โครงงานวิทยาศาสตร์

สร้างโดย : นางสาวลัมภู เขียวเหลือง
สร้างเมื่อ อาทิตย์, 09/11/2008 – 02:07
มีผู้อ่าน 421,950 ครั้ง (12/10/2022)

http://www.thaigoodview.com/node/17849

โครงงานวิทยาศาสตร์ คือ อะไร ? 

       เมื่อนักเรียนมีปัญหาหรือข้อสงสัยอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา นักเรียนนำปัญหานั้นไปทดลอง ศึกษา แก้ปัญหา โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการค้นคว้าหรือทดลองจนได้คำตอบ แล้วนำผลงานมาเสนอ การศึกษาดังกล่าวนี้  เรียกว่า โครงงานวิทยาศาสตร์

ประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์

  1. ประเภทสำรวจรวบรวมข้อมูล
  2. ประเภททดลอง
  3. ประเภทสิ่งประดิษฐ์
  4. ประเภททฤษฎี 

1. โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสำรวจรวบรวมข้อมูล

       โครงงานประเภทนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ตามความสนใจของผู้เรียน เมื่อได้ข้อมูลต่าง ๆ แล้วนำมาจำแนกเป็นหมวดหมู่ และนำเสนอผลการสำรวจ ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งมีรูปแบบการทำโครงงานดังนี้
       1. การเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อการนำเสนอได้ทันที โดยไม่ต้องมีการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น

  • การศึกษาทิศทางและอัตราเร็วของลมในท้องถิ่นต่าง ๆ 
  • การศึกษาพฤติกรรมการใช้วัสดุทำรังของนกปากห่าง
  • การศึกษาปริมาณไรแดงที่เพิ่มขึ้นในบ่อเลี้ยงปลาคราฟ

       2. การเก็บรวบรวมวัสดุจากภาคสนาม แล้วนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เนื่องจาก ในการเก็บข้อมูลภาคสนาม บางประการ ไม่สามารถจะนำเสนอได้ทันที ต้องมีการวิเคราะห์จากเครื่องมือ หรือสารเคมีบางอย่าง ในห้องปฏิบัติการก่อน จึงสามารถนำมา จำแนกเป็นหมวดหมู่ได้ เช่น

  • การศึกษา การใช้ผงชูรสของแม่ค้า ที่จำหน่ายอาหารภายในวิทยาลัยฯ แห่งหนึ่ง ซึ่งการที่จะจำแนกว่า เป็นผงชูรสที่มีบอแร๊กซ์เจือปน หรือไม่นั้น ต้องทำการทดสอบ ในห้องปฏิบัติการ เช่นการเผา การใช้กระดาษขมิ้นทดสอบ เป็นต้น
  • การศึกษาคุณภาพด้านต่าง ๆ ของน้ำ เช่น ความขุ่น ความเป็นกรด เบส ค่า BOD 
  • การศึกษาค่า pH ของดินในแต่ละพื้นที่ เช่นแหล่งเกษตรกรรม ย่านอุตสาหกรรม หรือที่รกร้างว่างเปล่าเป็นต้น

       3. การจำลองแบบธรรมชาติขึ้นในห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลเรื่องที่สนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำการจำลองธรรมชาติเพื่อศึกษาเป็นกรณีเฉพาะได้ เช่น

  • การศึกษาวัฏจักรชีวิตของพืชและสัตว์บางชนิด
  • การศึกษาพฤติกรรมของสัตว์บางชนิด

2. โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททดลอง

       โครงงานประเภทนี้ ถึงแม้ว่าในบางครั้ง จะมีการทดลอง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการก็จริง แต่เป็นเพียงทำการทดสอบ เพื่อรวบรวมข้อมูล ไม่มีการเปรียบเทียบชุดการทดลอง และชุดควบคุม จึงไม่จัดเป็นโครงงานประเภททดลอง เป็นเพียงโครงงานประเภทสำรวจข้อมูล

       โครงงานประเภทนี้ เป็นการหาคำตอบ ด้วยวิธีการออกแบบการทดลอง เพื่อศึกษาผลของตัวแปร โดยกำหนดกลุ่มทดลอง (treatment) และกลุ่มควบคุม (control) เพื่อเปรียบเทียบผล ที่เกิดขึ้น กับกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม ซึ่งขึ้นตอนการดำเนินงาน คือ 
       1. การกำหนดปัญหา
       2. การตั้งสมมติฐาน
       3. การออกแบบการทดลอง
       4. การดำเนินการทดลอง
       5. สรุปและอภิปรายผล

       โครงงานประเภทนี้ ในบางครั้ง อาจจำเป็นต้องทำการทดลอง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นเสียก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลบางประการ มาใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อกำหนดรายละเอียด สำหรับการศึกษาค้นคว้าต่อไป และสิ่งสำคัญของการทำโครงงาน ให้เกิดความคลาดเคลื่อน หรือให้เกิดความน่าเชื่อถือ มากหรือน้อย คือการกำหนดตัวแปร สำหรับการทดลอง ซึ่งตัวแปรแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
       ตัวแปรต้น หรือตัวแปรอิสระ (Independent Variable) คือ สิ่งหรือปัจจัย ที่เป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดผลต่าง ๆ ที่เราต้องการศึกษา ทดลองดูว่า เป็นสาเหตุ ที่ก่อให้เกิดผลเช่นนั้น จริงหรือไม่
       ตัวแปรตาม (Dependent Variable) คือ สิ่งที่เป็นผล เนื่องจากตัวแปรต้น เมื่อตัวแปรต้น ที่เป็นสาเหตุเปลี่ยนไป ตัวแปรตามหรือผล
ก็จะเปลี่ยนไปด้วย
       ตัวแปรควบคุม (Controlled Variable) คือ สิ่งหรือปัจจัย นอกเหนือจากตัวแปรต้น ที่จะส่งผลต่อการทดลอง ซึ่งจะต้องควบคุมให้เหมือนกัน เพื่อมิให้ส่งผลต่อตัวแปรตามซึ่งจะทำให้ผลการทดลอง คลาดเคลื่อนได้

3. โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์

       โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงาน ที่มีการประยุกต์ทฤษฎี หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ หรืออุปกรณ์ เพื่อประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงของเดิม ที่มีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็ได้
       โครงงานประเภทนี้ ต้องมีการกำหนดตัวแปรต่าง ๆ เหมือนโครงงานประเภทการทดลอง ซึ่งส่วนมาก มักกำหนดตัวแปรต้น หรือตัวแปรอิสระ เป็นชนิดของวัสดุ อุปกรณ์ที่เหมาะสม ลักษณะการทำงาน ตัวแปรตาม มักจะกำหนดเป็นคุณภาพ หรือประสิทธิภาพของสิ่งประดิษฐ์นั้น ๆ เช่น 

  • การศึกษาความเหมาะสม ของรูปทรงของเครื่องฟักไข่นกกระทา ตัวแปรต้น ได้แก่ เครื่องฟักไข่ ที่ทำจากวัสดุเหมือนกัน แต่รูปทรงต่างกัน ตัวแปรตาม ได้แก่ค่าร้อยละ ของไข่นกกระทา ที่ฟักออกเป็นตัว
  • การศึกษา ระดับจำนวนรอบของเครื่องล้างแห้วอัตโนมัติ ตัวแปรต้น ได้แก่ระดับการหมุนของเครื่อง ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ช้าปานกลาง และ เร็ว ตัวแปรตาม คือความสะอาดของแห้วที่ล้าง เป็นต้น

       โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์นี้ อาจมีลักษณะเป็นแบบจำลองก็ได้ แต่ต้องแสดงให้เห็น ถึงการทำงานของแบบจำลองนั้นจริง ๆ โครงงานประเภทนี้ นับได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้งาน หรือใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง จึงนับได้ว่าเป็นโครงงานในขั้นพัฒนา และเป็นที่สนใจของทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นอย่างมาก

4. โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททฤษฎี

       โครงงานประเภททฤษฎี เป็นโครงงาน ที่ผู้ทำโครงงาน จะต้องศึกษารวบรวมข้อมูล ความรู้ หลักการ ข้อเท็จจริง และแนวความคิดต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง แล้วเสนอเป็นหลักการ แนวความคิดใหม่ กฎ หรือทฤษฎีใหม่ หรือเป็นการขยายแนวความคิด หรือคำอธิบายเดิม ที่เคยมีอยู่ให้ผู้อื่นได้เกิดความรู้และความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งการนำเสนอ อาจอยู่ในรูปของคำอธิบาย สูตร สมการ โดยผู้เสนอจะเป็นผู้ที่ตั้งกฎ หรือกติกาขึ้นมาเอง แต่ต้องมีข้อมูลหรือทฤษฎีต่าง ๆ มาสนับสนุนอ้างอิง
       โครงงานประเภทนี้ ค่อนข้างยากที่นักเรียนจะศึกษา เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านความรู้ การศึกษาของนักเรียน อาจคิดว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักเรียน แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่มีผู้ศึกษาค้นพบ ไว้ก่อนหน้านี้ก็ได้

ขั้นตอนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ มีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้ 

  1. ขั้นการคิดหรือเลือกหัวข้อ หรือปัญหาที่จะทำโครงงานวิทยาศาสตร์
  2. ขั้นการศึกษาค้นคว้าเอกสารและข้อมูล
  3. ขั้นการเขียนเค้าโครงย่อ
  4. ขั้นการลงมือทำโครงงาน
  5. ขั้นเขียนรายงาน
  6. ขั้นการเสนอและจัดแสดงผลงาน

การเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์  

  1. ส่วนนำ ประกอบด้วย
    1. ชื่อโครงงาน ชื่อผู้จัดทำโครงงาน ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
    2. คำขอบคุณ หรือ กิตติกรรมประกาศ
    3. บทคัดย่อ
  2. บทที่ 1 บทนำ ประกอบด้วย
    1. ที่มาและความสำคัญของปัญหา (ดูส่วนที่อธิบายการเขียนเค้าโครงงาน)
    2. วัตถุประสงค์ของโครงงาน
    3. ขอบเขตของการศึกษา
    4. ตัวแปรในการศึกษา( ถ้ามี )
    5. สมมติฐาน ( ถ้ามี )
    6. นิยามเชิงปฏิบัติการ หรือนิยามศัพท์เฉพาะ
  3. บทที่  2  เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  4. บทที่ 3  วิธีการดำเนินงานหรือวิธีการทดลอง ประกอบด้วย
    1. วัสดุ อุปกรณ์ / สารเคมี
    2. วิธีการทดลอง / ขั้นตอนการดำเนินงาน
  5.  5.  บทที่ 4  ผลการทดลอง / ผลการดำเนินงาน
  6. 6.  บทที่ 5  วิจารณ์ผลการทดลองและสรุปผล  ประกอบด้วย
    1. วิจารณ์ผลการทดลอง
    2. สรปุผลการทดลอง
    3. ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงงาน
    4. ข้อเสนอแนะ
  7. เอกสารอ้างอิง หรือ บรรณานุกรม
  8. ภาคผนวก

ตัวอย่างบทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

หัวข้อโครงงาน           สด สวย ด้วยขุยกาบมะพร้าว
ผู้จัดทำ       1.  เด็กหญิงบุษราคัม  แก้วจันทร์
                  2.  เด็กหญิงวรรณพร  นิ่มคำ
                  3.  เด็กหญิงอรญา  ซังแย้ม
อาจารย์ที่ปรึกษา        ครูลัมภู  เขียวเหลือง
บทคัดย่อ
       โครงงานวิทยาศาสตร์   เรื่อง  สด สวย ด้วยขุยกาบมะพร้าว จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาการทำโอเอซิสจากขุยกาบมะพร้าว เนื่องจากโอเอซิสที่มีขายตามท้องตลาดมีราคาแพงและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโฟมซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยากก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม จากการทดลองพบว่าอัตราส่วนของขุยมะพร้าว ต่อดินเหนียว ต่อน้ำ ในอัตราส่วน 3 : 2 : 10 เป็นอัตราส่วนที่ดีที่สุดที่สามารถทำให้ดอกไม้คงความสดอยู่ได้ นานเป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยไม่เหี่ยว และเมื่อนำไปทดสอบเปรียบเทียบกับโอเอซิสที่มีขายตามท้องตลาดพบว่า ในเวลา 24 ชั่วโมง เท่ากัน ให้ผลการทดลองที่ใกล้เคียงกัน แต่หลังจาก 24 ชั่วโมง ไปแล้วโอเอซิสที่มีขายตามท้องตลาดให้ผลการทดลองที่ดีกว่า และเมื่อนำโอเอซิสที่ผ่านการใช้แล้วมาทดลองใช้ใหม่พบว่าโอเอซิสที่ผลิตได้ให้ผลการทดลองที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมแต่โอเอซิสที่มีขายตามท้องตลาดมีประสิทธิภาพต่ำลงกว่าเดิม จึงสรุปได้ว่าถ้าต้องการรักษาความสดของดอกไม้ ( จากการทดลองใช้ดอกกุหลาบ )ในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมงสามารถใช้โอเอซิสจากขุยกาบมะพร้าวแทนโอเอซิสที่มีขายตามท้องตลาดได้เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกันแต่โอเอซิสจากขุยกาบมะพร้าวย่อยสลายได้ง่ายกว่าและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

