วันกองทัพไทย

สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ อาทิตย์, 12/10/2008 – 11:36
มีผู้อ่าน 20,699 ครั้ง (29/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/16933

วันกองทัพไทย
ตรงกับวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี

     วันกองทัพไทย เป็นวันที่ระลึก ในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ตามการคำนวณ จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. 954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 (บางตำราว่า ปี พ.ศ. 2136)
     เดิมกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมต ิของคณะรัฐมนตรี ในสมัยนั้น ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวันกองทัพไทย และวันสถาปนากระทรวงกลาโหม ลง 13 มิ.ย.2523 ต่อมาในภายหลัง ได้มีนักประวัติศาสตร์ หลายท่าน ได้ตรวจสอบ และพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคม ปีดังกล่าว ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อไป จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหม ตามหลักการเดิม ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

     เรื่องการเปลี่ยนแปลงวันกองทัพไทย ลง 23 ส.ค.2549 ในปัจจุบัน วันที่ 18 มกราคม จึงถือเป็น “วันยุทธหัตถี” “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หรือ ” วันกองทัพไทย “วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หมายถึง วันที่ระะลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 อันตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.2548 กำหนดให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” (แทนวันที่ 25 มกราคม เนื่องจากนายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ที่กำหนดเป็นวันที่ 25 มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง) และถือวันนี้เป็นวันรัฐพิธี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

อ่านเพิ่มเติม...

     ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่า มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้
     ในสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระ อินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์ ครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต และครั้งที่สาม ก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล

     หลังจากนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานเรานานถึง 150 ปี ดังนั้น ในโอกาสครบรอบ 415 ปีแห่งวันกระทำยุทธหัตถีจนได้รับชัยชนะ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำพระราชประวัติโดยย่อของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
     สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2098 ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี ผู้เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระสุริโยทัยวีรกษัตรีย์ของไทยเป็นพระมารดา จึงอาจกล่าวได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับพระสายโลหิตความเก่งกล้าสามารถสืบเนื่องมาจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทางพระชนก และเลือดพระสุริโยทัยซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกา(ยาย)ทางพระมารดา
     ทรงมีพระสุพรรณกัลยา เป็นพระพี่นาง และมีพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ 15 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2133 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 ทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับการศึกสงครามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กรุงศรีอยุธยาตลอดมา ทำให้ทรงไม่มีพระมเหสีและพระราชโอรสธิดา ดังนั้น เมื่อเสด็จสวรรคต พระเอกาทศรถจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา
     สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่ว่าจะเป็นปืน ดาบ ทวนหรือง้าว เป็นต้น
ฝีมือการรบของพระองค์นั้นเรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าพอสรุปได้ว่า วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาดรี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจน
     อาจกล่าวได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่เคยทรงอยู่อย่างสะดวกสบายและต้องทรงกระทำการรบมาโดยตลอด กล่าวคือ เมื่อพระชนมายุ 9 พรรษาก็ต้องไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดีอยู่ 6 ปี ครั้นเสด็จ กลับมากรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ปีต่อมาพระบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ได้ทรงจัดฝึกทหารแบบใหม่ พอพระชนมายุ 19 พรรษาทรงยกกองทัพไปพร้อมพระบิดาเพื่อช่วยทัพหลวงกรุงหงสาวดีตีเมืองเวียงจันทร์ ครั้นพระชนมายุ 23 พรรษา ได้ลงเรือไล่ติดตามพระยาจีนตุขุนนางจีนเมืองเขมรที่หนีไป โดยใช้พระแสงปืนยิงต่อสู้ด้วยพระองค์เอง อย่างไม่หวาดหวั่นหรือหลบกระสุนที่ยิงโต้กลับมาเลย จนศัตรูยิงถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกไป
     แม้จะจับพระยาจีนตุไม่ได้แต่ความกล้าหาญของพระองค์ก็เป็นที่เลื่องลือ ครั้นพระชนมายุ 24 พรรษา ก็ทรงเป็นแม่ทัพไล่ตีพระทศราชา ซึ่งคุมกองทัพเขมรมาตีโคราชและหัวเมืองชั้นในจนได้ชัยชนะทั้งๆที่กำลังน้อยกว่ามาก จนเขมรขยาดไม่กล้ามารุกรานอีก พอพระชนมายุได้ 26 พรรษาได้แสดงพระปรีชาสามารถในการวางแผนการรบจนตีเมืองคังได้สำเร็จ ขณะที่อีก 2 กองทัพของพม่าตีไม่สำเร็จ พอพระชนมายุ 29 พรรษาได้ยกทัพไปช่วยรบเมืองอังวะตามคำสั่งหงสาวดี และได้ทราบกลอุบายว่าทางพม่าจะกำจัดพระองค์ จึงแสร้งเดินทัพช้าๆ และต่อมาก็ได้ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อพ.ศ. 2127 ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามา 15 ปี ไม่ต้องขึ้นกับพม่าอีกต่อไป
     ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าหงสาวดี (นันทบุเรง)จึงให้สุรกรรมายกทัพมาตามจับพระองค์ๆจึงได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุรกรรมาตาย ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ 35 พรรษา พระมหาธรรมราชา พระบิดาสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง ครั้นพระชนมายุ 37พรรษา ก็ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พระชนมายุ 40 พรรษาเสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมร จับพระยาละแวกมาทำพิธีปฐมกรรม (คือตัดศีรษะเอาโลหิตมาล้างพระบาท) และแม้แต่ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ก็ยังอยู่ในระหว่างการยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี)ที่พระพักตร์และเป็นพิษจนเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปีพ.ศ.2148 รวมสิริพระชนมายุได้ 50พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 15 ปี
     ในหนังสือ 400 ปีสมเด็จพระนเรศวร ที่เรียบเรียงโดยนายสมชาย พุ่มสอาด นายสมพงษ์ เกรียงไกรเพชร และนายกมล วิชิตสรศาสตร์ ได้เขียนไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นกษัตริย์ที่ปรากฏว่าทรงรอบรู้ศิลปศาสตร์ ถึง 18 อย่าง อันเป็นวิทยาการสำคัญสำหรับขัตติยราชในโบราณอย่างยอดเยี่ยม เช่น ทรงรอบรู้ในยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ ทรงรอบรู้หลักและวิธีปฏิบัติเพื่อปกครองใจคน อันเป็นหลักการเดียวกับปัจจุบัน และยังทรงรอบรู้อรรถภาษิต โวหาร รู้แต่งและฟังฉันท์ ทรงรู้ฤกษ์ยาม และวิธีโคจรของดาวหรือดาราศาสตร์ ทรงรู้ทิศและพยากรณ์ อีกทั้งทรงรู้มายาเล่ห์เหลี่ยมและเหตุผลต่างๆ เป็นต้น
     ซึ่งความรู้เหล่านี้ทรงศึกษาจากพราหมณ์ ปุโรหิตบ้าง จากพระบิดาโดยตรงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ทรงศึกษาจากประสบการณ์ของพระองค์เอง รวมทั้งประสบการณ์จากเมืองพม่าเมื่อครั้นไปเป็นตัวประกันอยู่หงสาวดี ทรงเป็นบุรุษที่มีคุณสมบัติเป็นชายชาติทหารสมกับเป็นนักปกครองอย่างเต็มเปี่ยม คือ ทรงมีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีน้ำใจห้าวหาญ เด็ดขาด และมีฝีมือในการต่อสู้ยิ่ง

