หลักภาษา
สร้างโดย : นางสาวอมรรัตน์ บุนนาค และนางสาวศรีสวาสดิ์ บุนนาค
สร้างเมื่อ พุธ, 18/11/2009 – 13:49
มีผู้อ่าน 377,335 ครั้ง (23/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/44455
หลักภาษา
เนื้อหาประกอบด้วย
- คำ
- คํานาม
- คำสรรพนาม
- คำกริยา
- คำวิเศษณ์
- คำบุพบท
- คำสันธาน
- คำอุทาน
- โคลง
- กลบท
- ราชาศัพท์
- ระดับของภาษา
- สระ,พยัญชนะ,วรรณยุกต์
- หน้าทีประโยค
- ชนิดของประโยค
- ความหมายและส่วนประกอบของประโยค
- คำมูล,คำซ้ำ,คำซ้อน,คำประสม,คำสมาส,คำสนธิ
- เสียงในภาษาไทย
- คำไทยแท้
- ธรรมชาติของภาษา
1. คำ
คำ เป็นกลุ่มเสียงที่ประกอบด้วยหน่วยเสียงในภาษา อันได้แก่ พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ ซึ่งประกอบกันอย่างอิสระและมีความหมายถ้ากลุ่มเสียงที่ประกอบด้วยพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์นั้นเป็นคำที่ไม่มีความหมาย เรียกว่า พยางค์ พยางค์ถ้ามีความหมายจะเรียกว่า 1 คำ คำหนึ่งคำอาจจะมี 1 พยางค์ หรือมากกว่า 1 พยางค์ก็ได้ ฉะนั้น พยางค์จึงเป็นส่วนหนึ่งของคำ
คำในภาษาไทยมี 7 ชนิด ได้แก่
- คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ อาคาร สภาพ และลักษณะทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
- คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนนามในประโยคสื่อสาร เราใช้คำสรรพนามเพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำๆ
- คำกริยา คือ คำที่แสดงอาการ สภาพ หรือการกระทำของคำนาม และคำสรรพนามในประโยค คำกริยาบางคำอาจมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง บางคำต้องมีคำอื่นมาประกอบ และบางคำต้องไปประกอบคำอื่นเพื่อขยายความ
- คำวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ขยายคำอื่น ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ ให้มีความหมายชัดเจนขึ้น
- คำบุพบท คือ คำที่เชื่อมคำหรือกลุ่มคำให้สัมพันธ์กันและเมื่อเชื่อมแล้วทำให้ทราบว่า คำ หรือกลุ่มคำที่เชื่อมกันนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ได้แก่ ใน แก่ จน ของ ด้วย โดย ฯลฯ
- คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ เชื่อมประโยคกับประโยค เชื่อมข้อความกับข้อความ หรือข้อความให้สละสลวย
- คำอุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้พูด มักจะเป็นคำที่ไม่มีความหมาย แต่เน้นความรู้สึกและอารมณ์ของผู้พูด
คํานาม
คำนามแบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ
- สามานยนาม คือ คำนามสามัญที่ใช้เป็นชื่อทั่วไป หรือเป็นคำเรียกสิ่งต่างๆ โดยทั่วไป ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น คน, รถ, หนังสือ, กล้วย เป็นต้น สามานยนามบางคำมีคำย่อยเพื่อบอกชนิดย่อยๆของสิ่งต่างๆ เรียกว่า สามานยนามย่อย เช่น คนไทย, รถจักรายาน, หนังสือแบบเรียน, กล้วยหอม เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
- ดอกไม้อยู่ในแจกัน
- แมวชอบกินปลา
- วิสามานยนาม คือ คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะของคน สัตว์ สถานที่ หรือเป็นคำเรียกบุคคล สถานที่เพื่อเจาะจงว่าเป็นคนไหน สิ่งใด เช่น ธรรมศาสตร์ , วัดมหาธาตุ , รามเกียรติ์ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
- นิดและน้อยเป็นพี่น้องกัน
- อิเหนาได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของกลอนบทละคร
- ลักษณนาม คือ คำนามที่ทำหน้าที่ประกอบนามอื่น เพื่อบอกรูปร่าง ลักษณะ ขนาดหรือปริมาณของนามนั้นให้ชัดเจนขึ้น เช่น รูป , องค์ , กระบอก เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
- คน 6 คน นั่งรถ 2 คน
- ผ้า 20 ผืน เรียกว่า 1 กุลี
- สมุหนาม คือ คำนามบอกหมวดหมู่ของสามานยนาม และวิสามานยนามที่รวมกันมากๆ เช่น ฝูงผึ้ง, โขลงช้าง, กองทหาร เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
- กองยุวกาชาดมาตั้งค่ายอยู่ที่นี่
- พวกเราไปต้อนรับคณะรัฐมนตรี
- อาการนาม คือ คำเรียกสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่มีขนาด จะมีคำว่า “การ” และ “ความ” นำหน้า เช่น การกิน, กรานอน, การเรียน, ความสวย, ความคิด, ความดี เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
- การวิ่งเพื่อสุขภาพไม่ต้องใช้ความเร็ว
- การเรียนช่วยให้มีความรู้
*** ข้อสังเกต คำว่า “การ” และ “ความ” ถ้านำหน้าคำชนิดอื่นที่ไม่ใช่คำกริยา หรือวิเศษณ์จะไม่นับว่าเป็นอาการนาม เช่น การรถไฟ, การประปา, ความแพ่ง เป็นต้น คำเหล่านี้จัดเป็นสามานยนาม
หน้าที่ของคำนาม
- ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น
น้องร้องเพลง
ครูชมนักเรียน
นกบิน - ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น
แมวกินปลา
ตำรวจจับผู้ร้าย
น้องทำการบ้าน - ทำหน้าที่เป็นส่วยขยายคำอื่น เช่น
สัตว์ป่าต้องอยู่ในป่า
ตุ๊กตาหยกตัวนี้สวยมาก
นายสมควรยามรักษาการเป็นคนเคร่งครัดต่อหน้าที่มาก - ทำหน้าที่ขยายคำกริยา เช่น
แม่ไปตลาด
น้องอยู่บ้าน
เธออ่านหนังสือเวลาเช้า - ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มของคำกริยาบางคำ เช่น
เขาเหมือนพ่อ
เธอคล้ายพี่
วนิดาเป็นครู
เธอคือนางสาวไทย
มานะสูงเท่ากับคุณพ่อ - ทำหน้าที่ตามหลังบุพบท เช่น
เขาเป็นคนเห็นแก่ตัว
พ่อนอนบนเตียง
ปู่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล - ทำหน้าที่เป็นคำเรียกขาน เช่น
คุณครูคะหนูยังไม่เข้าใจเลขข้อนี้ค่ะ
คุณหมอลูกดิฉันจะหายป่วยไหม
นายช่างครับผมขอลากิจ 3 วัน
คำสรรพนาม
ชนิดของคำสรรพนาม แบ่งเป็น 7 ประเภท ดังนี้
- สรรพนามที่ใช้ในการพูด (บุรุษสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้ในการพูดจา สื่อสารกัน ระหว่างผู้ส่งสาร (ผู้พูด) ผู้รับสาร (ผู้ฟัง) และผู้ที่เรากล่าวถึง มี 3 ชนิด ดังนี้
(1) สรรพนามบุรุษที่ 1 ใช้แทนผู้ส่งสาร (ผู้พูด)
เช่น ฉัน ดิฉัน ผม ข้าพเจ้า เรา หนู เป็นต้น
(2) สรรพนามบุรุษที่ 2 ใช้แทนผู้รับสาร (ผู้ที่พูดด้วย)
เช่น ท่าน คุณ เธอ แก ใต้เท้า เป็นต้น
(3) สรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง
เช่น ท่าน เขา มัน เธอ แก เป็นต้น - สรรพนามที่ใช้เชื่อมประโยค (ประพันธสรรพนาม)สรรพนามนี้ใช้แทนนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้าและต้องการ
จะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังใช้เชื่อมประโยคสองประโยคเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
บ้านที่ทาสีขาวเป็นบ้านของเธอ(ที่แทนบ้าน เชื่อมประโยคที่ 1บ้านทาสีขาว กับ ประโยคที่ 2 บ้านของเธอ) - สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ (วิภาคสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้แทนนามที่อยู่ข้างหน้า เมื่อต้องการเอ่ยซ้ำ โดยที่ไม่ต้องเอ่ยนามนั้นซ้ำอีก และเพื่อแสดงความหมายแยกออกเป็นส่วนๆ ได้แก่คำว่า บ้าง ต่าง กัน ตัวอย่างเช่น
นักศึกษาต่างแสดงความคิดเห็น
สตรีกลุ่มนั้นทักทายกัน
นักกีฬาตัวน้อยบ้างก็วิ่งบ้างก็กระโดดด้วยความสนุกสนาน - สรรพนามชี้เฉพาะ (นิยมสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวถึงที่อยู่ เพื่อระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่คำว่า นี่ นั่น โน่น โน้น ตัวอย่างเช่น
นี่เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในปีนี้
นั่นรถจักรายานยนต์ของเธอ - สรรพนามบอกความไม่เจาะจง (อนิยมสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามที่กล่าวถึงโดยไม่ต้องการคำตอบ
ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ที่ไหน ผู้ใด สิ่งใด ใครๆ อะไรๆๆ ใดๆ ตัวอย่างเช่น
ใครๆก็พูดเช่นนั้น
ใครก็ได้ช่วยชงกาแฟให้หน่อย
ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง
ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ - สรรพนามที่เป็นคำถาม (ปฤจฉาสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามเป็นการถามที่ต้องการคำตอบ ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ไหน ผู้ใด ตัวอย่างเช่น
ใครหยิบหนังสือบนโต๊ะไป
อะไรวางอยู่บนเก้าอี้
ไหนปากกาของฉัน
ผู้ใดเป็นคนรับโทรศัพท์ - สรรพนามที่เน้นตามความรู้สึกของผู้พูด สรรพนามชนิดนี้ใช้หลักคำนามเพื่อบอกความรู้สึกของผู้พูดที่มีต่อบุคคล
ที่กล่าวถึง ตัวอย่างเช่น
คุณพ่อท่านเป็นคนอารมณ์ดี (บอกความรู้สึกยกย่อง)
คุณจิตติมาเธอเป็นคนอย่างงี้แหละ (บอกความรู้สึกธรรมดา)
หน้าที่ของคำสรรพนาม
- ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น ใครมา แกมาจากไหน นั่นของฉันนะ เป็นต้น
- หน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น เธอดูนี่สิ สวยไหม เป็นต้น
- ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็ม เช่น เสื้อของฉันคือนี่ สีฟ้าใสเห็นไหม เป็นต้น
- หน้าที่ตามหลังบุพบท เช่น เธอเรียนที่ไหน เป็นต้น
คำกริยา
คำกริยา คือ คำที่แสดงอาการ สภาพ หรือการกระทำของคำนาม และคำสรรพนามในประโยค คำกริยาบางคำอาจมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง บางคำต้องมีคำอื่นมาประกอบ และบางคำต้องไปประกอบคำอื่นเพื่อขยายความ
หน้าที่ของคำกริยา มีดังนี้
- ทำหน้าที่เป็นกริยาสำคัญของประโยค เช่น คนกินข้าว นกบินมาเป็นฝูง เป็นต้น
- ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น กินมากทำให้อ้วน เป็นต้น
- ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น ฉันชอบเต้นแอร์โรบิกตอนเช้า เป็นต้น
- ทำหน้าที่ช่วยขยายกริยาสำคัญให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น พี่คงจะกลับบ้านเย็นนี้ เป็นต้น
- ทำหน้าที่ช่วยขยายคำนามให้เข้าใจเด่นชัดขึ้น เช่น ฉันชอบกินก๋วยเตี๋ยวผัด น้องชายชอบบะหมี่แห้ง เป็นต้น
คำกริยา แบ่งออกเป็น 4 ชนิดคือ
- สกรรมกริยา
- อกรรมกริยา
- วิกตรรถกริยา
- กริยาอนุเคราะห์
- สกรรมกริยา คือคำกริยาที่ต้องมีกรรมมารองรับ จึงจะได้ใจความสมบูรณ์ เช่น
แม่ค้าขายผลไม้
น้องตัดกระดาษ
ฉันเห็นงูเห่า
พ่อซื้อของเล่นมาให้น้อง
ฉัน กิน ข้าว
เขา เห็น นก - อกรรมกริยา คือคำกริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับก็ได้ความหมายสมบูรณ์ ชัดเจนในตัวเอง เช่น
ครูยืน
น้องนั่งบนเก้าอี้’
ฝนตกหนัก
เด็กๆหัวเราะ
คุณลุงกำลังนอน
เขานั่ง เขายืนอยู่ - วิกตรรถกริยา คือคำกริยาที่ไม่มีความหมายในตัวเอง ใช้ตามลำพังแล้วไม่ได้ความ ต้องมีคำอื่นมาประกอบจึงจะได้ความ คำที่มารับนั้นไม่ใช่กรรมแต่เป็นส่วนเติมเต็มหรือมาช่วยขยายความหมายให้สมบูรณ์ คำกริยาพวกนี้ได้แก่ เป็น เหมือน คล้าย เท่า คือ เสมือน ดุจ เช่น
ผม เป็น นักเรียน
ลูกคนนี้ คล้าย พ่อ
เขาคือ ครูของฉันเอง
รองเท้า 2 คู่นี้เหมือนกัน
ชายของฉันเป็นตำรวจ
เธอคือนักแสดงที่ยิ่งใหญ่
ลูกดุจแก้วตาของพ่อแม่
แมวคล้ายเสือ - กริยาอนุเคราะห์ หรือ กริยาช่วย เป็นคำที่เติมหน้าคำกริยาหลักในประโยคเพื่อช่วยขยายความหมายของคำกริยาสำคัญ เป็นกริยาที่ไม่มีความหมายในตัวเอง ทำหน้าที่ช่วยคำกริยาให้มีความหมายชัดเจนขึ้น ได้แก่ จง กำลัง ได้ แล้ว ต้อง อย่า จง โปรด ช่วย ควร คงจะ อาจจะ จะ ย่อม คง ยัง ถูก เถอะ เทอญ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
นายแดง จะไป โรงเรียน
เขา ได้รับ คำชม
คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์ เป็นคำที่ใช้ประกอบคำนาม สรรพนาม กริยา และคำวิเศษณ์ เพื่อให้ข้อความนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
- คนอ้วนต้องเดินช้า คนผอมเดินเร็ว ( ประกอบคำนาม ” คน ” )
- เขาทั้งหมด เป็นเครือญาติกัน ( ประกอบคำสรรพนาม ” เขา ” )
- เขาเป็นคนเดินเร็ว ( ประกอบคำกริยา ” เดิน ” )
ชนิดของคำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์แบ่งเป็น 10 ชนิด
- ลักษณวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์ที่บอกลักษณะต่างๆ เช่น บอกชนิด สี ขนาด สัณฐาน กลิ่น รส บอกความรู้สึก เช่น ดี ชั่ว ใหญ่ เล็ก ขาว กลม หวาน ร้อน เย็น
น้ำร้อนอยู่ในกระติกเขียว
จานใบใหญ่ราคาแพงกว่าจานใบเล็ก
ผมไม่ชอบกินขนมหวาน - กาลวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์บอกเวลา เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น อดีต โบราณ อนาคต
คนโบราณเป็นคนมีความคิดดีๆ
ฉันไปก่อน เขาไปหลัง - สถานวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์บอกสถานที่ เช่น ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ ซ้าย ขวา
เธออยู่ใกล้ ฉันอยู่ไกล
รถเธอแล่นทางซ้าย ส่วนรถฉันแล่นทางขวา
คำวิเศษณ์นี้ถ้ามีคำนามหรือสรรพนามอยู่ข้างหลัง คำดังกล่าวนี้จะกลายเป็นบุพบทไป
เขานั่งใกล้ฉัน เขายืนบนบันได เขานั่งใต้ต้นไม้ - ประมาณวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์บอกจำนวน หรือปริมาณ เช่น หนึ่ง สอง สาม สี่มาก น้อย ที่หนึ่ง ที่สอง หลาย ต่าง บรรดา บ้าง กัน คนละ
เขามีสุนัขหนึ่งตัว
พ่อมีสวนมาก
บรรดาคนที่มา ล้วนแต่กินจุทั้งสิ้น - นิยมวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์บอกความชี้เฉพาะ เช่น นี่ นั้น โน้น ทั้งนี้ ทั้งนั้น เอง เฉพาะ เทียว ดอก แน่นอน จริง
วิชาเฉพาะอย่างเป็นวิชาชีพ
คนอย่างนี้ก็มีด้วยหรือ
ฉันจะมาหาเธอแน่ๆ - อนิยมวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกความไม่ชี้เฉพาะ เช่น ใด อื่นๆ กี่ ไหน อะไร
เธออ่านหนังสืออะไรก็ได้
เธอพูดอย่างไร คนอื่นๆก็เชื่อเธอ
เธอจะนั่งเก้าอี้ตัวไหนก็ได้ - ปฤจฉาวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์บอกความถาม หรือ ความสงสัย เช่น ใด ไร ไหน อะไร ทำไมอย่างไร
เธอจะทำอย่างไร
สิ่งใดอยู่บนชั้น
เธอจะไปไหน - ประติชญาวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์ใช้แสดงการขานรับหรือโต้ตอบ เช่น ครับ ขอรับ ขา คะ จ๋า โว้ย
หนูขา หนูจะไปไหนคะ
คุณครูครับ ผมส่งงานครับ
ปลิวโว้ย เพื่อนคอยแล้วโว้ย - ประติเษธวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์แสดงความปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ เช่น ไม่ ไม่ใช่ มิใช่ มิได้ หาไม่ หามิได้ ใช่
เขาไม่ทำก็ไม่เป็นไร เพราะเขามิใช่ลูกฉัน
ร่างกายนี้หาใช่สัตว์ ใช่บุคคล ใช่ตัวตนเราเขา
ของนี้ไม่ใช่ของฉัน ฉันจึงรับไปไม่ได้ - ประพันธวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ เพื่อเชื่อมประโยคให้มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น ที่ ซึ่ง อัน อย่างที่ชนิดที่ ที่ว่า เพื่อว่า ให้
เด็กคนนี้เป็นเด็กฉลาดอย่างที่ไม่ค่อยได้พบ
เขาพูดให้ฉันได้อาย
เขาทำงานหนักเพื่อว่าเขาจะได้มีเงินมาก
ที่ ซึ่ง อัน เป็นคำประพันธวิเศษณ์ต่างกับคำประพันธสรรพนาม ดังนี้
ที่ ซึ่ง อัน ที่เป็นประพันธสรรพนาม จะใช้แทนนามที่อยู่ข้างหน้า และวางติดกับนามหรือสรรพนาม ที่จะแทนและเป็นประธานของคำกริยาที่ตามมาข้างหลัง เช่น
คนที่อยู่นั้นเป็นครูฉัน
ต้นไม้ซึ่งอยู่หน้าบ้านควรตัดทิ้ง
ส่วน ที่ ซึ่ง อัน ที่เป็นประพันธวิเศษณ์ จะใช้ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ จะเรียงหลังคำอื่นที่ไม่ใช่เป็นคำนามหรือคำสรรพนามดังตัวอย่างข้างต้น
หน้าที่ของคำวิเศษณ์
หน้าที่ของคำวิเศษณ์ใช้เป็นส่วนขยายจะขยายนาม สรรพนาม กริยา หรือ คำวิเศษณ์ และยังทำหน้าที่เป็นตัวแสดงในภาคแสดงของประโยคได้แก่
- ทำหน้าที่ขยายนาม
คนหนุ่มย่อมใจร้อนเป็นธรรมดา
บ้านใหญ่หลังนั้นเป็นของผม - ทำหน้าที่ขยายสรรพนาม
ใครบ้างจะไปทำบุญ
ฉันเองเป็นคนเข้ามาในห้องน้ำ - ทำหน้าที่ขยายคำกริยา
เขาพูดมาก กินมาก แต่ทำน้อย
เมื่อคืนนี้ฝนตกหนัก - ทำหน้าที่ขยายคำวิเศษณ์
ฝนตกหนักมาก
เธอวิ่งเร็วจริงๆ เธอจึงชนะ
คำบุพบท
คำบุพบท คือ คำที่เชื่อมคำหรือกลุ่มคำให้สัมพันธ์กันและเมื่อเชื่อมแล้วทำให้ทราบว่า คำ หรือกลุ่มคำที่เชื่อมกันนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ได้แก่ ใน แก่ จน ของ ด้วย โดย ฯลฯ
หน้าที่ในการแสดงความสัมพันธ์ของคำบุพบท
- แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานที่ เช่น คนในเมือง
- แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเวลา เช่น เขาเปิดไฟจนสว่าง
- แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของ เช่น แหวนวงนี้เป็นของฉัน
- แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเจตนาหรือสิ่งที่มุ่งหวัง เช่น เขาทำเพื่อลูก
- แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับอาการ เช่น เราเดินไปตามถนน
หลักการใช้คำบุพบทบางคำ
- ” กับ” ใช้แสดงอาการกระชับ อาการร่วม อาการกำกับกัน อาการเทียบกัน และแสดงระดับ เช่น ฉันเห็นกับตา
- “แก่” ใช้นำหน้าคำที่เป็นฝ่ายรับอาการ เช่น ครูให้รางวัลแก่นักเรียน
- “แด่” ใช้แทนตำว่า “แก่” ในที่เคารพ เช่น นักเรียนมอบพวงมาลัยแด่อาจารย์
- “แต่” ใช้ในความหมายว่า จาก ตั้งแต่ เฉพาะ เช่น เขามาแต่บ้าน
- “ต่อ” ใช้นำหน้าแสดงความเกี่ยวข้องกัน ติดต่อกัน เฉพาะหน้าถัดไป เทียบจำนวน เป็นต้น เช่น เขายื่นคำร้องต่อศาล