หัวข้อโครงงาน           การแบ่งเซลล์แบบไมโทซิสของปลายรากหอมด้วยสีย้อมจากข้าวเหนียวดำ
ผู้จัดทำ       1. เด็กหญิงจิราภรณ์  ทองโตนด
                  2. เด็กหญิงอภินันท์   เป้ก้า
                  3. นางสาววาสนา   จันทร์เทศ
อาจารย์ที่ปรึกษา      ครูลัมภู  เขียวเหลือง
บทคัดย่อ
       โครงงานวิทยาศาสตร์   เรื่อง  การแบ่งเซลล์แบบไมโทซิสของปลายรากหอมด้วยสีย้อม จากข้าวเหนียวดำ จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาการสกัดสีย้อมโครโมโซมจากดอกอัญชัน  เมล็ดผักปลัง  ข้าวเหนียวดำ และสีผสมอาหาร  เนื่องจากสีย้อมโครโมโซมที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีราคาแพงและหาซื้อได้ยาก  จากการทดลองพบว่าสีย้อมโครโมโซมที่สกัดจากข้าวเหนียวดำและน้ำมะนาว ในอัตราส่วน  1 : 1  ให้คุณภาพของสีย้อมโครโมโซมเทียบเท่ากับสี acetoorcein ซึ่งเป็นสีย้อมโครโมโซมที่ใช้ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทั่วๆไป  นอกจากนั้นยังศึกษาระยะเวลาในการเพาะรากหอมเพื่อให้ได้ปลายรากหอมที่เห็นระยะต่างๆของการแบ่งเซลล์แบบ ไมโทซิสได้ชัดเจนที่สุด พบว่าการเพาะรากหอมเป็นเวลา  5 วันจะให้ผลการทดลองที่เห็นการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิสได้ชัดเจนที่สุด

หัวข้อโครงงาน           บอร์ดจากเปลือกข้าวโพด
ผู้จัดทำ       1.  เด็กหญิงอภิชญา  น้อยเจริญ
                  2.  เด็กหญิงหทัยชนก  ขำแย้ม
                  3.  เด็กหญิงเกษิตา  มะโนสอน
อาจารย์ที่ปรึกษา      ครูลัมภู  เขียวเหลือง
บทคัดย่อ
       โครงงานวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เรื่อง บอร์ดจากเปลือกข้าวโพด จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาวิธีการทำบอร์ดจากเปลือกข้าวโพด จากการทดลองพบว่าสามารถผลิตบอร์ดจากเปลือกข้าโพดได้ โดยอัตราส่วนที่ดีที่สุดที่ทำให้ได้ บอร์ดที่มีคุณภาพดี กล่าวคือ มีน้ำหนักเบา มีความเหนียวและความยืดหยุ่นดี สามารถติดกาวได้สนิท และเย็บด้วยแม็กยิงได้แน่น ไม่หลุดร่วง ได้แก่ บอร์ดที่มีส่วนผสมของ เปลือกข้าวโพด  80 กรัม  ขุยมะพร้าว 40 กรัม  เปลือกส้มโอ 80 กรัม  และกาวลาเทกซ์ 300  กรัม หรือ อัตราส่วนของเปลือกข้าวโพด : ขุยมะพร้าว : เปลือกส้มโอ : กาวลาเทกซ์  เป็น 2 : 1 : 2 : 7.5

หัวข้อโครงงาน       สารกำจัดกลิ่นในตู้เย็น
ผู้จัดทำ       1. เด็กหญิงอรญา  ซังแย้ม
                  2. เด็กหญิงวิชุดา  โฉมห่วง
                  3. เด็กชายพิษณุ  ใจเย็น
อาจารย์ที่ปรึกษา    ครูลัมภู   เขียวเหลือง
บทคัดย่อ
       โครงงานวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ เรื่อง สารกำจัดกลิ่นในตู้เย็น จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาการทำผงดับกลิ่นในตู้เย็นและศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการกำจัดกลิ่นของผงดับกลิ่น โดยมีวิธีการศึกษา คือ  
ตอนที่ 1 จากการศึกษาชนิดของสารกำจัดกลิ่นโดยการ นำสารทั้ง 6 ชนิด ได้แก่    ผงถ่าน ใบชา กาแฟ ขุยมะพร้าว ผงฟู และแกลบข้าว มาทดสอบกำจัดกลิ่นในตู้เย็น พบว่าสารที่สามารถกำจัดกลิ่นได้ดีที่สุด คือ ถ่าน ขุยมะพร้าว และใบชา ตามลำดับ
ตอนที่ 2 จากการนำสารที่ดีที่สุด 3 อันดับแรกในการกำจัดกลิ่นในตอนที่ 1  มาผสมกัน ในอัตราส่วน 1 : 1  พบว่า สารในสูตรที่ 1 ได้แก่ ผงถ่าน 20 กรัม ผสม ขุยมะพร้าว 20 กรัม กำจัดกลิ่นได้ดีที่สุด รองลงมา คือสูตรที่ 2  ขุยมะพร้าว 20 กรัม ผสม ใบชา 20 กรัม และ สูตรที่ 3 ผงถ่าน 20 กรัม ผสม ใบชา 20 กรัม
ตอนที่ 3 จากการศึกษาอัตราส่วนที่ดีที่สุดในการกำจัดกลิ่นในตู้เย็น ระหว่าง ผงถ่านกับ ขุยมะพร้าว พบว่าคือ อัตราส่วนที่ดีที่สุดในการกำจัดกลิ่นในตู้เย็น คือ สูตรที่ 2  ใช้ผงถ่าน 20 กรัม ผสม ขุยมะพร้าว 30 กรัม
จากการทดลองทั้ง 3 ตอน สรุปได้ว่าสารกำจัดกลิ่นในตู้เย็นที่ดีที่สุด คือ อัตราส่วนของผงถ่านต่อขุยมะพร้าว เป็น 2 : 3

