โครงสร้างทางสังคม

สร้างโดย : นายธานินทร์ พร้อมสุข และนางสาวกาญจน์มณี จรุงพรสวัสดิ์
สร้างเมื่อ ศุกร์, 20/11/2009 – 21:44
มีผู้อ่าน 1,474,580 ครั้ง (13/10/2022)

โครงสร้างทางสังคม

           สังคมมนุษย์แม้ว่าจะมีขนาดของสังคมหรือลักษณะเฉพาะของสังคมแตกต่างกัน แต่เมื่อกล่าวถึงโครงสร้างทางสังคมโดยทั่วไปหรือโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมเบื้องต้นแล้ว ทุกสังคมต่างมีองค์ประกอบสำคัญอยู่บนพื้นฐานสองประการที่สำคัญคือกลุ่มสังคมและสถาบันทางสังคม

           การศึกษาในเรื่องโครงสร้างทางสังคมจะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับสังคมในแง่มุมต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโครงสร้างทางสังคมมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ความหมายโครงสร้างทางสังคม

           โครงสร้างทางสังคม หมายถึง ส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นระบบความสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์ ส่วนประกอบดังกล่าวจะต้องเป็นเค้าโครงที่ปรากฏในสังคมมนุษย์ทุก ๆ สังคม แม้ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมก็ตาม

โครงสร้างของสังคมไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. สังคมชนบท (กลุ่มปฐมภูมิ)
  2. สังคมเมือง (กลุ่มทุติยภูมิ)

1. สังคมชนบท (กลุ่มปฐมภูมิ)

  • เป็นสังคมที่มีประชากรเบาบาง กระจัดกระจายกันเป็นหมู่บ้าน
  • ประชาชนในกลุ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
  • ระดับการศึกษาค่อนข้างต่ำ โอกาสในการศึกษาแสวงหาความรู้มีน้อยกว่าในเมือง
  • ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชาวนา ชาวไร่ ผลิตผลการเกษตรค่อนข้างต่ำ รายได้ไม่แน่นอน
  • การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชนมีน้อย
  • มีความเชื่อถือศรัทธาในศาสนาสูง เคร่งครัดในประเพณี
  • การสื่อสาร การคมนาคมขนส่งไม่สะดวก เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า  

           จัดได้ว่าเป็นโครงสร้างที่ สำคัญที่สุด ของสังคมไทย เพราะเท่ากับเป็นโครงสร้าง ของสังคมไทยทั้งหมด ลักษณะจำเพาะที่  สำคัญของสังคมชนบท ได้แก่ การร่วมกลุ่มแบบอรูปนัย (informal) ของกลุ่มปฐมภูมิ (primary group) มีการติดต่อ กันแบบตัวถึงตัว สภาพแวดล้อมของท้องถิ่นและวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม ซึ่งคล้ายคลึงกัน ทำให้สถานภาพและบทบาทของ คนในสังคมชนบทไม่แตกต่างกันมากนัก ในสังคมชนบทมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น สมาชิกของสังคมทำหน้าที่สอดคล้องต่อเนื่องกันอย่างราบรื่น โดยมีระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ มีการนับถืออาวุโส มีความเห็นอกเห็นใจกัน และมีค่านิยมในเรื่องคุณความดีทางศาสนาเป็นตัวควบคุมความประพฤติทางสังคมของ คนชนบท สถานภาพจะมีลักษณะ จำเพาะของตัวบุคคลเอง เช่น อายุ ความสามารถ และคุณความดี ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำในสังคมชนบทมักได้แก่ พระ ผู้ใหญ่บ้าน กำนันและผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ

2. สังคมเมือง (กลุ่มทุติยภูมิ)

           สังคมเมือง  ข้อแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างสังคมชนบทกับสังคมเมือง ได้แก่ จำนวนกลุ่มขององค์การที่มีมากในสังคมเมืองหลวง หลักเกณฑ์การพิจารณาสถานภาพทางสังคมของบุคคลในเมืองหลวง ขึ้นกับฐานะทางเศรษฐกิจ อำนาจและความเกี่ยวข้องทางการเมือง และระดับการศึกษาซึ่งผิดจากเกณฑ์ของสังคมชนบท นอกจากนั้นแล้วโครงสร้างชนชั้นทางสังคมในเมืองหลวง คือประกอบด้วยกลุ่มคนที่เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเก่าและขุนนาง ค่านิยมของคนเมืองหลวงนั้นจะเน้นหนักเรื่องอำนาจและความมั่งคั่งมากกว่าชาวชนบท มีความต้องการยกระดับตัวเอง จากชั้นสังคมเดิมไปสู่ชั้นที่สูงกว่า โดยอาศัยปัจจัยหลายประการ เช่น ฐานะทางการเงิน  การศึกษา  อำนาจทางการเมือง และสิทธิต่างๆ

ลักษณะของสังคมเมือง

  • เป็นสังคมที่มีประชากรมากและอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
  • เป็นศูนย์กลางการศึกษา
  • เป็นศูนย์รวมด้านการค้า พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมและการบริการอื่นๆ
  • ในด้านเศรษฐกิจ ประชาชนในเมืองมักจะมีรายได้และรายจายทางเศรษฐกิจสูง
  • เป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครอง
  • เป็นศูนย์รวมในด้านศาสนา สาธารณูปโภค การคมนาคมขนส่ง รวมทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
  • ความเคร่งครัดในศาสนาน้อยกว่าในชนบท
  • เป็นสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เกิดขึ้นรวดเร็ว

องค์ประกอบโครงสร้างทางสังคม

           มีองค์ประกอบ 2 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่
           1. กลุ่มสังคม (Social Groups) และ
           2. สถาบันสังคม (Social Institutions)

