เครื่องดนตรีสากล

สร้างโดย : นายนิพันธ์ วรรณเวช และนางสาวธัญญารัตน์
สร้างเมื่อ เสาร์, 22/11/2008 – 16:09
มีผู้อ่าน 293,163 ครั้ง (26/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/18268

เครื่องดนตรีสากล

           เมื่อดนตรีของชาติตะวันตกที่คิดค้นมาจากทวีปยุโรป  และทวีปอเมริกา  ได้รับการยอมรับ  มีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ดนตรีตะวันตกจึงกลายเป็นดนตรีของคนทุกชาติ ทุกภาษา  ถือได้ว่าเป็นของสากล  จึงเกิดคำว่า”ดนตรีสากล” ขึ้นมา  เครื่องดนตรีตะวันตกก็เช่นเดียวกัน  เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ชาติตะวันตกได้คิดค้นขึ้นมา  และมีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หายทั่วโลก  เป็นที่ยอมรับของคนทุกชาติ  ทุกภาษา  ถือว่าเป็นของสากลเช่นกัน  จึงเกิดคำว่า”เครื่องดนตรีสากล” ซึ่งหมายถึง  เครื่องดนตรีที่ถือกำเนิดมาจากชาติตะวันตกนั่นเอง
           เครื่องดนตรี  คือสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อกำเนิดเสียงชนิดต่างๆ  ตามที่ต้องการ ทำให้เกิดความหลากหลายของเสียง    บทเพลงมีสีสัน  มีชีวิตชีวา  เสริมสร้างอารมณ์จากเสียงของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ  เครื่องดนตรีสากลในปัจจุบันสาารถจำแนกออกได้เป็น  5 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

1. เครื่องสาย (String Instruments)

           เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายเกิดเสียงโดยการทำให้สายสั่นสะเทือน  มีทั้งการดีด และการสีโดยใช้คันชัก  สายของเครื่องดนตรีประเภทนี้  มีทั้งสายที่ทำมาจากเส้นลวด เส้นเอ็น หรือเส้นไหม  นำมาขึงให้ตึง  ความดังของเสียงขึ้นอยู่กับรูปร่าง  และวัสดุที่นำมาใช้ทำกะโหลกเครื่องดนตรี   กะโหลกทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงที่เกิดขึ้นจากการสั่นสะเทือนของสาย  เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย   ที่นำมาใช้ในการประสมวงดนตรีในปัจจุบัน  มีดังนี้

  1. ไวโอลิน (Violin) คือ   เครื่องดนตรีที่กำเนิดเสียงในระดับสูง  ลำตัวของไวโอลินทำด้วยไม้  มี 4 สาย  ตั้งสายต่างกันในระดับคู่ 5 (G,D,A และ E)  ปกติเล่นโดยใช้คันชักสีที่สายให้สั่นสะเทือน  แต่บางครั้งก็จะใช้นิ้วดีด เพื่อให้เกิดเสียงสั่น  ไวโอลินจะต้องวางบนไหล่ข้างซ้ายของผู้เล่น  แล้วใช้คางหนีบไว้ไม่ให้เคลื่อนที่  มือขวาของผู้เล่นใช้สีสายไวโอลินด้วยคันชัก  โดยทั่วๆไปคันชักจะทำด้วยหางม้า  ชาวอิตาเลียนที่ได้ชื่อว่า  เป็นผู้ที่ผลิตไวโอลินได้อย่างยอดเยื่ยม  เมืองที่มีชื่อเสียงในการผลิตไวโอลิน คือ Cremonna (1600-1750)  ตระกูลที่มีชื่อเสียงในการผลิตจะมีอยู่ 3 ตระกูล คือ Amati, Stradivari, Guarneri
  2. วิโอลา (Viola)  เป็นเครื่องดนตรีในตระกูลไวโอลิน  ขนาดใหญ่กว่าไวโอลินเล็กน้อย  ช่วงเสียงอยู่ในระดับอัลโต (Alto)  ลำตัวของวิโอลาทำด้วยไม้  มี 4 สาย  ตั้งเสียงห่างกันในระยะคู่ 5 (C G D A)  โนีตสำหรับวิโอลาบันทึกอยู่ในกุญแจเสียงซี (Alto clef)  ตำแหน่งของวิโอลาจะอยู่ในลักษณะเดียวกับไวโอลิน  คุณภาพเสียงของวิโอลาจะไม่สดใสเหมือนเสียงของไวโอลิน มีลักษณะเสียงเหมือนเสียงนาสิก
  3. เชลโล (Cello) หรือ “วิโอลอนเชลโล” (Violoncello) เป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ในตระกูลไวโอลิน  มีขนาดยาวและใหญ่กว่าไวโอลินเป้น 2 เท่าโดยประมาณ  มี 4 สาย ตั้งเสียงห่างกันในระยะคู่ 5 (C D G A)  โน๊ตสำหรับเชลโลบันทึกด้วยกุญแจเสียงเอฟ (F clef)  ระดับเสียงต่ำกว่าไวโอลิน  คุณภาพเสียงทุ้มลึกกว่าเสียงของไวโอลิน  ในขณะที่เล่นต้องนั่งใช้เข่าหนีบให้เชลโลอยู่ระหว่างขาทั้ง 2 ข้าง
  4. ดับเบิลเบส (Double Bass)  เป็นเครื่องดนตรีในตระกูลไวโอลินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น  สตริงเบส (String Bass)  คอนทราเบส (Contra Bass)  เบสวิโอล (Bass Viol)  รูปร่างจะแตกต่างจากเครื่องดนตรีในตระกูลไวโอลิน คือ ตรงบ่าของเครื่องจะมีความลาดมากกว่า  พื้นแผ่นด้านหลังของลำตัว  จะแบนราบมากกว่า  การตั้งสายทั้ง 4 ก็จะไล่ระดับต่างกันในระยะคู่ 4 แทนที่จะเป็นคู่ 5  เวลาเล่นต้องตรึงเครื่องไว้บนพื้นโดยมีหมุดยึดไว้  คุณภาพเสียงของดับเบิลเบสจะหนักแน่น  และให้ความรู้สึกอุ้ยอ้าย  เยิ่นเย่อเหมือนกับการเคลื่อนที่ของสิ่งของใหญ่โตที่มีน้ำหนักมาก  โน๊ตสำหรับดับเบิลเบสจะต้องบันทึกด้วยกุญแจเสียเอฟ (F clef)
  5. ฮาร์ป (Harp)  คือ เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายแตกต่างจากเครื่องสายชนิดอื่นๆ คือ การขึงสาย  มีจำนวนมาก  ประมาณ 46-47 สาย  และจะไม่ผ่านกล่องเสียง (Sounding Board)  โครงสำหรับขึงสายมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม  โค้งงอเล็กน้อย  ปกติจะเล่นด้วยการดีดที่สาย  คุณภาพเสียงของฮาร์ปมีความแจ่มใสกว่าเสียงของเปียโน  เสียงของฮาร์ปสามารถใช้เพื่อแสดงการไหลของสายน้ำ แสดงความสดชื่นแจ่มใส  มีวิวัฒนาการมาจากไลร์  ฮาร์ปมีอยู่ 2 ชนิด  คือ  ดับเบิลแอคชั่น (Double Action) มีกระเดื่องสำหรับใเท้าเหยียบ (Pedal) 7 อัน  สำหรับควบคุมเสียงดนตรี  และโครมาติค (Chromatic) จะไม่มีกระเดื่องเหยียบ  สายแต่ละสายจะให้เสียงในระยะครึ่งเสียง  ส่วนมากจะใช้ชนิดดับเบิลแอคชั่นมากกว่า   เริ่มใช้ในวงออร์เครสตร้าตั้งแต่ต้นของศตวรรษที่ 17
  6. ไลร์ (Lyre)  คือ  เครืองดนตรีที่ต้องเล่นด้วยวิธีดีด  เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่มาก  ปกติใช้เล่นคลอประกอบการขับร้องหรือการขับลำนำ โคลงฉันท์ กาพย์กลอน และที่นำมาใช้มากคือการขัขกล่อมเกี่ยวกับศาสนาไลร์ มีโครงสร้างอย่างง่ายๆ มีแขนสองข้างยึดติดกับกล่องเสียง  มีคานระหว่างแขนทั้งสองข้างเพื่อสำหรับไว้ขึงสาย ส่วนมากทำมาจากกระดองเต่า  รูปทรงของไลร์มีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย
  7. ลูท (Lute)  คือเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายโบราณมีอายุเก่าแก่มาก  จากภาพวาดในยุคเมโสโปเตเมียพบว่าลูทยุคนี้มีคอยาว เล่นด้วยการใช้นิ้วดีด รูปร่างของลูทเหมือนกับไข่ครึ่งใบหรือลูกแพร์ผ่าครึ่ง  คอของลูทมีเฟรท (Flet)  คั่นอยู่ 7 อัน  ถ้าคอยาวมากจำนวนเฟรทก็จะมากเพิ่มขึ้นด้วย
  8. แบนโจ (Banjo) เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย  เล่นด้วยวิธีดีดด้วยนิ้วมือหรือดีดด้วยเพล็คทรัม (Plectrum) นิยมเล่นในกลุ่มนักร้อง นักดนตรีชาวอเมริกัน  กล่องเสียงของแบนโจจะเหมือนกับหน้ากลองมีหนังลูกวัวขึงปิดอยู่  คอแบนโจมีเฟรทคั่นอยู่เหมือนกับคอของกีตาร์  สายของแบนโจมีจำนวนตั้งแต่ 4, 5 หรือ 9 สาย  โดยทั่วไปจะใช้ชนิด 5 สาย
  9. กีตาร์ (Guitar)  คือ เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย เล่นโดยวิธีการดีด เกี่ยว หรือกรีดลงบนสายกีตาร์ อาจใช้นิ้ว หรือเพล็คทรัมก็ได้  กล่องเสียงของกีตาร์มีลักษณะคล้ายไวโอลินขนาดใหญ่  คอยาว  มีเฟลทโลหะวางคั่นอยู่  มี 6 สาย  สายของกีตาร์มีทั้งที่ทำด้วยโลหะ และไนล่อน  กีตาร์ในปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบไปอย่างหลากหลาย  กีตาร์สายไนล่อนจะเรียกว่า กีตาร์คลาสสิกกีตาร์ที่เกิดเสียงโดยธรรมชาติจะเรียกว่า กีตาร์อคูสติก (Acoustic Guitar)  ถ้ามีการนำเอาเครื่องเสียงไปขยายด้วยวงจรไฟฟ้าเพื่อให้เกิดเสียงดังขึ้น ก็จะเรียกว่า  กีตาร์ไฟฟ้า (Electric Guitar)
  10. แมนโดลิน (Mandolin) เป็นเครื่องสายที่ให้ระดับเสียงสูง  ผู้เล่นจะใช้เพล็คทรัม หรือ ปิ๊ก ดีดไปที่สาย  โดยใช้เทคนิคการดีดแบบ ทรีโมโล (Tremolo)  คือการดีดสายขึ้นลงอย่างเร็วติดต่อกันเพื่อให้เกิดเสียงสั่นรัว  เป็นเครื่องดนตรีตระกูลลูท มี 2 ชนิดคือ 1) Neapolitan มีความยาว 2 ฟุต  2) Milanese  มีขนาดใหญ่กว่า Neapolitan

2. เครื่องลมไม้ (Woodwind Instruments)

              เครื่องดนตรีประเภทนี้ เกิดเสียงโดยการเป่าลมผ่านช่องแคบๆ ให้เข้าภายในท่อ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงให้ดังขึ้น คุณลักษณะของเสียงที่เกิดขึ้น  จะแตกต่างกัน  ตามขนาดของท่อ  ความสั้นยาวของท่อ  และความแรงของลมที่เป่าเข้าไปภายในท่อ เครื่องดนตรีขนาดเล็กจะให้ระดับเสียงสูง  เครื่องดนตรีขนาดใหญ่จะให้ระดับเสียงต่ำ  ผู้บรรเลงจะต้องเลือกใช้เครื่องดนตรีให้เหมาะสมกับบทเพลง  ตามที่ผู้ประพันธ์เพลงได้กำหนดไว้

  1. บีแฟล็ตคลาริเนต (Bb Clarinet)  เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้  ใช้ลิ้นเดียว  ถูกใช้เป็นตัวแทนเมื่อกล่าวถึงปี่คลาริเนตเสมอ  ลำตัวปี่คลาริเนตทำด้วยโลหะและไม้ หรือบางครั้งก็ทำด้วยยางหรือพลาสติก  ลำตัวปี่กลวง เปลี่ยนระดับเสียงโดยใช้นิ้วและคียืโลหะบุนวมปิดเปิดรู  ปี่คลาริเนตมีรูปร่างคล้ายปี่โอโบ  แตกต่างกันที่ปากเป่า (กำพวด)  คุณภาพเสียงของปี่คลาริเนต มีช่วงเสียงกว้างและทุ้มลึกมีนิ้วพิเศษที่ทำเสียงได้สูงมากเป็นพิเศษ
  2. เบสคลาริเนต (Bass Clarinet)  คุณภาพเสียงของเบสคลาริเนตกว้างและลึกกว่าคลาริเนตในระดับเสียงอื่นๆ  เหมาะที่จะนำไปใช้บรรเลงแนวทำนองในระดับเสียงต่ำ  เสียงสูงก็สามารถบรรเลงได้เช่นกัน แต่ใช้น้อยมาก  ลักษณะเด่นอยู่ที่ข้อต่อ  กำพวดจะเป็นรูปโค้งงอ ปากลำโพงทำด้วยโลหะ  งอย้อนขึ้นมาคล้ายกับแซ็กโซโฟน
  3. อัลโตคลาริเนต (Alto Clarinet)  ขนาดจะใหญ่และยาวกว่าคลาริเนต  มีระดับเสียงต่ำกว่าบีแฟล็ตคลาริเนตอยู่คู่ 5 เพอร์เฟกต์ ปากลำโพงทำด้วยโลหะ  โค้งงอย้อนขึ้นมาหมือนแซ็กโซโฟน
  4. อีแฟล็ตคลาริเนต (Eb Clarinet)  มีขนาดเล็กกว่าบีแฟล็ตคลาริเนต  มีระดับเสียงสูงกว่าคู่ 5 เพอร์เฟกต์
  5. แซ็กโซโฟน (Saxophone)  เครื่องดนตรีในตระกูลแซ็กโซโฟนสร้างขึ้นโดย  อดอล์ฟ แซก (Adolph Sax)  แห่งเมืองบรัสเซล (Brussels) ประเทศเบลเยี่ยม  เมื่อปี ค.ศ. 1840  ใช้กำพวดที่มีลิ้นเดี่ยว  เหมือนอย่างปี่คลาริเนต  แต่ลำตัวจะเป็นทรงกรวยเหมือนโอโบ  ลำตัวทำด้วยโลหะ  ปากลำโพงโค้งงอย้อนขึ้นมา  แซ็กโซโฟนขนาดเล็กให้เสียงสูง  ขนาดใหญ่ให้เสียงต่ำ  เสียงของแซ็กโซโฟนเป็นลักษณะผสมผสานมีทั้งความพลิ้วไหว ความกลมกล่อมและความเข้มแข็งปะปนกัน
    แซ็กโซโฟนมีหลายระดับเสียงดังนี้
    1. โซปราโน แซ็กโซโฟน (ระดับเสียงบีแฟล็ต)
    2. อัลโต แซ็กโซโฟน (ระดับเสียงอีแฟล็ต)
    3. เทนเนอร์ แซ็กโซโฟน (ระดับเสียงบีแฟล็ต)
    4. บาริโทน แซ็กโซโฟน (ระดับเสียงอีแฟล็ต)
    5. ซํบคอนทร้าเบส แซ็กโซโฟน (ระดับเสียงบีแฟล็ต)
  6. โอโบ (Oboe)  โอโบและเครื่องดนตรีอื่นๆในตระกูลโอโบ เช่น บาสซูน และอิงลิชฮอร์นเป็นเครื่องดนตรีประเภทลิ้นคู่  ลำตัวโอโบเป็นรูปทรงกรวย  ทำด้วยไม้ แบ่งเป็น 3 ท่อน  เวลาใช้ต้องต่อเข้าด้วยกัน  มีรูสำหรับใช้นิ้วปิดเปิด 6 รู  และมีคีย์โลหะบุนวมต่อเป็นระบบกลไกเชื่อมโยงสำหรับปิดเปิดรูอีกด้วย  คุณภาพเสียงของโอโบมีความแหลมเสียดแทงและมีลักษณะเสียงนาสิก
  7. อิงลิชฮอร์น (English Horn)  หรือเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า คอร์อังแกลส์ (Cor Anglais)  มีเสียงเหมือนโอโบ  แต่ต่ำกว่าในระดับคู่ 5  จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อัลโตโอโบ (Alto Oboe)  เป็นเครื่องดนตรีที่มีลิ้นคู่  มีเสียงโหยหวน โศกเศร้า
  8. บาสซูน (Bassoon)  มีเสียงต่ำเป็นเบส  บาสซูนป็นเครื่องดนตรีสำคัญในการประสมวงควอเต็ทสำหรับเครื่องลมไม้  คุณภาพเสียงของบาสซูนในช่วงเสียงสูงจะแหลม เสียงในช่วงกลางจะทึบ กลวง ไม่หนักแน่น  ส่วนมากมักจะใชเสียงของบาสซูนแสดงถึงความตลกขบขัน
  9. ฟลุท (Flute)  ฟลุทมีท่อกลวงเกิดเสียงโดยการเป่าลมผ่านส่วนปากเป่า  ผู้เล่นต้องถือฟลุทให้ขนานกับพื้น ฟลุทในระยะแรกทำด้วยไม้ปัจจุบันฟลุททำด้วยโลหะผสม  คุณภาพเสียงของฟลุทในระดับสูงมีเสียงแจ่มใส เป่าเสียงในระดับสูงได้ดี เสียงในระดับต่ำมีความนุ่มนวล  เหมาะสำหรับใช้บรรเลงเดี่ยว บรรเลงทำนองหลักของบทเพลง  และบรรเลงทำนองสอดแทรกต่างๆในระดับเสียงสูง
  10. ปิคโคโล (Piccolo)  เป็นเครื่องดนตรีในตระกูลฟลุท  วีธีการเป่าจึงเหมือนกับการเป่าฟลุท  มีระดับเสียงสูงกว่าฟลุทอยู่ 1 ช่วงคู่แปด  มีขนาดเล็กกว่าฟลุท 4 เท่า  จึงทำให้มีคุณภาพเสียงที่สดใสและแหลมมาก  จึงเหมาะที่จะใช้ในการเล่นในระดับเสียงกลางและสูงมากกว่าในระดับเสียงต่ำ
  11. เรคอร์เดอร์ (Recorder) เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่  พัฒนาจากยุคกลางจนถึงศตวรรตที่ 18  เรคอร์เดอร์มีรูสำหรับใช้นิ้วปิดเปิด 8 รู  ลำตัวจะเป็นทรงกรวยทำด้วยไม้หรือพลาสติก  มีปากเป่าลักษณะเหมือนนกหวีด  คุณภาพเสียงของเรคอร์เดอร์จะนุ่มนวลบางเบา เสียงระดับสูงมีความแจ่มใส  ในปัจจุบันเรคอร์เดอร์ได้สร้างขึ้นใหม่  มีระดับเสียงสูงถึงต่ำ 4 ระดับดังนี้
    1. เดสแคนท์ (Descant) หรือ โซปราโน (Soprano)
    2. เทร็บเบิล (Treble) หรือ อัลโต (Alto)
    3. เทเนอร์ (Tenor)
    4. เบส (Bass)

