วันฉัตรมงคล

สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ อังคาร, 14/10/2008 – 15:45
มีผู้อ่าน 26,467 ครั้ง (04/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/17001

วันฉัตรมงคล
วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี

            เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุข
แห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
-พระปฐมบรมราชโองการ รัชกาลที่ 10-

วันฉัตรมงคล 

           ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม วันสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี 

ความหมายของวันฉัตรมงคล

          วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก

ความสำคัญของวันฉัตรมงคล

        วันฉัตรมงคล เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 และดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

         ดังนั้น รัฐบาลไทยและพสกนิกรจึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า   “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึก วัดศรีชุมของพญาลิไท ว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย

          จากนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคล

          ก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง

          จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2393 โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย

          ดังนั้น จึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก

         ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 วันบรมราชาภิเษก ตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน

พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน

         ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน 3 วัน นั่นคือ

          วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย สรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เลี้ยงพระ พระสงฆ์ดับเทียนชัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

          วันที่ 5 พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

          วันที่ 6 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เสด็จออกให้ทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันฉัตรมงคล

  1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
  2. ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
  3. น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยโดยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลยิ่งยืนนาน

          เมื่อวันฉัตรมงคลเวียนมาบรรจบครบรอบอีกหนึ่งครา ในวันที่ 4 พฤษภาคม พสกนิกรชาวไทยทั้งหลายจึงควรรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันมีคุณอนันต์แก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

แหล่งข้อมูล : https://www.ect.go.th/satun/ewt_news.php?nid=382&filename=index

อ่านเพิ่มเติม...

วันฉัตรมงคลสมัยรัชกาลที่ 9

     วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ แห่งราชอาณาจักรไทย โดยสมบูรณ์ กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจาก สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในเวลานั้น ดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” เนื่องจากในเวลานั้น ยังมิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั่นเอง
     จากนั้น พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนเมื่อทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทย รัฐบาลไทยในขณะนั้น ก็ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ปวงพสกนิกรชาวไทย จึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก
     ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

     การจัดพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพิธีที่จัดต้อนรับหรือรับรองฐานะความเป็นประมุขของสังคม อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งมีมาแต่ครั้งพ่อขุนผาเมือง ได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย ดังปรากฏในหลักฐานในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท
     ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระองค์ได้ทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติทุกสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์
     พระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” และที่สำคัญประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามแบบอย่างโบราณ ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เป็นวันจุดเทียนชัย และวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 อันเป็นวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขั้นตอนของพิธีที่สำคัญ แบ่งออกเป็น 5 ลำดับ ดังนี้
  1. ขั้นเตรียมพิธี
  2. พิธีเบื้องต้น
  3. พิธีบรมราโชวาท
  4. พิธีเบื้องปลาย และ
  5. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

  1. ขั้นเตรียมพิธี 
     มีการตักน้ำและตั้งพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษก และน้ำสรงมูรธาภิเษก สำหรับน้ำอภิเษกนั้น ต้นตำราให้ใช้น้ำจากสถานที่สำคัญต่างๆ 18 แห่ง และทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พุทธเจดีย์ที่สำคัญตามจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร แล้วส่งเข้ามาเจือปนเป็นน้ำมูรธาภิเษกให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรง และทรงรับน้ำอภิเษกในวันพระราชพิธีราชาอภิเษกต่อไป
พระพุทธเจดีย์ที่สำคัญที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ทั้ง 18 แห่ง คือ

  1. จังหวัดสระบุรี ที่ตั้งพระพุทธบาท
  2. จังหวัดพิษณุโลก ที่ตั้งวัดพระศรีมหาธาตุ
  3. จังหวัดสุโขทัย ที่ตั้งวัดพระมหาธาตุ
  4. จังหวัดนครปฐม ที่ตั้งพระปฐมเจดีย์
  5. จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ตั้งวัดพระมหาธาตุ
  6. จังหวัดลำพูน ที่ตั้งวัดพระธาตุหริภุญชัย
  7. จังหวัดนครพนม ที่ตั้งวัดพระธาตุพนม
  8. จังหวัดน่าน ที่ตั้งวัดพระธาตุแช่แห้ง
  9. จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ตั้งวัดบึงพระลานชัย
10. จังหวัดเพชรบุรี ที่ตั้งวัดมหาธาตุ
11. จังหวัดชัยนาท ที่ตั้งวัดพระบรมธาตุ
12. จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ตั้งวัดโสธร
13. จังหวัดนครราชสีมา ที่ตั้งวัดพระนารายณ์มหาราช
14. จังหวัดอุบลราชธานี ที่ตั้งวัดศรีทอง
15. จังหวัดจันทบุรี ที่ตั้งวัดพลับ
16. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ตั้งวัดมหาธาตุ อำเภอไชยา
17. จังหวัดปัตตานี ที่ตั้งวัดตานีณรสโมสร
18. จังหวัดภูเก็ต ที่ตั้งวัดทอง
     น้ำสำหรับมูรธาภิเษกเป็นน้ำที่เจือด้วยน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี สรภู มหิ และจากปัญจสุทธคงคา ในแม่น้ำสำคัญทั้ง 5 ของไทย คือ
  1.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว จังหวัดอ่างทอง
  2.แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าชัย จังหวัดเพชรบุรี
  3.แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม
  4.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี
  5.แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลบึงพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก
     และน้ำ 4 สระ คือสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเคยใช้เป็นน้ำสรงมาแต่โบราณนอกจากนี้ยังมีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎดวงพระบรมราชสมภพ (ดวงเกิด) และแกะพระราชลัญจกร (ดวงตราประจำรัชกาล) โดยได้มีการประกอบพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2493 ในพระอุโบสถวัดพระศรีศาสดาราม

2. พิธีในเบื้องต้น 
     มีการตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระบรมราชาภิเษก

  3. พิธีบรมราชาภิเษก 
     เริ่มด้วยการสรงพระมุรธาภิเษกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรพระราชอาสน์ ราชบัณฑิตและพราหมณ์นั่งประจำ 8 ทิศ กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล ถวายดินแดนแต่ละทิศให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุ้มครอง (ในรัชกาลนี้ได้เปลี่ยนจากราชบัณฑิตเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน)
     ในวันที่ 5 พฤษภาคม อันเป็นวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงมูรธาภิเษก แล้วทรงเครื่องต้นเสด็จออกประทับ เหนือพระที่นั่งอัฐทิศภายใต้สตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น)
     สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษก และพราหมณ์ทำพิธีพวายน้ำเทพมนต์เวียนไปครบ 8 ทิศ เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ (จิตต์ ณ สงขลา) ประธานวุฒิสมาชิกสภา ถวายพระพรเป็นภาษามคธ และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ ประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายพระพรเป็นภาษาไทย พระราชครูวามเทพมุนี ถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณ์ร่ายเวทเปิดศิวาลัยไกลาลทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฎ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ ด้วยภาษามคธ
 สำหรับพระสุพรรณบัฎ ได้จารึกพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
      เมื่อทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่างๆ แล้ว พระราชครูวามเทพมุนี ถวายพระพรชัยมงคลด้วยภาษามคธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตอบ พระราชอารักษาแต่ปวงชนชาวไทย ด้วยภาษาไทยว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
     เมื่อพระราชครูวามเทพมุนีรับพระราชโองการด้วยภาษามคธและภาษาไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรางหลั่งน้ำทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรมจริยา
     จากนั้นทรงเปลื้องพระมหาพิชัยมงกุฎ พระธำมรงค์รัตนวราวุธ และพระธำมรงค์วิเชียรจินดา จมื่นสิริวังรัตน (เฉลิม คชาชีวะ) เลขาธิการพระราชวัง ทูลเกล้าฯ ถวายดอกพิกุลทอง พิกุลเงิน ทรงโปรยพระราชทานแก่พราหมณ์ แล้วเสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณ สู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ 80 รูป พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระสังฆราชถวายอดิเรกเป็นปฐม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายพระพรลา แล้วเสด็จขึ้น สมเด็จพระสังฆราชดับเทียนชัย

