การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล

สร้างโดย : นางสุขใจ ตอนปัญญา
สร้างเมื่อ พฤ, 19/11/2009 – 12:06
มีผู้อ่าน 184,228 ครั้ง (25/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/44705

การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล

เนื้อหาประกอบด้วย

  1. ความหมาย
  2. กระบวนการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล
    • ขั้นตอนที่ 1 กำหนดเป้าหมาย
    • ขั้นตอนที่ 2 ศึกษาข้อมูลเกี่ยวข้อง
    • ขั้นตอนที่ 3 ลงมือทำแผน
    • ขั้นตอนที่ 4 ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้
  3. การวิเคราะห์สถานะทางการเงิน
  4. การจัดทำงบประมาณส่วนบุคคล
  5. การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย
  6. แบบฝึกหัด
  7. แบบฝึกทักษะ
  8. ฝึกการคิดวิเคราะห์จากการ์ตูน
  9. บรรณานุกรม

1. ความหมาย

         การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล (Personal Financial Planning) เป็นวิธีการที่บุคคลนำมาใช้ในการบริหารจัดการกับเงินของตนเอง   โดยมีเป้าหมายหลัก ก็คือ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการดำเนินชีวิตตามที่ต้องการหรือที่กำหนดไว้

           เงินเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างจำกัด ใช้แล้วหมดไป ในขณะที่การหาเงินหรือรายได้เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายหรือความต้องการของบุคคลแต่ละคนนั้น ไม่ใช้เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะต้องแลกมาด้วยความรู้ ความสามารถ การหมั่นฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์ให้เกิดความชำนาญ ตลอดจนการที่ต้องทุ่มแทกำลังกาย กำลังใจ อย่างเต็มกำลังความสามารถที่มี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลจะต้องให้ความสำคัญกับเงินรายได้ที่หามาได้ ด้วยการเริ่มต้นวางแผนเพื่อจัดการกับเงินที่มีอยู่และเงินรายได้ที่คาดว่าจะได้รับว่าจะต้องแบ่งสันปันส่วนเงินจำนวนนี้ ไปเพื่อการใดบ้าง และในสัดส่วนเท่าใด

          หากเราต้องการมีชีวิต  อนาคตที่มั่นคง ปลอดภัย   และมีความสุขในบั่นปลายชีวิตอย่างที่ต้องการ การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล  ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่บุคคลสามารถนำมาใช้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิต โดยไม่ต้องรอให้ประสบปัญหาทางการเงินขึ้นมาเสียก่อนจึงจะเริ่มลงมือวางแผนทางการเงิน หรือไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่มีฐานะทางการเงินดีหรือคนร่ำรวยเท่านั้น เราทุกคนสามารถเริ่มต้นวางแผนทางการเงินได้ในทุกช่วงอายุ ไม่สำคัญว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ ยิ่งรู้จักวางแผนทางการเงินตั้งแต่ในวัยเด็ก ก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้รู้คุณค่าของเงิน และมีวินัยทางการเงิน รู้จักหา รู้จักออม และรู้จักใช้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาย่อมมีภูมิคุ้มกันที่ดี ที่จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ความพอเพียงตามต้องการ…

วัตถุประสงค์ของการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล

1. ทำให้มีแนวทางหรือทิศทางในการจัดการกับเงินที่มีอยู่และที่คาดว่าจะได้รับ
2. ทำให้สามารถจัดการกับรายรับ รายจ่ายของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการดำเนิชีวิต และเป้าหมายทางการเงินตามที่ต้องการได้
4. ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมการใช้จ่ายของบุคคลได้
5. ช่วยปัญหาและความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเงินของบุคคลได้ 

2. กระบวนการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล

          กระบวนการหรือวิธีการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล มีขั้นตอนของการจัดทำง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก ซึ่งเราทุกคนสามารถลงมือจัดทำได้ด้วยตนเอง หากเราต้องการเดินไปสู่เปป้าหมายชีวิตอย่างมีทิศทาง  สามารถเริ่มต้นวางแผนทางการเงินอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยการดำเนินการตามขั้นตอนการวางแผน หลัก ๆ 4 ขั้นตอน ดังนี้

                 ขั้นตอนที่ 1 :กำหนดเป้าหมาย
                 ขั้นตอนที่ 2 :ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
                 ขั้นตอนที่ 3 :ลงมือจัดทำแผน
                 ขั้นตอนที่ 4 :ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้

          ซึ่งลักษณะของแผนทางการเงินส่วนบุคคลที่ดี ควรจะต้องเป็นแผนที่อ่านแล้วรู้ได้ว่าเป้าหมายคืออะไร   ต้องการอะไร และการจัดทำแผนทางการเงินนั้นจะต้องคำนึงถึง ความเป็นไปได้หรือความสมเหตุสมผลของสิ่งที่เป็นอยู่และแผนการในอนาคตจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาของการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการไว้ให้ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่าตอนนี้หรือขณะนี้ใกล้จะถึงเป้าหมายแล้วหรือยัง   และที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง  ก็คือ   แผนทางการเงินที่เราจัดทำไว้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย  หากเราไม่มีความมุ่งมั่น และตั้งใจจริงในการที่จะปฏิบัติตามแผนที่วางไว้  ดังนั้นในการจัดทำแผนทางการเงินไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมาย การวางแผน จัดสรรปันส่วนเงิน ควรจัดทำขึ้นมาจากการประมาณการโดยคำนึงถึง สภาพความเป็นจริงที่เคยเป็นมาในอดีต และสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่  ตลอดจนการดูแนวโน้มในอนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตัวเราเองหรือครอบครัวเป็นสำคัญ เพราะแผนทางการเงินที่จัดทำขึ้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่เราจะนำมาใช้ควบคุม หรือกำหนดทิศทางการใช้จ่ายเงินของเราได้เป็นอย่างดี…

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดเป้าหมาย

               การกำหนดเป้าหมาย  เป็นขั้นตอนแรกหากคิดจะวางแผนเพื่อดำเนินการในเรื่องใด ๆ ก็ตามการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล ก็เช่นเดียวกัน  ที่เราจะต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายของการวางแผนทางการเงิน  ซึ่งการกำหนดเป้าหมายของการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล ก็คือ การกำหนดเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของตัวเราเองหรือการกำหนดจุดหมายปลายทางหรือเป้าหมายที่ต้องการทำและเดินไปให้ถึง
               เป้าหมายเปรียบเสมือนธงที่ปักไว้ที่จะทำให้เราเดินไปข้างหน้า เพื่อไปสู่เส้นชัยได้ง่ายและเร็วขึ้นโดยไม่ต้องมัวเสียเวลากับการเดินหลงทาง ดังนั้นก่อนทำการลงมือวางแผนทางการเงินเราจะต้องทำการพิจารณาถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเราเองว่าเราต้องการอะไร  หรือต้องการที่จะเห็นชีวิตครอบครัวเรา เป็นอย่างไร แน่นอนว่า ไม่ว่าเราจะกำหนดเป้าหมายในการดำเนินชีวิตเราไว้ว่าอย่างไร การที่จะไปสู่เป้าหมายชีวิตที่ต้องการได้นั้น มักจะต้องใช้เงินเป็นตัวกลางในการทำให้บรรลุเป้าหมาย ดังนั้นในการวางแผนทางการเงินของบุคคล เป้าหมายที่กำหนดจึงต้องกำหนดเป้าหมายในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการกำหนดเป้าหมายทางการเงินด้วยเสมอ  ซึ่งโดยทั่วไปจะเห็นว่าเป้าหมายของคนเรานั้น ในการทำให้สำเร็จจะใช้เวลามากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของเป้าหมายที่ต้องการ บางเป้าหมายสามารถทำให้สำเร็จได้โดยใช้เวลาไม่มากนั้ก แต่บางเป้าหมายต้องใช้เวลานามหลายปี ดังนั้นโดยทั่วไปเราจึงสามารถแบ่งเป้าหมายในการดำเนินชีวิต และเป้าหมายทางการเงินตามระยะเวลาได้เป็น 2 ระยะ คือ

