วันศิลปินแห่งชาติ

สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ จันทร์, 13/10/2008 – 10:59

วันศิลปินแห่งชาติ
ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี

     วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภก ทรงทำนุบำรุง ซ่อมแซมงานศิลปกรรมต่างๆ และทรงส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ
พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ดังจะขอยกตัวอย่างต่อไปนี้

ด้านกวีนิพนธ์
     รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับการยกย่องว่า เป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยหนึ่ง มีความรุ่งเรืองด้านกาพย์กลอนสูงสุด จนมีคำกล่าวว่า “ในรัชกาลที่ 2 นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด” ในรัชสมัยนี้มีกวีที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนมากมาย ทรงเป็นยอดกวีด้านการแต่งบทละครทั้งละครในและละครนอก และเป็นที่รู้จักจวบจนปัจจุบันนี้

ด้านปฏิมากรรม /ประติมากรรม
     พระองค์ท่านทรงส่งเสริมงานช่างด้านหล่อพระพุทธรูป และยังทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งไทยด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้แล้วยังทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์ฯ คู่หน้าด้วยพระองค์เองร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี และทรงแกะหน้าหุ่นหน้าพระใหญ่และพระน้อยที่ทำจากไม้รักคู่หนึ่งที่เรียกว่าพระยารักใหญ่ และพระยารักน้อยไว้ด้วย

ด้านดนตรี
     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระปรีชาสามารถดนตรีเป็นอย่างสูง เครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดปรานคือ ซอสามสาย เพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ เพลงบุหลันลอยเลื่อน หรือ บุหลัน(เลื่อน)ลอยฟ้า ต่อมามักจะเรียกว่า เพลงทรงพระสุบิน เพลงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายจนรู้จักกันกว้างขวางถึงปัจจุบันเช่นกัน

     ด้วยเห็นว่าประเทศไทยมีศิลปินในสาขาต่างๆ เป็นจำนวนมากที่ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้ให้แก่ประเทศชาติ ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาประเทศว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมสูงส่ง ดังนั้น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงจัดให้มีโครงการศิลปินแห่งชาติขึ้น เมื่อพ.ศ. 2527 เพื่อจัดทำเนียบศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศ และสรรหาบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะด้วยความอุตสาหะ และมีผลงานปรากฏต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อยกย่องเกียรติคุณให้เป็นศิลปินแห่งชาติ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะนำศิลปินแห่งชาติเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้แทนพระองค์ เพื่อรับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของแต่ละปี ซึ่งกำหนดให้เป็นวันศิลปินแห่งชาติทางราชการสนับสนุน ส่งเสริมให้จัดงานวันศิลปินแห่งชาติกันทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติสังกัดอยู่ โดยให้ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด และศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ศิลปินได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงาน เพื่อส่งเสริมให้มีการสืบทอดความรู้ความสามารถของศิลปิน และเพื่ออนุรักษ์ศิลปะแขนงต่างๆเอาไว้ไม่ให้สูญหาย โดยเฉพาะศิลปะพื้นบ้านงานวันศิลปินแห่งชาติจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2529
     โครงการศิลปินแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ พุทธศักราช 2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะล้ำค่า และ ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยมีสำนัก งานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา ศิลปินแห่งชาติ นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะ ของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้าการจัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการ ไว้ 5 ข้อ ได้แก่

  1. จัดทำทำเนียบศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศ 
  2. สรรหาศิลปินเพื่อประกาศยกย่องเกียรติคุณขึ้นเป็นศิลปินแห่งชาติ 
  3. จัดตั้งกองทุน (มุลนิธิ) สวัสดิการเพื่อศิลปิน 
  4. สนับสนุนให้ศิลปินได้มีโกาสเผยแผร่ผลงาน 
  5. อนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการสืบทอดความรู้ ความสามารถของศิลปิน

คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ
  1.เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
  2.เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น
  3.เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
  4.เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
  5.เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
  6.เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
  7.เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
กลุ่มที่ 1 ศิลปินแห่งชาติ 
  1. ค่าครองชีพรายเดือน เดือนละ 6,000 บาท 
  2. ค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัว ตามระเบียบของทางราชการ 
  3. ช่วยเหลือเมื่อประสบอุบัติเหตุ หรือสาธารณะภัยเท่าที่จ่ายจริง หรือไม่เกิน 5,000 บาท 
  4. ช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต คนละ 12,000 บาท
กลุ่มที่ 2 ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม 
  1. ค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัว ตามระเบียบของทางราชการ 
  2. ช่วยเหลือเมื่อประสบอุบัติเหตุ หรือสาธารณะภัยเท่าที่จ่ายจริง หรือไม่เกิน 3,000 บาท 
  3. ช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต คนละ 7,000 บาท 
กลุ่มที่ 3 ศิลปินอื่นนอกจากกลุ่มที่ 1และ 2 
  การช่วยเหลือให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการกองทุนศิลปิน 

ลักษณะและความหมายของเข็มศิลปินแห่งชาติ
     ลักษณะของเข็ม   เป็นเหรียญกลม ภายในจัดองค์ประกอบเป็นภาพดอกบัวเรียงกันสามดอก มีแพรแถบรองรับต่อเนื่อง
อ้อมรัดแถบริ้วธงชาติไทยตามแนวโค้งของเหรียญ ภายในผ้าจารึกคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” และได้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี
ประดิษฐานไว้เหนือเหรียญกลมโดยมีผ้าโบพันรอบคฑาไม้ชัยพฤกษ์ หัวเม็ดทรงมัณฑ์ เชื่อมประสานระหว่างกัน
ศิลปินแห่งชาติ 
     ศิลปินแห่งชาติ 4 ท่านแรกที่ทางสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ได้แก่ 
  1. หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ 
  2. ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์ 
  3. นายเฟื้อ หริรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ 
  4. นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • guru.sanook.com
  • tungsong.com