จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับตรงแพทย์-ทันตะ
คณะแพทยศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังเปิดรับสมัครเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2552 โดยวิธีรับตรง ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 รวมจำนวน 123 คน
จำนวนรับ
-โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จำนวน 70 คน
-โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน จำนวน 20 คน ดังนี้จังหวัดชลบุรี 6 คน จังหวัดระยอง 5 คน จังหวัดตราด 1 คน จังหวัดจันทบุรี 2 คน จังหวัดนครปฐม 3 คน จังหวัดสมุทรปราการ 2 คน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 คน
-โครงการโอลิมปิกวิชาการ (ชีววิทยา) จำนวนไม่เกิน 3 คน
-โครงการผลิตทันตแพทย์เพิ่มของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 30 คน
คุณสมบัติเฉพาะแต่ละโครงการของคณะแพทยศาสตร์
โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท
1.เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่เขตรับผิดชอบของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท คือจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด นครนายก พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ลพบุรี รวม 9 จังหวัดโดย
ก.มีหรือเคยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดในเขตรับผิดชอบของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทไม่น้อยกว่า 1 ปี ตามหลักฐานทะเบียนบ้านนับถึงวันสมัคร หรือบิดามารดาต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดนั้นไม่น้อยกว่า 1 ปีติดต่อกันนับถึงวันสมัครหรือ
ข.เคยศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาจากสถานศึกษาที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัคร
2.มีใบระเบียนแสดงผลการเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 4 มัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 4-6 (ปพ.1:4) ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ -5 โดยได้คะแนนเฉลี่ยรวมทุกวิชาตลอด 4 ภาคเรียนไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือใบระเบียนแสดงผลการเรียนทุกภาคเรียน สำหรับนักเรียนในโครงการส่งเสริม และพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ในการเรีนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยได้คะแนนเฉลี่ยรวมทุกวิชาทุกภาคตลอดชั้นปีที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 2.75
3.ก่อนเข้าศึกษาต้องสามารถทำสัญญาผูกพันที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ผู้รับทุนต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุนภายหลังสำเร็จการศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปีหรือตามระเบียบของราชการ
โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน
1.เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่เขตรับผิดชอบของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท คือจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด พระนครศรีอยุธยา นครปฐม รวม 7จังหวัด โดยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดมาไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกันตามหลักฐานทะเบียนบ้าน หรือบิดามารดาต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอนั้นไม่น้อยกว่า 5 ปีติดต่อกันนับถึงวันรับสมัคร ตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการร่วมระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ให้ความสำคัญกับนักเรียนที่มีภูมิลำเนาในระดับอำเภอที่มีความขาดแคลนแพทย์
2.มีใบระเบียนแสดงผลการเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานช่วงชั้นที่ 4 มัธยมศึกษาปีที่ 4-6 (ปพ.1:4) ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 โดยได้คะแนนเฉลี่ยรวมทุกวิชาตลอด 4 ภาคเรียนตั้งแต่ 3.5 ขึ้นไป
3.ก่อนเข้าศึกษาต้องสามารถทำสัญญาผูกพันที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ผู้รับทุนต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุนภายหลังสำเร็จการศึกษาเป็นระยะเวลา 12 ปีหรือตามระเบียบของราชการ
ทั้งนี้ผู้รับทุนจะได้รับเงินสนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษาตามอัตราค่าใช้จ่ายจริงของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไม่เกินปีละ 40,000 บาท ตลอดระยะเวลาศึกษา 6 ปี นอกจากนี้ยังได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยังชีพสำหรับเป็นค่าเช่าหอพัก ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนละ 5,000 บาท ตลอดระยะเวลาของการศึกษา 6 ปี
โครงการโอลิมปิกวิชาการ(ชีววิทยา)
1.เป็นนักเรียนสอบแข่งขันรอบที่ 2 ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรมครั้งที่ 1 (ชีววิทยา) ในการคัดนักเรียนเข้าโครงการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศประจำปี พ.ศ.2552 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และเป็นผู้กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2551
2.ต้องไม่เป็นผู้รับทุนของโครงการอื่น ๆ
โครงการผลิตทันตแพทย์เพิ่มของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข
1.ต้องมีคุณสมบัติที่พร้อมจะเข้ารับราชการได้หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว
2.ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในคณะทันตแพทยศาสตร์ โครงการร่วมผลิตทันตแพทย์เพิ่มของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ก่อนเข้าศึกษาต้องสามารถทำสัญญาผูกพันฝ่ายเดียวหรือสัญญาปลายเปิด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 คือเป็นสัญญาที่กำหนดหน้าที่ของผู้รับทุนที่จะต้องปฎิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรฯ โดยต้องทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกันตามระเบียบ และเงื่อนไขของรัฐบาลกับมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้ผูกพันให้ราชการต้องบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการหรือพนักงานในหน่วยงานของรัฐ
3.เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดตราด ระยอง จันทบุรี ชลบุรี ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ไม่น้อยกว่า 3 ปีตามหลักฐานทะเบียนบ้านนับถึงวันสมัคร
4.เรียนอยู่ในโรงเรียนที่อยู่จังหวัดตราด ระยอง จันทบุรี ชลบุรี ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง พังงาน ภูเก็ต กระบี่
5.ผู้สมัครต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตในมหาวิทยาลัย สถาบันของรัฐในปีการศึกษา 2552 ตามโควตาพื้นที่โครงการพิเศษต่าง ๆ และการรับตรงที่ได้ยืนยันสิทธิกับสถาบันที่คัดเลือกไว้เรียบร้อยแล้ว มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมด
การสมัคร
-สมัครเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทางอินเตอร์เนตที่ www.md.chula.ac.th/thai
-สมัครโครงการผลิตทันตแพทย์เพิ่มของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขทางอินเตอร์เนตที่ http://www.dent.chula.ac.th
(ดาวน์โหลดข้อความพิมพ์ 60104902 แล้วส่ง SMS มาที่ 42644)
ข้อมูล : คอลัมน์ “เรียนอะไรที่ไหน”นิตยสารการศึกษาวันนี้ ฉบับที่ 394 www.elearneasy.com