  1. เป้าหมายระยะสั้น  : เป็นเป้าหมายที่เราสามารถทำให้สำเร็จได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี เช่น
              ต้องการเก็บเงินให้ได้ 10,000.- บาท เพื่อซื้อโทรทัศน์ต้องการเก็บเงินให้ได้ 15,000.- เพื่อพาครอบครัวไปเที่ยวตอนสิ้นปี เป็นต้น
  2. เป้าหมายระยะยาว : เป็นเป้าหมายที่ต้องใช้เวลานานเกินกว่า 1 ปี จึงจะสามารถทำให้สำเร็จได้ เช่น
              ต้องการเก็บเงินให้ได้ 400,000.- บาท เพื่อเอาไว้ดาวน์บ้านในอีก 3 ปี ข้างหน้า ต้องการเก็บเงินเอาไว้ซื้อที่ดิน ซึ่งมีราคา 600,000.- บาทในอีก 4 ปีข้างหน้า เป็นต้น

          การจะระบุว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้นั้นเป็นเป้าหมายระยะสั้นหรือระยะยาวนั้น สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยก็คือ ความสามารถในการหารายได้ของบุคคลเพราะถึงแม้ว่าจะกำหนดเป้าหมายเดียวกัน เป้าหมายนั้นอาจเป็นเป้าหมายระยะยาวสำหรับางคน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นเป้าหมายระยะสั้นของ อีกคนก็ได้

ขั้นตอนที่ 2 ศึกษาข้อมูลเกี่ยวข้อง

           เมื่อกำหนดเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของตนเองแล้ว   ก่อนที่จะเริ่มลงมือจัดทำแผนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้แผนทางการเงินที่จะจัดทำเป็นแผนที่ดี  สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพ คือนำเราไปสู่เป้าหมายชีวิตตามที่ต้องการได้นั้น เราจะต้องศึกษา เพื่อทำความเข้าใจกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำมาใช้ในการวางแผนทางการเงินเสียก่อน ซึ่งข้อมูลสำคัญที่เราควรทำการศึกษาให้เข้าใจ  ได้แก่ ช่วงอายุ  ประเภทของรายได้ และรายจ่าย 

            ช่วงอายุ : เป็นข้อมูลสำคัญประการหนึ่งที่เราต้องทำการศึกษาทำความเข้าใจ เนื่องจากช่วงอายุจะมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการหารายได้ของบุคคล เพราะหากพิจารณาจะเห็นว่าในชีวิตการทำงานของบุคคลหนึ่ง ในแต่ละช่วงก็จะมีความสามารถในการหารายได้แตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปเราอาจแบ่งช่วงอายุออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

  1. ช่วงเริ่มทำงาน จะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ ให้เกิดความชำนาญ ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่โดยปกติทั่วไปจะมีความสามารถในการหารายได้น้อย และก็มักจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามประสบการณ์ในการทำงาน และตำแหน่งหน้าที่การทำงานที่สูงขึ้น
  2. ช่วงที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย เป็นช่วงที่บุคคลมีหน้าที่การทำงานที่มั่นคงขึ้น จึงเป็นช่วงที่ทำให้บุคคลมีความสามารถในการหารายได้สูงที่สุด และมีเงินเหลือสำหรับการนำไปลงทุนหาผลประโยชน์ได้มากขึ้น
  3. ช่วงหลังเกษียณ เป็นช่วงที่ระดับความสามารถในการหารายได้จากการทำงานต่ำที่สุด หรือบางคนก็อาจจะไม่มีรายได้เลย

***จะเห็นว่าการแบ่งช่วงอายุในที่นี้ ไม่ได้คำนึงถึงอายุของบุคคล แต่เป็นการแบ่งช่วงตามระดับความสามารถในการหารายได้ของบุคคล  ดังนั้น หากเราสามารถเริ่มต้นชีวิตการทำงานได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อระดับความสามารถในการหารายได้และความมั่นคงทางการเงินมากเท่านั้น
                        
            รายได้  : การศึกษาทำความเข้าใจถึงแหล่งที่มาของรายได้ จะทำให้ในการวางแผนทาง
การเงินของบุคคลละเอียด และได้ข้อมูลทำหรับการจัดทำแผนครบถ้วน 
โดยทั่วไปอาจแบ่งแหล่งทีมาของรายได้ ได้ดังนี้

  1. เงินเดือน และโบนัส
  2. รายได้จากการเป็นเจ้าของกิจการ
  3. รายได้จากการมีทรัพย์สินให้เช่า
  4. รายได้จากแหล่งอื่น ๆ เช่น การนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ จะได้รับรายได้ในรูปของดอกเบี้ย เงินปันผล หรือกำไรจากการขาย ฯลฯ รายได้จากการประกอบอาชีพเสริมนอกเวลาการทำงานประจำ

            รายจ่าย : เราอาจแบ่งประเภทของรายจ่ายของบุคคล ได้ดังนี้

  1. เงินออม หากเริ่มต้นวางแผนทางการเงิน เงินออมจะถือเป็นเงินส่วนแรกที่จะต้องหักออกจากรายได้
  2. ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ถือเป็นรายจ่ายส่วนใหญ่ของบุคคล
  3. ภาระหนี้สิน เป็นภาระผูกพันทางการเงินที่เกิดขึ้นในอดีตและเป็นรายจ่ายในปัจจุบัน
  4. ค่าประกันภัย เป็นรายจ่ายเพื่อแบ่งเบาภาระหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันหรือเป็นรายจ่ายเพื่อความมั่นคงในอนาคตที่ควรต้องนำมาพิจารณาในการวางแผนทางการเงินของบุคคลในยุคปัจจุบัน
  5. เงินสำหรับแผนการในอนาคต แผนการในอนาคตของบุคคลมักแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความต้องการและสถานะของแต่ละบุคคล ดังนั้นหากเรามีแผนการในในอนาคต ก็ควรจะจัดสรรเงินสำหรับแผนการในอนาคตไว้ด้วย  

ขั้นตอนที่ 3 ลงมือทำแผน

           เมื่อมีข้อมูลพร้อมสำหรับที่จะนำมาใช้ในการวางแผนทางการเงินแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการลงมือจัดทำแผนทางการเงินอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเครื่องมือสำคัญที่เรานำมาใช้ในการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลก็คือการจัดทำ “งบประมาณส่วนบุคคล”   ซึ่งก่อนที่เราจะเริ่มลงมือจัดทำงบประมาณส่วนบุคคล เราก็ควรจะทราบว่าสถานะทางการเงินในปัจจุบันของเราเป็นอย่างไรด้วยการเปรียบเทียบทรัพย์สิน และหนี้สินในปัจจุบัน หากมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ก็แสดงว่าในปัจจุบันฐานะทางการเงินของเราค่อนข้างดี แต่หากผลต่างระหว่างทรัพย์สิน กับหนี้สินออกมาเป็นลบ นั่นแสดงว่าเรามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ทำให้เราต้องระวังมากขึ้น
                        
            แผนทางการเงินส่วนบุคคลที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้

  1. มีความยืดหยุ่น คือ สามารถปรับเปลี่ยนแปลงได้เมื่อสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนทางการเงินมีการเปลียนแปลง
  2. มีสภาพคล่อง แผนทางการเงินที่ดีควรมีสภาพคล่องพอสมควร เพื่อรองรับสถานะทางการเงินที่อาจเปลี่ยนแปลง โดยเราต้องมีเงินสำรองมากพอสำหรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

ขั้นตอนที่ 4 ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้

               แผนทางการเงินส่วนบุคคลที่จัดทำไว้จะไม่มีประโยชน์เลย หากเราไม่นำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เมื่อวางแผนทางการเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำให้เรารู้ที่มา ที่ไปของเงินรายได้ที่เราคาดว่าจะได้รับ การปฏิบัติตามแผนทางการเงินที่จัดทำไว้ ต้องอาศัยความมีวินัยทางการเงินของบุคคลเป็นสำคัญ เราควรปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่มีกระทบต่อแผนทางการเงินที่วางไว้ เราก็ควรจะต้องทำการกันมากน้อยเพียงใด เพื่อปรับแผนให้สอดคล้องกับรายรับ และรายจ่ายที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
 
                 เครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้ในการทบทวนแผนทางการเงิน และพิจารณาพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของบุคคลก็คือ การจดบันทึกรายรับ รายจ่าย ด้งยการจัดทำ “บัญชีรายรับ รายจ่าย” หรือ “บัญชีครัวเรือน” ซึ่งจะเป็นกระจกสะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของเราได้เป็นอย่างดี และจะทำให้เรารู้ว่าการพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินที่ผ่านมาเป็นไปตามแผนทางการเงินที่วางไว้หรือไม่ หรือทำให้เราทราบว่าเราปฏิบัติตามแผนทางการเงินที่วางไว้ได้ หรือแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

