ฉบับที่16
ฉบับที่16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
รากฐานที่มาของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปีพุทธศักราช 2540 ถือกำเนิดมาบนแนวความคิดในการปฏิรูปการเมืองไทย (political reform) เริ่มจากการเรียกร้องของประชาชนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2534 ในมาตรา 211 เพื่อเปิดทางให้มีกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในรูปแบบที่ปลอดจากอำนาจของผู้ปกครองและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาแทนที่ นับตั้งแต่การสรรหาสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 99 คน อันประกอบด้วย สมาชิก 2 ประเภท ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม
ประเภทแรก คือ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งจากจังหวัดต่างๆ โดยขั้นแรกให้ผู้สมัครเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน จากนั้นจึงให้รัฐสภาลงคะแนนเลือกตั้งให้เหลือเป็นตัวแทนของประชาชนเพียงจังหวัดละ 1 คน จำนวน 76 คน จากทั้ง 76 จังหวัด และ อีกประเภทที่สอง คือ ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่มีการให้ปริญญาสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เสนอบัญชีรายชื่อบุคคลผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อประธานรัฐสภา เพื่อนำเสนอให้รัฐสภาทำการเลือกให้ได้จำนวนตามที่กำหนด ก็คือ ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชนจำนวน 8 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 8 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน การร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 คน รวม 23 คน พอสรุปได้ว่า
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 99 คนนี้ ล้วนแล้วแต่ได้รับเลือกมาจากรัฐสภา ซึ่งก็คือ ที่ประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทั้งสิ้น ฉะนั้น จึงเรียกได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาในขณะนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นประชาชน และยกร่างรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน และเสนอให้รัฐสภารับรองโดยไม่มีการแก้ไข ในที่สุด ซึ่งตลอดระยะเวลาของกระบวนการยกร่างไปจนกระทั่งถึงการรับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อออกประกาศใช้นั้น ถือว่าประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย