สร้างโดย : เบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ จันทร์, 30/03/2552 – 12:32

วันประชาธิปไตย วันที่ 14 ตุลาคม

          ปี 2546 ในโอกาสครบรอบ 30 ปี 14 ตุลา สภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ คุณอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาฯ ได้มีมติเอกฉันท์กำหนด ให้ “วันที่ 14 ตุลาคมทุกปี” เป็น “วันประชาธิปไตย”

        ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีสิทธิเสรีภาพในการออกเสียงหรือแสดงความคิดเห็น แต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกเรียกว่า “วันมหาวิปโยค” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีนักศึกษาและประชาชนมากกว่า 5 แสนคนมาชุมนุม เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ ในสมัยของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร
          โดยในครั้งนั้น ได้มีการเคลื่อนไหว ขับไล่กลุ่มเผด็จการทรราชออกจากอำนาจที่ยึดครองมาหลายสมัย รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ปลดปล่อยนักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง 13 คน ที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหากระทำผิดกฎหมาย ทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นกบฏภายในราชอาณาจักรและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จากนั้นรัฐบาลได้ออกปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ถึง 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยทหารและตำรวจได้ใช้อาวุธ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และแก๊สน้ำตา ยิงใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก
          ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประชาชนที่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมได้ร่วมมือกันต่อสู้ และบางส่วนได้ทำการเผาทำลายอาคาร สถานที่ และยานพาหนะของทางราชการ จนกระทั่งค่ำ สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ประกาศว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งแล้ว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ผู้ชุมนุมยังไม่วางใจ จนค่ำวันที่ 15 ตุลาคม มีประกาศว่า จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ออกนอกประเทศไปแล้ว และมีการแต่งตั้ง พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นผู้อำนวยการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เหตุการณ์จึงสงบ วันที่ 16 ตุลาคม ผู้ชุมนุมและประชาชนก็ออกมาช่วยกันทำความสะอาดถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่างๆที่ได้รับความเสียหาย

          ในเวลาต่อมาได้มีการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้น ที่ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยใช้เวลาก่อสร้างอนุสรณ์สถานถึง 28 ปีด้วยกัน และรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้ลงมติเห็นชอบให้วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันประชาธิปไตย” อันเป็นการรำลึกถึงบุคคลที่ได้เลียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย