วันเยาวชนแห่งชาติ

สร้างโดย : นางสาวสุพัฒน์กุล ภัคโชค
สร้างเมื่อ จันทร์, 18/08/2008 – 15:59
มีผู้อ่าน 25,713 ครั้ง (08/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/8715

วันเยาวชนแห่งชาติ
วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี

     วันเยาวชนเเห่งชาติ เริ่มมีขึ้นในประเทศไทยเมื่อสหประชาชาติกำหนดให้ปี พ.ศ. 2528 เป็นปีเยาวชนสากล คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็นวันเยาวชนเเห่งชาติ เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสองพระองค์ ซึ่งเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในฐานะยุวกษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เเละพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 

ความเป็นมาของวันเยาวชนแห่งชาติ
     สืบเนื่องมาจากคำประกาศขององค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ปีพุทธศักราช 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากลภายใต้คำขวัญ “Participation Development and Peace”

     สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ โดยถือว่าเป็นวันที่เป็นสิริมงคลอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์สองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ จึงถือได้ว่าเป็นวันสิริมงคลที่เยวชนควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ เยาวชนึงควรกระตือรือล้นในการพัฒนาตนเองและประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติเฉกเช่นยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์

     เรามีวันเด็กแห่งชาติโดยถือวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี แต่ที่มุ่งเป็นเยาวชนโดยเริ่มในปีเยาวชนสากลนั้น เนื่องจากความหมายสากลของเยาวชน หมายถึงคนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15-25 ปี ในขณะที่เด็กมักจะหมายถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 14 ปี

     ในประเทศไทยจากการสำรวจมีเยาวชนจำนวนถึง 11 ล้านคนเศษ และจำนวนนี้จะเพิ่มมากขึ้นในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 และต่อเนื่องไปถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 13 ล้านคน ในช่วงเวลานี้ จากนั้นจำนวนจะค่อยๆ ลดลง

     นับแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นไป เยาวชนของชาติจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน และพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นเยาวชนจำนวน 11 ล้านคนซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ควรได้ตระหนักว่า เยาวชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ซึ่งเยาวชนสามารถกระทำได้โดยการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้อง อาทิ นิยมใช้สินค้าไทย ภูมิใจและหวงแหนปรารถนาที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รู้จักประหยัดและมีวินัย รวมทั้ง พร้อมที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชาติ ตลอดจนยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่การพัฒนาไปตามลำพังนั้นเป็นการพัฒนาเพียงส่วนเดียวย่อมได้ประโยชน์ไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เยาวชนทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมในทุกรูปแบบด้วยจึงจะสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างเต็มที่

     ส่วนสำคัญมากอีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาเยาวชน คือ ภาคเอกชน ธุรกิจเอกชน ควรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชนของชาติให้มากยิ่งขึ้น การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการพัฒนาเยาวชนไปฝ่ายเดียว คงไม่สามารถพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพและคุณธรรมได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้หากธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชน ในด้านการฝึกอาชีพต่าง ๆ ซึ่งธุรกิจเอกชนนั้นดำเนินการอยู่ ก็จะสามารถช่วยให้เยาวชนมีความสามารถในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น มีงานทำและมีรายได้

     อย่างไรก็ตาม อีกสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญมากเช่นกัน ได้แก่ สถาบันครอบครัว ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองมีความเข้าใจ เอาใจใส่ทะนุถนอมให้ความรักและความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้องแล้วก็จะสามารถช่วยให้เยาวชนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและคุณธรรมได้อย่างแน่นอน

      พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 673 ได้ให้ความหมายของคำว่า “เยาวชน” หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส

     องค์การสหประชาชาติ (สุภักดิ์ อนุกูล วันสำคัญของไทย, หน้า 82) ได้ให้ความหมายสากลของคำว่า “เยาวชน” หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15-25 ปี

     เยาวชน เป็นกลุ่มคนที่มีพลังอันสำคัญที่สามารถช่วยกันเสริมสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต เยาวชนควรตระหนักในคุณค่าของตนเองที่ร่วมแรงร่วมใจ สามัคคี และเสียสละส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีคุณธรรม จริยธรรม และสติปัญญาอันชาญฉลาด ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามแก่สังคม และนำพาประเทศชาติสู่ความเจริญรุ่งเรือง

     นับแต่ปี พ.ศ. 2528 เยาวชนของชาติ ได้รับการส่งเสริม และพัฒนาให้สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองพัฒนาชุมชนและพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล โดยใช้คำขวัญ “Participation, Development and Peace” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ และมอบคำขวัญที่ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” ซึ่งมีความหมายละเอียดลึกซึ้งต่อเยาวชนทุกคน สามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติดังนี้

     ร่วมแรงแข็งขัน (participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส ได้ใช้โอกาสและพึงพอใจที่ได้ใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่าโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่นั้น เป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติที่สำคัญ

     ช่วยกันพัฒนา (development) การพัฒนานั้นมองได้ 2 มิติ มิติหนึ่งคือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล และอีกมินิหนึ่งคือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญ และอีกมิติหนึ่งคือการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ขณะเดียวกัน การพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วยกระบวนการพัฒนา 2 ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่อง สัมพันธ์กัน และในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จะมีผลอย่างสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ

     ใฝ่หาสันติ (peace) สันติภาพเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและดำรงคงไว้ คนหนุ่มสาวจึงต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ ผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วยสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพพื้นฐาน

เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ

ความเป็นมาของเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ

         ในปี พ.ศ.2517 สำนักเยาวชนแห่งชาติ ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารและประสานงานเยาวชนแห่งชาติว่า เพื่อประสิทธิภาพและความมั่นคงในการดำเนินงานเยาวชนแห่งชาติ สมควรที่ขอรับพระราชทาน “เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ผูกพันพลังน้ำใจ และเป็นเครื่องยึดมั่นสักการบูชาร่วมกันของบรรดาเยาวชน กลุ่มเยาวชน และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน จึงได้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งสำนักพระราชเลขาธิการได้นำความกาบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้ไม่ทรงขัดข้อง จึงมีพระบรมราชานุญาตให้นำพระมหาพิชัยมงกุฎประดับบนส่วนยอดเครื่องหมายเยวชนแห่งชาติ

ความหมายเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ

     เครื่องหมายเยาวชนนี้ได้รับพระราชทาน และพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระมหาพิชัยมงกุฎบนส่วนยอดของเครื่องหมาย เพื่อเป็นมิ่งขวัญ กำลังใจ และศิริมงคลแก่ชีวิตของเยาวชน รูปลักษณะของเครื่องหมายนี้เป็นรูปโล่สีธงชาติ มีอักษรคำว่า “เยาวชน” สีขาวอยู่ในวงกลมพื้นสีเขียว เบื้องบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรัศมีอุณาโลม เบื้องล่างมีอักษรสีแดงว่า พลังพัฒนาชาติ รองรับด้วยรวงข้าว 9 รวง แยกอยู่ทางด้านขวา 5 รวง ด้านซ้าย 4 รวง ซึ่งสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้อธิบายได้ดังนี้คือ

  1. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ องค์ประมุขสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะ และเป็นจุดรวมน้ำใจของคนทั้งประเทศ
  2. รัศมีที่พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหมายความว่า เยาวชนไทยนั้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือได้รับพระบารมีปกเกล้าฯ
  3. อุณาโลม หมายถึง หว่างพระขนงของพระพุทธเจ้า ใช้เป็นเครื่องหมายแทนศาสนา
  4. อักษรเยาวชนสีขาวในพื้นวงกลมสีเขียวรูปโล่สีธงชาติ หมายถึง พลังอันบริสุทธิ์แห่งความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยาวชนไทย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาการกสิกรรม อันเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
  5. รวงข้าวทั้ง 9 รวง มีความหมายถึง เป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนทั้ง 9 ประการ ตามนโยบายเยาวชนแห่งชาติ โดยที่รวงข้าวหมายถึง ความเติบโตงอกงาม ฉะนั้น คุณลักษณะ 9 ประการที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชน จึงเปรียบเสมือนคุณสมบัติที่จะงอดงามขึ้นตามตัวเยาวชน
  6. อักษรว่า พลัง พัฒนาชาติ เป็นคำขวัญ เพื่อเตือนใจเยาวชนให้ตระหนักว่า พวกเขานั้นมีพลังบริสุทธิ์อันหนักแน่น จริงจัง ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากในการช่วยพัฒนาประเทศชาติ

คุณสมบัติเด็กและเยาวชนที่พึ่งประสงค์ 6 ประการ

  1. มีความผูกพันในครอบครัว ภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีทักษะในอาชีพและการดำรงชีวิตที่รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น
  2. มีสุขภาพและพลานามัยแข็งแรงและรู้จักการป้องกันตนเองจากโรคและสิ่งเสพติด
  3. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ จริยธรรม คุณธรรม และมีพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบตามวัย
  4. มีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน มีศักดิ์ศรีและความภูมิใจในการทำงานสุจริต
  5. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลรอบด้าน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
  6. รู้จักช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ

เป้าหมายของวันเยาวชนที่สำคัญมี 3 ประการคือ

  1. เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ 15-25 ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการพัฒนาตนเองพัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ
  2. เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของ การพัฒนาเยาวชนให้เป็นทรัพยาการบุคคลที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ทั้งในด้านคุณภาพ และคุณธรรม
  3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริม และพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สัมฤทธิ์ผล
https://arit.kpru.ac.th//contents/phubet/IMG/E-Calendar/Important_day/09/Youth.PNG

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเยาวชนแห่งชาติ

  1. จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความสำคัญ หน้าที่ ของเยาวชนเพื่อให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักและเข้าใจ 
  2. ร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมสาธารณประโยชน์กิจการเพื่อการกุศล กิจกรรมในชุมชน ฯลฯ

     เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ จึงได้มีการส่งเสริมให้เยาวชนที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ได้ตระหนักว่าเยาวชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม รับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคง และเจริญรุ่งเรือง โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเอง ให้เป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้อง ภูมิใจและหวงแหน และอนุรักษ์ซึ่งความเป็นไทย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รู้จักการอดออม และประหยัดรวมทั้งการบำเพ็ญตน ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัริตย์เป็นประมุข

     นอกเหนือจากหน่วยงานของรัฐแล้ว หน่วยงานภาคเอกชนทั่วไป ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนา และส่งเสริมให้เยาวชนของชาติ เป็นทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพ และสถาบันที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ในการพัฒนาเยาวชนของชาติคือ สถาบันครอบครัว ซึ่งหากผู้ปกครองมีความเข้าใจเอาใจใส่ดู แลทะนุถนอมให้ความรักความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้อง แล้วก็จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการที่ จะนำพาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ และคุณธรรม ซึ่งจะนำพาและประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า