1. กลุ่มสังคม  หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มทางสังคม จะช่วยทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคมได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะกลุ่มทางสังคมจะมีอิทธิพลต่อบุคคลและสังคมเป็นอย่างมาก เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อนสนิท ย่อมจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ความคิด และค่านิยมของบุคคลอย่างเห็นได้ชัด ในปัจจุบันสังคมมีลักษณะสลับซับซ้อนและมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงต้องมีการจัดระเบียบสังคมบนพื้นฐานของหลักเหตุผลและเป้าหมายเฉพาะอย่าง มากกว่าการคำนึงถึงพื้นฐานความสัมพันธ์ส่วนตัว อันมีผลทำให้การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มทางสังคมมีลักษณะเป็นทางการมากขึ้น

           กลุ่ม หมายถึง บุคคลตั้งแต่ 2 คน หรือมากกว่านั้น ซึ่งอาจมีการกระทำระหว่างกันทางสังคม  การรวมกลุ่มของมนุษย์มีหลายลักษณะ ในบางครั้งการรวมกลุ่มอาจเกิดขึ้น โดยชั่วคราวหรือโดยบังเอิญ ในไม่ช้ากลุ่มคนดังกล่าวก็จะสลายตัวไป เช่น กลุ่มคนที่มารวมตัวกันที่ตลาด กลุ่มคนที่มาชมการแสดงหรือชมภาพยนตร์ กลุ่มคนที่มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากรัฐบาล ฯลฯ เราไม่ถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มสังคม เนื่องจากมีการรวมตัวกันอย่างไม่มีแบบแผนความสัมพันธ์ที่ชัดแจ้ง ต่างฝ่ายต่างมารวมตัวกันโดยมีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องต้องกันอย่างบังเอิญเท่านั้นและระยะเวลาของการรวมตัวก็มีจำกัด จนไม่เพียงพอที่จะสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ที่ถาวรได้   อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีความสำคัญต่อการธำรงอยู่ของสังคมมนุษย์มากที่สุด โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญในโครงสร้างของสังคม ได้แก่ กลุ่มสังคม กลุ่มสังคม เป็นกลุ่มซึ่งสมาชิกมีการกระทำระหว่างกัน และสมาชิกของกลุ่ม มีความรู้สึกเป็นสมาชิกร่วมกัน

ลักษณะที่สำคัญของกลุ่มสังคม

  1. มีการกระทำระหว่างกันทางสังคมหรือมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน (Social interaction) (=มีการปฏิบัติต่อกัน)
  2. สมาชิกในกลุ่มต่างมีตำแหน่งและบทบาทหน้าที่แตกต่างกันและประสานบทบาทระหว่างกันมีแบบแผนพฤติกรรมตามบรรทัดฐานของกลุ่ม หรือที่เรียกว่า วัฒนธรรมย่อย (=มีวัฒนธรรมของกลุ่ม)
  3. มีความรู้สึกเป็นสมาชิกร่วมกัน ทำให้มีความผูกพันในฐานะที่เป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมเดียวกัน (=สนิทสนมรักใคร่กันตามระดับกลุ่ม)
  4. มีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่สำคัญ คือ เพื่อสนองความต้องการของสมาชิกแต่ละคน และความต้องการของสมาชิกของกลุ่มเป็นส่วนรวม (=มีภารกิจถาวรหรือเฉพาะกิจ) 

2. สถาบันสังคม   

           ความหมายของคำว่า “สถาบัน” ไว้ว่า “สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือสังคมจัดตั้งให้มีขึ้น เพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง  

  1. มีการจัดระเบียบอย่างดี เช่น มีการกำหนดบทบาทและความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
  2. มีระบบ เช่น มีการกำหนดว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องทำอย่างาไร
  3. มีเสถียรภาพหรือความมั่นคง โดยมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงยากและไม่ขึ้นอยู่กับบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะหรืออาจกล่าวสรุปได้ว่า

สถาบันทางสังคม หมายถึง กลุ่มของบรรทัดฐานทางสังคมที่สังคมได้กำหนดไว้เพื่อใช้เป็นหลักในการกระทำกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกในสังคม เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐาน เพื่อการดำรงอยู่ของสังคม 

           องค์ประกอบของสถาบันทางสังคม สถาบันทางสังคมมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ  

  1. กลุ่มทางสังคมหรือองค์การทางสังคม ในแต่ละสถาบันทางสังคม
  2. สถานภาพและบทบาท ในแต่ละสถาบันทางสังคม
  3. หน้าที่
  4. บรรทัดฐานทางสังคม

สถาบันสังคมที่สำคัญ สถาบันสังคม แยกได้ 7 สถาบัน ดังนี้

  1. สถาบันครอบครัว
  2. สถาบันการศึกษา
  3. สถาบันศาสนา
  4. สถาบันเศรษฐกิจ
  5. สถาบันทางการเมืองการปกครอง
  6. สถาบันนันทนาการ
  7. สถาบันสื่อสารมวลชน

1. สถาบันครอบครัว

           สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานแรกที่สุดและมีความสำคัญยิ่งของสังคม เพราะสถาบันขั้นมูลฐานที่เป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันทั้งหลาย ในสมัยก่อนนั้นสถาบันครอบครัวทำหน้าที่เป็นทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันเศรษฐกิจ และสถาบันการปกครอง ฯลฯ หรืออธิบายได้ว่า สถาบันครอบครัวทำหน้าที่ให้การศึกษาและความรู้ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในด้านเศรษฐกิจ และปฏิบัติหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนสมาชิกของครอบครัวให้เป็นพลเมือง แต่ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาและสถาบันเศรษฐกิจได้เข้ามามีบทบาทปฏิบัติ หน้าที่แทนสถาบันครอบครัวในด้านการให้การศึกษาแก่สมาชิกของสังคม และผลิตเครื่องอุปโภคและบริโภคขึ้นจำหน่ายแก่สมาชิกในสังคม บทบาทในด้านดังกล่าวของสถาบันครอบครัวจึงลดลงไป

