ชนิดของประโยค

สร้างโดย : นายพฤฒ ธีระวิชิตชัยนันท์
สร้างเมื่อ อังคาร, 24/11/2009 – 17:58
มีผู้อ่าน 153,149 ครั้ง (16/12/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/46451

ชนิดของประโยค

ความหมายของประโยค

   ประโยค คือ ถ้อยคำที่มีเนื้อความครบสมบูรณ์ ทำให้รู้ว่าใครทำอะไร เช่น นักเรียนอ่านหนังสือ, ใครมีสภาพอย่างไร เช่น หน้าต่างเปิด, หรือใครรู้สึกอย่างไร เช่น คุณพ่อโกรธ

ส่วนประกอบของประโยค

   ประโยคแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคประธานกับภาคแสดง
   ภาคประธาน คือส่วนสำคัญของข้อความ เพื่อบอกให้รู้ว่าใคร หรือสิ่งใด มักเป็นคำนามหรือสรรพนาม แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ บทประธานและบทขยายประธาน
   ภาคแสดง คือส่วนที่แสดง อาการของภาคประธาน ให้ได้ความหมายครบถ้วน ว่าแสดงอาการอย่างไร แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ บทกริยา บทขยายกริยา บทกรรม และบทขยายกรรม
   ประโยคแต่ละประโยคจะต้องมี บทประธาน  บทกริยา หรือ บทประธาน บทกริยา และบทกรรม ส่วนบทขยายนั้นจะมีหรือไม่มีก็ได้

รูปของประโยค

   เราสามารถแบ่งรูปประโยคได้หลายชนิด ดังนี้

  1. ประโยคบอกเล่า  คือประโยคที่มีใจความเพื่อบอกให้ทราบ ว่าใครทำอะไร ทำที่ไหน ทำอย่างไร เป็นการแจ้งเรื่องราวให้ทราบ หรือบอกเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ฉันเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6,  พ่อของฉันเป็นชาวนา
  2. ประโยคปฏิเสธ  คือประโยคที่มีใจความไม่ตอบรับ มีเนื้อความตรงกันข้ามกับประโยคบอกเล่า มักใช้คำว่า ไม่ ไม่ได้ ไม่ใช่ มิได้ ประกอบ เช่น ฉันไม่ได้ลอกการบ้านเพื่อน  ปากกาด้ามนั้นไม่ใช่ของฉัน
  3. ประโยคคำถาม  คือประโยคที่มีใจความเป็นคำถาม เพื่อต้องการคำตอบ คำที่เป็นคำถามจะอยู่ต้นประโยค หรือท้ายประโยคก็ได้ ประโยคคำถามมี 2 ลักษณะดังนี้
    • ประโยคคำถามที่ต้องการคำตอบรับหรือปฏิเสธ มักมีคำที่ใช้ถามว่า หรือ หรือไม่ ไหน อยู่ท้ายประโยคคำถาม  เช่น
      ถามว่า    เธอชอบอากาศหนาวมากกว่าอากาศร้อนหรือ
      คำตอบคือ ครับผมชอบอากาศหนาวมากกว่าอากาศร้อน
    • ประโยคคำถามที่ต้องการคำตอบเป็นเนื้อความใหม่ มักมีคำที่ใช้ถามว่า  ใคร  อะไร  ที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไร  เหตุใด  เท่าใด  คำเหล่านี้จะอยู่ต้นประโยคหรือท้ายประโยคก็ได้  เช่น
      ถามว่า ใครเป็นเวรทำความสะอาดห้องเรียนในวันนี้
      คำตอบคือ สมบัติเป็นเวรทำความสะอาดห้องเรียนวันนี้ครับ
  4. ประโยคขอร้อง  คือประโยคที่มีข้อความแสดงความต้องการให้ช่วยเหลือในลักษณะต่าง ๆ มักจะมีคำว่าโปรด กรุณา ช่วย วาน อยู่หน้าประโยค และมักจะมีคำว่า หน่อย ซิ นะ อยู่ท้ายประโยค เช่น
    โปรดมานั่งข้างหน้าให้เต็มก่อน 
    กรุณาอย่าจอดรถขวางประตู 
    วานลบกระดานดำให้ครูหน่อย
  5. ประโยคคำสั่ง คือประโยคที่บอกให้บุคคลอื่นทำ หรือไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักจะละประธานไว้  เช่น  
    ห้ามเดินลัดสนาม  
    อย่าคุยกันในห้องเรียน
  6. ประโยคแสดงความต้องการ คือประโยคที่แสดงความอยากได้  อยากมี  อยากเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักมีคำว่าอยาก ต้องการ ปรารถนา ประสงค์ อยู่ในประโยค  เช่น  
    พ่อต้องการให้ฉันเป็นทหาร  
    ฉันอยากเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา  
    พี่ปรารถนาจะให้น้องเรียนหนังสือเก่ง  
    ครูประสงค์จะให้นักเรียนลายมืองาม

