การเพาะเห็ดนางฟ้า

สร้างโดย : นางสาวสิริพร ทรัพย์อำนวยพร
สร้างเมื่อ อาทิตย์, 08/06/2008 – 00:01
มีผู้อ่าน 210,249 ครั้ง (17/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/3487

การเพาะเห็ดนางฟ้า

บอกกล่าวให้ฟังจาก ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล

เรื่องนี้นางสาวสิริพร ทรัพย์อำนวยพร โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพมหานคร ได้จัดสร้างขึ้นเมื่อเริ่มต้นของยุคเว็บ 2.0 สร้างขึ้นในรูปแบบของ Blog เนื้อหาที่สร้างขึ้นเป็นเนื้อหาการเพาะเห็ดนางฟ้า ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรที่พิสดารเลอเลิศมากมาย แต่กลายเป็นแหล่งที่รวมของผู้คนที่เข้ามาโพสต์แสดงความคิดเห็นมากมายในยุคนั้น มีทั้งขอความรู้ ให้ความรู้ ขายเชื้อเห็ด บอกข้อมูลฟาร์มเห็ด นับเป็นความภาคภูมิใจของครูผู้สอนอย่างยิ่ง

การเพาะเห็ดนางฟ้า

         เห็ดนางฟ้ามีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดนางรม เห็ดทั้งสองชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์ (family) เดียวกัน    ชื่อ “เห็ดนางฟ้า” เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในเมืองไทย คนไทยบางคนเรียกว่าเห็ดแขก เนื่องจากมีผู้พบเห็นเห็ดนี้ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย พบขึ้นตามธรรมชาติบนตอไม้เนื้ออ่อนที่กำลังผุ ในแถบเมืองแจมมู (Jammu) บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pleurotus sajor-caju (Fr.) Singer
          เห็ดนางฟ้าถูกนำไปเลี้ยงในอาหารวุ้นเป็นครั้งแรกโดย Jandaik ในปี ค.ศ. 1947 ต่อมา Rangaswami และ Nadu แห่ง Agricultural University, Coimbattore ในอินเดียเป็นผู้นำเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดนางฟ้าเข้ามาฝากไว้ที่ American Type Culture Collection (ATCC) ในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1975 ได้ทราบว่าประมาณปี ค.ศ. 1977 ทางกองวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้นำเชื้อจาก ATCC เข้ามาประเทศไทยเพื่อทดลองเพาะดู ปรากฏว่าสามารถเจริญได้ดี
          อีกสายพันธุ์หนึ่ง เป็นเห็ดที่มีผู้นำเข้ามาจากประเทศภูฐาน มาเผยแพร่แก่นักเพาะเห็ดไทย ได้มีการเรียกชื่อเห็ดนี้ว่า เห็ดนางฟ้าภูฐาน มีหลายสายพันธุ์ซึ่งชอบอุณหภูมิที่แตกต่างกัน บางพันธุ์ออกได้ดีในฤดูร้อน บ้างพันธุ์ออกได้ดีในฤดูหนาว เป็นที่นิยมมาเพาะเป็นการค้ากันมาก
          ลักษณะของดอกเห็ดนางฟ้า มีลักษณะคล้ายกับดอกเห็ดเป๋าฮื้อ และดอกเห็ดนางรม เมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดเป๋าฮื้อ ดอกเห็ดนางฟ้าสีจะอ่อนกว่า และมีครีบอยู่ชิดกันมากกว่า เห็ดนางฟ้าสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นนานได้หลายวัน เช่นเดียวกับเห็ดเป๋าฮื้อ เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ไม่มีการย่อตัวเหมือนกับเห็ดนางรม ด้านบนของดอกจะมีสีนวลๆ ถึงสีน้ำตาลอ่อน ในอินเดียดอกเห็ดมีขนาดตั้งแต่ 5 – 14 เซนติเมตร และจะมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 30 – 120 กรัม เห็ดนางฟ้ามีรสอร่อย เวลานำไปปรุงอาหารจะมีกลิ่นชวนรับประทาน เห็ดชนิดนี้สามารถนำไปตากแห้ง เก็บไว้เป็นอาหารได้ เมื่อจะนำเห็ดมาปรุงอาหาร ก็นำไปแช่น้ำเห็ดจะคืนรูปเดิมได้

