บทวิเคราะห์อิศรญาณภาษิต

สร้างโดย : นางสาวเรณู เย็นใจ
สร้างเมื่อ เสาร์, 04/10/2008 – 13:52
มีผู้อ่าน 262,226 ครั้ง (26/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/16632

บทวิเคราะห์อิศรญาณภาษิต

        วรรณกรรมคำสอนเป็นวรรณกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อสั่งสอนอบรมผู้คนให้อยู่ในกรอบจารีตของสังคม  ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นในความคิดของผู้คน  เพื่อให้ซึมซาบในจิตใจเป็นการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม  วรรณกรรมคำสอนจึงเปรียบเสมือนกฎที่คอยควบคุมผู้คนให้อยู่ในระเบียบและเสนอแนะวิถีปฏิบัติของคนในสังคม แต่อิศริญาณภาษิตนับเป็นวรรรกรรมคำสอนที่มีลีลาแข็งกร้าว  น้ำเสียงประชดประชันเสียดสี  แปลกไปจากวรรณกรรมคำสอนเรื่องอื่น  ๆ  เป็นภาษิตที่มีเนื้อหาเน้นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม  สอนให้รู้จักวางตัวให้เหมาะสมและอยู่รอดในสังคมได้อย่างปลอดภัย

        อิศรญาณภาษิตเริ่มเรื่องโดยชี้ให้เห็นว่า  มนุษย์เราไม่อาจอยู่คนเดียวตามลำพังได้  จำต้องพึ่งพาอาศัยกัน  ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันเป็นสิ่งดี  ควรมีให้แก่กัน  ดังนี้

ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า
น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ
รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ

        มนุษย์เรานั้นควรทำดีต่อผู้ที่ดีกับเรา  แม้ผู้ที่ทำไม่ถูกต้องก็ไม่ควรโกรธหรือตัดรอนอย่างแตกหัก  ดังนี้

ผู้ใดดีดีต่ออย่าก่อกิจ
ผู้ใดผิดผ่อนพักอย่าหักหาญ

        อิศรญาณภาษิตสอนให้เรารู้จักตนเองก่อนที่จะรู้จักผู้อื่น  ถ้าเราไม่รู้จักตนเอง  ใครจะรู้ใจเราเองดีกว่าตัวเรา  ดังนี้

อย่านอนเปล่าเอากระจกยกออกมา
ส่องดูหน้าเสียทีหนึ่งแล้วจึงนอน

และ

 ใจของเราไม่สอนใจใครจะสอน

        ขณะเดียวกัน  เราก็ต้องรู้จักผู้อื่นด้วย  คือเข้าถึงจิตใจ  รู้จักทัศนะ  ความประพฤติรวมทั้งรู้เท่าทันผู้ที่เราคบค้าสมาคมด้วย  ดังความว่า  “เกิดเป็นคนเชิงดูให้รู้เท่า”

        นอกจากนี้  ยังชี้ให้เห็นว่า  จิตใจของมนุษย์นั้นซับซ้อน  ไม่แน่นอน  การกระทำของผู้อื่นที่มีต่อเราอาจไม่ใช่ความจริงใจไปเสียทั้งหมด  เราต้องจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน  ไม่ควรหลงใหลกับสิ่งที่เป็นมายามากนัก  อาจถูกหลอกลวงได้  ดังนี้

อันยศศักดิ์มิใช่เหล้าเมาแต่พอ
ถ้าเขายอเหมือนอย่างเกาให้เราคัน
บ้างโลดเล่นเต้นรำทำเป็นเจ้า
เป็นไรเขาไม่จับผิดคิดดูขัน
ผีมันหลอกช่างผีตามทีมัน
คนเหมือนกันหลอกกันเองกลัวเกรงนัก 

        ดังนั้น  เราก็ควรทำใจให้หนักแน่น  ไตร่ตรองเรื่องต่าง  ๆ  ด้วยเหตุผล  อย่าเชื่อคนง่าย  ดังนี้

จงฟังหูไว้หูคอยดูไป
เชื่อน้ำใจดีกว่าอย่าเชื่อยุ

        น่าสังเกตว่า  อิศรญาณภาษิตมักจะสอนเรื่องการวางตัว  เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย  คือสอนให้รู้จักกำหนดท่าทีของตนต่อผู้อื่น ปฏิบัติตนให้เหมาะ งามแก่บุคคลและสถานการณ์  ดังความว่า

หญิงเรียกแม่ชายเรียกพ่อยอไว้ใช้
มันชอบใจข้างปลอบไม่ชอบดุ
ที่ห่างปิดที่ชิดไชให้ทะลุ
คนจักษุเหล่หลิ่วไพล่พลิ้วพลิก

        อิศรญาณภาษิตสอนให้รู้จักหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับผู้อิ่น  ไม่ขัดผลประโยชน์ด้วยการพูดในสิ่งที่แสลงหูผู้อื่น  ดังนี้

เดินตามรอยผุ้ใหญ่หมาไม่กัด
ไปพูดขัดเขาทำไมขัดใจเขา
ใครทำตึงแล้วหย่อนผ่อนลงเอา
นักเลงเก่าเขาไม่หาญราญนักเลง

        สอนให้รู้ว่าการรู้ความจริงแล้วไม่พูดจะเป็นการฉลาดกว่าพูดความจริงออกไป  ดังนี้

ถึงรู้จริงนิ่งไว้อย่าไขรู้
เต็มที่ครู่เดียวเท่านั้นเขาสรรเสริญ
ไม่ควรก้ำเกินหน้าก็อย่าเกิน
อย่าเพลิดเพลินคนชังนักคนรักน้อย

        ที่สำคัญ  สอนให้รู้ว่าอย่าทำตัวให้เด่นกว่าผู้อื่น  เพราะอาจถูกหมั่นไส้หรือไม่พอใจเพราะจะเป้นภัยแก่ตัว

สูงอย่าให้สูงกว่าฐานนานไปล้ม
จะเรียนคมเรียนเถิดอย่าเปิดฝัก

        ในแง่วรรณศิลป์  อิศรญาณภาษิตใช้ภาษาเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง  เต็มไปด้วยโวหารเปรียบเทียบอันคมค่ยและแยบยล  ชวนให้พินิจนัยที่แฝงเร้น  เช่น

อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก
ไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว

        โวหารเปรียบเทียบข้างต้นสื่อความว่าสิ่งใดที่คิดว่ามั่นคงดีแล้วนั้นก็อาจคลอนแคลนได้  เปรียบเสมือนเสาหินที่แม้จะใหญ่โตแข็งแรง  หากถูกผลักนานวันเข้าก็คงไหวเอนได้ในวันหนึ่ง

ล้องูเห่าเล่นก็ได้ใจกล้ากล้า
แต่ว่าอย่ายักเยื้องเข้าเบื้องหาง
ต้องว่องไวในทำนองคล่องท่าทาง
ตบหัวผางเดียวม้วนจึงควรล้อ

        โวหารเปรียบเทียบข้างต้นแนะความว่าในการประกอบกิจใด  ๆ  เราควรรู้เขารู้เรา  รู้ทันสถานการณ์ว่าเราจะเผชิญหน้ากับ “งูเห่า”  หรืออำนาจที่เหนือเราได้อย่างไร

แต่ไม้ไผ่อันหนึ่งตันอันหนึ่งแขวะ
สีแหยะแหยะตอกตะบันเป็นควันฉิว
ช้างถีบอย่าว่าเล่นกระเด็นปลิว
แรงหรือหิวชั่งใจดูจะสู้ช้าง

