![]() |
|
หลักในการปลูก ประสบการณ์ตรงจากการทำไร่ว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้เป็นพืชล้มลุกกึ่งถาวร มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยโคนใบต้องมีเยื่อหุ้มลำต้น ใบหนาภายในมีลักษณะเป็นวุ้น ซึ่งเป็นส่วนที่นำมาบริโภคโดยทั่วไป ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นแนวตรง มีหนามแหลมคมตลอดแนวคล้ายฟันปลาฉลาม ขยายพันธ์โดยใช้หน่อ ส่วนต้นที่มีการเก็บเกี่ยวอยู่เสมอลำต้นจะยาวสูง สามารถตัดต้นแล้วนำส่วนยอดมาปลูกใหม่ ซึ่งมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวได้รวดเร็วกว่าการปลูกด้วยหน่อหลายเท่าตัว ว่านหางจระเข้ มีน้ำเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่มีเปลือกใบเปราะบาง จึงเป็นพืชที่อ่อนแอในทุกๆด้าน ฉะนั้นจึงควรระมัดระวังและดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ ลักษณะของเกษรและดอกของว่านหางจระเข้ ขนาดของต้นว่านอาจใช้ได้หลายขนาดแล้วแต่จุดประสงค์ที่ต้องการปลูกเช่น ถ้าต้องการปลูกเพื่อประดับอาขใช้ว่านขนาดเล็กเพื่อความสวยงาม ถ้าต้องการปลูกแบบให้ผลผลิตเร็วควรใช้ต้นใหญ่หน่อย เช่นภาพแรก แต่ผลผลิตจะได้ช้า แต่ถ้าจะให้ผลผลิตเร็วขึ้นควรใช้ขนาดกลางไม่ใหญ่เกินไป แต่ต้องดูแลให้เป็นพิเศษกว่า ไม่ควรใช้ต้นเล็กเพาะพันธ์เพื่อเพิ่มผลผลิตเพราะใช้เวลานานหลายเดือน ความสำคัญของดิน การกสิกรรมโดยทั่วไปนั้นมีดินเป็นองค์ประกอบส่วนต้นๆ ฉะนั้นการปลูกว่านหางจระเข้เชิงอุตสาหกรรมโรงงาน ควรเลือกดินที่เหมาะกับการเจริญเติบโต เพื่อผลตอบแทนที่สูงสุด ดินและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการปลูกว่านหางจระเข้ ควรเป็นดินปนทราย คล้ายดินลูกรังมีความโปร่งในดินพอสมควร พื้นที่ระบายน้ำได้ดี เป็นที่ที่ไม่มีร่มเงา ไม่เป็นดินทราย การเตรียมดินและรูปแบบของแปลง ควรไถพรวนครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ระยะเวลาห่างกันประมาณ 15-30 วัน เป็นอย่างน้อย เตรียมเครื่องมือ การทำไร่ว่านหางจระเขโดยไม่ใส่สารปราบวัชพืช เครื่องมือที่ให้ความสะดวกและปลอดภัยต่อว่านหางจระเข้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เสียมแซะ มีดบางปลายแหลม เสียมซ่อม เสียมดาย และจอบ ซึ่งให้ความสะดวกที่แตกต่างกัน
***เครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นเองโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านโดยไม่ลอกเลียนแบบใคร***
การบำรุงรักษา ว่านหางจระเข้เป็นพืชที่อ่อนแอ จำนวนต้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว จึงควรหมั่นซ่อมแซมอยู่เสมอ ควรใช้ปุ๋ย 20-45 วันต่อครั้ง และห่างโคนต้นประมาณ 20 ซม. ขนาดน้ำหนัก 10 กรัมต่อ 1 ต้น ถ้าทำในลักษณะการผังปุ๋ยหรือหว่านในสภาพดินแห้ง ควรรดน้ำให้ปุ๋ยระบายได้อย่างรวดเร็ว หมั่นตรวจใบที่เป็นโรคและเน่าออกให้พ้นลำต้นหรือใบใกล้เคียง10-15 วันให้น้ำ 1 ครั้งปราบวัชพืชให้เตียนอยู่เสมอ การเก็บเกี่ยว หลักโดยสังเขปในการพิจารณาคัดเลือกใบที่จะเก็บเกี่ยวให้นับตั้งแต่ใบแรกของส่วนยอดอ่อนและนับวนลงมารอบต้นตามลำดับของใบ 13 ใบ ส่วนที่เหลือคือส่วนที่ตัดออกจากต้น วิธีการตัดใบว่าน ตัดใบบนก่อนแล้วค่อยตัดใบล่างที่เหลือ การตัดนั้น ต้นหนึ่งประมาณ 2-3 ใบ การขนย้าย ในฤดูฝนหรือช่วงที่มีฝนตกลงมามาก เป็นอุปสรรคต่อการขนย้ายผลผลิตออกจากแปลงปลูก เนื่องจากเส้นทางในแปลงปลูกมีความชื้นแฉะมาก รถบรรทุกไม่สามารถเข้าไปบรรทุกได้ รถลุงตี้ จึงเหมาะกับการขนย้ายผลผลิตออกจากแปลง เพราะเป็นรถสามล้อท่มีสมรรถนะสูง คล่องตัว น้ำหนักเบา ประดิษฐ์ง่าย ไม่ซับซ้อน และราคาถูก
|
คุณเข้ามาเยี่ยมชมลำดับที่ ตั้งแต่วันพุธที่
11 กันยายน พ.ศ. 2545 Copyright(c) 2002.Sutida Thunkparsertsuk All rights reserved. |