ตัวอย่างรูปเล่มรายงานฉบับเต็ม   

บทที่ 1
บทนำ

ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
       วัชพืชหรือหญ้าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้พืชเจริญเติบโตช้าลง ส่งผลให้ผลผลิตช้าลงไปด้วย เนื่องจากเป็นตัวการในการแย่งน้ำ แย่งอาหาร แย่งเนื้อที่ในการขยายตัวของระบบราก นอกจากนั้นแล้วถ้าวัชพืชในที่ที่ไม่เหมาะสมจะทำให้สถานที่ต่างๆมีวัชพืชขึ้นเต็มไปหมดทำให้เกิดความรกรุงรังนอกจากนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ทำให้มีสัตว์มีพิษ เช่น งู เข้าไปอาศัยอยู่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อชีวิต แต่การกำจัดวัชพืชหรือหญ้าที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือการฉีดพ่นด้วยยาฆ่าหญ้าซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลเร็ว  มีประสิทธิภาพ แต่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อผู้ใช้เองและคนรอบข้าง เนื่องจากความรุนแรงของพิษยาฆ่าหญ้านั้นก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านคุณภาพของดิน น้ำ และอากาศ ดังนั้นกลุ่มผู้ทดลองจึงมีแนวคิดว่าการกำจัดวัชพืชโดยหลีกเหลี่ยงการใช้ยาฆ่าหญ้าหรือลดปริมาณการใช้ยาฆ่าหญ้าให้เหลือน้อยที่สุดน่าจะเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ ผู้ทดลองจึงคิดทำโครงงานนี้ขึ้นมา

วัตถุประสงค์
1. เพื่อผลิตยาฆ่าหญ้าจากน้ำหมักชีวภาพ
2. เพื่อนำยาฆ่าหญ้าผลิตได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
1.  ศึกษาการทำน้ำหมักชีวภาพ
2.  ศึกษาการทำยาฆ่าหญ้าจากน้ำหมักชีวภาพ
3.  ศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพของยาฆ่าหญ้าจากน้ำหมักชีวภาพ

ระยะเวลาการศึกษาค้นคว้า
20  พฤษภาคม –  3 ตุลาคม  2551

ตัวแปรในการศึกษาค้นคว้า
ตัวแปรต้น    น้ำหมักชีวภาพ
ตัวแปรตาม   ประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพ
ตัวแปรที่ต้องควบคุม       1. พื้นที่ในการกำจัดวัชพืช
                                     2. ปริมาณน้ำยาในการกำจัดวัชพืช

สมมติฐานในการศึกษาค้นคว้า
น้ำหมักชีวภาพสามารถฆ่าหญ้าได้  

บทที่ 2
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

       ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวภาพกำจัดพืช ในครั้งนี้ผู้ทดลองได้ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำความรู้  ข้อมูลมาเป็นแนวทางในการดำเนินการทำโครงงาน ดังนี้

1. การแบ่งประเภทวัชพืช
       1.1 วัชพืชใบแคบ
       1.2 วัชพืชประเภทกก
       1.3 วัชพืชใบกว้าง
       1.4 วัชพืชประเภทสาหร่าย
       1.5 วัชพืชประเภทเฟิร์น

       วัชพืชใบแคบหรือวัชพืชตระกูลหญ้า มีลักษณะที่สำคัญคือ ใบมีลักษณะ เรียวยาว เส้นใบขนาน มีลิ้นใบ (ligule) ลำ ต้นกลมกลวง มีข้อและปล้อง มีทั้งวัชพืชอายุปีเดียว และหลายปี ได้แก่  
หญ้าขน  หญ้าตีนติด  หญ้ารังนก   หญ้าตีนนก  หญ้าปากควาย หญ้านกสีชมพู หญ้าข้าวนก, หญ้าคอมมิวนิสต์  หญ้าตีนกา หญ้าปากคอก  หญ้าปล้อง  หญ้าคา  หญ้าดอกขาว หญ้าโขย่ง หญ้าโป่งคาย  หญ้าขจรจบดอกเล็ก หญ้าคอมมูนิสต์ หญ้าพม่า หญ้าขจรจบดอกใหญ่ หญ้าคอมมูนิสต์ หญ้าพม่า  หญ้าขจรจบดอกเหลือง  หญ้าชันอากาศ

