วันสื่อสารแห่งชาติ
สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ พฤ, 26/03/2009 – 09:53
มีผู้อ่าน 15,377 ครั้ง (07/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/20797
วันสื่อสารแห่งชาติ
วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปี
“การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายและทุกหน่ายงานที่เกี่ยวข้อง กับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือกันดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิด และสอดคล้อง สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยี อันทันสมัยให้ลึกและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดีมีประสิทธิภาพแน่นอนมาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่ม ให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง”
ข้อความข้างต้น เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ได้ทรงพระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 เนื่องในโอกาสการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดร่วมกับงานครบรอบ 100 ปี ของการสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข และการเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลก การสื่อสารในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข” ขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2526 และได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นผู้สำเร็จราชการทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเป็นพระองค์แรกต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ทั้ง 2 กรมนี้ได้รวมเป็นกรมเดียวกัน มีชื่อใหม่ว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กิจการสื่อสารของไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาเป็นสำดับ มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของทางราชการขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น กรมประชาสัมพันธ์ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ในส่วนของภาคเอกชนก็มีบริษัทห้างร้านที่ดำเนินกิจการด้านการ สื่อสารเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานเหล่านี้ได้ร่วมกันสนองพระราชปณิธานในอันที่จะพัฒนากิจการสื่อสารของประเทศให้เจริญก้าวหน้าตลอดมาจนบัดนี้
ความเป็นมาของวันสื่อสารแห่งชาติ
การสื่อสารในประเทศไทย นอกจากพิราบสื่อสารและม้าเร็วแล้ว การสื่อสารเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ช่วงที่บ้านเมืองปลอดจากภัยสงคราม การเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพมั่นคง โดยวัตถุประสงค์ของการสื่อสารในยุคนั้น ก็เพื่อนำมาสนับสนุนกิจการด้านงานความมั่นคงของประเทศ ซึ่งยุคนั้นเรียกได้ว่า เป็นยุคเริ่มล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ต่างแย่งชิงผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ด้วยกัน และอารยะธรรมตะวันตกเริ่มหลั่งไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
ต่อมาในยุคพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) การสื่อสารได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับราชสำนัก และเกิดพัฒนาสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับประเทศมหาอำนาจ จนทำให้ประเทศรอดพ้นจากการถูกคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตกหลายครา รวมทั้งการสื่อสารสามารถทำให้รับเอาวิทยาการใหม่ๆ มาปรับปรุงพัฒนาประเทศในเวลาต่อมา
จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดาในการปฏิรูปประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหากษัตริย์ผู้วางรากฐานกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการสื่อสารว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ และเพื่อบำบัดทุกข์ราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนสนับสนุนงานด้านความมั่นคงของชาติด้วยประการหนึ่ง แรกทีเดียวนั้นการสื่อสารอยู่ในรูปไปรษณีย์พิเศษ ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในพระบรมมหาราชวัง และเขตพระนครชั้นใน]โดย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2424 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งการไปรษณีย์
ในที่สุดการสื่อสารของไทยโดยการไปรษณีย์ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็น “กรมไปรษณีย์” อย่างเป็นทางการขึ้น ในวันที่ 4 สิงหาคม 2426 โดยมีที่ทำการไปรษณียาคารแห่งแรก ที่ ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลราชบูรณะ และอาคารในพระราชอุทยานสราญรมย์
ขณะนั้นได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีระบบโทรคมนาคมเข้ามา นั่นคือ กิจการโทรเลข ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีโทรคมนาคมอันทันสมัยรวดเร็วที่สุดในยุคนั้น เดิมทีกิจการโทรเลขอยู่ในความดูแลของกลาโหม และมีพัฒนาการต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการวางสายโทรเลขเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2418 กรุงเทพฯ ไป สมุทรปราการ เพื่อใช้ในงานราชการ จนกระทั่งได้เปิดให้มีบริการสำหรับประชาชนเป็นครั้งแรก เมื่อ 16 กรกฎาคม 2426 โดยมีอัตราค่าบริการ “คำละ 1 เฟื้อง” จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็น “กรมโทรเลข” อีกกรมหนึ่ง และมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการกรมโทรเลขอีกตำแหน่งหนึ่ง จากนั้นกลาโหมได้เริ่มมีการนำโทรศัพท์เข้ามาและมอบให้กรมโทรเลขดูแลต่อ
เห็นได้ว่ากิจการไปรษณีย์และกิจการโทรเลขนั้นคือ งานบริการประชาชนเพื่อติดต่อสื่อสาร ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2441 กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รวม กรมไปรษณีย์ และ กรมโทรเลข เป็นกรมเดียวกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมทั้งสองกรมไว้เป็นกรมเดียวกันชื่อว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” ตั้งแต่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2441 เป็นต้นมา
วันสื่อสารแห่งชาติ คืออะไร?