           ความหมายของสถาบันครอบครัว
           สถาบันครอบครัว หมายถึง แบบแผนพฤติกรรมที่คนที่มาติดต่อเกี่ยวข้องกันในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและเครือญาติจะต้องปฏิบัติตาม นั่นคือคนที่เป็นญาติกันโดยสายเลือด เช่น เป็นพ่อแม่ พี่น้องกัน เป็นญาติกันทางการแต่งงาน เช่น เป็นสามีภรรยา เป็นเขยสะใภ้กัน หรือการรับไว้เป็นญาติ เช่น เป็นบุตรบุญธรรม เป็นต้น คนเหล่านี้จะต้องปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์แบบแผนที่สังคมเป็นผู้กำหนดขึ้นเรียกว่า สถาบันครอบครัว ซึ่งครอบคลุมแนวทางในการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ คือ การเลือกคู่ การหมั้น การแต่งงาน การเลี้ยงดูลูก การอบรมขัดเกลา การหย่าร้างและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครองครัวและเครือญาติทั้งหมด

           สถาบันครอบครัว  มีองค์ประกอบ  ดังนี้
           กลุ่มสังคมในสถาบันครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน เช่น บิดา มารดา บุตร วงศาคณาญาติที่เกี่ยวข้องโดยสายโลหิต หรือการสมรส หรือมีบุตรบุญธรรม
หน้าที่ของสถาบันครอบครัวและ  สัญลักษณ์และค่านิยม

  1. หน้าที่ผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคม  เพื่อทดแทนสมาชิกของสังคมที่สิ้นชีวิตลง
  2. หน้าที่เลี้ยงดูสมาชิกใหม่ให้มีชีวิตรอด เนื่องจากทารกแรกเกิดและเด็กไม่สามารถดูแลตนเองได้
  3. หน้าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมไปสู่สมาชิกใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
  4. หน้าที่อื่น ๆ  ได้แก่ การสนองความต้องการทางจิตใจ ทำหน้าที่ให้ความรักความอบอุ่นสมาชิก

           แบบแผนพฤติกรรมในการประพฤติปฏิบัติตนของสมาชิก สถาบันครอบครัวประกอบไปด้วยแบบแผนพฤติกรรมซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางสังคม เช่น ประเพณีการหมั้น สมรส เป็นต้น สถาบันครอบครัวในสังคมแต่ละแห่งย่อมมีแบบแผนพฤติกรรมแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของสังคม เช่นมีประเพณีการสมรสแตกต่างกันไป เป็นต้น

           สัญลักษณ์ของสถาบันครอบครัวที่สำคัญ คือ แหวนหมั้น แหวนแต่งงาน เป็นต้น สถาบันครอบครัวในแต่ละสังคมย่อมมีค่านิยมต่างกันตามวัฒนธรรมของสังคม เช่น สังคมสมัยใหม่ สามีและภรรยามีค่านิยมในการหาเลี้ยงครอบครัวเท่าเทียมกัน การร่วมรับผิดชอบกิจกรรมต่าง ๆ ในครอบครัวอย่างเท่าเทียมกัน

2. สถาบันการศึกษา

           ทุกสังคมย่อมจะต้องมีหน้าที่ในการให้การศึกษาแก่มวลชน เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รู้จักบรรทัดฐานของสังคม เรียนรู้เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต การทำมาหาเลี้ยงชีพ และวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้ให้เพื่อสืบทอดต่อไป

            ความหมายของสถาบันการศึกษา 
           สถาบันการศึกษา หมายถึง แนวแผนในการคิดและการกระทำเกี่ยวกับเรื่องการอบรมให้การศึกษาแก่สมาชิกใหม่ของสังคม รวมทั้งการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งด้วย เป็นสถาบันที่ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ดังนี้ เช่น เรื่องกับหลักสูตร การสอบเข้า การเรียนการสอน การฝึกอบรมในด้านต่างๆ และการเลื่อนชั้น เป็นต้น 