คำบุพบท เป็นคำที่ใช้หน้าคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยาสภาวมาลา เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของคำ และประโยคที่อยู่หลังคำบุพบทว่ามีความเกี่ยวข้องกับคำหรือประโยคที่อยู่ข้างหน้าอย่างไร เช่น
- ลูกชายของนายแดงเรียนหนังสือไม่เก่ง แต่ลูกสาวของนายดำเรียนเก่ง
- ครูทำงานเพื่อนักเรียน
- เขาเลี้ยงนกเขาสำหรับฟังเสียงขัน
ชนิดของคำบุพบท คำบุพบทแบ่งเป็น 2 ชนิด
- คำบุพบทที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำต่อคำ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างคำนามกับคำนาม คำนามกับคำสรรพนาม คำนามกับคำกริยา คำสรรพนามกับคำสรรพนาม คำสรรพนามกับคำกริยาคำกริยากับคำนาม คำกริยากับคำสรรพนาม คำกริยากับคำกริยา เพื่อบอกสถานการณ์ให้ชัดเจนดังต่อไปนี้
- บอกสถานภาพความเป็นเจ้าของฉันซื้อสวนของนายฉลอง ( นามกับนาม )
บ้านของเขาใหญ่โตแท้ๆ ( นามกับสรรพนาม )
อะไรของเธออยู่ในถุงนี้ ( สรรพนามกับสรรพนาม ) - บอกความเกี่ยวข้อง
เธอต้องการมะม่วงในจาน ( นามกับนาม )
พ่อเห็นแก่แม่ ( กริยากับนาม )
ฉันไปกับเขา ( กริยากับสรรพนาม ) - บอกการให้และบอกความประสงค์
แกงหม้อนี้เป็นของสำหรับใส่บาตร ( นามกับกริยา )
พ่อให้รางวัลแก่ฉัน ( นามกับสรรพนาม ) - บอกเวลา
เขามาตั้งแต่เช้า ( กริยากับนาม )
เขาอยู่เมืองนอกเมื่อปีที่แล้ว ( นามกับนาม ) - บอกสถานที่
เธอมาจากหัวเมือง ( กริยากับนาม ) - บอกความเปรียบเทียบ
เขาหนักกว่าฉัน ( กริยากับนาม )
เขาสูงกว่าพ่อ ( กริยากับนาม )
- บอกสถานภาพความเป็นเจ้าของฉันซื้อสวนของนายฉลอง ( นามกับนาม )
คำบุพบทที่ไม่มีความสัมพันธ์กับคำอื่น ส่วนมากจะอยู่ต้นประโยค ใช้เป็นการทักทาย มักใช้ในคำประพันธ์ เช่น
- ดูกร ดูก้อน ดูราช้าแต่ คำเหล่านี้ใช้นำหน้าคำนามหรือสรรพนาม
- ดูกร ท่านพราหมณ์ ท่าจงสาธยายมนต์บูชาพระผู้เป็นเจ้าด้วย
- ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย การเจริญวิปัสสนาเป็นการปฏิบัติธรรมของท่าน
- ดูรา สหายเอ๋ย ท่านจงทำตามคำที่เราบอกท่านเถิด
- ช้าแต่ ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ายินดีมากที่ท่านมาร่วมงานในวันนี้
ข้อสังเกตการใช้คำบุพบท
- คำบุพบทต้องนำหน้าคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยาสภาวมาลา เช่น
- เขามุ่งหน้าสู่เรือน
- ป้ากินข้าวด้วยมือ
- ทุกคนควรซื่อสัตย์ต่อหน้าที่
- คำบุพบทสามารถละได้ และความหมายยังคงเดิม เช่น
- เขาเป็นลูกฉัน ( เขาเป็นลูกของฉัน )
- แม่ให้เงินลูก ( แม่ให้เงินแก่ลูก )
- ครูคนนี้เชี่ยวชาญภาษาไทยมาก ( ครูคนนี้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยมาก )
- ถ้าไม่มีคำนาม หรือคำสรรพนามตามหลัง คำนั้นจะเป็นคำวิเศษณ์ เช่น
- เธออยู่ใน พ่อยืนอยู่ริม
- เขานั่งหน้า ใครมาก่อน
- ฉันอยู่ใกล้แค่นี้เอง
ตำแหน่งของคำบุพบท ตำแหน่งของคำบุพบท เป็นคำที่ใช้นำหน้าคำอื่นหรือประโยค เพื่อให้รู้ว่าคำ หรือประโยคที่อยู่หลังคำบุพบท มีความสัมพันธ์กับคำหรือประโยคข้างหน้า ดังนั้นคำบุพบทจะอยู่หน้าคำต่างๆ ดังนี้
- นำหน้าคำนาม
- เขาเขียนจดหมายด้วยปากกา
- เขาอยู่ที่บ้านของฉัน
- นำหน้าคำสรรพนาม
- เขาอยู่กับฉันตลอดเวลา
- เขาพูดกับท่านเมื่อคืนนี้แล้ว
- นำหน้าคำกริยา
- เขาเห็นแก่กิน
- โต๊ะตัวนี้จัดสำหรับอภิปรายคืนนี้
- นำหน้าคำวิเศษณ์
- เขาวิ่งมาโดยเร็ว
- เธอกล่าวโดยซื่อ
คำสันธาน
คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ เชื่อมประโยคกับประโยค เชื่อมข้อความกับข้อความ หรือข้อความให้สละสลวย คำสันธานนั้นเป็นคำเดียวก็มี เช่น และ แต่ เป็นกลุ่มคำก็มี เช่น เพราะฉะนั้น แต่ทว่า หรือมิฉะนั้น เป็นกลุ่มแยกคำกันก็มี เช่น ฉันใด…ฉันนั้น คงจะ…จึง ถ้า…ก็
หน้าที่ของคำสันธาน
- เชื่อมคำกับคำ เช่น
-ฉันเลี้ยงแมวและสุนัข นิดกับหน่อยไปโรงเรียน
- เชื่อมข้อความ เช่น
-คนเราต้องการปัจจัย 4 ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินมาซื้อ
- เชื่อมประโยคกับประโยค เช่น
-พี่สาวสวยแต่น้องฉลาด เพราะเขาขยันจึงสอบได้
- เชื่อมความให้สละสลวย เช่น
-เขาก็เป็นคนดีคนหนึ่งเหมือนกัน คนเราก็มีเจ็บป่วยบ้างเป็นธรรมดา
ลักษณะการเชื่อมของสันธาน พอจะจำแนกได้ดังนี้
เชื่อมความให้คล้อยตามกัน สันธานพวกนี้ได้แก่ ก็...จึง, แล้วก็, กับ และ, ทั้ง…และ, ทั้ง…ก็, ครั้น…ก็, ครั้น…จึง, พอ…ก็ ตัวอย่างเช่น
พออ่านหนังสือเสร็จก็เข้านอน
พ่อและแม่ทำงานเพื่อลูก
ฉันชอบทั้งทะเลและน้ำตก
ครั้นได้เวลาเธอจึงไปขึ้นเครื่องบิน
ฉันเรียนหนังสือ แล้วก็ กลับบ้าน
เชื่อมความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่คำ แต่ แต่ทว่า ถึง...ก็ กว่า…ก็ ตัวอย่างเช่น ถึง
สิบปากว่า ก็ ไม่เท่าตาเห็น
กว่าตำรวจจะมาคนร้ายก็หนีไปแล้ว
เขาอยากมีเงินแต่ไม่ทำงาน
ถึงเขาจะโกรธแต่ฉันก็ไม่กลัว
เธอไม่สวยแต่ว่านิสัยดี
เชื่อมความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่คำว่า หรือ หรือไม่ก็, ไม่เช่นนั้น, มิฉะนั้น ตัวอย่างเช่น
เธอต้องทำงานมิฉะนั้นเธอจะถูกไล่ออก
ไม่เธอก็ฉันต้องกวาดบ้าน
นักเรียนจะทำการบ้านหรือไม่ก็อ่านหนังสือ
คุณจะทานข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว
เธอจะยืน หรือ จะนั่ง
เธอจะไป หรือ ไม่
เชื่อมความที่เป็นเหตุผลกัน ได้แก่คำ จึง เพราะ…จึง เพราะฉะนั้น…จึง ฉะนั้น ดังนั้นตัวอย่างเช่น
เขาวิ่งเร็วจึงหกล้ม
ฉันกลัวรถติดเพราะฉะนั้นฉันจึงออกจากบ้านแต่เช้า
เพราะเธอเรียนดีครูจึงรัก
เขาไว้ใจเราให้ทำงานนี้เพราะฉะนั้นเราจะเหลวไหลไม่ได้
เขาดูหนังสือ จึง สอบไล่ได
เชื่อมความให้แยกต่างตอน ได้แก่คำ ส่วน ฝ่าย หนึ่ง เช่น
กองทัพเราอยู่ใต้ลม ฝ่ายข้าศึกอยู่เหนือลม
เชื่อมความแบ่งรับรอง ได้แก่ ถ้า ถ้า...ก็ เช่น
ถ้า ฝนไม่ตก ฉัน ก็ จะไปโรงเรียน
เชื่อมความให้สละสลวย ได้แก่ อย่างไรก็ตาม อย่างไรก็ดี อันที่ จริง เช่น
อย่างไรก็ดี ฉันจะพยายามทำให้ดีที่สุด
คำอุทาน
คำอุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้พูด มักจะเป็นคำที่ไม่มีความหมาย แต่เน้นความรู้สึก และอารมณ์ของผู้พูด
เสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำอุทานนี้ แบ่งเป็น 3 ลักษณะ
- เป็นคำ เช่น โอ๊ย ว้าย แหม โถ เป็นต้น
- เป็นวลี เช่น พุทโธ่เอ๋ย คุณพระช่วย ตายละว้า เป็นต้น
- เป็นประโยค เช่น ไฟไหมเจ้าข้า ป้าถูกรถชน เป็นต้น
คำอุทานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. อุทานบอกอาการ ใช้เปล่งเสียงเพื่อบอกอาการและความรู้สึกต่าง ๆ ของผู้พูด อุทานบอกอาการ อาจจะอุทานแสดงความเข้าใจ ตกใจ โกรท เจ็บ ตื่นเต้น สงสัย เช่น อ๋อ วุ้ย ต๊ายตาย ไฮ้ เช่น อุ๊ย เจ็บจริง
คำอุทานบอกอาการนี้ รวมทั้งที่แทรกอยู่ในคำประพันธ์ต่าง ๆ โดยมากก็เป็นคำสร้อย เช่น เฮย แฮ เอย นอ ร้องเรียก หรือบอกเพื่อให้รู้สึกตัว เช่น แน่น เฮ้ โว้ย เป็นต้น ตัวอย่างของอุทานบอกอาการ
- โกรธเคือง เช่น ชิชะ ดูดู๋ เป็นต้น
- ตกใจ เช่น ตายจริง ว้าย เป็นต้น
- สงสาร เช่น อนิจจา โถ เป็นต้น
- โล่งใจ เช่น เฮ้อ เฮอ เป็นต้น
- ขุ่นเคือง เช่น อุวะ แล้วกัน เป็นต้น
- ทักท้วง เช่น ฮ้า ไฮ้ เป็นต้น
- เยาะเย้ย เช่น หนอย ชะ เป็นต้น
- ประหม่า เช่น เอ้อ อ้า เป็นต้น
- ชักชวน เช่น นะ น่า เป็นต้น
2. อุทานเสริมบท คือ คำพูดเสริมขึ้นมาโดยไม่มีความหมาย อาจอยู่หน้าคำ หลังคำหรือแทรกกลางคำ เพื่อเน้นความหมาย ของคำที่จะพูดให้ชัดเจนขึ้น เป็นคำที่เพิ่มเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจให้ความเพิ่มมาแต่อย่างใด เช่น แขนแมน เสื่อสาด โต๊ะเต๊อะ จานเจิน ไม่รู้ไม่ชี้ พระสงฆ์องค์เจ้า โรงร่ำโรงเรียน ร้องห่มร้องไห้ เป็นต้น
ตัวอย่างของอุทานเสริมบท เช่น
อาบน้ำอาบท่า ลืมหูลืมตา กินน้ำกินท่า
ถ้าเนื้อความมีความหมายในทางเดียวกัน เช่น ไม่ดูไม่แล ร้องรำทำเพลง เราเรียกคำเหล่านี้ว่า คำซ้อน
2. โคลง
โคลง
เป็นร้อยกรองที่บังคับเรื่องรูปวรรณยุกต์ คือจะมีบางตำแหน่งในโคลงที่เขายังคับให้มีรูปไม้เอก เขาเรียกว่าคำเอก และบางตำแหน่ง เขาก็ยังคับให้มีรูปโท เรียกว่า คำโท
เวลาแต่ง
- ตรงคำโทถ้าหาคำที่มีไม้โทปกติไม่ได้ ก็หาคำที่เขียนด้วยไม้โทก็แล้วกัน ถึงจะสะกดผิดไม่เป็นไรของแค่รูปไม้โท เช่น เล่นจะเป็นเหล้นก็ได้นะ(โทโทษคือคำที่เขียนด้วยไม้โทแต่สะกดผิดนั่นเอง)
- ตรงคำเอกก็เหมือนกัน
มีข้อพิเศษเฉพาะคำเอก ถ้าหาคำเอกมาแทนไม่ได้ก็หาคำตายมาแทนก็แล้วกัน
คำตายคือ
- มีรูปตัวสะกด กก กบ กด ก บ ด (กบฎต้องตาย)
- ไม่มีตัวสะกดแต่ผสมสระสั้น(อายุสั้นก็ตายเร็ว)
ประเภทของโคลง
ไม่ว่าจะเป็นโคลงอะไรก็มีวรรคละ 5 คำ
***แล้วก็จำอีกนิดว่าวรรคสุดท้ายของโคลงถ้ามี 2 คำ เรียกว่าโคลงดั้น ถ้ามี 4 คำ เรียกว่าโคลงสุภาพ เพราะฉะนั้น
-โคลง 4 สุภาพ
