไพร่ทั้ง ๒ แบบมีหน้าที่ที่จะต้องถูกเกณฑ์แรงงานทำงานให้กับนายของตน และถูกเกณฑ์เป็นทหารเมื่อเวลามีสงคราม นอกจากนี้ ก็ยังมี “ไพร่ส่วย” ซึ่งเสียภาษีเป็นผลิตผลแทนการเกณฑ์แรงงาน ไพร่แบบนี้จะเป็นราษฎรที่อยู่ห่างไกลออกไปและอยู่ในพื้นที่ที่มีผลิตผลจากป่าหรือจากแผ่นดิน
           ในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ไพร่จะถูกเกณฑ์แรงงาน ๖ เดือนต่อ ๑ ปี (เดือนเว้นเดือน) แต่ก็มีการเสียเงินเกิดขึ้น คือเสียเงินเดือนละประมาณ ๒ บาท เท่ากับ ๑๒ บาทต่อ ๑ ปีก นอกจากนี้อยุธยายังมีระบบทาสอีกด้วย ระบบทาสส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ถูกจับมาจากสงคราม หรือไม่ก็จากการที่เกิดหนี้สินต้องขายตัวเป็นทาส
           เนื่องจากสถานที่ตั้งของอยุธยาอำนวยประโยชน์ให้มีการค้ากับต่างประเทศได้ ดังนั้น การค้าโดยเรือสำเภาจึงเป็นการค้าที่สำคัญของอยุธยาพระเจ้าแผ่นดินทรงผูกขาดการค้าต่างประเทศนี้ และทรงใช้ลูกเรือที่เป็นคนจีนในการดำเนินการค้า นับตั้งแต่สถาปนาอาณาจักร อยุธยามีการค้าที่เป็นรายได้สำคัญกับราชสำนักจีนไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์หมิงหรือชิง การค้าดังกล่าวอยู่ในรูปของความสัมพันธ์ทางบรรณาการ โดยที่ราชสำนักอยุธยาส่งบรรณาการไปถวายพระเจ้าจักรพรรดิจีน และได้สิทธิพิเศษในการซื้อหรือขายของจีน อยุธยาส่งผลิตผลที่เป็นของป่า เช่นฝางหรือไม้หอมไป โดยได้สิ่งของผลิตในเมืองจีน เช่น เครื่องเคลือบ ผ้าแพร-ไหม (ทำให้อยุธยาเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางแพรไหมทางทะเล” หรือ Silk Sea-Route) และโลหะเป็นการตอบแทน ในตอนปลายของอยุธยาปรากฏว่า สินค้าข้าว เป็นสินค้าสำคัญของอยุธยาไปเมืองจีน
           นอกเหนือจากจีน อยุธยาก็ยังมีการค้ากับประเทศอื่นๆอีก โดยติดต่อการค้ากับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มลายู อินโดนีเซีย ตลอดจนกับอินเดีย ซึ่งจะดำเนินมาตลอดจนกระทั่งถูกชาติตะวันตกเริ่มบุกรุกเข้ามา กับประเทศญี่ปุ่นก็มีการค้าและเป็นผลทำให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งหลักแหล่งมีบทบาทสำคัญในอยุธยา ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ชาติตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพลทางการค้า พยายามที่จะยึด “ระบบการค้าของเอเชีย” เข้าแทนที่อินเดีย-อาหรับ-จีน ในบรรดาชาติตะวันตกที่เข้ามามีทั้ง โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส แต่ฮอลันดานับว่าเป็นชาติที่สำคัญ ได้เข้ามามรบทบาทและตั้งคลังสินค้าของตนในอยุธยา จนกระทั่งถึงการเสียกรุงครั้งที่ ๑
           อยุธยานับตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้กลายเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจที่สุดในบรรดาอาณาจักรไทยทั้งหมด ดำรงความเป็นเมืองหลวงของสยามโบราณเป็นเวลา ๔ ศตวรรษ อยุธยามีประชากรในบริเวณเมืองหลวงประมาณ ๑๙๐,๐๐๐ คน ส่วนประชากรทั้งประเทศอาจมีไม่เกิน ๖ ล้านคน และเป็นประชากรที่ผสมกันหลายชาติ ไม่ว่าไทย-จีน-มอญ-ลาว หรือมีแม้ต่างชาติที่ไกลออกไป เช่น โปรตุเกส-ญี่ปุ่น
           เมื่ออยุธยาถูกทำลายอย่างย่อยยับโดยพม่า พระเจ้าตากสิน หรือ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่างก็พยายามสร้างศูนย์กลางขึ้นใหม่สองฝั่งแม่น้ำของบางกอก โดยสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของตนกลับไปยังสมัยของอยุธยา แต่ก็ได้สร้างลักษณะเด่นเฉพาะของตนเองขึ้นมาด้วย

การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา

          กรุงศรีอยุธยาปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรง เป็นพระประมุข ที่มีอำนาจสูงสุดใน การปกครอง แผ่นดิน ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์ทรง มอบหมายให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางปกครอง ดูแลเมือง ลูกหลวง หลานหลวง ต่างพระ เนตรพระกรรณ ส่วนเมืองประเทศราชมีเจ้านายใน ราชวงศ์เก่าปกครอง ขึ้นตรงต่อเมืองราชธานี ศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) ทรงปฏิรูปการปกครอง ลดทอน อำนาจหัวเมือง ทรงแยกการบริหาร ราชการแผ่นดิน ออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ
           ฝ่ายทหาร มีสมุหกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบ
           ฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ
ในฝ่ายพลเรือนนั้นยังแบ่งออกเป็น ๔ กรมหรือ จตุสดมภ์ คือ สี่เสาหลัก ได้แก่
           กรมเวียงหรือนครบาล ทำหน้าที่ปกครองดูแลบ้านเมือง
           กรมวังหรือธรรมมาธิกรณ์ ทำหน้าที่ดูแล กิจการพระราชวัง
           กรมคลังหรือโกษาธิบดี ทำหน้าที่ดูแลด้านการค้าและการต่างประเทศ
           กรมนาหรือเกษตราธิการ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเกษตรกรรม
ซึ่งรูปแบบการปกครองนี้ ใช้สืบต่อมา ตลอด สมัยอยุธยา

ระเบียบการปกครองสมัยอยุธยา
การจัดระเบียบการปกครองแบ่งออกเป็น ๓ สมัย
           ๑. สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.๑๘๙๓-๑๙๙๑)
           ๒. สมัยอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๒๓๑)
           ๓. สมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๓๑๐)

ระบบการปกครองของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
          ระบบการปกครองของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ได้รับแบบอย่างมาจากสุโขทัย และจากขอมนำมาปรับปรุงใช้ ลักษณะการปกครองสมัยนั้นแบ่งเป็น

๑. การปกครองส่วนกลาง คือการปกครองภายในราชธานี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอมแบบแผนที่ได้รับมาเรียกว่า “จตุสดมภ์” ซึ่งประกอบด้วย
           ๑.๑ เมืองหรือเวียง มีขุนเมือง เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ปกครองดูแลท้องที่และราษฎร ดูแลความสงบเรียบร้อย ปราบปรามโจรผู้ร้าย และลงโทษผู้กระทำความผิด
           ๑.๒ วัง มีขุนวัง เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับงานในราชสำนักและพระราชพิธีต่างๆ พิจารณาพิพากษาคดีต่างของราษฎรด้วย
           ๑.๓ คลัง มีขุนคลังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เก็บและรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินอันได้จากอากร นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศอีกด้วย
           ๑.๔ นา มีขุนนา เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ดูแลการทำไร่นา รักษาเสบียงอาหารสำหรับทหาร ออกสิทธิที่นา และมีหน้าที่เก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวง คือใครทำนาได้ก็ต้องแลกเอาเข้ามาส่งฉางหลวง

๒. การปกครองส่วนภูมิภาค คือการปกครองพระราชอาณาเขต กรุงศรีอยุธยาได้แบบแผนมาจากครั้งกรุงสุโขทัย โดยการแบ่งหัวเมืองออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่
           ๒.๑ หัวเมืองชั้นใน มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเมืองป้อมปราการด่านชั้นในสำหรับป้องกันราชธานีทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่า เมืองลูกหลวง ซึ่งอยู่ห่างจากราชธานี เป็นระยะทางเดิน ๒ วัน
                      ทิศเหนือ คือ เมืองลพบุรี
                      ทิศใต้ คือ เมืองพระประแดง
                      ทิศตะวันออก คือ เมืองนครนายก
                      ทิศตะวันตก คือ เมืองสุพรรณบุรี
           นอกจากนั้น ยังมีหัวเมืองชั้นในตามรายทางที่อยู่ใกล้ๆ กับเมืองลูกหลวง เช่น เมืองปราจีน เมืองพระรถ(เมืองพนัสนิคม) เมืองชลบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เป็นต้น และถ้าเมืองใดเป็นเมืองสำคัญก็จะส่งเจ้านายจากราชวงศ์ออกไปครอง

           ๒.๒ เมืองพระยามหานคร หรือหัวเมืองชั้นนอก คือ เมืองใหญ่ที่อยู่ห่างจากหัวเมืองชั้นในออกไป
                      ทิศตะวันออก คือ เมืองโคราชบุรี(นครราชสีมา) เมืองจันทบุรี
                      ทิศใต้ คือ เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา และเมืองถลาง
                      ทิศตะวันตก คือ เมืองตะนาวศรี เมืองทะวาย เมืองเชียงกราน

           ๒.๓ เมืองประเทศราช หรือเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)  สันนิษฐานว่า คงจะมีแต่เมืองมะละกากับเมืองยะโฮร์ทางแหลมมลายูเท่านั้น ส่วนกัมพูชานั้นต้องปราบกันอีกหลายครั้ง จึงจะได้ไว้ในครอบครอง และในระยะหลังต่อมาสุโขทัยก็ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาด้วย
           เมืองประเทศราช มีเจ้านายของตนปกครองตามจารีตประเพณีของตน แต่ต้องกราบบังคมทูลให้กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแต่งตั้ง

ระบบการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
          การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

สาเหตุที่ทรงแก้ไขใหม่ เพราะ
           ๑. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เคยเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลกจึงทำให้พระองค์ทรงรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและการปกครองของกรุงสุโขทัยเป็นอย่างดี ว่าส่วนใดดีส่วนใดบกพร่อง
           ๒. อาณาจักรสุโขทัยได้ตกมาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา และกรุงศรีอยุธยาตีได้นครธมราชธานีขอมใน พ.ศ. ๑๙๗๖ และในครั้งนั้น กรุงศรีอยุธยาได้ข้าราชการชาวสุโขทัยจำนวนมาก ชาวกัมพูชา พราหมณ์ เจ้านาย ท้าวพระยา ผู้ชำนาญทางการปกครอง มาไว้ในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้มีการปฏิรูปการปกครองขึ้น โดยเลือกเอาส่วนที่ดีของการปกครองกรุงสุโขทัยและขอมมาปรับปรุงใช้ในกรุงศรีอยุธยา

ลักษณะการปกครองสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
          การปฏิรูปการปกครองใหม่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และต่อมาในสมัยพระเพทราชา นั้น ได้ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบมา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จะแก้ไขปัญหาในบางสมัย ก็เป็นแต่แก้พลความ ส่วนตัวหลักนั้นยังคงยึดของเดิมอยู่ การปกครองสมัยอยุธยาตอนกลางมีดังนี้

การปกครองส่วนกลาง แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ
           ๑. ฝ่ายทหาร มีสมุหกลาโหม เป็นผู้บังคับบัญชา ตำแหน่งเทียบเท่าอัครมหาเสนาบดี มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยามหาเสนาบดี ทำหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับราชการทหาร
           ๒. ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับงานราชการพลเรือนทั่วๆ ไป มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ มีเสนาบดีจตุสดมภ์เป็นเจ้ากระทรวง ตำแหน่งรองลงมาจากสมุหนายก ทำหน้าที่เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติมา เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ดังนี้
                      กรมเมือง เปลี่ยนเป็น นครบาล
                      กรมวัง เปลี่ยนเป็น ธรรมาธิกรณ์
                      กรมคลัง เปลี่ยนเป็น โกษาธิบดี
                      กรมนา เปลี่ยนเป็น เกษตราธิการ
           ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองของไทย ที่แบ่งราชการทหารกับราชการพลเรือนออกจากกัน แต่ในยามสงครามทั้งสองฝ่ายก็จะรวมพลังกันป้องกันประเทศ ถ้าเป็นยามที่บ้านเมืองสงบ เมื่อมีราชการทหารเกิดขึ้น สมุหกลาโหมก็จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และนำมติที่ประชุมขึ้นกราบบังคมทูลต่อองค์พระเจ้าอยู่หัว เมื่อมีพระบรมราชโองการอย่างใด เสนาบดีกรมวัง ก็จะรับสั่งมายังเจ้าพระยามหาเสนาบดีสมุหกลาโหม จากนั้นก็จะสั่งการไปยังกรมทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับราชการพลเรือน เจ้าพระยาจักรีองครักษ์ประธานในที่ประชุมและนำมติในที่ประชุมขึ้นกราบบังคมทูล เมื่อมีพระบรมราชโองการลงมาอย่างใด ก็จะสั่งไปยังเสนาบดีจตุสดมภ์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ

การปกครองส่วนภูมิภาค
           การปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้นได้วางหลักการปกครองหัวเมืองต่างๆ ให้เป็นแบบเดียวกันกับราชธานี โดยจัดให้มีจตุสดมภ์ตามหัวเมืองต่างๆและได้โปรดให้ยกเลิกเมืองลูกหลวงพร้อมทั้งขยายเขตการปกครองของราชธานีให้กว้างขวางออกไปโดยรอบ การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งตามเขตการปกครองออกเป็น
           ๑. หัวเมืองชั้นใน การปกครองหัวเมืองชั้นใน ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้กำหนดให้เมืองต่างๆ ที่อยู่ในวงราชธานี ซึ่งได้แก่ มณฑลราชบุรี มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลปราจีนบุรี เป็นเมืองชั้นจัตวา มีผู้รั้งและกรมการชั้นผู้น้อย(จ่าเมืองแพร่งและศุภมาตรา) เป็นพนักงานปกครองขึ้นอยู่กับเจ้ากระทรวงในราชธานี
           ๒. หัวเมืองชั้นนอก คือ หัวเมืองที่อยู่นอกราชธานีออกไป และได้จัดเป็นหัวเมืองชั้นโท ตรี ตามลำดับความสำคัญ ผู้ปกครองเมืองได้แก่ พระราชวงศ์หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้งให้ออกไปครองเมือง มีอำนาจสิทธิ์ขาดแทนพระองค์ทุกประการ และมีกรมการพนักงานปกครองชั้นรองลงมาจากเจ้าเมือง คือ กรมการตำแหน่งพล(สมุหกลาโหม) กรมการตำแหน่งมหาดไทย(สมุหนายก) ตำแหน่งจตุสดมภ์ ทำหน้าที่เดียวกับในเมืองหลวง
                      ก. หัวเมืองชั้นนอก เดิมทีเพียง ๒ เมืองคือ พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ยกเมืองนครราชสีมาเป็นหัวเมืองชั้นเอกอีกเมืองหนึ่ง
                      ข. หัวเมืองชั้นโท     มี ๖  เมือง คือ สวรรคโลก นครราชสีมา สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตะนาวศรี
                      ค. หัวเมืองชั้นตรี     มี ๗  เมือง คือ พิชัย พิจิตร นครสวรรค์ จันทรบูรณ์ ไชยา ชุมพร พัทลุง
                      ง. หัวเมืองชั้นจัตวา  มี ๓๐ เมือง เช่น ไชยบาดาล ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ บางละมุง นนทบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ
           ๓. เมืองประเทศราช เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปถึงชายแดนติดต่อกับประเทศอื่น ที่มีภาษาต่างไปจากประเทศไทย เช่น ทวาย ตะนาวศรี มะละกา เป็นต้น เมืองเหล่านี้ มีเจ้านายของเขาปกครองกันเอง เพียงแต่ใครจะเป็นเจ้าเมืองต้องกราบทูลให้พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงทราบก่อน และจะทรงแต่งตั้งให้ครองเมือง มีอำนาจสิทธิ์ขาดในเมืองของตนทุกประการ แต่ต้องถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการมีกำหนด ๓ ปี ต่อครั้ง และถ้ากรุงศรีอยุธยาเกิดศึกสงคราม เมืองประเทศราชต้องส่งกำลังมาช่วย

การปกครองท้องถิ่น แบ่งเป็น
           ๑. บ้าน (หมู่บ้าน) มีผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองให้เป็นผู้ปกครอง
           ๒. ตำบล คือบ้านหลายๆ บ้าน รวมกัน มีกำนันเป็นหัวหน้าปกครอง มีบรรดาศักดิ์เป็น “พัน”
           ๓. แขวง คือตำบลหลายๆ ตำบลรวมกัน (เทียบได้กับอำเภอในปัจจุบัน) มีหมื่นแขวงเป็นหัวหน้าปกครอง
           ๔. เมือง คือ แขวงหลายๆ แขวงรวมกัน มีผู้รั้งปกครอง ถ้าเมืองเป็นเมืองชั้นจัตวา และมีเจ้าเมืองปกครอง ถ้าเมืองนั้นๆ เป็นเมืองชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี

ระบบการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเพทราชาถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยา
          ลักษณะการปกครองกรุงศรีอยุธยาในระยะนี้ ยังคงใช้ระบบการปกครองสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นหลัก จนกระทั่งถึงสมัยพระเพทราชา ซึ่งเป็นสมัยที่บ้านเมืองไม่สงบเกิดกบฏขึ้นบ่อยครั้ง เพราะทหารมีอำนาจมากในขณะนั้น และอำนาจทางทหารตกอยู่ในความควบคุมของสมุหกลาโหมแต่เพียงผู้เดียว ดังเช่นในสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช สมุหกลาโหมเป็นกบฎแย่งชิงราชสมบัติและตั้งตัวเป็นกษัตริย์คือ พระเจ้าปราสาททอง เป็นต้น จึงทำให้สมเด็จพระเทพราชาหวาดระแวงพระทัย เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในสมัยของพระองค์ เพื่อเป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ พระองค์ตัดสินใจจัดระบบการปกครองใหม่เป็นบางส่วนดังนี้
           สมุหกลาโหม แต่เติมเคยควบคุมเกี่ยวกับทางทหารทั่วประเทศ ให้เปลี่ยนมาเป็นควบคุมผู้บังคับบัญชาทหารและพลเรือนในแถบหัวเมืองฝ่ายใต้
           สมุหนายก เดิมเคยควบคุมเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือน ให้เปลี่ยนมาควบคุมผู้บังคับบัญชาทั้งทางทหารและพลเรือนในแถบหัวเมืองฝ่าย เหนือ
           ในกรณีที่เกิดสงคราม ในหัวเมืองฝ่ายใด ผู้บังคับบัญชาการหัวเมืองฝ่ายนั้นต้องเป็นแม่ทัพใหญ่ ดำเนินการต่อสู้ โดยเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพเตรียมทหารและเสบียงอาหาร เป็นต้น
           การที่เปลี่ยนจากระบบมีอำนาจเต็มทางทหารแต่ฝ่ายเดียวของสมุหกลาโหม มาเป็นระบบแบ่งอำนาจทั้ง ๒ ฝ่าย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้สมุหนายกและสมุหกลาโหมควบคุมและแข่งขันกันทำราชการไปในตัว
           การปกครองของเมืองหลวงยังคงใช้ระบบการปกครองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่มีการเปลี่ยนแปลงบ้างก็เฉพาะหัวเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่านั้น เช่น ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ทรงสร้างหัวเมืองชั้นในขึ้นอีกหลายเมือง ได้แก่ นนทบุรี นครชัยศรี ฉะเชิงเทรา สาครบุรี และสระบุรี ทำให้อาณาเขตราชธานีขยายกว้างออกไปอีก ส่วนหัวเมืองประเทศราชนั้นไม่แน่นอน ถ้าสมัยใดพระมหากษัตริย์มีอำนาจก็จะมีเมืองขึ้นหลายเมือง ถ้าอ่อนแอเมืองขึ้นต่างๆ ก็จะแข็งเมืองไม่อยู่ในอำนาจต่อไป
           การปกครองท้องถิ่นก็ยังคงใช้แบบเดียวกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

สภาพสังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา

          สังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะต่อเนื่องมาจากสังคมสมัยสุโขทัย แต่ก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากสังคมสมัยสุโขทัยหลายด้าน ทั้งนี้ก็เพราะว่าสถาบันสูงสุดของการปกครองได้เปลี่ยนฐานะไป นั่นคือ พระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนฐานะจากมนุษยราชในสมัยสุโชทัยเป็นเทวราชขึ้นในสมัยอยุธยา เปลี่ยนจากฐานะความเป็น “พ่อขุน” มาเป็น “เจ้าชีวิต” ของประชาชนซึ่งเป็นผลให้ระบบและสถาบันทางการปกครองต่างๆ แตกต่างไปจากสังคมไทยสมัยสุโขทัยด้วย

ชนชั้นของสังคมสมัยอยุธยา
          สังคมอยุธยา เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้น นับตั้งแต่การแบ่งแยกชนชั้นอย่างเด็ดขาด ระหว่างกษัตริย์กับราษฎรแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ก็มีอันดับสูงต่ำลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ในหมู่ราษฎร ก็มีการแบ่งชนชั้นกันเป็นชนชั้นผู้ดีกับชนชั้นไพร่ ในหมู่ข้าราชการก็มีศักดินาเป็นตัวกำหนดความสูงต่ำของข้าราชการในชนชั้นต่างๆ ซึ่งชนชั้นต่างๆ เหล่านี้ จะก่อให้เกิดมีสิทธิในสังคมอยุธยาขึ้นแตกต่างกันด้วย
           ชนชั้นสูงสุดในสมัยอยุธยาคือพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนข้าราชการหรือขุนนางนั้น ก็แบ่งเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปตามลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบ พร้อมกับตำแหน่งหน้าที่แล้ว ราชการสมัยอยุธยายังมีศักดินาซึ่งมากน้อยตามตำแหน่งหน้าที่ ระบบศักดินานี้เป็นระบอบของสังคมอยุธยาโดยแท้ เพราะศักดินานั้น ทุกคนต้องมีตั้งแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ลงไปจนถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย และประชาชนธรรมดา จำนวนลดหลั่นลงไป
           นอกจากจะแบ่งตามหน้าที่ตำแหน่งและความรับผิดชอบแล้ว ชนชั้นในสังคมอยุธยา ยังแบ่งออกกว้างๆ เป็นสองชนชั้นอีก คือ ผู้มีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐ ขึ้นไป เรียกว่าชนชั้นผู้ดี ส่วนที่ต่ำลงมาเรียกว่า “ไพร่” แต่ไพร่ก็อาจเป็นผู้ดีได้ เมื่อได้ทำความดีความชอบเพิ่มศักดินาของตนขึ้นไปถึง ๔๐๐ แล้ว และผู้ดีก็อาจตกลงมาเป็นไพร่ได้หากถูกลดศักดินาลงมาจนต่ำกว่า ๔๐๐
           การเพิ่มการลดศักดินาในสมัยอยุธยาก็อาจทำกันง่ายๆ หากได้ทำความดีความชอบหรือความผิด การแบ่งคนออกเป็นชนชั้นไพร่ และชนชั้นผู้ดีเช่นนี้ ทำให้สิทธิของคนในสังคมแต่ละชั้นต่างกัน สิทธิพิเศษต่างๆ ตกไปเป็นของชนชั้นผู้ดีตามลำดับของความมากน้อยของศักดินา เช่นผู้ดีเองและคนในครอบครัวได้รับยกเว้นไม่ถูกเกณฑ์ไปใช้งานราชการ ในฐานะที่เรียกกันว่า เลก เมื่อเกิดเรื่องศาล ผู้ดีก็ไม่ต้องไปศาล เว้นแต่ผิดอาญาแผ่นดิน เป็นขบถ ธรรมดาผู้ดีจะส่งคนไปแทนตนในโรงศาล มีทนายไว้ใช้เป็นการส่วนตัว นอกจากนั้น ก็ยังมีสิทธิเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ในขณะที่เสด็จออก ขุนนาง เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ ผู้ดีที่มีศักดินาสูงๆ จะต้องคุมคนไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อรับราชการทัพได้ในทันทีเมื่อพระมหากษัตริย์เรียก เช่น ผู้มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ และมีหน้าที่บังคับบัญชากรมกอง ซึ่งมีไพร่หลวงสังกัดอยู่ ก็ต้องรับผิดชอบกะเกณฑ์คนแข็งแรงและมีประสิทธิภาพด้วย
           สังคมอยุธยานั้น กฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องมีนาย ตามกฎหมาย ลักษณะรับฟ้องมาตรา ๑๐ กล่าวว่า “ราษฎรรับฟ้องร้องด้วยคดีประการใดๆ แลมิได้สังกัดมูลนายอย่าพึงรับไว้บังคับบัญชาเป็นอันขาดทีเดียว ให้ส่งตัวผู้นั้นแก่สัสดี เอาเป็นคนหลวง” จะเห็นว่า ไพร่ทุกคนของสังคมอยุธยาต้องมีสังกัดมูลนายของตน ผู้ไม่มีนายสังกัดกฎหมายไม่รับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สิน ไพร่จะต้องรับใช้ชาติในยามสงคราม จึงต้องมีสังกัดเพื่อจะเรียกใช้สะดวก” เพราะในสมัยอยุธยานั้น ไม่มีทหารเกณฑ์หรือทหารประจำการในกองทัพเหมือนปัจจุบัน จะมีก็แต่กองทหารรักษาพระองค์เท่านั้น นอกจากนั้น เป็นเพราะสมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ต้องใช้ชายฉกรรจ์จำนวนมากในการปกป้องข้าศึก ศัตรู ความจำเป็นของสังคมจึงบังคับให้ราษฎรต้องมีนาย เพราะนายจะเป็นผู้เกณฑ์กำลังไปให้เมืองหลวงป้องกันภัยจากข้าศึกศัตรู และนายซึ่งต่อมากลายเป็น “เจ้าขุนมูลนาย” ต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกหมู่ของตน ถ้านายสมรู้ร่วมคิดกับลูกหมู่ทำความผิด ก็ถูกปรับไหมตามยศสูงต่ำ และหากลูกหมู่ของตนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรปล้นทรัพย์ มูลนายก็ต้องส่งตัวลูกหมู่ให้แก่ตระลากร สังคมอยุธยาจึงเป็นสังคมที่ต้องมีความรับผิดชอบมากอยู่ มีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เพราะลักษณะและองค์ประกอบของสังคมซับซ้อนกว่าสังคมสุโขทัย

ระบบราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา
          ลักษณะสังคมไทยที่น่าสนใจอยู่อีกประการหนึ่งคือ ระบบราชการ ซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดราษฎรให้มีภาระต่อแผ่นดิน ชีวิตคนไทยได้ผูกพันอยู่กับราชการมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน
           ข้าราชการในสมัยอยุธยา เรียกว่า ขุนนาง มียศหรือบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาหรือออกญาเป็นชั้นสูงสุด และลดลงไปตามลำดับคือ เจ้าหมื่น พระ จมื่น หลวง ขุน จ่า หมื่น และพัน ส่วนเจ้าพระยา และสมเด็จพระยานั้น เกิดในตอนปลายๆ สมัยอยุธยา ส่วนยศ เจ้าหมื่น จมื่น และจ่านั้น เป็นยศที่ใช้กันอยู่ในกรมหาดเล็กเท่านั้น ส่วนตำแหน่งข้าราชการสมัยอยุธยาก็มี อัครมหาเสนาบดี เสนาบดี จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุหบัญชี เป็นต้น ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีนั้นในระยะแรกๆ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ต่อมาในระยะหลังๆ ก็เป็นเจ้าพระยาไปหมด ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ตั้งแต่ จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรมลงมาจนถึงสมุบัญชีนั้น มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบ้าง พระบ้าง จนถึงหลวง และขุนตามความสำคัญของตำแหน่งนั้นๆ
           ข้าราชการในสมัยอยุธยา ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนหรือเงินปี ได้รับพระราชทานเพียงที่อยู่อาศัยและเครื่องอุปโภคบริโภคบางอย่าง เช่น หีบเงินใช้ใส่พลู ศาตราวุธ เรือยาว สัตว์ พาหนะ เลกสมกำลังและเลกทาสไว้ใช้สอย ที่ดินสำหรับทำสวนทำไร่ แต่เมื่อออกจากราชการแล้วก็ต้องคืนเป็นของหลวงหมดสิ้น

ไพร่สมัยอยุธยา
          ระบบราชการของอยุธยานั้น ได้นำคนลงเป็นไพร่ สังคมอยุธยาจึงมีไพร่มีนาย ตามจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวไว้ว่า “ประชาชนชาวสยามรวมกันเป็นกองทหารรักษาดินแดน” ซึ่งทุกคนต้องขึ้นทะเบียนหางว่าวกรมสุรัสวดีเข้าไว้ทั้งหมด ทุกคนเป็นพลรบต้องเกณฑ์เข้าเดือนรับราชการในพระองค์ปีละ ๖ เดือน
           พลเมืองทั้งสิ้นต้องขึ้นทะเบียนเป็นหลักฐานไว้โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายขวาฝ่ายซ้าย เพื่อทุกคนรู้ว่าตนต้องขึ้นสังกัดหน้าที่ฝ่ายใด นอกจากนั้น ยังแบ่งส่วนราชการออกเป็นกรมอีก แต่ละกรมมีหัวหน้าคนหนึ่งเรียกว่า นาย จนกระทั่งนายนี้เป็นคำแสดงความเคารพยกย่องที่ใช้กันทั่วไป
           แม้ระเบียบการปกครองสมัยอยุธยาจะแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ออกเป็นฝ่ายทหารและ พลเรือน แต่ก็ปรากฏว่าใช้ได้แค่ยามปรกติเท่านั้น พอเกิดสงครามขึ้น เจ้านายทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนก็ต้องเข้าประจำกองตามทำเนียบตน ทั้งนี้เพราะกำลังพลมีน้อย ไม่อาจแยกหน้าป้องกันประเทศไว้กับทหารฝ่ายเดียวได้ จำเป็นต้องใช้หลักการรวม จึงทำให้ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “ไพร่” ไพร่เป็นคำที่กินความกว้างขวาง เพราะผูกพันอยู่กับราชการมากกว่าทหารปัจจุบัน ในสมัยอยุธยา ไพร่คือ ประชาชนที่สังกัดมูลนายต่างๆ มีหน้าที่และความรับผิดชอบแยกออกได้ดังนี้
           ๑. ไพร่หลวง หมายถึง ไพร่ที่สังกัดวังหลวงหรือพระเจ้าแผ่นดิน ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์เข้ารับราชการปีละ ๖ เดือนคือเข้าเดือนหนึ่งออกเดือนหนึ่งสลับกันไป ถ้าไม่อยากถูกเกณฑ์เข้ารับราชการก็จะต้องเสียเงินแทน ซึ่งอาจจะเป็นเดือนละ ๔-๖ บาท ไพร่หลวงจะต้องสังกัดอยู่ในกรมพระสัสดีซ้าย ขวา นอก ใน ไพร่หลวงที่เป็นชายเมื่อเกิดศึกสงครามก็จะต้องออกรบได้
           ๒. ไพร่สม หมายถึง ไพร่ที่สังกัดบรรดาเจ้านายหรือขุนนางใหญ่น้อยทั้งหลายในยามปรกติก็ถูกเกณฑ์ แรงงานหรือรับราชการ ถ้าเกิดศึกสงครามผู้เป็นชายก็จะต้องออกรบ มีบางครั้งพวกไพร่หลวงหนีไปสมัครเป็นไพร่สมอยู่กับเจ้านาย กฎหมายอยุธยามีบทลงโทษถึงจำคุกและถูกเฆี่ยนถ้าหากจับได้
           นอกจากนั้น กฎหมายอยุธยายังได้กำหนดอีกว่า ถ้าพ่อกับแม่สังกัดแตกต่างกันเช่นคนหนึ่งเป็นไพร่หลวง อีกคนหนึ่งเป็นไพร่สม ลูกที่เกิดออกาจะต้องแยกสังกัดตามที่กฎหมายกำหนด
           ๓. ไพร่ราบ หมายถึง ไพร่ที่สังกัดมูลนาย มีอายุระหว่าง ๑๓-๑๗ ปี มีศักดินาระหว่าง ๑๕
           ๔. ไพร่ส่วย คือ พวกที่ยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์เข้ามารับราชการแต่จะต้องส่งสิ่งของมาให้หลวงแทน เช่น อาจจะเป็นดีบุก ฝาง หญ้าช้าง ถ้าไม่นำสิ่งของเหล่านี้มาจะต้องจ่ายเงินแทน
           ๕. เลก เป็นคำรวมที่ใช้เรียกไพร่หัวเมืองทั้งหลายตลอดจนข้าทาส พวกเลกหัวเมือง ยังขึ้นกับกระทรวงใหญ่ ๒ กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย และกลาโหม มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ทาสสมัยอยุธยา
          เป็นที่ยอมรับกันว่า สังคมอยุธยามีทาสไว้ใช้ ทาสเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่งของสังคมสมัยอยุธยาและกฎหมายอยุธยาก็ได้ยอมรับการมีทาส มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทาสไว้มากมายและได้แบ่งประเภทของทาสไว้ ๗ พวกด้วยกันคือ
           ๑. ทาสสินไถ่
           ๒. ทาสเกิดในเรือนเบี้ย
           ๓. ทาสได้มาแต่บิดามารดา
           ๔. ทาสท่านให้
           ๕. ทาสอันได้ช่วยเหลือในยามโทษทัณฑ์
           ๖. ทาสอันได้เลี้ยงมาเมื่อเกิดทุพภิกขภัย
           ๗. ทาสอันได้ด้วยเชลย
           จะเห็นว่า ทาสในสมัยอยุธยานั้น เป็นทาสที่ถูกกฎหมายคุ้มครอง เป็นทาสที่มีสภาพเป็นมนุษย์และเป็นพลเมืองของชาติอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นคนไทยในสมัยอยุธยาจึงสมัครใจจะเป็นทาสมากกว่าจะเป็นขอทาน เพราะอย่างน้อยก็มีข้าวกิน มีที่อยู่อาศัยโดยไม่เดือดร้อน

ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีบางอย่างสมัยอยุธยา
          การก่อรูปสังคมนั้น โดยทั่วไปย่อมเป็นหมู่บ้านตามที่อุดมสมบูรณ์พอจะเพาะปลูกเพื่อยังชีพได้ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำ ลักษณะการก่อรูปของสังคมไทยโบราณก็เป็นไปลักษณะนี้
           ๑. บ้านเรือนสมัยอยุธยา สร้างเป็นหลังขนาดย่อมๆ 
           ๒. ผู้หญิงต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่าผู้ชาย
           ๓. ชอบเล่นการพนันกันอย่างกว้างขวาง
           ๔. ชอบสูบยาเส้น และสูบกันอย่างกว้างขวาง
           ๕. นิยมให้ลูกชายได้ศึกษาเล่าเรียนโดยใช้วัดเป็นสถานศึกษา
           การเลื่อนชนชั้นในสังคมอยุธยาแม้ไม่มีกฎข้อห้ามในทางทฤษฎีว่าเลื่อนชั้นไม่ได้แบบอินเดีย แต่ในทางปฏิบัติ มักจะทำได้ยากเพราะขุนนางย่อมไม่สนับสนุนไพร่ให้เข้ารับราชการซ้ำยังกีดกันเพราะอำนาจ อภิสิทธิ์ เกียรติยศที่ขุนนางได้รับได้มาเพราะตำแหน่งราชการ เมื่อออกจากราชการก็จะหมดทั้งอำนาจ อภิสิทธิ์และเกียรติยศ  จึงไม่สนับสนุนบุคคลอื่นให้เข้ารับราชการนอกจากลูกหลานของตนเอง

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

           หลังการปฏิรูปการปกครองมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญ ๒ ประการ คือ การขึ้นมามีอำนาจของชนชั้นขุนนาง และการรับวิทยาการจากตะวันตก
           การขึ้นมามีอำนาจของชนชั้นขุนนางได้กล่าวมาแล้วว่า รูปแบบการปกครองที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงปฏิรูปจัดขึ้นใหม่นั้น ใช้ระบบขุนนางเป็นเครื่องมือในการบริหารด้วยเหตุนี้หลังการปฏิรูปการปกครองชนชั้นขุนนางจึงมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่หลังการปฏิรูปการปกครองมาจนถึงช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๑๑๒  แม้ว่าชนชั้นขุนนางจะมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังมิได้มีอำนาจถึงขีดสูงสุด
           ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๓๓-๒๑๔๘) ได้มีการปรับปรุงระบบการปกครองอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือได้ยกเลิกการส่งเจ้านายบางพระองค์ไปปกครองหัวเมืองชั้นนอกเช่น เมืองพิษณุโลกให้บรรดาเจ้านายประทับในเมืองหลวง  และให้พวกขุนนางเป็นผู้รับผิดชอบปกครองหัวเมืองทั้งหมด การปรับปรุงการปกครองครั้งนี้ ทำให้อำนาจของชนชั้นเจ้านายลดน้อยลงยิ่งกว่าเดิม  ส่วนอำนาจของชนชั้นขุนนางซึ่งเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่หลังการปฏิรูปการปกครองได้ทวีมากยิ่งขึ้นถึงขีดสูงสุด  จนขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสามารถตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์ได้ในปี พ.ศ.๒๑๗๒ ขุนนางผู้นั้นคือเจ้าพระยากลาโหม สุริยวงศ์ผู้ซึ่งได้แย่งชิงราชสมบัติจากพระอาทิตย์วงศ์เยาวกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัย แล้วตั้งตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง(พ.ศ.๒๑๗๒-๒๑๙๙) กล่าวได้ว่าตลอดระยะเวลาสี่ร้อยปีเศษของประวัติศาสตร์อยุธยา ปัญหาการเมืองการปกครองข้อหนึ่งที่อยุธยาประสบอยู่ตลอดเวลาคือการถ่วงดุลอำนาจชนชั้นเจ้านายและชนชั้นขุนนางให้อยู่ในดุลที่เหมาะสม  ให้เจ้านายและขนนางคานอำนาจกันเอง เพื่อจะได้ไม่เป็นภัยต่อราชบัลลังก์ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง ในสมัยอยุธยาตอนต้นก่อนการปฏิรูปการปกครองเจ้านายผู้ครองเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวง มีอำนาจทางการเมืองมากก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติทุกครั้งที่โอกาสอำนายให้เมื่อแก้ปัญหาด้วยการลดอำนาจของเจ้านายลงชนชั้นขุนนางก็มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นแต่เมื่อไม่มีมาตรการควบคุมอำนาจที่ดีก็เปิดโอกาสให้ชนชั้นขุนนางเข้ามาแย่งชิงราชสมบัติได้เช่นกันการรับวิทยาการจากตะวันตก

กฎหมายและศาลสมัยกรุงศรีอยุธยา

ระบบกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
          ลักษณะการตั้งกฎหมายในตอนแรกๆ นั้นทำเป็นหมายประกาศอย่างละเอียด ขึ้นต้นบอกวัน เดือน ปี ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ใครเป็นผู้กราบบังคมทูลคดีอันเป็นเหตุให้ตรากฎหมาย พระเจ้าแผ่นดินยืดยาวเกินไป จึงตัดข้อความที่ไม่ต้องการออก แต่ต่อๆ มา กฎหมายมีมากขึ้น ก็ยากแก่การค้นห้า จึงตัดข้อความลงอีก ซึ่งพราหมณ์ชาวอินเดียเป็นผู้นำมาสอนให้ทำ อนุโลมตามแบบพระมนูธรรมศาสตร์ อันเป็นหลักกฎหมายของอินเดีย เช่น ลักษณะโจร ลักษณะผัวเมีย

 กฎหมายสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
          ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๐ ได้มีการพิจารณาตรากฎหมายขึ้นทั้งหมด ๑๐ ฉบับ คือ
           ๑. กฎหมายลักษณะพยาน พ.ศ. ๑๘๙๔
           ๒. กฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ. ๑๘๙๕  
           ๓. กฎหมายลักษณะรับฟ้อง พ.ศ. ๑๘๙๙ 
           ๔. กฎหมายลักษณะลักพา พ.ศ. ๑๘๙๙ 
           ๕. กฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์ พ.ศ. ๑๙๐๑ 
           ๖. กฎหมายลักษณะโจร พ.ศ. ๑๙๐๓
           ๗. กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน พ.ศ. ๑๙๐๓ 
           ๘. กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. ๑๙๐๔ 
           ๙. กฎหมายลักษณะผัวเมีย(เพิ่มเติม) พ.ศ. ๑๙๐๕
           ๑๐. กฎหมายลักษณะโจรว่าด้วยสมโจร พ.ศ. ๑๙๑๐

 กฎหมายลักษณะลักพา
           กฎหมายลักษณะลักพา มีอยู่บทหนึ่งว่าด้วยเรื่องทาส ดังนี้ ผู้ใดลักพาข้าคนท่านขายให้แก่คนต่างประเทศ คนต่างเมือง ฯลฯ พิจารณาเป็นสัจ ท่านให้ฆ่าผู้ร้ายนั้นเสีย ส่วนชาวต่างประเทศนั้นให้เกาะจำไว้ฉันไหมโจร
แต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเป็นมิตรกันนั้น มีผู้ลักพาทาสในกรุงศรีอยุธยาหนีขึ้นไปเมืองเหนือ พวกเจ้าเงินกราบทูลพระเจ้าอู่ทองขอให้ไปติดตามเอาทาสกลับมา แต่พระเจ้าอู่ทองกลับมีพระราชดำรัสให้ว่ากล่าวเอาแก่ผู้ขายนายประกันเท่านั้น

 กฎหมายลักษณะผัวเมีย
          กฎหมายลักษณะผัวเมียในสมัยนั้น ชายมีภรรยาได้หลายคน และกฎหมายก็ยอมรับ กฎหมายจึงแบ่งภรรยาออกเป็น
          ๑. หญิงอันบิดามารดากุมมือให้ไปเป็นเมียชาย ได้ชื่อว่าเป็นเมียกลางเมือง (เมียหลวง)
          ๒. ชายขอหญิงมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยาหลั่นเมียหลวงลงมา ได้ชื่อว่าเมียกลางนอก
          ๓. หญิงใดทุกข์ยาก ชายช่วยไถ่ได้มาเห็นหมดหน้า เลี้ยงเป็นเมียได้ชื่อว่า เมียกลางทาสี

 การพิจารณาคดี
          ในสมัยพระจ้าอู่ทองนั้น ได้อยู่ในอำนาจของเสนาบดีจตุสดมภ์ดังนี้
           ๑. เสนาบดีกรมเมือง พิจารณาพิพากษาคดีอุกฉกรรจ์ที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นภายในแผ่นดิน
           ๒. เสนาบดีกรมวัง พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทของราษฎร
           ๓. เสนาบดีกรมคลัง พิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับพระราชทรัพย์
           ๔. เสนาบดีกรมนา พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับ ที่นา โคกระบือ เพื่อระงับข้อพิพาทของชาวนา

ระบบกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง
สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

          ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีกฎหมายใหม่หลายฉบับ บางฉบับก็ปรับปรุงจากของเก่า กฎหมายที่ตราขึ้นใหม่มีดังนี้

 ๑. กฎหมายว่าด้วยการเทียบศักดินา
          จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ศิลาจารึกสุโขทัย และจดหมายเหตุของจีน ทำให้เราทราบว่า ศักดินาไม่ได้มีเมื่อสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่ได้มีมานานแล้ว เป็นเพียงแต่พระองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์และปรับปรุงใหม่เท่านั้น
ในสมัยก่อน ถือว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร ข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ ยังไม่มีเงินเดือน เงินปีอย่างสมัยนี้ จึงใช้วิธีพระราชทานที่ดินให้มากน้อยตามฐานะแต่ความเป็นจริง แล้วก็ไม่ได้มีที่ดินไว้ในครอบครองตามที่กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ศักดินาเป็นเครื่องกำหนดชั้นฐานะของบุคคลและยังมีผลในทางด้านอื่นๆ ด้วยเช่น
           ๑.๑ การปรับไหม ผู้ที่ทำผิดอย่างเดียวกัน ถ้ามีศักดินาสูงกว่า จะเสียค่าปรับมากกว่ามีศักดินาต่ำกว่า หรือการปรับไหมให้แก่กันในคดีเดียวกัน ถ้าไพร่ผิดต่อไพร่ จะเสียค่าปรับตามศักดินาไพร่ ถ้าไพร่ทำผิดต่อขุนนาง ให้เอาศักดินาขุนนางมาปรับไพร่ ถ้าขุนนางผิดต่อไพร่ ให้ปรับตามศักดินาของขุนนาง
           ๑.๒ การตั้งทนาย ผู้ที่มีศักดินา ๔๐๐ ไร่ ขึ้นไป จะแต่งตั้งทนายว่าความแทนตนเองได้
           ๑.๓ กำหนดที่นั่งในการเฝ้า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน ผู้มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ ถึง ๘๐๐ ต้องเข้าเฝ้า นอกนั้นไม่บังคับ ตำแหน่งที่นั่งจะสูงต่ำ ใกล้หรือไกลให้จัดตามศักดินา
           พอสรุปได้ว่า ศักดินา หมายถึง เกณฑ์ตามพระราชกำหนดที่กำหนดว่า บุคคลนั้นจะมีกรรมสิทธิ์ในที่นามากน้อยเพียงใด
          ระเบียบตำแหน่งยศศักดินาของข้าราชการ มีดังนี้
           ๑. ยศ ได้แก่ เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน
           ๒. ราชทินนาม ได้แก่ ยมราช สีหราชเดโชชัย ฯลฯ
           ๓. ตำแหน่ง ได้แก่สมุหกลาโหม สมุหนายก เสนาบดี ฯลฯ
           ๔. ศักดินา ได้แก่ เกณฑ์กำหนดสิทธิ์ที่นาตามยศแต่ละบุคคล

 ๒. กฎหมายลักษณะอาญาขบถศึก
          ตัวอย่างความบางตอนเกี่ยวกับลักษณะอาญาขบถศึก
           มาตรา ๑ ผู้ใดใฝ่สูงให้เกินศักดิ์มักขบถประทุษร้าย จะต่ำพระองค์ลงมาดำภูฉัตร อนึ่งทำร้ายพระองค์ด้วย โหรายาพิษ แลด้วยเครื่องศาสตราสรรพยุทธให้ถึงสิ้นพระชนม์ อนึ่งพระเจ้าอยู่หัวให้ผู้ใดไปรั้งเมืองครองเมืองและมิได้เอาสุพรรณบุปผาและ ภัทยาเข้ามาบังคมถวายแลแข็งเมือง อนึ่งผู้ใดเอาใจเผื่อแผ่ศึกศัตรูนัดแนะให้ยกเข้ามาเบียดเบียนพระนคร ขอบขัณฑเสมาธานีน้อยใหญ่ อนึ่งผู้ใดเอากิจการบ้านเมืองแจ้งให้ข้าศึก ถ้าผู้ใดกระทำดังกล่าวนี้ โทษผู้นั้นเป็นอุกฤษฏ์ ๓ สถาน
           สถานหนึ่ง ให้ริบราชบาทย์ ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร
           สถานหนึ่ง ให้ริบราชบาทย์ ฆ่าเสีย เจ็ดโคตร
           สถานหนึ่ง ให้ริบราชบาทย์ แล้วให้ฆ่าเสียโคตรนั้นอย่าเลี้ยงต่อไปอีกเลย
           เมื่อประหารชีวิตนั้น ให้ประหารให้ได้ ๗ วัน จึงสิ้นชีวิต เมื่อประหารนั้นอย่าให้โลหิตและศพตกลงในแผ่นดินท่าน ให้ใส่แพลอยเสียตามกระแสน้ำ

 ๓. กฎหมายลักษณะอาญาหลวง
          ตัวอย่างความบางตอนเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะอาญาหลวง
           มาตรา ๑ ผู้ใดโลภนักมักทำใจใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์ กระทำให้ล้นพ้นล้ำเหลือบรรดาศักดิ์ อันท่านไม่ให้แก่ตน แลจำพระราชนิยมพระเจ้าอยู่หัว แลถ้อยคำมิควรเจรจา มาเจรจาเข้าในระหว่างราชาศัพท์ แลสิ่งที่มิควรเอามาประดับ เอามาทำเป็นเครื่องประดับท่านว่าผู้นั้นทะนงองอาจ ให้ลงโทษ ๘ สถาน
           สถานหนึ่ง ให้ฟันคอริบเรือน
           สถานหนึ่ง ให้เอามะพร้าวห้าวยัดปาก
           สถานหนึ่ง ให้ริบราชบาทย์ แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง
           สถานหนึ่ง ให้ไหมจตุรคูณเอาตัวออกจากราชการ
           สถานหนึ่ง ให้ไหมทวีคูณ
           สถานหนึ่ง ให้ทวนด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ๒๕ ที ใส่กรุไว้
           สถานหนึ่ง ให้จำแล้วถอดเสียเป็นไพร่
           สถานหนึ่ง ให้ภาคทัณฑ์ไว้

 ๔. กฎหมายว่าด้วยกฎมณเฑียรบาล
          กฎมณเฑียรบาล หมายถึง พระราชกำหนดที่ใช้ภายในพระราชสำนัก แบ่งเป็น ๓ แผนก
           ๔.๑ แผนกพระตำรา หมายถึง พระตำราที่ว่าด้วยแบบแผน พระราชานุกิจ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติปฏิบัติตามกำหนด
           ๔.๒ แผนกพระธรรมนูญ หมายถึง แผนกที่ว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการ ตลอดถึงการจัดตำแหน่งต่างๆ ของพระราชวงศ์
           ๔.๓ แผนกพระราชกำหนด เป็นบทบัญญัติสำหรับใช้ในพระราชสำนัก รวมทั้งข้อบังคับว่าด้วยระเบียบการปกครองในราชสำนัก ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายด้วย เช่น 

                      วิวาทถกเถียงกันในวัง มีโทษให้จำใส่ชื่อไว้ ๓ วัน
                      ด่ากันในวัง มีโทษให้ตีด้วยหวาย ๕๐ ที
                      ถีบประตูวัง มีโทษให้ตัดเท้า
                      กินเหล้าในวัง มีโทษให้เอาเหล้าร้อนๆ กรอกปาก

ระบบกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
สมัยพระเพทราชาถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยา
           กฎหมายในสมัยพระเพทราชาถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นกฎหมายที่ปรับปรุงเพิ่มเติมจากกฎหมายสมัยพระเจ้าอู่ทองบ้าง ตราขึ้นใหม่บ้าง เช่น
           กฎหมายลักษณะพิสูจน์ สมัยพระไชยราชา พ.ศ. ๒๐๗๘
           กฎหมายเพิ่มเติมลักษณะอาญาหลวง สมัยพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. ๒๐๙๓
           กฎหมายพิกัดเกษียณอายุ สมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๗๖
           กฎหมายลักษณะอุทธรณ์ สมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๗๘
           กฎหมายพระธรรมนูญตรากระทรวง สมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๗๘
           กฎหมายลักษณะทาส สมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๘๐

           การทหาร
           ในสมัยพระเพทราชา พระองค์ทรงเห็นข้อบกพร่องในทางการทหาร จึงจัดระเบียบและปรับปรุงแก้ไขส่วนที่บกพร่องให้ดียิ่งขึ้น โดยพระองค์ทรงดำเนินการปรับปรุง ดังนี้
           ๑. ทำสารบัญชี โดยการตั้งเป็นกรม แบ่งงานออกเป็น
                      ๑.๑ สุรัสวดีกลาง
                      ๑.๒ สุรัสวดีขวา
                      ๑.๓ สุรัสวดีซ้าย
           ๒. มีการแต่งตำรายุทธพิชัยสงคราม เพื่อใช้เป็นหลักในการทำสงครามให้ถูกยุทธวิธี ซึ่งเป็นตำราที่ใช้ยึดเป็นหลักปฏิบัติกันมาจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา

          ชายฉกรรจ์ที่มีสัญชาติไทย มีหน้าที่ดังนี้
          ๑. เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นไพร่สม ต่อเมื่ออายุ ๒๐ ปี จึงจะรับราชการเป็นไพร่หลวง และอยู่ในราชการจนกว่าจะอายุครบ ๖๐ ปี จึงจะถูกปลด แต่ถ้ามีบุตรชายและส่งเข้ารับราชการ ๓ คน ให้บิดาพ้นราชการได้
          ๒. ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องมีสังกัดอยู่ในกรมใดกรมหนึ่ง ลูกหลานผู้สืบสกุลต้องอยู่ในสังกัดเดียวกัน ถ้าจะย้ายสังกัดต้องขออนุญาตก่อน
          ๓. ในเวลาที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไพร่หลวงจะต้องเข้าประจำการปีละ ๖ เดือน เรียกว่า เข้าเวร และจะต้องหาเสบียงของตนเองมาด้วย การเข้าเวรนี้จะเข้าเวร ๑ เดือน แล้วออกเวรไปทำมาหากิน ๑ เดือนแล้วจึงกลับมาเข้าเวรใหม่ สลับกันจนครบกำหนด
          ๔. หัวเมืองชั้นนอก ที่อยู่ห่างไกลในยามปกติ ไม่ต้องการคนเข้ารับราชการมากเหมือนในราชธานี จึงใช้วิธีเกณฑ์ส่วนแทนการเข้าเวร โดยการนำของที่ทางราชการต้องการ เช่น ดินประสิว แร่ดีบุก ฯลฯ มาให้กับทางราชการแทนการเข้าเวร

เศรษฐกิจสมัยอยุธยา

          อยุธยามีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มาแต่แรกก่อตั้งอาณาจักร คือ มีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เอื้ออำนวยต่อการเกษตรและการค้าต่างประเทศดีกว่า อาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรอื่น ๆ ที่เป็นของไทยด้วยกัน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากแคว้นละโว้ (ลพบุรี) และแคว้นสุพรรณบุรี ที่สำคัญ คือ กำลังที่โยกย้ายมาจากแคว้นทั้งสอง เป็นผู้มีความสามารถและมีประสบการณ์ จึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจให้แก่อยุธยาได้เป็นอย่างดีการพัฒนาทาง เศรษฐกิจสมัยอยุธยามีด้านต่าง ๆ ดังนี้

           ๑. การเกษตร การเกษตรเป็นเศรษฐกิจหลักของอยุธยา อยุธยามีทำเลที่ตั้งบนที่ราบอันมีดินที่อุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีน้ำตลอดปี แม้แต่หน้าแล้งก็ไม่ขาดน้ำ ในฤดูฝนมีน้ำมากจนท่วมพื้นที่สองฝั่งน้ำทั่วไป การทับถมของโคลนตมทำให้มีปุ๋ยในชั้นหน้าดิน แม้ว่าพื้นดินจะมีทรายปนอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อย ดินจึงเก็บกักน้ำได้ดี 
           เมืองมีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าว ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย จึงมีการปลูกข้าวกันทั่วไป รองลงมามีไม้ยืนต้น ได้แก่ มะม่วง มะพร้าว หมาก และพืชผักผลไม้อื่น ๆ ที่มีความสำคัญ ได้แก่ ฝ้าย พริกไทย พริก หอม กระเทียม เป็นต้น แต่ชาวอยุธยาก็มีการใช้เทคนิคแบบดั้งเดิม พึ่งพาธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่นอาศัยน้ำฝนเป็นปัจจัยในการผลิต แรงงานที่ใช้ทั่วไป คือ โค และกระบือ คันไถทำด้วยไม้ 
           นอกจากนั้น การเกษตรสมัยอยุธยามีจุดประสงค์เพื่อการบริโภคภายในอาณาจักรตามลักษณะแบบยังชีพ มิได้เพื่อค้าขายสินค้าทางการเกษตรที่อยุธยาส่งไปขายยังต่างประเทศ ล้วนแต่เป็นผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคในราชอาณาจักรแล้ว 
           แม้ว่ารัฐบาลสมัยอยุธยาจะไม่มีการส่งเสริมทางการเกษตรมากมัก และวิธีการปลูกพืชดั้งเดิมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่นั้น สภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและสมบูรณ์ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทำให้อาณาจักรอยุธยาเลี้ยงดูผู้คนในอาณาจักรได้ และมีการส่งไปขายยังต่างประเทศด้วย 
           พระมหากษัตริย์ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลการเพาะปลูกของประชาชน มีการรับรองป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิ หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อการทำเกษตร ด้วยการออกกฎหมายคุ้มครอง ป้องกัน จัดระเบียบให้ถือปฏิบัติ เช่น
                      ๑.๑ การคุ้มครองป้องกันการเพาะปลูก กำหนดให้ราษฎรเจ้าของ ช้าง ม้า โค กระบือ ระวังสัตว์เลี้ยงของตน มิให้ทำอันตรายหรือเข้าไปกินข้าวในนา หรือพืชพรรณของผู้อื่น ห้ามมิให้ขโมยแอก ไถ คราด หรือเครื่องมือการทำนาของราษฎรด้วยกัน ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษ
                      ๑.๒การยอมรับกรรมสิทธิ์ ราษฎรที่จับจอง บุกเบิกที่ดินแหล่งใหม่เพื่อใช้ในการเกษตรตามระเบียบทางราชการจะตีตราสาร รับรองกรรสิทธิ์เหนือพื้นดินให้
                      ๑.๓ การลดอากร ผู้ที่ทำการเพาะปลูกนอกเมือง หรือในที่ซึ่งเคยทิ้งร้างไว้ เมื่อมีการเพาะปลูกใหม่ในระยะเริ่มต้นระยะเวลาปีหนึ่งจะไม่เก็บค่าอากร เมื่อพ้นจากนั้นจึงจะเก็บอากรเข้าหลวง เป็นนโยบายการส่งเสริมขยายที่เพาะปลูก และไม่ให้ที่เพาะปลูกทิ้งร้างไร้ประโยชน์ ภายหลังมีการเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ทำประโยชน์ด้วย
                      ๑.๔การอำนวยประโยชน์ทางอ้อม แม้ว่าอยุธยาจะมิได้จัดระบบชลประทาน เพื่อส่งเสริมการเกษตรโดยตรง แต่มีการขุดคลองเพื่อการยุทธศาสตร์ การคมนาคม และการระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม คูคลองเหล่านี้ก็อำนวยความสะดวกและประโยชน์ทางการด้านการเพาะปลูกกับราษฎรใน ทางอ้อม ส่วนราษฎรเองก็หาทางช่วยตัวเองโดยใช้ระบบชลประทานอีกทางหนึ่งด้วย

           ๒. อุตสาหกรรม สมัยอยุธยาอุตสาหกรรม มีการผลิตที่ไม่ต่างจากสุโขทัยมากนัก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน หรือขนาดเล็กที่ผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน ใช้ในราชการ หมู่ชนชั้นสูง และการพระศาสนา กำลังการผลิตจะได้จากแรงงานเด็กหญิงหรือผู้พ้นเกณฑ์แรงงาน และทหาร เมื่อมีเวลาว่างจากการประกอบอาชีพปกติ ส่วนกำลังการผลิตของรัฐบาลจะได้จากแรงงานไพร่และทาสเป็นอุตสาหกรรมประเภท ฝีมือ ได้แก่ การผลิตเครื่องทองรูปพรรณ เครื่องแกะสลัก เครื่องประดับมุก เป็นต้น อุตสาหกรรม
           ส่วนใหญ่มุ่งเพื่อการบริโภคในประเทศ ได้แก่ เครื่องใช้ในครัวเรือน มีเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักสาน เครื่องเหล็ก เพื่อการเกษตรมี ผาล ( เหล็กแหลมที่ต่อจากคันไถสำหรับไถนา ) จอบ เสียม มี ฯลฯ ทั้งที่ใช้เป็นอุปกรณ์การงานและอาวุธ (หมู่บ้านอรัญญิกมีชื่อเสียง มีฝีมือตีมีดที่มีคุณภาพ ) เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบดินเผา การต่อเรือเพื่อการคมนาคม การประมง และการบรรทุกสินค้า อุตสาหกรรมมีจำนวนน้อย ที่พบ คือ น้ำตาล

           ๓. การค้า เนื่องจากทำเลที่ตั้งของอยุธยาสะดวกแก่การคมนาคมทางน้ำ เพราะมีแม่น้ำหลายสาย และไม่ห่างจากปากแม่น้ำเกินไป การนำสินค้าเข้าและออกทางทะเลทำได้สะดวก อาณาจักรที่อยู่เหนือขึ้นไป คือ สุโขทัย และล้านนา ก็จำเป็นต้องใช้อยุธยาเป็นทางผ่านสู่ทะเล ทำให้อยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าอยุธยาจึงมีการค้าขายเป็นอาชีหลักอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการเกษตร การค้าสมัยอยุธยามี ๒ ประเภท ดังนี้คือ
                      ๓.๑ การค้าขายภายในประเทศ แม้ว่าอยุธยาจะมีระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ ชุมชนหมู่บ้านผลิตทุกสิ่งเพื่อการดำรงชีพตามความต้องการของตนเอง แต่การค้าขายก็ยังมีความจำเป็นอยู่ คือซื้อส่วนที่ยังต้องการ และขายส่วนที่เกินความต้องการ ก่อให้เกิดระบบการแลกเปลี่ยนขึ้น ๒ ระบบ คือ
                      ๑. ระบบแลกเปลี่ยนโดยตรง ได้แก่ การนำสินค้าไปแลกเปลี่ยน เช่น น้ำ ข้าวเปลือก ไปแลกน้ำปลา กะปิหรือนำหม้อไห ถ้วยชามไปแลกข้าวสาร หรือผลไม้เป็นต้น
                      ๒. ระบบแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา ได้แก่ การซื้อขายอย่างทุกวันนี้ คือ นำสินค้าไปแลกเป็นเงินตราก่อน และเมื่อต้องการสิ่งใดก็นำเงินตรานั้นแลกมา
           การค้าขายภายในสมัยอยุธยาคงใช้ระบบแลกเปลี่ยนทั้งสองมาตลอด ต่างกันเพียงแต่จะใช้ระบบใดมากกว่ากันการค้าขายภายในสมัยอยุธยาตอนต้นได้ขยายตัวขึ้นตามสภาพสังคม ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้มีการเก็บอากรตลาดเป็นครั้งแรก โดยจัดเก็บจากผู้นำสินค้ามาขายตามตลาดหรือย่านชุมชน แสดงให้เห็นว่าการประกอบการค้ามีรายได้ดี อากรตลาดนี้ภายหลังได้เก็บกว้างขึ้น มีภาษีโรงเรือน และต่อมามีการเรียกเก็บอากรขนอน จากการนำสินค้าผ่านด่านทางบกและทางน้ำ โดยเริ่มที่ราชธานีก่อนแล้วขยายไปยังหัวเมือง
                      ๓.๒ การค้าขายต่างประเทศ เนื่องจากอยุธยาไม่ห่างไกลทะเลมากนัก มีแม่น้ำหลายสายผ่าน โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำใหญ่ เมื่อถึงหน้าแล้งก็ไม่ตื้นเขิน สามารถใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าได้ตลอดปี ทำให้อยุธยาเป็นเมืองท่าสำคัญสามารถติดต่อค้าขายทางทะเลกับต่างประเทศได้สะดวก ทำให้อยุธยามีธุรกิจการค้ารุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
                      สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. ๑๘๙๓ – พ.ศ. ๒๐๓๔) ไทยมีการค้าขายกับจีน ญี่ปุ่น อาหรับ มลายู อินเดีย ชวา ฟิลิปปินส์
                      การค้ากับต่างประเทศในสมัยแรกมีลักษณะค่อนข้างจะเสรี คือ พ่อค้าต่างชาติติดต่อค้าขายกราษฎรและพ่อค้าอื่น ๆ ในอยุธยาโดยตรง ไม่ต้องผ่านองค์กรของรัฐ และเอกชนไทยที่มีทุนรอน ก็สมารถค้าสำเภาได้
                      ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงปฏิรูปการปกครองอาณาจักร สามารถควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ได้รัดกุม เก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่รั่วไหล ล่าช้า สินค้าจากหัวเมือง เป็นสิ่งที่พ่อค้าต่างชาติต้องการจึงส่งเป็นสินค้าออก การค้าขายต่างประเทศขยายตัวออกไปกว้างขวางกว่าสมัยก่อนจนมีพ่อค้าชาวตะวันตก เข้ามาค้าขาย คือ โปรตุเกส เข้ามาในปี พ.ศ. ๒๐๕๔ เป็นชาติแรก หลังจากนั้นก็มีชาติตะวันตกอื่น ๆ เข้ามาอีก ได้แก่ สเปน (พ.ศ. ๒๑๔๑) ฮอลันดา (พ.ศ. ๒๑๔๗) อังกฤษ (พ.ศ. ๒๑๕๕) และฝรั่งเศส (พ.ศ. ๒๒๑๖) ประเทศตะวันตกเหล่านี้ได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่กรุงศรีอยุธยาและเมืองท่า ต่าง ๆ ของอยุธยา การค้าขายกับต่างประเทศจึงมีความเจริญก้าวหน้ามาตาลำดับ จนถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีการตั้งพระคลังสินค้าเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการค้ากับ ต่างประเทศในลักษณะผูกขาด และต่อมาสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีการผูกขาดมากขึ้น การค้าขายแบบเสรีในระยะเริ่มต้นจึงค่อย ๆ เสื่อมไป ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พระคลังสินค้าคงจะใช้อำนาจผูกขาดสมบูรณ์ ทำให้พ่อค้าฮอลันดาไม่พอใจ จึงบีบบังคับไทยด้วยวิธีต่าง ๆ แต่สมเด็จพระนารายณ์ทรงใช้วิธีให้ชาติตะวันตกชาติอื่น ๆ เข้ามาค้าขายเป็นการคานอำนาจฮอลันดาได้สำเร็จ ทำให้การค้าขายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง หลังจากนั้นจึงเริ่มเสื่อมลงด้วยเหตุผลทางการเมืองและเรื่องอื่น ๆ
                      สินค้าที่มีการค้าขายกัน การค้าขายระหว่างกรุงศรีอยุธยากับประเทศต่าง ๆ ที่สำคัญมีดังนี้
                      สินค้าออก มีผลผลิตทางเกษตรโดยตรง และแปรรูป ได้แก่ ข้าว หมาก พลู ฝ้าย มะพร้าว กระวาน กานพลู พริกไทย น้ำตาล ผลิตผลที่ได้จากป่า ได้แก่ อำพัน ไม้กฤษณา ไม้แกดำ ไม้ฝาง งาช้าง นอระมาด หรดา สัตว์ ได้แก่ ช้าง ม้า นกยูง นกแก้วห้าสี สินแร่ ได้แก่ ทองคำ เงิน พลอยต่าง ๆ เครื่องหัตถกรรม ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ และอื่น ๆ
                      สินค้าเข้า มีเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้แก่ ผ้า มีแพรม้วน แพรดอก แพรโล่ ผ้าม้วน ผ้าลายทอง เครื่องถ้วยชาม เครื่องกระเบื้อง จากญี่ปุ่น พัด ดาบ หอก เกราะ กำมะถัน ทองแดง สารส้ม และเครื่องรัก เป็นต้น
           ความเจริญด้านการค้าเริ่มรุ่งเรืองและเสื่อมลงเมื่อหลังเสียกรุงให้พม่า ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ หลังจากการตกต่ำ รัฐบาลก็ได้พยายามฟื้นฟูด้านการค้ากับชาติตะวันตก การค้ากับต่างประเทศเริ่มรุ่งเรืองสุดสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. ๒๑๔๘-๒๑๕๓)

