การสาธารณสุขมูลฐาน
การสาธารณสุขมูลฐาน
ประวัติความเป็นมา
การสาธารณสุขมูลฐานเกิดจากแนวความคิด ซึ่งมองเห็นปัญหาใหญ่ ๆ 2 ประการคือ การครอบคลุมประชากรในด้านบริการสาธารณสุข และ การผสมผสานงานบริการด้านต่าง ๆ ตลอดจนความร่วมมือกับงานพัฒนาสังคมด้านอื่น ๆ
ปัญหาทั้ง 2 ปัญหา เป็นปัญหาที่มองเห็นได้ชัดเจน ปัญหาด้านการครอบคลุมประชากรด้านการบริการสาธารณสุขที่ยังดำเนินการได้ไม่ครอบคลุมประชากรทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มประชากรที่ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณสุข มักจะเป็นประชากรที่อาศัยใกล้ ๆ กับสถานบริการเสียส่วนใหญ่ หรือมิฉะนั้นแล้วก็เป็นกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะซื้องานบริการได้ เช่นประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง หรือในตลาดศูนย์การค้าของชนบท เป็นต้น
ส่วนกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทจริง ๆ หรือท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลนั้น ไม่ค่อยจะมีโอกาสที่จะเข้ามารับบริการ ซึ่งในกรณีนี้หากว่าชาวบ้านไม่เจ็บป่วยหนักจริง ๆ แล้วเขาจะไม่ยอมเสียเงิน เสียเวลาเดินทางมารับบริการ เพราะนอกจากเขาจะเสียทั้งเงินทั้งเวลาและต้องเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางแล้ว บางครั้งเมื่อเขาเดินทางมาถึงสถานบริการก็ยังไม่ได้พบเจ้าหน้าที่หรือต้องเสียเวลาคอยนาน ทั้งนี้ เนื่องจากมีผู้ป่วยมาคอยรับบริการอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เิกิดความท้อแท้ไม่อยากเดินทางมารับบริการอีกต่อไป นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้การครอบคลุมบริการโดยสถานบริการของรัฐ มีอัตราการให้บริการต่ำและจำกัด
ถ้าเราดู ประเภทของบริการ เราจะเห็นได้ว่าขั้นแรกเราต้องรวมเรื่อง การรักษาพยาบาล และ การป้องกันโรค รวมทั้งเรื่อง การส่งเสริมสุขภาพอนามัย เข้าด้วยกัน หากว่าเราแบ่งแยกเรื่องสองเรื่องนี้ออกจากกันแล้ว งานสาธารณสุขก็จะไม่เกิดประสิทธิผล หรือหากเกิดประสิทธิผลแต่ก็เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ตัวอย่างเช่น งานควบคุมและป้องกันโรคระบาด เราจำเป็นที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันโรค เราจำเป็นจะต้องหาผู้ป่วยด้วยโรคระบาดให้ได้เร็วที่สุด พร้อมกับทำการรักษาพยาบาลเสียแต่แรกเริ่ม ก่อนที่โรคจะลุกลามและแพร่หลาย หรือแม้แต่ในกรณีของโรคติดเชื้อต่าง ๆ นั้น มิใช่เพียงแต่ต้องการรักษาพยาบาลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการให้มีการเสริมและปรับปรุงสภาวะโภชนาการของผู้ป่วยพร้อม ๆ กันไปด้วย รวมทั้งการปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง:
http://www.sema.go.th/files/Content/Healthiness/k4/0006/pkten/content12/asm1.html