มีวรรคละ 5 คำ 4 วรรค วรรคสุดท้ายมี 4 คำ
-โคลง 3 ดั้น
มีวรรคละ 5 คำ 3 วรรค วรรคสุดท้ายมี 2 คำ
เน้นโคลงสี่สุภาพ
เสียงลือเสียงเล่าอ้าง……
คำเอกโทคู่แรกสลับกันได้ตรงบรรทัดที่ 1
3. กลบท
กลบท
คือร้อยกรองที่แต่งพิเศษจากปกติ ด้วยTrickของคนแต่งแต่ละคน ลองมาดูกลบทบางอัน
อันแรกก็เป็นคำสุดท้ายของวรรคแรกเป็นคำแรกของวรรคต่อมาไปเรื่อย ๆ
อันที่สอง ให้เสียงพยัญชนะต้อนของ 1 2 3 ไปสัมผัสกับ 4 5 6 แล้วคำที่ 3 กับ 4 ต้องสัมผัสสระกันด้วย
“กบเต้นต่อยหอย”
อีกแบบ คำรองสุดท้ายวรรคแรกมาขึ้นต้นเป็นคำแรกของวรรคต่อมา”นาคบริพันธ์”
ฉันทลักษณ์
กลอนแปด แต่ละวรรคจะมี 8 คำ
กาพย์ยานี 11 วรรคแรกมี 5 วรรคสอง มี 6
กาพย์ฉบัง 16 วรรคแรกมี 6 วรรคสอง มี 4 วรรคสาม มี 6
กาพย์สุรางคนางค์ 28 มี 7 วรรค วรรคละ 4 คำ
ฉันท์ คือ ร้อยกรองที่บังคับเสียงหนัก-เบา คือ ครุ-ลหุ ด้วย
อินทรวิเชียรฉันท์11คล้ายกับกาพย์ยานี 11 คือวรรคแรกมี 5 วรรค 2 มี 6 แต่ยังคับเสียง ครุ ลหุ
-ั -ั -ุ -ั -ั -ุ -ุ -ั -ุ -ั -ั
วิธีจำ อินทรวิเชียรฉันท์ ยังคล้ายเสียงเยาที่ตำแหน่ง 3 6 7 9 ที่เหลือเป็นคำลหุหนักหมด
วสันตดิลกฉันท์ 14 คล้ายกับอินทรวิเชียรฉันท์ เพียงแต่เพิ่มเสียงเยา 3 เสียงติดกันเข้าไปก่อนคำสุดท้ายวรรคแรก
-ั -ั -ุ -ั -ุ -ุ -ุ -ั -ุ -ุ -ั -ุ -ั -ั
ที่เหลือเหมือนกับอินทรวิเชียรฉันท์ 11 เลย
4. ราชาศัพท์
ราชาศัพท์
ราชาศัพท์ หมายถึง ถ้อยคำจำพวกหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างกว่าคำพูดในภาษาธรรมดา เป็นคำที่ใช้สำหรับพระราชาและเจ้านาย เช่น คำว่า พระเนตร พระกรรณ พระบาท พระหัตถ์ สรง เสวย
อันที่จริง ราชาศัพท์ มิได้หมายถึงถ้อยคำที่ใช้กับพระราชาเท่านั้น หากแต่หมายถึงถ้อยคำที่ใช้พูดถึงบุคคล เรื่องราวและสิ่งทั้งปวงที่กล่าวหรือเขียนอย่างถูกหลักเกณฑ์ เป็นคำสุภาพไม่หยาบกระด้างน่ารังเกียจ สมควรจะกราบบังคมทูลพระกรุณาหรือใช้เป็นภาษาทางการ เป็นภาษาแบบแผน เช่นใช้ว่า
เจ้านายตรัส คนพูด นกร้อง สุนัขเห่า
ราชาศัพท์โดยความหมายอย่างกว้าง จึงหมายถึงถ้อยคำภาษาที่สุภาพถูกแบบแผน สำหรับใช้กับบุคคลทุกประเภท ตลอดจนเทพยดา อมนุษย์ แม้กระทั่งสัตว์จตุบาททวิบาท และสรรพสิ่งเรื่องราวทั้งปวง
ราชาศัพท์มีหลักเกณฑ์เป็นระบบเหมาะกับยุคสมัยและบริบททางสังคม สอดคล้องกับธรรมชาติของภาษา เป็นที่นิยมยอมรับร่วมกัน ราชาศัพท์ประกอบด้วยคำศัพท์และสำนวนที่มีความหมายกระชับ เหมาะสม ถูกต้องตามหลักภาษาไทย และมีความไพเราะน่าฟัง สื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิผล ฉะนั้นการใช้ราชาศัพท์ นอกจากจะเป็นการรักษาแบบแผนทางภาษาที่ดีงามไว้แล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความเคารพที่บุคคลพึงมีต่อบุคคลอื่นที่ควรเคารพ
สรุปได้ว่า ราชาศัพท์มีความสำคัญทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งสุนทรียลักษณ์เชิงภาษาอีกด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ที่มาของราชาศัพท์
ที่มาของราชาศัพท์อาจพิจารณาได้ 2 ทาง คือ ที่มาทางสังคมและประวัติศาสตร์ทางหนึ่ง กับทางภาษาอีกทางหนึ่ง
ในทางประวัติศาสตร์ ราชาศัพท์เกิดขึ้นชั้นแรกเพื่อเทิดพระเกียรติพระราชาธิบดีหรือพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของชาติให้สูงกว่าคนในชาติ
ในทางภาษา หากพิจารณาคำราชาศัพท์จะเห็นว่าคำศัพท์ที่ใช้เรียกเครือญาติ ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สิ่งของ กิริยาอาการและกิจกรรมต่าง ๆ ของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ มีทั้งที่มาจากคำไทยดั้งเดิมและคำที่รับมาจากภาษาอื่น ที่สำคัญคือภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร คำที่มาจากภาษาอื่นนอกจากสามภาษานี้มีไม่มากนัก
เหตุที่ใช้คำภาษาเขมร ภาษาสันสกฤต และภาษาบาลีเป็นคำราชาศัพท์ของไทยนั้น นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และทางภาษากล่าวว่า การนำคำในภาษาเขมรมาใช้นั้นเป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวไทยในฐานะทรงเป็นผู้ปกครองแผ่นดิน ส่วนที่ใช้คำภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต เป็นราชาศัพท์นั้น เพราะคำทั้งสองเป็นคำทางพระศาสนาซึ่งถือว่าเป็นคำสูง จึงนำมาใช้เป็น
ราชาศัพท์ด้วย
ราชาศัพท์ส่วนมากเป็นศัพท์ที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต เขมร และคำไทยรุ่นเก่าจะสังเกตได้ว่ามักเป็นคำประสม ซึ่งประกอบขึ้นตั้งแต่คำสองคำขึ้นไป และกำหนดให้ใช้ในที่ต่ำสูงต่างกัน
ตัวอย่างให้เห็นวิธีตกแต่งคำในภาษาให้เป็นคำราชาศัพท์เป็นพวก ๆ ไปดังนี้
ราชาศัพท์ที่ตกแต่งขึ้นจากคำไทยดั้งเดิม
1. คำที่ใช้เรียกเครือญาติ เช่น พี่ น้อง ลูก อาจตกแต่งให้เป็น
คำราชาศัพท์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ โดยมีคำอื่นเข้าประกอบ ดังนี้
พระเจ้าพี่นางเธอ หมายถึง พระองค์เจ้าที่เป็นพี่สาวของพระมหากษัตริย์
เจ้าเจ้าน้องนางเธอ หมายถึง พระองค์เจ้าที่เป็นน้องสาวของพระมหากษัตริย์
พระเจ้าหลานเธอ หมายถึง พระองค์เจ้าที่เป็นหลานชายหรือหลานสาวของพระมหากษัตริย์
ถ้าเป็นคำราชาศัพท์ที่สูงขึ้นไปกว่านี้ เช่นคำร่าชาศัพท์ที่ใช้สำหรับเจ้าฟ้าที่เป็นพี่สาว น้องสาว หลานชายหรือหลานสาวของพระเจ้าแผ่นดิน ก็มีวิธีตกแต่งต่างกันไปอีก ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หมายถึง เจ้าฟ้าที่เป็นพี่สาวของพระมหากษัตริย์
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ หมายถึง เจ้าฟ้าที่เป็นน้องสาวของพระมหากษัตริย์
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ หมายถึง เจ้าฟ้าที่เป็นหลานชายหรือหลานสาวของพระมหากษัตริย์
ข้อสังเกต คำไทยดั้งเดิมที่เป็นชื่อเรียกเครือญาติทุกคำจะนำมาตกแต่งให้เป็นคำราชาศัพท์ โดยใช้แนวเทียบข้างต้นไม่ได้เสมอไป เช่น ลุง ป้า ราชาศัพท์ใช้คำว่า พระปิตุลา พระมาตุจฉา
2. คำที่ใช้เรียกส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างกาย เช่น เส้นผม กราม เต้านม ก้น(ที่นั่งทับ) ฝี มีวิธีตกแต่ง ดังนี้
พระจุไร หมายถึง ไรจุก ไรผม ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์
พระกราม หมายถึง กราม ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์
พระเต้า หมายถึง เต้านม ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์
พระที่นั่ง หมายถึง ก้น ที่นั่งทับ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์
พระยอด หมายถึง ฝี หัวฝี ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์
คำ เส้นพระเจ้า และพระยอด นั้น ตกแต่งขึ้นใหม่โดยไม่ได้ใช้คำเดิม
ข้อน่าสังเกต คือ คำไทยเดิมที่เป็นคำนามซึ่งนำมาตกแต่งโดยเติม
คำ พระ ข้างหน้าให้สำเร็จเป็นราชาศัพท์นั้นมีน้อยคำ
3. คำที่ใช้เรียกกิริยาอาการ มีวิธีตกแต่งดังนี้
ทรงระลึกถึง หมายถึง ระลึกถึง ใช้สำหรับพระราชวงศ์
ทรงเล่าเรียน หมายถึง เรียน ศึกษา ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
ทรงยืน หมายถึง ยืนใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
ทรงกระแอม หมายถึง กระแอม ใช้สำหรับพระราชวงศ์
ทรงอาเจียน หมายถึง อาเจียน ใช้สำหรับพระราชวงศ์
ทรงช้าง หมายถึง ขี่ช้าง ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
4. คำที่ตกแต่งให้เป็นคำราชาศัพท์โดยเติมคำว่า ทรง ลงข้างหน้า เช่น ตัวอย่างในข้อ 3 มีมาก แต่มิได้หมายความว่าจะทำได้แก่คำไทยทุกคำที่เป็นกริยาหรือนาม เช่น ไหว้ ถ้าใช้เป็นราชาศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ใช้ ทรงคม อาบน้ำ ให้ใช้ สรงน้ำ ดำ ให้ใช้ ทรงคล้ำไป
5. คำที่ใช้เรียกเครื่องใช้ทั่วไป ภาชนะใช้สอย มีวิธีตกแต่งโดยใช้คำ พระ เข้าประกอบ เช่น
พระแท่น หมายถึง เตียง ที่นั่ง
พระทวย หมายถึง คันทวยสำหรับรองรับกระโถนหรือรับพระภูษาโยง
พระอู่ หมายถึง เปล
พระล่วม หมายถึง กระเป๋าหมากบุหรี่
ราชาศัพท์ที่ตกแต่งขึ้นมาจากภาษาอื่น
1. คำที่ใช้เรียกเครือญาติ เช่น ลุง อา พ่อ ใช้คำที่มาจากภาษาบาลีว่า ปิตุลา บิดา ตามลำดับ
คำ ปิตุลา ตกแต่งเป็น พระปิตุลา สมเด็จพระปิตุลา สมเด็จพระราชปิตุลาเจ้า เป็นต้น ทั้งนี้อยู่ที่ความสูงศักดิ์เป็นกรณีไป
คำ บิดา ตกแต่งเป็น พระบิดา พระราชบิดา สมเด็จพระราชบิดา สมเด็จพระบรมราชบิดา เป็นต้น ทั้งนี้อยู่ที่ความสูงศักดิ์เป็นกรณีไป
2. คำที่ใช้เรียกส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างกาย เช่น เส้นผม คิ้ว
