สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น (อังกฤษ: United Nations หรือ UN)
สหประชาชาติ (United Nations หรือ UN)

ข้อมูลเบื้องต้น
สหประชาชาติก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2488 (ค.ศ. 1945) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การเคารพในหลักความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรโลก ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ
สหประชาชาติมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีสมาชิก 191 ประเทศ
(เมษายน 2548) ประกอบด้วยองค์กรหลัก (principal organs) 6 องค์กร คือ
ก) สมัชชา (General Assembly) ประกอบด้วยสมาชิกทุกประเทศของสหประชาชาติ เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่กำหนดแนวทางปฏิบัติงานขององค์การ พิจารณาและให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ภายในขอบเขตของกฎบัตรสหประชาชาติ พิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ พิจารณารายงานขององค์กรต่างๆ ของสหประชาชาติ มีหน้าที่เลือกสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรี ความมั่นคงจำนวน 10 ประเทศ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 54 ประเทศและคณะมนตรีอื่นๆ ตลอดจนการรับสมาชิกใหม่ แต่งตั้งเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อได้รับข้อเสนอแนะจากคณะมนตรีความมั่นคง รวมทั้งพิจารณาและรับรองงบประมาณของสหประชาชาติ กำหนดส่วนเฉลี่ยค่าบำรุงของประเทศสมาชิก ฯลฯ
ข) คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) ประกอบด้วยสมาชิกถาวร (Permanent Members) จำนวน 5 ประเทศ (สาธารณรัฐประชาชนจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) และสมาชิกไม่ถาวร (Non-permanent Members) จำนวน 10 ประเทศ ซึ่งมาจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี มีหน้าที่สอบสวนกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และเสนอแนะวิธีดำเนินการหรือแผนปฏิบัติการที่จะจัดทำความตกลงสำหรับการยุติข้อพิพาทโดยสันติ เสนอแนะการรับสมาชิกใหม่ เสนอแนะสมัชชาฯ ในการแต่งตั้งเลขาธิการสหประชาชาติ และทำหน้าที่ร่วมกับสมัชชาฯ ในการเลือกตั้งผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ค) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council : ECOSOC) ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 54 ประเทศ อยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี ทุกปีจะมีการเลือกตั้งแทนประเทศที่พ้นตำแหน่งปีละ 18 ประเทศ สมาชิกที่ครบวาระแล้วมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกตั้งซ้ำและสามารถรับเลือกตั้งซ้ำในวาระต่อเนื่องได้ แบ่งการดำเนินงานออกเป็นคณะกรรมาธิการประจำ คณะกรรมาธิการภูมิภาค และองค์กรผู้เชี่ยวชาญ มีหน้าที่ศึกษาและรายงานเรื่องระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัย และอื่นๆ รวมทั้งให้คำแนะนำ เพื่อส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพขั้นมูลฐานของปวงชน
ง) คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่ปกครองดินแดนในภาวะทรัสตี ประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคง และประเทศอื่นๆ เท่าที่จำเป็น เพื่อให้ได้สัดส่วนของประเทศที่ปกครองและมิได้ปกครองภาวะทรัสตีจำนวนเท่าๆ กัน มีหน้าที่พิจารณารายงานของประเทศที่ทำหน้าที่ปกครองดินแดนและจัดทำข้อเสนอแนะ เพื่อเร่งรัดการให้ดินแดนในภาวะทรัสตีเจริญก้าวหน้ารวดเร็ว สามารถปกครองตนเองหรือเป็นเอกราชได้
จ) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวน 15 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี คัดเลือกจากผู้มีคุณสมบัติสูงสุดทางตุลาการในประเทศของตนหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาฯ เป็นผู้คัดเลือก มีหน้าที่พิจารณาข้อขัดแย้งในทางกฎหมายตามที่แต่ละประเทศเสนอต่อศาลฯ และให้คำแนะนำตัวบทกฎหมายเมื่อได้รับการร้องขอจากองค์กรภายในสหประชาชาติ รวมทั้งตีความกฎหมายระหว่างประเทศและการเตรียมร่างอนุสัญญาและสนธิสัญญาที่กำหนดแนวทางปฏิบัติระหว่างชาติ
ฉ) สำนักเลขาธิการ (Secretariat) มีเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของสหประชาชาติ ปฏิบัติการในอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการในการประชุมทั้งปวงของสมัชชา คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และคณะมนตรีภาวะทรัสตี รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ที่องค์กรเหล่านี้มอบหมาย พร้อมทั้งจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสหประชาชาติเสนอต่อสมัชชาฯ
องค์กรต่างๆ เหล่านี้มีสำนักงานอยู่ที่นครนิวยอร์ก ยกเว้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ยังมีทบวงการชำนัญพิเศษ (Specialized Agencies) อีกจำนวน 16 องค์กร ซึ่งเป็นองค์การอิสระและปฏิบัติงานเฉพาะสาขา ผูกพันกับสหประชาชาติตามข้อตกลงพิเศษ ประกอบด้วยสมาชิกทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ โดยมีคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมกับสมัชชาฯ เป็นองค์กรประสานงาน