           องค์ประกอบของสถาบันการศึกษา มีดังนี้
           2.1 องค์การทางสังคมหรือกลุ่มทางสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสถาบันการศึกษาที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นอาจมีองค์การทางสังคมอื่นๆ เข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการศึกษา เช่น กระทรวง ทบวง กรม บริษัท โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
           2.2 สถานภาพและบทบาท ในสถาบันการศึกษาจะประกอบด้วยสถานภาพต่างๆ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู-อาจารย์ นักเรียน คนงานภารโรง แต่ละตำแหน่งย่อมมีหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อช่วยให้การจัดการศึกษาสำเร็จตามจุดม่งหมาย ให้นักเรียนเกิดความรู้ ประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม เช่น ครูมีหน้าที่สอนและอบรมนักเรียน ส่วนบทบาทของครู ได้แก่ การอธิบาย การชี้แจงแสดงเหตุผลให้นักเรียนเข้าใจบทเรียน การทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีหรือเป็นแม่พิมพ์ที่ดี
           2.3 หน้าที่ของสถาบันการศึกษา เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ของการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน หรือการศึกษาแบบไม่มีระบบ โดยทั่วไปแล้วสถาบันการศึกษามีหน้าที่ต่อบุคคลและสังคม ดังต่อไปนี้
           1) พัฒนาความเจริญงอกงามส่วนบุคคล กล่าวคือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความเจริญงอกงามทั้งทางด้านความรู้ ความคิด ความสามารถในการเขียนอ่าน สุขภาพอนามัยแข็งแรงสมบูรณ์ เป็นต้น
           2) ส่งเสริมให้บุคคลเป็นคนดี ให้เป็นคนมีศีลธรรม วัฒนธรรม รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี มีค่านิยมที่ดีงาม ปฏิบัติตามกฎตามระเบียบของสังคม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
           3) พัฒนาความสามารถในการประกอบอาชีพของบุคคล กล่าวคือ ให้มีความรู้สามารถในการประกอบอาชีพ
           4) ส่งเสริมให้บุคคลเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม กล่าวคือ ให้รู้จักสิทธิหน้าที่ที่ตนพึงปฏิบัติต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น การเสียภาษี การใช้สิทธิเลือกตั้ง การช่วยเหลือชาติบ้านเมืองด้วยวิธีการอื่นๆ
           5) ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของบุคคล กล่าวคือ การศึกษาสามารถช่วยให้บุคคลมีความรู้ แล้วใช้ความรู้ที่มีอยู่เปลี่ยนจากอาชีพเดิมไปประกอบอาชีพใหม่หรือช่วยเลื่อนจากตำแหน่งที่ต่ำกว่าไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า
           6) ส่งเสริมให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ เช่น ช่วยให้ประชาชนเข้าใจและรักธรรมชาติ ไม่พยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติจนทำให้เกิดมลพิษต่างๆ ขึ้น
           7) ช่วยให้คนคิดเป็นแก้ปัญหาเป็นสามารถใช้ความรู้และสติปัญญาแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองและสังคม
           8) ส่งเสริมให้เกิดความกลมกลืนในสังคม เช่น การปลูกฝังค่านิยม การใช้ภาษาร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติในการเรียนการสอน ทำให้เกิดความสัมพันธ์กัน มีความเข้าใจอันดีต่อกันมากขึ้น
           9) ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปสังคม กล่าวคือ ความเจริญก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมมักจะมีพื้นฐานมาจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยากรก่อนเสมอ
           10) รักษาและถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง

           บรรทัดฐานทางสังคม   สถาบันทางการศึกษาย่อมต้องกำหนดบรรทัดฐานเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอน เช่น การรับนักศึกษาเข้าเรียน การกำหนดหลักสูตร กำหนดแผนการเรียน การลงทะเบียน การสอบวัดผล ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินสู่จุดมุ่งหมาย เช่น การสอบวัดผล จะกระทำเมื่อการเรียนการสอนได้จบสิ้นลงตามคาบเวลาและสอนเนื้อหาครบตามหลักสูตร เพื่อจะได้ทราบว่านักเรียนนิสิตนักศึกษามีความรู้ระดับใด ให้ผ่านได้หรือยังไม่มีความรู้พอ จะต้องเรียนซ้ำในวิชานั้นใหม่

3. สถาบันศาสนา   

           จากการศึกษาประวัติความเป็นมาของศาสนาพบว่าศาสนาเกิดจากความต้องการด้านจิตใจของมนุษย์ เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยทางด้านจิตใจ กล่าวคือ มนุษย์สมัยก่อนมีความรู้ความสามารถจำกัด ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของปรากฏการณ์ธรรมชาติ จึงคิดว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตและสิ่งแวดล้อมของตนนั้น เช่น ฝนตก ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว โรคระบาด เป็นต้น เกิดจากอำนาจลึกลับและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์จึงพากันกราบไหว้บูชา เซ่นสรวง เพื่อหวังจะให้ดวงวิญญาณอำนาจลึกลับ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นพึงพอใจ จะได้ช่วยคุ้มครองปกป้องรักษาพวกตน ซึ่งความคิดเช่นนี้ได้ทำให้เกิดระบบความเชื่อต่างๆ และสถาบันศาสนาขึ้นในที่สุด

           ความหมายของสถาบันศาสนา 
           สถาบันศาสนา หมายถึง แบบแผนของความคิดการกระทำในเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ความเชื่อทางสังคม ทางศาสนา เป็นสถาบันที่ครอบคลุมในเรื่องต่างๆ ดังนี้ เช่น การปฏิบัติของฆราวาสต่อภิกษุ พิธีกรรมต่างๆ ความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ และเกี่ยวกับชีวิตในโลกนี้โลกหน้า  

           กลุ่มสังคมในสถาบันศาสนา  ที่สำคัญได้แก่ คณะสงฆ์ และกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม โดยมีตำแหน่งหรือสถานภาพทางสังคมต่างๆ กัน ต่างมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตามสถานภาพทางสังคมดังกล่าว

           หน้าที่ของสถาบันศาสนา

  1. สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สังคม
  2. สร้างเสริมและถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่สังคม
  3. ควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม
  4. สนองความต้องการทางจิตใจแก่สมาชิกเมื่อสมาชิกเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ

           แบบแผนพฤติกรรมในการประพฤติปฏิบัติตนของสมาชิก  โดยทั่วไปแบบแผนพฤติกรรมในการปฏิบัติของสมาชิกในสังคม ย่อมเป็นไปตามหลักธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ และเป็นไปตามประเพณีทางศาสนานั้น ๆ  กิจกรรมของประเพณีทางศาสนามีความสำคัญในการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกในสังคม

           สัญลักษณ์และค่านิยม  
           สัญลักษณ์ของสถาบันศาสนาย่อมแตกต่างกันไปตามศาสนาที่สมาชิกยอมรับนับถือ สำหรับค่านิยมของสถาบันศาสนาย่อมแตกต่างกันไปตามหลักของศาสนานั้น ๆ     

 องค์ประกอบของสถาบันศาสนา ได้แก่

  1. กลุ่มทางสังคมหรือองค์การทางสังคม สถาบันศาสนาจะประกอบด้วยกลุ่มทางสังคมหรือองค์การทางสังคมที่สำคัญ เช่น วัด สำนักสงฆ์ สถาบันทางการศึกษาทางสังคม เช่น วิทยาลัยสงฆ์ เพื่อช่วยทำหน้าที่ของสถาบันทางศาสนาได้อย่างครบถ้วน
  2. สถานภาพและบทบาท ในสถาบันศาสนาจะมีสถานภาพที่สำคัญ ได้แก่ ศาสดา สาวกและศาสนิกชน ในพระพุทธศาสนาคือ พระพุทธเจ้า มีสาวกได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ ในคณะสงฆ์แบ่งสถานภาพออกไปตามสมณศักดิ์ เช่น แบ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ พระครู ฯลฯ ซึ่งแต่ละตำแหน่งย่อมกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ และมีบทบาทที่แสดงให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ เช่น เป็นพระต้องสำรวมอิริยาบถ มีความเมตตาต่อสัตว์โลก เทศนาสั่งสอนศาสนิกชน และประพฤติตามพระธรรมวินัย เป็นต้น
  3. หน้าที่ของสถาบันศาสนา มีหน้าที่ต่อสังคมทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมดังนี้
    1. สร้างความเป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม คือ มีปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่เหมือนกัน
    2. ควบคุมมาตรฐานความประพฤติปฏิบัติของสมาชิกในสังคม
    3. ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจ ให้สมาชิกสามารถเผชิญกับปัญหาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติ
    4. มีอิทธิพลต่อการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก
    5. เป็นเครื่องสร้างความผูกพันระหว่างคนในชาติและวัฒนธรรมของสังคม

           บรรทัดฐานทางสังคม สถาบันทางศาสนาจะกำหนดหลักคำสอน และแนวการปฏิบัติของสมาชิก เช่น ผู้ที่ต้องการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ต้องเป็นชายและมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ พระภิกษุสงฆ์ต้องเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ต้องยังชีพด้วยการออกบิณฑบาตโปรดสัตว์โลก ในระหว่างพรรษาภิกษุต้องจำศีลที่วัด   พุทธศาสนิกชนที่ดีต้องมีศีล 5 ต้องร่วมประกอบศาสนากิจในวันสำคัญทางศาสนา

4. สถาบันเศรษฐกิจ

          สถาบันเศรษฐกิจเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ช่วยสนองความต้องการของบุคคลในสังคมทั้งในด้านสิ่งบริโภคและอุปโภค ในสังคมที่แตกต่างกัน ย่อมมีระเบียบแบบแผนในการผลิต การจำหน่ายการบริโภคอุปโภคที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม เช่น สังคมที่มีประชากรมากและมีทรัพยากรจำกัด อาจต้องใช้วิธีการแบ่งปันทรัพยากรกันกินและใช้

          ความหมายของสถาบันเศรษฐกิจ 
          สถาบันเศรษฐกิจ หมายถึง แบบของการคิดการกระทำเกี่ยวกับเรื่องการผลิตสินค้าและอาหารต่างๆ รวมทั้งการแจกจ่ายสินค้าและการให้บริการต่างๆ ให้แก่สมาชิกในสังคม สถาบันเศรษฐกิจเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ลูกจ้าง นายจ้าง เจ้าของโรงงาน ธนาคารและผู้ผลิตสินค้าและบริการในเรื่องต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามจากความหมายข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า สถาบันเศรษฐกิจ หมายถึง กลุ่มของบรรทัดฐานที่นำเอามาเป็นแนวทางในการทำการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจกและการบริโภค เพื่อก่อให้เกิดการกินดีอยู่ดี โดยมีกลุ่มสังคมต่างๆรับผิดชอบโดยปฏิบัติตามบรรทัดฐานที่สังคมได้วางไว้
          สถาบันเศรษฐกิจมีเป้าหมายอยู่ที่การกินดีอยู่ดีของประชาชน ดังนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเกี่ยวข้องกับกรรมวิธีที่จะก่อให้เกิดความมั่งมี การกินดีอยู่ดี หรืออย่างน้อยก็เพื่อการมีกินมีใช้ของประชาชน กรรมวิธีดำเนินการมักขึ้นอยู่กับปรัชญาทางเศรษฐกิจของผู้มีบทบาทอำนาจหน้าทีทางเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ เพื่อจะกำหนดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจควรจะดำเนินไปในรูปแบบใด จะให้ประชาชนมีสิทธิในการดำเนินการผลิตเอง มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน รัฐจะเข้าควบคุมหรือปล่อยให้เอกชนดำเนินงานอย่างเสรี ฯลฯ เหล่านี้เป็นวิธีการซึ่งมีเป้าหมายคือการมีกินมีใช้ 

5. สถาบันทางการเมืองการปกครอง 

          หมายถึง สถาบันสังคมที่เป็นแบบแผนที่เกี่ยวข้องกับการสนองความต้องการของสมาชิกในการดำรงชีวิตตามกฎระเบียบของสังคม ควบคุมให้กลุ่มคนอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข

          กลุ่มสังคมในสถาบันการเมืองการปกครอง  ประกอบด้วยกลุ่มสังคมต่าง ๆ  ที่สำคัญ คือ กลุ่มสังคมที่มีการจัดระเบียบอย่างชัดแจ้ง ที่เรียกว่า องค์การ เช่น พรรคการเมือง กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น แต่ละองค์การประกอบด้วยตำแหน่งหรือสถานภาพทางสังคม เพื่อกระทำบทบาทและหน้าที่ตามสถานภาพนั้น

          องค์กรของสถาบันการเมืองที่สำคัญ  มีดังนี้

  1. ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ องค์กรที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย
  2. ฝ่ายบริหาร  คือ  องค์กรที่ทำหน้าที่ในการบริหารและการบริการให้แก่สมาชิกโดยส่วนรวม
  3. ฝ่ายตุลาการ  คือ  องค์การที่ทำหน้าที่ตีความกฎหมายในกรณีที่สมาชิกในสังคมเกิดความขัดแย้งระหว่างกัน
  4. ฝ่าย องค์กรอิสระ  คือ องค์กรที่ประกอบด้วยคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นด้วยวิธีปลอดจากอำนาจอิทธิพลของ บุคคลที่มีส่วนอาจได้เสียกับกิจการอันเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระนั้น โดยเฉพาะอำนาจของข้าราชการเมืองและข้าราชการประจำ

          หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครอง

  1. สร้างระเบียบกฎเกณฑ์ให้แก่สังคม  เช่น  สถาบันเศรษฐกิจย่อมจะต้องมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเงิน
  2. วินิจฉัยข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกในสังคม มีองค์การทางตุลาการคอยให้ความยุติธรรมแก่สมาชิกที่มีความขัดแย้งต่อกัน
  3. หน้าที่ในการบริหารองค์การของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
  4. การป้องกันและรักษาความปลอดภัยทั้งภายในสังคมและจากภายนอกสังคม

6. สถาบันนันทนาการ

          หมายถึง…การพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดที่ได้รับจากการประกอบอาชีพ  เป็นแบบแผนในการคิด การกระทำ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ของสมาชิกในสังคม สถาบันนันทนาการครอบคลุมถึง ละคร ดนตรี กีฬา
          คำว่า “นันทนาการ” หมายถึง กิจกรรมที่บุคคลสมัครใจเข้าร่วมกระทำเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเมื่อกระทำแล้วเกิดความพึงพอใจและได้ประโยชน์แก่ร่างกายและจิตใจ

          ตัวอย่างสถาบันนันทนาการ เช่น

  • การกีฬาแห่งประเทศไทย
  • สมาคมนักกีฬาทีมชาติ
  • โรงภาพยนตร์

          หน้าที่พื้นฐานของสถาบันนันทนาการ

  1. ช่วยให้สมาชิกของสังคมมีร่างกายแข็งแรง
  2. ช่วยให้สมาชิกของสังคมมีสุขภาพจิตดี
  3. ช่วยให้สมาชิกของสังคมมีความสามัคคี
  4. ปลูกฝังความมีระเบียบวินัยให้แก่สมาชิกของสังคม

7. สถาบันสื่อสารมวลชน 

          สถาบันสื่อมวลชน  เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่สื่อข้อความ ข่าวสาร รายงานเหตุการณ์เฝ้าติดตามความเป็นไปของสถาบันสังคมและสังคมโดยรวม ในสังคมตะวันตกสถานบันสื่อมวลชนเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับและให้เกียรติ และมีอิทธิพลอย่างมาก โดยบรรดาสื่อมวลชนขนานนามรูปแบบการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองว่าเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” (Watchdog) เพราะคอยทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบความไม่โปร่งใสต่าง ๆ พร้อมทั้งรายงานให้สังคมได้ทราบ           นอกจากนี้ สถาบันสื่อมวลชนยังมีฐานะคล้ายกับ “ผู้เฝ้าประตู” (Gatekeeper) ซึ่งคอยกลั่นกรอง คัดเลือก ข้อมูลข่าวสาร เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อประชาชนผู้บริโภคข่าวสาร รวมไปถึงความมั่นคงของประเทศ

          หน้าที่หลักที่สำคัญของสถาบันสื่อมวลชน ได้แก่

  1. การสอดส่องดูแล (surveillance)
  2. การสร้างความสัมพันธ์กับส่วนต่าง ๆ ในสังคม (correlation)
  3. การถ่ายทอดวัฒนธรรม (cultural transmission)
  4. การให้การศึกษา (education)
  5. การให้ความบันเทิง (entertainment)

          สำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน สถาบันสื่อมวลชนเริ่มมีบทบาทและตอบสนองความต้องการในด้านข่าวสาร ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสารมารถที่จะมีอำนาจต่อรองกับสถาบันอื่น ๆ ได้ ตัวอย่างของสถาบันสื่อมวลชน ได้แก่ สมาคนนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นต้น

องค์ประกอบของการจัดระเบียบมีดังนี้

  1. บรรทัดฐาน
  2. สถานภาพ
  3. บทบาท
  4. การขัดเกลาทางสังคมและค่านิยม
  5. การควบคุมทางสังคม

1. บรรทัดฐานทางสังคม หมายถึง  ระเบียบ กฎเกณฑ์  หรือแบบแผนของพฤติกรรมที่สังคมยอมรับเป็นแนวทางให้สมาชิกประพฤติปฏิบัติในแต่ละสถานการณ์ สรุปได้ว่า…

  1. บรรทัดฐานทางสังคม  เป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือแบบแผนของพฤติกรรมที่สมาชิกในสังคมยอมรับร่วมกัน และได้ประพฤติสืบต่อกันมา
  2. บรรทัดฐานทางสังคมเป็นระเบียบ  กล่าวคือ  แบบแผนความประพฤติที่เห็นว่าถูกต้องในสถานการณ์หนึ่งอาจนำไปใช้ในอีกสถานการณ์หนึ่งไม่ได้

