รู้ง่าย เข้าใจ ใช่เลย พุทธประวัติ

สร้างโดย : มิ้น rungsima
สร้างเมื่อ เสาร์, 23/03/2013 – 14:10
มีผู้อ่าน 35,235 ครั้ง (13/10/2022)

           ก่อนอื่น เรามาเริ่มกันที่ พุทธประวัติ นะคะ อ๊ะได้ยินชื่อเรื่อง แล้วอย่าพึ่งเบื่อนะคะ พี่มีการ์ตูน พุทธประวัติ ที่ดูแล้วสนุก แถมเข้าใจง่าย คู่กับเนื้อหาและคำถามด้วย นะคะ ( เข้าไปที่ youtube ” พุทธประวัติ พระพุทธเจ้า ตอนที่ ” )

พุทธประวัติ

1. ประสูติ

พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า “สิทธัตถะ”
           เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศเนปาล พระราชมารดาทรงพระนามว่า “พระนางสิริมหามายา” ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ

เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเมื่อ 80 ปีก่อนพุทธศักราช
           ที่สวนลุมพินีวัน ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งอยู่ระหว่างพรมแดนกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ (ปัจจุบันคือ ต.รุมมินเด ประเทศเนปาล) ได้มีพราหมณ์ทั้ง 8 ได้ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษ คือ ถ้าดำรงตนในฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ผู้อายุน้อยที่สุดในจำนวนนั้น ยืนยันหนักแน่นว่า พระราชกุมารสิทธัตถะจะเสด็จออกบวชและจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

ทันทีที่ประสูติ ทรงดำเนินด้วยพระบาท 7 ก้าว
           มีดอกบัวผุดรองรับ ทรงเปล่งพระวาจาว่า “เราเป็นเลิศที่สุดในโลก ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรา”

สถานที่ประสูติ

2. วัยเด็ก

           หลังประสูติได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ จึงทรงอยู่ในความดูแลของพระนางปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระนางสิริมหามายา
           ศึกษาเล่าเรียนจนจบระดับสูงของการศึกษาทางโลกในสมัยนั้น คือ ศิลปศาสตร์ถึง 18 ศาสตร์ ในสำนักครูวิศวามิตร
           พระบิดาไม่ประสงค์จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นศาสดาเอก จึงพยายามให้สิทธัตถะพบแต่ความสุขทางโลก เช่น สร้างปราสาท 3 ฤดู และเมื่ออายุ 16 ปี ได้ให้เจ้าชายสิทธัตถะอภิเษกกับนางพิมพาหรือยโสธรา ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้ากรุงเทวทหะซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระมารดา
           เมื่อมีพระชนมายุ 29 ปี พระนางพิมพาก็ให้ประสูติ ราหุล (บ่วง)

ราหุล

3. เสด็จออกผนวช

           เมื่อทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณตามลำดับ จึงทรงคิดว่าชีวิตของทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ จึงเกิดแนวความคิดว่า
           ธรรมดาในโลกนี้มีของคู่กันอยู่ เช่น มีร้อนก็ต้องมีเย็น , มีทุกข์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีที่สุดทุกข์ คือ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
           ทรงเห็นความสุขทางโลกเป็นเพียงมายา ความสุขในกามคุณเป็นความสุขจอมปลอม เป็นเพียงภาพมายาที่ ชวนให้หลงว่าเป็นความสุขเท่านั้น ในความจริงแล้วไม่มีความสุข ไม่มีความเพลิดเพลินใดที่ไม่มีความทุกข์เจือปน
           วิถีทางที่จะพ้นจากความทุกข์ของชีวิตเช่นนี้ได้ หนทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร จะต้องสละเพศผู้ครองเรือนเป็นสมณะ

           สิ่งที่ทรงพบเห็นเรียกว่า “เทวทูต(ทูตสวรรค์)” จึงตัดสินพระทัยทรงออกผนวช ในวันที่พระราหุลประสูติเล็กน้อย พระองค์ทรงม้ากัณฐกะออกผนวช มีนายฉันทะตามเสด็จ โดยมุ่งตรงไปที่แม่น้ำอโนมานที ทรงตัดพระเกศา และเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นผ้ากาสาวพักตร์(ผ้าย้อมด้วยรสฝาดแห่งต้นไม้) ทรงเปลื้องเครื่องทรงมอบให้นายฉันนะนำกลับพระนคร
การออกบวชครั้งนี้เรียกว่า การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่)
          หลังจากทรงผนวชแล้ว จึงทรงมุ่งไปที่แม่น้ำคยา แคว้นมคธ เพื่อค้นคว้าทดลองในสำนักอาฬารดาบส กาลามโครตร และอุทกดาบส รามบุตร เมื่อเรียนจบทั้งสองสำนัก (บรรลุฌาณชั้นที่แปด) ก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ตามที่มุ่งหวังไว้

