ระดับภาษา

สร้างโดย : นางสาวศรีสวาสดิ์ บุนนาค
สร้างเมื่อ พุธ, 26/11/2008 – 14:12
มีผู้อ่าน 257,864 ครั้ง (08/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/18424

ระดับภาษา

          ความรู้เกี่ยวกับระดับภาษาช่วยให้สามารถพูดและเขียนภาษาไทยได้ถูกต้องเหมาะสมกับสัมพันธภาพของบุคคล  โอกาสและกาลเทศะ  เพื่อให้การสื่อสารเป็นที่เข้าใจและพอใจทั้งฝ่ายผู้ส่งสารและผู้รับสารและบังเกิดสัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย

การแบ่งระดับภาษา

ภาษาอาจแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ได้หลายวิธี เช่น
ก. แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
          -ระดับที่เป็นทางการ ( แบบแผน )
          -ระดับที่ไม่เป็นทางการ ( ไม่เป็นแผน )
ข. แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
          -ระดับพิธีการ ( แบบแผน )
          -ระดับกึ่งพิธีการ ( กึ่งแบบแผน )
          -ระดับไม่เป็นพิธีการ ( ไม่เป็นแบบแผนหรือภาษาปาก )
ค. แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ
          -ระดับพิธีการ
          -ระดับทางการ
          -ระดับกึ่งทางการ
          -ระดับไม่เป็นทางการ
          -ระดับกันเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างระดับภาษา 

  1. ภาษาระดับพิธีการ
    ใช้สื่อสารในที่ประชุม ซึ่งจัดขึ้นอย่างเป็นพิธีการ เช่น การกล่าวอวยพร การกล่าวคำปราศรัย การกล่าวรายงาน การกล่าวเปิดประชุม ฯลฯ ผู้ส่งสารมักเป็นบุคคลสำคัญหรือมีตำแหน่งสูง ผู้รับสารส่วนมากเป็นบุคคลในวงการเดียวกันหรือเป็นชนกลุ่มใหญ่ สัมพันธภาพระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีต่อกันอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่ผู้ส่งสารกล่าวฝ่ายเดียว ถ้ามีการกล่าวตอบก็กระทำอย่างเป็นทางการ สารทุกตอนมีลักษณะเป็นพิธีรีตอง ใช้ถ้อยคำที่ไพเราะกลั่นกรองมาล่วงหน้าแล้ว
  2. ภาษาระดับทางการ
    ใช้ในการบรรยายหรืออภิปรายอย่างเป็นทางการในการประชุมซึ่งต่อช่วงจากตอนที่เป็นพิธีการ หรือใช้ในการเขียนข้อความที่จะปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ในหนังสือที่ติดต่อกันทางราชการหรือในวงการธุรกิจ ผู้ส่งสารและผู้รับสารมักจะเป็นบุคคลซึ่งมีหน้าที่และภารกิจโดยตรงในแต่ละด้าน ในวงการหรือวงอาชีพเดียวกัน สัมพันธภาพระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นไปในด้านธุรกิจและการงาน การใช้ภาษาระดับนี้มุ่งให้ได้ผลตามจุดประสงค์โดยเร็ว โดยประหยัดการใช้ถ้อยคำและเวลาให้มากที่สุด อาจใช้ศัพท์เฉพาะมากหรือน้อยแล้วแต่ลักษณะการประชุมและผู้รับสาร ในกรณีจำเป็น ผู้ส่งสารอาจต้องใช้คำอธิบายให้มากขึ้นก็ได้
  3. ภาษาระดับกึ่งทางการ
    ภาษาระดับนี้คล้ายกับภาษาระดับทางการแต่ลดความเป็นการเป็นงานลงบ้าง มักใช้ในการประชุมกลุ่มที่เล็กกว่าการประชุมที่ต้องใช้ภาษาระดับทางการ เช่น ในการประชุมกลุ่มย่อย การบรรยายในห้องเรียน ข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ มักใช้ภาษาที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคยมากกว่าภาษาในระดับทางการ และใช้ศัพท์เฉพาะเท่าที่จำเป็น
  4. ภาษาระดับไม่เป็นทางการ
    ใช้ในการสนทนาระหว่างบุคคลหรือกลุ่มไม่เกิน 4 – 5 คน ในสถานที่และโอกาสที่ไม่ใช่เป็นการส่วนตัว เช่น ในการเขียนจดหมายระหว่างเพื่อน การรายงานข่าว การเสนอบทความในหนังสือพิมพ์ เนื้อหาของสารอาจเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป ไม่จำกัดเฉพาะวิชาการ ภาษาที่ใช้อาจมีถ้อยคำที่เคยใช้กันเฉพาะกลุ่ม
  5. ภาษาระดับกันเอง
    ใช้ในวงจำกัดที่เป็นการส่วนตัว เช่น ภายในครอบครัว เพื่อนสนิท ที่บ้านหรือห้องที่เป็นสัดส่วนโดยเอกเทศ เนื้อหาของสารเช่นเดียวกับภาษาระดับกันเองภาษาที่ใช้มักเป็นภาษาพูดเท่านั้น ไม่นิยมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากใช้ในนวนิยาย บทละคร หรือเรื่องสั้น อาจใช้คำสแลงหรือคำภาษาถิ่นปะปนบ้างก็ได้


ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับการแบ่งระดับภาษา

  1. การแบ่งระดับภาษาไม่เป็นการตายตัว ภาษาแต่ละระดับอาจมีการเหลื่อมล้ำคาบเกี่ยวกันบ้าง เช่น ภาษาระดับทางการกับภาษาระดับกึ่งทางการ   หรือภาษาระดับกึ่งทางการกับภาษาระดับไม่เป็นทางการหรือภาษาระดับไม่เป็นทางการกับภาษาระดับกันเอง 
  2. ภาษาทั้ง 5 ระดับ ไม่มีโอกาสใช้พร้อมกัน ระดับที่ใช้มาก คือ  ภาษาระดับกึ่งทางการกับภาษาระดับไม่เป็นทางการ   ส่วนภาษาระดับพิธีการมีโอกาสใช้น้อยและบางคนไม่นิยมใช้ภาษาระดับกันเอง 
  3. ภาษาบางระดับใช้แทนที่กันไม่ได้ เช่น  ภาษาระดับพิธีการ,ภาษาระดับทางการ   หรือภาษาระดับทางการ,ภาษาระดับกึ่งทางการจะใช้แทนภาษาระดับไม่เป็นทางการ,ภาษาระดับกันเองไม่ได้
  4. การใช้ภาษาผิดระดับจะเป็นผลเสียต่อการสื่อสาร