วงจรชีวิตของเห็ดนางฟ้า
          วงจรชีวิตของเห็ดนางฟ้าก็เป็นแบบเห็ดทำลายไม้ทั่ว ๆ ไป คือมีชีวิตอยู่ข้ามฤดูอัตคัด ด้วยคลามีโดสปอร์ในท่อนไม้ พอถึงฤดูชุ่มชื้นก็งอกออกมาเป็นเส้นใย แล้วสร้างดอกเห็ดขึ้น ปล่อยสปอร์ลอยไป สปอร์งอกเป็นเส้นใยแล้วเจริญไปบนอาหารจนสร้างดอกเห็ดอีก วนเวียนไปอย่างนี้
          เห็ดนางฟ้าเติบโตดีที่ pH. 5 – 5.2 (คือเป็นกรดเล็กน้อย) อุณหภูมิที่เหมาะมากต่อเส้นใยคือ 32 องศาเซลเซียส และสร้างดอกเห็ดได้ดีที่ 25 องศาเซลเซียส เส้นใยสีขาวจัด มีความสามารถเชื่อมต่อเส้นใยได้ดี ใช้น้ำตาลในแง่ของอาหารคาร์โบไฮเดรตได้ดีกว่าพวก โพลีแซคคาไรค์ หรืออาหารซับซ้อน

วงจรชีวิตเห็ดนางฟ้า

  1. ดอกเห็ดนางฟ้าเมื่อโตเต็มที่จะสร้างสปอร์บริเวณครีบ โดยการปล่อยสปอร์เมื่อแก่ออกเป็นระยะ ๆ
  2. เมื่อดอกเห็ดปล่อยสปอร์ออกมาแล้ว สปอร์ก็ปลิวไปตามกระแสลม
  3. เมื่อสปอร์ปลิวไปตกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะงอกออกมาเป็นเส้นใยขั้นต้นมี 1 นิวเคลียส
  4. เส้นใยขั้นที่ 1 เมื่อเจริญเต็มที่แล้ว ก็จะมารวมตัวกัน ซึ่งอาจมาจากต่างสปอร์กัน การรวมตัวของเส้นใยขั้นที่ 1 จะเป็นการเชื่อมกันแล้วถ่ายทอดนิวเคลียสมาอยู่ในเซลเดียวกัน กลายเป็นเส้นใยขั้นที่ 2
  5. หลังจากเส้นใยขั้นที่ 1 รวมตัวกันเป็นเส้นใยขั้นที่ 2 แล้ว ก็จะเจริญเติบโตและสร้างเส้นใยเห็ดแทนเส้นใยขั้นที่ 1 อย่างรวดเร็วบนอาหาร
  6. เมื่อเส้นใยขั้นที่ 2 เจริญบนอาหารและโตเต็มที่แล้ว จะสะสมอาหารแล้วรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อสร้างดอกเห็ดต่อไป
  7. ดอกเห็ดนางฟ้าที่เกิดจากการรวมตัวของเส้นใยเห็ดขั้นที่ 2

