โรคไม่ติดต่อ
สร้างโดย : นายสมาน ถวิลกิจ และนางสาวสุพัตรา บุญพรม
โรคกระดูก
สร้างเมื่อศุกร์, 27/11/2009 – 15:43
มีผู้อ่าน 17,264 ครั้ง (13/10/2022)
ข้อเคล็ด ข้อเคลื่อน กระดูกหัก
ข้อเคล็ด
เป็นการฉีกขาดของเอ็นที่อยู่รอบๆ ข้อและเยื่อหุ้มข้อ ที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อเท้าเคล็ด ข้อมือเคล็ด ข้อเข่าเคล็ด
สาเหตุ
เกิดจากมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วหรือมีการบิด ารเหวี่ยงอย่างแรงบริเวณข้อต่อเกินกว่าข้อนั้นสามารถจะทำได้ เช่น เดินสะดุดหรือก้าวพลาดจากการลงจากที่สูง
อาการ
ปวดมาก กดเจ็บ ใช้งานข้อนั้นอย่างปกติไม่ได้ บวมเขียวช้ำรอบๆ ข้อ อาจมีอาการชาเนื่องจากเส้นประสาทบริเวณนั้นถูกทำลายด้วย
การปฐมพยาบาล
- ใน 24 ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยความเย็นเพื่อลดอาการปวดบวมและลดการตกเลือด หลังจากนั้นให้ประคบด้วยความร้อนเพื่อช่วยให้การดูดซึม และลดการบวมเร็วขึ้น
- ให้ข้อที่บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ หรือเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด โดยใช้ผ้าพันที่ยืดได้ (Elastic Bandage) พันรอบข้อนั้นให้แน่นพอควร เป็นการช่วยลดอาการบวม และทำให้ข้อนั้นอยู่นิ่ง
- พยายามยกข้อนั้นให้สูงขึ้น ถ้าเป็นข้อมือ ข้อศอก ข้อไหล่ ควรใช้ห้อยแขนไว้ด้วยผ้าคล้องคอ
- ควรส่งไปโรงพยาบาล เพื่อเอ็กซเรย์ให้แน่ใจว่าไม่มีกระดูกหักร่วมด้วย
ข้อเคลื่อน
หมายถึง ภาวะที่ปลายกระดูก หรือหัวกระดูกสองอันที่มาชนกันประกอบขึ้นเป็นข้อ เคลื่อนออกจากตำแหน่งที่มันเคยอยู่ อาจมีการฉีกขาดของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่บริเวณนั้น
สาเหตุ
มีการกระทบกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อ หรือเกิดจากการเหวี่ยง การบิด หรือถูกกระชากอย่างแรงที่ข้อนั้น เช่น ถูกรถชนอย่างแรง
อาการ
ปวดมาก กดเจ็บ บวมรอบๆ ข้อ มีอาการฟกช้ำร่วมด้วย รูปร่างผิดปกติไปอาจสั้นหรือยาวผิดปกติ เคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ สีของบริเวณเปลี่ยนไปจากเดิม
การปฐมพยาบาล
- อย่าพยายามดึงข้อที่เคลื่อนให้เข้าที่ด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เอ็น กล้ามเนื้อ หลอดเลือด และ เนื้อเยื่ออ่อนได้รับอันตราย จนไม่สามารถจะแก้ไขให้คืนดีได้ดังเดิม
- ประคบด้วยความเย็น เพื่อลดอาการบวมและลดความเจ็บปวด ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
- พยายามให้ส่วนนั้นอยู่นิ่ง โดยพันด้วยผ้ายืด (Elastic Bandage)
- รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
กระดูกหัก
หมายถึง การเสียความต่อเนื่องอย่างหนึ่งอย่างใดของกระดูก การหักอาจเป็นเพียงแค่กระดูกเป็นรอยร้าวเท่านั้น หรือหักออกจากกันเป็นสองท่อน ซึ่งแรงกระแทกอาจทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ กระดูกที่หักได้รับอันตรายด้วย
สาเหตุ
เกิดจากแรงกระแทกต่อกระดูก กล้ามเนื้อกระตุกอย่างแรง
อาการ
ปวดและกดเจ็บ บวมเขียวช้ำ รูปร่างผิดปกติ เช่น กระดูกเกยกัน หรือโค้งงอผิดปกติ เคลื่อนไหว ไม่ได้ อาจมีบาดแผล หรือกระดูกโผล่ออกให้เห็น
การปฐมพยาบาล
- ทำการห้ามเลือดถ้ามีบาดแผลเลือดออก โดยใช้ผ้าที่สะอาดกดบริเวณที่มีเลือดออกนาน อย่างน้อย 15 นาที หรือจนกว่าเลือดจะหยุด อย่าใช้สายยางทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาท หลอดเลือด
- หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวบริเวณที่กระดูกหัก
- ถ้ากระดูกโผล่นอกเนื้อ อย่าพยายามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้สิ่งสกปรกจากภายนอกกลับเข้าไปสู่บาดแผลได้ ให้หาผ้าสะอาดปิดบาดแผลและใส่เฝือกดามชั่วคราวไว้ใน ท่านั้น แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
- ใส่เฝือกชั่วคราวหรือดามไว้ การเข้าเฝือกชั่วคราวทำได้โดยใช้แผ่นไม้มาวางแนบและให้อยู่เลยบริเวณที่หักหัวท้าย แล้วใช้เชือกพัน ก่อนที่จะพันควรใช้สำลีหรือผ้าสะอาดนิ่มๆ ห่อบริเวณนั้นเสียชั้นหนึ่งก่อน
- ยกแขนส่วนที่บาดเจ็บให้สูงไว้ เพื่อลดอาการคั่งบวม
- รีบนำส่งโรงพยาบาล
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
จะต้องทำด้วยความระมัดระวังและผู้ป่วยต้องรู้สึกสบาย เลี่ยงการเคลื่อนไหวส่วนที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการตกเลือดอีก และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ส่วนที่ได้รับบาดเจ็บได้รับอันตรายเพิ่มมากขึ้น
แหล่งอ้างอิง: http://www.google.co.th/#hl=th&q=•%09กระดูกหัก+ข้อเคลื่อน+ข้อเคล็ด+&meta=&aq=f&oq=•%09กระดูกหัก