ความเสียหายอันเนื่องมาจากวัชพืช
1. ความเสียหายด้านการเพาะปลูกพืช
       1.1 วัชพืชทำ ให้ผลผลิตพืชลดลง เนื่องจากเป็นตัวการแย่งนํ้า ธาตุอาหาร แสงสว่าง และแก่งแย่งเนื้อที่ในการขยายตัวของระบบราก หรือทรงพุ่มจากพืชปลูก ทำให้พืชปลูกเจริญเติบโตช้า และให้ผลผลิตลดลง
       1.2 วัชพืชทำ ให้คุณภาพผลผลิตลดลง ในการเพาะปลูกพืชที่มีวัชพืชขึ้นแข่งขันมากจะทำ ให้ผลผลิตมีขนาดผล ขนาดหัวเล็กลง ในการเก็บเกี่ยวพืชหลายอย่างถ้ามีวัชพืชปะปนไปด้วย จะทำให้ผลผลิตเสียคุณภาพไป และมีราคาผลผลิตตกตํ่า
       1.3 วัชพืชเป็นแหล่งอาศัยของศัตรูพืชหลายอย่าง เช่น โรค แมลง ไส้เดือนฝอยเมื่อพืชปลูกเก็บเกี่ยวไป ศัตรูพืชเหล่านั้นจะไปอาศัยอยู่กับวัชพืช จนกว่าจะถึงฤดูปลูกครั้งต่อไปศัตรูพืชนั้น ๆ ก็จะไปทำ ความเสียหาย แก่พืชปลูกต่อไป
       1.4 วัชพืชทำ ให้การเข้าไปปฏิบัติงานในแปลงปลูกพืชไม่สะดวก เช่น การใส่ปุ๋ย การฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชและการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะวัชพืชที่มีต้นสูง ใบคมและมีหนาม นอกจากนี้วัชพืชหลายชนิดทำ ให้เกิดอาการคันหรือเป็นผื่น
       1.5 วัชพืชจำ พวก parasite สามารถแย่งนํ้าและธาตุอาหารจากพืชปลูก โดยมีส่วนที่เรียกว่า haustorium ทะลวงเข้าไปในส่วนของพืชทำ ให้พืชปลูกแคระแกร็น หรือตายได้ เช่น กาฝาก  ฝอยทองในสวนผลไม้ หญ้าแม่มดในไร่ข้าวโพด
2. ความเสียหายด้านการประมง
วัชพืชเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงสัตว์นํ้า เช่น การเลี้ยงกุ้ง ปลา ดังนี้
       2.1 วัชพืชทำ ให้นํ้าตื้นเขินเพาะเมื่อมีวัชพืชนํ้าจะตกตะกอน และทับถมทำ ให้ตื้นเขินเช่นสาหร่ายต่างๆ
       2.2 วัชพืชทำ ให้นํ้าเสียได้ เพราะจะมีบางส่วนตายและทับถมบริเวณผิวดิน ทำให้นํ้าเสียและปลาอาจตายได้ เช่น จอก
       2.3 วัชพืชทำ ให้สัตว์นํ้าขาดออกซิเจนสำหรับหายใจ เช่น กรณีที่มีผักตบชวาขึ้นมากปลาอาจตายได้
       2.4 วัชพืชเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อื่น ๆ ที่กินปลาเป็นอาหาร เช่น งูกินปลา ปลาช่อนที่เป็นศัตรูของปลาเลี้ยง ทำ ให้กำ จัดได้ลำบาก
       2.5 วัชพืชเป็นอุปสรรคต่อการจับสัตว์นํ้าทำ ให้จับได้ไม่หมด
3. ความเสียหายด้านการเลี้ยงสัตว์
       ในอาหารสัตว์จะมีปัญหาจากวัชพืชที่นำ มาใช้เป็นอาหารสัตว์ทำ ให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ คือทำ ให้สัตว์ที่กินเข้าไปเป็นโรค scouring เช่น แพงพวย วัชพืชบางชนิดมีสารพิษ พวก cyanide เมื่อสัตว์กินเข้าไปทำ ให้กล้ามเนื้อสั่น หายใจลึก เช่น หญ้าตีนกา ในบ้านเรา รำ เพยซึ่งเป็นไม้ประดับชนิดหนึ่ง ทุกส่วนของลำ ต้นมียางขาวเป็นพิษ วัวควายกินเข้าไป 5-6 ใบทำ ให้ตายได้
4. ความเสียหายด้านการคมนาคม
       วัชพืชเป็นอุปสรรคด้านการคมนาคมทั้งทางนํ้าและทางบก ในแม่นํ้าลำคลองที่ใช้เป็นที่สัญจรทางเรือ มักพบว่ามีผักตบชวากีดขวางทาง ทำ ให้ต้องมีการรณรงค์กำ จัดผักตบชวาอยู่เป็นประจำสำหรับการคมนาคมทางบก วัชพืชที่ขึ้นริมทางหลวงแผ่นดิน เช่น หญ้า ขจรจบ หญ้าพง หญ้าสาบเสือ มีต้นสูง ทำ ให้รก และอาจทำ ให้เกิดอุบัติเหตุได้ รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำ จัดวัชพืชเหล่านี้ปีละไม่น้อย
5. ความเสียหายด้านสาธารณสุข
       มีรายงานว่า ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักจะเป็นโรคนิ่วในทางเดินปันสาวะกันมาก สาเหตุของโรคประการหนึ่งคือ การรับประทานผักพื้นเมืองที่มีผลึกแคลเซียมออกซาเลทสูง ในปริมาณมาก และจำ เจ ผักพื้นเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นวัชพืชด้วย เช่น ผักแพว โสน สันตะวาใบพายเป็นต้น นอกจากนี้วัชพืชยังเป็นที่หลบซ่อนอาศัยของโรค แมลง สัตว์ ซึ่งเป็นสาเหตุหรือพาหะนำ โรคมาสู่คนด้วย
6. ความเสียหายด้านอื่น ๆ เช่น ด้านความปลอดภัยของประชาชน จากภัยมืดเพราะเป็นที่หลบซ่อนของโจรผู้ร้าย นอกจากนี้ยังอาจทำ ให้เกิดไฟไหม้และอากาศเสียจากควันไฟ

ประเภทของหญ้าฆ่าหญ้า
1. ยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึม  เช่น ซิลลิค 48 (ZUELLIG 48)  ฟิวโก้ (FUEGO) เอจิล (AGIL)
ดาต้า (DATA)  ไกลโฟเสต 48
2. ยาฆ่าหญ้าแบบเลือกทำลาย  เช่น เอจิล (AGIL)
3. ยาฆ่าหญ้าชนิดเผาไหม้  เช่น  กรัมม๊อกโซน  ฟิวโก้ (FUEGO)

ไกลโฟเสต 48
ชื่อสามัญ : ไกลโฟเซต ไอโซโพรพิล แอมโมเนียม
ทะเบียนวัตถุอันตรายเลขที่    2487/2545
กลุ่มสารเคมี: Glycine derivative
สารสำคัญ : N-(phosphonomethyl) glycine,
isopropylamine salt……………………………48% W/V SL
(N-(phosphonomethyl) glycine……………………36% W/V)