          จากนั้นจึงเสด็จไปที่แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ปัจจุบันนี้สถานที่นี้เรียกว่า ดงคศิริ) เมื่อบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยขบฟันด้วยฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร หลังจากทดลองมา 6 ปี ก็ยังไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาบำรุงพระวรกายโดยปกติตามพระราชดำริว่า “เหมือนสายพิณควรจะขึงพอดีจึงจะได้เสียงที่ไพเราะ”
          ซึ่งพระอินทร์ได้เสด็จลงมาดีดพิณถวาย พิณสายหนึ่งขึงไว้ตึงเกินไป พอถูกดีดก็ขาดผึงออกจากกัน จึงพิจารณาเห็นทางสายกลางว่า เป็นหนทางที่จะนำไปสู่พระโพธิญาณได้

          ระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ (โกญฑัญญะ วัปปะ ภัททิยา มหานามะ อัสสชิ) มาคอยปรนนิบัติพระองค์โดยหวังว่าจะทรงบรรลุธรรมวิเศษ เมื่อพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์จึงหมดศรัทธา พากันไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี (ต.สารนาถ)

4. ตรัสรู้ (15 ค่ำเดือน 6)

          ขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ นางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาส(หุงด้วยนม) ใต้ต้นไทร เมื่อเสวยเสร็จแล้วทรงลอยถาดทองในแม่น้ำเนรัญชรา ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า …
          “ถ้าอาตมาจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป” ถาดทองนั้นลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป 1 เส้น แล้วก็จมลงตรงนาคภพพิมานแห่งพญากาฬนาคราช พระองค์ทรงโสมนัสและแน่พระทัยว่าจะได้ตรัสรู้ เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า โดยหาความสงสัยมิได้
          ในเวลาเย็นโสตถิยะให้ถวายหญ้าคา 8 กำมือ ปูลาดเป็นอาสนะ ณ โคนใต้ต้นโพธิ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา (ปัจจุบันคือ ต.พุทธคยา ประเทศอินเดีย)
          ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่าจะบรรลุโพธิญาณ ประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
          ทรงบรรลุรูปฌาณทั้ง 4 ชั้น แล้วใช้สติปัญญาพิจารณาจนเกิดความรู้แจ้ง คือ

  1. เวลาปฐมยาม ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกชาติได้
  2. เวลามัชฌิมยาม ทรงได้จุตูปปาตญาณ(ทิพยจักษุญาณ)คือรู้เรื่องเกิด-ตายของสัตว์ทั้งหลายว่า เป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำไว้
  3. เวลาปัจฉิมยาม ทรงได้ อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะหรือกิเลส หมายถึง ตรัสรู้อริยสัจ 4

          อาสวักขยญาณ ที่ทรงได้ทำให้ทรงพิจารณาถึงขันธ์ 5 และใช่แห่งความเป็นเหตุที่ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท อันเป็นต้นทางให้เขาถึงอริยสัจ 4
          เมื่อพระองค์ทรงรู้เห็นแล้ว จึงละอุปาทานและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สถานที่ตรัสรู้ – พุทธคยา

5. ปฐมเทศนา

          หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ได้พิจารณาธรรมที่พระองค์ตรัสรู้เป็นเวลา 7 สัปดาห์ ทรงเห็นว่าพระธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อน สุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้ ทรงเกิดความท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรมโปรดมหาชน ต่อมาท่านได้ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้ง แล้วทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก
บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า ดังนั้นแล้วจึงดำริที่จะแสดงธรรมเพื่อมวลมนุษยชาติต่อไป

          บัว 4 เหล่า ได้แก่

  1. พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที (อุคฆฏิตัญญู)
  2. พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม
    จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป (วิปัจจิตัญญู)
  3. พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ
    มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอยด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง (เนยยะ)
  4. พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน (ปทปรมะ)

          จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณ ระลึกอาฬารดาบสและอุททกดาบสว่า มีกิเลสเบาบางสามารถตรัสรู้ได้ทันที แต่ท่านทั้ง
2 ได้ตายแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ (ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ) จึงเสด็จไปที่ป่าอิสปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี ในวันขึ้น 15 เดือน 8 จึงทรงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป)” ซึ่งใจความ 3 ตอน คือ

  1. ทรงชี้ทางผิดอันได้แก่กามสุขัลลิกานุโยค(การประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยกาม) และอัตตกิลมถานุโยค(การทรมานตนให้ลำบาก) ว่าเป็นส่วนสุดที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน แต่เดินทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ มรรคมีองค์แปด เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
  2. ทรงแสดงอริยสัจ 4 โดยละเอียด
  3. ทรงปฏิญญาว่าทรงตรัสรู้พระองค์เอง และได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว

          โกญฑัญญะเป็นผู้ได้ธรรมจักษุก่อน เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งตามสภาพเป็นจริงว่า
“ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ” สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเกิดขึ้นเป็นธรรม สิ่งนั้นทั้งหมดมีดับเป็นธรรมดา
          จึงได้อุปสมบทเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทาองค์แรก
          หลังจากปัญจวัคคีย์อุปสมบทแล้ว พุทธองค์จึงทรงเทศน์ อนัตตลักขณสูตร ปัญจวัคคีย์จึงสำเร็จเป็นอรหันต์

6. ลักษณะการแสดงธรรม

          สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางธรรมมาก่อนจะทรงเทศน์ “อนุปุพพิกถา” ซึ่งว่าด้วยเรื่อง

  • คุณของการให้ทาน การรักษาศีล
  • สวรรค์ (การแสวงสุขเนื่องจากการให้ทาน การให้ศีล)
  • โทษของกามและการปลีกตัวออกจากกาม
  • จากนั้นจึงทรงเทศน์ อริยสัจ 4

7. แสดงธรรมโปรดยสกุลบุตร

          ยสกุลบุตรเบื่อหน่ายชีวิตครองเรือนหนีออกจากบ้าน ไปยังป่าอิสปตนมฤคทายวันในเวลาเช้ามืด
แล้วพบพระพุทธเจ้าบังเอิญ ยสกุลบุตรสดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์
และขอบวช
          อุบาสิกอุบาสิกาคู่แรก คือ บิดามารดาของพระยสะ
          ครั้นแล้วมีเพื่อนของพระยสะ 4 คนกับอีก 50 คน ได้มาฟังพระธรรมเทศนา สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงมีพระอรหันต์ในโลก 61 องค์

8. การส่งสาวกออกประกาศศาสนา

          ตรัสเรียกสาวกออกประกาศศาสนา เมื่อมีสาวกครบ 60 รูป (ปัญจวัคคีย์และพวกพระยสะ)
          ตรัสให้พระสาวก 60 รูปแยกย้ายกันประกาศศาสนา 60 แห่งไม่ซ้ำทางกัน
          พระองค์จะเสด็จไปแสดงธรรม ณ ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม
          เมื่อสาวกออกประกาศเทศนา มีผู้ต้องการบวชมาก และหนทางไกลกัน จึงทรงอนุญาตให้สาวกดำเนินการบวชได้ โดยใช้วิธีการ “ติสรณคมนูปสัมปทา” (ปฏิญาณตนเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัย)

9. การประดิษฐ์พุทธศาสนา ณ แคว้นมคธ

          วิธีเผยแพ่รศาสนาในกรุงราชคฤห์ ทรงเทศน์โปรดชฎิล(นักบวชเกล้าผม)สามพี่น้อง ได้แก่ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ และบริวาร รวม 1,000 คนก่อน แล้วได้ขอบวชในพระพุทธศาสนา เพราะพวกชฎิลเป็นเจ้าลัทธิบูชาไฟที่ยิ่งใหญ่ หากชฎิลยอมรับพุทธธรรมได้ ประชาชนก็ย่อมเกิดความศรัทธา
          พระอุรุเวลกัสสปะได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางมีบริษัท(บริวาร)มาก
          พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายวัดนับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา คือ พระเวฬุวันมหาวิหาร (วัดเวฬุวัน)

10. อุปติสสะ(พระสารีบุตร)และโกลิตะ(พระโมคคัลลานะ)