          ประเภทของบรรทัดฐานทางสังคม

  1. วิถีประชา/วิถีชาวบ้าน (Folkways)  หมายถึง  แบบแผนความประพฤติที่สมาชิกปฏิบัติด้วยความเคยชิน เนื่องจากได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดมาตั้งแต่วัยเด็กจนเติบใหญ่  แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดโทษผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด  แต่อาจถูกคนอื่นเยาะเย้ย ถากถาง หรือได้รับการนินทา ทำให้สมาชิกต้องปฏิบัติตามวิถีชาวบ้าน  จนเกิดความเป็นระเบียบทางสังคมในที่สุด
  2. จารีต  (Mores) หมายถึง  แบบแผนความประพฤติที่สมาชิกปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ  โดยผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนจะได้รับการต่อต้านจากสมาชิกในสังคมอย่างจริงจัง เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบสัมพันธ์ของสมาชิกเป็นส่วนรวม
  3. กฎหมาย (Laws)  หมายถึง  กฎเกณฑ์ของความประพฤติซึ่งสร้างขึ้นโดยองค์การทางการเมืองการปกครอง และโดยได้รับการรับรองจากองค์กรของรัฐ

          กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่มีลักษณะสำคัญ  ดังนี้

  1. เป็นกฎเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติของสมาชิกในสังคมที่บัญญัติเป็นทางการโดยองค์การของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมาย
  2. มีการประกาศรายละเอียดของกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
  3. มีองค์การที่หน้าที่ควบคุมให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎหมาย
  4. มีบทลงโทษผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนกฎหมาย        

          ข้อสังเกตเกี่ยวกับบรรทัดฐาน

  1. บรรทัดฐานแต่ละท้องถิ่นสอดคล้องหรือแตกต่างก็ได้
  2. บรรทัดฐานแต่ละท้องถิ่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้
  3. สังคมชนบทมักใช้จารีตมากกว่า  ส่วนสังคมเมืองมักใช้กฎหมายเป็นบรรทัดฐาน 

2. สถานภาพ (Status) :  ตำแหน่งที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกของสังคมหรือฐานะทางสังคม  (Social Position)  ของคนในสังคมที่ถูกกำหนดไว้และดำรงอยู่

          สถานภาพทางสังคม  หมายถึง  ตำแหน่งของบุคคลซึ่งได้มาจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มและของสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดระเบียบสังคม  เนื่องจากการกระทำระหว่างสมาชิกในสังคมย่อมเป็นไปตามสถานภาพที่ตนดำรงอยู่

          ประเภทของสถานภาพทางสังคม

  1. สถานภาพทางสังคมโดยกำเนิด (Ascribed Status) เป็นสถานภาพทางสังคมที่สมาชิกได้รับโดยกำเนิด ที่สำคัญได้แก่ เชื้อชาติ สัญชาติ เพศ (ชายหรือหญิง) อายุและสถานภาพอันเกิดจากการเป็นสมาชิกในครอบครัว เหล่านี้นับเป็นสถานภาพโดยกำเนิดทั้งสิ้น
  2. สถานภาพทางสังคมโดยความสามารถของบุคคล  (Achieved Status)  เป็นสถานภาพทางสังคมที่เกิดจากการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับสถานภาพโดยถือความสามารถตามเกณฑ์ที่สังคมกำหนด
  3. ผลอันเกิดจากสถานภาพทางสังคม  มีดังนี้
    1. ทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่
    2. ทำให้เกิดเกียรติยศจากสถานภาพทางสังคมที่สมาชิกดำรงอยู่
    3. ทำให้เกิดการจัดช่วงชั้นทางสังคม

3. บทบาท  (Role) : หน้าที่/พฤติกรรมที่ปฏิบัติตามสถานภาพที่ได้รับ การปฏิบัติบทบาทตามสถานภาพที่เหมาะสมและถูกต้องทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมดำเนินไปได้ด้วยดี
          บทบาททางสังคม

  1. บทบาททางสังคมเป็นการกระทำตามสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดในสถานภาพทางสังคม บทบาทและสถานภาพทางสังคมจะทำให้การกระทำระหว่างกันทางสังคมของสมาชิกดำเนินไปอย่างสอดคล้องกลมกลืน และช่วยให้การดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมมีความราบรื่น
  2. ความสำคัญของบทบาททางสังคม บทบาททางสังคมก่อให้เกิดการกระทำตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกในสังคมตามสถานภาพที่ตนดำรงอยู่ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนการรับและการให้ประโยชน์ระหว่างกัน หากปราศจากการกำหนดบทบาททางสังคม รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคมคงจะขาดระเบียบแลปราศจากทิศทางแน่นอน

          บทบาทขัดกัน
          สมาชิกในสังคมแต่ละคนมีบทบาทหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และการในกระทำอีกบทบาทหนึ่งอาจจะขัดกับอีกบทบาทหนึ่งก็ได้ การขัดกันในบทบาทย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ สมาชิกในสังคมต้องตัดสินใจ   ตามวาระและโอกาสที่เกิดขึ้น

          ข้อสังเกต

  1. สถานภาพ – บทบาทเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับสังคม
  2. ทุกคนย่อมมีสถานภาพของตนเองและมีหลายสถานภาพ
  3. สถานภาพบางอย่างเป็นสถานภาพที่ต่อเนื่อง
  4. ยิ่งสังคมซับซ้อนเพียงใด  บทบาทยิ่งแตกต่างไปมากขึ้นเท่านั้น
  5. โดยปกติสถานภาพจะบ่งถึงบทบาทเสมอ  แต่ในบางสถานการณ์มีสถานภาพอาจไม่มีบทบาทก็ได้
  6. การมีหลายสถานภาพก่อให้เกิดหลายบทบาท  บางครั้งก็อาจทำให้เกิดบทบาทที่ขัดแย้ง 