        โวหารเปรียบเทียบข้างต้นสื่อความว่าสรรพสิ่งในโลกนั้นต่างมีพลังหรืออำนาจ  ไม่ว่าจะเป็นของเล็กหรือของใหญ่  ของเล็กอย่างไม้ไผ่ก็มีอำนาจกระทำให้เกิดเป็นควันได้  ของใหญ่อย่างช้างก็มีพลังทำลายสิ่งของอื่น ดังนั้นในการดำรงตนให้ปลอดภัยจึงควรพิจารณาไตร่ตรองให้ถ้วนถี่  ดังความว่า  “แรงหริอหิวชั่งใจดูจะสู้ช้าง”  คือหากจะสู้หรือต่อกรกับ  “อำนาจ”  ที่ยิ่งใหญ่กว่า    ก็ควรจะประเมินกำลังของเราว่าอยู่ในภาวะ  “แรง”   หรือ  “หิว”  ซึ่งหมายถึงไม่มีแรงอ่อนเพลีย  จะได้เตรียมสู้หรือหนีให้เหมาะสม อิศรญาณภาษิตได้นำสำนวนไทยที่มีอยู่แต่เดิมมาขยายความบ้าง  ดัดแปลงบ้าง  เช่น 

ชายข้าวเปลลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า
น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ
รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ

รักสั้นนั้นให้รู้อยู่เพียงสั้น
รักยาวนั้นอย่าให้เยิ่นเกินกฎหมาย

เพชรอย่างดีมีค่าราคายิ่ง
ส่งให้ลิงจะรู้ค่าราคาหรือ

เดินตามรอยผู้ใหญ่หมาไม่กัด
ไปพูดขัดเขาทำไมขัดใจเขา

เขาย่อมว่าฆ่าความเสียดายพริก
รักหยอกหยิกยับทั้งตัวอย่ากลัวเล็บ

        นอกจากนี้  เนื้อความบางบทยังใช้ภาษาสั้น  กระชับ  กินความมาก  เช่น

มิใช่เนื้อก็เอาเป็นเนื้อก็เหลือปล้ำ
แต่หนามตำเข้าสักนิดกรีดยังเจ็บ
อันโลภลาภบาปหนาตัณหาเย็บ
เมียรู้เก็บผัวรู้ทำพาจำเริญ

        “เนื้อ”  ในที่นี้  น่าจะหมายถึง  เนื้อคู่  คำประพันธ์บทนี้กล่าวถึงการเลือกคู่ครอง  ถ้าเลือกได้เหมาะสม  คือ  “เมียรู้เก็บผัวรู้ทำ” ชีวิตคู่ย่อมเจริญ

        เนื้อความบางบทแฝงน้ำเสียงเสียดสีผู้มีอำนาจหรือมีฐานะเหนือกว่า  เช่น 

ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า
ใครเลยเล่าจะไม่งามตามเสด็จ

        แม้ว่าเนื้อหาในอิศรญาณภาษิตนี้จะเป็นเพียงทัศนะของบุคคลหนึ่งที่อาจแสดงออกมาด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ แต่โวหารเปรียบเทียบอันคมคายและแยบยลทั้งหลายนี้ได้สร้างรสแห่งวรรณศิลป์  กระทบใจผู้อ่านมาทุกยุคทุกสมัย คำประพันธ์หลายบทในภาษิตเล่มนี้เป้นที่จดจำได้เป็นอย่างดี  ที่สำคัญทัศนะส่วนพระองค์ของผู้ประพันธ์ได้สะท้อนค่านิยมบางประการของสังคมไทย  เช่น ค่านิยมเรื่องการพึ่งพาอาศัยกัน  ซึ่งนำไปสู่ค่านิยมเรื่องการรักษาหน้าตา  การถนอนน้ำใจ  การรู้จักผูกมิตร  การไม่สร้างศัตรู  ค่านิยม เหล่านี้ยังคงแฝงฝังอยู่ในวิถีปฏิบัติของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง  ๆ  ในสังคมปัจจุบัน

แหล่งอ้างอิง : 
ศึกษาธิการ,กระทรวง.  สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
วรรณคดีและวรรณกรรม  เล่ม  ๓.  โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว : กรุงเทพมหานคร, ๒๕๔๘