ประโยชน์และวิธีใช้ ไกลโฟเซต 48 ใช้หลังวัชพืชงอก (post-emergence)ในพื้นที่ทำการเกษตร
และพื้นที่ไม่ได้ทำการเกษตร เพื่อกำจัดวัชพืชที่งอกจากเมล็ด และวัชพืชข้ามปี ดังนี้
วัชพืชข้ามปี เช่น หญ้าคา  แห้วหมู ไมยราบยักษ์ อัตราการใช้ 500-1,000 ซีซี.ผสมน้ำ 60-80 ลิตร พ่นบนพื้นที่ 1 ไร่  หรือ 125-250 ซีซี. ผสมน้ำ 15-20 ลิตร พ่นบนพื้นที่ 1 งาน 
วัชพืชอื่นๆ  อัตราการใช้ 350-500 ซีซี.  ผสมน้ำ 60-80 ลิตร    พ่นบนพื้นที่  1 ไร่  หรือ 87.5-125 ซีซี. ผสมน้ำ 15-20 ลิตร พ่นบนพื้นที่ 1 งาน    
ภาวะเป็นพิษจากการกินยาฆ่าหญ้า (Paraquat poisoning)
Paraquat เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชในกลุ่ม dipyridil ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลาย ชี่อทางการค้ามักจะลงท้ายด้วย -xone เช่น Gramoxone(R)
paraquat เป็นของเหลวมีสีน้ำเงินเข้ม
พิษจลนศาสตร์
paraquat จะถูกดูดซึมอย่างช้าๆ ในทางเดินอาหาร และผิวหนังปกติจะดูดซึม paraquat ได้น้อย ยกเว้นถ้าผิวหนังมีแผลการดูดซึมจะมากขึ้นจนทำให้เกิดการเป็นพิษได้ paraquat จะถูกดูดซึมเข้าไปในเลือด หลังจากนั้นจะกระจายไปอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ตับ ไต และปอด เป็นต้น ในภาวะไตปกติ paraquat จะถูกขจัดออกทางไตเกือบทั้งหมด ภาวะเป็นพิษจาก paraquat มักจะมีไตวายร่วมด้วยทำให้ขับถ่ายสารพิษนี้ออกจากร่างกายไม่ได้
กลไกการเป็นพิษ
ประการแรก paraquat มีฤทธิ์ caustic ซึ่งสามารถกัดผิวหนังและเนื้อเยื่อจนเป็นแผล
ประการที่สอง paraquat จะทำปฏิกิริยากับ oxygen ในร่างกายทำให้เกิด nascent oxygen ซึ่งไป oxidize เนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหาย ปริมาณที่อาจจะทำให้ถึง แก่ชีวิตคือ ความเข้มข้น 20% ปริมาณ 10-15 ml อาการแสดง
หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับสาร paraquat เข้าไปในร่างกายแล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการอาเจียน เนื่องจากในปัจจุบันสาร paraquat ที่ขายตามท้องตลาดมียาทำให้อาเจียนผสมอยู่ด้วย เพื่อลดการเป็นพิษของสารนี้ ภายใน 24 ชั่วโมงแรกผู้ป่วยจะมีอาการทางทางเดินอาหารส่วนต้น เนื่องจากฤทธิ์ระคายเคืองของ paraquat ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย นอกจากนี้จะมีแผลบวมแดงในปาก ซึ่งจะเป็น patch ขาวปกคลุมบริเวณแผล ในรายที่เป็นมากอาจจะมีอาการของหลอดอาหารแตก (rupture of esophagus) อากาศรั่ว ออกไป ทำให้มีอาการแทรกซ้อน คือ มีลมในช่องทรวงอกตรงกลาง (pneumomediastinum) , ลมในช่องเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) และ ลมใต้ผิวหบัง (subcutaneous emphysema) ภายใน 1-4 วันผู้ป่วยจะมีอาการตามระบบจาก paraquat คือมีไตวายจากเซลล์ท่อไตตายเฉียบพลัน (acute tubular necrosis) ทำให้คนไข้มีอาการปัสสาวะน้อย และมีอาการจากภาวะของเสียคั่ง (uremia) นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการของพิษต่อตับโดยเกิดการทำลายเซลล์ตับ (hepatocellular damage) ทำให้เอนไซม์ของตับ (SGOT, SGPT) สูงขึ้นเป็นพันได้ หลังจากนั้นประมาณวันที่ 3-14 อาการทางไตและตับมักจะดีขึ้น แต่คนไข้จะมีอาการของระบบหายใจล้มเหลว (progressive respiratory failure) ซึ่งเกิดจาก เลือดออกในปอด (pulmonary hemorrhage), ปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) และ เนื้อเยื่อพังผืดในปอด (pulmonary fibrosis) ในที่สุดมักจะเสียชีวิตภายใน 3 สัปดาห์
การรักษา
การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจาก paraquat ควรเน้นที่การประคับประคองผู้ป่วย โดยการเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและการให้การรักษาอาการแทรกซ้อน เช่น ตับ อักเสบ หรือไตวาย เชื่อกันว่าการให้ oxygen อาจจะทำให้พิษของสาร paraquat เป็นเร็วและมากขึ้น ในผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับ paraquat ทางปาก ควรจะรีบทำการล้างท้อง (gastric lavage) หรือทำให้อาเจียนเหมือนผู้ป่วยได้รับสารพิษอื่นๆ โดยทั่วไป บางคนเชื่อว่าการทำ gastric lavage ด้วย Kayexalate (100 gm ใน 1000 ml) สามารถล้าง paraquat ออก ได้ดีกว่า เพราะว่า paraquat จะจับกับ Kayexalate   ในการลดการดูดซึมของ paraquat ในทางเดินอาหารต้องให้ดินเหนียว Fuller’s earth (60 gm/bottle) 150 gm ผสมน้ำ 1 L ให้ทางปาก หรือให้ 7.5% bentonite 100-150 gm และให้ร่วมกับยาระบาย MOM 30 ml ทุก 6 ชั่วโมงจนผู้ป่วยถ่ายอุจจาระ โดยทั่วไปแล้วถือกันว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการรักษาภาวะเป็นพิษนี้ เพราะว่าดิน สามารถยังยั้งการออกฤทธิ์ (inactivate) ของ paraquat ได้เป็นอย่างดี การให้ Fuller’s earth โดยเร็วจึงเป็นการลดพิษที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ป่วยที่เป็นพิษจาก paraquat แม้จะมีอาการตับวาย ไตวาย ก็อาจจะฟื้นเป็นปกติได้ ดังนั้นการประคับ ประคองผู้ป่วยจึงมีความสำคัญมาก ผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากภาวะการ หายใจล้มเหลว เนื่องจากมีปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) และปอดอักเสบเน่าตาย (necrotizing pneumonitis) แม้ว่าอาการตับไตวายจะดี แต่ความเสียหายของปอดเป็นแบบ ถาวร มีเนื้อเยื่อพังผืดในปอด (pulmonary fibrosis) ดังนั้นจึงมีความพยายามอย่างมากในการจะป้องกันอาการแทรกซ้อนที่ปอด โดยการให้ยาต้านการอักเสบ (antiinflamatory agent) เช่น dexamethasone 5 mg IV ทุก 6 ชั่วโมง และยากลุ่ม cytotoxic เช่น cyclophosphamide 5 mg/kg/day ทางหลอดเลือดดำ แบ่งให้ทุก 8 ชั่วโมง ผลการรักษาอาจจะดี แต่ยังไม่มีการทดลองที่มีการควบคุม (controlled trial) พิสูจน์อย่างชัดเจน นอกจากนี้มีรายงานว่าการฉายแสงที่ปอด (lung radiation) โดยใช้รังสีขนาดต่ำ อาจจะยับยั้งการเจริญ ของเซลล์ตัวอ่อนที่สร้างพังผืด (fibroblast) ทำให้เนื้อเยื่อพังผืด (fibrosis) น้อยลง แต่การทดลองในหนูพบว่าไม่ช่วยให้รอดชีวิตมากขึ้น จากการที่ paraquat ออกฤทธิ์โดยแบบ oxidant จึงมีความพยายามใช้สาร anti-oxidants ทั้งหลายมาใช้ในการรักษาเช่น vitamin C, vitamin E, niacine, N-acetylcysteine แต่พบว่าได้ผลน้อย