ตำแหน่งต่าง ๆ ในประโยค

   ตำแหน่งของประธาน กริยา และกรรม ในประโยคนั้น ตำแหน่งต้นประโยคนับเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เมื่อผู้พูดต้องการกล่าวถึงสิ่งใด หรือเหตุการณ์ใด มักจะกล่าวถึงสิ่งนั้น หรือเหตุการณ์นั้นขึ้นก่อน แล้วจึงกล่าวถึงถ้อยคำขยายความต่อไป เช่น   
ตำรวจจับผู้ร้าย         (ประธานอยู่ต้นประโยค)
ผู้ร้ายถูกตำรวจจับ       (กรรมอยู่ต้นประโยค)
มีระเบิดในกล่อง          (กริยาอยู่ต้นประโยค)

   ฉะนั้นในเรื่องนี้นักเรียนต้องสังเกตดูให้ดี

  • โดยปกติประโยคในภาษาไทยนั้นจะมีประธานอยู่ต้นประโยค ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำ โดยจะมีความสัมพันธ์กับกริยาในประโยค เช่น
    รถยนต์แล่นบนถนน ชาวนาเกี่ยวข้าวในนา ไก่กินข้าวอยู่ในเล้า
    คำ รถยนต์, ชาวนา, ไก่  ซึ่งอยู่ต้นประโยค  ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค
  • แต่เมื่อผู้พูดต้องการกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนเรื่องอื่น กริยาของประโยคจะอยู่ต้นประโยค  เช่น
    เกิดน้ำท่วมที่จังหวัดตราด  ปรากฎการทุจริตขึ้นในห้องสอบ  มียาฆ่าแมลงในผักและผลไม้
    คำ  เกิด  ปรากฏ  มี  ซึ่งอยู่ต้นประโยค ทำหน้าที่เป็นกริยาของประโยค
  • และเมื่อผู้พูดต้องการกล่าวถึง ผลของการกระทำหรือผู้ถูกกระทำก่อนเรื่องอื่น  กรรมจะอยู่ต้นประโยค  เช่น
    พ่อได้รับเชิญให้ไปร่วมในพิธีเปิดอาคารเรียนหลังใหม่  บ้านหลังนี้ถูกไฟไหม้เมื่อปีที่แล้ว เขาถูกตำหนิอย่างรุนแรง
    คำ พ่อ บ้านหลังนี้ เขา ซึ่งอยู่ต้นประโยค ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค
  • ในบางประโยคอาจใช้วลีหรือกลุ่มคำบอกสถานที่หรือบอกเวลาอยู่ต้นประโยค เนื่องจากผู้พูดต้องการเน้นเวลาหรือสถานที่  เช่น
    เวลากลางวันเราจะมองไม่เห็นดวงดาว  (เวลากลางวัน  เป็นกลุ่มคำบอกเวลา) บนทางเท้าไม่ควรตั้งร้านขายของ  (บนทางเท้า  เป็นกลุ่มคำบอกสถานที่)

คำเชื่อม

คำเชื่อมคือคำหรือกลุ่มคำที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำ กลุ่มคำหรือประโยค ได้แก่