3. การวิเคราะห์สถานะทางการเงิน

             การวิเคราะห์สถานะทางการเงินของบุคคล คือ การวิเคราะห์มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยการเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าทรัพย์สิน และหนี้สิน ที่มีอยู่ในปัจจุบัน  ด้วยการทำตารางแจกแจงมูลค่าทรัพย์สิน และหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด  ณ เวลาใด  เวลาหนึ่ง   โดยนำมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่เราครอบครองเป็นเจ้าของอยู่ ลบด้วยมูลค่าหนี้สินทั้งสิ้นที่มีอยู่  ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้เราทราบในเบื้องต้นว่าเรามีสถานะทางการเงินในปัจจุบันในขณะนั้น

                การวิเคราะห์มูลค่าทรัพย์สินสุทธินี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เรารู้ถึงสถานะทางการเงินที่แท้จริงของเรา ณ เวลาใด เวลาหนึ่ง นั่นเอง เพราะหากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่คำนวณได้นั้น มีค่าเป็นบวก    แสดงว่าในขณะนั้นเรามีสถานะทางการเงินค่อนข้างดี  ในทางตรงกันข้ามหากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่คำนวณได้มีค่าเป็นลบ ก็แสดงว่าสถานะทางการเงินของเราค่อนข้างไม่ดี มีภาระหนี้สินมาก เราต้องพยายามหาวิธีการลด หรือควบคุมหนี้สินไม่ให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเราควรทำการวิเคราะห์สถานะทางการเงินของเราให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้ตลอดเวลา

สมการที่ใช้ในการคำนวณหามูลค่าสินทรัพย์สุทธิ

สินทรัพย์สุทธิ์  = สินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม

4. การจัดทำงบประมาณส่วนบุคคล

                 งบประมาณส่วนบุคคล (Cash Budgeting)   เป็นเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ในการวางแผนทางการเงินของบุคคล โดยเป็นการวางแผนการออม และการใช้จ่ายเงินให้สอดคล้องกับรายได้ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต  เพื่อให้บุคคลบรรลุ “เป้าหมายในการดำเนินชีวิต”  และ”เป้าหมายทางการเงิน” ที่ต้องการ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการจัดทำงบประมาณส่วนบุคคล โดยทั่วไปก็คือ

  1. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการควบคุมการใช้จ่ายเงินของบุคคล ให้สอดคล้องกับรายได้ที่คาดว่าจะได้
  2. เพื่อช่วยให้บุคคลบรรลุเป้าหมายในการดำเนินชีวิต และเป้าหมายทางการเงินตามต้องการ

                การจัดทำงบประมาณส่วนบุคคล ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเริ่มต้นการควบคุมการใช้จ่ายเงินสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำได้โดยการประมาณการรายรับและรายจ่ายที่คาดว่าจะได้รับ อาจทำการประมาณการเป็นรายเดือน หรือ ปี ก็ได้ หากทำเป็นรายเดือนก็ยิ่งละเอียด โดยในงบประมาณส่วนบุคคลจะประกอบไปด้วยการประมาณการรายการต่าง ๆ ในแต่ละหมวด ดังนี้ 

  1. รายได้
  2. เงินออม หรือเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน
  3. ค่าใช้จ่าย
  4. เงินสำหรับแผนการในอนาคต

5. การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย

                  บัญชีรายรับรายจ่าย หรือ บัญชีครัวเรือน เป็นการบันทึกรายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจึงเป็นกระจกสะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของบุคคลได้เป็นอย่างดี  เพราะการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะทำให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริงว่าเป็นไปตามแผนทางการเงินที่วางไว้หรือไม่ และยังใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของบุคคล ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์สามารถนำมาใช้สำหรับการตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และมีค่าใช้จ่ายรายการใดที่สามารถลดหรือตัดทอนลงได้

                    การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย มีขั้นตอนในการจัดทำง่าย ๆ ที่สามารถนำไปปฏิบัติด้วยต้นเอง ดังนี้