          ณ กรุงราชคฤห์นี้เอง เด็กหนุ่มสองคน ซึ่งเป็นศิษย์ของนักปรัชญาเมธี ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ สัญชัย เวลัฏฐบุตร โดยพระอัสสชิได้แสดงธรรมให้อุปติสสะว่า
“ทุกสิ่งจากเหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น และการดับเหตุของสิ่งเหล่านั้น”
          อุปติสสะได้ฟังก็เกิด “ดวงตาเห็นธรรม” จึงกราบลาท่าน แล้วรีบไปบอกข้อความที่ตนได้ฟังมาแก่โกลิตะทราบ โกลิตะได้ฟังก็เกิด”ดวงตาเห็นธรรม” เด็กหนุ่มสองคนจึงมาขอบวชเป็นสาวกพร้อมกัน และมีชื่อเรียกทางพระศาสนาว่า พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ตามลำดับ

          หลังจากบวชได้ 7 วัน พระโมคคัลลานะได้ไปบำเพ็ญสมาธิอยู่ที่ กัลลวาลมุตตคาม ใกล้เมืองมคธ รู้สึกง่วงเหงาหาวนอน แก้อย่างไรก็ไม่หาย จนพระพุทธเจ้าเสด็จไปตรัสบอกวิธีเอาชนะความง่วงให้ พร้อมประทานโอวาทว่าด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ให้ใช้ปัญญาพิจารณาเวทนา (ความรู้สึก) ทั้งหลายว่า เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน จบพุทธโอวาท พระโมคคัลลานะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
          หลังจากบวชได้ 15 วัน พระสารีบุตรได้ถวายงานพัดพระพุทธเจ้า ขณะพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดทีฆนขะปริพาชก (นักบวชไว้เล็บยาว) อยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชฌกูฏ ท่านพัดวีพระพุทธองค์พลางคิดตามพระโอวาทของพระพุทธเจ้าไปด้วย เมื่อจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
          ทั้งสองท่านได้รับแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าให้เป็นพระอัครสาวก โดยพระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา มีความเป็นเลิศกว่าผู้อื่นทางปัญญา และพระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย มีความเป็นเลิศกว่าผู้อื่นทางฤทธิ์มาก

11. โอวาทปาติโมกข์

          วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (มาฆบูชา) เกิดมีจตุรงคสันนิบาต ซึ่งประกอบด้วย

  1. วันนั้น เป็นวันมาฆปูรณมี คือวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำกลางเดือนมาฆะ จึงเรียกว่า มาฆบูชา
  2. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
  3. พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ประเภทฉฬภิญญาคือ ได้อภิญญา 6 ซึ่งหมายถึงความสามารถ พิเศษ 6 ประการ ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ ระลึกชาติได้ ตาทิพย์ หูทิพย์ กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ และบรรลุอาสวักขยญาณ คือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย)
  4. พระภิกษุ เหล่านั้น ทั้งหมด ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง (เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา)

          ทรงเทศน์ “โอวาทปาติโมกข์” ซึ่งถือเป็นหัวใจของศาสนาพุทธ ใจความว่า

” จงทำดี ละเว้นความชั่ว และทำใจให้บริสุทธิ์ “

          พระสงฆ์ปรารถว่าไม่เคยเห็นฝนเช่นนี้มาก่อน พระพุทธจึงทรงเล่าว่า ฝนนี้เคยตกมาแล้วเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร แล้วจึงทรงเล่าเรื่องมหาเวสสันดร

12. โปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์

  • ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา (พระเจ้าสุทโธทนะ) ได้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล จนบรรลุอรหันตผลเมื่อใกล้สวรรคต
  • พระนันทะ (เป็นโอรสของพระสุทโธทนะกับพระนางปชาบดีโคตมี) ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านำ ออกผนวชอุปสมบท
  • ต่อมาพระนางยโสธราก็ให้พระกุมารราหุลซึ่งมีอายุ 7 ปีไปทูลขอราชสมบัติ พระพุทธเจ้าเห็นว่าราชสมบัติเป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืน อริยทรัพย์(ทรัพย์อันประเสริฐ)ต่างหากเป็นสิ่งยั่งยืน จึงทรงให้พระสารีบุตรทำการบรรพชาให้ราหุลเป็นสามเณร จึงเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา ณ นิโครธาราม พระเจ้าสุทโธทนะจึงขอร้องว่า “ขออย่าให้ทรงบวชใคร โดยที่พ่อแม่เขายังไม่ได้อนุญาต”

          เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จากนั้นก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางใคร่ต่อการศึกษา