  1. คำที่ทำหน้าที่เชื่อมความในประโยคให้สมบูรณ์ ตำแหน่งของคำจะอยู่หน้าคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยา คำเชื่อมชนิดนี้คือ คำบุพบท เช่น ของ แห่ง เพื่อ ใน ที่ แก่ โดย เป็นต้น
    ตัวอย่าง   หนังสืออยู่บนโต๊ะ
    สมุดเล่มนี้เป็นของสมชาย
  2. คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยค คำเชื่อมประเภทนี้คือ คำสันธาน จะปรากฏในประโยคความรวม มีทั้งที่เป็นคำคำเดียว เป็นกลุ่มคำ หรือเป็นคำที่ต้องใช้คู่กับคำอื่น เช่น และ แต่ เพราะ…..จึง หรือ หรือไม่ก็ มิฉะนั้น กว่า…..ก็ ทั้ง…..และ เนื่องจาก…..จึง เป็นต้น
    ตัวอย่าง   เนื่องจากฝนตกหนักน้ำจึงท่วมถนน
    วันหยุดสุดสัปดาห์แม่ชอบไปซื้อของแต่พ่อชอบอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน
  3. คำที่ทำหน้าที่เชื่อมประโยคใหญ่กับประโยคย่อยเข้าด้วยกันกลายเป็นประโยคความ ซ้อนหนึ่งประโยค คำเชื่อมชนิดนี้คือ คำประพันธสรรพนาม ตำแหน่งของคำจะอยู่หน้าประโยคย่อยและอยู่หลังคำนามในประโยคใหญ่ นอกจากจะทำหน้าที่เชื่อมประโยคแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นประธานในประโยคย่อยด้วยได้แก่ ที่ ซึ่ง อัน
    ตัวอย่าง   นักเรียนที่สอบได้คะแนนสูงสุดจะได้รับรางวัล
    (ประโยคใหญ่-นักเรียนจะได้รับรางวัล)
    (ประโยคย่อย-นักเรียนสอบได้คะแนนสูงสุด)
  4. คำที่ทำหน้าที่เชื่อมความในประโยคใหญ่กับประโยคย่อยเข้าด้วยกันกลายเป็น ประโยคความซ้อนหนึ่งประโยค คำเชื่อมชนิดนี้คือ คำประพันธวิเศษณ์ ตำแหน่งของคำจะอยู่หน้าประโยคย่อยและอยู่หลังคำกริยา หรือคำวิเศษณ์ในประโยคใหญ่ นอกจากจะทำหน้าที่เชื่อมประโยคแล้ว ยังทำหน้าที่ขยายคำกริยา หรือคำวิเศษณ์ที่อยู่ข้างหน้าด้วยเช่น ว่า ที่ ซึ่ง อัน เพราะ จน ให้ เป็นต้น

     คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยค ข้อความกับข้อความ เพื่อแสดงความคล้อยตาม ความขัดแย้งเหตุผล หรือเชื่อมความให้สละสลวย หน้าที่ของคำสันธาน 

  1. เชื่อมคำกับคำ
    • ผักกาดและหัวหอมเป็นพืชสวนครัว
    • เธอชอบสีแดงหรือสีส้ม
  2. เชื่อมข้อความกับข้อความ
    • การส่งเสียงดังในห้องสมุดเป็นการกระทำที่ไม่ดีรบกวนผู้อื่นเพราะฉะนั้นจึงต้องมีกฎห้ามส่งเสียงดังติดประกาศไว้
    • คนเราต้องการอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินมาซื้อสิ่งจำเป็นเหล่านี้
  3. เชื่อมประโยคกับประโยค
    • พี่เป็นคนขยันแต่น้องเกียจคร้านมาก
    • เราหวงแหนแผ่นดินไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา
  4. เชื่อมความให้สละสลวย
    • คนเราก็ต้องมีผิดพลาดกันบ้างเป็นธรรมดา
    • ฉันก็เป็นคนจริงคนหนึ่งเหมือนกัน