3. เครื่องลมทองเหลือง (Brass Instruments)

             เครื่องดนตรีประเภทนี้มักทำด้วยโลหะผสมหรือโลหะทองเหลือง  เสียงของเครื่องดนตรีประเภทนี้เกิดจากเป่าลมผ่านท่อโลหะ  ความสั้นยาวของท่อโลหะทำให้ระดับเสียงเปลี่ยนไป  การเปลี่ยนความสั้นยาวของท่อโลหะจะใช้ลูกสูบเป็นตัวบังคับ  เครื่องดนตรีางชนิดจะใช้การชักท่อลมเข้าออก  เปลี่ยนความสั้นยาวของท่อตามความต้องการ  ลักษณะเด่นคือ มีปากลำโพงสำหรับใช้ขยายเสียงให้มีความดังเจิดจ้า  ปากเป่าของเครื่องดนตรีประเภทนี้เรียกว่า “กำพวด” (Mouthpiece)  ทำด้วยท่อโลหะ ทรงกรวย ด้านปากเป่ามีลักษณะบานออก คล้ายรูปถ้วยมีขนาดต่างๆกัน

  1. ทรัมเป็ท (Trumpet)  ทรัมเป็ทมีลูกสูบ 3 ลูกสูบสำหรับเปลี่ยนความสั้นยาวของท่อลม  เพื่อเปลี่ยนระดับเสียงดนตรีที่เกิดขึ้น  บางครั้งกดเพียง 1 นิ้ว บางครั้ง 2 นิ้ว  หรือ 3 นิ้วพร้อมกัน  เป่าโดยเม้มริมฝีปาก  แล้วทำให้ริมฝีปากสั่นสะเทือนในกำพวด  เสียงของทรัมเป็ทเป็นเสียงที่มีพลังและดังเจิดจ้า ในบทเพลงต่างๆมัดใช้เสียงทรัมเป็ทบรรยายลักษณะของความกล้าหาญ การรบพุ่ง หรือความสง่างามในพิธีสำคัญต่างๆ  ทรัมเป็ทจะอยู่ในระดับเสียง บีแฟล็ต
  2. ทูบา (Tuba) คือเครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงต่ำสุด  ทูบามีพัฒนาการมาจากการเป่าเขาสัตว์และการเป่าสังข์  ท่อลมของทูบามีลักษณะค่อยๆบานออก ส่วนตรงปลายท่อ บานเป้นลำโพง  กำพวดเป็นโลหะรูปถ้วย  มีลูกสูบ 3 หรือ 4 ลูกสูบ  ทุบามีทั้งในระดับเสียงอีแฟล็ต และบีแฟล็ต
  3. ยูโฟเนียม (Euphonium)  ลักษณะเสียงของยูโฟเนียมจะนุ่มนวล ทุ้มลึก และมีความหนักแน่มาก  สามารถเล่นในระดับเสียงต่ำได้ บางครั้งนำไปใช้ในวงออร์เครสตร้าแทนทูบา  มีเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งชื่อ “บาริโทน” มีเสียงใกล้เคียงกับยูโฟเนียม  แต่ท่อลมมีขนาดเล็กกว่า เสียงของบาริโทนจะมีความห้าวกว่ายูโฟเนียม
  4. ซูซาโฟน (Sousaphone)  คือเครื่องลมทองเหลืองที่ใหญ่ที่สุด  ชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติกับ จอห์น ฟิลิป ซูซา (John Philip Sousa) นักประพันธ์เพลงและผู้ควบคุมดนตรีที่มีชื่อเสียงของอเมริกา  ซูซาโฟนจะนำไปใช้บรรเลงในวงมาร์ชชิ่ง วงแตรวง และวงโยธวาทิต  ซูซาโฟนมีลำตัวม้วนเป็นขด ผู้เล่นต้องสอดตัวเข้าไปในขดของเครื่อง  เสียงของซูซาโฟนเหมือนกับทูบา  คือ ต่ำทุ้มลึก
  5. คอร์เน็ท (Cornet) ลักษณะคล้ายกับทรัมเป็ทแต่ลำตัวสั้นกว่า  คุณภาพของเสียงมีความนุ่มนวล กลมกล่อม  เสียงสดใสน้อยกว่าทรัมเป็ท คอร์เน็ทนำมาใช้ในวงออร์เคสตร้าเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ ค.ศ. 1829  ในการแสดงโอเปร่า ของ Rossini  เรื่อง William Tell ในปัจจุบันคอร์เน็ทเป็นเครื่องดนตรีสำคัญสำหรับวงโยธวาทิตและแตรวง
  6. บิวเกิล (Bugle)  เป็นเครื่องเป่าทองเหลือง  ไม่มีลูกสูบ  เป่าโดยใช้กำพวด  เป่าได้ 8 เสียงใช้สำหรับเป่าแตรสัญญาณของทหาร
  7. ฟลูเกิลฮอร์น (Flugelhorn)  ลักษณะคล้ายแตรบิวเกิล  ปกติมี 3 ลูกสูบ  รูปร่างค่อนข้างใหญ่กว่าคอร์เน็ท  ลักษณะของเสียงคล้ายกับฮอร์น แต่มีความห้าวมากกว่าฮอร์น
  8. เฟรนช์ฮอร์น (French-Horn) พัฒนามาจากการเป่าเขาสัตว์เพื่อใช้บอกสัญญาณต่างๆ  ท่อลมจะขดเป็นวงกลม  คุณภาพของเสียงเฟรนช์ฮอร์นโปร่งเบาและมีความนุ่มนวลกังวาน  เฟรนช์ฮอร์นในยุคแรกไม่มีนิ้วกด  เล่นเสียงได้จำกัดใช้สำหรับการล่าสัตว์  ในปลายศตวรรตที่ 17  เฟรนช์ฮอร์นมีขนาดเล็กลง มีลูกสูบ 3 นิ้ว และนำไปใช้ในวงออร์เคสตร้า  ในวง Woodwind  Quintet  จะต้องมี French horn ร่วมด้วยอยู่เสมอ
  9. ทรอมโบน (Trombone)  มีคันชักโค้งเป็นรูปตัวยู  สำหรับเปลี่ยนความสั้นยาวของท่อลม  ตำแหน่งของการเลื่อนคันชักจะมีอยู่ทั้งหมด 7 ตำแหน่ง ให้ระดับเสียงดนตรีต่างออกไป  เป่าโดยใช้กำพวดเป็นรูปถ้วย  พัฒนามาจากแตรทรอมบา (Tromba)

4. เครื่องตีกระทบ (Percussion Instrument)

              เครื่องดนตรีที่เกิดเสียงจาการตี การสั่น การเขย่า การเคาะ หรือการขูด  เครื่องตีกระทบประกอบขึ้นด้วยวัสดุที่เป็นของแข็งหลายชนิด เช่น โลหะ ไม้ หรือแผ่นหนังขึงตึง