ขั้นตอนการเพาะเห็ดนางฟ้า
          การเพาะเห็ดนางฟ้ามีระบบการผลิตแยกชัดเจนได้เป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
             1) การผลิตเชื้อวุ้น
             2) การทำหัวเชื้อเห็ด
             3) การผลิตเชื้อถุงหรือก้อนเชื้อ
             4) การเพาะให้เกิดเป็นดอกเห็ด
          การลงทุนจะมากในขั้นตอนที่ 1 – 3 ส่วนขั้นที่ 4 คือการผลิตดอกเห็ด จะทำขนาดเล็กใหญ่เท่าใดก็ได้    ไม่ต้องลงทุนมาก หรือจะดัดแปลงจากโรงเรือนอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว และที่วางอยู่มาใช้ได้ และในขั้นตอนนี้ ผู้ที่ต้องการเพาะจะทำครบทุกขั้นตอนเลยก็ได้ หรืออาจจะทำเป็นบางขั้นตอน เช่น จะทำเฉพาะหัวเชื้อเห็ด โดยการนำก้อนเชื้อที่ทำสำเร็จรูปแล้วมาเปิดออก รดน้ำให้เกิดดอกเห็ดเลยก็ได้ ซึ่งระบบการตั้งฟาร์มเห็ด ได้รับการแนะนำให้ทำเป็นขั้น ๆ ดังต่อไปนี้
          1. เริ่มเรียนรู้วิธีการกินเห็ด    เราจะทำธุรกิจเห็ดต้องกินเห็ดเก่ง ต้องปรุงอาหารจากเห็ดหลายชนิด ทำให้อร่อยด้วย สามารถแนะนำผู้ซื้อเห็ดไปปรุงเองได้อย่างมั่นใจ เช่นนี้ทำให้เราพร้อมต่อการขายเห็ด
          2. ผลิตดอกเห็ดขาย    90% ของฟาร์มเห็ดที่ทำอยู่เริ่มจากวิธีนี้ โดยทำโรงเรือนขนาดย่อมๆ เพื่อใช้เพาะเอาดอกเห็ด ซื้อถุงเชื้อจากฟาร์มมาผลิตดอก โดยหาความชำนานและความรู้ไปเรื่อยๆ จนเชี่ยวชาญ ขั้นนี้อย่าเพิ่งลงทุนทำถุงเชื้อเอง ให้ซื้อถุงเชื้อจากฟาร์มที่ทำขายดีกว่า เริ่มจากน้อยๆ ทยอยทำได้เห็ดมาก็นำไปขายตลาด ขายเองหรือส่งแม่ค้าก็ได้ ขยายตลาดดอกเห็ดเพิ่มมากขึ้นไปเป็นลำดับ จนตลาดใหญ่ขึ้นและสม่ำเสมอดีแล้วจึงคิดผลิตถุงเชื้อ แต่ถ้าตลาดไปไม่ได้ก็หยุดแค่นั้นไม่ขาดทุนมาก
          3. ผลิตถุงเชื้อเห็ด    ถ้าตลาดรับซื้อเห็ดและถุงเชื้อมากพอ จึงตั้งหน่วยผลิตถุงเชื้อได้ แต่ถ้าคำนวณว่าซื้อถุงถูกกว่าผลิตเองก็ไม่ควรทำ ควรไปดูฟาร์มทำถุงเชื้อหลาย ๆ ฟาร์ม แล้วมาคำนวณว่าเครื่องมือและวิธีการแบบใดดีที่สุด เตรียมการเอาคนคุมงานไปฝึกงานในฟาร์ม หรือติดต่อจ้างคนชำนาญในฟาร์มเก่ามาทำฟาร์มใหม่ ขั้นตอนนี้ก็ควรซื้อเชื้อข้าวฟ่าง ยังไม่ควรทำเอง การลงทุนขนาดเล็กจะใช้หม้อต้มไอน้ำต่างหาก (สตีมเม่อร์) แล้วต่อท่อมาอบถุงขี้เลื่อยในอีกหม้อต่างหาก ถ้างานนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นสมควร แล้วค่อยผลิตเชื้อข้างฟ่างและซื้อวุ้นต่อไป
          4. ผลิตเชื้อวุ้นและเชื้อข้าวฟ่าง    เริ่มทำเมื่องานฟาร์มมีขนาดใหญ่มาก สำหรับระยะ 1 – 2 ปี ที่ผ่านมานั้น  ถ้ายังไม่ทำเชื้อวุ้นและเชื้อข้าวฟ่างมาก่อน ก็ไม่ควรทำขึ้นใหม่ มีผู้ทำขายมากอยู่แล้ว ซื้อเขาใช้ดีกว่า นอกจากจะห่างไกลซื้อยากจริงๆ แล้วต้องใช้มากจึงค่อยทำ

https://www.bloggang.com/data/fattysingto/picture/1159664010.jpg