     ชนิดของคำสันธาน

  1. เชื่อมใจความที่คล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า กับ , และ , ทั้ง…และ ,ทั้ง…ก็ , ครั้น…จึง , พอ…ก็ ฯลฯ
    • ภราดรและแทมมี่เป็นนักกีฬาที่มีความสามารถ
    • พอพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าฝูงนกก็บินกลับรัง
    • ภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งผู้กำกับและนักแสดงได้รับค่าตอบแทสูง
  2. เชื่อมใจความที่เป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่คำว่า จึง , ครั้น…จึง , พอ…ก็ ฯลฯ
    • พอเขากล่าวปาฐกถาทุกคนก็ตั้งใจฟัง
    • ป่าไม้หมดไปโลกจึงเกิดความแห้งแล้ง
    • เขาพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง เนื่องจากฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ
  3. เชื่อมใจความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่คำว่า แต่ , ถึง…ก็ , กว่า…ก็ , แต่ทว่า , แม้…ก็ ฯลฯ
    • สังคมมุ่งพัฒนาด้านวัตถุแต่ด้านจิตใจขาดการสนใจ
    • ถึงฉันจะลำบาก ฉันก็ไม่ยอมทำชั่วเป็นอันขาด
    • แม้เขาจะมีร่างกายไม่แข็งแรง เขาก็มีจิตใจแข็งแกร่ง
  4. เชื่อมใจความที่ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่คำว่า หรือ , หรือไม่ก็ , ไม่เช่นนั้น , มิฉะนั้นก็ , ไม่…ก็ ฯลฯ
    • โรงเรียนในเมืองหรือในชนบทต้องการอาจารย์ผู้มีความรู้
    • ง่วงก็นอนเสียหรือไม่ก็ลุกขึ้นไปล้างหน้า
    • ไม่วันเสาร์ก็วันอาทิตย์เจนจะมาบ้านเรา

ข้อสังเกต

  1. คำสันธานบางคำใช้เข้าคู่กัน เช่น ไม่…ก็ , กว่า…ก็ , เพราะ…จึง , ถึง…ก็ , แม้…ก็ เป็นต้น
  2. คำสันธานอาจอยู่ในตำแหน่งต่างๆในประโยคก็ได้ เช่น
    • อยู่ระหว่างคำ : อีฟชอบสีม่วงและสีขาว
    • อยู่หลังคำ : คนก็ดี สัตว์ก็ดี รักชีวิตด้วยกันทั้งนั้น
    • อยู่คร่อมคำ : ถึงเป็นเพื่อนก็อย่าวางใจ
    • อยู่ระหว่างประโยค : ตูนจะดื่มน้ำส้มหรือดื่มนม
    • อยู่หลังประโยค : เราจะทำบุญก็ตาม บาปก็ตาม ควรคิดถึงผลกรรม
    • อยู่คร่อมประโยค : แม้เต้จะกินมากแต่เต้ก็ไม่อ้วน
  3. ประโยคที่มีคำสันธานนั้นจะแยกออกเป็นประโยคย่อยได้ตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป
  4. คำบางคำเป็นได้ทั้งคำสันธานและคำบุพบท เช่น คำว่า “เมื่อ” ให้พิจารณาว่าถ้าสามารถแยกเป็น 2 ประโยคได้ก็เป็นคำสันธาน เช่น “เมื่อ 16 นาฬิกา อาร์ทได้ออกจากโรงเรียนไปแล้ว” ( เป็นคำบุพบท ) “เมื่อเราได้ยินเสียงระฆัง หมวยได้ออกจากโรงเรียนไปแล้ว” ( เป็นคำสันธาน ) เป็นต้น
  5. คำว่า “ให้” เมื่อนำมาใช้เชื่อมประโยคก็จัดเป็นคำสันธาน เช่น “เขาทำท่าตลกให้เด็กหยุดร้องไห้” เป็นต้น
  6. คำว่า “ว่า” เมื่อนำมาใช้เชื่อมระหว่างประโยคก็จัดเป็นคำสันธาน เช่น “หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่ามีการกวาดล้างพวกมิจฉาชีพครั้งใหญ่” เป็นต้น
  7. คำประพันธสรรพนามหรือคำสรรพนามเชื่อมประโยค คือ คำว่า “ผู้ ที่ ซึ่ง อัน” จัดเป็นคำสันธานด้วย เช่น สตรีผู้มีความงามย่อมเป็นที่สนใจของคนทั่วไป 

คำบุพบท

     คำบุพบท คือ คำที่เชื่อมคำหรือกลุ่มคำให้สัมพันธ์กันและเมื่อเชื่อมแล้วทำให้ทราบว่า คำ หรือกลุ่มคำที่เชื่อมกันนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ได้แก่ ใน แก่ จน ของ ด้วย โดย ฯลฯ 

     หน้าที่ในการแสดงความสัมพันธ์ของคำบุพบท 

  1. แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานที่ เช่น คนในเมือง
  2. แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเวลา เช่น เขาเปิดไฟจนสว่าง
  3. แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของ เช่น แหวนวงนี้เป็นขอฉัน
  4. แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเจตนาหรือสิ่งที่มุ่งหวัง เช่น เขาทำเพื่อลูก
  5. แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับอาการ เช่น เราเดินไปตามถนน 

หลักการใช้คำบุพบทบางคำ 
“กับ” ใช้แสดงอาการกระชับ อาการร่วม อาการกำกับกัน อาการเทียบกัน และแสดงระดับ เช่น ฉันเห็นกับตา
“แก่” ใช้นำหน้าคำที่เป็นฝ่ายรับอาการ เช่น ครูให้รางวัลแก่นักเรียน
“แด่” ใช้แทนตำว่า “แก่” ในที่เคารพ เช่น นักเรียนมอบพวงมาลัยแดอาจารย์
“แต่” ใช้ในความหมายว่า จาก ตั้งแต่ เฉพาะ เช่น เขามาแต่บ้าน
“ต่อ” ใช้นำหน้าแสดงความเกี่ยวข้องกัน ติดต่อกัน เฉพาะหน้าถัดไป เทียบจำนวน เป็นต้น เช่น เขายื่นคำร้องต่อศาล

   คำบุพบท เป็นคำที่ใช้หน้าคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยา เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของคำ และประโยคที่อยู่หลังคำบุพบทว่ามีความเกี่ยวข้องกับคำหรือประโยคที่อยู่ข้าง หน้าอย่างไร เช่น 
ลูกชายของนายแดงเรียนหนังสือไม่เก่ง แต่ลูกสาวของนายดำเรียนเก่ง
ครูทำงานเพื่อนักเรียน
เขาเลี้ยงนกเขาสำหรับฟังเสียงขัน

    ชนิดของคำบุพบท คำบุพบทแบ่งเป็น 2 ชนิด

  1. คำบุพบทที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำต่อคำ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างคำนามกับคำนาม คำนามกับคำสรรพนาม คำนามกับคำกริยา คำสรรพนามกับคำสรรพนาม คำสรรพนามกับคำกริยาคำกริยากับคำนาม คำกริยากับคำสรรพนาม คำกริยากับคำกริยา เพื่อบอกสถานการณ์ให้ชัดเจนดังต่อไปนี้ 
    – บอกสถานภาพความเป็นเจ้าของฉันซื้อสวนของนายฉลอง ( นามกับนาม )
    บ้านของเขาใหญ่โตแท้ๆ ( นามกับสรรพนาม )
    อะไรของเธออยู่ในถุงนี้ ( สรรพนามกับสรรพนาม ) 
    – บอกความเกี่ยวข้อง
    เธอต้องการมะม่วงในจาน ( นามกับนาม )
    พ่อเห็นแก่แม่ ( กริยากับนาม )
    ฉันไปกับเขา ( กริยากับสรรพนาม ) 
    – บอกการให้และบอกความประสงค์
    แกงหม้อนี้เป็นของสำหรับใส่บาตร ( นามกับกริยา )
    พ่อให้รางวัลแก่ฉัน ( นามกับสรรพนาม ) 
    – บอกเวลา
    เขามาตั้งแต่เช้า ( กริยากับนาม )
    เขาอยู่เมืองนอกเมื่อปีที่แล้ว ( นามกับนาม ) 
    – บอกสถานที่
    เธอมาจากหัวเมือง ( กริยากับนาม ) 
    – บอกความเปรียบเทียบ
    เขาหนักกว่าฉัน ( กริยากับนาม )
    เขาสูงกว่าพ่อ ( กริยากับนาม )
  2. คำบุพบทที่ไม่มีความสัมพันธ์กับคำอื่น ส่วนมากจะอยู่ต้นประโยค ใช้เป็นการทักทาย มักใช้ในคำประพันธ์ เช่น ดูกร ดูก่อน ดูรา ช้าแต่ คำเหล่านี้ใช้นำหน้าคำนามหรือสรรพนาม
    ดูกร ท่านพราหมณ์ ท่าจงสาธยายมนต์บูชาพระผู้เป็นเจ้าด้วย
    ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย การเจริญวิปัสสนาเป็นการปฏิบัติธรรมของท่าน
    ดูรา สหายเอ๋ย ท่านจงทำตามคำที่เราบอกท่านเถิด
    ช้าแต่ ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ายินดีมากที่ท่านมาร่วมงานในวันนี้ 

ข้อสังเกตการใช้คำบุพบท 

  1. คำบุพบทต้องนำหน้าคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยาสภาวมาลา เช่น 
    เขามุ่งหน้าสู่เรือน
    ป้ากินข้าวด้วยมือ
    ทุกคนควรซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ 
  2. คำบุพบทสามารถละได้ และความหมายยังคงเดิม เช่น 
    เขาเป็นลูกฉัน ( เขาเป็นลูกของฉัน )
    แม่ให้เงินลูก ( แม่ให้เงินแก่ลูก )
    ครูคนนี้เชี่ยวชาญภาษาไทยมาก ( ครูคนนี้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยมาก) 
  3. ถ้าไม่มีคำนาม หรือคำสรรพนามตามหลัง คำนั้นจะเป็นคำวิเศษณ์ เช่น 
    เธออยู่ใน พ่อยืนอยู่ริม
    เขานั่งหน้า ใครมาก่อน
    ฉันอยู่ใกล้แค่นี้เอง              

ตำแหน่งของคำบุพบท ตำแหน่งของคำบุพบท เป็นคำที่ใช้นำหน้าคำอื่นหรือประโยค เพื่อให้รู้ว่าคำ หรือประโยคที่อยู่หลังคำบุพบท มีความสัมพันธ์กับคำหรือประโยคข้างหน้า ดังนั้นคำบุพบทจะอยู่หน้าคำต่างๆ ดังนี้ 

  1. นำหน้าคำนาม เขาเขียนจดหมายด้วยปากกา เขาอยู่ที่บ้านของฉัน
  2. นำหน้าคำสรรพนาม เขาอยู่กับฉันตลอดเวลา เขาพูดกับท่านเมื่อคืนนี้แล้ว
  3. นำหน้าคำกริยา เขาเห็นแก่กิน โต๊ะตัวนี้จัดสำหรับอภิปรายคืนนี้
  4. นำหน้าคำวิเศษณ์ เขาวิ่งมาโดยเร็ว เธอกล่าวโดยซื่อ 

แบบทดสอบ

ให้นักเรียนอ่านคำถามแล้วตอบคำถามต่อไปนี้   

1. การสื่อสารในข้อใดมีทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร
ก. เมื่ออุษาทราบว่าจะได้ไปพักผ่อนสุดสัปดาห์นี้ ก็รีบเข้าไปจัดของพร้อมทั้งฮัมเพลงไปด้วย
ข. นทีเดินเข้าบ้านมาด้วยความรู้สึกเหนื่อยล้าและล้มตัวลงนั่งที่เก้าอี้ยาวทันที
ค. เสียงอะไรนะดังวี้ดวี้ด แสบแก้วหูเหลือเกิน เดินหาทั่วบ้านแล้วก็ยังไม่พบ
ง. บุรุษไปรษณีย์กดกริ่งเรียกคนในบ้านมารับพัสดุเพราะฝนกำลังตก