ดวงตา หนวด ปาก ลิ้น หู บ่า รักแร้ อก หลัง เมื่อทำเป็นราชาศัพท์จะใช้คำที่ไทยได้รับมาจากภาษาอื่น คือ พระเกศา (สันสกฤต)
พระศก (เขมร) พระภมู (บาลี) พระขนง (เขมร) พระจักษุ (สันสกฤต) พระมัสสุ (บาลี) พระโอษฐ์ (สันสกฤต) พระชิวหา (บาลี) พระกรรณ (สันสกฤต) พระอังสา (บาลี) พระกัจฉะ (บาลี) พระทรวง (สันสกฤต) พระปฤษฏางค์ (สันสกฤต) พระขนอง (เขมร) ตามลำดับ
3. คำที่เกี่ยวกับกิริยาอาการต่าง ๆ เช่น คำสอน ความคิด
ความต้องการ เดิน หัวเราะ สบาย ฝัน ความช่วยเหลือ เมื่อทำเป็นราชาศัพท์จะใช้คำที่ไทยได้รับมาจากภาษาอื่นคือ เสาวนีย์ (บาลี) โอวาท (บาลี) ดำริ (เขมร) ประสงค์ (สันสกฤต) เสด็จ (เขมร) ดำเนิน (เขมร) สรวล (เขมร) สำราญ (เขมร) สุบิน (บาลี) อนุเคราะห์ (สันสกฤต) มีวิธีตกแต่งดังต่อไปนี้
พระเสาวนีย์ ใช้สำหรับพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระบรมราชชนนี
พระราชเสาวนีย์ ใช้สำหรับพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชชนนี
พระดำริ ใช้สำหรับพระราชวงศ์
พระราชดำริ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์
พระประสงค์ ใช้สำหรับพระราชวงศ์
พระราชประสงค์ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์
ทรงดำเนิน ใช้สำหรับหม่อมเจ้า
ทรงพระดำเนิน ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
ทรงพระสรวล ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
ทรงพระสำราญ ช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
ทรงสุบิน ใช้สำหรับพระราชวงศ์
ทรงพระสุบิน ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์
ทรงพระสุบินนิมิต ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์
พระอนุเคราะห์ ใช้สำหรับพระราชวงศ์
พระราชานุเคราะห์ ใช้สำหรับสมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศ์
พระบรมราชานุเคราะห์ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์
คำที่ถือว่าเป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตกแต่งดังตัวอย่างข้างต้น คำเหล่านี้มีอยู่ไม่มาก ที่พบเห็นเสมอ ๆ เช่น
รับสั่ง, ตรัส หมายถึง พูด ใช้สำหรับพระราชวงศ์
โอวาท หมายถึง คำสอน ใช้สำหรับหม่อมเจ้า
ประทาน หมายถึง ให้ ใช้สำหรับพระราชวงศ์
รับสั่งให้หา หมายถึง สั่งให้เข้าเฝ้า ใช้สำหรับพระราชวงศ์
รับสั่งให้เข้าเฝ้า หมายถึง สั่งให้เข้าเฝ้า ใช้สำหรับพระราชวงศ์
เสด็จ หมายถึง ไป, มา ใช้สำหรับพระราชวงศ์
โปรด หมายถึง ชอบ, รัก, เอ็นดู ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
กริ้ว หมายถึง โกรธ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
อ้างอิง ข้อมูลจากบริษัทสำนักพิมพ์พัฒนาสื่อการเรียนการสอน จ.ชัยภูมิ
5. ระดับของภาษา
ระดับภาษาแบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ ภาษาแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
1. ภาษาแบบเป็นทางการ ภาษาแบบนี้ใช้ในโอกาสคัญๆ ทั้งที่เป็นพิธีการ เช่น ในงานราชพิธีและในโอกาสสำคัญที่เป็นทางการ เช่น การกล่าวเปิดการประชุมต่างๆ การกล่าวคำปราศรัย และการประกาศ เป็นต้น ภาษาแบบเป็นทางการอาจจัดเป็น 2 ระดับคือ ภาษาระดับพิธีการ และภาษาระดับมาตรฐานราชการหรือภาษาระดับทางการ
1.1 ภาษาระดับพิธีการ มีลักษณะเป็นภาษาที่สมบูรณ์แบบและมีรูปประโยคความซ้อนให้ความหมายขายค่อนข้างมาก ถ้อยคำที่ใช้ก็เป็นภาษาระดับสูง จึงงดงามไพเราะและประณีต ผู้ใช้ภาษาระดับนี้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง นอกจากใช้ในโอกาสสำคัญ เช่น ในงานพระราชพิธีแล้ว ภาษาระดับพิธีการยังใช้ในวรรณกรรมชั้นสูงอีกด้วย ดังตัวอย่างจากคำประกาศในการพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าดังนี้
“ขอพระบรมเดชานุภาพมหึมาแห่งสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราช จงคุ้มครองประเทศชาติและประชาชาวไทยให้ผ่านพ้นสรรพอุปัทว์พิบัติทั้งปวง อริราชศัตรูภาบนอกอย่าล่วงเข้าทำอันตรายได้ ศัตรูหมู่พาลภายในให้วอดวายพ่ายแพ้ภัยตัว บันดาลความสุขความมั่นคงให้บังเกิดทั่วภูมิมณฑล บันดาลความร่มเย็นแก่อเนกนิกรชนครบคามเขตขอบขัณฑสีมา”
(ภาวาส บุนนาค,”ราชาภิสดุดี.” ในวรรณลักษณวิจารณ์เล่ม 2 หน้า 159.)
1.2 ภาษาระดับมาตรฐานราชการ แม้ภาษาระดับนี้จะไม่อลังการเท่าภาษาระดับพิธีการ แต่ก็เป็นภาษาระดับสูงที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบและถูกหลักไวยากรณ์ มีความชัดเจน สละสลวย สุภาพ ผู้ใช้ภาษาจึงต้องใช้รายละเอียดประณีตและระมัดระวัง ต้องมีการร่าง แก้ไข และเรียบเรียงไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ในโอกาสสำคัญที่เป็นทางการในการกล่าวคำปราศรัย การกล่าวเปิดการประชุม การกล่าวคำประกาศเกียรติคุณ นอกจากนี้ยังใช้ในการเขียนผลงานวิชาการ เรียงความ บทความวิชาการ หนังสือราชการ และคำนำหนังสือต่างๆ เป็นต้น
ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างภาษาระดับมาตรฐานราชการในบทความวิชาการ
“บทละครไทยเป็นอีกรูปเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรมไทย บทละครของไทยเป็นวรรณกรรมที่ประพันธ์ขึ้นทั้งเพื่ออ่านและเพื่อแสดง รูปแบบที่นิยมกันมาแต่เดิมคือบทละครรำ ต่อมามีการปรับปรุงละครรำให้ทันสมัยขึ้นตามความนิยมแบบตะวันตก จึงมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรับรูปแบบละครจากตะวันตกมาดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทยและวัฒนธรรมไทย ทำให้การละครไทยพัฒนาขึ้น โดยมีกระบวนการแสคงที่แตกต่างไปจากละครไทยที่มีอยู่ มาเป็นละครร้อง ละครพูด และละครสังคีต”
(กันยรัตน์ สมิตะพันทุ, “การพัฒนาตัวละครในบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.”ในบท ความ วิชาการ 20 ปี ภาควิชาภาษาไทย,หน้า 158.)
2. ภาษาแบบไม่เป็นทางการ เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน สามารถจัดเป็น 3 ระดับ
คือภาษากึ่งทางการ ภาษาระดับกึ่งทางกลาง ภาษาระดับสนทนา และภาษากันเองหรือภาษาปาก
2.1 ภาษาระดับกึ่งทางราชการ มีลักษณะที่ยังคงความสุภาพอยู่ แต่ผู้ใช้ภาษาก็ไม่ระมัดระวังมากเท่า
การใช้ภาษาเป็นทางการ เพราะอาจใช้รูปประโยคง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ถ้อยคำที่ใช้เป็นระดับสามัญ บางครั้งมีภาษาระดับสนทนาเข้ามาปะปนด้วย ภาษาระดับกึ่งทางการในการติดต่อธุรกิจการงาน หรือใช้สื่อสารกับบุคคลที่ไม่สนิทสนมคุ้นเคยกัน และใช้ในการเขียนเรื่องที่ผู้เขียนต้องให้อ่ารู้สึกหมือนกำลังฟังผู้เขียนเล่าเรื่องหรือเสนอความคิดเห็นอย่างไม่เคร่งเครียด เช่น การเขียนสารคดีท่องบทความแสดงความคิดเห็น หรือการเล่าเรื่องต่างๆ เช่น ชีวประวัติ เป็นต้น
ตัวอย่างภาษาระดับกึ่งทางการในบทความแสดงความคิดเห็น
“ฉะนั้นในช่วงเรียนอยู่ในระดับมัธยม ผู้ที่มีความขยันมุ่งมั่นจะเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้จะไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบกายทั้งสิ้น ยกเว้นสิ่งที่เขาคิดว่าจะสามารถทำให้เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ชีวิตนักเรียนมัธยมจึงมีแต่ติว ติวและติว กีฬาฉันไม่เล่น กิจกรรมฉันไม่มีเวลาทำ และยิ่งห้องสมุดฉันไม่ทราบว่าจะเข้าไปทำไม เพราะเวลาทั้งหมดจะต้องใช้ท่องตำราอย่างเดียว แล้วก็มักจะประสบความสำเร็จตามที่คิดเสียด้วย คือสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้”
(เปล่งศรี อิงคนินันท์,”ต้องขอให้อาจารย์ช่วย”,ก้าวไกล ปีที่ 2 ฉบับที่ 4, หน้า 27.)
2.2 ภาษาระดับสนทนา มีลักษณะของภาษาพูดที่เป็นกลางๆ สำหรับใช้ในการสนทนากันในชีวิตประจำวัน ระหว่างผู้ส่งสารที่รู้จักคุ้นเคยกัน นอกจากนั้นยังใช้ในการเจรจาซื้อขายทั่วไป รวมทั้งในการประชุมที่ไม่เป็นทางการ มีลักษณะรูปประโยคไม่ซับซ้อน ถ้อยคำที่ใช้อยู่ในระดับคำที่มีคำสแลง คำตัด คำย่อปะปนอยู่ แต่ตามปรกติจะไม่ใช้คำหยาบ ภาษาระดับสนทนาใช้ในการเขียนนวนิยาย บทความบทภาพยนตร์สารคดีบางเรื่อง และรายงานข่าว เป็นต้น
ตัวอย่างภาษาระดับสนทนาในข่าว
“จากกรณีที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เกจิดังแห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมาได้อาพาธ
ลงอย่างกะทันหัน มีอาการอ่อนเพลียอย่างหนักเนื่องจากต้องตรากตรำทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลและเคาะหัวให้กับบรรดาศิษยานุศิษย์จนไม่มีเวลาพักผ่อน เกิดอาการหน้ามืดจนกระทั่งลูกศิษย์ต้องหามส่งโรงพยาบาลมหาราช นายแพทย์เจ้าของไข้ได้ตรวจร่างกายแล้วแจ้งให้ทราบว่าเป็นไข้หวัด”
(เดลินิวส์, 27 มีนาคม 2539.)