กิจกรรมในวันกองทัพไทย

     กิจกรรมที่จะกระทำในวันกองทัพไทย คือ พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล หรือที่นิยมเรียกว่า “สวนสนามสาบานธง” ซึ่งเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหารทุกคน และเพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมและเป็นการสักการะดวงวิญญาณนักรบไทย จะมีพิธีวางพวงมาลาอนุสาวรีย์ทางทหาร เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ทหารอาสา อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ฯลฯ

ภาพเขียนสี:อยุธยา

ภาพเขียนสี:อยุธยา

ประเภท ภาพฝาผนัง

วัสดุที่ทำ สีฝุ่น

ลักษณะภาพ
     ภาพฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นหลากสี เป็นภาพ ๒ มิติ ขนาดประมาณ ๔x๘ เมตร เขียนโดย พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)

สาระ
    
เป็นภาพแสดงการทำสงครามยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ชนช้างกับสมเด็จพระมหาอุปราชา เมื่อรุ่งขึ้นวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง สมเด็จพระ-นเรศวรมหาราช ทรงช้างเจ้าพระยาไชยานุภาพ สมเด็จพระเอกาทศรถทรงช้างพระยาปราบไตรจักร ซึ่งขณะนั้นช้างพระที่นั่งทั้งสองพระองค์เป็นช้างชนะงากำลังตกมัน ช้างของสมเด็จพระนเรศวรไล่ข้าศึกไปประมาณ ๑๐๐ เส้น พอฝุ่นจางทรงทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชาธาร ชื่อ พลายพัทธกอ สมเด็จพระนเรศวรจึงร้องตรัสว่า “เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ใยใต้ร่มไม้ เชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะสามารถชนช้างได้อย่างเราจะไม่มีอีกแล้ว” เมื่อชนช้างกันแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงใช้พระแสงของ้าวฟันสะพายแล่งพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้างนั้น

สภาพของภาพ
     อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

สถานที่เก็บ
     ในวิหารวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร หมู่ ๑ ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนคร- ศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แหล่งข้อมูล : http://kanchanapisek.or.th/oncc-cgi/text.cgi?no=5212

ย่อ