  1. กลองใหญ่ (Bass Drum) คือเครื่องตีกระทบ มี 2 หน้า  ขึงด้วยหนังกลอง  กลองใหญ่ที่ใช้ในวงออร์เคสตร้าจะมีขนาดใหญ่ที่สุดกว่า 32 นิ้ว ถ้าใช้ในวงโยธวาทิต จะมีขนาดตั้งแต่ 20-32 นิ้ว ตีด้วยไม้  ปลายไม้ข้างหนึ่งทำเป้นปมไว้สำหรับใช้ตีกระทบกับหนังกลอง  ปมนั้นอาจหุ้มด้วยสักหลาด ไม้ก๊อก ผ้านวมหรือฟองน้ำ  เสียงกลองตีเน้นย้ำจังหวะเพื่อใหเกิดความหนักแน่น หรืออาจจะใช้รัวเพื่อให้เกิดความตื่นเต้น รัวเพื่อสร้างจุดสนใจในบทเพลงเพิ่มขึ้นได้
  2. กลองเล็ก (Small Drum) คือเครื่องตีกระทบ มี 2 หน้า  ขึงด้วยหนังกลอง ลักษณะเฉพาะคือ หนังกลองด้านล่างต้องคาดไว้ด้วยสายสะแนร์เป็นแผง เพื่อให้เกิดเสียงซ่า เดิมสายสะแนร์ทำด้วยเอ็นสัตว์ในปัจจุบันสายสะแนร์มีทั้งที่ทำด้วยไนล่อนและทำด้วยเส้นลวดโลหะ  กลองเล็กมีหลายชื่อ เช่น Snare Drum มีขาตั้งรองรับตัวกลองใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลองชุด หรือนำมาใช้บรรเลงประกอบจังหวะสำหรับวงออร์เคสตร้าหรือวงอื่นๆที่นั่งบรรเลง สำหรับวงโยธวาทิตและแตรวง  มีตัวยึดกลองทำด้วยโลหะคล้องยึดไว้กับลำตัวของผู้ตี  กลองจะอยู่ด้านหน้าของผู้ตี Side Drum ใช้สำหรับเรียกกลองเล็กที่ผู้ตีต้องใช้สายสะพายคล้องกลองไว้ข้างลำตัว ตะขอที่อยู่ติดกับขอบกลอง ใช้คล้องเกี่ยวกับตัวกลองไว้กับสายสะพาย ขอบกลองดานบนอยู่ในระดับเดียวกับเอวของผู้ตี ตัวกลองอยุ่ในลักษณะเฉียงกับลำตัวของผู้ตี
  3. กลองทิมปานี (Timpani) เป็นกลองที่มีลักษระเหมือนกระทะหรือกาต้มน้ำ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Kettle Drum ตัวกลองทำด้วยโลหะทองแดง ตั้งอยู่บนขาหยั่ง กลองทิมปานีมีระดับเสียงแน่นอน เทียบเท่ากับเสียงเบส  มีกระเดื่องเหยียบเพื่อเปลี่ยนระดับเสียงตามต้องการในการบรรเลงต้องใช้อย่างน้อย 2 ใบ เสียงของกลองแสดงอำนาจ ทำให้ความยิ่งใหญ่ ตื่นเต้นเร้าใจ
  4. คองกา (Conga)  คือชื่อของกลองชนิดหนึ่ง  มีรูปทรงต่างๆกันหลายลักษณะ  โดยปกติมีความสูงประมาณ 30 นิ้ว
    เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 11 นิ้ว  ตัวกลองทำด้วยท่อนไม้ นำมาขุดให้ภายในกลวง หรืออาจใช้แผ่นไม้ดัดให้เป็นรูปทรงตัวกลอง คาดด้วยโลหะไว้รอบตัวกลอง  แล้วยึดติดด้วยหมุดโลหะ  คองกาเป็นกลองหน้าเดียว ขึงด้วยหนังสัตว์  กลองคองกามีหลายขนาดต่างระดับเสียงกับจะใช้ 3 ใบ 4 ใบ หรือ 5 ใบ หรือมากกว่านั้นก็ได้  ปกติใช้อย่างต่ำ 2 ใบ  ตีสอดสลับกันตามลีลาจังหวะของบทเพลง  ตีด้วยปลายนิ้วและฝ่ามือ
  5. บองโก (Bongo) เป็นกลองคู่  จะต้องมี 2 ใบเสมอ เล็ก 1 ใบ ใหญ่ 1 ใบ  ระดับเสียงของกลอง 2 ใบ  ตั้งให้ห่างกันในระดับคู่ 4 หรือคู่ 5 โดยประมาณหนังกลองบองโกต้องตั้งให้ตึงกว่ากลองคองกา  ตัวกลองติดตั้งอุปกรณ์ ยึดติดให้อยู่คู่กัน ขณะที่ตีกลอง ผู้ตีจะต้องหนีบกลองทั้ง 2 ใบ ให้อยู่ระหว่างขาทั้งสองข้างหนีบไว้ด้วยหัวเข่า  หรือวางไว้บนขาตั้งโลหะก็ได้  กลองบองโกต้องตีด้วยปลายนิ้วมือ และฝ่ามือ เช่นเดียวกับกลองคองโก
  6. แทมบูริน (Tambourine) เป้นเครื่องตีกระทบ  ประกอบขึ้นด้วยขอบกลม เหมือนขอบกลองขนาดเล็กประมาณ 10 นิ้ว ขอบทำด้วยไม้ พลาสติก หรือโลหะ  รอบๆขอบติดด้วยแผ่นโลหะประกบกัน 2 แผ่น หรือติดด้ยลูกกระพรวนเป็นระยะ ใช้การตีกระทบกับฝ่ามือหรือสั่นเขย่าให้เกิดเสียงดังกรุ๋งกริ๋ง  เพื่อประกอบจังหวะให้เกิดความสนุกสนาน สดชื่น แทมบูรินบางชนิดจะขึงด้วยหนังเหมือนกลอง 1 ด้านใช้ฝ่ามือตีที่หนัง