2.3 ภาษาระดับกันเองหรือภาษาปาก เป็นภาษาที่ใช้สนทนากับผู้ที่สนิทสนมคุ้นเคยกันมากๆ เช่น ในหมู่เพื่อนฝูงหรือในครอบครัว อละมักใช้พูดกันในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว ในโอกาสที่ต้องการความสนุกสนานครื้นเครง หรือในการทะเลาะด่าทอทอกัน ลักษณะของภาษาระดับกันเองหรือภาษาปากนี้มีคำตัด คำสแลง คำต่ำ คำหยาบ ปะปนปยู่มาก ตามปรกติจึงไม่ใช้ในการเขียนทั่วไป นอกจากในงานเขียนบางประเภท เช่น นวนิยาย หรือเรื่องสั้น บทละคร ข่าวกีฬา เป็นต้น
ตัวอย่างการใช้ภาษาระดับกันเองหรือภาษาปากในนวนิยาย
“มึงจะไปไหน ไอ้มั่น…กูสั่งให้ปล่อยมันไว้อย่างนั้น ไม่ต้องสนใจ กูอยากนั่งดูมัน มองมันตายช้าๆ เลือดไหลออกจนหมดตัว และหยุดหายใจในที่สุด ถึงจะสมกับความแค้นของกู”
(“จราภา”,”นางละคร” สกุลไทย ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๑๖๒,หน้า ๑๐๗.)
ตัวอย่างการใช้ภาษาระดับกันเองหรือภาษาปากในข่าวกีฬา
“บิ๊กจา”เตรียมเดินเครื่องวางงานกีฬายาว จะเสนอตัวเป็นคณะกรรมาธิการวุฒิสภาการกีฬาดันงบหนุนซีเกมส์,
เอเชียนเกมส์ หร้อมกับความเป็นเจ้าเหรียญทอง ส่วนสมาคมตะกร้อรับว่าแตกเป็นเสี่ยง ให้พิสูจน์กันในตะกร้อคิงส์คัพหนที่ 12 ใครผลงานดีได้พิจารณามาทำทีมชาติ
(เดลินิวส์, 27 มีนาคม 2539.)
6. สระ,พยัญชนะ,วรรณยุกต์
อักขระวิธี ได้แก่ อักษร แปลว่า ตัวหนังสือ
ลักษณะอักษร
เสียงในภาษาไทย มีอยู่ 3 อย่าง คือ
1. เสียงแท้ ได้แก่ สระ
2. เสียงแปร ได้แก่ พยัญชนะ
3. เสียงดนตรี ได้แก่ วรรณยุกต์
สระ
สระในภาษาไทย ประกอบด้วยรูปสระ21 รูป และเสียงสระ 32 เสียง
พยัญชนะ
รูปพยัญชนะ มี 44 ตัว คือ
1. อักษรสูง มี 11 ตัว คือ ข ข ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
2. อักษรกลาง มี 9 ตัว ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
3. อักษรต่ำ มี 24 ตัว คือ
3.1 อักษรคู่ คืออักษรต่ำที่เป็นคู่กับอักษรสูง มี 14 ตัว คือ ค ค ฆ ช ฌ ซ ฑ ฒ ท ธ พ ภ ฟ ฮ
3.2 อักษรเดี่ยว คืออักษรต่ำที่ไม่มีอักษรสูงเป็นคู่กัน มี 10 ตัว คือ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ
วรรณยุกต์
วรรณยุกต์ มี 4 รูป ได้แก่
1. ไม้เอก
2. ไม้โท
3. ไม้ตรี
4. ไม้จัตวา
เสียงวรรณยุกต์ที่ใช้อยู่ในภาษาไทย มี 5 เสียง
1. เสียงสามัญ คือเสียงกลาง ๆ เช่น กา มา ทา เป็น ชน
2. เสียงเอก ก่า ข่า ป่า ดึก จมูก ตก หมด
3. เสียงโท เช่น ก้า ค่า ลาก พราก กลิ้ง สร้าง
4. เสียงตรี เช่น ก๊า ค้า ม้า ช้าง โน้ต มด
5. เสียงจัตวา เช่น ก๋า ขา หมา หลิว สวย หาม ปิ๋ว จิ๋ว
7. หน้าทีประโยค
หน้าที่ของประโยค
ประโยคต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารย่อมแสดงถึงเจตนาของผู้ส่งสาร เช่น บอกกล่าว เสนอแนะ อธิบาย ซักถาม ขอร้อง วิงวอน สั่งห้าม เป็นต้น หากจะแบ่งประโยคตามหน้าที่หรือลักษณะที่ใช้ในการสื่อสาร
หน้าที่ประโยคสามารถแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
1. บอกเล่าหรือแจ้งให้ทราบ
เป็นประโยคที่มีเนื้อความบอกเล่าบ่งชี้ให้เห็นว่า ประธานทำกริยา อะไร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อไหร่ เช่น
– ฉันไปพบเขามาแล้ว
– เขาเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ
2. ปฏิเสธ
เป็นประโยคมีเนื้อความปฏิเสธ จะมีคำว่า ไม่ ไม่ได้ หามิได้ มิใช่ ใช่ว่า ประกอบอยู่ด้วยเช่น
– เรา ไม่ได้ ส่งข่าวถึงกันนานแล้ว
– นั่น มิใช่ ความผิดของเธอ
3. ถามให้ตอบ
เป็นประโยคมีเนื้อความเป็นคำถาม จะมีคำว่า หรือ ไหม หรือไม่ ทำไม เมื่อไร ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร อยู่หน้าประโยคหรือท้ายประโยค เช่น
– เมื่อคืนคุณไป ที่ไหน มา
– เธอเห็นปากกาของฉัน ไหม
4. บังคับ ขอร้อง และชักชวน
เป็นประโยคที่มีเนื้อความเชิงบังคับ ขอร้อง และชักชวน โดยมีคำอนุภาค หรือ คำเสริมบอกเนื้อความของประโยค เช่น
– ห้าม เดินลัดสนาม
– กรุณา พูดเบา
สรุป
การเรียบเรียงถ้อยคำเป็นประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน สามารถขยายให้เป็นประโยคยาวขึ้นได้ด้วยการใช้คำ กลุ่มคำ หรือประโยค เป็นส่วนขยาย ยิ่งประโยคมีส่วนขยายหรือองค์ประกอบมากส่วนเพียงใด ก็จะยิ่งทำให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจต่อกันมากขึ้นเพียงนั้น ข้อสำคัญ คือ ต้องเข้าใจรูปแบบประโยค การใช้คำเชื่อมและคำขยาย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงเจตนาในการส่งสารด้วย ผู้มีทักษะในการเรียบเรียงประโยคสามารถพัฒนาไปสู่การเขียน เล่า บอกเรื่องราวที่ยืดยาวได้ตามเจตนาของการสื่อสาร ดังนั้นผู้ใช้ภาษาจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างประโยค และวิธีการสร้างประโยคให้แจ่มแจ้งชัดเสียก่อนจะทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิผล และสามารถใช้ภาษาสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
8. ชนิดของประโยค
ชนิดของประโยค
ประโยคในภาษาไทยแบ่งเป็น 3 ชนิด ตามโครงสร้างการสื่อสารดังนี้
1. ประโยคความเดียว
ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีข้อความหรือใจความเดียว ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เอกรรถประโยค เป็นประโยคที่มีภาคประโยคเพียงบทเดียว และมีภาคแสดงหรือกริยาสำคัญเพียงบทเดียว หากภาคประธานและภาคแสดงเพิ่มบทขยายเข้าไป ประโยคความเดียวนั้นก็จะเป็นประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
2. ประโยคความรวม
ประโยคความรวม คือ ประโยคที่รวมเอาโครงสร้างประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปเข้าไว้ในประโยคเดียวกัน โดยมีคำเชื่อมหรือสันธานทำหน้าที่เชื่อมประโยคเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ประโยคความรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อเนกกรรถประโยค
ประโยคความรวมแบ่งใจความออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
2.1 ประโยคที่มีความคล้อยตามกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็กตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป มีเนื้อความคล้อยตามกันในแง่ของความเป็นอยู่ เวลา และการกระทำ
ตัวอย่าง
• ทรัพย์ และ สินเป็นลูกชายของพ่อค้าร้านสรรพพาณิชย์
• ทั้ง ทรัพย์ และ สินเป็นนักเรียนโรงเรียนอาทรพิทยาคม
• ทรัพย์เรียนจบโรงเรียนมัธยม แล้ว ก็ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา
• พอ สินเรียนจบโรงเรียนมัธยม แล้ว ก็ มาช่วยพ่อค้าขาย
สันธานที่ใช้ใน 4 ประโยค ได้แก่ และ, ทั้ง – และ, แล้วก็, พอ – แล้วก็
หมายเหตุ : คำ “แล้ว” เป็นคำช่วยกริยา มิใช่สันธานโดยตรง
2.2 ประโยคที่มีความขัดแย้งกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค มีเนื้อความที่แย้งกันหรือแตกต่างกันในการกระทำ หรือผลที่เกิดขึ้น
ตัวอย่าง
• พี่ตีฆ้อง แต่ น้องตีตะโพน
• ฉันเตือนเขาแล้ว แต่ เขาไม่เชื่อ
2.3 ประโยคที่มีความให้เลือก ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยคและกำหนดให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตัวอย่าง
• ไปบอกนายกิจ หรือ นายก้องให้มานี่คนหนึ่ง
• คุณชอบดนตรีไทย หรือ ดนตรีสากล
2.4 ประโยคที่มีความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค ประโยคแรกเป็นเหตุประโยคหลังเป็นผล
ตัวอย่าง
• เขามีความเพียรมาก เพราะฉะนั้น เขา จึง ประสบความสำเร็จ
• คุณสุดาไม่อิจฉาใคร เธอ จึง มีความสุขเสมอ
ข้อสังเกต
• สันธานเป็นคำเชื่อมที่จ้ำเป็นต้องมีประโยคความรวม และจะต้องใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อความในประโยค ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สันธานเป็นเครื่องกำหนดหรือชี้บ่งว่าประโยคนั้นมีใจความแบบใด