           ๔. รายได้ของอาณาจักรอยุธยา แหล่งที่มาของรายได้ อาจแบ่งเป็น ๕ ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ รายได้จากค่าทดแทนการเกณฑ์แรงงาน รายได้จากภาษีอากร รายได้จากพระคลังสินค้า รายได้จากค่าฤชาธรรมเนียม และรายได้เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ
                      ๔.๑ รายได้จากค่าทดแทนการเกณฑ์แรงงาน เป็นประเพณีที่ยึดถือกันมาว่า พระมหากษัตริย์ทรงเจ้าของที่ดินทั้งหมดในราชอาณาจักรแต่ยกให้ราษฎรทำกิน และพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองดูแลราษฎรให้ทำกินเป็นสุขปราศจากโจรผู้ร้ายและข้าศึก ราษฎรทั้งหลายจึงต้องตอบแทนด้วยการอุทิศแรงงานทำงานให้หลวงปีละ ๖ เดือน ราษฎรที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานตามกำหนด เรียกว่า เข้าเวร ผู้เข้าเวรไม่ต้องส่งเงินหรือสิ่งของที่หลวงต้องการมาให้ทดแทน เรียกว่าส่งส่วย อาณาจักรจึงมีรายได้จากส่วยในรูปเงินและสิ่งของ ลาลูแบร์ บันทึกว่าในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ไพร่ต้องจ่ายเงินหลวง เดือนละ ๒ บาท ส่วยที่ส่งเป็นสิ่งของหายาก เช่น มูลค้างคาว ดีบุก งาช้าง เป็นต้น
                      ๔.๒ รายได้จากภาษีอากร มีดังนี้
                      ๑. ภาษีสินค้าเข้า – สินค้าออก เก็บจากสินค้าทุกชนิดที่นำเข้ามาในอาณาจักร หรือนำออกนอกอาณาจักรโดยเรียกเก็บตาม อัตราส่วนของจำนวนสินค้า หรือตามวิธีที่กำหนด รวมทั้งภาษีที่เรียกว่า จังกอบ เช่น ภาษีปากเรือ ( เรียกเก็บตามความกว้างของเรือ )
                      ๒. อากรประกอบอาชีพ เก็บจากราษฎรที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น อากรนา เรียกเก็บตามจำนวนเนื้อที่นาอากรสวน เรียกเก็บตามชนิดของไม้ผลยืนต้น อากรประมง เรียกเก็บตามชนิดของเครื่องมือจับปลา อากรตลาด เรียกเก็บจากร้านค้า หรือนำสินค้ามาขายในที่ชุมชน นอกจากนี้ยังมี อากรสุรา และอากรบ่อนเบี้ย เป็นต้น
                      ๓. อากรขนอน หรือภาษีผ่านด่าน (ขนอน หมายถึงด่านที่ตั้งเก็บภาษี ) เก็บจากผู้นำสินค้าผ่านด่าน(ทางบกหรือทางน้าก็ตาม ) โดยเรียกเก็บตามวิธีต่าง ๆ เช่น วิธีที่เรียกว่า สิบหยิบหนึ่ง ( คือร้อยละ ๑๐) หรือถ้าเป็นการขนส่งทางเรือ ก็เสียภาษีที่เรียกว่า จังกอบเรือ เป็นต้น
                      ๔.๓ รายได้จากพระคลังสินค้า
                      ในกรุงศรีอยุธยาเมื่อเริ่มแรกเป็นการค้าแบบเสรี ต่อมาเมื่อชาติตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขายมากขึ้น จึงจัดตั้งกรมพระคลังสินค้าขึ้น เพื่อควบคุมสินค้าเข้าสินค้าออก พระคลังสินค้าหรือโกษาธิบดี แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไปตรวจเก็บภาษีสินค้าที่มาจากต่างประเทศ และคัดเอาสินค้าที่หลวงต้องการไว้ก่อน เช่น สินค้าประเภทอาวุธ หรือกระสุนดินดำ เพื่อป้องกันมิให้ตกไปอยู่ในเมืองศัตรู หรือของราษฎรสามัญได้ เป็นการรักษาความมั่นคงภายใน นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ตรวจสินค้าขาออกและกำหนดต้องห้าม ซึ่งมักเป็นสินค้าหายาก มีราคาแพง เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ เช่น ดีบุก ตะกั่ว และงาช้างเป็นต้น สินค้าต้องห้ามเหล่านี้ ห้ามมิให้ราษฎรจำหน่ายแก่ชาวต่างชาติโดยตรง ต้องนำมาขายให้พระคลังสินค้า แล้วพระคลังสินค้าจึงนำไปจำหน่ายแก่พ่อค้าต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง รายได้ของพระคลังสินค้าจากการผูกขาดการค้าเช่นนี้มีมาก
                      นอกจากพระคลังสินค้าจะมีรายได้ดังกล่าวแล้วในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ยังมีรายได้จากการแต่งสำเภานำสินค้าไปขายต่างประเทศอีกด้วย สินค้าที่นำไปขายนอกจากพวกสินค้าต้องห้ามแล้วมักเป็นสินค้าที่ได้มาจากส่วย และอากรที่ได้จากการทดแทนการเกณฑ์แรงงาน เช่น พริกไทย ไม้ซุง ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม และเกลือ เป็นต้น โดยปกติจะส่งสำเภาไปค้าขายกับจีน อินเดีย และชวา ขากลับก็บรรทุกสินค้าของประเทศเหล่านั้นกลับมาจำหน่ายแก่ราษฎร ทำเงินกำไรข้าหลวงเป็นอันมาก
                      ๔.๔ รายได้จากค่าธรรมเนียม
                      การปกครองดูแลและรับรองสิทธิต่าง ๆ ราษฎรที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ เช่น ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการประทับตราแสดงกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน หรือเสียค่าฤชาเมื่อฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาล (ผู้แพ้คดีจะต้องเสียเงินให้แก่ผู้ชนะและหลวงจะหักค่าฤชาไว้เป็นรายได้ของ แผ่นดิน รวมทั้งค้าปรับ)
                      ๔.๕ รายได้อื่น ๆ นอกจากอาณาจักรจะมีรายได้ต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีรายได้เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ อีกเช่น รายได้จากเครื่องราชบรรณาการของเจ้าประเทศราช หรือจากของขวัญของกำนัลที่เจ้าเมือง ขุนนางหรือพ่อค้านำขึ้นถวายหรือทรัพย์สิน เงินทองที่ไดจากการยกทัพไปตีบ้านตีเมืองในต่างแดน เป็นต้น

ศิลปะและวัฒนธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา

           ปัจจัยหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม คือ สภาพความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ของประชาชนพลเมือง
           มงเซเญอร์ ปาลเลคัวซ์ มุขนายกมิซซัง เดอ มาลโลส์ เจ้าคณะเขตประเทศสยาม กล่าวถึง ความอุดมสมบูรณ์และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน พอสรุปได้ดังนี้
           ความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักร เนื่องด้วยดินดี มีปุ๋ยธรรมชาติ ปลูกข้าวได้ดี และข้าวก็มีรสอร่อยได้ผลเพียงพอต่อการเลี้ยงประชากร และเหลือส่งไปขายเมืองจีน และเมืองอื่น ๆ ปีละไม่น้อย ผลิตผลที่ว่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือสามเท่า หากมีการทำนากันเต็มพื้นที่ หรือทำนาปีละครั้ง
           ในน้ำมีปลาชุกชุม ฤดูน้ำท่วมมีปลาทุกท้องทุ่ง พอน้ำลด ปลาจะไปอยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง บรรดานกต่าง ๆ คอยจับปลากินกันเป็นฝูง ที่ปากอ่าวที่รวมของแม่น้ำสี่สาย มีปลามากมายหลายชนิด สามารถนำมาเป็นอาหาร และส่งไปขายยังเกาะชวาอีกด้วย
           สัตว์เลี้ยงมีเป็ดไก่ ขายกันในราคา นอกจากนี้เต่า อีเก้ง ก็หาซื้อได้ในราคาไม่แพง ส่วน พืช ผัก ผลไม้ ล้วนมีราคาถูก ค่าแรงคนงานค่อนข้างต่ำ ด้วยนายจ้างเลี้ยงอาหาร การที่ราคาข้าวของถูก เพราะการเกษตรให้ผลดีด้วยดินดี บางแห่งแม้อยู่บนเขา ก็มีคนไปปลูกพืชทำไร่ให้เขียวชอุ่มไปทั่ว
           ความอุดมสมบูรณ์ของกรุงศรีอยุธยาดังเช่นที่ว่ามานี้ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความร่มเย็นผาสุก ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาศิลปวัฒนธรรมให้เจริญรุ่งเรือง

วัฒนธรรมและประเพณีสมัยกรุงศรีอยุธยา
          ดินแดนที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้มีความเป็นมายาวนาน จึงมีวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีที่มาจากจีน อินเดีย ขอม มอญ และประเทศใกล้เคียงอื่น ๆ วัฒนธรรมสมัยอยุธยาจึงเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยแท้ และวัฒนธรรมที่รับจากต่างชาติ แล้วนำมาดัดแปลงให้เหมาะสม วัฒนธรรมต่างชาติที่รับเข้ามามากที่สุด คือ วัฒนธรรมอินเดีย แต่มิได้รับโดยตรง รับต่อจากขอม มอญ และจากพวกพราหมณ์ที่สืบเชื้อสายต่อ ๆ กันมาอีกทีหนึ่ง บางอย่างยังปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้ ที่เห็นได้เด่นชัด คือ วัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นอยุธยายังรับวัฒนธรรมจากอาณาจักรไทยอื่น ๆ เช่น รับเอารูปแบบตัวอักษรและการเขียนหนังสือจากสุโขทัย  

วัฒนธรรมที่สำคัญมีดังนี้
            ๑. วัฒนธรรมการแต่งกาย การแต่งกายมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในการสร้างความสุขใจได้ทางหนึ่ง ด้วยเหตุที่มนุษย์รักงาม และเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากนัก วัฒนธรรมการแต่งกายของคนในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ และมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยภาวะของบ้านเมือง สมัยอยุธยามีการแต่งกายดังนี้
                      ๑.๑ การแต่งกายของคนชั้นสูง คนชั้นสูงแต่งกายตามขนบธรรมเนียมประเพณีของราชการ ซึ่งเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลายใช้กัน และพวกผู้ดีมีสกุล ผู้หญิงทั้งหลายถือเป็นแบบอย่างเพราะแสดงให้เห็นว่าอยู่ในสังคมชั้นสูง
                      ๑.๒ การแต่งกายของชาวบ้าน ชาวบ้านจะนุ่งโจงกระเบน พวกทางเหนือ ผู้ชายมักไว้ผมยาว ส่วนพวกทางใต้มักตัดผมให้สั้น สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ผู้ชายตัดผมทรงมหาดไทย ส่วนผู้หญิงคงไว้ผมยาวและห่มผ่าสไบ
                      ๑.๓ การแต่งกายยามเกิดสงคราม ยามสงครามผู้หญิงอาจต้องช่วยสู้รบหรือให้การสนับสนุน มีการเปลี่ยนทรงผมตัดผมให้สั้นดูคล้ายชาย ทะมัดทะแมงเข้มแข็งขึ้น การนุ่งห่มต้องให้รัดกุม แน่นไม่รุ่มร่าม เคลื่อนไหวได้สะดวก ห่มผ้าแบบตะเบ็งมาน ส่วนผู้ชายไม่เปลี่ยนแปลง
                      ประเพณีการแต่งผมสตรีชาวอยุธยา ซิมอง เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศส จดไว้ว่า “ …ผมชาวสยามนั้นดำหนาและสลวย และทั้งชายหญิงไว้ผมสั้นมาก ผมที่ขอดรอบกระหม่อมยาวเพียงถึงชั่วแค่ปลายใบหูข้างบนเท่านั้น ผมข้างล่างจนถึงท้ายทอยนั้น ผู้ชายโกนเกลี้ยงและความนิยมกันอย่างว่านี้เป็นที่พอใจชาวสยามมาก แต่ผู้หญิงปล่อยผมกลางกระหม่อมยาวหน่อย ไปล่ขึ้นเป็นปีกตรงหน้าผาก กระนั้นก็ยังไม่รวมเข้าเกล้ากระหมวดเกศ…”