  7. กิ่ง (Triangle) คือ เครื่องตีกระทบ ทำด้วยแท่งโลหะ ตัดให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แท่งโลหะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. เพื่อใหเกิดเสียงดังกังวาน ต้องแขนกิ๋งไว้กับเชือกแล้วตีกระทบด้วยแท่งโลหะ กิ๋งมีเสียงกังวาน แจ่มใส มีชีวิตชีวา
  8. มาราคา (Maraca) คือเครื่องตีกระทบ เดิมทำด้วยผลน้ำเต้าแก่จัด ทำให้แห้ง ภายในบรรจุด้วยเมล็ดน้ำเต้า เม็ดถั่วต่างๆ หรือลูกปัดลูกเล็กๆ ต่อด้ามไว้สำหรับจับถือ  เวลาเล่นใช้เขย่าเพื่อให้เกิดเสียงซ่าๆ จะเขย่าด้วยมือทั้ง 2 ข้าง  ให้ดังสอดสลับกัน ปัจจุบันทำด้วยไม้
  9. คาบาซา (Cabasa) คือ เครื่องตีกระทบ เดิมทำด้วยผลน้ำเต้า หรือผลบวบแห้ง  ภายนอกรอบๆห่อหุ้มด้วยลูกประคำร้อยเชือก จะมีด้ายมือถือหรือไม่มีก็ได้ เกิดเสียงโดยการหมุน สั่น เขย่า ถู เพื่อให้ลูกประคำเคลื่อนที่เสียดสีกับผิวของผลน้ำเต้า หรือผลบวบ ทำให้เกิดเสยงดังขึ้น  เสียงของคาบาซาจะฟังคล้ายกับเสียงของมาราคา  ปัจจุบันคบาซาทำด้วยไม้ประกอบโลหะเป็นทรงกระบอก มีด้ามจับมือ ผิวของกระบอกห่อหุ้มด้วยแผ่นโลหะ  ทำผิวให้ขรุขระ  ลูกประคำนั้นจะทำด้วยโลหะร้อยติดกันล้อมรอบผิวโลหะ
  10. ระฆังราว (Tubular Bells) ทำด้วยท่อโลหะ  แขวนเรียงตามลำดับเสียงจากสูงไปต่ำ  แขวนกับโครงโลหะในแนวดิ่ง ใช้ไม้ตีที่ปลายท่อด้านหัวจะเกิดเป็นเสียงเหมือนระฆัง
  11. เคาเบลล์ (Cowbell) คือ เครื่องดนตรีประเภทตีกระทบ  พัฒนามาจากกระดิ่งผูกคอวัว นำมาทั้งรูปร่าง และชื่อ แต่รูปทรงจะคล้ายกับระฆังมากกว่ากระดิ่ง ตีด้วยไม้กลอง  เคาเบลล์จะใช้มากในดนตรีละนอเมริกา และดนตรีประกอบการเต้นลีลาศ  เคาเบลล์ยังใช้เป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของกลองชุดอีกด้วย โดยเฉพาะกลองชุดสำหรับดนตรีร็อค
  12. กลองชุด (Drum set) คือกลองที่ประกอบด้วยกลองใหญ่ กลองสะแนร์ ฉาบ 1 หรือ 2 ฝา กลองทอม 2 หรือ 3 ลูกไฮแฮท (ฉาบ 2 ฝาประกบติดกัน กระทบกันด้วยขาเหยียบ) พร้อมทั้งเพิ่มเครื่องกระทบจังหวะอื่นๆ ประกอบเข้าด้วยกันเป็นพิเศษอีกด้วย เช่น เคาเบลล์ เป็นต้น
  13. ฉาบ (Cymbal) คือ เครื่องกระทบ มีหลายลักษณะ บางชนิดใช้ตีคู่ให้เกิดเสียง ผู้ตีต้องสอดมือเข้าไปที่หูร้อยฉาบซึ่งทำสายหนัง แบฝ่ามือให้ประกบแนบกับฝาฉาบตรงส่วนนูนกลางฉาบ แล้วตีกระทบฝาฉาบด้วยมือทั้งสองข้าง  ฉาบบางชนิดจะใช้เพียงข้างเดียวตีด้วยไม้ตีฉาบ ประเภทนี้ต้องติดตั้งบนขาตั้ง เช่น ฉาบที่ใช้สำหรับกลองชุด เป็นต้น  ฉาบมีหลายขนาด เส้นผ่านศูนย์กลางมากจะทำให้เกิดเสียงดังและความก้องกังวานมากขึ้น
  14. มาริมบา (Marimba) คือ เครื่องตีกระทบ ที่มีระดับเสียงแน่นอน ลักษณะทั่วๆไป จะเหมือนกับไซโลโฟน หรือไวบราโฟน เป็นระนาดไม้ขนาดใหญ่ของดนตรีตะวันตก ลูกระนาดทำด้วยไม้พิเศษที่มีชื่อว่า “Rosewood” ใต้ลูกระนาดมีท่อโลหะติดอยู่เพื่อเป็นตัวขยายเสียงเพิ่มความกังวาน
  15. ไซโลโฟน (Xylophone) คือ เครื่องตีกระทบที่มีระดับเสียงแน่นอน เป็นระนาดไม้ขนาดเล็กของดนตรีตะวันตก
    ลักษณะทั่วไปจะคล้ายกับมาริมบาหรือไวบราโฟน แต่มีขนาดเล็กกว่า  ลูกระนาดทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ใต้ลูกระนาดมีท่อโลหะติดอยู่ เพื่อเป็นตัวขยายเสียง
  16. ไวบราโฟน (Vibraphone) คือ เครื่องตีกระทบที่มีระดับเสียงแน่นอน เป็นระนาดโลหะของดนตรีตะวันตก  ลักษณะทั่วไปคล้ายกับมาริมบา หรือไซโลโฟน เป็นระนาดขนาดใหญ่ลูกระนาดทำด้วยโลหะ ใต้ลูกระนาดมีท่อโลหะเพื่อเป็นตัวขยายเสียง มีแกนบพัดเล็กๆประจำอยู่แต่ละท่อใช้ระบบมอเตอร์หมุนใบพัด ทำให้เกิดเสียงสั่นรัวได้