  1. เริ่มต้นที่การหาสมุดมา 1 เล่ม เตรียมปากกา ดินสอ ไม่บรรทัดให้พร้อม
  2. ขีดเส้นแบ่งหน้ากระดาษออกเป็นช่อง ๆ จำนวน 5 ช่อง ดังนี้

6. แบบฝึกหัด

ตอนที่ 1 
คำสั่ง  จงเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอนเดียว

ข้อ 1.วัตถุประสงค์สำคัญของการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลคือข้อใด
ก.เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในชีวิต
ข.เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการกู้ยืมในอนาคต
ค.เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดำเนินชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน
ง. เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลทางการเงินของตนเองกับบุคคลอื่น ๆ

ข้อ 2.ข้อใดให้คำจำกัดความของ “การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล” ถูกต้องที่สุด
ก.กระบวนการในการวางแผนเพื่อการประกอบอาชีพของบุคคล
ข.กระบวนการในการจัดการกับแนวทางการดำเนินชีวิตของบุคคล
ค.กระบวนการในการจัดการกับหนี้สินให้มีประสิทธิภาพที่สุดของบุคคล
ง.กระบวนการในการจัดการกับเงินของบุคคล

ข้อ 3.กระบวนการวางแผนทางการเงิน เริ่มต้นจากขั้นตอนใด
ก.ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนทางการเงิน
ข.การกำหนดเป้าหมายในการดำเนินชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน
ค.เริ่มลงมือวางแผนทางการเงินเป็นลายลักษณ์อักษรทันทีเมื่อคิดจะทำ
ง.นำข้อมูลการจัดทำงบประมาณของคนอื่น ๆ มาศึกษา

ข้อ 4.การสำรวจสถานะทางการเงิน ทำได้โดยการเปรียบเทียบข้อมูลใด
ก.ทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมด
ข.ทรัพย์สินและภาระด้านการเงิน
ค.หนี้สินและความสามารถในการหารายได้
ง.ความสามารถในการหารายได้และรายจ่าย

ข้อ 5.ถ้ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิออกมาเป็นบวก ข้อใดถูกต้อง
ก.แสดงว่าสถานะทางการเงินของเราดีมาก
ข.แสดงว่าสถานะทางการเงินของเราในปัจจุบันและอนาคตดี
ค.แสดงว่าสถานะทางการเงินของเราในขณะนั้นค่อนข้างดี
ง.แสดงว่าสถานะทางการเงินของเราไม่ดี

ข้อ 6.ข้อมูลใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล
ก.รายได้
ข.รายจ่าย
ค.ช่วงอายุ
ง.เชื้อชาติ

ข้อ 7.การกำหนดเป้าหมายในข้อใด ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ดี ตามหลัก SMART
ก.ต้องการมีเงินเยอะ ๆ
ข.อยากมีเงินจ่ายชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างอยู่ให้หมด
ค.อยากมีบ้านในอีก 10 ปีข้างหน้า จึงเริ่มเก็บออมเงินเดือนละ 6,000 บาท ทุกเดือน
ง.อยากซื้อรถหรู ๆ ราคาแพง ทั้งที่มีเงินเดือนเพียงเดือนละ 7,500 บาท

ข้อ 8.ข้อใดที่จะทำให้เราทราบพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของตัวเองได้เป็นอย่างดี
ก.การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย
ข.การตรวจนับจำนวนเงินที่เหลือในแต่ละเดือน
ค.พิจารณารายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน
ง.รสนิยมในการซื้อสินค้าและบริการ

ข้อ 9.ช่วงอายุใดเป็นช่วงที่มีระดับความสามารถในการหารายได้สูงที่สุด
ก.ช่วงเริ่มต้นทำงาน
ข.ช่วงที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย
ค.ช่วงใช้จ่ายเงินหลังเกษียณ
ง.ช่วงที่มีรายได้สม่ำเสมอ

ข้อ 10.ข้อใดต่อไปนี้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของชีวิตเรา
ก.ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค
ข.เงินออม
ค.ภาระหนี้สิน
ง.ค่าประกันภัย