  • ทรงให้อุปสมบทแก่เจ้าศากยะ 5 พระองค์ คือ พระอานนท์ พระอนุรุทธ์(เป็นผู้มีเลิศในทางมีทิพยจักษุ) พระภัททิยะสักยราชา พระภัคคุ พระกิมพิละและเจ้าโกลิยะ 1 พระองค์ คือพระเทวทัต จนได้บรรลุอรหัตผล 5 ท่าน ยกเว้นพระเทวทัต
  • พระอุบาลีเป็นบุตรของช่างกัลบก(ช่างตัดผม)อยู่ในวรรณะต่ำได้รับแต่งตั้ งให้เป็นพนักงานภูษามาลาของเจ้าศากยะ ทำหน้าที่จัดการดูแลเครื่องแต่งกาย เมื่อเจ้าศากยะ 5 พระองค์ และเจ้าโกลิยะ 1 พระองค์ทรงออกผนวช อุบาลีได้ติดตามไปขออุปสมบทด้วย พระอุบาลีเมื่อได้อุปสมบทแล้วไม่ช้าก็บรรลุอรหัตผล และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศทางด้านผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย
  • พระนางปชาบดีโคตมี(พระน้าของพระพุทธเจ้า) ได้ผนวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา โดยพระอานนท์ช่วยกราบทูลขออนุญาตพระพุทธเจ้าสุดท้ายได้บรรลุพระอรหันต์ และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางรู้ราตรี
  • โปรดให้พระนางยโสธราได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีชื่อพระนางภัททา กัจจานา จนบรรลุอรหัตผล และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางบรรลุอภิญญาใหญ่ (สามารถระลึกเหตุการณ์ในกัปป์ต่างๆย้อนหลังไปได้มากนับไม่ถ้วน)

13. การประดิษฐ์พุทธศาสนา ณ แคว้นโกศล

          เมื่อประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นมคธได้อย่างมั่นคงแล้ว ต่อมาไม่นานพระพุทธศาสนาก็มีศูนย์กลางแห่งใหม่ที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล โดยอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้สร้าง”วัดพระเชตวัน”ขึ้น แล้วกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ไปอยู่ประจำ และนางวิสาขามหาอุบาสิกาเศรษฐีนีคนหนึ่งก็มีจิตศรัทธาสร้าง วัดบุพพาราม ถวายด้วย

14. ปัจฉิมกาล

          ก่อนปรินิพพาน 3 เดือน ทรงปลงอายุสังขาร
          ก่อนปรินิพพาน 1 วัน นายจุนทะถวายสุกรมัททวะ (หมูอ่อน) เมื่อพระองค์เสวยแล้วประชวรพระอานนท์โกรธ พุทธองค์จึงตรัสว่า
          “บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ที่สุด มี 2ประการ คือ เมื่อตถาคต(พุทธองค์) เสวยบิณฑบาตแล้วตรัสรู้ ,ปรินิพพาน”
ก่อนปรินิพพานทรงกล่าวพุทธโอวาทว่า

  1. การบูชาพุทธองค์อย่างแท้จริง คือ การปฎิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
  2. พุทธศาสนิกชนที่ต้องการเฝ้าพระองค์ควรไปที่ “สังเวชนียสถาน”
  3. การวางตัวของภิกษุต่อสตรี ต้องคุมสติอย่าแปรปรวนตามราคะตัณหา
  4. พระบรมสารีริกธาตุเป็นเรื่องของกษัตริย์(มัลลกษัตริย์) มิใช่กิจของสงฆ์
  5. ความพลัดพรากเป็นธรรมดาของโลก
  6. ธรรมและวินัย จะเป็นศาสดาแทนพุทธองค์ ทั้งนี้เพราะบุคคลไม่เที่ยงแท้เท่ากับพระธรรมซึ่งเป็นสัจธรรม

          ปัจฉิมสาวก คือ สุภัททะบริพาชก

          ปัจฉิมโอวาท “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา พวกเธอจึงทำประโยชน์ตนเอง และประโยชน์ของผู้อื่นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
          (อปปมาเทน สมปาเทต)

          ปรินิพพาน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
พระชนมายุ 80 ปี ทรงเทศนาสั่งสอนมาเป็นเวลา 45 ปี

สถานที่ปรินิพพาน

          เป็นไงบ้างคะ การ์ตูนก็สนุก เนื้อหาก็เข้มข้น หวังว่า น้องๆ จะนำความรู้ไปใช้ได้นะ คะ
         ป.ล คำถามจะส่งไปทีหลังนะคะ ^^