วันเต่าโลก (World Turtle Day)

สร้างโดย : นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
สร้างเมื่อ พฤ, 23/05/2019 – 06:57
มีผู้อ่าน 7,361 ครั้ง (04/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/229740

วันเต่าโลก (World Turtle Day)
ตรงกับวันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปี

http://www.mnre.go.th/upload/244nw/real/pic-201815051526350932919-1526351258774.jpg

          วันที่ 23 พฤษภาคม ปี ค.ศ 2000 ได้เริ่มมีการกำหนดให้เป็นวันเต่าโลก  โดยองค์กร American Tortoise Rescue ในรัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเล   องค์กรแห่งนี้เล็งเห็นถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเต่า  รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์เต่า  เนื่องจากเต่าเป็นสัตว์ที่มีปริมาณแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ  ทางองค์กรจึงได้กำหนดให้วันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปี  เป็น “วันเต่าโลก” (World Turtle Day)

เต่า…สัตว์อายุยืน

          เต่าเป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในอันดับ Testudines อยู่ในจำพวกสัตว์เลือดเย็น ในชั้นสัตว์เลื้อยคลาน เต่าเป็นสัตว์โบราณที่มีชีวิตตั้งแต่ในยุคไตรแอสสิคจนถึงยุคปัจจุบัน สาเหตุที่เต่ามีอายุยืน เป็นเพราะเต่ามีระบบกลไกการทำงานที่ทำให้เซลล์ในร่างกายเต่าทำงานน้อยลง เช่น เต่ามีการเคลื่อนที่ช้า หายใจช้า และยังมีความสามารถในการอดอาหารได้นาน ทำให้ร่างกายมีอัตราการเผาผลาญต่ำ เต่าจึงกลายเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน โดยเต่าที่อายุยืนมากที่สุด คือ “เต่ายักษ์อัลดราบร้า” ซึ่งเป็นเต่าที่มีอายุมากถึง 255 ปี

เต่า….สัตว์มีกระดอง

         กระดอง เป็นอวัยวะสำคัญของเต่าที่ทำให้เต่าแตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ กระดองเต่าเป็นกระดูกแข็งที่คลุมบริเวณหลังและท้อง กระดองเต่าเป็นโครงสร้างที่ช่วยค้ำจุนร่างกาย และป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยจะหดหัวและขา เข้าไปในกระดอง (ยกเว้น เต่าทะเลที่ไม่สามารถหดหัวและขาเข้าไปในกระดองได้)
          นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า “กระดอง” เป็นส่วนอวัยวะที่ถูกวิวัฒนาการขึ้นมาภายหลัง เนื่องจากได้ค้นพบซากฟอสซิลของเต่าOdontochelys semistestacea ซึ่งมีอายุประมาณ 220 ล้านปี โดยเป็นเต่าที่ไม่มีกระดอง จึงมีการสันนิษฐานว่า เต่าค่อย ๆ พัฒนากระดองขึ้นมาเพื่อป้องกันการถูกไล่ล่า โดยเกิดจากการขยายตัวของกระดูกที่อยู่บริเวณผิวหนังเมื่อเวลาผ่านไปกระดูกได้ขยายใหญ่ขึ้นและหลอมรวมกับผิวหนังภายนอกจนกลายเป็นกระดองในที่สุด
          กระดองเต่าไม่ได้มีประโยชน์ไว้เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกไล่ล่าแต่เพียงเท่านั้น เรายังสามารถคำนวณอายุของเต่าได้จากกระดองเต่า โดยกระดองเต่าจะขยายขนาดไปทางด้านข้าง ตามอายุของมัน ยิ่งอายุมากกระดองก็จะยิ่งโตขึ้นการนับอายุของเต่านับจากวงตรงกลางของกระดองเต่า ซึ่งคล้ายกับการนับวงปีของต้นไม้นั่นเอง (อ่านบทความกระดองเต่าบอกอายุได้อย่างไร ได้ที่ http://vcharkarn.com/varticle/39578)

