ฉบับที่13

ฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 นี้ เป็นผลจากการร่างของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามข้อกำหนดในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นเพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญเก่า และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบ แล้วประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2521
รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีบทบัญญัติทั้งหมดรวมบทเฉพาะกาล 206 มาตรา โดยสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นับว่าเป็นประชาธิปไตยพอสมควร หากไม่นับบทบัญญัติเฉพาะกาลที่มีผลใช้บังคับอยู่ในช่วง 4 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2528 ว่าด้วยเรื่อง ระบบการเลือกตั้ง โดยแก้ไขจากแบบรวมเขตรวมเบอร์ หรือ คณะเบอร์เดียว มาเป็นการเลือกตั้งแบบผสม เขตละไม่เกิน 3 คน การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ ถือว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ขณะที่การแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง คือ ครั้งที่ 2 นั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2532 เกี่ยวกับเรื่องประธานรัฐสภา โดยแก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภา
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ใช้บังคับเป็นเวลาค่อนข้างยาวนานถึง 12 ปีเศษ แต่ก็ถูก "ยกเลิก" โดยการรัฐประหารอีกจนได้ เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ร.ส.ช.) ภายใต้การนำของ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534