สารเสพติดและผลต่อร่างกาย
สร้างโดย : ไพรัตน์ คำปา
สร้างเมื่อ เสาร์, 18/07/2009 – 23:14
มีผู้อ่าน 212,869 ครั้ง (17/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/28771
สารเสพติดและผลต่อร่างกาย
เวลา 2 ชั่วโมง
สาระสำคัญ
สารเสพติด หมายถึง สิ่งที่รับเข้าสู่ร่างกายแล้วมีผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสพ คือ ทำให้มีความต้องการอยากเสพต่อไปเรื่อย ๆ และต้องการเสพเพิ่มขึ้น เมื่อไม่ได้เสพจะมีการแสดงออกในลักษณะต่างๆ เช่น หาว อาเจียน น้ำตาไหล ทุรนทุราย คลุ้มคลั่ง ขาดสติ เป็นต้น การเสพสารเสพติดมีสาเหตุมาจากตัวผู้เสพเองและจากสิ่งแวดล้อม สำหรับบุหรี่และแอลกอฮอล์หากสูบและดื่มทุกวันจะทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
จุดประสงค์การเรียนรู้
- ระบุความหมายและประเภทของสารเสพติดได้
- อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ติดสารเสพติดได้
- สรุปโทษของบุหรี่และแอลกอฮอล์ได้
สาระการเรียนรู้
- ความหมายของสารเสพติด
- สารเสพติดในประเทศไทย
- สาเหตุที่ทำให้ติดสารเสพติด
กิจกรรมการเรียนรู้
- ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
- ครูนำภาพคนเสพยาบ้าแล้วทำอันตรายผู้อื่นให้นักเรียนดู และให้นักเรียนเขียนบรรยายความรู้สึกจากการดูภาพนั้น
- ครูแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้
- ขั้นกิจกรรม
- นักเรียนศึกษาเรื่องสารเสพติดและผลของสารเสพติดต่อร่างกาย จากหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ ม.2 หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่องที่ 17 หน้า 63 – 64 และจากใบความรู้ที่ 17
- นักเรียนจับคู่กันทำใบงานที่ 17 กิจกรรมที่ 1 เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้วให้แลกกัน ตรวจผลงาน
- นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน ทำใบงานที่ 17 กิจกรรมที่ 2
- ขั้นสรุป
- นักเรียนควรสรุปได้ว่า แนวสรุป การสูบบุหรี่ทำให้ปอดได้รับอันตราย ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ทำให้เสียบุคลิกภาพ
- ครูชื่นชมผลงานจากการทำภาพโฆษณารณรงค์โทษของการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- ครูนำผลงานของนักเรียนมาติดหน้าชั้นเรียน
สื่อ/แหล่งการเรียนรู้
- สื่อการเรียนรู้
- ใบความรู้ที่ 17 เรื่อง สารเสพติดและผลต่อร่างกาย
- ใบงานที่ 17 เรื่อง สารเสพติดและผลต่อร่างกาย
- อุปกรณ์ตามใบงานที่ 17
- ภาพจากสื่อสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับคนเสพยาบ้าหรือสารเสพติดต่าง ๆ
- หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ ม.2 หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่อง สารเสพติดและผลต่อร่างกาย ของบริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด
- แหล่งเรียนรู้
- ห้องสมุด
- ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
การวัดและประเมินผล
- วิธีวัดและประเมินผล
- สังเกตจากพฤติกรรมรายบุคคล
- สังเกตจากพฤติกรรมการปฏิบัติงานภายในกลุ่ม
- ประเมินจากพฤติกรรมการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม
- ตรวจจากใบงานที่ 17
- เครื่องมือวัดและประเมินผล
- แบบสังเกตพฤติกรรมรายบุคคล (อยู่ในภาคผนวก หน้า 294)
- แบบสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติงานภายในกลุ่ม (อยู่ในภาคผนวก หน้า 297)
- แบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม (อยู่ในภาคผนวก หน้า 295)
- ใบงานที่ 17 เรื่อง สารเสพติดและผลต่อร่างกาย
- เกณฑ์การวัดและประเมินผล
- แบบสังเกตพฤติกรรมรายบุคคล ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ผ่านเกณฑ์
- แบบสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติงานภายในกลุ่ม ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ผ่านเกณฑ์
- แบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ผ่านเกณฑ์
- ใบงาน ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ผ่านเกณฑ์
ข้อเสนอแนะ
ครูอาจให้ผู้เรียนหาภาพเกี่ยวกับโทษของสารเสพติดชนิดต่าง ๆ เพื่อใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียน โดยการนำเสนอหน้าชั้นเรียนแล้วนำภาพเหล่านั้นไปใช้ประกอบการทำใบงาน
สารเสพติดและผลต่อร่างกาย
ใบความรู้
สารเสพติดทุกชนิดล้วนเป็นมหันตภัย เพราะทำลายสุขภาพของผู้เสพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทำลายความสงบสุขของครอบครัวและสังคม การหลีกเลี่ยงจากสารเสพติดจึงเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ตนเอง ครอบครัว และสังคม มีความแข็งแรง ปลอดภัย และสงบสุข ความหมายของสารเสพติด
องค์การ อนามัยโลกให้ความหมายของสารเสพติดไว้ว่า สารเสพติด หมายถึง สิ่งที่รับเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นการรับประทาน ฉีด สูบ หรือดมติดต่อกันชั่วระยะหนึ่งแล้วมีผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสพ ดังนี้
- มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเสพต่อไปเรื่อย ๆ
- มีความโน้มเอียงที่จะเพิ่มปริมาณของสารเสพติดให้มากขึ้น
- เมื่อถึงเวลาต้องการเสพแล้วไม่ได้เสพจะเกิดอาการอยากยา โดยแสดงออกในลักษณะต่างๆ เช่น หาว อาเจียน น้ำหูน้ำตาไหล ทุรนทุราย คลุ้มคลั่ง ขาดสติ โมโห ฉุนเฉียว เป็นต้น
- ผู้ที่ใช้สารเสพติดเป็นเวลานานจะทำให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพของผู้เสพทั้งทางร่างกายและจิตใจ
การแบ่งประเภทของสารเสพติดตามการออกฤทธิ์
- ยาเสพติดประเภทกดประสาท ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สารระเหย และยากล่อมประสาท
- ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ได้แก่ แอมเฟตามีน กระท่อม และ โคคาอีน
- ยาเสพติดประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็มพี และ เห็ดขี้ควาย
- ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กล่าวคือ อาจกดกระตุ้น หรือ หลอนประสาทได้พร้อม ๆ กัน ตัวอย่างเช่น กัญชา
สารเสพติดในประเทศไทย สารเสพติดให้โทษมีมากมายหลายประเภท สำหรับประเทศไทยสารเสพติดที่รู้จักกันดี ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน กัญชา กระท่อม ยาบ้า เอ็คตาซี (ยาอี) สารระเหย
สาเหตุที่ทำให้ติดสารเสพติด
สาเหตุสำคัญของการติดสารเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นมักเกิดจาก
- การถูกชักชวน มักจะเกิดกับเด็กที่มีปัญหาทางครอบครัว ขาดความอบอุ่น เชื่อเพื่อน อาศัยเพื่อนเป็นที่พึ่ง
- การอยากทดลอง อยากรู้อยากเห็น โดยมีความคิดว่าจะไม่ติดง่าย ๆ แต่เมื่อทดลองเสพเข้าไปแล้วมักจะมีความคิดอยากกลับมาเสพอีก
- การถูกหลอกลวง ผู้ถูกหลอกลวงไม่ทราบว่าเป็นสารเสพติดให้โทษร้ายแรง คิดว่าไม่มีพิษร้ายแรง ผลสุดท้ายก็กลายเป็นผู้ติดสารเสพติด
- สาเหตุทางกาย ผู้เสพต้องการบรรเทาความเจ็บป่วยทางกาย เช่น ต้องถูกผ่าตัดหรือเป็นโรคปวดศีรษะ โรคมะเร็ง จึงหันเข้าหาสารเสพติดจนติดยาในที่สุด
- ความคึกคะนอง ต้องการแสดงความเด่นดังอวดเพื่อน ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ทำให้ติดสารเสพติดในที่สุด
- สิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งชุมชนแออัด แหล่งที่มีการเสพและค้ายาเสพติด หรือสภาวะทางเศรษฐกิจบีบคั้นจิตใจ โดยคิดว่าจะช่วยให้ตนเองหลุดพ้นจาก ภาพต่าง ๆ เหล่านั้นได้
บุหรี่และแอลกอฮอล์
การสูบบุหรี่ทำให้ปอดถูกทำลายเนื่องจากในควันบุหรี่มีส่วนประกอบทางเคมีที่ให้โทษ
คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นแก็สที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว และกันไม่ให้แก็สออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้ต้องหายใจเร็วขึ้น ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นด้วย ผู้สูบบุหรี่ จะมีความรู้สึกว่า ต้องการนิโคตินและพวกเขาจะกลายเป็นคนติดบุหรี่
นิโคติน เป็นสารพิษ ทำให้หลอดเลือดแดงแคบลง หัวใจสูบฉีดเลือดได้ยากขึ้น
ทาร์ และสารอื่น ๆ ที่อยู่ในควันของยาสูบ ทำให้ปอดระคายเคือง หากมีควันไอมาก จะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ปอดได้มากขึ้น
แอลกอฮอล์เป็นสารที่ก่อให้เกิดความมึนเมา นักเรียนอาจกลายเป็นคนติดของมึนเมาได้ ถ้าดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวัน แม้จะดื่มในปริมาณน้อย สำหรับผู้ที่ดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ จะทำให้ผู้ดื่มมีอาการครึกครื้นสนุกสนาน ร่าเริง ทำให้ผู้ดื่มมีพฤติกรรมการแสดงออกต่าง ๆ
ตารางแสดงความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดกับอาการของผู้ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร/(mg/cm3) | ลักษณะอาการ | ผลที่เกิดขึ้นกับผู้ดื่ม |
50 – 150 | เมาน้อย | – ประสิทธิภาพการมองเห็น และการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อต่ำลงเล็กน้อย – การตัดสินใจเริ่มช้าลง |
150 – 300 | เมาปานกลาง | – ประสิทธิภาพการมองเห็นต่ำลงมาก ระบบควบคุมการทำงานของระบบประสาทลดลง – การตัดสินใจช้าลง พูดไม่ชัด |
300 – 500 | เมามาก | – ตามีอาการพร่ามัว หรือเห็นภาพซ้อน – ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อุณหภูมิในร่างกายต่ำ- แขนและขาเกิดอาการเกร็ง |
มากกว่า 500 | รุนแรง | – ไม่รู้สึกตัว หายใจช้า การตอบสนองลดลง – การควบคุมการทำงานของระบบประสาท เสื่อมลง และอาจตายได้ |
สารเสพติดและผลต่อร่างกาย
ใบงานที่ 17
จุดประสงค์การเรียนรู้
- ระบุโทษของบุหรี่ที่มีต่อร่างกายได้
- ตระหนักถึงโทษของบุหรี่ที่ทำให้ผู้สูบเป็นอันตรายและรบกวนผู้อยู่ใกล้ชิด
- เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโทษของบุหรี่และแอลกอฮอล์
คำชี้แจง ให้นักเรียนศึกษาข้อมูลจากการทำกิจกรรมตามที่กำหนดให้ แล้วตอบคำถาม
กิจกรรมที่ 1 การสูบบุหรี่วิธีการทดลองจากภาพเป็นชุดสาธิตเครื่องมือสูบบุหรี่ เครื่องมือนี้จะจับสารเคมีบางชนิดในควันบุหรี่ที่มีอันตราย ให้นักเรียนสังเกตลักษณะของสำลี สีของยูนิเวอร์แซลอินดิเคเตอร์ และกลิ่นที่ออกมาจากหลอดแก้ว แล้วตอบคำถาม
1. สมมติว่านักเรียนเป็นแพทย์ นักเรียนจะให้คำแนะนำอย่างไรกับผู้ป่วยที่สูบบุหรี่เกี่ยวกับ
- การทดลองและผลที่ได้
- สารเคมีที่เป็นอันตรายในควันบุหรี่ได้แก่สารอะไรบ้าง และก่อให้เกิดอันตรายอย่างไร
2. ครูให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมต่อไปนี้
- เขียนจดหมายเกี่ยวกับคำแนะนำถึงโทษของบุหรี่แจ้งแก่ผู้สูบ
- บันทึกเทปคำแนะนำให้กับผู้สูบ
- เขียนแผนภาพพร้อมทั้งใช้ลูกศรชี้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในเครื่องมือสูบบุหรี่
กิจกรรมที่ 2 บุหรี่และแอลกอฮอล์อุปกรณ์
- ใบโฆษณาจากสื่อต่าง ๆ
- ปากกาเมจิก
- กาว
- กระดาษ
- เครื่องเขียน
- กรรไกร
วิธีการทำกิจกรรม
- ให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน และรับอุปกรณ์จากครูผู้สอน 1 ชุด
- ให้นักเรียนทุกคนในกลุ่มช่วยกันหาภาพโฆษณาที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จากสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ หรือจากอินเทอร์เน็ต
- ทุกคนช่วยกันคิดคำโฆษณาและตัดภาพต่าง ๆ จากสื่อสิ่งพิมพ์ที่เตรียมมา ติดลงในกระดาษโปสเตอร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงอันตรายของบุหรี่และแอลกอฮอล์
- แต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน
สารเสพติดและผลต่อร่างกาย
กิจกรรมที่ 1 การสูบบุหรี่
- ผลการทดลอง คือ สำลีเปรียบเสมือนปอดของมนุษย์ ถ้าสูบบุหรี่ปอดจะมีสีดำ และถ้ายูนิ-เวอร์แซลอินดิเคเตอร์มีสีเหลือง แสดงว่าแก๊สที่ออกจากบุหรี่มีฤทธิ์เป็นกรด สารเคมีที่เป็นอันตรายในควันบุหรี่ ได้แก่
- ทาร์ ทำให้ปอดเกิดการระคายเคือง
- นิโคติน ทำให้เส้นเลือดแคบลง ทำให้สูบฉีดเลือดยากขึ้น
- คาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- ให้ครูพิจารณาจากคำตอบของนักเรียนแต่ละคน
กิจกรรมที่ 2 บุหรี่และแอลกอฮอล์
ขึ้นอยู่กับการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียนของนักเรียนแต่ละกลุ่ม