เต่า…สัตว์บก-น้ำจืด-ทะเล

         เต่าแบ่งได้เป็นสามชนิด ได้แก่ เต่าบก เต่าน้ำจืด และเต่าทะเล โดยเต่าบกและเต่าน้ำจืดถูกจัดอยู่ในอันดับเทสทูดิเนส (Order Testudines) ส่วนเต่าทะเลถูกจัดอยู่ในอันดับชีโลเนีย (Order Chelonia)
         เต่าทั้งสามชนิดนี้จะมีลักษณะเฉพาะพิเศษที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปตามลักษณะการดำรงชีวิต เช่น เต่าทะเล มีลักษณะเฉพาะของกระดองเป็นรูปทรงรีแบน และเท้ามีลักษณะคล้ายกับใบพาย เพื่อเอื้ออำนวยต่อการว่ายน้ำ และเหมาะกับการดำรงชีวิตในทะเล (ยกเว้น เต่ามะเฟือง ซึ่งเป็นเต่าทะเลเพียงชนิดเดียวที่ไม่มีกระดองปกคลุม แต่จะมีส่วนของแผ่นหนังที่เป็นแผ่นหนา ไม่มีเกล็ด เรียงซ้อนกันเป็นร่องและสันนูนสลับกันคล้ายกลีบของผลมะเฟือง) ส่วนเต่าน้ำจืด กระดองแบนน้อยกว่าเต่าทะเล เท้ามีลักษณะแบนและมีพังผืดระหว่างนิ้วเท้า ในขณะที่เต่าบกมีลักษณะกระดองโค้งนูน และเท้ามีลักษณะเป็นทรงกระบอก เพื่อให้เหมาะแก่การดำรงชีวิตบนบก

เต่า…สัตว์กำหนดเพศได้ด้วยอุณหภูมิ

         สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ถูกกำหนดเพศจากโครโมโซมของพ่อและแม่ แต่เต่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีการกำหนดเพศจากอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมโดยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิระหว่างการฟักไข่ หากไข่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง (สูงกว่า 32 องศาเซลเซียส) จะออกมาเป็นเพศผู้ ในทางตรงกันข้าม หากไข่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อุณภูมิต่ำ (ต่ำกว่า 28 องศาเซลเซียส) ไข่จะฟักออกมาเป็นเพศเมีย และหากอุณหภูมิฟักไข่อยู่ในช่วงปานกลาง (ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส) เต่าจะมีอัตราการเกิดออกมาเป็นเพศผู้และเพศเมียเท่ากัน (50-50 %)
         สัตว์ที่มีอายุยืน และมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตอย่างเต่า ทำให้เต่าน่าจะกลายเป็นสัตว์ที่มีจำนวนมากที่สุดชนิดหนึ่งในโลกด้วยซ้ำ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เต่าเป็นสัตว์ที่มีปริมาณจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จนถึงขั้นวิกฤติ แม้เต่าจะเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน แต่กลับมีความสามารถในการแพร่พันธุ์ต่ำ เต่าสามารถกำหนดเพศได้ด้วยอุณหภูมิ แต่ปัจจุบันอุณหภูมิของโลกเกิดความแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงไปมาก โลกเริ่มมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เต่ามีอัตราการเกิดเป็นเพศเมียสูงขึ้น นอกจากนี้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ยังส่งผลทำให้เต่าสูญเสียพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การวางไข่อีกด้วย
          นอกจากนี้การถูกไล่ล่ายังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เต่ามีจำนวนลดลง เนื่องจากเต่าสามารถนำมาใช้ทำเป็นอาหารและทำเครื่องประดับและเครื่องหนังตกแต่งได้ เต่าจึงเป็นสัตว์ที่ถูกไล่ล่าจากผู้แสวงหาผลประโยชน์อยู่เสมอ
          ปัจจุบันจึงมีองค์กรและหน่วยงานหลายแห่งที่ช่วยรณรงค์และร่วมกันเสริมสร้างจิตสำนึก เพื่อให้ทุกคนร่วมกันหันมาอนุรักษ์เต่า และเนื่องในโอกาสวันที่ 23 พฤษภาคมซึ่งเป็น วันเต่าโลก นี้ จึงขอเชิญทุกคนร่วมรณรงค์และส่งเสริมการอนุรักษ์ “เต่า…สัตว์ดึกดำบรรพ์แห่งโลกสีคราม” ที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ ให้คงอยู่คู่กับโลกของเราต่อไปครับ