• สันธานบางคำประกอบด้วยคำสองคำ หรือสามคำเรียงอยู่ห่างกัน เช่น ฉะนั้น – จึง, ทั้ง – และ, แต่ – ก็ สันธานชนิดนี้เรียกว่า “สันธานคาบ” มักจะมีคำอื่นมาคั่นกลางอยู่จึงต้องสังเกตให้ดี
• ประโยคเล็กที่เป็นประโยคความเดียวนั้น เมื่อแยกออกจากประโยคความรวมแล้ว ก็ยังสื่อความหมายเป็นที่เข้าใจได้
3. ประโยคความซ้อน
ประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว ประกอบด้วยประโยคความเดียวที่มีใจความสำคัญ เป็นประโยคหลัก (มุขยประโยค) และมีประโยคความเดียวที่มีใจความเป็นส่วนขยายส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลัก เป็นประโยคย่อยซ้อนอยู่ในประโยคหลัก (อนุประโยค) โดยทำหน้าที่แต่งหรือประกอบประโยคหลัก ประโยคความซ้อนนี้เดิม เรียกว่า สังกรประโยค
อนุประโยคหรือประโยคย่อยมี 3 ชนิด ทำหน้าที่ต่างกัน ดังต่อไปนี้
3.1 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่แทนนาม (นามานุประโยค) อาจใช้เป็นบทประธานหรือบทกรรม หรือส่วนเติมเต็มก็ได้ ประโยคย่อยนี้เป็นประโยคความเดียวซ้อนอยู่ในประโยคหลักไม่ต้องอาศัยบทเชื่อมหรือคำเชื่อม
ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่เป็นประโยคย่อยทำหน้าที่แทนนาม
• คนทำดีย่อมได้รับผลดี
คน…ย่อมได้รับผลดี : ประโยคหลัก
คนทำดี : ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทประธาน
• ครูดุนักเรียนไม่ทำการบ้าน
ครูดุนักเรียน : ประโยคหลัก
นักเรียนไม่ทำการบ้าน : ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทกรรม
3.2 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายประธานหรือบทขยายกรรมหรือบทขยายส่วนเติมเต็ม (คุณานุประโยค) แล้วแต่กรณี มีประพันธสรรพนาม (ที่ ซึ่ง อัน ผู้) เชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย
ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทขยาย
• คนที่ประพฤติดีย่อยมีความเจริญในชีวิต
ที่ประพฤติ ขยายประธาน คน
– คน…ย่อมมีความเจริญในชีวิต : ประโยคหลัก
– (คน) ประพฤติดี : ประโยคย่อย
• ฉันอาศัยบ้านซึ่งอยู่บนภูเขา
ซึ่งอยู่บนภูเขา ขยายกรรม บ้าน
– ฉันอาศัยบ้าน : ประโยคหลัก
– (บ้าน) อยู่บนภูเขา : ประโยคย่อย
3.3 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายคำกริยา หรือบทขยายคำวิเศษณ์ในประโยคหลัก (วิเศษณานุประโยค)
มีคำเชื่อม (เช่น เมื่อ จน เพราะ ตาม ให้ ฯลฯ) ซึ่งเชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย
ตัวอย่างประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทกริยาหรือบทขยายวิเศษณ์
• เขาเรียนเก่งเพราะเขาตั้งใจเรียน
เขาเรียนเก่ง : ประโยคหลัก
(เขา) ตั้งใจเรียน : ประโยคย่อยขยายกริยา
• ครูรักศิษย์เหมือนแม่รักลูก
ครูรักศิษย์ : ประโยคหลัก
แม่รักลูก : ประโยคย่อย (ขยายส่วนเติมเต็มของกริยาเหมือน)
9. ความหมายและส่วนประกอบของประโยค
ความหมายของประโยค
ประโยค เกิดจากคำหลายๆคำ หรือวลีที่นำมาเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบให้แต่ละคำมีความสัมพันธ์กัน มีใจความสมบูรณ์ แสดงให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เช่น สมัครไปโรงเรียน ตำรวจจับคนร้าย เป็นต้น
ส่วนประกอบของประโยค
ประโยคหนึ่ง ๆ จะต้องมีภาคประธานและภาคแสดงเป็นหลัก และอาจมีคำขยายส่วนต่าง ๆ ได้
1. ภาคประธาน
ภาคประธานในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำ ผู้แสดงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประโยค ภาคประธานนี้ อาจมีบทขยายซึ่งเป็นคำหรือกลุ่มคำมาประกอบ เพื่อทำให้มีใจความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. ภาคแสดง
ภาคแสดงในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ประกอบไปด้วยบทกริยา บทกรรมและส่วนเติมเต็ม บทกรรมทำหน้าที่เป็นตัวกระทำหรือตัวแสดงของประธาน ส่วนบทกรรมทำหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำ และส่วนเติมเต็มทำหน้าที่เสริมใจความของประโยคให้สมบูรณ์ คือทำหน้าที่คล้ายบทกรรม แต่ไม่ใช้กรรม เพราะมิได้ถูกกระทำ
10. คำมูล,คำซ้ำ,คำซ้อน,คำประสม,คำสมาส,คำสนธิ
1.คำมูล = คำดั้งเดิม เช่น กา เธอ วิ่ง วุ่น ไป มา
2.คำซ้ำ = คำมูล 2 คำที่เหมือนกันทุกประการ คำที่สองเราใส่ไม้ยมกแทนได้ เช่น วิ่งวิ่ง(วิ่งๆ) น้องน้อง(น้องๆ)
ที่ต้องระวัง
1. คำซ้ำในร้อยกรองไม่ใช้ไม้ยมก
2. อย่าใช้ในไม้ยมกในคำต่อไปนี้ เพราะไม่ใช่คำซ้ำ นาน (แปลว่าต่างๆ) จะจะ(แปลว่าชัด) ไวไว(ชื่ออาหาร)
3. บางทีคำที่เหมือนกันมาชิดกัน ไม่ใช่คำซ้ำเพราะความหมายไม่เหมือนกัน เช่น เขามีที่ที่บางนา(land, at)
3.คำซ้อน(คำคู่) คำมูลที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายไม่ก็ตรงข้ามมารวมกัน เช่น เก็บออก จิตใจ ผู้คน สร้างสรรค์ ขนมนมเนย ถ้วยชาม แข็งแรง เด็ดขาด ตัดสิน ดึงดัน ชั่วดี ถี่ห่าง
4. คำประสม คำมูล 2 คำมารวมกันเป็นคำใหม่ และคำใหม่นั้นมีเค้าความของคำเดิมที่นำมารวมกันเช่น น้ำพริปลาทู ขนมปัง ไส้กรอก ไก่ย่าง ผ้าพันคอ เข็มฮีกยา เลือกตั้ง เจาะข่าว โหมโรง ปากหวาน
ที่ต้องระวัง คำประสมต้องเป็นคำใหม่(ไม่ใช่คำที่เรามาขยายกันนะ)
เช่น เทียนไข(เทียนชนิดหนึ่ง) = คำประสม ,เทียนหัก ไม่ใช่คำประสม ;เตารีด เตาถ่าน เป็น แต่ เตาเก่า ไม่เป็น
5. คำสมาส คำบาลี+สันสกฤต 2 คำมารวมกัน (บาลีทั้งคู่ก็ได้ สันสกฤตทั้งคู่ก็ได้ คำบาลี+สันสกฤตก็ได้)
ที่ต้องระวัง ถ้าคำที่เอามารวมกันเป็นคำภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาบาลี สันสกฤต ก็จะไม่ใช่คำสมาส
เช่น ราชวัง ทุนนิยม สรรพสินค้า คุณค่า พระเจ้า พลเมือง ที่ขีดเป็นคำไทย
คริสต์จักร เคมีภัณฑ์ ที่ขีดเป็นภาษาอังกฤษ ราชดำเนิน ที่ขีดเป็นคำเขมร
วิธีสังเกตคำสมาสอย่างง่าย คือคำสมาสจะอ่านเนื่องเสียงระหว่างคำ ก็คือเวลาอ่านตรงกลางจะออกเสียงสระด้วย เช่น ราช(ชะ)การ อุบัติ(ติ)เหตุ ธาตุ(ตุ)เจดีย์ แพทย(ทะยะ)ศาสตร์ กุมาร(ระ)เวช กิจ(จะ)กรรม
จะมียกเว้นบ้างบางคำเช่น รสนิยม(รด-นิ-ยม)ไม่อ่านสะ ปรากฎการณ์ (ปรา-กด- กาน) เหตุการณื สุขศาลา
6. คำสนธิ คำสมาสประเภทที่เราเอาพยัญชนะตัวสุดท้ายของคำหน้าไปแทนที่”อ”ตัวแรกของคำหลัง เช่น
ชล+อาลัย = ชลาลัย ศิลป + อากร = ศิลปากร
วิธีการจะดูว่าคำไหนเป็นคำสมาสหรือสนธิ (หรือที่ในตำราเขาเรียนว่าสมาสชนิดสนธิ) คือแยกคำ 2 คำออกจากกัน
– ถ้าแยกออกเป็นคำได้เลย = คำสมาส
– ถ้าแยกแล้วต้องเติม”อ” ไปที่คำหลัง = คำสนธิ
เช่นธรรมบท = ธรรม + บท > สมาสธรรมดา กุศโลบาย = กุศล+อุบาย > สนธิ
ระวังการแยกคำต่อไปนี้
วิทยาเขต = วิทยา + เขต
สรรพสามิต = สรรพ+ สามิต
สรรพากร = สรรพ + อากร
วิทยากร = วิทยา+กร
ทิพากร = ทิพา+กร
ประชากร = ประชา + อากร
ทรัพยากร =ทรัพ + อากร
อนามัย = อน + อามัย
ตฤณมัย = ตฤณ + มัน
กาญจนามัย = กาญจนา + มัย
11. เสียงในภาษาไทย
เสียงในภาษาไทย
1. อักษรควบ – อักษรนำ
อักษรควบ มี 2 แบบ คือ
ควบแท้ -> ออกเสียงพยัญชนะต้นทั้ง 2 เสียง เช่น ปลา ครีม เป็นต้น
ควบไม่แท้ -> ออกเสียงพยัญชนะต้นตัวแรกตัวเดียว มี 2 กรณี ดังนี้
– แสร้ง จริง เศรษฐี เศร้า
– ออกเสียง ทร เป็นซ เช่น ไทร ทราย ทรุด
อักษรนำ คือ คำที่
– อ่านหรือเขียนแบบ มี “ห” นำพยัญชนะต้นอีกตัว เช่น หลอก หรู หนี หวาด ตลาด(ตะ-หลาด) ปรอท(ปะ-หรอด) ตลก(ตะ-หลก) ดิเรก(ดิ-เหรก)
– รวมทั้งคำว่า ” อย่า อยู่ อย่าง อยาก”
2. เสียงพยัญชนะต้น
เสียงพยัญชนะต้น > เสียงที่นำเสียงสระ
เสียงพยัญชนะต้น มีอยู่ 2 ประเภท คือ
1. เสียงพยัญชนะเดี่ยว = ออกเสียงเสียงพยัญชนะต้นเสียงเดียว เช่น มา วิน ตี นุก หมู
มีนิดนึงที่ระวัง *
– เสียง ร ไม่เหมือนกับเสียง ล
– ฤ ออกเสียงว่า รึ
– ท ธ ฑ ฒ ถ ฐ ออกเสียงตรงกันว่า ท