4. การขัดเกลาทางสังคมและค่านิยม

          การขัดเกลาทางสังคม (Socialization) หมายถึง การถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่สมาชิกวิธีการขัดเกลาทางสังคม

          การขัดเกลาทางสังคม  คือ  การปลูกฝังระเบียบวินัย ความมุ่งหวังให้รู้จักบทบาทและทัศนคติ ความชำนาญหรือทักษะ ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ด้วยดี การขัดเกลาทางสังคมช่วยให้สมาชิกได้เรียนรู้ และปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม การอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมอาชีพหรือสื่อมวลชนต่าง ๆ  เหล่านี้จะทำให้การกระทำต่อผู้อื่นเป็นไปอย่างเหมาะสมรู้จักปฏิบัติตนในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคม  ซึ่งจะช่วยให้สังคมมีระเบียบเพิ่มขึ้น

  1. การขัดเกลาโดยตรง :  โดยการบอกว่าสิ่งใดควรทำ  สิ่งใดไม่ควรทำ
  2. การขัดเกลาโดยอ้อม : ไม่ได้บอกโดยตรง  แต่เราเรียนรู้จากการ กระทำของคนอื่น  หรือ  ซึมซับจากสื่อ  เช่น  หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, วิทยุ ฯลฯ

          ค่านิยม

          ค่านิยม (Social Value)  :  สิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับและเห็นว่ามีคุณค่า   เพราะว่าเป็นความสัมพันธ์ที่สังคมยอมรับ หรือเราอาจจะเรียกว่า “กระแสทางสังคม”  ก็ได้
          ค่านิยมมีทั้งของบุคคล  และ  ค่านิยมของสังคม

          ค่านิยมของสังคม
          ค่านิยมของสังคม  บางทีเรียกว่า (ระบบคุณค่าของสังคม) หรือ (สัญญาประชาคม)
          ค่านิยมของสังคม  เป็นหัวใจหรือเป้าหมายที่สังคมปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้น เช่น  เสรีภาพ  ความรักชาติ  ความดี  ความยุติธรรม

5. การควบคุมทางสังคม

          การควบคุมทางสังคม (Social Control)
          เป็นกระบวนการทางสังคมในการจัดระเบียบพฤติกรรมมนุษย์/สมาชิกในสังคมให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งการไร้ระเบียบทางสังคม (Social Disorganization) นอกจากนี้ยังต้องรู้อีกหลายๆ เรื่อง เช่น ปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomena) ว่ามีความเป็นมาอย่างไร หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change) ว่าจะมีแนวโน้มเป็นไปในทางใดและอะไรเป็นปัจจัยผลักดันเป็นต้น และที่สำคัญที่สุดของสังคมได้แก่ วัฒนธรรม=ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในสังคม อันเป็นแบบแผนของพฤติกรรมที่สังคมยอมรับและสืบทอดกันต่อๆ มา

  1. การควบคุมทางสังคม  หมายถึง  กระบวนการต่าง ๆ  ทางสังคมที่มุ่งหมายให้สมาชิกของสังคมยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม
  2. ลักษณะของการควบคุมทางสังคม
    1. การควบคุมทางสังคมโดยการจูงใจให้สมาชิกปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม ได้แก่ การ ยกย่อง ชมเชย ให้รางวัลแก่ผู้ที่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม ตามสถานภาพและบทบาททางสังคมที่ตนดำรงอยู่
    2. การควบคุมทางสังคมโดยการลงโทษสมาชิกละเมิดฝ่าฝืนบรรทัดฐานทางสังคม  ได้แก่
      1. ผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนวิถีชาวบ้าน จะได้รับปฏิกิริยาต่าง ๆ  จากสมาชิกผู้อื่น  ได้แก่  การถูกติเตียน นินทา
      2. ผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนจารีต  จะได้รับการต่อต้านสมาชิกผู้อื่นรุนแรงกว่าผู้ที่ละเมิดวิถีชาวบ้าน เช่น การถูกประชาทัณฑ์ หรือขับไล่ออกไปจากท้องถิ่น
      3. ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย  จะได้รับการลงโทษตามกฎหมายกำหนด โดยหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่เป็นผู้ควบคุมบทลงโทษอย่างชัดเจน

สรุป

           สถาบันทางสังคมทุกสถาบันล้วนแต่มีหน้าที่ตอบสนองความต้องการของ สมาชิกในสังคมเป็นสำคัญ รวมทั้งร่วมธำรงให้สังคมอยู่ได้ และมุ่งให้สังคมและสมาชิกในสังคมมีความสมบูรณ์บริบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงไม่มีสถาบันทางสังคมใดที่จะสามารถดำรงอยู่ได้เพียงลำพัง อีกทั้งสมาชิกในสังคมยังต้องพึ่งพาอาศัยความเป็นสถาบันของสถาบันทางสังคมแต่ ละสถาบันตลอดช่วงชีวิต

แหล่งอ้างอิง:

http://learners.in.th/blog/orangejuicetp-1/257245
http://nucha.chs.ac.th/1.2.htm
http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/Institute-Social.htm
http://www.nfe.go.th/etv/document/knowledge_soc/knowledge_soc02.pdf
http://gotoknow.org/file/anthrocat/Chapter-4-Soc-Inst.pdf