อ้างอิง
– http://th.wikipedia.org/wiki/เต่า
– กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง http://www.dmcr.go.th/
– http://th.wikipedia.org/wiki/สัตว์เลื้อยคลาน
– องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แงชาติ (อพวช.) http://www.nsm.or.th/

อ่านเพิ่มเติม...

ข้อมูลทั่วไปของเต่าทะเล

https://km.dmcr.go.th/ckeditor/upload/files/turtle/5_9_2561_11_05_22.png

เต่ากระ

          เต่าทะเลเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่เคยมีหลักฐานพบว่าอาศัยอยู่ทั่วไปในสมัย 130 ล้านปีก่อน นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าเคยพบซากโบราณ (fossil) ก่อนหน้านั้นไม่น้อยกว่า 200 ล้านปีการแพร่กระจายของเต่าทะเล พบอยู่เฉพาะในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น เต่าทะเลทั่วโลกพบอยู่ 8 ชนิดด้วยกัน คือ เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) เต่าตนุ (Chelonia mydas) เต่าหลังแบน (Natator depressus) เต่ากระ (Eretmochelys imbricata), เต่าหัวฆ้อน (Caretta caretta) เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) เต่าหญ้าแคมป์ (Lepidochelys kempi) และเต่าดำ (Chelonia agassizii) ในประเทศไทยพบเต่าทะเลเพียง 5 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่าหัวค้อน โดยเต่าหัวค้อนไม่เคยพบขึ้นวางไข่ในประเทศไทยเลยตลอดระยะ 20 ปี ที่ผ่านมาเพียงแต่มีรายงานพบหากินอยู่ในน่านน้ำไทยเท่านั้น

          การเดินทางเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเต่าทะเล เมื่อถึงเวลาพ่อและแม่เต่าทะเลจะว่ายน้ำจากแหล่งหากินอันแสนไกล เพื่อมาผสมพันธุ์และบรรจงเลือกแหล่งวางไข่ ณ ชายหาดอันเงียบสงบแล้วจากไป ปล่อยให้ลูกน้อยฟักออกมาเพียงลำพัง ลูกเต่าแรกเกิดซึ่งมีขนาดเล็กและมีกระดองที่ยังไม่แข็งแรง จะต้องรีบคลานจากหาดทรายในเวลาค่ำคืนลงสู่ทะเล และว่ายน้ำออกสู่ทะเลลึกเพื่อหลีกหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่ง แม้กระนั้นก็ตามลูกเต่าเหล่านี้มีโอกาสรอดเพียง 1 ใน 1,000 ตัว ที่จะเจริญเติบโตเป็นพ่อแม่เต่าทะเลเพื่อสืบทอดอนาคตของชาติพันธุ์ต่อไป

          การขึ้นวางไข่ในประเทศไทยเลยตลอดระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่มีรายงานพบหากินอยู่ในน่านน้ำไทยในอดีตที่ผ่านมา เต่าทะเลถูกล่าจับไปเป็นจำนวนมาก โดยเนื้อและไข่ถูกนำไปเป็นอาหาร กระดอง นำไปเป็นเครื่องประดับและเครื่องตบแต่ง หนังถูกนำไปเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องหนังต่างๆ นอกจากนั้นไขมันของเต่าทะเลยังสามารถนำไปสกัดใช้เป็นส่วนผสมของสบู่ หรือน้ำหอมที่มีราคาอีกด้วยนอกจากการล่าจับเพื่อใช้ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ในอดีตได้มีการเปิดว่าประมูลเก็บฟองไข่เต่าทะเลเพื่อการค้า โดยผู้ว่าประมูลสามารถรวบรวมไข่เต่าทะเลนำไปค้าขาย ซึ่งในเงื่อนไขหนึ่งคือไข่เต่าทะเลประมาณ 20 % จะต้องนำไปเพาะฟักเป็นตัวเพื่อปล่อยกลับลงสู่ทะเล