2. ข้อใดจัดว่าเป็นประโยค
ก. นกขมิ้นเหลืองอ่อน
ข ดอกส้มบานแล้ว
ค. ข่าวด่วนภาคดึก
ง ดินขุยไฟ

3. ข้อใดไม่จัดว่าเป็นประโยค
ก. นกดุเหว่า คือนกโกกิลา
ข. ต้นมะขามโค่นทับสายไฟฟ้า
ค. ปลาเงินทองแสนสวยในตู้กระจก
ง. ใบไม้หล่นเหลืองไปทั้งสนาม

4. ข้อใดไม่จัดว่าเป็นประโยค
ก. นกกางเขนตัวน้อยบนกิ่งไม้ใกล้หน้าต่าง
ข. เดินเร็วๆ จัดเป็นการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ
ค. วิ่งขึ้นวิ่งลงทำไมเวียนหัวจะตายอยู่แล้ว
ง. เธอชอบกินหนอนไผ่ไหม

5. ประโยคใดกล่าวในลักษณะขอร้องเชิงอ้อนวอน
ก. ไปสิ
ข ไปเถอะน่า
ค. ไปซิน่า
ง ไปเสีย

6. ข้อใดคือลักษณะของประโยคความเดียว
ก. ประโยคที่มีประธานในประโยคเพียงตัวเดียว
ข. ประโยคที่มุ่งกล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว
ค. ประโยคที่มีแต่กริยาสำคัญ เป็นตัวแสดงเท่านั้น ไม่มีส่วนขยาย
ง. ประโยคที่ประกอบด้วยประธาน กริยา หรือประธาน กริยา กรรม 

7. ข้อใดเป็นประโยคความเดียว
ก. ไก่ตกปลาที่สวนหลังบ้าน
ข. นักเรียนที่ตั้งใจเรียนจะสอบได้ดีเสมอ
ค. คุณปู่ที่อยู่พังงาจะเดินทางมากรุงเทพฯ เช้านี้
ง. ประโยคที่ประกอบด้วยประธาน กริยา หรือประธาน กริยา กรรม 

8. ข้อใดเป็นประโยคกริยา
ก. ไฟไหม้ที่ไหนอีกแล้วหรือ
ข. ร้องไห้ไปก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นได้หรอก
ค. ว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด
ง. ปรากฏเหตุการณ์ประหลาดขึ้น ทางภาคเหนือของประเทศไทย

9. ข้อใดเป็นประโยคที่เน้นผู้ถูกกระทำ
ก. น้ำประปาไม่ไหลมาหลายวันแล้ว
ข. ขนมจ้างน้องไม่ชอบรับประทาน
ค. น้ำท่วมจังหวัดแพร่เนื่องจากฝนตกหนัก
ง. ขนมอะไรก็ได้พวกเราไม่เลือกหรอก

10. ข้อใดเป็นประโยคกริยา
ก. เกิดอะไรขึ้นหรือ
ข. เกิดเมื่อไรกันเล่า
ค. เกิดหรือตาย เป็นเรื่องธรรมดา
ง. เกิดมาทำไม ไม่เห็นบอกล่วงหน้า

11. ข้อใดเป็นประโยคความเดียว
ก. น้ำป่าไหลบ่าลงมา ทำให้สะพานข้ามแม่น้ำทรุด
ข. คนขับรถที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรเป็นเหตุให้การเจรจาติดขัด
ค. วิชาญนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษแล้ว
ง. คุณจะนั่งรถไปกับมดหรือแดง

12. ประโยคส่วนใดไม่มีส่วนขยายประธาน
ก. งานตามก๋วยสลากที่วัดเบญจมบพิตร มีพุทธศาสนิกชนสนใจมาก
ข. ใครช้อนปลาทองตัวใหญ่ในตู้โชว์ไป
ค. ต้นมะขามต้นใหญ่ที่สนามหลวงโค่นเสียแล้ว
ง. นงรามธิดาลางสาดหวาน มีอัธยาศัยดีมาก