           ๒. กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประเพณีสำคัญที่นับเป็นพระราชพิธีสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งควรจะนำมาระบุไว้ได้แก่ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เป็นประเพณีที่จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี และในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด ทางราชการได้จัดกระบวนพยุหยาตราเต็มยศขึ้นเรียกว่า “กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง “ ปรากฏว่าต้องใช้คนตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ คนเข้าริ้วกระบวน อันนับเป็นริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่และมโหฬารที่สุด เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลของเราเล็งเห็นความสำคัญของการจัดกระบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค ซึ่งกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่จัดให้มีขึ้นครั้งล่าสุด เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ เท่ากับเป็นการรักษาประเพณีประจำชาติไว้โดยแท้

           ๓. ประเพณีเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบเอ็ดนี้ สมัยกรุงศรีอยุธยามีพิธีแผ่นดินที่สำคัญมากอยู่พิธีหนึ่ง คือพิธีแข่งเรือ เรือหลวงที่เข้าแข่งชื่อเรือสมรรถไชยของพระเจ้าอยู่หัว กับเรือไกรสรสุข ของสมเด็จพระมเหสี การแข่งเรือนี้ยังเป็นการเสี่ยงทายอีกด้วย คือถ้าเรือสมรรถไชยแพ้ก็แสดงว่าข้าวเหลือเกลืออิ่ม พลเมืองเป็นสุข ถ้าสมรรถไชยชนะ บ้านเมืองก็จะมีเรื่องเดือดร้อน

           ๔. ประเพณีเดือนสิบสอง ประเพณีลอยกระทงในเดือนสิบสองเป็นประเพณีที่ประชาชนไทยนิยมชื่นชมกันหนักหนา เพราะก่อให้เกิดความสุขการสุขใจเป็นพิเศษนั่นเอง ก่อนที่จะนำคำประพันธ์ของ นายมี ที่บรรยายถึงเดือนสิบสองมาลงไว้ประกอบเรื่องก็ใคร่จะเขียนเสนอท่านผู้อ่าน ให้ทราบว่าในเดือนสิบสอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีประเพณีพระราชพิธีอะไรบ้าง มี (๑) พระราชพิธีจองเปรียงตามประทีป (ชักโคม) ในพระราชวังแลตามบ้านเรือนทั้งในรพระนครและนอกพระนครทั่วกัน กำหนด ๑๕ วัน (๒) ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ โปรดให้ทำจุลกฐิน คือทอดผ้าให้เสร็จในวันเดียวแล้ว (เอาผ้าผืนนั้นพระราชทานกฐิน)

           ๕. ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีสงกรานต์แต่ละแห่งย่อมผิดแผกแตกต่างกันไป และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หากจะกล่าวถึงพระราชพิธีละแลงสุก(เถลิงศก) เมื่อสงกรานต์แทน (๑) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จไป สรงน้ำพระพุทธปฏิมากร ศรีสรรเพชญ์ พระพิฆเนศวร (๒) โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามาสรงน้ำ รับพระราชทานอาหารบิณฑบาต จตุปัจจัยทาน ที่ในพระราชวังทั้ง ๓ วัน (๓) ทรงก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ และมีการฉลองพระเจดีย์ทรายด้วย (๔) ตั้งโรงท่อทานเลี้ยงพระแลราษฎรซึ่งมาแต่จตุรทิศ มีเครื่องโภชนาอาหารคาวหวาน น้ำกิน น้ำอาบและยารักษาโรค พระราชทานทั้ง ๓ วัน

           ๖. ประเพณีการลงแขกทำนา ประเพณีลงแขกทำนานับเป็นประเพณีอีกประเพณีหนึ่งที่ชาวกรุงศรีอยุธยารักษาเอา ไว้ คือ เมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าว ชาวนาก็ช่วยกันเก็บเกี่ยว ร้องรำทำเพลงกันไปบ้าง ได้ทั้งงานได้ทั้งความเบิกบานสำราญใจและไมตรีจิตมิตรภาพ ทุกวันนี้ก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่ประเพณีนี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียง ความรักพวกพ้องของชาวกรุงศรีอยุธยา เป็นการปฏิบัติเข้าทำนองสุภาษิตที่ว่า “ โบราณว่า ถ้าเหลือกำลังลาก ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม” เท่ากับเป็นเครื่องยืนยันถึงลักษณะนิสัยใจคอของคนไทยในสมัยก่อนอีกกรณีหนึ่ง

            ๗. วัฒนธรรมทางวรรณกรรม ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองมากที่สุดสุดจะพรรณนาให้จบสิ้นได้จะขอยกมากล่าวเฉพาะ วัฒนธรรมทางวรรณกรรมแต่อย่างเดียว ผู้เขียนวรรณกรรมสมัยเก่ามักจะขึ้นต้นเรื่องด้วยคำยกย่องพระเกียรติยศของพระ มหากษัตริย์ไทย และสรรเสริญความงามความเจริญของเมืองไทย เช่น ลิลิตพระลอ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีชิ้นเอก สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และขุนช้างขุนแผน จัดเป็นวรรณกรรมที่มีความหมายเกี่ยวกับความเป็นระเบียบในการกินอยู่ ซึ่งนับเป็นความเจริญทางวัตถุ เช่นตอนชมเรือนขุนช้าง

ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา

          ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนาเป็นส่วน ใหญ่ เนื่องจากมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก พระพุทธศาสนา ราษฎรส่วนใหญ่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างพระพุทธรูป เพื่อเป็นพุทธบูชา นอกจากศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อพระพุทธศาสนาแล้วยังมีศิลปะเพื่อการเฉลิมพระ เกียรติพระมหากษัตริย์ และศิลปะเพื่อรักษาพระราชอาณาเขตอีกด้วย เช่นพระบรมมหาราชวัง เครื่องราชูปโภคต่าง ๆ กำแพงเมือง และป้อมปราการต่าง ๆ รวมอยู่ด้วย ศิลปะในพระพุทธศาสนาหรือพุทธศิลป์ในระยะแรก ส่วนใหญ่รับอิทธิพลมาจากขอม จนถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงรับเอาศิลปะแบบสุโขทัยเข้ามาแทนที่ ศิลปะด้านต่าง ๆ มีดังนี้
๑. สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาสมัยกรุงศรีอยุธยาแบ่งได้เป็น ๔ ยุค
           ยุคที่ ๑ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทองจนสิ้นสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) เมื่อแรกตั้งกรุงศรีอยุธยาไทยได้รับอิทธิพลขอมไว้มาก ศิลปะในสมัยนี้จึงนิยมสร้างตามแบบลพบุรีเป็นส่วนใหญ่ มักสร้างพระสถูปอันเป็นหลักของพระอารามเป็นปรางค์ตามแบบขอม เช่น ที่วัดพุทไธศวรรค์ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นต้น

           ยุคที่ ๒ ตั้งแต่ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จนสิ้นสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระบรมไตรโลกนาถเสด็จประทับที่พิษณุโลก บรรดาช่างหลวงจึงรับเอาศิลปนิยมแบบสุโขทัยมาเผยแพร่นิยมสร้างพระสถูปเป็น เจดีย์ทรงลังกาแบบสุโขทัย แต่ดัดแปลงให้สูงชะลูดกว่า อันเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์สมัยอยุธยา เช่น เจดีย์ใหญ่ ๓ องค์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ และพระเจดีย์ใหญ่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นต้น

           ยุคที่ ๓ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จนสิ้นสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงปราบปรามเขมรสำเร็จจึงรับเอาวัฒนธรรมเขมรเข้ามา ลักษณะสถาปัตยกรรมในสมัยนี้จึงเป็นแบบอย่างตามขอมไม่ว่าจะเป็นปราสาทราชวัง หรือการสร้างวัดวาอาราม แต่นิยมทำกันเฉพาะสมัยพระเจ้าปราสาททองเท่านั้น นอกจากนี้ยังนิยมสร้างพระเจดีย์เหลี่ยมหรือเจดีย์ไม้สิบสองขึ้นด้วย เช่น เจดีย์ที่วัดชุมพลนิกายาราม ที่บางประอิน เป็นต้น

           ยุคที่ ๔ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสิ้นสุดสมัยอยุธยา ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นต้นมาไทยนิยมสร้างเจดีย์ไม้สิบสอง เช่น พระเจดีย์ใหญ่ วัดภูเขาทองที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ เป็นต้น นับเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของไทยแท้

 ๒. ประติมากรรม แถบภาคกลางของประเทศไทย ขอมเคยมีอำนาจอยู่ก่อนไทยจะตั้งอาณาจักรอยุธยา ฉะนั้นศิลปะแบบขอมหรือที่เรียกว่าแบบอู่ทอง จึงมีอิทธิพลในการสร้างพระพุทธรูปของไทย ในระยะแรกด้วยเหตุนี้พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยเจ้าสามพระยา จึงเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง
           เมื่อถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีการสร้างพระพุทธรูปตามแบบสุโขทัย ต่อมาจนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้เกิดงานศิลปะด้านประติมากรรมแบบอยุธยาที่แท้จริงขึ้นกล่าวคือ เป็นแบบผสมระหว่างศิลปะอู่ทองกับศิลปะสุโขทัย พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระศรีสรรเพชญ์ขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ นับเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญในสมัยอยุธยา ( พระพุทธรูปสมัยนี้มีพระพักตร์ยาวรีคล้ายแบบสุโขทัย )
           ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กรุงศรีอยุธยาได้เขมรมาเป็นประเทศราช ทำให้ได้รับอิทธิพลของเขมรทางด้านประติมากรรมอีก จึงนิยมสร้างพระพุทธรูปที่สลักด้วยศิลาทรายสีแดงตามแบบเขมร มักมีพระเนตรและพระโอษฐ์เป็นขอบสองชั้น หรือมีพระมัสสุอยู่เหนือพระโอษฐ์
           การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีแบบทรงเครื่องใหญ่ เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอภัย ถ้ายก ๒ พระหัตถ์ เรียกปางห้ามสมุทร ยกพระหัตถ์ขวา ปางห้ามญาติ ยกพระหัตถ์ซ้าย ปางห้ามแก่นจันทน์ และอีกแบบหนึ่ง คือ แบบทรงเครื่องน้อย เป็นปางอภัยด้วยกันเครื่องประดับมีไม่มาก ที่พระเศียรทำเป็นมงกุฎเรียบ ๆ ยอดแหลมคล้ายกริช นอกจากนี้ยังสร้างพระพิมพ์ด้วยดินเผา และโลหะอีกด้วย

๓. จิตรกรรม จิตรกรรมไทยเป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน ภาพจิตรกรรมมักเป็นภาพพุทธประวัติและชาดกในพระพุทธศาสนา เช่น เรื่องไตรภูมิ ในระยะแรกจิตรกรรมสมัยอยุธยาได้รับอิทธิพลจากศิลปะลพบุรี ศิลปะสุโขทัย และศิลปะลังกาปะปนกัน บางภาพจึงมีลักษณะแข็งและหนักสีที่ใช้มี ๓ สี คือ สีดำ สีขาว และสีแดง มีการปิดทองบ้างเพียงเล็กน้อย วิธีการระบายสี ใช้ระบายพื้นด้วยสีแดงอ่อน สลับสีแดงแก่ ใช้สีดำ สีขาว และทองเข้าช่วยให้ภาพมีสีชัดยิ่งขึ้น ต่อมาสมัยอยุธยาตอนกลางศิลปะสุโขทัยมีอิทธิพลมากขึ้น ภาพจะระบายด้วยสีหลายสี จนถึงสมัยอยุธยาตอนปลายจึงมีลักษณะเป็นจิตรกรรมไทยบริสุทธิ์ นิยมใช้สีหลายสีปิดบนรูปและลวดลาย