ตอนที่ 2
คำสั่ง  จงตอบคำถามต่อไปนี้ให้ถูกต้อง สมเหตุสมผล
                 
1. จงบอกเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของท่าน พร้อมทั้งบอกแนวทางที่จะทำให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ
2. “เงินเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์” ท่านเห็นด้วยกับข้อความนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด
3. ท่านคิดว่า สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิตของท่านคืออะไร เพราะเหตุใด

7. แบบฝึกทักษะ

คำสั่ง จงพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้ แล้วตอบคำถามให้ถูกต้อง

1. ขณะนี้โชคดี มีทรัพย์สินและหนี้สินดังต่อไปนี้
    บ้านมูลค่า 800,000.- บาท รถยนต์ 1 คัน   มูลูค่า 300,000.-บาท  เงินกู้ 300,000.- บาท
     เงินสด 10,000.-  สินเชื่อรถยนต์ 200,000.- บาท เงินฝากธนาคาร 50,000.-
     1.1 ในขณะนี้ โชคดี มีทรัพย์สินสุทธิเท่าใด
     1.2 สถานะทางการเงินในปัจจุบันของโชคดีเป็นอย่างไร

2. มีฝัน จดรายการรายรับและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 2 วันที่ผ่านมาไว้ดังนี้ เพื่อให้ข้อมูลแสดงรายละเอียดที่เป็นระบบ และดูง่ายมากขึ้น ให้ท่านนำไปจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย ของมีฝัน

วันที่ 10 พ.ย. ได้รับเงินค่าจ้าง 8,000.- บาท ซื้อข้าว 120.- บาท ซื้อของใช้ 480.- บาท
                       ขายของเก่าได้เงิน 250.- บาท เติมน้ำมันรถ 500.- บาท
วันที่ 11 พ.ย. ซื้อเครื่องดื่ม 130.- บาท ซื้อยา 75.- บาท จ่ายค่าโทรศัพท์ 430.- บาท

3. สมหวัง ทำงานได้รับเงินเดือน ๆ ละ 15,000.- บาท ส่วนใหญ่นำไปใช้จ่ายรายการต่าง ๆในสัดส่วนดังนี้ เก็บออม 10 % จ่ายเป็นค่าอาหาร 40% จ่ายเป็นค่าของใช้ 20% ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ 10%  กันไว้สำหรับซื้อบ้าน 20 %

จากข้อมูลดังกล่าวให้ท่านจัดทำงบประมาณส่วนบุคคลของสมหวังสำหรับระยะเวลา 1 เดือน

8. ฝึกการคิดวิเคราะห์จากการ์ตูน

พิงค์กี้และบลู

อ่านจบแล้ว ให้ตอบคำถามต่อไปนี้นะคะ

1. จะเกิดอะไรขึ้นกับ “บลู” ทำไมจึงเป็นเช่นั้น ?
2. นักเรียนอยากเป็น บลู หรือ พิ้งกี้  เพราะเหตุใด?
3. ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น  หากพิจารณาพฤติกรรมของ พิ้งกี้ กับ บลู กับการวางแผนทางการเงิน ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

9. บรรณานุกรม

กร  ศิริโชควัฒนา.  วิธีบริหารเงินของเศรษฐี ที่คนอยากรวยต้องเรียน.  บริษัทสำนักพิมพ์ดอกหญ้า.กรุงเทพฯ,  2551.
กิตติพัฒน์  แสนทวีสดุข.  เงินทองต้องใส่ใจ เล่ม 1.  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.  กรุงเทพฯ, 2550.
เติมบุญ.  วางแผนการเงินและชีวิตให้รวย (อย่างบูรณาการ).  ซีเอ็ดยูเคชั่น.  กรุงเทพฯ,  2549.
ธนัยวงศ์  กีรติวานิชย์.  การเงินส่วนบุคคล “เงินทองของมีค่า” สำหรับอาชีวศึกษา.  สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,  2549.
สุมาลี  เกตุรามฤทธิ์.  การเงินส่วนบุคคล.  สำนักพิมพ์ ศูนย์ส่งเสริมอาชีวะ.  กรุงเทพฯ, อมิตา  อริยอัชฌา.  เขาเก็บเงินกันอย่างไรได้เป็นล้าน.  บริษัท  แปลน พริ้นท์ติ้ง จำกัด.  กรุงเทพฯ, 2551.