13. ประโยคใดไม่มีส่วนขยายประธาน
ก. การตื่นนอนแต่เช้าตรู่ เป็นกำไรชีวิต
ข. อากาศยามเช้าสดชื่นเหลือเกิน
ค. ฉันเริ่มต้นวันใหม่อย่างกระฉับกระเฉง
ง. ถ่านไม้ไผ่ เป็นสินค้าที่ขายดีของจังหวัดกาญจนบุรี

14. ข้อใดเป็นประโยคที่ถามเนื่องจากสงสัยหรือได้ยินไม่ถนัด
ก. เธอว่าใครจะมาเป็นผู้จัดการคนใหม่นะ
ข. พวกเราจะไปกับเขาไหมนะ
ค. เธอพูดอะไรนะไม่เห็นเป็นเรื่องเลย
ง. ที่ไหนนะจะดีเท่ากับบ้านเมืองของเรา

15. ประโยคใดมีเจตนาในการส่งสารแตกต่างไปจากข้ออื่น
ก. วันอาทิตย์เธอจะออกเดินทางกี่โมงจ๊ะ
ข. งานแสดงผลิตภัณฑ์ส่งออกไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร
ค. ใครเป็นคนแถลงข่าวที่ทำให้ประเทศเสียหายอย่างมากนะ
ง. เมื่อไรพวกเราจะไปเที่ยวพัทยากันอีกเล่า

16. ประโยคใดมีทั้งส่วนขยายภาคประธานและส่วนขยายภาคแสดง
ก. งานไหว้สาแม่ฟ้าหลวงได้รับความสนใจมาก
ข. ต้นกระถินณรงค์ที่อยู่หน้าโรงเรียนถูกรานกิ่งหมดแล้ว
ค. โสภณนักเรียนตัวอย่างได้รับโล่เกียรติคุณจากสมาคมนักเรียนเก่า
ง. อุบัติเหตุที่สถานีขนส่ง ทำให้การจราจรติดขัดมาก

17. ข้อใดมิใช่ประโยคเน้นกริยา
ก. มีอะไรจะให้เราช่วยบ้าง
ข. มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่
ค. มีใครบ้างไหมที่เห็นใจพวกเรา
ง. มีตาแต่หามีแววไม่

18. ข้อใดเป็นประโยคที่เน้นผู้ถูกกระทำ
ก. ฝูงลิงกำลังวิ่งไล่กันไปมาตามกิ่งไม้
ข. กรงสุนัขนี้คุณพ่อฉันต่อเอง
ค. นกเขาชวาที่มีลายจุดๆ ขันเพราะมาก
ง. เธอชอบรับประทานยำทวายไหม

19. “อ๊ะ! อ๊ะ! อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ” เป็นประโยคที่มีเจตนาในการสื่อสารอย่างไร
ก. บอกเล่า
ข ปฏิเสธ
ค. สั่ง
ง ขอร้อง  

20. ข้อใดไม่จัดว่าเป็นกลุ่มคำ
ก. ดินดำน้ำชุ่ม
ข ดินปนแกลบ
ค. ดินสอพอง
ง ดินปืน

เฉลย 

1.ง  2.ข  3.ค  4.ค  5.ข  6.ข  7.ก  8.ง  9.ข  10.ข 

11.ค 12.ข 13.ค  14.ก  15.ข  16.ค  17.ก  18.ข  19.ค  20.ง

แหล่งอ้างอิง :  

  • http://www.2-teen.com/community/viewthread.php?tid=23888
  • http://nawapat.is.in.th/?md=content&ma=show&id=60
  • http://www.sema.go.th/files/Content/Langqage%20Thai/k4/0011/thai/data_14.html
  • http://www.school.net.th/library/create-web/10000/language/10000-7934.html
  • http://www.st.ac.th/bhatips/tiptest/practice_sentence3.html