น้ำหมักชีวภาพ
ปัจจุบันมีการนำปุ๋ยเคมีมาใช้ในการเกษตรเป็นอย่างมาก  ซึ่งทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์  ทำลายดินให้เสื่อมโทรม  ทำให้ได้พืชผลทางการเกษตรที่น้อยลงและด้อยคุณภาพ  จึงมีการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพให้มากขึ้น 
น้ำสกัดชีวภาพ  หรือที่เรียกว่า  น้ำหมักชีวภาพ  เป็นอีกทางเลือกที่เกษตรกรสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ย และป้องกันกำจัดศัตรูพืช  แทนปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้  ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรมีการหันมาใช้น้ำสกัดชีวภาพมากขึ้น
ความหมายของน้ำสกัดชีวภาพ
น้ำสกัดชีวภาพ  หรือน้ำหมักชีวภาพ  หรือ  ปุ๋ยอินทรีย์  เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน  คือ  เป็นสารละลายเข้มข้นที่ได้จากการหมักแศษพืช  หรือสัตว์  ย่อยสลายโดยจุลินทรีย์  สารละลายเข้มข้นที่ได้จะมีสีน้ำตาล
ประโยชน์ของน้ำสกัดชีวภาพ
น้ำสกัดชีวภาพประกอบด้วยสารอินทรีย์ต่างๆ     หลากหลายชนิด   เช่น   เอนไซม์ฮอร์โมน   และธาตุอาหารต่างๆ   เอนไซม์บางชนิดจะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นอาหารของจุลินทรีย์และเป็นอาหารของต้นพืช  ฮอร์โมนหลายชนิดที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นก็เป็นประโยชน์ต่อพืชถ้าให้ปริมาณเล็กน้อย  แต่จะมีโทษถ้าให้ในปริมาณที่เข้มข้นเกินไป  ฉะนั้น  ในการใช้น้ำสกัดชีวภาพในพืชจำเป็นต้องให้ในอัตราเจือจาง  สารอินทรีย์บางชนิดในน้ำสกัดชีวภาพเป็นสารเพิ่มความต้านทานให้แก่พืชที่ทำให้พืชมีความต้านทานต่อโรคและแมลง  และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน
ชนิดน้ำหมักชีวภาพ   จำแนกได้  3  ประเภทหลักๆดังนี้
1.  น้ำหมักชีวภาพสูตรบำรุงใบลำต้นเป็นน้ำหมักที่ได้จากการหมักพืชเศษอาหารสัตว์และหอยต่างๆ
2.  น้ำหมักชีวภาพสูตรฮอร์โมน  จะบำรุงดอก ผล  เป็นน้ำหมักที่ได้จากการหมักผลไม้สุกต่างๆ
3.  น้ำหมักชีวภาพสูตรสมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืช  เป็นน้ำหมักที่ได้จากการหมักพืชสมุนไพรต่างๆ

บทที่ 3
 วิธีดำเนินการทดลอง

วัสดุ /อุปกรณ์
1. บีกเกอร์ขนาด  1,000  CC
2. น้ำหมักชีวภาพ   (น้ำพ่อ)                                
3. น้ำหมักชีวภาพ   (น้ำแม่)
4. ผ้าขาวบาง
5. เครื่องฉีดยา
6. กระบอกตวง     ขนาด 25 CC.
7. ยากำจัดวัชพืชไกลโฟเสต
8. ถังน้ำ
9. ผ้าปิดจมูก

วิธีหมักน้ำหมักชีวภาพ
น้ำพ่อ
1. ชั่งมะละกอสุก   กล้วยน้ำหว้าสุก     และฟักทองให้ได้อย่างละ  2  กิโลกรัม
2. หั่นส่วนผสมแต่ละอย่างให้เป็นชิ้น เล็กๆ
3. ชั่งกากน้ำตาล  6 กิโลกรัม  และตวงน้ำใส่ถังหมัก 60  ลิตร
4. นำส่วนผสมทั้งหมดใส่ในถังหมัก   เติมกากน้ำตาล  ใช้ไม้คนให้เข้ากัน    ปิดฝาถังหมักให้สนิท    หมักทิ้งไว้เป็นเวลา  3 เดือนช่วงเดือนแรกให้เปิดฝาคนทุก 7 วัน
น้ำแม่
1. ชั่งยอดผักบุ้ง   ใบจามจุรี   และหน่อกล้วย    ให้ได้อย่างละ   2 กิโลกรัม
2. หั่นยอดผักบุ้งและหน่อกล้วยให้เป็นชิ้นเล็กๆ
3. ชั่งกากน้ำตาล  6 กิโลกรัม  และตวงน้ำใส่ถังหมัก 60  ลิตร
4. นำส่วนผสมทั้งหมดใส่ในถังหมัก   เติมกากน้ำตาล  ใช้ไม้คนให้เข้ากัน    ปิดฝาถังหมักให้สนิท    หมักทิ้งไว้เป็นเวลา  3 เดือนช่วงเดือนแรกให้เปิดฝาคนทุก 7 วัน