  4. พิธีเบื้องปลาย เสด็จออกมหาสมาคม
     เวลาบ่ายของวันที่ 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออกมหาสมาคม ที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ให้คณะรัฐมนตรี คณะฑูต สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทน และข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อกราบทูลถวายพระพรชัยมงคล โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กราบทูลในนามคณะรัฐมนตรีและข้าราชการทั่วพระราชอาณาจักร และพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานรัฐสภา กราบทูลในนามประชาชนชาวไทย แล้วทรงมีพระบรมราชโองการตรัสตอบขอบใจทั่วกัน แล้วเสด็จขึ้น
     นอกจากนี้ยังมีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระราชินี ประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ถวายพระบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิ พระอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนๆ และเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร

  5. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร
     การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค จัดเป็นราชประเพณีที่สำคัญพิธีหนึ่ง เมื่อเสด็จพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งนี้เพื่อให้พสกนิกร ได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่

การจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองวันฉัตรมงคลในอดีต
     แต่เดิมเป็นงานพิธีเฉลิมฉลองของเจ้าพนักงานในพระราชฐานที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในหกเดือน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำดิว่า ในอารยประเทศย่อมนับถือว่า วันคล้ายวันบรมราชาบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคลสมัยควรเฉลิมฉลอง จึงทรงริเริ่มวันฉัตรมงคลขึ้นแต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่อธิบายใหฟังก็ไม่เข้าใจ เผอิญวันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม จึงทรงอธิบายว่า ฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภคทำให้ไม่มีใครติดใจสงสัย
     พระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าอยู่หัวได้มีการเฉลิมฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วยเหตุนี้จึงถือว่า การเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีในรัชกาลของพระบาลสมเด็จพระจอมเจ้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
     ในสมัยรัชกาลที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จะโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 ก็ไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดยินยอม จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูโภคอยู่ตามเดิม รูปงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นดังนี้จนถึงปัจจุบัน 

การจัดงานวันฉัตรมงคลในปัจจุบัน
      ในขั้นตอนการจัดงานวันฉัตรมงคลในปัจจุบัน มักกำหนดให้เป็น 3 วัน คือ วันที่ 3 พฤษภาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน คือ พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระบรมราชบุพการี ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งในวันนี้ได้เพิ่มพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลที่จะพระราชทานแก่หน่วยทหารบางหน่วยเข้าไว้ด้วย 
     ในวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันเริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานจะได้อัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร พระครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล แล้วทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
     ในวันที่ 5 ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ทรงบูชาเครื่องกกุธภัณฑ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช พระมหาเศวตฉัตรและราชกกุธภัณฑ์  
      ตอนเย็นพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่ผู้มีความดีความชอบ แล้วเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ปราสาทพระเทพบิดร เป็นเสร็จพระราชพิธี 
     ในวันฉัตรมงคลสำนักพระราชวังได้เปิดปราสาทหลายแห่งให้ประชาชนได้เข้าชมและถวายบังคม 
     งานพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นเครื่องหมายยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติมาครบรอบปีด้วยดีอีกวาระหนึ่ง และตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และปวงชนชาวไทยนับอเนกอนันต์  
      ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ประชาชนชาวไทยจึงได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองเนื่องในวันฉัตรมงคลเป็นประจำทุกปี 
     และเนื่องในมหามงคลสมัย ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบรอบปี 50 ปีในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 ทางราชการจัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระอันเป็นมงคลยิ่ง 

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติเนื่องในวันฉัตรมงคล
  1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
  2. ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนาถวายเป็นพระราชกุศล
  3. น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลยิ่งยืนนาน 

ย่อ