– พวกอักษรนำ จะออกเฉพาะเสียงเสียงพยัญชนะตัวหลัง(ไม่ออกเสียง”ห”หรือ”อ”ในพยัญชนะต้นตัวแรกนะ เช่น หรู (ออก”ร” ไม่ออก”ห”), หมี (ออก”ม”ไม่ออก”ห”) อยาก(ออก”ย” ไม่ออก”อ”)
2. เสียงพยัญชนะประสม ออกเสียงเสียงพยัญชนะต้นสองเสียงควบกัน เช่น กราบ ความ ปราม ไตร
ลองทวนอีกนิดนึงนะ
– ผิ ออกเสียงพยัญชนะต้น 1 เสียง คือ /ผ/
– ผลิ ออกเสียงพยัญชนะต้น 1 เสียง คือ /ผล/
– ผลิต ออกเสียงพยัญชนะต้น 2 เสียง คือ /ผ/ , /ล/ (คือเวลาออกต้องแยกว่า ผะ-หลิด)
3. เสียงพยัญชนะตัวสะกด (พยัญชนะท้าย)
เสียงพยัญชนะท้าย = เสียงพยัญชนะที่อยู่หบังเสียงสระ
เสียงพยัญชนะท้าย มี 8 เสียง คือ
แม่กก แทนด้วยเสียง /ก/ แม่กด แทนด้วยเสียง /ต/ แม่กบ แทนด้วยเสียง /ป/ แม่กม แทนด้วยเสียง /ม/ แม่กน แทนด้วยเสียง /น/ แม่กง แทนด้วยเสียง /ง/ แม่เกย แทนด้วยเสียง /ย/ แม่เกอว แทนด้วยเสียง /ว/
เช่น นาค เสียงพยัญชนะท้าย ช /ก/ รด เสียงพยัญชนะท้าย = /ต/
มีที่ต้องระวังนิดนึง
1. อำ ออกเสียงคือ อะ + ะ + ม ไอ,ใอ ออกเสียงคือ อะ +ะ + ย เอา ออกเสียง คือ อะ+ะ+ว
มีตัวสะกดทั้ง 4 เสียงเลยนะ
เช่น น้ำ มีเสียงตัวสะกดคือ /ม/ ไฟ /ย/ เก่า /ว/
2.บางคำดูเหมือนมีตัวสะกด แต่จริง ๆ คือรูปสระ ไม่ใช่ตัวสะกด เช่น ผัว เบื่อ เมีย ล่อ เสือ ชื่อ คำพวกนี้ไม่มีเสียงตัวสะกด
ลองทวนอีกที
ลองหาเสียงพยัญชนะตัวสะกดในคำต่อไปนี้ดู “เจ้าหญิงคือผู้ที่ข้าต้องการ”
เฉลย ว ง – – – – ง น
4. เสียงสระ
1.เสียงสระสั้น ยาวให้ดูตอนที่ออกเสียงอย่าดูที่รูปเช่น
วัด ออกเสียงสระสั้น ช่าง สระสั้น เท้า สระยาว เน่า สระสั้น น้ำ สระยาว ช้ำ สระสั้น
2.เสียงสระ มี 2 ประเภท คือ
สระประสม มี 6 เสียง คือ อัวะ อัว เอือะ เอือ เอียะ เอีย
สระเดี่ยว มี 18 เสียง คือ สระที่ไม่ใช่ อัวะ อัว เอือะ เอือ เอียะ เอีย
5. เสียงวรรณยุกต์ มี 5 ระดับ คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา
6. พยางค์ คือ เสียงที่ออกมา 1 ตรั้ง มี 2 ประเภท คือ
พยางค์เปิด พยางค์ที่ไม่มีตัวสะกด เช่น เธอ มา ลา สู่
พยางค์ปิด พยางค์ที่มีเสียงตัวสะกด เช่น ไป รบ กับ เขา
ในข้อสอบ Ent
@เวลาเขาถามถึง โครงสร้างของพยางค์ = องค์ประกอบของพยางค์ ให้ดูจากองค์ประกอบเสียงที่ออกมา คือ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด
@ถ้าเขาถามว่ามีโครงสร้างพยางค์ต่างกันไหม ให้เช็คไล่จาก
1. มีตัวสะกดไหม เช่น กางมี”ง”เป็นตัวสะกด แต่ กาไม่มีตัวสะกด
..โครงสร้างพยางค์ของ 2 คำนี้จะต่างกัน
2. เสียงพยัญชนะต้นเป็นเดี่ยว(พยัญชนะออกเสียงเดียว)หรือควบ(พยัญชนะต้น 2 เสียง)
เช่น แสร้ง กับ เชี่ยว มีเสียงพยัญชนะต้นเป็นเสียงเดียวทั้งคู่
..โครงสร้างพยางค์เหมือนกัน
3. เสียงวรรณยุกต์ตรงกันไหม เช่น ท้า กับ ท่า มีเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน
..โครงสร้างพยางค์ค่างกัน
4. เสียงสระสั้นยาวเท่ากันไหม เช่นช้าวออกเสียงสระยาว แต่ ตั้ง ออกเสียงสระสั้น
…โครงสร้างพยางค์ต่างกัน
7. เสียงหนักเบา
เสียงหนักเบาในวรรณคดีประเภทฉันท์
@ เราเรียกเสียงหนักว่า ครู ( ั) เรียกเสียงเยา ว่า ลหุ ( ุ )
@ คำครุ-ลหุ
– ครุ คำที่มีเสียงตัวสะกดหรือไม่มีตัวสะกด แต่ออกเสียงสระยาว เช่น เบิร์ด ฟลุด คูณสาม ทาทา มาช่า ซาซ่า โมเม บับเบิ้ลเกิร์ล โดม
– ลหุ คำที่ไม่มีเสียงตัวสะกด + สระเสียงสั้น เช่น เต๊ะ โป๊ะเชะ มะตะบะ
เสียงหนักเบาเวลาเราพูด
เช่น กะปิ เวลาเราพูดเราจะเน้นเสียง ปิ ชัดชัด
จำปา เวลาเราพูดเราจะเน้นเสียง จำ, ปา ชัดทั้งคู่
โมเม เวลาเราพูดเราจะเน้นเสียง โม, เม ชัดทั้งคู่
นิโคล เวลาเราพูดเราจะเน้นเสียง โคล ชัดชัด
8. อักษร 3 หมู่
อักษรสูง มี 11 ตัว ได้ แก่ ข ฃ ฉ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
อักษรกลาง มี 9 ตัว ก ฎ ฏ ด ต บ ป อ
อักษรต่ำ มี 24 ตัว ได้แก่ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ
**อักษรสูงกลางต่ำหมายถึง ตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะต้นทั้งหมดในคำนั้น ๆ เช่น
-ไว มีรูปอักษรต่ำ 1 ตัว คือ ว
– กลาย มีรูปอักษรกลาง 1 ตัว คือ ก รูปอักษรต่ำ 1 ตัวคือ ล (เพราะในที่นี้รูปพยัญชนะต้นมี 2 ตัว คือ ก กับ ล)
12. คำไทยแท้
1. คำไทยแท้
คำไทยแท้มักจะเป็นคำพยางค์เดียวและสะกดตรงตามมาตรา
แต่ต้องระวังหน่อย :
1. คำไทยแท้เกิน 1 พยางค์ก็มี
– ประ, กระ + คำไทย เช่น ประเดี๋ยว ประหนึ่ง กระดก กระดุม เป็นต้น
-คำกร่อนเสียง เช่น มะพร้าว มะม่วง ตะเข้ ระริก
คำบางคำ เช่นเสภา ระฆัง
2. คำพยางค์เดียวสะกดตรงมาตรบางคำก็ไม่ใช่คำไทย
-คำที่ใส่”ำ”(สระอำ) เข้าไปได้เป็นคำเขมร เช่น เกิดกราบ จง แจก ทาย เดิน อวย
-คำที่อ่านโดยใส่สระ”ะ”ไปที่ตัวอักษรสุดท้ายได้ เป็นคำบาลี-สันสกฤต เช่น เอก ทาน นาม ชน พระ(วร) โลก กาม ครู
คำไทยที่มีควบกล้ำมี 11 เสียง คือ
กร กล กว ก่อน คร คล คว ค่ำ ปร ปล ไป พร พล พบ ตร เตี่ย
2. คำบาลี – สันสกฤต
คำสันสกฤต
1. ควบกล้ำ คำสันสกฤตหรือมี รร เช่น ปรโมทย์, วิเคราะห์, ภรรยา
2. มี”ศ,ษ,ฤ,ฤา,ฑ,สถ” เช่น ศักดา ฤษี จุฑฑา เสถียร
***คำ “ศ”เป็นภาษาสันสกฤต ยกเว้น ศอก เศิก เศร้า ศึก เป็นคำไทย
คำบาลี สังเกตจากตัวสะกดและตัวตาม
– ถ้าตัวสะกด ตัวตามอยู่ในวรรคเดียวกัน ถือเป็นคำบาลี
เช่น มัจฉา รัฏฐา หัตถ์ บุปผา สัมมา
พยัญชนะวรรค
ก ก ข ค ฆ ง
จ จ ฉ ช ฌ ญ
ฎ ฎ ฐ ฑ ฒ ณ
ต ต ถ ท ธ น
ป ป ผ พ ภ ม
เศษวรรค ย ร ล ว ส ห ฬ อ
3. คำเขมร คำเขมรสังเกตจาก
1. คำนั้นแผลง ” ำ” เข้าไปได้ เช่น
กราบ > กำราบ เกิด > กำเนิด เจริญ > จำเริญ
จอง(จำนอง) ชาญ(ชำนาญ) ตรวจ(ตำรวจ) เสร็จ(สำเร็จ) อาจ(อำนาจ) แข็ง(กำแหง) ตรง(ดำรง) ตรัส(ดำรัส) ทรุด(ชำรุด) เปรอ(บำเรอ)
2.คำนั้นเอาคำว่า บำ,บัง,,บรร นำหน้าได้ เช่น
เพ็ญ > บำเพ็ญ บำราศ บำบัด บรรจง บรรทม
คำต่อไปนี้เป็นคำเขมร
– ขจาย ขจร ขจอก ขดาน ขจัด ขจบ
– เสด็จ เสวย บรรทม โปรด
– ถนน กระทรวง ทบวง ทหาร ทลาย แถง โถง
– ขนม สนุด นาน สนิม
4. คำภาษาอื่น ๆ
ภาษาทมิฬ เช่น ตะกั่ว อาจาด สาเก กุลี
ภาษาชวา+ มลายู เช่น บุหลัน บุหงา บุหรง ทุเรียน น้อยหน่า มังคุด มะละกอ โสร่ง สลัด กริช
ภาษาโปรตุเกส เช่น สบู่ ปิ่นโต เหรียญ กาละแม
ภาษาเปอร์เชีย เช่นกุหลาย ตรา ชุกชี
13. ธรรมชาติของภาษา
ธรรมชาติของภาษา
- ภาษาในความหมายอย่างแคบ คือ ภาษาพูดของคน
- ทุกวันนี้ ยังมีอีกหลายภาษาที่ไม่มีภาษาเขียน
- แต่ละกลุ่มกำหนดภาษากันเอง เสียงในแต่ละภาษาจึงมีความหมายไม่ตรงกัน
- ลักษณะของภาษาทั่ว ๆ ไป
- มีเสียงสระและพยัญชนะ (วรรณยุกต์มีบางภาษาเช่น ไทย,จีน)
- ขยายให้ใหญ่ขึ้นได้
- มีคำนาม, กริยา, คำขยาย
- เปลี่ยนแปลงได้
- ภาษาเปลี่ยนแปลงได้ เพราะสาเหตุหลายข้อ เช่น
สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เช่น ขายตัว ศักดินา จริต สำส่อน แกล้ง ห่ม
การพูด ได้แก่ การกร่อนเสียง และกลมกลืนเสียง
– กร่อนเสียง เช่น”หมากพร้าว” กร่อนเป็น”มะพร้าว”
-กลมกลืนเสียง เช่น”อย่างไร” กลืนเสียงเป็น “ยังไง”
ภาษาต่างประเทศ เช่นสำนวน”ในความคิดของข้าพเจ้า”
เด็กออกเสียงเพี้ยน เช่นกะหนม,ไอติม,ป้อ(พ่อ)
จุดเด่นภาษาไทย
1. ภาษาคำโดด = ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปของคำ
2. การวางคำหลักคำขยาย ในภาษาไทยจะเอาคำหลักขึ้นก่อนแล้วจึงตามด้วยคำขยาย
คำหลัก + คำขยาย เช่น ขนมอร่อย
3. มีเสียงวรรณยุกต์
สำนวนภาษาต่างประเทศ
1. เยิ่นเย้อ ดูได้จากมีคำว่า”มีความ, ให้ความ, ทำการ,ต่อการ, ต่อความ, ซึ่ง” แบบไม่จำเป็นเช่น ครูมีความดีใจมาก
2. วางส่วนขยายหน้าคำหลัก เช่น ง่ายแก่ความเข้าใจ
3. เอาคำว่า “มัน” มาขึ้นประโยคแบบไม่มีความหมาย เช่น มันดีจังเลย
4. นิยมใช้ Passive Voice (ถูก+Verb)ในความหมายที่ดี เช่น ถูกชมเชย
5. สำนวนบางสำนวน เช่น ในที่สุด ในอนาคตอันใกล้นี้ ในความคิดของผม พบตัวเอง ใช้ชีวิต