สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ อังคาร, 24/03/2009 – 17:40

วันนักข่าวหรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ
ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี

          วันนักข่าว หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ได้มีการจัดตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน)ขึ้น และกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม ซึ่งเป็นวันจัดตั้งสมาคมให้เป็น “วันนักข่าว” ด้วย

          สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่น บุกเบิก จำนวน 15 ท่าน คือ

  1. นายโชติ มณีน้อย
  2. นายเท่ห์ จงคดีกิจ
  3. นายประจวบ อัมพะเสวต
  4. นายวิเชียร โรจนวงศานนท์
  5. นายถาวร มุ่งการดี
  6. นายสนิท เอกชัย
  7. นายเชาว์ รูปเทวินทร์
  8. นายจรัญ โยบรรยงค์
  9. นายกุศล ประสาร
  10. นายชลอ อาภาสัตย์
  11. นายอนงค์ เมษประสาท
  12. นายวิสัย สุวรรณผาติ
  13. นายนพพร ตุงคะรักษ์
  14. นางวิภา สุขกิจ
  15. นายเลิศ อัศเวศน์ 


          ซึ่งทั้ง 15 ท่านมีการนัดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมี นายชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุมซึ่งได้ร่วมชุมนุมกันก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยขึ้นมาเมื่อ 48 ปีที่แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นหนังสือพิมพ์ทั้งหลายต่างให้ความสำคัญกับ “วันนักข่าว” กันเป็นอย่างดี ซึ่งถือว่าเป็นวันหยุดการทำงานของบรรดานักข่าวทั้งหลาย  เป็นที่ทราบกันดีว่าวันที่ 6 มีนาคม ของทุกปีจะไม่มีหนังสือพิมพ์ออกมาขาย ต่อมาเมื่อความต้องการในข่าวสารมีมากขึ้นชาวนักข่าวทั้งหลายได้มีการแอบออกหนังสือพิมพ์มาขายในวันที่ 6 มีนาคม ทำให้หนังสือพิมพ์อื่นจำใจต้องเลิกประเพณีนี้ไป

          สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมมา งานทั้งสองจัดขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมฯ อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน ซึ่งบริเวณริมฟุตบาทใกล้เคียง ก็เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาเหยี่ยวข่าว นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลัง จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถนนราชดำเนินยังเป็นถนนสายหลัก มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ยังคับแคบ ส่งผลให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไปมา จึงได้ย้ายสถานที่จัดการประชุมไปยังโรงแรมต่างๆ ตามความเหมาะสม

          เวลาต่อมา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เข้ารวมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และวันนักข่าว จนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมวันนักข่าว

  1. กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์วันนักข่าว อาทิ การประกาศยกย่องหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าว ช่างภาพ ที่มีผลงานยอดเยี่ยม สมควรได้รับรางวัล “อิศรา อมันตกุล”
  2. กิจกรรมพบปะสังสรรค์ในระยะสั้นๆในห้วงเวลาเย็นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพื่อให้นักข่าวจากทุกสำนักมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
  3. กิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พี่ป้าน้าอา หรือเพื่อนๆ นักข่าวผู้ล่วงลับ โดยมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัดชนะสงครามทุกๆปี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • www.igetweb.com
  • www.tlcthai.com