5. เครื่องลิ่มนิ้ว (Keyboard Instrument)

               มักนิยมเรียกทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า “เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด” ลักษณะเด่นคือ มีลิ่มนิ้วสำหรับกด  เพื่อเปลี่ยนระดับเสียงดนตรี ลิ่มนิ้วสำหรับกดนั้นนิยมเรียกว่า”คีย์” (key)  เกิดเสียงโดยการกดคีย์ที่ต้องการ แล้วคีย์นั้นจะส่งแรงไปที่กลไกต่างๆภายในเครื่อง เพื่อที่จะทำให้สายโลหะที่ขึงตงสั่นสะเทือน  บางชนิดให้ลมผ่านไปยังลิ้นโลหะให้สั่นสะเทือนทำให้เกิดเสียง ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว เช่น ออร์แกนลม แอ็คคอร์เดียน  สำหรับเมโลเดียน และเมโลดิกา ที่นำมาใช้เป็นอุปกรณ์กาสอนดนตรี ก็จัดอยู่ในเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดเช่นกัน
              ในปัจจุบันเครื่องดนตรีที่เกิดเสียงโดยใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับความนิยมมาก  เพราะสามารถเลียนแบบเสียงเรื่องดนตรีต่างๆได้หลายชนิด เครื่องสตริง (String Machine) คือเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด  ที่เลียนเสียงเครื่องดนตรีตระกูลไวโอลินทุกชนิด อิเล็กโทน คือ เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดที่มีจังหวะในตัว สามารถบรรเลงเพลงต่างๆได้ด้วยนักดนตรีเพียงคนเดียว
               ในยุคของคอมพิวเตดร์  เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดได้วิวัฒนการไปมาก  เสียงต่างๆมากขึ้น  นอกจากเสียงดนตรีแล้วยังมีเสียงเอฟเฟ็คต์ (Effect) ต่างๆให้เลือกใช้มาก
              เสียงต่างๆเหล่านี้เป็นเสียงที่สังเคราะห์ขึ้นมาด้วยระบบ อิเล็กทรอนิกส์  ดังนั้นเรื่องดนตรีประเภทนี้จึงถูกเรียกว่า “ซินธีไซเซอร์” (Synthesizer)

  1. เปียโน (Piano) เกิดเสียงโดยการกดคีย์ที่ต้องการ  แล้วคียืนั้นจะส่งแรงไปที่กลไกต่างๆภายในเครื่อง  เพื่อที่จะทำให้สายโลหะที่ขึงตึงสั่นสะเทือน ทำให้เกิดเสียงดังขึ้น สายจะถูกตีด้วยค้อน ซึ่งเชื่อมโยงไปยังคีย์ที่กด โดยผ่านเครื่องกลไกซับซ้อน ที่เรียกว่า “แอ็คชั่น” แต่เดิมเปียโนมีชื่อว่า เปียโนฟอร์เต (Pianoforte)  ทั้งนี้เพราะ เปียโนสมารถบรรเลงด้วยเสียงเบา (piano) และเสียงดัง (forte) ได้อย่างเด่นชัด
  2. ออร์แกน (Organ) เป็นเครื่องดนตรีคีย์บอร์ดประเภทใช้ลมมีลมเป่าผ่านท่อทำให้เกิดเสียงท่อละหนึ่งเสียง  มีแผงคีย์ที่กดเล่นด้วยมือเรียกว่า แมนนวล (Mannual) และแผงคีย์ที่เหยียบด้วยเท้า เรียกว่า เพดดัล (Pedal) การบังคับกลุ่มท่อต่างๆซึ่งจัดไว้เป็นพวกเดียวกันทำได้โดยการใช้ปุ่มกด หรือดันยกขึ้นลง ที่เรียกว่า สต็อป  ออร์แกนขนาดใหญ่จะมีกลุ่มท่อเปลี่ยนเสียงที่เรียกว่า รีจีสเตอร์ เป็นจำนวนมาก  เพื่อใช้สร้างสีสันแห่งเสียงได้หลากหลายออร์แกนสมัยใหม่ใช้ไฟฟ้าบังคับแกนลม  ซึ่งตามแบบดั้งเดิมนั้นลมที่ใช้ก็เกิดจากการอัดลมด้วยเท้าของผู้เล่น หรือไม่ก็มีผู้ช่วยอัดลมแทนให้
  3. ฮาร์ปซิคอร์ด (Harpsichord)  เกิดก่อนเปียโน สายภายในเครื่องดนตรีจะถูกเกี่ยวด้วยไม้ดีด (Quills) ขณะที่เรากดคีย์ลงไป (ตรงข้ามกับเปียโนใช้ค้อนเคาะ) ไม่อาจทำให้เสียงที่ดังหรือเบาตามลำดับได้  มักจะมีคีย์บอร์ดสองแผง  แนวหนึ่งจะทำให้เสียงดัง อีกแนวหนึ่งจะทำให้เสียงเบา ปุ่มหรือเสียงพ่วงใช้สายเชื่อมสายเสียงแต่ละชุดทำให้เกิดเสียงหลายอ็อกเทฟ จากการกดคีย์เดียวเท่านั้น  ฮาร์ปซิคอร์ดได้รับความนิยมมากช่วงศตวรรตที่ 16-18
  4. คลาวิคอร์ด (Clavichord)  เป็นเครื่องดนตรีคียืบอร์ดในยุคแรกๆประเภทเกิดเสียงได้จากการดีด (เคาะ)  โดยมีสายเสียงที่ขึงไปตามรูปของกล่องไม้ ส่วนปลายสุดของคีย์จะมีกลไก สำหรับทำหน้าที่งัด หรือเคาะลิ่มทองเหลืองเล็กๆ ในขณะผู้เล่นกดคีย์ลงไป  ลิ่มทองเหลืองนี้จะยกขึ้น และตีไปที่สายเสียง  เพื่อทำให้เกิดเสียงคลาวิคอร์ด เป็นเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดประเภทแรก  ที่สามารถเล่นได้ทั้งเสียงเบาและเสียงดัง  โดยการเพิ่มลดน้ำหนักการกดคีย์ เสียงที่ได้จากคลาวิคอร์ดมีความไพเราะและนุ่มนวล