วิธีการทดลอง
การทดลองตอนที่   1  การทดสอบประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพ
1.  น้ำหมักชีวภาพ  (น้ำพ่อ)  กรองให้ได้  3  ลิตร นำไปฉีดพ้นหญ้ารวมพื้นที่  2 ตารางเมตร       สังเกตบันทึกผล
2.  น้ำหมักชีวภาพ   (น้ำแม่)     กรองให้ได้   3  ลิตรนำไปฉีดพ้นหญ้ารวมพื้นที่ 2ตารางเมตร
3.  น้ำหมักชีวภาพ  น้ำพ่อ1.5 ลิตร    น้ำแม่  1.5  ลิตรผสมกัน นำไปฉีดพ้น  หญ้ารวมพื้นที่  2         ตารางเมตร

การทดลองตอนที่ 2  ก ารเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพด้วยเกลือ
สูตรที่ 1  น้ำพ่อ  2ลิตร   ผสมเกลือ 50  กรัม
สูตรที่ 2  น้ำพ่อ  2 ลิตร  ผสมเกลือ 100 กรัม
สูตรที่ 3  น้ำพ่อ  2 ลิตร   ผสมเกลือ 200กรัม
นำน้ำยาฆ่าหญ้าแต่ละสูตรไปฉีดพ้นหญ้ารวมพื้นที่  2 ตารางเมตร สังเกตบันทึกผล

การทดลองตอนที่  3   การเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพด้วยยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสต
สูตรที่ 1  น้ำพ่อ  2  ลิตร  ผสมยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสต 10cc.    2   ตารางเมตร
สูตรที่  2    น้ำพ่อ  5  ลิตร   ผสมยาฆ่าหญ้า   5  cc.  
สูตรที่  3   น้ำ 2 ลิตร  ผสมยาฆ่าหญ้า   10  cc. 
นำน้ำยาฆ่าหญ้าแต่ละสูตรไปฉีดพ้นหญ้ารวมพื้นที่  2 ตารางเมตร สังเกตบันทึกผล
* หมายเหตุ   สูตรที่  2   ผสมน้ำพ่อ  5  ลิตรแต่ตอนนำไปทดสอบฆ่าหญ้า    ตวงไปใช้แค่  2   ลิตร

บทที่ 4
ผลการทดลอง

จากการทดลองยาฆ่าหญ้าจากน้ำหมักชีวภาพ    ให้ผลการทดลองดังต่อไปนี้
การทดลองตอนที่ 1  การทดลอบประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพ
ตารางที่ 1  แสดงผลการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพ

การทดลองตอนที่ 2  การเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพด้วยเกลือ
ตารางที่  2
   แสดงผลการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพด้วยเกลือ

การทดลองตอนที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพด้วยยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสต
ตารางที่  3
   แสดงผลการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพด้วยยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสต

บทที่  5
วิจารณ์และสรุปผลการทดลอง

วิจารณ์ผลการทดลอง
       จากการทดลองผลิตยาฆ่าหญ้าจากน้ำหมักชีวภาพ ทั้ง 3 ตอนพบว่า
ตอนที่ 1 น้ำหมักชีวภาพชนิดน้ำพ่อ ซึ่งมีส่วนผสมของฟักทอง กล้วยน้ำหว้าสุก มะละกอสุก และกากน้ำตาล มีประสิทธิภาพในการกำจัดหญ้าได้ดีกว่า น้ำแม่และน้ำพ่อผสมน้ำแม่  ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากน้ำพ่อซึ่งหมักจากส่วนของผล  มีความเข้มข้น และออกฤทธิ์แรงกว่าการนำส่วนของใบมาหมัก จึงทำให้ออกฤทธิ์รุนแรงกว่า
ตอนที่  2 น้ำหมักชีวภาพ สูตรที่ 3 มีประสิทธิภาพในการกำจัดหญ้าดีกว่า สูตรที่ 2 และสูตรที่ 1 ตามลำดับ  ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากความเข้มข้นของเกลือที่มากกว่าส่งผลให้น้ำหมักชีวภาพมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ตอนที่ 3 น้ำหมักชีวภาพสูตรที่ 1  มีประสิทธิภาพในการกำจัดหญ้าดีกว่าสูตรที่  2 และสูตรที่ 3 ตามลำดับ  ทั้งนี้เนื่องจากสูตรที่ 1และ 2 นั้น   มีส่วนผสมของน้ำพ่อ ส่วนสูตรที่ 3  นั้นเป็นน้ำเปล่า จึงทำให้สูตร 1 และ 2 มีประสิทธิ ภาพดีกว่า  แต่สูตรที่ 1   มีความเข้มข้นของยาฆ่าหญ้าสูตรที่ 1 มีมากกว่าจึงทำให้กำจัดหญ้าได้ดีกว่าสูตรที่ 2

สรุปผลการทดลอง
       จากการศึกษาการผลิตยาฆ่าหญ้าจากน้ำหมักชีวภาพพบว่าน้ำหมักชีวภาพ(น้ำพ่อ)  มีประสิทธิภาพดีกว่าน้ำหมักชีวภาพ (น้ำแม่)  และดีกว่าน้ำหมักชีวภาพที่นำน้ำน้ำพ่อผสมน้ำแม่และเมื่อศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำในการกำจัดหญ้าโดยนำไปผสมด้วย  เกลือ และยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสต พบว่าน้ำหมักชีวภาพ(น้ำพ่อ) 2 ลิตรผสมเกลือ  200 กรัมมีประสิทธิภาพในการกำจัดหญ้าได้ดีที่สุดโดยกำจัดหญ้าได้ ร้อยละ85

ประโยชน์ได้รับจากโครงงาน
1.  ได้ยากำจัดวัชพืชที่ปลอดสารพิษ ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม
2.   นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ข้อเสนอแนะ
1. ควรหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพให้กำจัดได้  100%
2.  ควรเพิ่มการทดสอบในเรื่องชนิดของหญ้าที่ใช้ในการทดลอง

บรรณานุกรม

http://www.geocities.com/nananaru/toxico/paraquat.html
http://rayongkaset.com.www.readyplanet.net/index.php?
http://agriqua.doae.go.th/plantclinic/clinic/other/weed/monocot.pdf
http://agriqua.doae.go.th/plantclinic/clinic/other/weed/los.pdf
http://ayutthaya.doae.go.th/Mueang/KM_1.htm