การปฐมพยาบาลเบื้องต้น : การปฐมพยาบาลผู้มีอาการตกเลือด-1
อาการ
จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนเลือดและระยะเวลาที่เสียเลือดอาการจะมีดังต่อไปนี้
1. หน้าซีด สังเกตได้จากริมฝีปาก เล็บ ลิ้น เปลือกตาด้านใน ผิวหนัง และฝ่ามือมีสีซีด
2. ผู้ป่วยบอกว่า รู้สึกหน้ามืด เวียนศีรษะ หูอื้อ ตาลาย และเหมือนจะเป็นลม
3. มีอาการช็อค ได้แก่ เหงื่อออก ตัวเย็นชื้น และหมดสติ
4. หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นเบา และเร็ว
การปฐมพยาบาล
ผู้ให้ความช่วยเหลือจะต้องตั้งสติ ไม่ตกใจ และดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ให้ผู้ป่วยนอนราบ ปลอบผู้ป่วยให้คลายความกังวล นอนอยู่นิ่ง ๆ เปิดบริเวณที่เลือดออกให้เห็นชัดเจน แต่อย่าให้ผู้ป่วยเห็นบาดแผลที่รุนแรง คลายเครื่องแต่งกายให้หลวมๆ
2. ยกส่วนที่เลือดออกให้อยู่สูงกว่าส่วนอื่น และห้ามเลือด
วิธีห้ามเลือด
1. การกดบาดแผลโดยตรง โดยใช้นิ้วมือที่สะอาดกดลงบนแผลที่มีเลือดออก หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าที่สะอาดที่หาได้ พับเป็นผืนสี่เหลี่ยมหลาย ๆ ชั้น กดลงบนแผล โดยใช้แรงสม่ำเสมอ หรือใช้ผ้าพันรัดแผลให้แน่นหลายๆ รอบ ถ้ามีเลือดซึมออกมาให้เห็น ต้องเพิ่มผ้าอีกหลายชั้นทับลงไป อย่าแกะผ้าผืนเดิมออก เพราะจะทำให้เลือดที่แข็งตัวเป็นลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดที่ฉีกขาดหลุดติดออกมาด้วย เลือดก็จะออกมามากขึ้นอีก หากกดนานประมาณ 5-10 นาที ผ้ายังไม่ชุ่มเลือด แสดงว่าเลือดหยุด ให้ใช้ผ้าอีกผืนทับลงไปให้แน่นพอสมควร ก่อนนำส่งโรงพยาบาล วิธีนี้อาศัยความแน่นของผ้าที่กดหรือพันไว้ จะเป็นตัวช่วยกดลงบนจุดที่มีเลือดออก และจะทำให้เลือดนั้นแข็งตัวอุดปลายหลอดเลือดที่ฉีกขาดได้ หรืออาจใช้ความเย็นของน้ำแข็งช่วยประคบก็จะทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น