ที่มา https://km.dmcr.go.th/th/c_6

เต่ามะเฟือง

อนุกรมวิธาน

Kingdom : Animalia
Phylum : Chordata
Class : Reptilia
Order : Testudines
Family : Dermochelyidae
Scientific Name : Dermochelys coriacea (Vandelli, 1761)
Synonym(s) : Testudo coriacea Vandelli, 1761
Common Name : Leatherback, Leatherback Sea Turtle, Leathery Turtle, Luth, Trunkback Turtle, Trunk Turtle, Coffin-back
ชื่อไทย: เต่ามะเฟือง

ข้อมูลทั่วไป

          เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ จัดเป็นทรัพยากรร่วมของภูมิภาคและระดับโลก เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับเต่าทะเลที่มีอยู่ 7 ชนิดทั่วโลก จำนวนประชากรพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองที่มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงปีละไม่ถึง 10 ตัวในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการทบทวนแนวทางการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการคุ้มครองเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกชนิดนี้ ให้เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 18แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ผลจากการดูแลเต่ามะเฟืองและแหล่งที่อยู่อาศัยจะช่วยคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

คุณลักษณะของชนิดพันธุ์

​           เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่ยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม กระดองเป็นหนังหนาสีดำมีจุดประสีขาว มีร่องสันนูนตามยาว 7 สัน อาศัยอยู่ในทะเลเปิดกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก ในประเทศไทยพบวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและภูเก็ต

​           เต่ามะเฟืองออกลูกเป็นไข่ แม่เต่ามะเฟืองจะขุดหลุมฝังไข่บริเวณชายหาดอันเงียบสงบ ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง จากนั้นจึงคลานลงสู่ทะเล ปล่อยให้ลูกเต่าฟักออกมาเป็นตัวเพียงลำพัง โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 55-60 วัน ในระหว่างนี้อุณหภูมิจะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่ออัตราการฟัก ระยะเวลาที่ใช้ฟัก และที่สำคัญเป็นตัวกำหนดเพศของลูกเต่า โดยทั่วไปสัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียจะมีมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิในหลุมฟักไข่สูงขึ้น ลูกเต่าที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกมาจากหลุมพร้อมๆ กัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเลลูกเต่าแรกเกิดยังคงมีถุงไข่แดงจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณท้อง ลูกเต่าจะใช้ไข่แดงที่เหลืออยู่นี้เป็นแหล่งพลังงานในการว่ายน้ำอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหลบหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่งมุ่งออกทะเลลึก เต่ามะเฟืองซึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตหากินในบริเวณทะเลลึกไกลจากฝั่ง และจะเข้ามาชายฝั่งอีกครั้งเพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่

ชนิดพันธุ์ที่คล้ายคลึง

         เต่ามะเฟืองมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่นโดยเฉพาะเอกลักษณ์ที่ไม่มีเกล็ดให้เห็นเหมือนเต่าชนิดอื่น มีจุดประสีขาวบนลำตัว และมีสันเป็นแนวยาวจากหน้าถึงหลังทำให้ง่ายต่อการจำแนก ไข่เต่ามะเฟืองมีสีขาว ขนาดใหญ่และค่อนข้างกลม แตกต่างจากไข่เป็ดไข่ไก่ นอกจากนี้ยังสามารถระบุว่าเป็นเต่ามะเฟืองโดยใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมได้

ข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน
วันที่ : 25 ธันวาคม 2561

ที่มา https://km.dmcr.go.th/th/c_258

https://www.youtube.com/watch?v=y35Kw6UQdh4

ย่อ