........พระราชกรณียกิจ......
๑. ด้านการเมืองการปกครอง
หลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นช่วงที่อาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอ ไม่มีความเป็นปึกแผ่น ดังนั้นเพื่อสร้างอาณาจักรสุโขทัย ให้เข้มแข็งเป็นปึกแผ่น ให้เหมือนแต่ก่อน พระมหาธรรมราชาที่ ๑(พญาลิไท) ทรงฟื้นฟูด้านการเมือง การปกครอง โดยพระองค์มุ่งด้านธรรมานุภาพ มากกว่าเดชานุภาพ ทรงนำหลัก การปกครองแบบธรรมราชาซึ่งเป็นหลักธรรมกับคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา (หลักทศพิธราชธรรม) มาใช้ควบคุมดูแลราษฎรในอาณาจักร และสำหรับ พระมหากษัตริย์ทรงยึดปฏิบัติเพื่อปกครองราษฎรด้วยเมตตาธรรม
๒. ด้านวัฒนธรรมและประเพณี
-ทรงออกผนวชระหว่างครองราชย์
พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงออกผนวชเพื่อ ศึกษาพระธรรม ระหว่างครองราชย์ โดยผนวชที่วัดป่ามะม่วง กรุงสุโขทัย เมื่อพ.ศ. ๑๙๐๔ โดยมี พระอุทุมพร บุปผาสวามีแห่งเมืองพันเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำให้ชายไทยในสุโขทัยพากัน ออกบวชเป็นจำนวนมากถือว่าเป็นประเพณีการออกบวชของชายไทยมาจนถึง
ทุกวันนี้
-ทรงสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่งดงาม
พระมหาธรรมราชาที่ ๑ โปรดฯให้สร้างพระพุทธรูปเพื่อให้ประชาชนสักการะ
พระพุทธรูปที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสำริด ปัจจุบันประดิษฐานที่ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ทรงสร้างวัดในเขตกำแพงเมือง ได้แก่ วัดมหาธาตุ ที่สุโขทัย เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด ใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญ ทางศาสนา ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทรงโปรดฯให้สร้างหอเทวาลัยมหาเกษตรที่วัดป่ามะม่วง สำหรับประดิษฐานเทวรูป พระอิศวร พระนารายณ์ เป็นเทพเจ้าของศาสนา พราหมณ์-ฮินดู เพื่อให้ผู้คนชาวสุโขทัยมากราบไหว้บูชา
-ทรงพระราชนิพนธ์ วรรณกรรมไตรภูมิพระร่วง(เตภูมิกถา) เป็นวรรณกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เล่มแรกของไทย กล่าวถึง ภูมิทั้ง ๓ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ บรรยายภาพนรกสวรรค์ ความดีความชั่ว และบาปบุญคุณโทษ พระพุทธศาสนา ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก นอกจากนั้น พระองค์ ได้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปยังดินแดนอื่น โดยส่งพระสงฆ์หลายรูป เดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยที่เมืองพัน เมื่อศึกษาสำเร็จแล้ว ได้ส่งไปเผยแผ่ พระพุทธศาสนา ยังเมืองเชียงใหม่ น่าน อยุธยา เป็นต้น