วันสื่อสารแห่งชาติ 2565 คือ วันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข ตรงกับวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 และได้ทรงแต่งตั้งให้เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชโอรสกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการ
ที่มาวันสื่อสาร 4 สิงหาคม
เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสาร การติดต่อต่างๆ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งนอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนยังเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานและพัฒนาระบบการสื่อสารด้วยเช่นกัน
คณะรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความเปลี่ยนแปลงของการสื่อสารดังกล่าว และมีมติออกใหม่ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ว่าด้วยเรื่องกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสื่อสารแห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและจุดเริ่มต้นของการสื่อสารของไทย
จุดเริ่มต้นการสื่อสารของไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน
ยุคเริ่มต้น
– เดิมทีสังคมไทยเน้นการติดต่อสื่อสารด้วยการพูดคุยเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า “ปากต่อปาก” จากนั้นจึงเริ่มมีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อส่งเสียงหรือส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายรับรู้ ตลอดจนการใช้สัตว์และคนเดินทางไปส่งข้อมูล
– พ.ศ. 2400 ชนชั้นสูงของไทยเริ่มมีการใช้โทรเลขในการติดต่อสื่อสาร
– พ.ศ. 2404 คณะราชทูตปรัสเซียได้เดินทางมาเข้าเฝ้า พร้อมนำเทเลกราฟหรือโทรเลข รวมถึงเครื่องบรรณาธิการต่างๆ มาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 4 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ทำให้สังคมไทยรู้จักโทรเลขเป็นวงกว้างมากขึ้น
– พ.ศ. 2418 รัชกาลที่ 5 พลิกวิกฤติเป็นโอกาสจากการตกเป็นทาสอาณานิคมและสร้างเส้นทางโทรเลขสายแรก ตลอดจนขยายออกสู่ภูมิภาคพร้อมๆ กับเส้นทางรถไฟ
ยุคอะนาล็อก
– พ.ศ. 2426 เปิดให้คนไทยทุกชนชั้นใช้โทรเลขได้ ทำให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
– พ.ศ. 2426 มีการสถาปนากรมโทรเลขและไปรษณีย์ขึ้นอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะมีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมเป็นวันสื่อสารแห่งชาติ
– พ.ศ. 2426 ได้มีการเปิดให้คนเช่าใช้โทรศัพท์ ระบบแม็กนีโต ก่อนจะพัฒนามาเป็นโทรศัพท์ระบบไฟกลาง ตลอดจนวิทยุโทรศัพท์ในอีก 48 ปีต่อมา
– พ.ศ. 2441 ได้มีการรวมกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนที่ทำการ เพื่อให้สะดวกและติดต่อกันได้ง่ายขึ้น
– พ.ศ. 2447 ได้มีการนำระบบวิทยุโทรเลขมาใช้งานเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นพื้นฐานการสื่อสารแบบไร้สายในยุคเวลาต่อมา
– พ.ศ. 2480 โทรศัพท์แบบอัตโนมัติเริ่มเข้ามาสู่สังคมไทยเป็นช่วงแรก
– พ.ศ. 2505 มีการให้บริการเทเล็กซ์ในกรุงเทพฯ สำหรับติดต่อสื่อสารกันได้เอง ไม่นานนักก็ได้มีเครื่องโทรสารเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกในการสื่อสารด้วยเช่นกัน
– พ.ศ. 2509 ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การโทรคมนาคมทางดาวเทียมระหว่างประเทศ ทำให้มีการถ่ายภาพผ่านดาวเทียมอวกาศครั้งแรก
– พ.ศ. 2514 มีการใช้ชุมสายโทรศัพท์ครั้งแรก เมื่อได้รับความนิยมเพิ่มสูง ก็มีการพัฒนาระบบสื่อสารเรื่อยมา
– พ.ศ. 2520 ก่อตั้งกสท.ทำหน้าที่ดูแลและให้บริการกิจการการติดต่อสื่อสารต่างๆ ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ
ยุคดิจิทัล
– พ.ศ. 2546 มีการก่อตั้งบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และแยกไปรษณีย์ออก เพื่อการควบคุมดูแลที่สะดวก
– มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพิ่มความสะดวกในการสื่อสาร
– มีการรับส่งสัญญาณเสียง ภาพ และข้อมูลอย่างสะดวก สามารถสื่อสารได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมทั้งมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่รองรับการทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็นวันสื่อสารแห่งชาตินั้นมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงมีการจัดงานและจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการสื่อสารไทยต่อคนรุ่นใหม่
ที่มา : ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานกสทช., ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสยาม และสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2462069