๔. ประณีตศิลป์ งานประณีตศิลป์สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความเจริญถึงขีดสุดเหนือกว่าศิลปะแบบอื่น ๆ และเป็นมรดกตกทอดต่อมา คือ
           ๔.๑ การจำหลักไม้ ผลงานที่พบมีหลายลักษณะ เช่น บานประตู พระพุทธรูป มณฑป ๕ ยอด ตู้เก็บหนังสือ หน้าบันพระอุโบสถ นอกจากนี้ยังมีจำหลักไม้รูปประติมากรรมประเภทลอยตัว ได้แก่ รูปกินรี สัตว์ประหลาด สัตว์ในนิยายและครุฑ เป็นต้น
           ๔.๒ ลายรดน้ำ ศิลปะตกแต่งสิ่งต่าง ๆ ให้งดงามยิ่งขึ้น ที่พบมี ตกแต่งประตู หน้าต่างของโบสถ์ วิหาร ตู้ใส่หนังสือพระธรรมหีบใส่เสื้อผ้า เป็นต้น
           ๔.๓ การประดับมุก เป็นศิลปะที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา ใช้มุกตกแต่งให้งดงาม มีตู้มุก บานประตูมุก เป็นต้น
           ๔.๔ เครื่องเบญจรงค์ ศิลปะตกแต่งเครื่องถ้วยชาม ให้มีลวดลาย และสี ๕ สี ให้งดงามตามแบบไทย เท่าที่พบเป็นลายก้นขด หรือลายก้านแย่ง ที่เป็นภาพเป็นลายนก เทพนม กินนรรำ เทพนมสิงห์ เป็นต้น (การปั้น และเคลือบทำจากจีน)
           ๔.๕ เครื่องถม งานประณีตศิลป์เกี่ยวกับการออกแบบลวดลาย มีเครื่องถมดำ และเครื่องถมแตะทอง (มีทองแตะตามลายที่เป็นดอก เป็นช่อ)
           ๔.๖ เครื่องประดับทอง งานที่พบมีทั้งเครื่องทองรูปพรรณ เครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ เครื่องทองประดับอัญมณี ทองกร แหวนตรา เป็นต้น
งานประณีตศิลป์ที่เป็นมรดกล้ำค่า ได้แก่ ประตูโบสถ์ประดับมุกที่วัดพระศรีมหาธาตุ พิษณุโลก เครื่องสังเค็ด ธรรมาสน์ ตู้ใส่หนังสือประไตรปิฎก หีบใส่หนังสือสวด และหนังสือเทศน์ เป็นต้น

 ๕. ดนตรีและนาฏศิลป์ ดนตรีและนาฏศิลป์สมัยกรุงศรีอยุธยา มีวิวัฒนาการสืบต่อมาจากสมัยเดิม ดังนี้
ดนตรี เป็นศิลปะสาขาหนึ่งที่เป็นเครื่องบ่งบอกความเจริญและอารยธรรมของชาติ ดนตรีไทยนั้นเป็นที่ยอมรับว่าเป็นศิลปศาสตร์ชั้นสูง ดนตรีไทยประกอบด้วยเครื่อง ดีด สี ตี เป่า ที่ต้องใช้ศิลปะที่เรียกว่า จังหวะ ทำนอง และการประสานเสียง ประกอบกันเป็นวง สมัยอยุธยามีวงดนตรีเพียง ๓ ประเภท ได้แก่
           ๑. วงเครื่องสาย ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ให้ทำนอง ได้แก่ ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ และขลุ่ย และที่ให้จังหวะ ได้แก่ โทน รำมะนา และฉิ่ง เป็นต้น
           ๒. วงปี่พาทย์ มีเครื่องดนตรี ๕ ชิ้น คือระนาดเอก ตะโพน กลองทัด ปี่ ฉิ่ง และฆ้องวง
           ๓. วงมโหรี ประกอบด้วย พิณ ซอสามสาย บัณเฑาะว์ (ต่อมาใช้โทนแทน) มีคนขับร้อง ต่อมาเพิ่มกรับเข้าไปอีก ๑ ชิ้น ให้คนขับร้องเป็นผู้ขยับ
           นาฏศิลป์ คือศิลปะแห่งการฟ้อนรำ ซึ่งมีมาแต่โบราณ สมัยอยุธยาประกอบด้วยการ ร่ายรำ ที่เรียกว่า ระบำรำฟ้อน และการละคร
           การละคร การเล่นละครสมัยอยุธยาเชื่อกันว่าได้แบบมาจากการเล่นโนราชาตรี ของชาวนครศรีธรรมราช

๖. วรรณศิลป์ คือ ศิลปะในการแต่งหนังสือ หรือศิลปะในทางวรรณกรรม หนังสือ หรือวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดีถึงขั้นเป็นวรรณคดี สมัยอยุธยามีมากและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันสูงค่าอย่างหนึ่งของชาวไทย อยุธยามียุคทองของวรรณคดี ๒ สมัยด้วยกัน คือ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้ประพันธ์วรรณคดี ส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจจากความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา วีรกรรมของพระมหากษัตริย์ ความรัก และความสวยงามของธรรมชาติ วรรณคดีที่สำคัญในสมัยอยุธยา ได้แก่
           ๑. ลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือโองการแช่งน้ำ แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เพื่อใช้อ่านในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
            ๒. ลิลิตพระลอ เป็นนิยายพื้นบ้านเมืองภาคเหนือ มีความงามของวรรณคดีและปรัชญาถือว่าเป็นวรรณคดีศิลปะบริสุทธิ์
           ๓. มหาชาติคำหลวง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิต และพระเถระผู้ใหญ่ร่วมกันแต่งขึ้น เป็นวรรณคดีเล่มหนึ่งที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
            ๔. โคลงสุภาษิต ได้แก่ พาลีสอนน้อง ราชสวัสดิ์ ท้าวทศรถสอนพระราม พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเสือโคคำฉันท์ พระมหาราชครูแต่ง
           ๕. โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ แต่งโดยศรีปราชญ์ กวีเอกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
           ๖. กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ให้ความงามทางภาษา และความรู้ทางภูมิศาสตร์และพฤกษศาสตร์
           ๗. จินดามณี แต่งโดยพระโหราธิบดี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
           ๘. สมุทรโฆษคำฉันท์ ยอดวรรณคดีประเภทฉันท์ ดีทั้งเนื้อเรื่อง ลักษณะการประพันธ์และการใช้ถ้อยคำที่แปลกคือมีผู้แต่ง ๓ ท่าน คือพระมหาราชครู สมเด็จพระนารายณ์ (สมัยอยุธยา) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (สมัยรัตนโกสินทร์) เวลาที่ใช้แต่ง ๑๕๐ ปี

หลักฐานทางโบราณคดี

          หลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดที่สุดว่าพระเจ้าอู่ทองควรจะสืบเชื้อสายมาจากลพบุรี คือ งานศิลปกรรมในสมัยอยุธยาตอนตันที่มีอิทธิพลของศิลปะลพบุรีอยู่มาก เช่น เจดีย์ทรงปรางค์ที่วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะซึ่งมีลักษณะแผนผังของวัดและตัวปรางค์ คล้ายกับปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี พระพุทธรูปมีพระพักตร์คล้ายกับประติมากรรมขอม และระบบการปกครองก็มีอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรอย่างเห็นได้ชัด เช่น ระบบเทวราชา

           นอกจากนี้บริเวณเมืองอยุธยา ยังมีแม่น้ำป่าสักที่มีไหลผ่านเมืองศรีเทพที่เป็นแหล่งวัฒนธรรมสมัยทวารวดีที่สำคัญ และแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำทั้ง ๓ สายนี้สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมกับเมืองที่มีความเจริญซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้นไป เช่น อาณาจักรสุโขทัย หริภุญไชย ล้านนา และเมืองเล็กเมืองน้อยอีกมากมาย จึงสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่บริเวณเมืองอยุธยานี้คงเคยเจริญภายใต้วัฒนธรรมทวารวดีมาก่อน

           เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์พื้นที่บริเวณเมืองอยุธยาเป็นดินดอนสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำ และจะมีน้ำจากทางเหนือท่วมไหลลงมาท่วมทุกปีซึ่งน้ำจะได้พัดเอาตะกอนอันอุดม สมบูรณ์ลงมาด้วย พื้นที่บริเวณเมืองอยุธยาจึงเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การ เพาะปลูก และพื้นที่บริเวณเมืองอยุธยาคงเป็นเมืองท่าและจุดแวะพักสินค้าด้วย เนื่องจากมีแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงสู่อ่าวไทยไหลผ่าน จึงทำให้ต่อมาได้มีพัฒนาการความเจริญจนเริ่มมีความเป็นเมือง สันนิษฐานว่าคงเมืองอยุธยาอาจเจริญขึ้นในช่วงทวารวดีตอนปลายแล้วดังพบหลักฐานทางศิลปกรรมคือเจดีย์วัดขุนใจเมือง ซึ่งมีลักษณะศิลปะและการก่อสร้างแบบศิลปะทวารวดี คือ เป็นเจดีย์ก่ออิฐไม่สอปูนองค์สูงใหญ่ เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บริเวณถนนใหญ่ในตัวเกาะอยุธยา

           และเมืองอยุธยาในช่วงแรกคงเจริญภายใต้อิทธิพลอำนาจของเมืองลพบุรี โดยอาจเป็นเมืองลูกหลวงดังมีข้อความปรากฏในตำนานมูลศาสนาว่า “เมืองรามเป็นเมืองลูกหลวงของเมืองละโว้” เมืองรามนี้สันนิษฐานว่าคงเป็นเมืองอโยธยาหรืออยุธยานั่นเอง ต่อมาเมืองลพบุรีได้รับอิทธิพลทางการเมืองจากอาณาจักรเขมร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างยิ่งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หรือ พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เมืองอยุธยาก็คงต้องได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรด้วยแน่นอน ถึงแม้ว่าใน พุทธศตวรรษที่ ๑๘ จะมีการกำเนิดของอาณาจักรสุโขทัย กษัตริย์และผู้คนบริเวณเมืองลพบุรีก็คงมิได้หายไปไหน จึงอาจเป็นไปได้ว่ากษัตริย์จากเมืองลพบุรี อาจย้ายศูนย์กลางเมืองจากลพบุรีมาอยู่บริเวณเมืองอยุธยาในปัจจุบัน โดยสันนิษฐานว่าอาจเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับอำนาจของอาณาจักรสุโขทัยและ อยากได้เมืองใหม่ที่มีชัยภูมิที่ดีกว่านี้

           กษัตริย์ลพบุรีองค์ที่คิดย้ายนี้ก็อาจเป็นต้นวงศ์พระเจ้าอู่ทอง โดยเมืองที่ย้ายมาระยะแรกกระจายตัวอยู่สองข้างของแม่น้ำเจ้าพระยา ดังพบหลักฐานการอยู่อาศัยที่มีอายุก่อน พ.ศ. ๑๘๙๓ เช่น มีการสร้างพระเจ้าพนัญเชิงซึ่งพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในปีพ.ศ. ๑๘๖๗ สามารถวิเคราะห์ได้ว่าวัดที่พระเจ้าพนัญเชิงประดิษฐานอยู่คงเป็นวัดขนาดใหญ่ จึงสะท้อนให้เห็นถึงการมีชุมชนขนาดใหญ่ในบริเวณนี้และคงเป็นชุมชนที่มีการ อยู่อาศัยก่อน ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ แต่พื้นที่รอบบริเวณสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในหน้าน้ำ จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ทำให้กษัตริย์พระองค์หนึ่งมีการคิดที่จะสร้างศูนย์กลางของเมืองใหม่ กษัตริย์พระองค์นั้นอาจเป็นสมัยพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งพระองค์ก็ได้เลือกพื้นที่บริเวณเมืองอยุธยานี้มาสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว สถาปนาตัวเองในชื่อว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑  อาณาจักรอยุธยาหรืออโยธยาศรีรามเทพนคร หากพิจารณาจากพื้นที่บริเวณที่เป็นเกาะเมืองอยุธยาที่พระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงเลือกสร้างอาณาจักรอยุธยาที่มีความมั่นคงและใหญ่โต

           ในส่วนของการขุดค้นทางโบราณคดีเห็นว่า ควรมีการขุดค้นที่บริเวณสองข้างของแม่น้ำทั้ง ๓ สายที่ไหลผ่านเมืองอยุธยา และบริเวณพื้นที่จุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกัน เนื่องจากบริเวณนี้มีงานศิลปกรรมคือพระประธานที่วัดพนัญเชิงที่ มีอายุการก่อสร้างปี พ.ศ. ๑๘๖๗ ซึ่งเก่ากว่าปีพ.ศ.ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา เพื่อหาข้อมูลการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เพื่อมาสนับสนุนข้อสันนิษฐานข้างต้นที่กล่าวมานี้

           จึงอาจสรุปได้ว่า กรุงศรีอยุธยาคงมีพัฒนาการทางสังคมความเจริญถึงระดับความเป็นเมืองก่อนปี พ.ศ. ๑๘๙๓ แน่นอน และเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของเมืองลพบุรีด้วย ในช่วงแรกสันนิษฐานว่าศูนย์กลางเมืองอาจอยู่บริเวณวัดพนัญเชิง หรือพุทไธสวรรค์ แล้วต่อมาในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ คงเป็นเพียงปีที่พระเจ้าอู่ทองย้ายศูนย์กลางของเมืองหรือย้ายพระราชวังดังความเห็นของอ.ศรีศักร วัลลิโภดม ก็เป็นได้

แหล่งอ้างอิง :  
http://ednet.kku.ac.th/~sumcha/215242/main_html/library/content2.htm
http://www.vcharkarn.com/vblog/34094 http://www.dopa.go.th/history/ayud.htm
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B
1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%98%E0%B8%A2%E0%B8%B
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง,” พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พ.ศ. 2542.
http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/pastevent/past_ayu11.htm